fbpx
เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากอู่ฮั่นและกว่างโจว กรณีโควิด-19

เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากอู่ฮั่นและกว่างโจว กรณีโควิด-19

บทความนี้มิได้เขียนขึ้นเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนประเภทต่างๆ หรือเขียนขึ้นเพื่อเปรียบเทียบการดำเนินนโยบายของประเทศใดประเทศหนึ่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางบริบททั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ หากแต่ต้องการวิเคราะห์เพื่อเรียนรู้ว่า หากประเทศใดประเทศหนึ่งต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดแล้ว เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการดำเนินนโยบายของ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’

Wuhan Lockdown  (武汉封城 Wǔhàn fēng chéng) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2020 หลังจากที่ทางการจีนในระดับรัฐบาลท้องถิ่นดำเนินนโยบายผิดพลาดโดยการเพิกเฉยต่อคำเตือนของคุณหมอ Li Wenliang (李文亮) ที่เริ่มส่งสัญญาณการเกิดโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่มาตั้งแต่ปลายปี 2019 จนคุณหมอเองก็เสียชีวิต หากแต่เมื่อรัฐบาลกลางได้รับการแจ้งเตือนดังกล่าว การรับมืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพก็เกิดขึ้น โดยลำดับเหตุการณ์สำคัญที่ประเทศไทยน่าจะต้องจับตาคือ

10 มกราคม 2020 ในนครอู่ฮั่น (Wuhan) มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ติดเชื้อ 41 คน สถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในวันที่ 22 มกราคม 2020 มีผู้เสียชีวิต 17 ราย และติดเชื้อ 571 คน และนั่นคือในห้วงเวลาที่อีกเพียง 3 วันจะถึงวันตรุษจีน เทศกาลวันหยุดยาวที่ประชาชนหลายร้อยล้านคนจะเดินทางไปทั่วประเทศจีนเพื่อเยี่ยมครอบครัวหรือท่องเที่ยว โดยที่นครอู่ฮั่นที่มีประชากรกว่า 11 ล้านคน คือจุดศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ เพราะเป็นจุดเชื่อมโยงของทั้งระบบรถไฟความเร็วสูง และระบบทางด่วนที่ลากเหนือลงใต้ ไปทั้งทางตะวันตกและตะวันออก

ตี 2 ของวันที่ 23 มกราคม 2020 ทางการจีนออกประกาศให้การเดินทางทุกประเภททั้งรถประจำทาง สายการบิน รถไฟ รถไฟใต้ดิน และเรือเฟอร์รี่ หยุดให้บริการในวันที่ 23 มกราคม 2020 เวลา 10.00 น. หรือเพียง 8 ชั่วโมงหลังจากการประกาศในตอนดึก แน่นอนว่า นี่คือเซอร์ไพรส์สำหรับประชาชนในเมืองอู่ฮั่น หวงกัง (Huanggang) และอี่โจว (Ezhou) ทุกคนที่ตื่นขึ้นมารับเช้าวันใหม่ พอถึง 12.00 น. ของวันดังกล่าว ทางด่วนทุกเส้นถูกปิด เมืองอู่ฮั่นที่เป็นจุดศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ ใจกลางของประเทศถูกล็อกดาวน์ ประชาชนทั้งหมดใน 3 เมืองถูกสั่งห้ามเดินทางโดยมิได้รับอนุญาต (มีประชาชนจำนวนประมาณ 300,000 คน เดินทางออกไปจากพื้นที่ในช่วง 02.00 – 10.00 น.)

หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์ไม่ดีขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการขยายพื้นที่ในการปิดเมือง จนในที่สุด การระบาดระลอกนั้นทำให้ประเทศจีนต้องปิดเมืองทั้งสิ้น 12 เมืองหลักในมณฑลหูเป่ย (Hubei) ได้แก่ Huanggang, Ezhou, Wuhan, Huangshi, Jingzhou, Yichang, Xiaogan, Jingmen, Suizhou, Xianing, Qianjiang, Xiantao, Shiyan, Tianmen และ Enshi และหากนับรวมเมืองขนาดเล็กด้วย เท่ากับว่าทางการจีนล็อกดาวน์ทั้งหมด 115 เมือง มีประชากรที่ถูกห้ามเดินทางออกจากบ้านและที่พักอาศัยของตนเองกว่า 57 ล้านคน

แต่ละครอบครัวได้รับอนุญาตให้เลือกตัวแทนได้เพียง 1 คน ออกไปซื้ออาหารและสินค้าจำเป็น และออกจากบ้านได้ 1 ครั้ง ในทุกๆ 2 วัน สิ่งที่ผู้เขียนได้รับรู้จากการสอบถามคณาจารย์และนักศึกษาทั้งชาวจีนและไทย ที่อยู่ที่มหาวิทยาลัย Huazhong University of Science and Technology (HUST) ซึ่งผู้เขียนได้เดินทางไปสอนหนังสือและประชุมวิชาการเป็นประจำ ได้ความว่า ทุกคนตกใจมากในช่วงแรก กลัวมากว่าจะอดอยาก มีการออกไปซื้ออาหารมากักตุนบ้างในวันแรก แต่หลังจากนั้น ทางการจีนทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นมีการสร้างระบบส่งกำลังบำรุงที่ดีมากจนทำให้ทุกคนมีอาหารรับประทานในทุกครอบครัว และทุกๆ 2 วันที่ได้รับอนุญาตให้ออกมาซื้อหาสินค้า ก็ไม่มีสินค้าใดขาดแคลน ในช่วงแรกๆ ก็มีความเหงาหงอยบ้าง เพราะนี่คือช่วงวันหยุดตรุษจีนที่ควรจะได้ไปท่องเที่ยวพบปะญาติพี่น้องครอบครัว แต่ในช่วงวันที่ 25 มกราคม 2020 ซึ่งเป็นวันตรุษจีน คนจีนจำนวนมากที่ต้องกักตัวก็เริ่มส่งสัญญาณผ่านการร้องเพลง เปิดไฟ ออกมาพูดคุยกันผ่านระเบียงบ้าน อัดคลิปวิดีโอให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

ระหว่างช่วงเวลานี้มีการสร้างโรงพยาบาลสนาม เคลื่อนย้ายทีมแพทย์และอุปกรณ์ ระดมสรรพกำลังทั้งหมดมาหยุดการแพร่ระบาดในมณฑลหูเป่ย

สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น วันที่ 13 มีนาคม 2020 เมือง Huangshi และ Qianjiang เป็น 2 เมืองแรกที่เริ่มเปิดเมืองอีกครั้ง และในวันที่ 8 เมษายน 2020 Wuhan Lockdown ก็ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ

ในทางเศรษฐกิจมหภาค จีนเริ่มปรับปรุงระบบการส่งข้อมูลเพื่อมีความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ ระดมทรัพยากรทุกประเภทเพื่อวิจัยพัฒนาผลิตวัคซีนและวิธีการรักษา รวมทั้งมีการปิดเมืองบ้างในบางพื้นที่ และในที่สุดในปี 2020 รัฐบาลจีนก็สามารถประกาศชัยชนะต่อการรับมือกับโควิด-19 และจีนยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นบวกในปี 2020 โดยคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ให้ปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Key Success Factors) ไว้ดังนี้

  1. ใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบให้อุปสงค์เป็นตัวนำ (Demand Driven) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำให้สามารถรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้
  2. ใช้นโยบายเพื่อประกันการจ้างงาน ให้ทุกคนยังมีงานทำแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020
  3. ขจัดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ
  4. เดินหน้ากระบวนการปฏิรูปประเทศ เพื่อนำจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ
  5. พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อใช้ในภาคการผลิตอุตสาหกรรม
  6. เร่งพัฒนาเมืองและชนบทควบคู่ไปด้วยกัน
  7. สร้างความแข็งแกร่งให้กับการเมืองการปกครอง และการสร้างสรรค์สังคมจีนให้สงบสุขและมั่นคง 

หลายคนพิจารณาว่า สถานการณ์ในอู่ฮั่นและการระบาดในระลอกแรกไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เชื้อโรคมีความซับซ้อนมากกว่า เพราะมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า และไทยเองก็ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงนั่นคือ วัคซีน mRNA หากแต่ถ้าเราถอดบทเรียนจากการระบาดล่าสุดในเมืองกว่างโจว (Guangzhou) ที่เกิดการระบาดในช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 ซึ่งเป็นการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และจีนเองก็มีการฉีดวัคซีนเฉพาะที่เป็นวัคซีนเชื้อตาย นั่นคือ CoronaVac ซึ่งผลิตโดย Sinovac และ Sinopharm เราอาจจะสามารถถอดบทเรียนได้ดังนี้

ประเทศจีนปลอดจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหญ่มานานเกือบ 1 ปี ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ระมัดระวังตัว และไม่ยอมไปฉีดวัคซีน และกว่างโจวคือเมืองท่าที่อยู่ปากแม่น้ำจูเจียง (หรือ Pearl River) ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจฮ่องกง มาเก๊า และทะเลจีนใต้ เฉพาะเมืองกว่างโจวมีประชากรมากกว่า 18.7 ล้านคน และหากรวมปริมณฑลรอบๆ จะมีประชากรราว 25 ล้านคน

การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า เริ่มต้นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2021 เมื่อหญิงอายุ 75 ปีคนหนึ่งตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า จากนั้นภายใน 48 ชั่วโมง การประกาศล็อกดาวน์เขต Liwan ทางตะวันตกของกว่างโจวเกิดขึ้น ประชาชนห้ามเดินทาง กิจการร้านค้าทุกประเภทปิดทั้งหมด และจีนเริ่มต้นดำเนินการดังนี้

  1. ระดมแพทย์-พยาบาลจากพื้นที่ต่างๆ เข้าไปในกว่างโจวเพื่อตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด อาสาสมัครชุมชน (คล้ายๆ อสม.ของไทย) เดินสายเคาะประตูพาคนออกไปตรวจเชื้อให้มากที่สุด และเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดกฎข้อบังคับของการล็อกดาวน์
  2. การตรวจเชิงรุกดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง/วัน 7 วัน/สัปดาห์ ไม่มีการหยุดพัก
  3. ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับฐานข้อมูลประชากร ในการประกาศเขตพื้นที่ความเสี่ยงในการระบาดของโรค โดยมีการบ่งชี้ชัดเจนว่าอาคารใด บ้านเลขที่ไหนมีความเสี่ยงระดับสูง กลาง ต่ำ ประชาชนที่อยู่ในเขตความเสี่ยงสูงต้องได้รับการตรวจเชื้อเชิงรุก 3-5 ครั้งใน 1 สัปดาห์
  4. ทางการจีนในระดับท้องถิ่นออก Application บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ประชาชนที่ขาดแคลนอาหารและสิ่งของต่างๆ สามารถสั่งสินค้าบนระบบได้ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะส่งสินค้าและอาหารให้จนถึงที่พักอาศัย เพื่อลดการเดินทางออกจากบ้านให้ต่ำที่สุด
  5. ใช้ระบบ QR-Code ร่วมกับระบบ GPS ของโทรศัพท์มือถือของประชาชนทุกคน เพื่อให้แสดงสัญลักษณ์ว่า ประชาชนคนนั้นเดินทางไปในพื้นที่ไหนบ้าง และมีความเสี่ยงระดับใด ถ้าใครเดินทางผ่านพื้นที่ความเสี่ยงสูง QR-code ของคนนั้นจะกลายเป็นสีแดง แปลว่าห้ามเดินทาง ใครความเสี่ยงปานกลาง QR-code จะกลายเป็นสีเหลือง แปลว่า ห้ามเดินทางข้ามพื้นที่ในเขตที่พักของตน และใครที่ยังมี QR-code สีเขียว ยังคงเดินทางได้ตามปกติ
  6. ประกาศห้ามจำหน่ายยาลดไข้และยาแก้หวัด เพื่อป้องกันการปกปิดอาการ ดังนั้นใครที่ไม่สบายต้องไปที่โรงพยาบาลเท่านั้น
  7. เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยพบว่าก่อนการพบเชื้อสายพันธุ์เดลต้า มณฑลกวางตุ้งซึ่งมีเมืองเอกคือกว่างโจว มีประชากร 126 ล้านคน และในวันที่ 19 พฤษภาคม 2021 มีผู้รับวัคซีนเพียง 39.15 ล้านโดส และเมื่อถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2021 หรือ 1 เดือนหลังการพบเชื้อสายพันธุ์เดลต้า มณฑลกวางตุ้งมีการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 101.12 ล้านโดส  โดยวัคซีนทั้งหมดเป็นวัคซีน CoronaVac ซึ่งผลิตโดย Sinovac และ Sinopharm

โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2021 ประเทศจีนซึ่งมีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น วันละประมาณ 20-40 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศและพบเชื้อในระหว่างกักกันโรค จีนมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1.46 พันล้านโดส มีผู้ที่ฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้วมากกว่า 223 ล้านคน สิ่งที่ผู้เขียนถือเป็นบทเรียนที่ประเทศไทยต้องเรียนรู้คือ

  1. ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนประเภทใดก็ตาม สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการฉีดวัคซีนคือ ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือในการทำ Social Distancing ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่ จนกว่าจะแน่ใจได้ทั้งหมดประเทศปลอดจากการระบาดแล้วจริงๆ ประชาชนจึงจะสามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง ดังจะเห็นได้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีวัคซีนที่ทันสมัยที่สุดด้วยเทคโนโลยี mRNA และฉีดวัคซีนไปแล้ว 338 ล้านโดส มีประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบตามแผนการฉีดแล้ว 161 ล้านคน หรือคิดเป็น 49.1% ของประชากร (ครอบคลุมจำนวนประชากรกว่าจีนมาก) หากแต่ ณ วันเดียวกันคือ วันที่ 18 กรกฎาคม 2021 สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,513 ราย ดังนั้นแม้จะมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ การทำ Social Distancing อย่างเคร่งครัดยังคงเป็นความจำเป็นสูงสุด
  2. อีกรูปแบบหนึ่งคือสิงคโปร์-สหราชอาณาจักรโมเดล ที่เน้นการอยู่ร่วมกันระหว่างการเปิดเมืองทางเศรษฐกิจ ผ่อนคลายการทำ Social Distancing ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยขณะนี้ สหราชอาณาจักรฉีดวัคซีนไปแล้ว 82.3 ล้านโดส มีคนที่ได้วัคซีนครบแล้ว 36 ล้านคน คิดเป็น 54% ของประชากรทั้งหมด โดยวัคซีนหลักคือ AstraZeneca ส่วนสิงคโปร์มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 6.73 ล้านโดส มีคนที่ได้วัคซีนครบแล้ว 2.68 ล้านคน คิดเป็น 46.9% ของประชากรสิงคโปร์ทั้งหมด ล่าสุด สหราชอาณาจักรเพิ่งประกาศเปิดเมือง โดยไม่ต้องทำ Social Distancing ไปแล้วอีกรอบในช่วง 18-19 กรกฎาคม เพราะเชื่อว่าแม้จะยังมีผู้ติดเชื้อระดับแตะ 40,000 รายต่อวัน แต่ต้องรักษาในโรงพยาบาลระดับ 200 คน/วัน และเสียชีวิตในระดับประมาณ 20 คน/วัน ซึ่งเป็นระดับที่ระบบสาธารณสุขและสังคมของเขายังคงรับได้ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มระดับ 150+/- แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
  3. ณ จุดนี้ประเทศไทยมาถึงทาง 2 แพร่งที่ต้องเลือกว่าจะเดินหน้าด้วยโมเดลแบบไหนระหว่าง อู่ฮั่น-กว่างโจว และ สิงคโปร์-สหราชอาณาจักร แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใดก็ตาม “ผู้นำของประเทศต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน” ต้องไม่ใช่การฟังความเห็นจากทุกด้าน (ทั้งที่บางคนไม่มีข้อมูลและไม่มีเหตุผลในการแสดงความคิดเห็น) แล้วไม่กล้าที่จะตัดสินใจ หรือผ่อนผันทอดเวลาการตัดสินใจ ผู้นำต้องมีแผนการอย่างชัดเจนว่า ถ้าเดินทางนี้แล้ว หากมีอะไรเกิดขึ้น แผนในการเผชิญเหตุที่จะตามมา ใครจะทำอะไร โดยใช้ทรัพยากรคน อุปกรณ์และเงินจากที่ไหนในภาวะวิกฤต ภาวะผู้นำในการกล้าตัดสินใจเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด ผู้นำต้องคิดให้รอบคอบบนข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ แล้วตัดสินใจประกอบกัน
  4. ผู้ดำเนินนโยบายต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา โดยมีการบริหารจัดการข้อมูล (Information Management) อย่างรอบคอบ พร้อมทั้งสื่อสารไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย
  5. ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและเข้มงวด โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และต้องดำเนินนโยบายทุกประการด้วยความโปร่งใส อย่าให้ประชาชนลังเลสงสัย
  6. จัดระบบ บุคลากร งบประมาณและทรัพยากร ที่สามารถรองรับและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอาหาร ยารักษาโรค บริการทางการแพทย์ และสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save