fbpx

โรคระบาด-อำนาจ-การเมือง: ผ่าอาเซียนกลางมรสุมโควิด-19

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังไวรัสโควิดเข้ามาระบาด

ล่วงผ่านเข้าปี 2021 ความหนักหน่วงทวีคูณเมื่อศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ขยับเคลื่อนเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายใต้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นสูงทุกวัน คำถามสำคัญคือ สิ่งนี้คลี่ให้เห็นปัญหาการเมืองและปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่?  

เพื่อค้นหาคำตอบใต้ยอดภูเขาน้ำแข็ง 101 สนทนากับ รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระด้านมาเลเซีย และนักข่าวอิสระ สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ), รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยสถานการณ์การระบาดโควิดระลอกเดลตาที่เผยให้เห็นถึงการเมืองแบบ ‘อาเซียนๆ’ ในมาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย และเวียดนาม ผ่านรายการ 101 (mid)night round “อาเซียนกลางมรสุมโควิด-19”

หมายเหตุ: บันทึกเทปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

มาเลเซีย: โรคระบาดและอำนาจรวมศูนย์ที่สั่นคลอน

มาเลเซียต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดที่ยากลำบากไม่แพ้ประเทศอื่นในภูมิภาค แม้ว่าระบบจัดการสาธารณสุขโดยเฉพาะการกระจายวัคซีนจะมีความแน่นอน แต่ในทางกลับกัน ปรางค์ทิพย์ ดาวเรืองเล่าว่าสถานการณ์ทางการเมืองไร้ความแน่นอนอย่างสิ้นเชิง คือมีความขัดแย้งไม่ลงรอยทางการเมืองระหว่างรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งความไม่แน่นอนเช่นนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มหาเธร์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมุฮ์ยิดดิน ยัซซินขึ้นมารับตำแหน่งแทน 

แน่นอนว่าความตึงเครียดและความผันผวนทางการเมืองย่อมส่งผลต่อการจัดการด้านสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“โควิดถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อควบคุมการเมือง” ปรางค์ทิพย์อธิบาย

รัฐบาลยัซซินมีความอ่อนแอจากความไม่ลงรอยกันในพรรคร่วมรัฐบาลเป็นทุนเดิม เนื่องจากจัดตั้งจากการย้ายฝั่งของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประกอบกับการขึ้นมามีอำนาจในจังหวะที่โควิดเริ่มระบาดช่วงต้นปี 2020 มาตรการควบคุมการระบาดที่รัฐบาลเลือกจึงเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลายาวนานกว่า 6 เดือนตั้งแต่เดือน ก.พ. – ส.ค. 2021 

นอกจากมาตรการดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถควบคุมการระบาดได้จริงตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลยังออก พ.ร.ฎ. อีก 6 ฉบับ ซึ่งมีบางฉบับที่ไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาด เช่น พ.ร.ฎ. ว่าด้วย fake news ซึ่งเป็นการนำกฎหมายจำกัดเสรีภาพสื่อในสมัยนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซักขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ โดยเพิ่มโทษผู้แพร่ข่าวไม่ว่าจะผ่านช่องทางใดก็ตามที่รัฐบาลเห็นว่ามีส่วนที่ไม่จริง (partially fake) หรือข่าวที่อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ซ้ำกฎหมายยังครอบคลุมองค์กรสื่อทุกแพลตฟอร์มและผู้ที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งให้อำนาจตำรวจจับกุมโดยไม่ต้องออกหมายจับและตรวจสอบการใช้อินเทอร์เน็ต

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดรุนแรง ปรางค์ทิพย์เล่าว่ามวลอารมณ์ที่สังคมมาเลเซียรู้สึกร่วมกันคือ กดดันและกังวลเรื่องปากท้องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ 

“ที่น่าสนใจคือในภาคประชาชนมาเลเซียมีการรณรงค์ให้ติดธงขาวหน้าบ้าน หากต้องการรับความช่วยเหลือเรื่องปากท้องหรือสุขภาพจิต” 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการปักธงขาวของประชาชนไปในทางลบ เนื่องจากการที่ภาคประชาชนต้องออกมาช่วยเหลือกันเองสะท้อนความล้มเหลวในการจัดการการระบาดและปัญหาปากท้อง เหมือนเป็นการประจานรัฐบาลว่าไม่มีความสามารถในจัดการวิกฤต อย่างมุขมนตรีของรัฐเจดาห์ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ออกมาบอกว่า การปักธงขาวคือการดิสเครดิตรัฐบาลโดยฝ่านค้าน และไม่ให้ความช่วยเหลือ 

ส่วนในทางการเมือง คนรุ่นใหม่และบุคลากรสาธารณสุขรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจในการบริหารของนายกรัฐมนตรีก็เริ่มออกมาประท้วงประปราย และมีการแสดงออกทางการเมืองโดยการปักธงดำเป็นสัญลักษณ์เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ปรางค์ทิพย์ตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือภาพที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองมาเลเซียในรอบ 20 ปี จากเดิมที่คนมาเลเซียไม่ค่อยแสดงออกทางการเมือง กระทั่งเริ่มเคลื่อนไหวจนปฏิรูปการเมืองเปลี่ยนรัฐบาลได้สำเร็จในปี 2018 หลังจากที่รัฐบาลพรรค UMNO ครองอำนาจมาอย่างยาวนานหลายสิบปี 

“ส่วนตัวมองว่าการเมืองมาเลเซียกำลังอยู่ในจังหวะที่ตกต่ำมาก หลังการระบาดของโควิด-19 ขบวนการธงดำและขาวอาจนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองอีกครั้งก็ได้” ปรางค์ทิพย์กล่าว

แม้การเมืองจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่แผนการจัดหาและกระจายวัคซีนที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ และตัดสินใจ ‘แทงม้าหลายตัว’ ยังคงมีความแน่นอน ปรางค์ทิพย์ชี้ให้เห็นว่า สภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เราเห็นโครงสร้างการเมืองของมาเลเซียได้ดี

“อำนาจในการสั่งและกระจายวัคซีนและการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสาธารณสุขรวมอยู่ในมือรัฐบาลกลางแต่เพียงผู้เดียว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือนายกรัฐมนตรี”

เมื่อมาเลเซียไม่มีหน่วยงานอื่นที่แข่งกับรัฐบาลในการจัดสรรวัคซีน สถานการณ์ที่วัคซีนถูกโยกไปให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดสรรและกระจายจึงไม่เกิดขึ้น

สภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นโครงสร้างอำนาจทางการเมืองแบบรวมศูนย์ มีระบบพรรคการเมืองเป็นใหญ่ มีพรรคการเมืองเป็นผู้เล่นหลักโดยที่ไม่มีสถาบันอื่นๆ ลงมาแข่นขันทางการเมืองด้วย แต่ในขณะเดียวกัน การจัดการเช่นนี้ก็ตามมาด้วยการเมืองแบบอำนาจนิยมอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่เห็นว่ามีการใช้โควิดเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกระชับอำนาจ หรือการใช้นโยบายกักกันแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อจนแรงงานหลบหนี และนำไปสู่การกระจายเชื้อที่ลุกลามกว่าเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่ามาเลเซียจะปกครองในรูปแบบของสหพันธรัฐ ซึ่งในทางทฤษฎี การปกครองเช่นนี้น่าจะมีระดับการกระจายอำนาจที่สูง แต่ท่ามกลางสถานการณ์การระบาด อำนาจในการบริหารจัดการสาธารณสุขและการควบคุมโรครวมศูนย์อยู่เพียงที่รัฐบาลกลางเท่านั้น ปรางค์ทิพย์ตั้งข้อสังเกตต่อ ‘ความมีเอกภาพของสหพันธรัฐ’ ว่าอยู่ที่โครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ไม่เป็นทางการ ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย

“พูดง่ายๆ ว่านี่คือการแข่งขันระหว่างสถาบันต่างๆ ในสังคม” ปรางค์ทิพย์อธิบายต่อว่า ในกรณีของมาเลเซียอาจมีเพียงแค่ 1-2 กลุ่ม ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด ก็มีเพียงฝ่ายการเมืองเท่านั้นที่มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร ในขณะที่ประเทศอาจมีทั้งฝ่ายการเมือง ระบบราชการ หรือภาคเอกชน 

“วิกฤตโควิดเปิดให้เราเห็นโครงสร้างทางการเมืองเช่นนี้ชัดเจนขึ้น เมื่อพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล พรรคการเมืองคือผู้ที่มีอำนาจโดยไม่มีหน่วยอื่นในสังคมเข้ามาแข่งขัน”

หลังผ่านพ้นวิกฤตไป ปรางค์ทิพย์คาดว่า แรงสั่นสะเทือนทางการเมืองที่หลงเหลืออยู่จากช่วงการระบาดอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญให้อำนาจนายกรัฐมนตรีไว้สูงและรัฐบาลยัซซินจะพยายามรักษาอำนาจไว้ แต่ก็มีความอ่อนแอ เสียงปริ่มน้ำ มีที่มาที่ไม่ชอบธรรมเป็นทุนเดิม และเริ่มขาดการสนับสนุนจากราชาธิบดี นี่คือจังหวะที่ต้องจับตามองก้าวต่อไปของการเมืองมาเลเซียว่ารัฐบาลจะยื้ออำนาจต่อไปได้นานขนาดไหน (ณ วันที่ 16 สิงหาคม มุฮ์ยิดดิน ยัซซินประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)

 พม่า: รัฐล้มเหลวกับโรคระบาด

สำหรับกรณีพม่าที่ผ่านการรัฐประหารมาเป็นเวลา 6 เดือนกว่า นฤมล ทับจุมพล เล่าว่า พม่ากำลังเผชิญวิกฤตสองต่อจากทั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสภาแห่งชาติและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และการระบาดระลอกหนักของโควิดสายพันธุ์เดลตา 

“ในขณะที่ประเทศอื่นมีปัญหาเรื่องการจัดสรรวัคซีน พม่ากลับเผชิญปัญหาตั้งแต่การตรวจหาเชื้อ” นฤมลกล่าว

การรายงานยอดผู้ติดเชื้อในพม่ามีจนถึงแค่ในช่วงต้นปีจนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2021 เท่านั้น หลังการรัฐประหาร พม่าเผชิญปัญหาในการตรวจหาเชื้อจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่

หนึ่ง บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นมวลชนส่วนใหญ่ของขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CMD) ถูกทหารจับกุมไปจำนวนหนึ่ง และทหารที่กองทัพส่งมาทำหน้าที่แทนแพทย์ไม่มีประสิทธิภาพ

สอง กระทรวงสาธารณสุขและการสนับสนุนภายใต้การบริหารของรัฐบาลทหารไร้ประสิทธิภาพในการจัดการการระบาด ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ มีการตรวจคัดกรองเพียงแค่ 459 คนในเดือนเมษายน

หลังการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาในเดือนมิถุนายน นฤมลเล่าว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในพม่าพุ่งสูงมาก โดยเฉพาะรัฐแรกเริ่มอย่างรัฐซะไกง์และรัฐฉิ่น แต่ที่รุนแรงยิ่งไปกว่านั้นคือ ระบบสาธารณสุขที่เปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้วล้มเหลว แทบทุกครัวเรือนต้องเผชิญกับการติดเชื้อและความสูญเสีย ซ้ำยังมีวิกฤตความมั่นคงทางอาหารซ้ำเติม

เมื่อรัฐบาลทหารไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดจนสถานการณ์บานปลาย สิ่งที่ภาคประชาชนพยายามจัดการคือ การรักษาชีวิตและการจัดหาอาหาร

“ฝ่ายประชาชนต้องออกมาช่วยเหลือกันเอง มีการระดมแจกถังออกซิเจนกันเอง แต่ในขณะเดียวกัน กองทัพก็ยืดถังออกซิเจนไปเพราะจะนำไปให้กำลังพลที่ติดเชื้อ” เช่นเดียวกันกับวัคซีนที่ได้รับบริจาค การกระจายก็ยังคงรวมศูนย์อยู่ในกองทัพ

สภาวะเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ย่ำแย่ กองทัพยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากกว่าการจัดการการระบาด

ส่วนฝ่ายรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติก็พยายามเข้ามามีบทบาทในการจัดการการระบาด โดยขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ อย่างไรก็ตามก็ต้องเผชิญต่อข้อจำกัด เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ประชาคมระหว่างประเทศไม่ได้ให้การรับรองสถานะ จึงไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาคมระหว่างประเทศ

“ประชาชนพม่าตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะต้องหันเข้าหาใคร กองทัพก็ไม่ได้พยายามจัดการการระบาด เรียกได้ว่าเป็นรัฐล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ส่วนฝ่ายรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติก็ไม่ได้รับการตอบรับจากนานาชาติ

“สถานการณ์การระบาดสะท้อนปัญหาโครงสร้างเชิงอำนาจที่ชัดมาก โดยเฉพาะเมื่ออำนาจอยู่ในมือผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพ”

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร ประชาคมระหว่างประเทศต่างจับจ้องสถานการณ์ในพม่า อย่างไรก็ตาม นฤมลประเมินว่า ความช่วยเหลือจากนานาชาติและอาเซียนอาจเข้าไปถึงมือประชาชนพม่าได้ไม่ง่ายนัก 

“อาเซียนจัดการตกลง 5-point consensus เรียบร้อยแล้วในการประชุม แต่รัฐบาลทหารก็ยืนยันว่าจะรอให้สถานการณ์สงบก่อนจึงจะเปิดให้ประเทศกลุ่มอาเซียนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ”

“ส่วนประชาคมนานาชาติก็พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพม่า แต่กองทัพก็ยังคงยืนยันเช่นเดิมว่าจะรอให้สถานการณ์สงบเรียบร้อยก่อน แต่ในขณะเดียวกัน ประชาคมระหว่างประเทศก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเข้าเจรจากับฝ่ายรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ”

สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่ออนาคตในการต่อสู้ของภาคประชาชน ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานการณ์ที่จะต่อสู้ได้อย่างยากลำบากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

“ก่อนการระบาดรุนแรง ประชาชนไม่สามารถชุมนุมบนถนนได้อยู่แล้ว เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึก หากลงมาประท้วงบนถนนหรือเดินออกมาที่ถนน ตำรวจมีอำนาจในการจับกุมได้ทันที”

เพราะฉะนั้น วิธีการที่ประชาชนใช้ในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารคือ หนึ่ง การเข้าร่วมกับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หรือเข้าร่วมกับกองทัพประชาชน สอง สร้างความร่วมมือช่วยเหลือในภาคประชาชน ซึ่งคล้ายกับโมเดลในช่วงภัยพิบัติพายุนาร์กิสเมื่อปี 2008 เช่น มีการรวมตัวกันในระดับหมู่บ้านเพื่อแบ่งหน้าที่กันหาถังออกซิเจนและอาหาร 

ในอนาคตหลังวิกฤตการระบาด นฤมลมองว่าโจทย์ที่ฝ่ายประชาชนต้องเผชิญคือ การต่อสู้ด้วยการลุกขึ้นมาจับอาวุธของประชาชนอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่น่ากังวล อย่างไรก็ตามอีกโจทย์ที่น่าสนใจคือ สภาวะรัฐล้มเหลวในมือรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรมและไร้การยอมรับจากประชาชนจะอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน ต้องเกิดภาวะทุพภิกขภัยก่อนหรือไม่ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น และจะมีผู้ลี้ภัยสงครามและผู้ลี้ภัยเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นขนาดไหน

อินโดนีเซีย: การระบาดและร่องรอยการรวมศูนย์ในการกระจายอำนาจ

หลังเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่าอินโดนีเซียกลายเป็นศูนย์กลางของการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาในเอเชียถัดจากอินเดีย อรอนงค์ ทิพย์พิมล อธิบายว่ามีอยู่หลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดหนัก

อย่างแรกคือ มาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอของรัฐบาลในการบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาด ตั้งแต่การตัดสินใจใช้มาตรการปิดเมือง การตรวจหาเชื้อ การรักษา ไปจนถึงการฉีดวัคซีน

“อินโดนีเซียนับว่าเป็นประเทศที่โควิดเข้าไประบาดช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน น่าจะมีเวลาเตรียมมาตรการรับมือ แต่ปรากฏว่ารัฐบาลประเมินความรุนแรงที่น่าจะเกิดขึ้นผิดพลาด”

เมื่อประเมินว่าสถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงมากนัก รัฐบาลจึงเลือกไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้น รวมทั้งยังมีมาตรการที่ไม่ชัดเจน ใช้มาตรการต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทั้งหมดนี้สร้างความสับสนให้กับประชาชนและนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนบางส่วนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปกป้องผลเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าความปลอดภัยทางสุขภาพของประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยตัวเลือกวัคซีนหลักของรัฐบาลอินโดนีเซียคือซิโนแวค ซึ่งคนอินโดนีเซียส่วนมากค่อนข้างเชื่อในประสิทธิภาพระดับหนึ่ง 

“สาเหตุที่อินโดนีเซียเลือกซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักเพราะราคาถูกเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ตกอยู่ที่ประมาณ 450 ต่อโดส สามารถใช้งบประมาณซื้อได้จำนวนมาก อีกทั้งการเก็บรักษาไม่ยุ่งยาก อีกทั้งบริษัท Sinovac Life Sciences ยังเป็นบริษัทเดียวที่เซ็นสัญญาความร่วมมือผลิตวัคซีนกับบริษัท Bio Farma ผู้ผลิตวัคซีนในอินโดนีเซีย”

อย่างที่สอง ทัศนคติของคนในสังคมบางส่วน 

อรอนงค์เล่าว่า ในช่วงเดือนมกราคมที่เริ่มมีการฉีดวัคซีน ประชาชนไม่ค่อยให้ความสนใจในการฉีดวัคซีน ซึ่งมีหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่คนที่ไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยและประสิทธิภาพของซิโนแวค คนที่มีความเชื่อสุดโต่งว่าโควิดไม่มีจริง เป็นเพียงแค่ข่าวปลอม ไปจนถึงคนที่เชื่อว่าโควิดคือกองทัพของพระเจ้าที่ส่งมาลงโทษและไม่ยอมรับการรักษาเพราะเชื่อว่าการติดเชื้อเป็นเรื่องน่าอับอาย  

อย่างที่สาม ความแออัดและหนาแน่นของประชากร โดยเฉพาะในเกาะชวาที่มีประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอาศัยอยู่ 

ส่วนสาเหตุที่อินโดนีเซียมียอดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์นั้นมีสาเหตุมาจากระบบสาธารณสุขที่เปราะบาง ขาดแคลนงบประมาณ ขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขาดบุคลากรทางการแพทย์ในการฉีดวัคซีนและการรักษา รวมทั้งบุคลากรยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แต่ประชาชนก็ไม่ได้โกรธแค้นรัฐบาลมากจนนำไปสู่การประท้วง ทั้งๆ ที่อินโดนีเซียประท้วงค่อนข้างบ่อย อรอนงค์คาดว่าเป็นเพราะการเมืองประชาธิปไตยที่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด (โจโควี) มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริงและมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีภาวะผู้นำ รวมทั้งโจโควีพยายามรวมทุกฝ่ายการเมือง แม้กระทั่งนายพลมือเปื้อนเลือดในสมัยซูฮาร์โตเข้ามาเป็นพันธมิตรทางการเมือง หรือให้ผู้นำศาสนารับตำแหน่งรองประธานาธิบดี อินโดนีเซียในขณะนี้จึงไม่เผชิญการแข่งขันระหว่างกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ 

ทั้งนี้ การจัดการวิกฤตโควิดของรัฐบาลเปิดให้เห็นว่า โครงสร้างทางการเมืองที่ผ่านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมาในทศวรรษที่ 2000 ที่จริงแล้วยังมีร่องรอยของอำนาจรวมศูนย์ในยุคซูฮาร์โตอยู่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสภาวะลักลั่นที่เรียกได้ว่า ‘กระจายอำนาจแบบไม่กระจายอำนาจ’

“ก่อนหน้าการระบาดระลอกเดลตา แต่ละจังหวัดมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกใช้มาตรการที่ต่างกัน บางจังหวัดล็อกดาวน์เข้มข้นกว่าที่จาการ์ตาทำมาก อาจบอกได้ว่ามีการใช้อำนาจท้องถิ่นที่ค่อนข้างเฟ้อ แต่ในการระบาดระลอกล่าสุด การจัดการวัคซีนรวมศูนย์อยู่ที่จาการ์ตา รวมทั้งยังมีหลักการที่ไม่ชัดเจนในการจัดสรรไปในแต่ละจังหวัด”

อีกปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกตีแผ่คือความอ่อนแอของระบบราชการผ่านระบบการจองคิววัคซีนที่ต้องใช้เอกสารจำนวนมาก และความยากลำบากในการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ แต่ประเด็นน่าสนใจอรอนงค์ชี้ให้เห็นคือ เริ่มมีประชาชนบางส่วนโหยหาการเมืองแบบอำนาจรวมศูนย์อย่างในสมัยซูฮาร์โต ซึ่งน่าจะทำให้รัฐบาลแก้ปัญหาได้เด็ดขาดกว่านี้ 

เวียดนาม: การรระบาดใต้อำนาจพรรคคอมมิวนิสต์

ในการระบาดระลอกแรกช่วงปี 2020 เวียดนามขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอันดับต้นๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา การระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาพลิกให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อต่อวันพุ่งสูงขึ้นถึงประมาณ 1 พันคนต่อวัน แม้ยอดเสียชีวิตจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ และถือว่ายังควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ก็ตาม แต่คำถามสำคัญคือเหตุใดสถานการณ์ในเวียดนามจึงกลับตาลปัตรได้เช่นนี้

ในการทำความเข้าใจสถานการณ์การระบาดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ยุกติ มุกดาวิจิตร มองว่า ต้องกลับไปมองย้อนถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดน้อยในระลอกแรก 

“ในแง่หนึ่ง มีการวิเคราะห์ว่าประสบการณ์จากการรับมือการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2003 ทำให้เวียดนามสามารถรับมือและคุวบคุมโรคระบาดในแบบสมัยใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และหากไปดูสัดส่วนของงบประมาณ จะพบว่างบประมาณในส่วนของสาธารณสุขมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 10 ของจีดีพี”

ประสบการณ์เผชิญโรคระบาดเมื่อหลายสิบปีก่อนจนกลายมาเป็นปัจจัยที่เวียดนามประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดในระลอกแรก อย่างแรกคือ เพิ่มศักยภาพทางสาธารณสุข การใช้มาตรการที่เข้มข้นอย่างการทุ่มเททรัพยากรและระดมกำลังในการตรวจหาเชื้อเชิงรุกอย่างเต็มที่ ลงทุนกับอุปกรณ์การตรวจเชื้อหรือสถานที่กักตัว เพิ่มการควบคุมข่าวสาร รวมทั้งปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น

“ในกรณีโควิด-19 หากมีการแสดงความคิดเห็น ก็มีโอกาสที่จะถูกดำเนินคดีสูง และมีคนที่ถูกดำเนินคดีแล้วเป็นจำนวนมาก” ยุกติกล่าว

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ กลไกรัฐเวียดนามที่แทรกซึมลงไปในระดับรากหญ้าทุกหัวระแหงของสังคม ซึ่งช่วยในการตรวจหาผู้ติดเชื้อและผู้ที่เสี่ยงติดเชื้ออย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพ การที่เวียดนามยังเหลือกลไกพรรคคอมมิวนิสต์ที่เรียกว่า ‘party cell’ ทำให้สามารถใช้มาตรการ ‘mass quarantine’ ในการล็อกดาวน์แค่ในบางพื้นที่ที่มีการระบาดสูง เช่น อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน 

หลังจากเวียดนามใช้ชีวิตได้ตามปกติได้กว่า 100 วัน การระบาดก็กลับมาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันแหล่งการระบาดที่ใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดคือโฮจิมินห์ซิตี ส่วนไซ่ง่อน และฮานอยก็มีคลัสเตอร์การระบาดเช่นกัน

ยุกติเล่าว่า การที่ไม่สามารถระบุได้อย่างเจาะจงว่าเมืองไหนคือจุดเริ่มต้นของการระบาดก็เป็นประเด็นทางการเมืองเช่นกัน เพราะมีการ ‘หาแพะ’ หรือ ‘ชี้เป้า’ ว่าที่ไหนคือจุดเริ่มต้นของการระบาด ซึ่งการแสดงความเห็นเช่นนี้ก็มีสิทธิถูกจับ อย่างไรก็ตามคาดการณ์กันว่า การระบาดระลอกนี้น่าจะเกิดจากเชื้อหลุดรอดจากคนที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาด ยุกติมองว่า การที่รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมเชื้อที่เข้มข้นในระดับที่จำกัดวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนให้เป็นไปตามที่รัฐกำหนด เช่น ต้องมีใบอนุญาตเข้าเมืองที่ออกโดยรัฐและเหตุผลที่เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับว่าสมควร คือหุบเหวไปสู่เส้นทางที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แข็งแกร่งขึ้น กระชับอำนาจในมือได้มากขึ้น และมีความเป็นเผด็จการมากขึ้น

ทั้งการระบาดระลอกปี 2020 และปี 2021 ล้วนเปิดให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่ทำงานอยู่เบื้องหลังการเมืองว่าด้วยการควบคุมโรคและการกระจายวัคซีน

ในอนาคต ยุกติคาดว่า มาตรการที่เข้มงวดเช่นนี้จะยังช่วยควบคุมการระบาดต่อไปได้ แต่นี่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของปัญหา เพราะเวียดนามยังจัดได้ว่ากระจายวัคซีนล่าช้า คาดการณ์แผนวัคซีนไว้ว่าจะมีวัคซีนจำนวนมากในต้นปี 2022 เพื่อระดมฉีดวัคซีนแบบ mass vaccination เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับเวียดนามคือ เวียดนามจะชักเย่อระหว่างการควบคุมสถานการณ์การระบาดและการกระจายวัคซีนอย่างไร

นอกจากนั้น อีกปัญหาหนึ่งที่ต่างประเทศออกความเห็นต่อเวียดนามพอสมควรคือ การจัดลำดับของผู้ที่จะได้วัคซีนก่อน ซึ่งเวียดนามจัดให้ทหารได้รับวัคซีนเป็นอันดับสองรองจากบุคลากรหน้าด่าน ในขณะที่ประชาชนคนรากหญ้า ถูดจัดให้ได้รับวัคซีนเป็นลำดับท้ายๆ 

ส่วนในอุปสรรคในการจัดซื้อวัคซีน เวียดนามต้องเผชิญกับความอีหลักอีเหลื่อในการดีลวัคซีนจากจีน เพราะผลกระทบจากความขัดแย้งบริเวณทะเลจีนใต้ การหันไปซื้อวัคซีนบางส่วนจากสหรัฐฯ และรัสเซียจึงเป็นทางออกในการรักษาดุลอำนาจภูมิรัฐศาสตร์ 

ความท้าทายของอาเซียนกลางวิกฤต: เหล้าเก่าในขวดใหม่? 

บนเส้นทางฝ่าวิกฤตโรคระบาด หนึ่งในหนทางไปสู่แสงสว่างปลายอุโมงค์คือความร่วมมือระหว่างนานาประเทศ สถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นอีกบททดสอบที่ท้าทายสำหรับองค์การระหว่างประเทศอย่างอาเซียน

ปรางค์ทิพย์มองว่า แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนต่างตกอยู่ภายใต้ภาวะ ‘ตัวใครตัวมัน’ ท่ามกลางการระบาด และอาเซียนก็ไม่ได้มีแผนรองรับสถานการณ์ร่วมในฐานะประชาคม 

“อาเซียนยังต้องใช้เวลาในการรวบรวมประเด็นสำคัญใหม่ๆ ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เพื่อสร้างความร่วมมือในทางปฏิบัติ แต่อาเซียนถูกครอบงำด้วยวิถีของระบบราชการและการเมืองบางประการจนทำให้ความร่วมมือในวิกฤตโควิดล่าช้า อาเซียนต้องคิดบนพื้นฐานของความเป็นประชาคมมากขึ้น”

“หลังวิกฤตผ่านพ้น อาเซียนควรมีการสร้างกลไกบางอย่างรองรับความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก” ปรางค์ทิพย์กล่าว

ด้านนฤมลเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับปรางค์ทิพย์ พร้อมทั้งเสนอว่าอาเซียนควรใช้กลไก ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management (AHA) ที่มีอยู่แล้วแต่เดิมและเคยใช้ในช่วงภัยพิบัติไซโคลนนาร์กิสเมื่อปี 2008 เพื่อบรรเทาวิกฤตโรคระบาดในภูมิภาค 

“อย่างไรก็ตาม ทิศทางของอาเซียนภายใต้การนำของบรูไนเน้นให้อำนาจรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะมีความร่วมมือในระดับอาเซียนหรือไม่ หากผู้แทนไม่ได้ตกลงว่าจะมีความร่วมมือกันในระดับอาเซียน อาเซียนก็จะยังตกอยู่ภายใต้สภาวะต่างคนต่างตัดสินใจ 

“ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของอาเซียนคือ จะต้องคิดถึงความร่วมมือบนกรอบคิดแบบภูมิภาคมากกว่าความร่วมมือในกรอบทวิภาคี โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่ทางรอดคือการที่ทุกประเทศต้องรอดพ้นจากการระบาด” นฤมลกล่าว

ฝ่ายยุกติแสดงความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า โจทย์ที่ต้องคิดต่อในการสร้างความร่วมมือคือ ความไม่มีเขี้ยวเล็บในระดับภูมิภาคควรเป็นบทเรียนที่อาเซียนต้องนำไปปรับเพื่อให้ยังเป็นองค์กรที่ยังมีนัยสำคัญต่อยุคสมัยต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save