fbpx
สถานการณ์ COVID-19 ในเรือนจำ : มิติทางสาธารณสุขและการปรับตัวของกระบวนการยุติธรรม

สถานการณ์ COVID-19 ในเรือนจำ : มิติทางสาธารณสุขและการปรับตัวของกระบวนการยุติธรรม

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หากมองจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ระดับโลกจะพบว่าไม่มีมาตรการสำเร็จรูปใดๆ ที่ออกมาแล้วสามารถจัดการกับวิกฤตนี้ได้โดยไม่ปรับใช้ให้เหมาะกับประเทศของตัวเองอย่างชาญฉลาด ในขณะที่ประชากรทั่วโลกต่างวิตกกังวลว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในความขวัญแขวน ยังมีบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำและเผชิญกับสถานการณ์การรวมหมู่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ตลอดเวลา

สองประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำคือประเทศจีนและอิหร่าน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ปากีสถาน อิตาลี ซ้ำยังมีรายงานว่าผู้ต้องขังในสเปน อิหร่าน และฝรั่งเศสเสียชีวิตแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2563) โดยที่ตัวเลขอาจจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกหากไม่มีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากพอ

ในประเทศไทยก็มีรายงานออกมาว่าผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนครนายกติดเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยที่เรือนจำจังหวัดนครนายกมีผู้ต้องขัง 988 และเจ้าหน้าที่อีก 49 คน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาก็เพิ่งมีเหตุการณ์จลาจลเกิดขึ้นในเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ เหตุเพราะผู้ต้องขังเกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โรคระบาดจึงก่อเหตุจุดไฟเผาเรือนนอน มาตรการที่รัดกุมในการดูแลผู้ต้องขังและสภาพแวดล้อมอย่างเร่งด่วนและรอบคอบจึงจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ข้อแนะนำจาก WHO: การจัดการเคสทางคลินิกและการประเมินผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยง

 

จากการสำรวจลักษณะทางประชากรของข้อปฏิบัติในการป้องกันไวรัสโควิด -19 ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าสภาวะบังคับที่ผู้ต้องขังขาดเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตและถูกกักขังอยู่ในพื้นที่เดิมเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดโรคมากกว่าคนทั่วไปเพราะพวกเขามีภาระทางสุขอนามัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ภูมิคุ้มกันโรคต่ำจากความเครียดหรือมีภาวะทุพโภชนาการ

สุขภาวะในเรือนจำจึงต้องได้รับการพิจารณาให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ต้องขังเอง ผู้เข้าเยี่ยม และชุมชนข้างนอก

ในประเด็นทางสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องขังก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพเหมือนกับประชาชนทั่วไปที่อยู่นอกสถานคุมขังเพราะพวกเขาตกเป็นรองทั้งในด้านการใช้เสรีภาพ และมีสถานะทางสังคมที่แตกต่างจากคนทั่วไป

WHO เน้นย้ำอย่างเคร่งครัดว่านี่คือความรับผิดชอบของรัฐที่จะต้องดูแลเพราะผู้ต้องขังไม่สมควรที่จะต้องถูกตัดขาดจากโลก พวกเขาต้องได้รับการชี้แจงทั้งในด้านการอัพเดทสถานการณ์การแพร่ระบาด และการยกระดับสุขภาวะของปัจเจกทุกคนภายในเรือนจำอย่างทั่วถึง

จากข้อมูลที่ระบุไว้ใน “การเตรียมพร้อม การป้องกัน และการควบคุมการระบาดของ COVID19 ในเรือนจำ และสถานคุมขัง” (Preparedness, prevention and control of COVID19 in prisons and other places of detention) ข้อแนะนำในการปฏิบัติของ WHO เกี่ยวกับการจัดการเคสทางคลินิก (Clinical management) ระบุให้ดำเนินการตามการบริการปฐมภูมิ (Primary Care) และมาตรการของประเทศหากพบว่ามีผู้ต้องขังมีแนวโน้มที่จะมีอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน (Severe Acute Respiratory Infection : SARI) จากไวรัสโควิด -19 ซึ่งข้อปฏิบัตินี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างประสิทธิภาพด้านการควบคุมการติดเชื้อ (Infection prevention and control) กระบวนการคัดกรองผู้ป่วย (Triage) และการดูแลตามอาการ (Supportive care) ไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะนำมาทดแทนการตัดสินทางคลินิก (Clinical judgement)

ผู้ต้องขังที่ป่วยควรจะได้รับการแยกคุมขังในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และสวมใส่หน้ากากในขณะที่กำลังเดินทางไปยังห้องกักตัว หากมีพื้นที่รองรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงไม่เพียงพอ ทางเรือนจำควรจะจัดการรวมกลุ่มคนเหล่านี้ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยจัดเตียงให้มีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรไม่ว่าจะสามารถระบุได้หรือไม่ว่ากลุ่มเสี่ยงติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ได้มากที่สุด

การตัดสินใจที่จะแยกคุมขังหากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ต้องขังได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องมาจากบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น โดยระหว่างการกักตัว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจตามมาตรฐานการแพทย์อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน โดยต้องมีการวัดอุณหภูมิและตรวจเสมอว่ามีกลุ่มอาการที่ใกล้เคียงกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่

หากมีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงออกนอกเรือนจำแล้ว ควรมีการทำความสะอาดห้องผู้ป่วยจนมั่นใจได้ว่าปลอดเชื้อโดยใช้น้ำยากำจัดไวรัสหรือสารฆ่าเชื้อที่ได้รับตรวจสอบแล้วว่านำมาใช้ในเรือนจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเสร็จกระบวนการจึงจะสามารถนำคนไข้กลุ่มต่อไปเข้ามาเฝ้าดูอาการได้

แม้ในรายงานของ WHO จะไม่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของที่คุมขังในประเทศไทยโดยเฉพาะ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าควรจะมีการนำประเด็นนี้มาถกเถียงในสังคมอย่างจริงจัง เนื่องจากความจุของเรือนจำที่สามารถรองรับผู้ต้องขังทั่วประเทศไม่พอเพียง หรือที่เรียกว่าสภาวะ “นักโทษล้นเรือนจำ ” (prison overcrowding) โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม พบว่าประเทศไทยสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 254,302 คน แต่ปัจจุบันมีประชากรจำนวนผู้ต้องขังทั้งประเทศ จำนวน 377,722 คน (ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563)

ในกรณีที่ผู้ต้องขังเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่มีกำหนดที่จะได้ปล่อยตัว หรือไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อมาแล้วยังอยู่ในระยะกักตัว 14 วัน เจ้าหน้าที่ควบคุมบริการด้านสาธารณสุขของเรือนจำควรจะตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผู้ต้องขังจะมีที่อยู่อาศัยเพื่อกักตัวจนกว่าจะครบกำหนดเวลา และส่งเรื่องไปยังองค์กรท้องถิ่นเพื่อดูแลเคสต่อ

หรือหากผู้ต้องขังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลหลังจากได้รับการปล่อยตัว แต่ยังคงสถานะเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อยู่ในระยะกักตัว ก็ควรมีการจัดการด้านสาธารณูปโภคต่อผู้ป่วยที่ต้องดำรงชีวิตด้วยตัวเองให้พร้อม

เนื่องจากในตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่ทำงานในเรือนจำควรจะปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันพื้นฐานอย่างเคร่งครัด ไม่มองข้ามพฤติกรรมที่สังเกตได้ง่ายหรือละเอียดเล็กน้อย เช่น การล้างมือให้สะอาด การไม่แตะหน้าตาหรือจมูกโดยไม่จำเป็น การใส่หน้ากากอนามัย การใช้ทิชชูเมื่อไอหรือจามทุกครั้ง ไปจนถึงการตรวจสอบระบบทางเดินหายใจ การเว้นระยะห่างหากพบว่ามีผู้ที่ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ

การฝึกปฏิบัติให้ผู้ต้องขังและบุคลากรภายในใช้หน้ากากให้ถูกต้องจึงเป็นข้อปฏิบัติที่ควรนำไปปรับใช้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากคนสู่คน เพราะการใส่หน้ากากโดยไม่จำเป็นก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนหน้ากาก หรือหากใช้ในเวลาที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะเป็นการป้องกันที่ผิดจุด เพราะก่อให้เกิดความรู้สึกหลอกตัวเองว่าปลอดภัย (false sense of security) ส่งผลให้ผู้ใส่ละเลยการล้างมือให้สะอาด

เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการทำความสะอาดพื้นที่ก็ควรดำเนินการตามหลักการที่ควรระวังไว้ก่อน และหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับพื้นผิวต่างๆ โดยการใส่ถุงมือใช้แล้วทิ้งทุกครั้ง ล้างมือก่อนและหลังสวมถุงมือ รวมไปถึงการแต่งตัวให้มิดชิดเพื่อป้องกันละอองฝอยหรือของเหลวจากร่างกาย

คีย์เวิร์ดที่สำคัญในการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อและลดความเสี่ยง คือการปรับมาตรการของเรือนจำให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่และบุคลากร โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำควรจะประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับองค์การสาธารณสุขส่วนท้องถิ่นเพื่อประเมินว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของผู้ต้องขังอย่างไรบ้าง เนื่องจากลักษณะของผู้ต้องขังมีความแตกต่างหลากหลาย เช่น ผู้ต้องขังสูงวัย และเด็กที่ต้องอาศัยอยู่กับมารดาที่เป็นผู้ต้องขังภายในเรือนจำ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นที่และการจัดการ ในพื้นที่ที่ไม่ตรวจพบเชื้อ ความรุนแรงของการแพร่ระบาดอาจจะเกิดจากผู้ต้องขังใหม่ที่เพิ่งเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือมีการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ

การประเมินการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังจึงเป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบว่าทางเรือนจำจะมีมาตรการในการลดจำนวนผู้เข้าเยี่ยมได้อย่างไร ช่วงเวลาในเข้าเยี่ยมควรจะเป็นช่วงเวลาใด หรือควรมีการเรียนการสอน video conference ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ กับสมาชิกครอบครัวผู้ต้องขังหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายอย่างไร เช่น เรือนจำบางแห่งในสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ผู้ต้องขังติดต่อกับญาติผ่านทางโทรศัพท์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเรือนจำในโมร็อกโกก็ออกมาตรการลดการเยี่ยมให้เหลือเพียงเดือนละ 1 ครั้ง

นอกจากการจัดการดูแลสุขอนามัยของบุคลากรและผู้ต้องขังอย่างเคร่งครัด การเยียวยาและรับมือกับสภาวะทางจิตใจและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์ที่สั่นคลอนความปลอดภัยเช่นนี้ก็ต้องดำเนินการควบคุมกันไปด้วย เนื่องจากผู้ต้องขังอาจจะมีการตอบสนองต่อการกักตัวและความรุนแรงของสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากคนทั่วไป จึงควรมีการสร้างความตระหนักต่อสถานการณ์การแพร่เชื้อ และให้ข้อมูลอัพเดทอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขควรจะเป็นผู้ดูแลควบคุมหลักในด้านนี้ แต่ในหลายประเทศ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ร่วมออกนโยบายและมาตรการทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ในวิกฤตไปด้วยกัน รวมไปถึงต้องเน้นการผนึกกำลังขององค์ทางสาธารณสุขท้องถิ่นหรือการบริการทางสุขภาพในทุกภาคส่วนเพื่อการดูแลปัจเจกทุกคนในเรือนจำอย่างครอบคลุมทั้งทางสุขอนามัยและจิตใจ

 

[box]

มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก (Noncustodial Measure) สกัดการแพร่กระจาย COVID19

 

ภาวะนักโทษล้นเรือนจำและสภาพแออัดของผู้คนในสถานคุมขังที่เป็นปัญหาในกว่า 120 ประเทศทั่วโลกมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ได้กลายเป็นความเสี่ยงสำคัญในการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน และอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะต่อผู้ต้องขังเอง เจ้าหน้าที่ที่ทำงานภายใน รวมถึงชุมชนด้านนอกที่อาจเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ในสภาวะเช่นนี้ การปรับตัวของกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ในช่วงวิกฤตนี้ หลายประเทศเริ่มออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อลดความแออัดและการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยหันมาใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุกสำหรับผู้ต้องขังสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่สมควรอยู่ในเรือนจำน้อยที่สุด (เช่น ผู้ต้องขังที่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด และผู้ต้องขังคดีความผิดเล็กน้อยที่มีโทษจำคุกระยะสั้น) และกลุ่มที่มีภาวะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด (เช่น ผู้ต้องขังสูงอายุ ผู้ต้องขังป่วยหนัก และผู้ต้องขังตั้งครรภ์)

อิหร่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด ได้ปล่อยตัวผู้ต้องขังรวมถึงผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองแล้วจำนวน 85,000 คน และในสหรัฐอเมริกา นครนครลอสแอนเจลิสได้ทยอยปล่อยตัวผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกเหลือน้อยกว่า 30 วัน และเตรียมการปล่อยผู้ต้องขังตั้งครรภ์ และผู้ต้องขังสูงวัยเพิ่มเติม โดยแนวทางลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ยังถูกพิจารณานำมาใช้ในอีกหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เยอรมัน ซูดาน เคนย่า อินเดีย อัฟกานิสถาน และออสเตรเลีย

สำหรับประเทศไทย แม้ยังไม่มีมาตรการในเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ล่าสุด “รายงานสถานการณ์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเรือนจำ” ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เสนอหลักการในการใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุกอาจนำมาใช้ในประเทศไทย ดังนี้

1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถลดจำนวนผู้ต้องขังเข้าใหม่ได้โดยการใช้มาตรการอื่นในการลงโทษนอกเหนือไปจากการคุมขังในเรือนจำ เช่น การเรียกค่าปรับ มาตรการคุมประพฤติ การควบคุมตัวที่บ้าน และการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้กระทำผิดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพรุนแรง หรือหญิงตั้งครรภ์ และผู้กระทำผิดคดีเล็กน้อย

2. หากมีผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งที่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าไม่เป็นภัยต่อสังคม โดยพิจารณาจากลักษณะการทำผิด ความเสี่ยงด้านสุขภาพ หรือโทษคงเหลือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใช้มาตรการอื่นๆ แทนการให้จำคุกต่อไป เช่น การปล่อยตัวก่อนกำหนด การปล่อยตัวชั่วคราว การควบคุมตัวอย่างเคร่งครัดที่บ้านแทน แต่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีอย่างรอบคอบและชัดเจน เช่น ผู้ต้องขังที่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 ปี ลงไป ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือผู้ต้องขังเด็ดขาดในกลุ่มคดีที่มีความผิดไม่ร้ายแรง

3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำงานอย่างละเอียดและรัดกุมตามการกำหนดมาตรการใหม่ในข้อ 1 และ ข้อ 2 โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดและสร้างระบบติดตามผู้ต้องขังที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงตรวจสอบสุขภาพอนามัยและให้ข้อมูลที่ชัดเจน นำไปปฏิบัติได้ก่อนจะปล่อยตัวไปสู่สถานการณ์แพร่ระบาด ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไม่ละทิ้งผู้ต้องขัง โดยจัดหาความช่วยเหลือด้านอาชีพหลังพ้นโทษ เพื่อให้ผู้ต้องขังดำรงชีวิตได้อย่างคนทั่วไป ไม่ถูกตีตราว่าเป็นผู้พ้นโทษ และเพื่อความปลอดภัยยั่งยืนของสังคมในระยะยาว

ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่การคุมขังเพิ่มเติมได้ใน “รายงานสถานการณ์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเรือนจำ” ฉบับเต็มได้ที่นี่

[/box]

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save