fbpx
“ต้องรักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค” มองทางออกวิกฤต-โรดแมปเปิดเมือง กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

“ต้องรักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค” มองทางออกวิกฤต-โรดแมปเปิดเมือง กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

วจนา วรรลยางกูร เรียบเรียง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

 

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยส่งสัญญาณดีขึ้น เริ่มมีการพูดถึงการเปิดเมือง ผ่อนคลายล็อกดาวน์ เพื่อบรรเทา ‘โรคแทรกซ้อน’ จากโควิดที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจ ในวันนี้สมดุลระหว่างการควบคุมโรคและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทยอยู่ตรงไหน เรา ‘เอาอยู่’ หรือยัง หากจะเดินหน้าปลดล็อกมาตรการที่ใช้ควบคุมการระบาดของโรค

101 ชวนหาคำตอบถึงกลยุทธ์ออกจากวิกฤตโรคระบาด กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้มีบทบาทก่อร่างสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรายการ 101 One-On-One Ep.124 : “ทางออกอยู่ไหน? : โรดแมปสู้ COVID-19” – นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563)

แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องคิดไม่ใช่มีแค่ว่าจะเปิดเมืองเมื่อไหร่ แต่ยังมีโจทย์ต่างๆ อีกมาก เช่น การอยู่ร่วมกับโควิดที่ได้สร้าง new normal แก่สังคม การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคที่ยังต้องทำต่อไปหลังเปิดเมืองแล้ว ความสำคัญของลำดับการเปิดเมืองที่ต้องคำนึงถึงการระบาดของโรค ประเภทธุรกิจที่ควรกลับมาเปิดก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จนถึงโจทย์ใหญ่เรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด

สิ่งสำคัญที่ นพ.สุรพงษ์ เน้นย้ำคือการปิดเมืองถือเป็นยาแรงที่แก้โควิดได้ผล แต่ผลลัพธ์ของการใช้ยาแรงนานเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจาก ‘โรคแทรกซ้อน’ ได้

 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

 

โรดแมปเปิดเมือง: ต้องคลายล็อกดาวน์ก่อนเกิดโรคแทรกซ้อน

 

ผมคิดว่าตอนนี้เราพร้อมแล้วสำหรับการเปิดเมือง สถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวันเป็นไปในทิศทางที่ดี ผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของคลัสเตอร์เก่าก็เริ่มทยอยหมดไป

เงื่อนไขที่จะดูว่าเราควบคุมได้ดีคือ 1. จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ หากพบว่าผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ อย่างเสถียร ไม่ได้ขึ้นลงเป็นฟันปลา และผู้ป่วยที่มีอยู่ไม่ได้มากเกินกว่าศักยภาพการรักษาพยาบาลที่จะรับมือ 2. เรื่องความสามารถในการรับมือ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล เตียง อุปกรณ์การแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ วันนี้เรามีศักยภาพมากพอ รับรองหากมีจำนวนผู้ป่วยขยับขึ้นลงนิดหน่อย 3. ความสามารถในการควบคุมโรคต่อไป เรามีความสามารถในการตรวจเชื้อมากพอและยืนยันว่าเรามีประสิทธิภาพที่ดีในการตามหาผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสผู้ป่วย

สำคัญที่สุด คือ การรับรู้ของประชาชนมีความเข้าใจในการป้องกันโควิด สภาพรวมทั้งหมดเราพร้อมแล้วที่จะเริ่มผ่อนคลายการล็อกดาวน์ ไม่เช่นนั้นปัญหาที่ตามมาก็คือเรื่องโรคแทรกซ้อนจากการปิดเมืองและผลทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจน

โรดแมปการเปิดเมืองของแต่ละฝ่ายตอนนี้อาจจะไม่ต่างกันเท่าไหร่ โดยเฉพาะของสาธารณสุข ผมได้คุยกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขหลายท่าน โดยเฉพาะคนที่เคยทำงานด้วยกันสมัยรับมือกับโรคซาร์ส เมื่อ 17 ปีที่แล้ว เช่น คุณหมอศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ และคุณหมอคำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและรู้จริงเรื่องระบาดวิทยา ทั้งสองท่านเสนอโรดแมปการเปิดเมืองว่าควรมีกระบวนการอย่างไร จะมีที่คิดต่างกันเรื่องวันเวลา ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยายังมองว่าเร็วที่สุด คือ เฟสแรก 1 พฤษภาคม, เฟสที่ 2 กลางพฤษภาคม, เฟสที่ 3 คือ 7 จังหวัดที่ยังมีการระบาดอยู่ในวันนี้อาจต้องรอถึง 1 มิถุนายน แต่ ณ วันนี้ ผมคิดว่าหากไม่มีอะไรเกินความคาดหมาย ไม่มีคลัสเตอร์การระบาดใหม่ อาจเปิดกรุงเทพฯ ได้หลังจากเปิดจังหวัดอื่นๆ แล้ว 1-2 อาทิตย์

หากปิดเมืองนานกว่านี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประชาชนจะรุนแรงกว่าผลกระทบจากโควิดด้วยซ้ำ ต้องจัดวางว่าเมืองไหนที่พอจะเปิดได้ ตอนนี้มี 9 จังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ป่วยเลยแต่ถูกล็อกดาวน์ไปด้วย และมี 20 กว่าจังหวัดแทบไม่มีผู้ป่วยใหม่เลยในรอบ 14 วัน กลุ่มจังหวัดเหล่านี้น่าจะเป็นเฟสแรกที่จะเปิดเมืองได้ กลุ่มที่ 2 มี 30 กว่าจังหวัดที่ยังมีผู้ป่วยใหม่ในรอบ 14 วัน แต่ว่าน้อยมาก ยังถือว่าปลอดภัยพอสมควร ผมคิดว่ากลุ่มที่ 1 กับ 2 น่าจะเปิดพร้อมกัน

กลุ่มที่ 3 คือ 7 จังหวัดซึ่งยังมีผู้ติดเชื้อใหม่เกิดขึ้นแต่การระบาดยังไม่มากนัก หากกลุ่ม 1 และ 2 เปิดไปแล้วและมีความชัดเจนเรื่องธุรกิจแต่ละประเภทว่าจะทำอะไรได้บ้าง และสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ก็จะเปิดกลุ่มที่ 3 ได้

สิ่งที่คนกังวลกันคือเรายังควบคุมการระบาดโดยไม่มีผู้ป่วยใหม่เลยไม่ได้ แต่การมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นบ้าง วันละ 7-8 ราย ไม่เป็นเรื่องที่ต้องกังวลมาก เพราะจีนหรือเกาหลีใต้ที่เปิดเมืองก็มีผู้ป่วยประปรายวันละไม่เท่าไหร่ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถเปิดเมืองได้

เมืองที่ไม่มีผู้ป่วยใหม่เลยหรือไม่มีผู้ป่วยมาแล้ว 14 วัน น่าจะทดลองดูว่ากระบวนเหล่านี้เป็นไปได้จริงไหม ในต่างจังหวัดเราค่อนข้างมั่นใจว่ามี อสม. ที่เป็นกำลังหลัก ทำงานเข้มแข็งเรื่องการติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งกรุงเทพฯ ทำเรื่องนี้ได้ยากกว่าในต่างจังหวัด เพราะชุมชนไม่ได้มีลักษณะใกล้ชิดกันอาจทำให้การทำงานของอาสาสมัครเป็นไปได้ยากขึ้น หากจะเปิดกรุงเทพฯ ระบบการติดตามโรคต้องเอาจริงเอาจังและทำให้เกิดความมั่นใจได้มากขึ้น

อาวุธสำคัญของเราคือ อสม. ที่มีอยู่ 1.4 ล้านคน ในต่างจังหวัด อสม. ลงไปเกาะติดเอาจริงเอาจังมาก มีคนนอกพื้นที่เดินทางเข้ามาก็ไปสอบถามและให้กักตัวอยู่บ้าน ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขทำแอปฯ ให้ อสม. รายงานได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น แอปฯ นี้จะถูกพัฒนามาเพื่อติดตามผู้ติดเชื้อโควิดและกรณีโรคระบาดอื่นด้วย

หากเทียบอัตราส่วนกับ อสม. ในต่างจังหวัดแล้ว กรุงเทพฯ ต้องมีอสม. 5 หมื่นคน แต่วันนี้กรุงเทพมี อสม. แค่ 1.5หมื่นคน อาจจะต้องเพิ่มมากกว่านี้ หรือชุมชนใหม่อย่างคอนโดหรือหมู่บ้านต่างๆ ถ้ามีการส่งเสริมกันอย่างจริงจัง ผมคิดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยอยากเป็นอาสาสมัคร

นี่เป็นจุดที่อาจต้องเร่งรัดให้เร็วที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าทำไม่สำเร็จจะเปิดกรุงเทพฯ ไม่ได้ หลักสำคัญหากต้องจัดลำดับ คือ การป้องกัน การควบคุม และการรักษา

 

ตรวจแบบมียุทธศาสตร์เน้นป้องกัน

 

ศักยภาพการตรวจเชื้อของเรา ณ วันนี้ มีแล็บตรวจเกือบ 100 แห่ง ภายในสิ้นเดือนเมษายนอาจขึ้นไปถึง 120-130 แห่ง เราสามารถตรวจได้ 20,000 ตัวอย่างต่อวัน ซึ่งถือว่ามากพอสมควร แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาเราตรวจวันละ 3-4 พันตัวอย่างเท่านั้น เพราะหลักการคือไม่ตรวจแบบหว่านแห ไม่ใช่ใครอยากจะตรวจก็เดินเข้ามาได้ การมาอยู่ในห้องรอตรวจอาจทำให้เสี่ยงโดยไม่จำเป็น

มีกรณีศึกษาที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการระบาดในลำดับต้นๆ มีอัตราการป่วยต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดในประเทศไทย จึงมีการตรวจปูพรมโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพื้นที่ระบาด และกลุ่มพื้นที่ไม่ระบาด ปรากฏว่าการปูพรมตรวจในเขตระบาด อัตราเจออยู่ที่ 2% ใกล้เคียงกับที่เกาหลีใต้ แต่การปูพรมตรวจในเขตที่ไม่มีการระบาด เจอแค่ 0.19% น้อยกว่ากัน 10 เท่า คือแทบไม่เจอเลย การตรวจในที่ที่ไม่มีการระบาดจะถือว่าสิ้นเปลืองทรัพยากรพอสมควรและอาจไม่เจอเคสใหม่ที่ควรจะเป็น

ไต้หวันก็ตรวจไม่มาก แต่ใช้กระบวนการป้องกันอย่างเอาจริงเอาจัง ไต้หวันเป็นประเทศแรกๆ ที่เน้นการแจกหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นไม่ได้เอาจริงเอาจัง ไต้หวันทำแอปพลิเคชันว่าสามารถซื้อหน้ากากอนามัยได้ที่ไหนบ้างและมีการส่งให้ประชาชนทุกสัปดาห์

ประเทศที่เน้นเรื่องการตรวจมากคือเกาหลีใต้ แต่ทำเพราะเกิดการระบาดขึ้นและมี super spreader เพื่อควบคุมโรคให้ได้เร็วที่สุด จึงลุยตรวจอย่างเต็มที่ เป็นทางหนึ่งที่ทำให้การระบาดลดลงได้เร็ว

ถ้าเราถึงจุดที่ควบคุมการระบาดได้ดี คล้ายผ่านคลื่นลูกที่ 1 ไปแล้ว เราอาจต้องเน้นป้องกันให้ดีที่สุดแบบไต้หวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลื่นลูกที่ 2 หากเราป้องกันดีที่สุดแล้ว การตรวจมากก็อาจจะไม่เจออะไรเลย เราต้องตรวจแบบมีเป้าหมายและมียุทธศาสตร์ หาคนที่เป็นผู้ป่วยในชุมชนได้จริง เพราะการหว่านแหตรวจ อาจไม่ได้ประโยชน์อะไร

ส่วนกระบวนการตรวจโรค กระบวนการหาคนที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และกระบวนการกักบริเวณคนที่มีความเสี่ยง เป็นมาตรการที่ต้องทำต่อไปแม้เปิดเมืองแล้ว

ในวันนี้ทุกประเทศผ่านคลื่นลูกแรกมาแล้วและกำลังรอดูอยู่ว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีไม่ให้เกิดคลื่นลูกที่สองได้หรือไม่ หากเกิดขึ้นจะควบคุมอย่างไร กรณีสิงคโปร์ให้เฉพาะคนป่วยใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนแล้วว่าให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เมื่อเกิดการติดเชื้อในชุมชนแออัด เช่น หอพักคนงานต่างชาติ เชื้อจึงแพร่ระบาดได้เร็ว เพราะระหว่างที่ยังไม่แสดงอาการก็ยังแพร่เชื้อต่อได้เรื่อยๆ การใส่หน้ากากหรือเฟซชิลด์จึงเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

วันนี้เราสาระวนกับการรักษาโรค คิดว่าต้องใช้ยาอะไร ต้องเตรียมไอซียู เป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณมหาศาล ต้องมีการวิจัยวัคซีน หรือคิดเรื่องการควบคุมโรคที่ผมมองว่าต้องใช้พลังเยอะ ต้องใช้ อสม. ใช้การตรวจโรคอย่างกว้างขวาง เราควรกลับสู่ปัญหาพื้นฐานคือการป้องกันโรค เพราะที่ผ่านมาเราสามารถอยู่กับหลายๆ โรคได้ด้วยการป้องกันโรค ไม่อยากเป็นไข้เลือดออกก็ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ไม่อยากเป็นโรคพยาธิปากขอก็ใส่รองเท้า ไม่อยากเป็นเอชไอวีก็ใส่ถุงยางอนามัย

ยุคที่เราอยากปราบเอชไอวีให้อยู่หมัด ก็บอกว่าต้องตรวจผู้หญิงบริการให้ได้ 100% และต้องตรวจรายสัปดาห์ สุดท้ายแล้วแค่ใช้ถุงยางอนามัยเท่านั้น ทำให้การตรวจทุกสัปดาห์หมดความสำคัญลง มาวันนี้ก็บอกว่าต้องตรวจโควิดให้มากที่สุด ให้ได้หลายแสนหรือล้านราย ถามว่าทำไมเราไม่ป้องกันโควิดไม่ให้เข้าทางตา จมูก และปาก แค่นั้นก็จบแล้ว และการใส่เฟซชิลด์ทำให้เราใช้มือสัมผัสหน้าไม่ได้ง่ายๆ

ผมได้จัดประกวดออกแบบเฟซชิลด์และประกาศไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเริ่มจากความคิดว่าเราควรมีเฟซชิลด์ที่ป้องกันละอองฝอยได้ดีเท่ากับหรือดีกว่าหน้ากากอนามัยซึ่งป้องกันการส่งเชื้อได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการรับเชื้อได้ การใส่หน้ากากอนามัยทำให้คนป่วยที่ยังไม่รู้ตัวนั้นไม่ส่งเชื้อให้คนอื่น แต่ไม่ได้ป้องกันตา หลายคนใส่หน้ากากสักพักต้องเปิดออกมาเพราะอึดอัด หลายคนเวลาพูดต้องเอาหน้ากากออกเพราะคุยกันไม่เข้าใจ สิ่งสำคัญคือหน้ากากอนามัยใช้แล้วต้องทิ้งหรือซัก แต่เฟซชิลด์สามารถล้างแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ได้ ใช้ได้เป็นปี ประหยัด และเฟซชิลด์ที่ผ่านการประกวด เราพิสูจน์แล้วว่าไม่มีละอองฝอยเข้าไปสัมผัสได้เลย และมีการโพสต์แบบลงเฟซบุ๊กให้คนสามารถผลิตต่อได้ เชื่อว่าอีกสักพักจะมีคนผลิตในเชิงอุตสาหกรรม

เมื่อร้อยปีที่แล้วหลังการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน หลายประเทศก็ใส่หน้ากากผ้ากันเป็นปกติ คนอเมริกันถ้าไม่ใส่เขาไม่ให้ขึ้นรถราง นี่คือ new normal เมื่อร้อยปีที่แล้ว ครั้งนี้เหมือนเราวนลูปเป็น new normal ใหม่ แต่จะอยู่ไปนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าโควิดจะอยู่กับเราถึงเมื่อไหร่

โรคระบาดจะมีบางเรื่องที่เราไม่เข้าใจ ตอนเกิดไข้หวัดใหญ่สเปน ที่เมืองหนึ่งในอเมริกามีคนตายเป็นพันคนภายในสัปดาห์เดียว ผ่านมา 3 อาทิตย์อยู่ๆ ไข้หวัดสเปนก็หายไปจากเมืองนั้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีใครรู้ว่าทำไมหายไป เช่นเดียวกับซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้วระบาดหนักเดือนเม.ย.-ก.ค. แต่หลังจากนั้นอยู่ๆ ก็หายไป แล้วเราไม่เห็นซาร์สในโลกนี้อีกเลย ไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดกับโควิดหรือไม่ วันนี้เราทุกข์ทรมานกับโควิดมากและคิดว่าต้องอยู่กับมันอีกหลายปี ต้องรอวัคซีน ใครจะไปรู้ว่าอยู่มาวันหนึ่ง หากอยู่ๆ มันหายไปจากโลก ที่เราคุยกันเรื่องใส่เฟซชิลด์มันอาจไม่จำเป็นก็ได้

 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

 

โชคสามชั้นหนุนไทยไม่ระบาดหนัก

 

หากเราไม่มีคลัสเตอร์สนามมวย คลัสเตอร์ผับ และคลัสเตอร์ที่ไปทำพิธีทางศาสนา วันนี้เราอาจยังอยู่ได้สบายๆ ขนาดเรารับนักท่องเที่ยวจีนจนถึงปลายเดือนมกราคม ก็ยังไม่เห็นการระบาดในไทย ผมคิดว่ามีปัจจัยที่อาจถือเป็นความโชคดี คือ

1. ช่วงปลายเดือน ธ.ค. ถึงต้นเดือน ม.ค. เรามี PM2.5 ทำให้คนกรุงเทพฯ ใส่หน้ากากกันเยอะมากและใส่กันเป็นปกติ พอเกิดโควิดแล้วมีคำแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยก็เลยไม่ยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม

2. คนไทยมีระยะห่างระหว่างกันพอสมควร เราไม่ค่อยสัมผัสมือ โอบกอด หรือหอมแก้ม เป็นตัวอย่างชัดเจนที่ในอิตาลีมีการระบาดเร็วมาก สิงคโปร์สมัยซาร์สระบาดก็มาจากการสัมผัสมือกัน โควิดเคสแรกในเยอรมนีก็เพราะวิทยากรชาวจีนไปประชุมแล้วนำเชื้อไปติดคนเยอรมันโดยการสัมผัสมือ คนไทยคุ้นเคยกับการไหว้ นี่จึงอาจเป็นโชคเชิงวัฒนธรรมที่เราไม่แตะเนื้อต้องตัวกันนัก

3. ความตื่นตัวในโซเชียลมีเดียมีปัจจัยทำให้เกิดการแพร่กระจายข่าวสาร คนตื่นตัวได้รวดเร็วและทุกคนยินดีให้ความร่วมมือในการปฏิบัติต่างๆ

สำหรับระบบควบคุมโรคช่วงแรกเราอาจยังตั้งตัวไม่ทัน การติดตามโรคก็อาศัยเพียงนักระบาดวิทยาที่มีอยู่ อสม.ช่วงแรกก็ไม่มั่นใจว่าจะรับมือไหวไหม แต่พอมีการประสานงานอย่างเอาจริงเอาจัง ณ วันนี้ผมสบายใจแล้วว่าระบบควบคุมโรคของเราตรึงกำลังได้ดีมากจนผมไม่ห่วง

เรื่องการรักษาโรค ถ้าไทยมีการระบาดหนักมากเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศช่วงปลายเดือน มี.ค. จะน่าเป็นห่วง เพราะตอนนั้นเรายังเตรียมตัวได้ไม่ดีเท่าไหร่ บุคลากรทางการแพทย์ของเรามีความรู้ความสามารถที่จะดูแลโรคได้ แต่ปัญหาคือเรื่องเตียงและอุปกรณ์ป้องกันผู้รักษาพยาบาล เช่น ชุด PPE หน้ากาก N95 หรือยาในการรักษาโรคต่างๆ ผมมีโอกาสคุยกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขช่วงปลาย มี.ค. ตอนนั้นกังวลเรื่องสงกรานต์ จึงพยายามเร่งรัดข้อเสนอว่าต้องยกเลิกวันสงกรานต์ ทำให้เราสามารถรับมือได้ดี เพราะถ้ามีการระบาดของโควิดเพราะยังจัดสงกรานต์จะเป็นเรื่องใหญ่มาก

ขณะนี้เรามีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดทั้งประเทศรวม 15,095 เตียง แบ่งเป็นห้องไอซียู 4,681 เตียง, ห้องแยกสำหรับผู้ป่วยโควิดที่ยังแพร่เชื้อได้ (isolation room) 3,748 เตียง, ห้องผู้ป่วยรวม (cohort ward) ที่รองรับผู้ป่วยอาการไม่หนักมาก 4,533 เตียง, hospitel ที่ติดต่อโรงแรมต่างๆ ไว้ 522 เตียง, เตียงสนามในต่างจังหวัด 1,611 เตียง

เครื่องช่วยหายใจเรามีอยู่ 12,735 เครื่อง ที่น่าห่วงมากกว่า คือ ชุด PPE และหน้ากาก N95 ที่หากมีการระบาดหนักมากๆ อาจขาดแคลนได้ แต่สถานการณ์วันนี้ยังพอใช้

ณ วันนี้ไม่มีความกังวลเรื่องศักยภาพการรักษาพยาบาล อยู่ที่ว่าเราจะช่วยกันป้องกันอย่างไรและหากควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายที่รวดเร็วก็น่าจะรับมือได้

 

ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อ

 

หากเรากลับมาเปิดเมืองแล้วก็ยังต้องทำเรื่องการป้องกัน ต้องใส่หน้ากาก เฟซชิลด์ ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ กินร้อนใช้ช้อนประจำตัว ไม่ปกปิดหากเป็นโควิดต้องรีบบอกทันทีเพื่อไปค้นหาผู้ที่สัมผัสผู้ป่วย และยังต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพในสถานบริการต่างๆ ทั้งศูนย์การค้า ร้านตัดผม ร้านอาหาร ให้คิดว่าเป็น new normal จะทำให้กลไกทางเศรษฐกิจเคลื่อนไปได้ แต่คงไม่กลับมาดีเท่าเดิมได้เร็ว นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศคงเข้ามาไม่ได้เร็วนัก คอนเสิร์ตหรือกิจกรรมต่างๆ คงต้องทิ้งช่วงยาว

ส่วนความจำเป็นของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปนั้น ถ้าเปรียบเทียบแล้วสิ่งที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำได้นั้น พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ก็ทำได้หมด ยกเว้น 3 เรื่อง

1. พ.ร.บ.ควบคุมโรคไม่สามารถประกาศเคอร์ฟิวได้ แต่ผมประเมินว่าเคอร์ฟิวไม่ได้ช่วยเรื่องควบคุมโรคอยู่แล้ว สถิติการติดต่อของโรคเกิดตอนกลางวันในที่แออัด แหล่งแพร่ระบาดคือในบ้านหรือที่ทำงาน การเดินทางช่วงสี่ทุ่มถึงตีสี่ไม่ได้มีผลต่อการระบาด เคอร์ฟิวจึงไม่จำเป็น

2. การแสดงความเห็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีความเข้มงวดที่จะไม่ให้คนแสดงความเห็นที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วน ไม่มั่นใจ หรือสร้างความไม่เข้าใจในหมู่ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีกรณีที่น่าเป็นห่วง และเราก็มีกฎหมายอื่นอยู่แล้ว

3. การทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ต้องมีความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ต้องดูดีๆ ในแง่การควบคุมโรคต้องระวังเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่รับผิดชอบ ซึ่งคิดว่าต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้น

โดยสรุปผมคิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศต่อเนื่องไปอีก วันนี้แม้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่คนทำงานหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ที่ทำงานกันเต็มที่อยู่แล้ว วันนี้ประสานงานเข้าขากันได้ดีคล่องตัวแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรแบบ ศบค. อีกต่อไป แต่ถ้าจะมีการจัดศูนย์ประสานงานก็ยังสามารถทำได้ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปกติ

 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

 

จุดพลิกเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุข

 

ช่วงแรกตัวผมยังอยู่วงนอกเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขคุ้นเคยจากการรับมือกับโรคซาร์สและไข้หวัด 2009 มาแล้ว แต่พอช่วงกลางของการระบาดในต้นเดือน มี.ค. ผมเข้าไปช่วยให้ความเห็นและประสานงานต่างๆ เพราะผมพอจะรู้จักกลไกในกระทรวงและรู้จักผู้เชี่ยวชาญในกระทรวงสาธารณสุขอยู่บ้าง จึงคิดว่าน่าจะเข้าไปช่วยเก็บรวบรวมติดตามข้อมูลต่างๆ แล้วได้พูดคุยกับท่านรัฐมนตรี ที่ท่านบอกกับผมโดยตรงว่าท่านไม่ได้มีความรู้เรื่องการแพทย์และสาธารณสุข ถ้ามีอะไรที่เป็นความรู้เฉพาะแล้วผมให้ความเห็นจะช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ดีขึ้น จึงเป็นส่วนที่คิดว่าน่าจะช่วยได้บ้าง หากเข้าไปประสานงานติดตามดูว่าเรื่องราวๆ ต่างไปถึงไหน ตรงไหนเป็นคอขวด ตรงไหนต้องการการตัดสินใจเชิงนโยบาย ผมอาศัยเงื่อนไขที่ท่านรัฐมนตรี ขอให้ผมให้ความเห็นได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผมคิดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุข ก่อนหน้านี้มีความคิดว่าจะให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านแทน ช่วงแรกทำแล้วไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะผู้ป่วยยังอยากรับยากับคุณหมอ และคุณหมอก็อยากให้ผู้ป่วยมาพบอยู่ แต่กรณีที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่อยากไปโรงพยาบาลถ้าไม่จำเป็น คุณหมอก็อาจอยากให้ปรับไปรับยาที่ร้านขายยาจะได้ไม่มาแออัดกันที่โรงพยาบาล ตอนนี้เราพยายามทำให้ร้านขายยาเข้ามามีบทบาทมากขึ้นสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังที่อาการค่อนข้างคงที่ เราอาจให้ร้านขายยาที่ผ่านการตรวจว่ามีคุณภาพ 17,000 แห่ง เข้ามาร่วมโครงการเลย ผู้ป่วยอาจเจอหน้าหมอปีละ 2 ครั้งแล้วรับยาที่ร้านขายยา

เรื่อง อสม. จะมีการทำแอปฯ อย่างจริงจัง เป็นกำลังหลักในการควบคุมโรคระบาดและโรคไม่ติดต่อทั้งหลายต่อไป เรื่องการแพทย์ทางไกล (telemedicine/telehealth) ต้องมีการเกิดขึ้นอย่างริงจังได้แล้ว จะเห็นชัดเจนว่ากระบวนการที่ก่อนหน้านี้ที่คิดว่าต้องใช้ขั้นตอนมากมาย แต่พอเจอวิกฤตทำให้ทุกอย่างลัดขั้นตอนและเห็นผลดีพอสมควร เรื่องบิ๊กดาต้าในกระทรวงสาธารณสุขต่อจากนี้จะถูกรวบรวมประมวลเป็นระบบ ทำให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเอาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กรณีโควิดทำให้เกิดการระดมพลังครั้งใหญ่ มีภาคเอกชนเก่งๆ มาช่วยกันทำเรื่องเทคโนโลยีการแพทย์ ประมวลผลข้อมูลและดูแลผู้ป่วย โรงพยาบาลบางแห่งสามารถดูแลผู้ป่วยในห้องโดยติดต่อทางไกลได้ ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นความจำเป็นเพราะยังไม่มีวิกฤต

ส่วนเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าน่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้วันนี้เรารับมือโควิดได้ดี เช่น เรื่องการตรวจโรค เมื่อ สปสช.มาร่วมสนับสนุนว่าให้ตรวจฟรี ถ้าเป็นข้าราชการ ประกันสังคม โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สปสช.จ่ายให้คนละ 3 พันบาท ถ้าตรวจเจอว่าเป็นผู้ป่วยก็สามารถเข้ามารับการรักษาได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ฉะนั้นหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ

 

ต้องเปิดเมืองก่อนไม่เหลือใคร

 

วันนี้โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรอเราอยู่ข้างหน้า คือ จุดสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราเน้นว่าต้องเอาโควิดให้อยู่หมัด โดยไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจจะมีผลกระทบรุนแรงแค่ไหน นี่เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ใน The Wall Street Journal บอกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างนักระบาดวิทยากับนักเศรษฐศาสตร์

มาวันนี้ผมคิดว่ามีกฎอยู่ 3 ข้อ สำหรับพิจารณาว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะหากต้องเลือกระหว่างโควิดกับเศรษฐกิจ

1. กฎพื้นฐานของการเรียนแพทย์ คือ “First, do no harm” ไม่ใช่ว่าเราจะให้ยาแรงแค่ไหนก็ได้โดยไม่สนใจว่าผลลัพธ์ของยาจะเป็นอย่างไร หากเรารู้ว่ายาตัวนี้แรงให้แล้วโรคหายจริง แต่สุดท้ายคนไข้อาจตายจากโรคแทรกซ้อนจากยาได้ ก็ต้องหยุด มาวันนี้การปิดเมืองคือยาแรง แก้โควิดได้ แต่ถึงจุดหนึ่งถ้ายาแรงตัวนี้ให้นานเกิดไปแล้วเกิดโรคแทรกซ้อนมา สุดท้ายคนไม่ได้ตายเพราะโควิด แต่ตายเพราะฆ่าตัวตาย หรือตายเพราะความยากจน

2. เราต้องรักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค เราต้องป้องกันคน ไม่ใช่ป้องกันโรค ในวงการแพทย์เรามักทุ่มเทรักษาโดยมองตัวโรคแต่ไม่ได้มองที่คน แพทย์เชี่ยวชาญเรื่องไหนก็จะมองเรื่องนั้นโดยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วปัญหาของผู้ป่วยคนนี้อาจไม่ได้มาจากแค่โรคที่เรารักษาอยู่ เป็นข้อเตือนใจว่าวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจกำลังหนักขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ปัญหาโควิดเริ่มผ่อนคลายลงบ้างแล้ว ถ้ายังยืนยันว่าต้องปิดเมืองอีกหนึ่งเดือนจนกว่าจะไม่มีผู้ป่วยใหม่เลยแต่เศรษฐกิจพังย่อยยับ ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด

3. diminishing returns ไม่มีอะไรที่เราสามารถบอกว่า ทำจนกว่าทุกอย่างจะ 100% เช่น เราจะป้องกันวัณโรค อาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนบีซีจีให้ได้ 100% หากฉีดวัคซีนได้ 90%แล้ว แต่กว่าจะควานหาให้ได้ 100% ต้องใช้พลังเยอะมาก และแค่ 90% ก็สามารถป้องกันวัณโรคในชุมชนได้แล้ว เช่นเดียวกันวันนี้เราสามารถรับมือโควิดได้ ผู้ป่วยไม่เยอะมาก ถ้าเรามองว่าโควิดต้องอยู่กับเราไปเรื่อยๆ และเรารับมือผู้ป่วยระดับนี้ได้ ก็เปิดเมืองได้แล้ว อย่ารอจนไม่มีผู้ป่วยโควิดแม้แต่รายเดียวจึงจะเปิดเมือง เพราะสุดท้ายอาจเปิดเมืองมาแล้วอาจไม่มีใครเหลือเลย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save