fbpx
วิกฤตโควิด 19 - วิกฤตการเมืองอเมริกัน 20 - วิกฤตทุนนิยม 21

วิกฤตโควิด 19 – วิกฤตการเมืองอเมริกัน 20 – วิกฤตทุนนิยม 21

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ถ้าไม่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงของไวรัสโคโรนา ซึ่งเริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน แล้วระบาดกระจายไปตามเส้นทางคมนาคมอย่างรวดเร็ว จนต่อมาเข้าไปยังประเทศในยุโรป และที่สุดตามเส้นทางของความเจริญก้าวหน้าทางระบบการผลิตทุนนิยม ก็ต้องไปจบที่สหรัฐอเมริกา ผมคงคิดถึงชื่อเรื่องของบทความนี้ไม่ได้

ข่าวล่าสุดในเช้าวันที่ 1 เมษายน 2563 อันเป็นวันเอพริล’ส ฟูล แต่ข่าวที่ออกมาล้วนจริงทุกประการ นั่นคือฝ่ายควบคุมและป้องกันเชื้อโรคและหมอทั้งหลายออกมาให้ความเห็นว่าผู้ป่วยด้วยเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ จะเพิ่มอีกหลายล้านคนและจะตายไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านคน หากไม่มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มข้นอย่างจริงจัง ตัวเลขดังกล่าวเป็นการยืนยันถึงความล้มเหลวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และรัฐบาลของเขาในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสนี้

นี่เองคือที่มาของการวิเคราะห์และประเมินของผมว่า ผลสะเทือนและแรงเหวี่ยงของการแพร่ระบาดไวรัสนี้ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะบั่นทอน กระทั่งทำลายความเชื่อถือ และการยอมรับในการเป็นผู้นำสูงสุดของทรัมป์ หากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสามารถดำเนินการได้ในต้นเดือนพฤศจิกายน ตามประเพณีที่ไม่เคยถูกยุติหรือเลื่อนออกไปเลยเป็นเวลากว่าศตวรรษ ผมฟันธงว่าทรัมป์จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยิ่งหากจัดให้มีการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะสถานการณ์ไวรัสยังรุนแรงอยู่และคนยังตายเป็นจำนวนมาก ทำให้การออกมาใช้ชีวิตและลงคะแนนเสียงไม่อาจทำได้ ก็จะยิ่งทำให้ฐานะและความชอบธรรมของทรัมป์ในการแก้ปัญหาไวรัสครั้งนี้ตกต่ำและไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป เพราะเขาเป็นคนที่ไม่ยอมรับความร้ายแรงของไวรัสนี้แต่แรก กลับโยนความผิดไปให้จีนว่าเป็นผู้แพร่เชื้อโรคนี้

นับแต่แรก จากท่าทีและน้ำเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เขาอิดออดและโบ้ยไปทางพรรคเดโมแครตว่าเป็นผู้สร้าง “ข่าวปลอม” ในเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเพื่อโจมตีเขา เมื่อมีรายงานว่าเจอผู้ป่วยไวรัสนี้จริงๆ ในสหรัฐฯ แล้วในเดือนมกราคม ทรัมป์ก็ตอบอย่างเสียไม่ได้ว่า ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก คนที่ป่วยก็ให้ไปทำงานตามปกติ เดี๋ยวพักหนึ่งก็หายเอง เขากำลังคิดถึงหวัดทั่วๆ ไปที่คนอเมริกันเป็นกันมากทุกปี และตายด้วยโรคไข้หวัดใหญ่นับหมื่นๆ คน เขาจึงเชื่อจริงๆ ว่าไวรัสโคโรนาก็เป็นอีกสายพันธ์ุหนึ่งของไช้หวัดใหญ่ ที่จะมาทุกปีแล้วก็จากไป ที่แย่กว่านี้ทรัมป์ยังอาศัยเรื่องร้ายแรงนี้ไปโฆษณาหาเสียงในกลุ่มมวลชนผู้ฝักใฝ่ความคิดเอียงขวาและคลั่งชาติอีกว่า การแพร่ระบาดของไวรัสนี้มาจากจีน เขาเรียกว่า “ไวรัสจีน” สร้างความหนำใจแก่อเมริกันคลั่งชาติอย่างเมามัน แต่ก็สร้างความไม่พอใจแก่คนจีนและคนอเมริกันที่มีใจเป็นธรรมอย่างมาก

 

หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดผู้อำนวยการสถาบันการป้องกันเชื้อโรคต้องมาบอกทรัมป์ตรงๆ ว่า หากไม่วางมาตรการป้องกันและควบคุม คนอเมริกันจะติดเชื้อโรคไวรัสนี้อย่างมหาศาลและตายมากเป็นประวัติการณ์ ถึงตอนนี้หลายประเทศในยุโรป เช่นอิตาลี กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จำนวนคนตายเพิ่มมากกว่าที่อู่ฮั่นของจีนในระยะเวลาเท่ากัน  เมื่อจนต่อหลักฐานและข้อมูลเชิงประจักษ์ ทำให้ทรัมป์แถออกไปไม่ได้อีกแล้ว เขาจึงยอมออกมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดนี้ในอเมริกา แต่ก็สายไปแล้ว หลายรัฐเช่นวอชิงตันและนิวยอร์กได้กลายเป็นแหล่งขยายโรคไวรัสนี้ไปเรียบร้อย และมีแนวโน้มว่าการแพร่ขยายของไวรัสนี้จะกระจายไปทั่วทุกรัฐทั้งประเทศ จึงสรุปในชั้นนี้ได้ว่า วิกฤตโควิด-19 ในอเมริกาเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาโรคระบาดโควิดนี้

อีกปัจจัยที่จะถล่มทรัมป์ในทางการเมืองคือวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงิน แม้เขาได้พยายามร่วมมือกับคองเกรสและสองพรรคใหญ่ในการออกกฏหมายเร่งด่วนเพื่อพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นงบฉุกเฉินที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน แต่กระนั้นก็ดี ตลาดหุ้นวอลสตีทก็ไม่มีทีท่าจะสงบนิ่งและดำเนินกิจการต่อไปตามปกติ ถึงขณะนี้ราคาหุ้นในตลาดนิวยอร์กได้ร่วงหล่นไปแล้วร้อยละ 23.3 เป็นการตกต่ำของตลาดหุ้นที่มากกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 และไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นกลับมาได้อย่างมั่นคง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องประกาศว่าจะให้การค้ำจุนและอัดฉีดเงินเข้าในระบบการเงินอย่างไม่อั้น แต่คำประกาศดังกล่าวก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนก่อนนี้แล้ว เพราะครั้งนี้มันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดมาจากการดำเนินการที่ผิดพลาดหรือจงใจฉ้อโกงกันเองภายในตลาดและสถาบันการเงิน หากแต่วิกฤตนี้มาจากสังคมภายนอกทั้งสังคม ไม่ใช่จากสงครามกับศัตรูภายนอก ที่มองเห็นและจัดการได้ด้วยกำลังอาวุธและเทคโนโลยีของเพนตากอน

ศัตรูของการแพร่ระบาดนี้คือไวรัสโคโรนาที่สร้างสนามรบในร่างกายของคนได้ทุกคน เป็นสงครามที่ไม่อาจเอาชนะด้วยอาวุธ ไม่ว่ากระสุนปืนหรือโดรนได้ ผมจึงมองว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นการโจมตีที่สุดยอดที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่สามารถสะกดหยุดยั้งการป้องกันตัวเองและทำลายศัตรูคู่ต่อสู้ของมนุษย์ได้อย่างไม่คาดคิด โดยไม่อาจเตรียมการรับมืออย่างทันท่วงทีได้เลย และด้วยอานุภาพอันยังไม่อาจสกัดกั้นหรือทำลายให้มลายสูญหายไปได้ในเร็ววัน ผมจึงคิดว่าสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังตกอยู่ท่ามกลางภาวะเขาควายของการหาทางออกเพื่อหลุดพ้นจากวิกฤต

ก่อนอื่นผมคิดว่าการทำความเข้าใจในปรากฏการณ์ของวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะลักษณะทั่วไปและลักษณะเฉพาะที่แสดงออกในประเทศต่างๆ เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างแรก ต่อการคาดการณ์และประเมินผลของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้อย่างเป็นระบบ  ลักษณะทั่วไปประการแรกของวิกฤตนี้ คือการส่งผลสะเทือนต่อระบบการผลิตของระบบทุนนิยมโลก ขั้นต้นคือชะลอการผลิต ขัดขวางการบริโภค ขั้นสูงหากไม่อาจควบคุมการแพร่ระบาดได้ คือการยุติกระทั่งทำลายระบบการผลิตทุนนิยมทั่วโลกให้เป็นอัมพาตและปิดกิจการไปเลย

ลักษณะทั่วไปประการที่ 2 คือ การพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมกันในระบบทุนนิยม ภาพของกรรมกร ผู้ใช้แรงงานทั้งหญิง ชาย และเด็กที่เดินทางด้วยเท้าเพื่อกลับบ้าน หลังจากรัฐบาลอินเดียประกาศปิดเมืองทั้งประเทศ ทำให้ระบบขนส่งมวลชนหยุดกิจการ บังคับให้คนงานนับแสนในกรุงเดลลีต้องหาทางกระเสือกกระสนเพื่อกลับไปบ้านเกิด อย่างน้อยก็เชื่อว่ายังพอหาที่หลับนอนและอาหารประทังชีวิตไปได้ระยะหนึ่ง ภาพของคนชั้นล่างจำนวนมหาศาลในหลายประเทศทั่วโลกเป็นหลักฐานประจานถึงความล้มเหลวและไร้ซึ่งมนุษยธรรมของระบบเศรษฐกิจหลังสมัยใหม่ภายใต้กำกับของระบบทุนนิยมโลก ผลการศึกษาปัจจุบันพบว่าแทบทุกประเทศมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในการถือครองทรัพย์สินเป็นอย่างสูง และแนวโน้มดังกล่าวมีแต่จะถ่างมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลงมาแต่อย่างใด ไม่ว่าสหรัฐฯ หรือไทย ต่างมีสภาพไม่ต่างกันในภาพรวมของการกระจายความมั่งคั่งในสังคม

ลักษณะร่วมประการที่ 3 คือระบบการเมืองการปกครองที่ไร้ประสิทธิภาพและจุดหมายในการรักษาคุณภาพชีวิตของประชากรสามัญอย่างเหมาะสมและมีศักดิ์ศรี ไม่ว่าระบบประชาธิปไตยเสรีแบบอเมริกาหรือยุโรป ไปถึงระบบคอมมิวนิสต์กลายพันธ์ุอย่างจีน ล้วนแสดงถึงอำนาจการเมืองที่ผูกขาดอยู่ในมือของชนชั้นปกครอง ไม่ว่าจากพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากการแต่งตั้ง การกำหนดและตัดสินนโยบายตกอยู่ในมือและความคิดแต่ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองเป็นสำคัญ ผลประโยชน์ของประชาชนและชาวบ้านมาทีหลังหรืออาจมาไม่ถึงเสียที เพราะติดที่การปฏิบัติและตีความนโยบายของเจ้าหน้าที่และข้าราชการในระบบราชการซึ่งมักอยู่เหนือการควบคุมของประชาชนและสังคมทั่วไป

 

ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆ ว่าวิกฤตระบบทุนนิยมศตวรรษที่ 21 ถ้าหากว่าเป็นการแพร่ระบาดโรคอย่างในอดีต เช่น ไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 แม้มีคนตายรวมกันเป็นล้าน แต่ก็ไม่สามารถหยุดหรือทำลายระบบการผลิตในขณะนั้นลงได้ นอกจากชะงักในบางประเทศบางเวลา แต่ไม่ได้กระเทือนแบบลูกโซ่ไปทั่วโลกในเวลาอันสั้นเหมือนกับโควิด-19 ถ้าไม่เกิดวิกฤตนี้เราคงไม่ได้เห็นภาพของคนทำงานที่ไม่มีงานประจำหรือไม่มีรายได้แน่นอนที่พอเพียงต่อการยังชีพในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง ในจำนวนนับพันล้านทั่วโลกในทุกประเทศ เป็นไปได้อย่างไรที่การพัฒนาที่สร้างความเจริญอย่างขนานใหญ่ สร้างความสะดวกสบายแก่การดำรงชีวิตของคนจำนวนมากขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ อย่างที่คนในอดีตคิดไม่ถึง จึงสร้างปัญหาเช่นนี้ได้ แต่สิ่งที่คนในอดีตคงไม่เข้าใจเช่นกันคือ ทำไมสภาพและคุณภาพชีวิตของคนทำงานรุ่นใหม่ปัจจุบันถึงไม่ต่างและดีกว่าสภาพของทาสหรือไพร่ในอดีต

คำตอบต่อปัญหาของการพัฒนาระบบทุนนิยม มีนักคิดคนสำคัญเคยให้อรรถาธิบายไว้ว่าระบบทุนนั้นที่สำคัญคือมันเปิดโอกาสให้นายทุนสะสมและสร้างกำไรจากการใช้แรงงานของกรรมกรแต่ฝ่ายเดียว จึงนำไปสู่ความมั่งคั่งของชนชั้นนายทุน ในขณะที่ก็ทำให้คุณภาพชีวิตของกรรมกรทั้งหลายตกต่ำและไร้ความหมายต่อไปเรื่อยๆ ความสำเร็จดังกล่าวของชนชั้นนายทุนได้รับการตอกย้ำและสถาปนาให้เป็นระบอบการปกครองอันชอบธรรมเมื่อนำเอาระบบการเมืองประชาธิปไตยเสรีนิยมเข้ามาใช้ควบคู่ไปด้วย การพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอจึงไม่เพียงแต่ปรากฏในระบบเศรษฐกิจโลก หากแต่ยังปรากฏในระบบการเมืองการปกครองทั่วโลกด้วย ดังเห็นได้จากความล้มเหลวของการสร้างระบบประชาธิปไตยในโลกที่สามมาโดยตลอด

แรงสะเทือนของวิกฤตโควิด-19 ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต ขึ้นอยู่กับสถานะและสัมพันธภาพทางการเมืองในแต่ละประเทศในปัจจุบัน ว่าดำเนินมาอย่างไรและเกิดเงื่อนไขทางสังคมอย่างไร ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ทางชนชั้นในโครงสร้างอำนาจ ว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในกรณีของการเมืองอเมริกัน วิกฤตรัฐบาลทรัมป์จะเปิดโอกาสให้พรรคเดโมแครตเข้ามาครองอำนาจในทำเนียบขาว แล้วปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ให้ผู้เลือกตั้งพอใจและสนับสนุนพรรคต่อไป

ถ้าจะอัศจรรย์ใจอย่างคิดไม่ถึงคือการที่เบอร์นี่ แซนเดอร์ส สามารถได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่ต้องการนโยบายเอียงทางสังคมนิยมมากขึ้น โดยเน้นให้กระจายอำนาจไปยังสังคมและปัจเจกบุคคลมากขึ้นดังกรณีจุดอ่อนในการแก้ปัญหาโควิดขณะนี้ จนทำให้ขาใหญ่ในพรรคเดโมแครตจำต้องยอมจำนนต่อทรรศนะของคนที่เปลี่ยนไปจากผลกระเทือนของการแพร่ระบาดครั้งนี้ ว่าจำเป็นต้องเสนอตัวแทนที่มีจุดยืนเอียงข้างประชาชนไม่ใช่ข้างชนชั้นนายทุนวอลสตีทในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากโดนัลด์ ทรัมป์ นั่นคือการเสนอเบอร์นี่ แซนเดอร์ส

นี่คือฝันกลางโรคไวรัสโคโรน่าโดยแท้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save