fbpx
รัฐเหลวแหลกและความตายแปลกหน้า

รัฐเหลวแหลกและความตายแปลกหน้า  

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

โดยที่ไม่ได้ทำวิจัยอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน แต่จากการสังเกตและติดตามข่าวคราวกรณีไวรัสโควิด-19 ผมมีความเข้าใจว่าสังคมไทยโดยส่วนใหญ่มีการตอบสนองต่อโรคระบาดครั้งนี้ในระดับที่เข้มข้นมากกว่าในหลายๆ แห่ง ดังจะพบว่ามีการใส่หน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางกายภาพของผู้คน (physical distancing) ในที่สาธารณะเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างแพร่หลาย

ไม่เว้นแม้กับกลุ่มที่เป็นคนจน เพื่อนอาจารย์ผู้สันทัดชีวิตคนยากจนบอกว่าคนกลุ่มนี้ก็ให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเองจากโรคร้ายนี้ไม่น้อยไปกว่ากลุ่มคนอื่นๆ แต่อาจด้วยวิธีการที่ต่างไปบ้างเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเงิน

คำถามของบทความนี้ก็คือ อะไรคือปัจจัยของการกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมแห่งนี้มีความระมัดระวังเป็นอย่างมากต่อกรณีไวรัสโควิด-19

จะกล่าวว่าเพราะคนในสังคมไทยกลัวความตายอย่างมากก็คงไม่ใช่เหตุผลที่ดีนัก เพราะคงไม่ลืมว่าเรามีคนเสียชีวิตในทุกเทศกาลสงกรานต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากปีนี้ไม่มีการยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ จำนวนคนเจ็บคนตายก็คงไม่สู้แตกต่างไปจากเดิม หากจะกล่าวว่าคนไทยมีสำนึกและให้ความร่วมมือต่อสาธารณะในระดับสูงก็คงเป็นคำอธิบายที่ชวนให้อัศจรรย์ใจยิ่ง มีเหตุการณ์จำนวนมากที่สามารถเป็นข้อโต้แย้งกับคำอธิบายเช่นนี้ได้

ในทำนองเดียวกัน คงเป็นการมักง่ายเกินไปหากจะอธิบายว่า จะมีสาเหตุใดสาเหตุเดียวที่มีผลต่อการทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่มีผลไม่น้อย (ส่วนจะสำคัญมากน้อยขนาดไหนคงต้องขบคิดกันอย่างละเอียดอีกครั้ง) ก็คือ ภาวะความล้มเหลวของรัฐไทยต่อการเผชิญหน้ากับภัยพิบัติครั้งนี้ อันเป็นการคุกคามแบบใหม่อันไม่เป็นที่รู้จักหรือคุ้นเคยของผู้คนในสังคมไทย

ในหมู่ผู้ที่สนใจการศึกษาเกี่ยวกับรัฐ ได้มีการสร้างดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับรัฐที่มีความอ่อนแอทั้งในด้านการบริหารงานและความชอบธรรม ซึ่งมีการเรียกกันว่า ‘รัฐเปราะบาง’ (แปลมาจาก fragile state โดยแต่เดิมใช้คำว่า ‘รัฐล้มเหลว’ หรือ failed state) รัฐในลักษณะเช่นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ไม่ปกติ (a range of shocks) และสถาบันของรัฐจะมีส่วนสร้างภาวะวิกฤตในด้านต่างๆ

เช่น ในมิติทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตในระดับต่ำ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง เช่น รายได้ การเป็นเจ้าของที่ดิน, มิติทางสังคม ทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษา, มิติทางการเมือง มีการสร้างกลไกทางอำนาจที่กีดกันการร่วมมือของคนกลุ่มต่างๆ ออกไป หรือสร้างความเป็นฝักฝ่ายอย่างสูง

การประเมินวัดด้วยดัชนีต่างๆ โดย Fund for Peace ตั้งแต่ ค.ศ. 2005 จนถึง ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2548-2561) รัฐไทยได้ระดับคะแนนในช่วงระหว่าง 70-80 คะแนนมาโดยตลอด ในปีล่าสุด ค.ศ. 2019 ได้คะแนน 73.10 (คะแนนเต็ม 120 ยิ่งคะแนนสูงยิ่งแสดงให้ถึงความเปราะบางสูง) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับพึงระวัง (warning) อันแสดงว่า เมื่อพิจารณาตามดัชนีชี้วัดของรัฐเปราะบางแล้ว รัฐไทยมีสถานะที่ไม่อาจจัดได้ว่าเป็นรัฐที่มั่นคงนัก (5 ประเทศแรกของกลุ่มประเทศเปราะบางสูงสุด ได้แก่ เยเมน, โซมาเลีย, ซูดานใต้, ซีเรีย และคองโก)

 

What is Thailand fragile states index?
ที่มา : https://knoema.com/atlas/Thailand/topics/World-Rankings/World-Rankings/Fragile-states-index

 

อย่างไรก็ตาม การประเมินดังกล่าวก็เป็นเพียงการชี้วัดด้วยตัวเลขทางเอกสารที่อาจไม่ทำให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาภายในโครงสร้างของรัฐไทย ความเปราะบางของรัฐไทยจึงซุกซ่อนอยู่ในโครงสร้างทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ ระบบราชการ เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาของการรัฐประหารก็ได้สะสมปัญหามากขึ้น ซึ่งแทบทั้งหมดก็ได้ถูกแสดงออกในทางสาธารณะอย่างชัดเจนเมื่อเกิดการแพร่กระจายของไวรัสโควิดนับตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา สังคมไทยได้เห็นความไร้น้ำยาของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

– การประกาศว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ถ้ารักษาร่างกายให้แข็งแรงก็ไม่เป็นอะไร

– การฝ่าฝืนจัดการชกมวยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวกับกองทัพ แม้จะมีการขอความร่วมมือให้งดกิจกรรมจากรัฐบาลก็ตาม

– การประกาศหยุดสงกรานต์ แต่ปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้า กิจการต่างๆ ทำให้ประชาชนก็ต้องแห่แหนออกต่างจังหวัดเสมือนการเร่งสงกรานต์ให้เร็วขึ้น

– การกักตุนหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ โดยนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องแต่ไม่มีการลงโทษ

– ความไม่ชัดเจนของการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบ สำนักงบประมาณ สำนักงานประกันสังคม ตอบคำถามไปคนละทางไม่เหมือนกัน

ฯลฯ

ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐไทยในห้วงเวลานี้ได้แสดงออกต่อประชาชนคนไทยอย่างเต็มตา จนทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อความสามารถในการรับมือของรัฐนั้นตกต่ำลงอย่างมาก ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงระบบการเมือง ระบบราชการ อย่างไม่อาจปฏิเสธ ทั้งนี้ ไม่ต้องกล่าวถึงความชอบธรรมของอำนาจนำทางการเมืองที่กำลังสูญสลายไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ล้วนแต่ซ้ำเติมให้สถานการณ์ขยายวงไปมากขึ้น

ยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับโรคภัยแบบใหม่ที่แปลกหน้าแปลกตา ความคาดหวังของประชาชนต่อรัฐก็ย่อมมีความต้องการมากขึ้นไปด้วย การแสดงความไร้ความน้ำยาของหน่วยงานทั้งระดับนำและปฏิบัติงานจึงย่อมกระทบต่อความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อรัฐอย่างไม่อาจปฏิเสธ

รัฐไทยจึงไม่ใช่เป็นเพียงรัฐเปราะบาง หากแต่กำลังแปรสภาพเป็น ‘รัฐเหลวแหลก’ ที่ไม่ใช่เพียงขาดไร้ความสามารถ แต่ยังขาดไร้ความชอบธรรมและความไว้วางใจอย่างรุนแรง

การดำรงชีวิตอยู่ในรัฐที่เหลวแหลกเช่นนี้ สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่ามีผลอย่างสำคัญที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากจึงมีการตอบสนองต่อโรคระบาดอย่างเข้มข้น ด้วยพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันว่ารัฐที่มีอยู่นั้นอ่อนแอเป็นอย่างมากต่อการรับมือกับภัยร้ายที่ถาโถมเข้ามา และไม่ใช่เพียงการปกป้องตัวเองให้พ้นจากการคุกคามของไวรัสเท่านั้น การแจกจ่ายข้าวปลาอาหารในระหว่างผู้คนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง การระดมเงินและทรัพย์สินเพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การปรับเปลี่ยนโรงแรมมาเป็นที่พัก ที่กักตัว ของผู้ได้รับเชื้อไวรัส ฯลฯ

การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะตระหนักว่ารัฐคงไม่มีความสามารถเพียงพอในการบริหารจัดการในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ แค่หน้ากากอนามัยยังไม่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาดทั่วไป คงยากจะคาดหวังถึงในการรอความช่วยเหลือของรัฐ

จะเห็นได้ว่าในหลายประเทศ แม้มีการใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกับรัฐบาลไทยแต่ก็ไม่ปรากฏภาพของการกระจายอาหารโดยประชาชนด้วยกันเอง เพราะต่างรู้กันดีว่ารัฐจะเป็นฝ่ายที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ รวมทั้งเชื่อมั่นว่าจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความแข็งขันของผู้คนทั้งในด้านปกป้องตนเองและการให้ความช่วยเหลือกับผู้อื่น แต่การแสดงบทบาทของผู้คนก็อาจนำไปสู่การคุกคามหรือทำลายสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วยเช่นกัน การประณามกลุ่มแรงงานกลับจากต่างประเทศ ผู้แสวงบุญในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งการรุมด่านักแสดงที่แสดงความเห็นเชิงลบต่อรัฐบาล เป็นต้น นี่เป็นภาวะสุ่มเสี่ยงสำหรับสังคมไทยที่จะทำให้ความเคลื่อนไหวในทางสาธารณะนำไปสู่การบั่นทอนเสรีภาพของผู้คนร่วมสังคม

การแสดงบทบาทในลักษณะเช่นนี้อาจเป็นสิ่งที่ต้องมีการถกเถียงเพื่อทำความเข้าใจหรือปรับเปลี่ยนมุมมองให้กว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น ความยุ่งยากจำนวนมากเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากรัฐเหลวแหลก กรณีการรับคนไทยจากต่างแดนเป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งสะท้อนถึงการขาดระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนจนทำให้ผู้คนไม่ได้เข้าสู่การกักตัวในตอนแรก แต่นั่นไม่เป็นเหตุผลให้เราจะปฏิเสธสิทธิในการกลับเข้าสู่ประเทศไทยของพวกเขาเหล่านั้น

การสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการตระหนักถึงความยุ่งยากที่เป็นอยู่ตอนนี้จะช่วยทำให้สามารถเข้าใจถึงปัญหาในระดับโครงสร้างของรัฐ อุดมการณ์ครอบงำ และกฎหมายที่เป็นเงื่อนไขของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข

แม้จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ท่ามกลางความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่ลำพังเพียงการบริจาคของคนตัวเล็กๆ จะไม่สามารถสร้างการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขอย่างเป็นระบบที่รองรับผู้คนได้อย่างทั่วถึง เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องการงบประมาณ ทรัพยากร บุคลากรและความรู้อย่างไพศาล ซึ่งเป็นภาระหน้าที่อย่างสำคัญของรัฐในการดำเนินการ การเรียกร้อง วิพากษ์วิจารณ์ ต่อการทำหน้าที่ของรัฐที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ผู้คนย่อมสามารถกระทำได้

หากสังคมไทยสามารถก้าวข้ามพ้นจากภาวะวิกฤตในคราวนี้ได้ รัฐเหลวแหลกก็เป็นภารกิจที่ผู้คนในสังคมไทยต้องร่วมกันจัดการและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save