fbpx
COVID-19 และความมั่นคงระหว่างประเทศที่ถูกท้าทาย

COVID-19 และความมั่นคงระหว่างประเทศที่ถูกท้าทาย

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เหตุการณ์ COVID-19 ที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่เป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่และมีผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงชีวิตของเราทุกคน มีการพูดและนำเสนอค่อนข้างกว้างขวางถึงผลกระทบในทางเศรษฐกิจทั้งเชิงจุลภาคและมหภาค และสามารถเห็นได้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณอย่างชัดแจ้ง และที่สำคัญพวกเราทุกคนน่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นรายวันอยู่แล้วในขณะนี้

ผลลัพธ์ของวิกฤตการณ์ COVID-19 ครั้งนี้จะไม่หยุดอยู่เพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางด้านความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งยังมีการกล่าวถึงในวงจำกัด เหตุผลหนึ่งคือเรากำลังอยู่ในสภาวะที่มี situational awareness (SA) หรือ ‘การตระหนักรู้ต่อสถานการณ์’ ที่ยัง ‘ต่ำ’ อยู่มาก และอาจเรียกได้ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ fog of war หรือ ‘ม่านหมอกแห่งสงคราม’ ซึ่งในทางการทหารคือความไม่แน่นอนในสภาวะสงครามที่ข้อมูลของศัตรูไม่เพียงพอจะคาดเดาสถานการณ์ได้อย่างมั่นใจ นอกเหนือไปกว่านั้น ในเหตุการณ์ปัจจุบันที่ต้องสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น เราไม่อาจรู้ด้วยซ้ำถึงขีดความสามารถของฝั่งเราเองในการปฏิบัติการภายใต้สมรภูมิรบครั้งนี้ เราคงต้องรอให้ม่านหมอกแห่งสงครามเจือจางลงบ้าง ถึงจะพอคาดเดาความเปลี่ยนแปลงทางความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศได้ แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จากเหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่แน่นอนคือเราทุกคนจะต้องยอมรับและเรียนรู้อยู่กับมันตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ

อย่างไรก็ตามผู้เขียนอยากจะขออนุญาตบอกกล่าวถึงสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเราทุกคนควรจะต้องจับตามองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศหลังจากวิกฤตการณ์ COVID-19 ครั้งนี้

 

1

การให้คุณค่า ภัยคุกคามทางความมั่นคงแบบใหม่มากขึ้น

‘ภัยคุกคามทางความมั่นคง’ ในวงการวิชาการรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ ‘ภัยคุกคามทางความมั่นคงแบบดั้งเดิม’ (traditional security threat) และ ‘ภัยคุกคามแบบใหม่’ (non traditional security threat)

‘ภัยคุกคามทางความมั่นคงแบบดั้งเดิม’ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความตึงเครียดและข้อขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐในทางการทหารหรือทางการเมือง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบของการสู้รบและสงครามระหว่างประเทศ ส่วน ‘ภัยคุกคามทางความมั่นคงแบบใหม่’ จะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจของกองทัพ เช่นเรื่องการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน การรับมือกับภัยพิบัติ การเกิดขึ้นของสภาวะโลกร้อน การอพยพและลี้ภัย ปัญหาการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดข้ามชาติ สงครามไซเบอร์ และที่เราเห็นประจักษ์ในปัจจุบันคือ ภัยจากโรคระบาด ที่อาจจะเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือเป็นสงครามชีวภาพ (biological warfare) ก็ได้

ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 วงการวิชาการรวมไปถึงโลกแห่งการปฏิบัติได้ให้ความสำคัญกับ ‘ภัยคุกคามทางความมั่นคงแบบดั้งเดิม’ มากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ งานวิชาการส่วนใหญ่ในสายรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถูกหยิบยกและยกย่องมักจะวนเวียนอยู่กับเนื้อหาความขัดแย้งที่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจด้านการทหาร ทฤษฎีต่างๆ ที่ถูกคิดค้นและถูกยอมรับเป็นวงกว้างในเชิง ‘grand theory’ มักหนีไม่พ้นพื้นฐานความคิดในเชิงความขัดแย้งทางความมั่นคงด้านการทหาร ในโลกแห่งความจริงปัจจัยสำคัญที่กำหนดความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็หนีไม่พ้นเรื่องความมั่นคงในทำนองนี้ ในทางตรงกันข้าม งานวิชาการที่มุ่งเน้นการศึกษาด้าน ‘ภัยคุกคามแบบใหม่’ ที่โดดเด่นนั้นมีไม่มาก อีกทั้งทฤษฎีต่างๆ ในแขนงนี้ ก็ไม่ได้พยายามชี้แจงให้ ‘กระชับแต่อธิบายได้กว้าง’ ส่วนใหญ่จะเป็นทฤษฎีที่เป็น ‘middle-range’ คือการรวบรวมหลายทฤษฎีก่อนหน้ามาอธิบายปรากฏการณ์ที่เฉพาะเจาะจง เรียกได้ว่าเป็นการสร้างทฤษฎีที่ ‘ยาวแต่อธิบายได้แคบ’

หลังจากปรากฏการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ โลกแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไปจากเดิม การให้คุณค่าต่อ ‘ภัยคุกคามแบบใหม่’ จะมีความสำคัญมากขึ้น และจะเกิดทรัพยากรในการทำงานวิจัยในเชิงนี้มากขึ้น จะมีทฤษฎีที่เกิดขึ้นใหม่ มีคำอธิบายใหม่ในมุมมองใหม่ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับฐานความคิดทางอำนาจด้านการทหารหรือสงคราม การศึกษา ‘ภัยคุกคามแบบใหม่’ จะแปรเปลี่ยนเป็นวิถีทางหลักของความมั่นคง

ในทางปฏิบัติประเทศต่างๆ ก็จะตีความและให้ความสำคัญกับความหมายของ ‘ความมั่นคง’ ในมุมที่กว้างมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะกลายเป็นกระทรวงด้านความมั่นคง บุคคลากรทางการแพทย์มีหน้าที่เปรียบเสมือนกองทัพให้การต่อสู้กับภัยคุกคามแบบใหม่ และแน่นอนเวทีการประชุมนานาชาติจะมีการกล่าวถึงประเด็นนี้เป็นอันดับต้นๆ

 

2

กองทัพในรูปแบบเดิมจะเป็นสถาบันที่ล้าหลัง

นั่นหมายความว่าการให้ความสำคัญกับ ‘ภัยคุกคามทางความมั่นคงแบบดั้งเดิม’ จะต้องถูกทบทวน งบประมาณด้านความมั่นคงจะต้องถูกแบ่งไปให้งานสาธารณสุขมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา หากเรามองความมั่นคงแบบดั้งเดิมเป็น ‘public goods’ หรือสินค้าสาธารณะที่รัฐพึงมอบให้กับประชาชน โดยที่ประชาชนอาจไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่ามีสิ่งนี้คุ้มครองพวกเขาอยู่ หลังวิกฤต COVID-19 นี้ เราทุกคนคงจะหวังว่าการบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและครอบคลุมจะกลายมาเป็นสินค้าสาธารณะที่เราเรียกร้องจากรัฐ ความสำคัญของสิ่งนี้ในมุมมองของประชาชนทั่วไปน่าจะสำคัญกว่าหน้าที่กองทัพเสียด้วยซ้ำ นี่คงไม่ใช่ข้อเรียกร้องจากประชาชนไทยกับผู้มีอำนาจ แต่จะเป็นสิ่งเรียกร้องที่ประชาชนทุกคนทั่วโลกต้องการจากรัฐของตน

เพราะฉะนั้นกองทัพในรูปแบบเดิมจะกลายเป็นสถาบันที่ล้าหลังในสภาวะที่ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดนั้นเปลี่ยนไป ผู้มีอำนาจและกองทัพเองต้องตระหนักถึงการปรับตัวและการปฏิรูปองค์กร ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การปฏิรูปสามารถเกิดขึ้นได้ 2 แนวทางหลักๆ คือ

1. การจำกัดหน้าที่ของกองทัพให้เล็กกว่าเดิมแต่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นมืออาชีพในหน้าที่มากขึ้น ในตรรกะนี้กองทัพควรมีเป้าหมายเพื่อป้องกันประเทศต่อการคุกคามทางการทหารจากศัตรูเท่านั้น แยกหน่วยงานและงบประมาณที่เคยทำหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยและบำเพ็ญประโยชน์ออกมา เพื่อเสริมสร้างบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ของประเทศที่ตอบโจทย์ภัยคุกคามในปัจจุบันมากขึ้น

2. การขยายขอบเขตหน้าที่ของกองทัพให้ครอบคลุมการต่อสู้กับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ซึ่งการจะกระทำเช่นนี้ได้ กองทัพจะต้องมีความน่าเชื่อถือสูงจากประชาชน จากสถานการณ์ในปัจจุบัน หลายประเทศดึงกองทัพเข้ามามีส่วนร่วมในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น กองทัพเยอรมันมีการระดมแพทย์ทหาร 3,000 คนเพื่อส่งไปช่วยเหลือตามโรงพยาบาลต่างๆ กองทัพเกาหลีมีการระดมบุคลากรการแพทย์อย่างน้อย 1,100 คนไปช่วยเหลือสถานพยาบาลพลเรือน และบุคลากรอื่นๆ ส่งไปยังโรงงานผลิตหน้ากาก กองทัพไทยเองก็มีการระดมกำลังพ่นยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อสาธารณะ หากเราจะต้องเจอสถานการณ์ภัยคุกคามแบบใหม่นี้มากขึ้นและหากกองทัพปฏิรูปไปในทิศทางนี้ การจัดซื้ออาวุธก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงยุทธศาสตร์ (strategy) แบบแผนในการดำเนินการยุทธวิธี (tactics) ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

แต่การจะเพิ่มอำนาจให้กับกองทัพอย่างเป็นทางการในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ในประเทศที่ความชอบธรรมของกองทัพกับประชาชนหมู่มากมีไม่สูงนัก และสิ่งที่สำคัญที่สุดกองทัพที่แปรรูปตนเองไปครอบคลุมภัยคุกคามแบบใหม่จะไม่ใช่เป็นกองทัพที่สร้างแต่พันธมิตรเพื่อการสงคราม  แต่จะเป็นกองทัพที่ต้องพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ แม้กับศัตรูเอง เพราะภัยคุกคามแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด ภัยพิบัติ หมอกควันข้ามชาติ สภาวะโลกร้อน ล้วนแล้วแต่ต้องการความร่วมมือกันระหว่างทุกประเทศ

 

3

การชิงดีชิงเด่นระหว่างสองมหาอำนาจโลก

ชนชั้นนำและบุคลากรด้านความมั่นคงของจีน มีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้เป็นการตั้งใจคุกคามและเป็นสิ่งที่ศัตรูของจีนตั้งใจให้เกิดขึ้น มีการสื่อสารจากทางการจีนที่ทำให้สาธารณชนทั่วโลกเห็นไปในลักษณะนั้น สำหรับประเทศสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกใช้คำว่า ‘Chinese virus’ ในการนิยามโรคระบาด COVID-19 ในช่วงระยะแรก จนเกิดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ จนในที่สุดทรัมป์ถูกกดดันและประณามจากนานาชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีน จนต้องเลิกใช้คำนี้ในที่สุด ความขัดแย้งเหล่านี้เป็นความน่าผิดหวังในโลกแห่งภัยคุกคามแบบใหม่ซึ่งต้องการการแก้ไขปัญหาผ่านความร่วมมือ แต่ในทางกลับกันประเทศมหาอำนาจยังคงยึดติดกับความขัดแย้งแบบเดิมๆ

แต่กระนั้นการแข่งขันในเชิงอำนาจระหว่างสหรัฐฯ และจีนหลังสถานการณ์ COVID-19 จะถูกกำหนดโดยความสามารถในการรับมือและการฟื้นฟูตัวเอง ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุดจะไม่เป็นเพียงสิ่งบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศเท่านั้น แต่จะถูกเชื่อมโยงไปถึงประสิทธิภาพของระบอบการปกครองในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์คับขันเช่นนี้

แน่นอนว่ามีการแข่งขันกันทางด้านการประชาสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมหาอำนาจอย่างสูง และดูเหมือนว่าจีนจะทำได้ดีกว่าในสถานการณ์ ณ วันนี้ จีนกำลังพยายามระดมเครื่องมือนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจ เพื่อพยายามโน้มน้าวความเข้าใจของสาธารณชนนานาชาติ ซึ่งจีนทำได้ดีและต้องยอมรับว่าภาพพจน์ของประเทศตอนนี้เป็นบวก ทั้งๆ ที่ต้นตอของปัญหา COVID-9 นั้นเริ่มต้นจากการที่ประเทศอำนาจนิยมอย่างจีนไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้เร็วพอ หรือสื่อสารถึงความหนักหน่วงของการเกิดโอกาสระบาดหนักได้อย่างเปิดเผยและทันท่วงที

ในทางกลับกัน ความเป็นเสรีนิยมและสังคมเปิดของสหรัฐฯ ถึงแม้จะทำให้ข้อมูลที่ถูกสื่อสารออกมาต่อสาธารณชนมีความน่าเชื่อถือกว่า แต่ก็บ่งบอกให้เห็นถึงความวิกฤตของสถานการณ์ที่หนักกว่า

ความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ กำลังถูกท้าทายอย่างหนักภายใต้วิกฤตปัจจุบัน สิ่งที่ในวงการนโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศเรียกกันว่า ‘Washington consensus’ คือโลกของตลาดเสรีนิยมและรวมไปถึงโลกของความมั่นคงที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้ให้บริการสาธารณะ กำลังถูก ‘Beijing consensus’ เข้ามาแทนที่ หรือในอีกมุมมองหนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่าโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจเดี่ยว หรือ ‘unipolar world’ นั้นอาจจะหมดลงแล้วและเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคมหาอำนาจคู่หรือ ‘bipolar world’ อย่างเต็มรูปแบบ

มีเหตุการณ์อย่างน้อย 4 ครั้งในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่เป็นสัญลักษณ์ของการลดทอนอำนาจและสถานะของสหรัฐฯ ในเวทีนานาชาติ คือ 1. เหตุการณ์ 9/11 ที่ลากกองทัพสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะสงครามพัวพันในอิรัก อัฟกานิสถาน และสงครามต้านการก่อการร้ายทั่วโลกอย่างยาวนาน ตลอดช่วงเวลานี้ หลายครั้งสหรัฐฯ ใช้อำนาจตนเองละเมิดสิทธิและข้อตกลงนานาชาติอยู่บ่อยครั้ง 2. เหตุการณ์วิกฤตการณ์ซับไพรม์ในปี 2008 ที่ลดทอนทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและการแสดงอำนาจทางการทหารของสหรัฐฯ ความอ่อนแอลงของสหรัฐฯ ในระดับนานาชาติ ทำให้จีนกล้าที่จะแข็งกร้าวมากขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้เป็นอย่างดีจากท่าทีที่เกรี้ยวกราดขึ้นของจีนในปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้และการทำงานของกลุ่มทุนจีนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศในเชิง ‘debt-trap diplomacy’ 3. การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นจุดบ่งชี้สำคัญของการกลับมาของแนวคิด ‘โดดเดี่ยวนิยม’ ของสหรัฐฯ (American isolationism) ในการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลังจากทรัมป์ได้รับชัยชนะเขาก็ผลักดันพาสหรัฐฯ ลดทอนบทบาทในเวทีนานาชาติ ความเป็นผู้นำและความน่าเชื่อถือในเชิงความคิดเสรีนิยมถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ 4. วิกฤต COVID-19 และปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมาคงเป็นตะปูอีกดอกที่ทำให้เราได้เห็นถึงการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีนานาชาติ

แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรลืมว่า การขึ้นสู่แท่นมหาอำนาจโลกของจีนตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็นนั้นเกิดขึ้นในบริบทของ ‘Washington consensus’ (หรือในทางความมั่นคงจะใช้คำว่า ‘liberal world order’ อยู่บ่อยครั้ง) ซึ่งเป็นระบอบโลกที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำในทางปฏิบัติ แต่ประโยชน์มหาศาลก็ตกอยู่กับประเทศจีนเอง การที่สหรัฐฯ ลงทุนบริการสาธารณะด้านความมั่นคง ทำให้จีนและคู่ค้าต่างๆ สามารถมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ คงไม่เป็นผลดีกับจีนเองหากผู้นำจีนจะพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเขาอย่างมหาศาลอย่างเฉียบพลัน

ในวิกฤตปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง การดำเนินนโยบายความมั่นคงของจีนในระดับนานาชาติคงจะไม่เป็นการพยายามล้มกระดาน Washington Consensus อย่างออกนอกหน้า มีหลายปัจจัยที่จีนเองก็คาดเดาได้ยาก เช่น อาจจะมีการระบาดระลอก 2 หรือ 3 ในประเทศจีนก็เป็นได้ (ไข้หวัดใหญ่สเปนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการระบาด 3 ระลอก มีคนเสียชีวิตรวม 40 ล้านคน) และทางการจีนเองก็ไม่อาจทราบล่วงหน้าได้ว่าห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมต่อระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะกระทบกับเศรษฐกิจของจีนได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงแค่ไหนในเมื่อตลาดทั่วโลกลดปริมาณความต้องการของสินค้าจีนลง

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่ผันเปลี่ยนวันต่อวันจะมีผลต่อความเป็นไปของการดำเนินนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศของจีนหลังจากนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไป และจะมีผลโดยตรงต่ออำนาจและการแสดงออกด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศ

 

4

ความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกท้าทาย

สหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นผู้นำของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่อำนาจของประเทศมหาอำนาจนี้กำลังถูกลดทอนลงจากการทำลายล้างตนเองและจากบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ซ้ำร้ายไปกว่านั้นการตอบโต้ต่อภัยคุกคาม COVID-19 ที่สหรัฐฯ รับมือได้ไม่ดีกำลังทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วขึ้นไปอีก

แต่ในขณะเดียวกันจีนในฐานะที่เป็นผู้นำของระบอบอำนาจนิยม ดูจะมีความโดดเด่นและเป็นที่น่าเกรงขามต่อประชาคมโลก และมีบทบาทต่อความเป็นไปในสถานการณ์โลกมากขึ้นทุกวัน ที่สำคัญการแก้ปัญหาวิกฤตปัจจุบันของประเทศมหาอำนาจใหม่นี้ดูจะมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมากกว่า

คำถามต่อมาคือการต่อสู้ทางความคิดระหว่างโลกสองระบอบนี้ โดยเฉพาะมุมมองความมั่นคง จะดำเนินต่อไปอย่างไร

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าความมั่นคงของสหรัฐฯ นั้นถูกผูกติดอยู่กับทฤษฎี ‘สันติภาพประชาธิปไตย’ (democratic peace theory) ที่เชื่อว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะมีโอกาสสู้รบกันเองน้อยกว่า นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ นั้นได้รับอิทธิพลจาก ‘ลัทธิเผยแพร่ประชาธิปไตย’ (democracy promotion) มาอย่างช้านาน ไม่ว่าจะด้วยการใช้ทั้งกำลังทหาร ปัจจัยทางเศรษฐกิจ หรือการโน้มน้าว อย่างน้อยที่จับต้องได้ก็ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมาเริ่มจริงจังมากขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น และเอาจริงเอาจังมากที่สุดตั้งแต่สงครามเวียดนามเป็นต้นมา แต่ความเชื่อนี้ก็สั่นคลอนและไม่ได้รับความสนใจเหมือนในอดีตหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมาเถลิงอำนาจ

แน่นอนหลังจากเหตุการณ์ COVID-19 มุมมองต่อการดำเนินนโยบายความมั่นคงในเชิงเผยแพร่ประชาธิปไตยจะถูกลดคุณค่าลงไปอีก (และจะหนักกว่านั้นอีกหากประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งปลายปีนี้เป็นสมัยที่ 2) ในสภาวะที่สหรัฐฯ ถูกท้าท้ายด้านความน่าเชื่อถือในการเป็นผู้นำทางความคิดและเผยแพร่ประชาธิปไตยในโลกเสรี สหรัฐฯ จะต้องพึ่งพาประเทศในกลุ่มพันธมิตรที่ทำได้ดีกับการรับมือต่อสถานการณ์นี้มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ในปฏิบัติการเผยแพร่ประชาธิปไตยและความคิดเสรีนิยมด้วยวิธิการต่างๆ

ในวงการนักวิชาการนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ มีการพูดอย่างกว้างขวางมาระยะหนึ่งแล้วถึงการทำ ‘offshore balancing’ หรือการใช้ตัวแทนจากประเทศที่มีศักยภาพในภูมิภาคมาคานอำนาจกับจีนแทนการใช้กำลังของกองทัพสหรัฐฯ โดยตรง เราคงไม่ต้องแปลกใจหากหลังจากนี้จะเห็นการทำงานของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่เป็นระบบในการช่วยเหลือ สนับสนุน สานสัมพันธ์ประเทศต่างๆ โดนมีสหรัฐฯ หนุนหลังแต่ไม่ได้เป็นเป็นผู้นำอย่างชัดแจ้งเหมือนแต่ก่อน

 

5
การเกิดขึ้นของค่านิยม ‘
เสรีประชาธิปไตยตะวันออก

 

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ นอกจากเราจะได้เห็นการด้อยอิทธิพลลงของค่านิยม ‘เสรีประชาธิปไตยตะวันตก’ (western liberalism) แล้ว อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นและผู้เขียนหวังว่าจะเกิดขึ้นก็คือ การผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำของค่านิยมที่น่าจะนิยามได้ว่า ‘เสรีประชาธิปไตยตะวันออก’ (eastern liberalism) จากประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยในเอเชีย ที่ยังจะพอทำให้เรามีความหวังอยู่บ้าง

รายละเอียดและความหมายของ ‘เสรีประชาธิปไตยตะวันออก’ คืออะไรคงต้องค้นคว้าและตีความหมายกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ แนวความคิดนี้น่าจะแตกต่างจากค่านิยม ‘Asian values’ ที่ผู้นำประชาธิปไตยแฝงอำนาจนิยมในประเทศในเอเชียใช้นิยามวิธีการปกครองของตัวเองในอดีตเพื่อปกปิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของตนเอง

ในหมู่นักเคลื่อนไหวเราน่าจะเห็นการโต้เถียงของฝั่งประชาธิปไตยที่มีการยึดโยงกับตัวอย่างจากสหรัฐฯ และโลกตะวันตกน้อยลง หรือหากมีการยึดโยงก็ต้องนำเสนอตัวอย่างจากสหรัฐฯ ที่เป็นข้อยกเว้น และแสดงให้เห็นถึงความเป็นอำนาจนิยมและความไร้ประสิทธิภาพในเชิงปัจเจกบุคคลของตัวผู้นำ การนำเสนอความคิดจะต้องแยกแยะให้ออกว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบ ‘fail-safe’ หรือการมีมาตรการป้องกันความล้มเหลว แต่ไม่ใช่จะมีประสิทธิภาพเสมอไป กล่าวคือในระบอบประชาธิปไตยที่ดี ประชาชนจะมีสิทธิและเสรีภาพในการกำหนดผู้นำของตัวเอง ในทุกๆ ระยะเวลาที่ตกลงกันตามสัญญาประชาคม เราจะมีสิทธิ์กลับไปเข้าคูหาเพื่อออกเสียงความพึงพอใจของเราต่อประสิทธิภาพและการทำงานของรัฐบาลและผู้นำ

หลังเหตุการณ์ COVID-19 การโต้เถียงจากฝั่งประชาธิปไตยจะยึดโยงระบอบกับประสิทธิภาพในการจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐน้อยลง และจะต้องเน้นย้ำเป้าหมายที่แท้จริงของระบอบมากขึ้น

แหล่งทุน แนวความคิด และความชอบธรรมในการดำเนินกิจกรรมเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมเสรีนิยมประชาธิปไตย จะถูกยึดโยงจากประเทศประชาธิปไตยที่ทำได้ดีหลังวิกฤตการณ์นี้ ซึ่งผู้สนับสนุนหลักก็น่าจะเป็นประเทศในแถบเอเชีย และอาจจะมีบางประเทศทางยุโรปที่ทำได้ดีจากสถานการณ์นี้หลงเหลือพอเป็นความหวังอยู่บ้าง

สิ่งที่น่าท้าทายสำหรับหลายท่าน (รวมถึงผู้เขียนเองด้วย) คือเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประชาธิปไตยที่มีความสมดุลระหว่างการเคารพสิทธิเสรีภาพ และยังเป็นเลิศในการจัดการภัยคุกคามในรูปแบบใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

 

6

ศูนย์กลางของอำนาจโลกย้ายมาเอเชียอย่ารวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก

จุดที่น่าสังเกตในวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือ ความแตกต่างของระบอบการปกครองดูเหมือนไม่ได้มีผลอะไรกับการจัดการและประสิทธิภาพของการระงับการแพร่ระบาดของ COVID-19

มีประเทศในกลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ทำได้ดี เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ส่วนสิงคโปร์และฮ่องกงนั้นเป็นประเทศที่ปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งอำนาจนิยมที่ทำได้ดีเช่นกัน และนอกเหนือจากนั้นก็ยังมีประเทศอำนาจนิยมที่ทำได้ดีคือ จีนและเวียดนาม (อย่างน้อยก็ตามการประชาสัมพันธ์ออกมาจากสื่อรัฐบาลต่อชาวโลก)

มีแนวโน้มว่าปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้ประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถตั้งรับกับวิกฤตการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเกี่ยวข้องกับ 1. ความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาล (trust) 2. ประวัติศาสตร์ด้านสังคม (social history) และ 3. ประสิทธิภาพและสถานะของระบอบทุนนิยมในแต่ละประเทศ (state of capitalism)

สำหรับประเทศไทยเรามีรัฐบาลที่มีความน่าเชื่อถือไม่สูงนัก สภาวะทุนนิยมผูกขาดของเราก็ทำให้เรามีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่กระนั้นเราก็มีประวัติศาสตร์และค่านิยมการกดดันทางสังคมให้เด็กหัวกะทิที่สุดของประเทศเลือกที่จะประกอบวิชาชีพในทางการแพทย์และอยู่ในระบบสาธารณสุข เราคงต้องรอดูไปอีกสักระยะก่อนจะตัดสินอะไรได้

แต่ที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดคือประเทศที่รับมือได้ดีกับวิกฤตครั้งนี้ (หากไม่มีการระบาดระลอกต่อไป) ล้วนแต่จะเป็นประเทศในแถบเอเชียเกือบทั้งสิ้น (ที่โดดเด่นนอกเอเชียก็คงจะเป็น เยอรมนี และเราคงต้องจับตามองกันต่อไปว่าประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะจัดการกับเรื่องนี้ได้ดีแค่ไหน) ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้สมรภูมิภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกจะมีความดุเดือดเพิ่มขึ้นไปอีก หากมองในแง่ดีเหตุการณ์นี้ทำให้การถ่ายโอนอำนาจในระบอบนานาชาติย้ายจากโลกฝั่งตะวันตกมายังโลกฝั่งตะวันออกอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น เราคงจะได้เห็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียที่เร็วกว่าสหรัฐฯ และยุโรป แต่กระนั้นความตึงเครียดและจุดอ่อนทางความมั่นคงก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วยโดยเฉพาะในระยะการฟื้นตัวของแต่ละประเทศ

ในมุมมองความมั่นคง ความขัดแย้งในระดับภูมิภาคจะทวีความรุนแรงและเป็นที่น่าจับตามองมากกว่าความขัดแย้งในระดับมหภาคเสียอีก ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จะเป็นตัวแทนของฝั่งเสรีนิยมประชาธิปไตย ประเทศจีนและเครือข่ายจะเป็นผู้นำฝั่งอำนาจนิยม ในขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปต้องกลับไปโฟกัสกับการฟื้นตัวทั้งระบอบเศรษฐกิจและความมั่นคงภายในประเทศ

ในเชิงเทคนิค การรับประกันความมั่นคงในระดับนานาชาติ (US security guarantee) ที่เชื่อถือได้น้อยลงของสหรัฐฯ และการที่ประเทศจีนมีอำนาจมากขึ้นทั้งในเชิงเปรียบเทียบ (relative terms-การที่จีนดูเหมือนมีอำนาจใกล้เคียงสหรัฐฯ มากขึ้นเพราะสหรัฐฯ มีอำนาจลดลง) และในเชิงสัมบูรณ์ (absolute terms-การที่จีนมีอำนาจมากขึ้นเพราะความมั่นคงและสภาพเศรษฐกิจของจีนเองแข็งแกร่งขึ้น) จะทำให้ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น เราไม่ควรแปลกใจหากรัฐบาลและสภาฯ ญี่ปุ่นจะเห็นชอบให้มีการปลดล็อก มาตรา 9 (article 9) ในรัฐธรรมนูญที่เป็นข้อจำกัดหลังสงครามโลกที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถสร้างกองทัพได้อย่างเต็มรูปแบบ และก็คงไม่น่าแปลกใจนักหากทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีจะปลดล็อกความสามารถทางด้านนิวเคลียร์ (nuclear latency) เพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์มาทดแทนการสนับสนุนด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ที่ขาดหายไป

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น COVID-19 นับเป็นวิกฤตการณ์ที่สำคัญที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเราทุกคน แม้ความเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ของมันจะยังไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่ชัด แต่เชื่อได้เลยว่าจะเกิดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงอย่างมหาศาลในระยะยาวอย่างแน่นอน บทความนี้พยายามกล่าวถึงเฉพาะเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างเกี่ยวโยงกันหมด

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปสู่โลกหลัง COVID-19 ที่น่าจะมีความมั่นคงน้อยยิ่งกว่าเดิม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save