fbpx
Covid-19 กับแบบทดสอบของมนุษยธรรม

Covid-19 กับแบบทดสอบของมนุษยธรรม

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 กลายเป็นประเด็นที่ทุกคนต่างจับตาดูการเคลื่อนไหวตลอดบนหน้าข่าวจากสำนักต่างๆ ความรู้สึกของช่วงเวลานี้ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เกี่ยวกับโรคระบาดของฮอลลีวูดมากมาย เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้งหรือมนุษย์เข่นฆ่าแย่งชิงทรัพยากร แล้วโรคระบาดกลายพันธุ์กลายเป็น ‘ซูเปอร์ไวรัส’ ที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้ (Bill Gates เขียนไว้ในบทความว่า Covid-19 เป็นโรคระบาดระดับ Once-in-a century เลยทีเดียว)

ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดของการแพร่กระจายของ Covid-19 ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตเท่านั้น แต่ทำให้สภาพจิตใจของประชากรทั้งโลกแตกกระเจิงและหวั่นวิตกกันอย่างถ้วนหน้า

ในด้านธุรกิจก็เห็นความเสียหายที่รุนแรงไม่แพ้กัน ธุรกิจท่องเที่ยวต่างเอามือก่ายหน้าผาก มืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าทุกอย่างจะกลับมาได้อีกครั้งเมื่อไหร่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่านักท่องเที่ยวน่าจะลดลงกว่า 90% อย่างน้อย 6 เดือนและความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 7.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์ อีกรายงานจาก New York Times  ก็คาดการณ์ว่าความเสียหายของธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะมากถึง 1.1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์เลยทีเดียว งานอีเว้นต์ใหญ่ๆ ทั้งระดับประเทศไปถึงระดับโลกอย่าง งานสัปดาห์หนังสือของบ้านเรา, Mobile World Congress หรือ The Next Web ก็ถูกแคนเซิลหรือเลื่อนอย่างไม่มีกำหนดไปตามๆ กัน (ส่วนผลกระทบในระยะยาวของโมเดลธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ลองอ่านบทความของ Azeem Azhar ที่เขียนไว้ได้อย่างละเอียดเลยทีเดียว)

การแก้ปัญหาระยะสั้นช่วงนี้เราก็เริ่มเห็นหลายๆ บริษัทเริ่มทยอยให้พนักงานทำงานจากบ้าน ประชุมกันออนไลน์ ส่งงานแบบรีโมท หรือบางบริษัทก็อนุญาตให้พนักงานที่เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงได้หยุดงานอยู่บ้านโดยยังได้รับรายได้ตามปกติอยู่

แต่ Covid-19 ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสภาพร่างกายและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ทางด้านสภาพจิตใจ (ที่มักถูกมองข้าม) ก็เจอการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ทำร้ายไม่แพ้กัน ทุกวันนอกจากข่าวการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อทั่วโลกและข่าวผู้เสียชีวิตที่ไม่มีท่าทีว่าจะหยุดแล้ว ข่าวการทำร้ายร่างกาย การด่าทอ การประชดประชัน การเหยียดชาติพันธุ์ผิวสี ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย หลายต่อหลายคนเยาะเย้ยคนที่สต็อกสินค้าทุกอย่างที่ทำได้จากซูเปอร์มาเก็ตใกล้บ้านเหมือนกับว่าสงครามโลกครั้งที่สามกำลังจะปะทุวันนี้พรุ่งนี้ แต่คนกลุ่มเดียวกันนั้นก็แย่งชิงหน้ากากอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อ ไม่กล้าเข้าใกล้ใครก็ตามที่ดูเหมือนป่วย พกขวดแอลกอฮอล์เจลฆ่าเชื้อโรคไว้ในกระเป๋ากางเกงและควักมันออกมาบีบใส่มือทุกครั้งที่เอามือไปสัมผัสพื้นผิวสาธารณะต่างๆ Mike Leavitt เลขากระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐ (DHHS) เคยพูดเอาไว้ว่า

“ทุกอย่างที่เราทำก่อนโรคระบาดนั้นดูเหมือนเป็นการตื่นตระหนก ทุกอย่างที่เราทำหลังจากนั้นดูเหมือนไม่เพียงพอเอาเสียเลย”

ช่วงอาทิตย์ก่อน ข่าวแรงงานผิดกฎหมาย (และบางส่วนถูกกฎหมาย) จากเกาหลีใต้เดินทางกลับไทยกลายเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการรับมือของรัฐบาลที่ดูไม่เด็ดขาด (หรือไม่ทำอะไรเลย?) และการไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมของบางส่วนในกลุ่มคนเหล่านั้น ที่ไม่ยินยอมกักตัวเองอยู่ที่บ้านตามระยะเวลาที่กำหนด จนกลายเป็นการสร้างความตื่นกลัวให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของ Covid-19 สู่ผู้อื่นอย่างไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เกิดเป็นการปะทะคารมด่าทอว่ากล่าวแบ่งแยกเหยียดเย้ยระหว่างกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายและกลุ่มประชาชนบนโลกออนไลน์อย่างดุเดือด

การแพร่ระบาดครั้งนี้เข้าใกล้เรามากขึ้นทุกวัน โรงเรียนหลายแห่งประกาศปิดภาคเรียนเป็นที่เรียบร้อย กลุ่มผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่แข็งแรงต้องได้รับการดูแลมากขึ้นเป็นพิเศษ เป็นความรู้สึกกังวลไปหมดทุกที่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปที่ไหน เจอกับใครบนท้องถนน ไปทานข้าวนอกบ้าน ซื้อของที่ห้าง ไปจ่ายตลาด กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำก็ต้องงดไปหมด การเดินทางที่วางแผนเอาไว้ก็ถูกแคนเซิล ทุกคนล้วนระแวดระวังกับทุกๆ อย่างในเวลานี้

Covid-19 คล้ายเป็นกระบอกไฟฉายที่ส่องให้เห็นด้านมืดของจิตใจมนุษย์อย่างชัดเจน แน่นอนว่าเมื่อความเป็นความตายอยู่ตรงหน้า แฝงกายอยู่รอบๆ ตัวอย่างน่าสะพรึงกลัว หันไปทางไหนก็หวาดผวา พึ่งพาใครก็ไม่ได้ คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าสิ่งที่ทุกคนทำเหมือนกับการพยายามยื่นมือควานหาหน้ากากออกซิเจนมาครอบจมูกตัวเองให้รอดตายก่อนคนอื่นๆ เรื่องน่าสลดใจก็คือว่ายิ่งไวรัส Covid-19 แพร่กระจายไปมากเท่าไหร่ สิ่งที่แพร่กระจายไปพร้อมกันด้วยคือโรคกลัวคนต่างชาติ (xenophobia) การเหยียดผิว (racism) อันเลวร้ายตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่หาผลประโยชน์จากช่วงเวลาอันเลวร้ายแบบนี้ด้วย ส่ิงที่เราเห็นก็คือการทำร้ายร่างกายเพียงเพราะสัญชาติผิวสี การแก่งแย่งกักตุนสินค้าจนขาดแคลนตลาด ไปจนถึงการหยิบฉวยโอกาสเพื่อการค้า ทำกำไร โก่งราคาสินค้าที่มีความจำเป็น

ไม่ใช่เพียงไวรัสเท่านั้นที่กำลังทำร้ายเรา แต่เราที่เป็นมนุษย์นี่แหละที่กำลังทำร้ายกันเอง

แต่มีข่าวหนึ่งจาก The Atlantic ที่น่าสนใจและน่าจะดึงสติเรากลับมาได้สักหน่อย เหมือนเป็นการตบหน้าให้ตื่นว่าเราทุกคนต้องเผชิญปัญหานี้ไปด้วยกัน (ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม) พาดหัวที่บอกว่า ‘You’re Likely to Get the Coronavirus’ ซึ่งจากเนื้อหาข่าวมีการคาดการณ์ว่าส่วนใหญ่แล้วคนประมาณ 40-70% บนโลกใบนี้จะติดเชื้อไวรัสนี้ภายในหนึ่งปีข้างหน้า ถ้าเป็นจริงตามนั้นก็หมายถึงว่าหนึ่งในสองคนที่เดินบนถนนจะเป็นผู้ติดเชื้อ Covid-19 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ติดเชื้อจะมีอาการป่วยที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย นั่นเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมไวรัสตัวนี้ถึงยากที่จะตรวจสอบและป้องกันการแพร่ระบาด เพราะคนที่มีเชื้ออยู่ไม่รู้ตัวและยังออกไปทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ตามปกติ

Dr. Syra Madad ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อโรคกล่าวในการให้สัมภาษณ์ในบทความของ Journal of Beautiful Business ว่า

“ไวรัสตัวนี้ดูเหมือนว่ามันติดต่อกันได้ง่ายและมีอาการคล้ายกับไข้หวัดในมุมที่ว่ามันสามารถติดต่อประชากรส่วนใหญ่ได้ จากจุดนั้นฉันคิดว่า เป็นไปได้ที่ 40-70% ของประชากรโลกจะติดเชื้อโคโรน่าไวรัส แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการน่าจะไม่รุนแรงมาก”

อีกประเด็นหนึ่งที่เธอเตือนก็คือว่าการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จและการชี้นิ้วหาแพะรับบาปจากเหตุการณ์เหล่านี้

“การพาดพิงถึงคนกลุ่มหนึ่งแบบเจาะจงนั้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เพราะว่าไวรัสนั้นไม่ได้สนใจขอบเขตเหล่านั้น เมื่อเราลดค่าของสังคม ชุมชน หรือกลุ่มคนใดก็ตาม เมื่อนั้นเราก็จะฝังความกลัวไว้กับกลุ่มเหล่านั้น ต่อจากนั้นพวกเขาก็จะกลัวที่จะแสดงตัวและออกมาร้องขอความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพ เราไม่ควรจะไปกลัวใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเจ้าไวรัสนั้นต่างหาก”

เธอยังย้ำว่าทุกคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ก็มีหลายๆ อย่างที่เราช่วยได้ในฐานะของประชากรในสังคม

“แม้ว่าคุณจะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่หน่วยงานรักษา หรือไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มเหล่านี้เลย ทุกๆ คนมีหน้าที่ที่จะต้องทำ หมายถึงสิ่งที่ควรกระทำในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เมื่อคุณรู้ว่าป่วยและอาจจะมีโอกาสติดคนอื่นได้ อย่าไปในที่สาธารณะ เมื่อคุณรู้ว่าป่วยและคุณต้องการรับการรักษาจากแพทย์ก็แจ้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะเข้ารับการรักษาได้โดยลดความเสี่ยงที่จะติดต่อกับคนอื่นๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือมาตรการป้องกันในชีวิตประจำวันที่เราพูดกันอยู่เสมออย่างล้างมือและอย่าเอามือไปจับใบหน้า หู จมูก ปาก สิ่งเหล่านี้จะช่วยได้เยอะเลย”

การแพร่กระจายของโรคระบาดครั้งนี้เป็นบททดสอบมนุษธรรมครั้งใหญ่ของเราทุกคน ตัวอย่างมากมายทำให้เราเห็นแล้วว่าช่วงเวลาแห่งความโกลาหลและหวาดวิตกกังวลแบบนี้ มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวและแตกแยก พร้อมแบ่งพรรคแบ่งพวก หาแพะรับบาปและชี้นิ้วด่าประจานตัดสินคนอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ในช่วงเวลาที่ดูมืดมิดสิ้นหวังก็ยังมีตัวอย่างที่ยังเป็นแสงสว่าง – แม้เล็กน้อย – แห่งความหวังที่ทำให้เราเชื่อในสิ่งที่เรียกว่ามนุษธรรมและความดี

มีบทความหนึ่งจาก Monika Jiang ที่เขียนเล่าถึงแม่ของเธอที่เกิดในเมือง Tianjin แต่ตอนนี้อยู่ที่เยอรมัน ระหว่างที่การระบาดของไวรัสเกิดขึ้น แม่ของเธอก็พยายามติดต่อกับเพื่อนๆ และญาติของเธอที่เมืองจีน ซึ่งพวกเขาก็เล่าถึงเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นที่นั้นให้แม่ของเธอฟังซึ่งเต็มไปด้วยความหวัง ประชากรต่างร่วมมือกันบริจาคพืชผักให้แก่กันระหว่างที่กักตัวอยู่ในบ้าน อาจารย์เปิดคลาสสอนเด็กๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เด็กสาวคนหนึ่งที่เห็นพ่อของเธอปั่นจักรยานพาแม่ที่ป่วยไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เป็นเวลากว่า 14 วันเพื่อหาเตียงผู้ป่วยที่ว่าง แม้สุดท้ายแล้วจะเจอแต่ก็สายเกินไป แต่เขาก็พยายามอย่างที่สุด มีวิดีโอบนยูทูบของชาวอู่ฮั่นที่ตะโกนให้กำลังใจกันจากหน้าต่างบ้านของตัวเอง และอีกวิดีโอหนึ่งที่มาจาก Yuli Yang นักข่าวชาวจีนที่ทำงานในฮ่องกง เธอมีครอบครัวอยู่อู่ฮั่นที่เชื่อว่าเป็นจุดต้นกำเนิดของไวรัสตัวนี้ด้วย เธอขอให้ทุกคนช่วยส่งคำพูดให้กำลังใจไปให้ชาวอู่ฮั่นผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาไม่ได้เผชิญปัญหานี้ด้วยตัวเอง ทุกคนยังคอยช่วยเหลืออยู่

 

 

เธอกล่าวว่า

“สิ่งที่ทำให้ฉันมีความหวังก็คือการที่เราเป็นมนุษย์ และนี่คือปี 2020 เรามีความสามารถมากมาย ไวรัสตัวนี้อาจจะไม่รู้ แต่เราเคยไปเหยียบดวงจันทร์ เราสามารถพูดคุยกับคนอื่นได้แม้จะอยู่กันคนละฟากโลก เรารักษาและขจัดโรคร้ายต่างๆ มาแล้วมากมายบนโลกใบนี้ แน่นอนว่าเราจะสามารถชนะไวรัสนี้ได้ แค่เมื่อไหร่เท่านั้น แต่ด้วยความที่มนุษย์มีความสามารถมากมายอีกนั่นแหละ เราต้องระวังว่าจะใช้มันยังไง เราต้องไม่ให้ความกลัว ความเกลียดชัง และความโทสะมาเป็นตัวชี้นำการกระทำของเรา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มันเกิดขึ้น หายนะก็ตามมาอย่างแน่นอน”

ถึงตอนนี้มันยังไม่สายเกินไป นี่คือแบบทดสอบมนุษธรรมระดับโลก เรายังมีโอกาสที่จะชนะเจ้าไวรัสตัวนี้ได้ แต่หนทางเดียวที่เราจะผ่านไปได้คือต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ร่วมมือกันและรับผิดชอบตัวเองให้ดี อย่าพยายามชี้นิ้วหาคนผิด แต่มีอะไรที่สามารถทำได้ก็หยิบยื่นแบ่งปัน ช่วยเหลือ สนับสนุน และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เจ้าไวรัสตัวร้าย Covid-19 ทำให้มนุษย์เกลียดชังและเข่นฆ่ากันเองได้ เมื่อนั้นเราก็ถือว่าแพ้สงครามนี้อย่างไม่มีทางสู้อีกต่อไปแล้ว

 

 

อ้างอิง

https://bit.ly/39z3qCp

https://bit.ly/2TvwzZw

https://bit.ly/32ZySqS

https://bit.ly/2Ty4bG8

https://bit.ly/32ZAMb7

https://nyti.ms/2TKuo3s

https://bit.ly/38zwckY

https://cnb.cx/2Tx025n

https://bit.ly/2vMa8X7

https://bit.ly/2VSlWSh

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save