fbpx
บทเรียนเผชิญ COVID-19 จากสแกนดิเนเวีย : ปรีดี หงษ์สต้น

บทเรียนเผชิญ COVID-19 จากสแกนดิเนเวีย : ปรีดี หงษ์สต้น

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ชลธร วงศ์รัศมี ภาพ

 

 

เรามักเข้าใจว่าสแกนดิเนเวียเป็นกลุ่มประเทศที่มีโมเดลดีๆ หลายเรื่อง ทั้งรัฐสวัสดิการ การศึกษา เทคโนโลยี พลังงานสะอาด แต่ความเจริญเหล่านี้กำลังถูกท้าท้ายจากการแพร่ระบาดไวรัสอย่างไร

101 คุยกับปรีดี หงษ์สต้น นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ และคอลัมนิสต์ประจำ The101.world ผู้ใช้ชีวิตที่สวีเดนมากกว่าเมืองไทย

ไล่ตั้งแต่ประเด็นเชิงประวัติศาสตร์ สแกนดิเนเวียเคยผ่านวิกฤตโรคระบาดมาอย่างไร ไปจนถึงประเด็นอย่าง Exit Strategy ที่กำลังเป็นวาระหลัก ทั้งสวีเดนและสแกนดิเนเวียคุยเรื่องนี้อย่างไร

 

มาตรการแบบสวีเดน

 

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียคงคล้ายกับสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ ในแง่ที่ว่ามีความตระหนักของรัฐบาลและประชาชนว่ามีภัยทางสาธารณสุขไปทั่วประเทศ และรู้ว่าต้องมีมาตรการในการรับมือเหมือนประเทศอื่นๆ

แต่โดยเฉพาะสวีเดนนั้นมีวิธีการรับมือที่ต่างไปจากประเทศอื่นๆ บ้าง ถ้าดูจากสื่อของอังกฤษหรืออเมริกา จะพบว่าค่อนข้างรายงานถึงสวีเดนในฐานะประเทศเดียวที่ยังใช้นโยบายไม่ล็อกดาวน์ เลยทำให้เป็นจุดสนใจของประเทศที่ล็อกดาวน์ไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้บางคนเข้าใจว่าสวีเดนไม่ทำอะไรเลยหรือไม่ อันนี้ถือเป็นความเข้าใจผิด สวีเดนเลือกยืนอยู่บนมาตรการขอความร่วมมือของบุคคล (voluntary measure) จะไม่มีการใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปปิดสถานที่ต่างๆ เหมือนประเทศที่เลือกล็อกดาวน์

มีบางมาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น ห้ามเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ-คนวัยเกษียณ แล้วก็ห้ามไม่ให้รวมกลุ่มกันในที่สาธารณะเกิน 50 คน

สำหรับการให้คำแนะนำจากรัฐบาล เช่น ไม่ควรเดินทางโดยไม่จำเป็น อย่างการเดินทางไปเล่นสกี หรือไปตากอากาศ กรณีแบบนี้ไม่ได้ห้ามชัดเจน แต่ปรากฏว่าคนก็เดินทางน้อยลง

ล่าสุดคนในเมืองสตอกโฮล์ม มีสถิติการเคลื่อนไหวลดลงถึง 90% จากปกติช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จะเป็นช่วงเวลาที่คนออกไปเล่นสกี ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหนึ่งของการที่มีคนติดเชื้อไวรัสมาก เพราะว่าก่อนหน้านี้มีคนเดินทางไปเล่นสกีทางตอนเหนือของอิตาลีด้วย

ในทุกๆ วัน รัฐบาลสวีเดนจะออกมาสื่อสารกับประชาชน โดยมีหัวหน้ากรมระบาดวิทยามารายงานสถานการณ์ว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายอย่างนั้นอย่างนี้เพราะอะไร ส่วนนายกรัฐมนตรีจะออกมาน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

เวลาทำความเข้าใจมาตรการของประเทศต่างๆ ในสแกนดิเนเวีย ต้องเข้าใจถึงความหลากหลายของแต่ละประเทศ สำหรับเดนมาร์กนั้นมีพื้นที่เมืองค่อนข้างมาก และเป็นประเทศเล็กที่มีคนอยู่หนาแน่นในเมือง นี่เป็นเหตุผลที่เดนมาร์กเลือกจะปิดเมือง

ขณะที่สวีเดนมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าประเทศอื่นในแถบนี้ มีพื้นที่ประมาณสองเท่าของเดนมาร์ก สำหรับนอร์เวย์เป็นประเทศที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการดูแลผู้สูงอายุมากกว่าสวีเดน ส่วนฟินแลนด์เป็นประเทศที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จตั้งแต่ต้น การระบาดต่ำมาก

เหตุผลที่สวีเดนไม่ปิดเมือง รัฐบาลอธิบายว่าหลักฐานในทางระบาดวิทยาเวลานี้ยังไม่สามารถหาความเชื่อมโยงได้ว่าการสั่งปิดเมืองจะส่งผลต่อการลดลงของผู้ติดเชื้อโดยตรงอย่างไร

เกณฑ์ที่เขาใช้คือเปรียบเทียบต่อหัวประชากร ซึ่งสวีเดนมีประชากรมากกว่าเดนมาร์กสองเท่า แล้วเขาไปเทียบกับประเทศที่มีจำนวนคนพอๆ กับสวีเดน เช่น เบลเยียม ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตสูงขึ้นมาก ขณะที่เบลเยียมมีมาตรการที่แข็งกว่าสวีเดน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนในสวีเดนจะตายน้อยลงหากมีการปิดเมือง และก็ไม่ได้หมายความว่าการเปิดเมืองจะทำให้คนตายเยอะไปกว่าที่เป็นอยู่

 

สาธารณสุขแบบสวีเดน

 

ภูมิหลังของสวีเดนในการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา จากที่เคยพึ่งพิงสวัสดิการของรัฐได้กลายไปเป็นเอกชนมากขึ้น เช่น การจ้างเจ้าหน้าที่ภาคเอกชนให้มาทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ไปจนถึงการตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุโดยภาคเอกชน ซึ่งมีการลดต้นทุนในค่าใช้จ่ายลงเรื่อยๆ

กรณีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่อยู่บ้านและต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และมากกว่าครึ่งของผู้เสียชีวิตก็เป็นกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้การดูแลด้านสาธารณสุขที่บริหารโดยเอกชน

คนกลุ่มนี้มีความเปราะบางในสังคมอยู่แล้ว มีการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ทั้งก่อนและหลังจะมีเหตุการณ์โรคระบาด ทำให้เมื่อไวรัสโควิดเข้ามา ทำให้ประเด็นเรื่องสาธารณสุข โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่ถูกวิพาษก์วิจารณ์หนักพอสมควร

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเห็นผู้สูงอายุอยู่ในความดูแลของสถานดูแลของเอกชนมากขึ้น เนื่องจากสถานดูแลของรัฐรับคนได้น้อยเกินไป และเมื่อสถานดูแลมีคนเยอะขึ้นและเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ มีความอ่อนแอของร่างกายเนื่องจากมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว การเสียชีวิตก็เยอะตามไปด้วย

นอกจากนี้ ในสวีเดนยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านโยบายเรื่องที่อยู่อาศัย จากที่รัฐต้องเป็นคนจัดหาที่อยู่อาศัยให้คน รัฐแทบจะไม่ลงทุนในการสร้างที่อยู่อาศัยอีกต่อไป ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของสวีเดนสูงขึ้นมาก ด้วยความที่สวีเดนเค้าเก็บสถิติตลอด จะพบว่าเมืองอย่างสตอกโฮล์มมีราคาบ้านสูงมาก ไม่มีใครซื้อที่ดินได้ยกเว้นเศรษฐี ถ้าคุณเป็นช่างประปาคุณต้องขยับออกมาอยู่ไกลจากกลางเมืองมากขึ้น เมื่อเขาออกมาอยู่นอกเมือง จำนวนคนต่อพื้นที่ก็เยอะขึ้น ทำให้คนจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตแย่กว่าในเมือง และการต้องอยู่กันอย่างแออัดมากขึ้น เมื่อมีการติดเชื้อก็ทำให้เกิดการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น

ที่น่าสนใจคือหัวหน้ากรมระบาดวิทยาของสวีเดนพยายามบอกว่า ต้องมองสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสาธารณสุข เมื่อคุณมองมันเป็นเรื่องสาธารณสุขคุณจะต้องจัดการปัญหาแบบสาธารณะ เพราะเป็นเรื่องระยะยาวที่นำมาสู่การเสียชีวิตของคนจำนวนมาก ถึงไม่มีโควิดมาก็จะมีเหตุอื่นนำมาซึ่งการเสียชีวิตของคนเหล่านี้อยู่ดี ประเด็นจึงไม่ได้อยู่แค่ว่าเราจัดการกับโควิดได้มากน้อยแค่ไหน เท่ากับว่าเราจัดการสังคมทั้งสังคมเราอย่างไร

 

ไม่ปิด/ปิดโรงเรียน

 

มีบางมาตรการเกี่ยวกับการศึกษาของสวีเดน เช่น สำหรับนักเรียนมัธยมปลาย ได้เปลี่ยนการเรียนในห้องเรียนไปเป็นการเรียนทางออนไลน์แทน ส่วนที่เหลือตั้งแต่มัธยมปลายลงมา ยังมีการเรียนการสอนที่โรงเรียนตามปกติ แต่ถ้านักเรียนมีอาการป่วย เขาก็จะไม่ให้นักเรียนมาโรงเรียน และเมื่ออาการดีขึ้น เขาจะให้รอดูอาการอีก 48 ชั่วโมงก่อนกลับไปโรงเรียนได้ รวมถึงคนที่ทำงานด้วย

ที่สวีเดนไม่ปิดโรงเรียนเด็กเล็ก เพราะเขาคิดแล้วว่าถ้าปิด พ่อแม่ก็ต้องให้เด็กอยู่บ้าน พ่อแม่ที่ทำงานอยู่ในภาคสาธารณสุขของรัฐ ถ้าเขามีลูกแล้วปิดโรงเรียน ก็กังวลว่ารัฐจะขาดบุคลากรทางสาธารณสุขไป เพราะพ่อแม่อาจจะต้องลางานเพื่ออยู่บ้านดูแลลูก

ในมุมผู้ออกนโยบายเขาอ้างว่าข้อมูลในเชิงระบาดวิทยาที่ผ่านมา พบว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้สูงอายุ ดังนั้นทำยังไงที่จะรักษาให้ระบบสาธารณสุขสามารถรับมือกับการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตได้ ซึ่งการปิดโรงเรียนมีราคาที่ต้องจ่ายสูงกว่าการเปิด เขาเลยยืนยันที่จะเปิดต่อไป

ถ้าให้เด็กอยู่บ้าน พ่อแม่อาจจะต้องโทรไปตามให้ปู่ย่าตายายมาช่วยเลี้ยงหลาน ซึ่งก็เป็นกลุ่มเสี่ยงอีก กลายเป็นน้ำหนักที่ภาคสาธารณสุขต้องแบกรับมากขึ้น เขามีการพิจารณามาตรการของญี่ปุ่นที่เราเห็นตอนนี้คือการระบาดรอบสอง สวีเดนมองกรณีนี้ว่าจะใช้ฐานอะไรในการสนับสนุนนโยบายการปิดเมือง เพราะมันมีราคาที่ต้องจ่าย และกรณีญี่ปุ่นก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

แต่บางคนเลือกที่จะไม่ส่งลูกไปโรงเรียนก็มี เท่าที่เห็นโดยข้อแม้ทางสังคม ถ้าพ่อแม่ไม่ส่งลูกไปโรงเรียน ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะสแกนดิเนเวียเป็นครอบครัวเดี่ยวมากๆ เขาเลยไม่มีทางเลือกอื่นที่จะดูแลลูกในเวลากลางวันที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน

 

ความเชื่อมั่น

 

ไม่ว่ารัฐบาลสวีเดนจะมองหาหลักคิดเพื่อจะใช้ประเมินนโยบายสาธารณะว่าจะยืนอยู่บนฐานอะไร ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเห็นด้วย ที่ผ่านมามีการลงชื่อเพื่อวิจารณ์รัฐบาลกับการดำเนินนโยบายปัจจุบันนี้อยู่พอสมควรเช่นกัน

แน่นอนว่ามีฝ่ายค้านออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ต้น รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ด้วย แต่ยังไม่มีการประท้วงเป็นเรื่องเป็นราว อาจจะมีการเรียกร้องของภาคธุรกิจที่ขอให้รัฐบาลมีการอัดฉีดเงินเข้าไปเพิ่ม และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมาก อย่างเช่นคนธรรมดาที่ทำมาหากิน คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบมากพอสมควร

แต่จากโพลล์ในสวีเดนกลับพบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นรัฐบาลเพิ่มขึ้น พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่คะแนนนิยมลดลงในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา วันนี้คะแนนนิยมกับเพิ่มขึ้น แต่นโยบายทั้งหมดทั้งมวลของรัฐบาลวางอยู่บนความโปร่งใส ตั้งแต่ฐานคิดนโยบายต่างๆ จะปรากฏอยู่บนเว็บไซต์เสมอ การวิพากษ์วิจารณ์จึงไม่นำไปสู่ประท้วงแบบสหรัฐอเมริกา

ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เขามีระบบราชการที่ใหญ่ การจัดการส่วนใหญ่จะดำเนินการผ่านรัฐ เพราะเขาแยกรัฐออกจากศาสนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจจะบอกได้ว่าความเชื่อมั่นของสังคมที่เคยมีให้กับศาสนา ได้โยกมาอยู่ที่ระบบราชการแทน

 

ประวัติศาสตร์การผ่านโรคระบาด

 

ส่วนตัวผมมองว่าสแกนดิเนเวียผ่านเหตุการณ์โรคระบาดในอดีตมาเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป ที่น่าสนใจอาจจะย้อนไปไกลหน่อยคือสมัยยุคกลาง

ตอน black death ระบาดช่วงศตวรรษที่ 14 มีคนตายมหาศาลในยุโรป เราจะพบว่ากลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่ถึงแม้จะเข้าร่วมกับประวัติศาสตร์ยุโรป แต่ระบบศักดินามันลงหลักปักฐานในแถบนี้ช้า และการมาของ black death ก็กวาดเอากลุ่มขุนนางออกไปเกือบหมด ทำให้ประเทศกลุ่มนี้มีคนที่เป็นแรงงานหรือชาวนาได้เข้าไปรวมกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองมาก

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับโรคระบาดเพราะผลของโรคนี้ทำให้กลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นขุนนางเข้ามาเป็นตัวแทนทางการเมืองของคนส่วนใหญ่ในประเทศมากขึ้น คนทั่วไปจึงไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นทาสมากเท่ายุโรป และทำให้การเข้าสู่โลกสมัยใหม่ของสแกนดิเนเวียมีบทบาทของชาวนาอยู่มาก

ในสภามีบทบาทของท้องถิ่นสูง และการที่ชาวนามีบทบาทเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ขุนนางของเขาที่มีน้อยอยู่แล้วไม่ได้มีอำนาจมากเกินไปถึงในปัจจุบันนี้

 

โควิดดิสรัปต์

 

ที่เห็นชัดคือทุกคนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นแรงงานหรือเศรษฐี แต่ผลกระทบอาจจะแตกต่างไปตามชนชั้น แน่นอนว่าชนชั้นแรงงานโดนหนักหน่อย ชีวิตย่อมแย่ลงกว่าแน่นอน

ถ้าคุณเป็นคนอพยพย้ายถิ่น คุณอาจจะไม่ได้มีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับคนในสังคมทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับชนชั้นกลางที่มีเครือข่ายทางสังคมที่ดีอยู่แล้ว คนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดรอบแรกก็คือคนที่อยู่ชานเมืองของสตอกโฮล์มซึ่งเป็นผู้ย้ายถิ่นมาจากทวีปอื่น เช่น โซมาเลียหรือจากคาบสมุทรบอลข่าน

ถ้าเปรียบเทียบคนจนในไทยกับคนจนในยุโรปในช่วงระบาด อาจจะมีชะตากรรมไม่ต่างกันนัก เช่นเดียวกับคนรวยในไทยกับคนรวยในยุโรปอาจจะไม่ต่างกัน เพราะเขาสามารถเลือกที่จะอยู่ห่างจากคนอื่นได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนขี่สามล้อในลอนดอนหรือเป็นวินมอไซด์ในกรุงเทพฯ คุณไม่สามารถเลือกที่จะอยู่ห่างจากใครได้เพราะคุณไม่มีอะไรกิน อย่างที่อเมริกาจะเห็นว่าในนิวยอร์ก คนที่ได้รับผลกระทบคือคนที่อาศัยอยู่ในโซนแออัด

สิ่งที่น่าจะเปลี่ยนไปในสแกนดิเนเวีย ผมคิดว่าน่าจะเป็นระบบสวัสดิการ วันนี้ถ้าเราไปคุยกับฝ่ายซ้ายในสแกนดิเนเวีย เขาจะบอกว่าระบบสวัสดิการของเขาพังไปแล้วตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ส่วนฝ่ายขวาก็จะบอกว่าคุณได้ขนาดนี้แล้วจะเอาอะไรอีก ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองน่าจะเข้มข้นขึ้น

มันมีความพยายามของฝ่ายซ้ายในการไปกู้คืนเอาสิ่งที่เป็นสาธารณสมบัติกลับมาจากเอกชน เช่น อาจจะผลักดันให้รัฐเอาระบบสาธารณสุข บริษัทยา ร้านขายยากลับมาเป็นของรัฐมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ในมุมกลับ จากนี้ไปเราอาจจะเห็นการทุ่มทุนมหาศาลของภาคเอกชนในตลาดวิจัยเรื่องยาและระบาดวิทยาก็ได้

การวิจัยเรื่องยาและระบาดวิทยา ถ้าตั้งต้นได้แล้วมันอาจจะไม่ได้ทำเพื่อมนุษยชาติเสมอไป ต้องอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมยาบนโลกใบนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว หากมีวัคซีนแล้ว หลังจากผู้คนเฉลิมฉลองกัน อะไรจะเกิดขึ้น ในสายตาของบริษัทยา ความรู้เหล่านี้คือการแสวงหากำไร

สรุปคือพลังทั้งสองกลุ่มนี้ก็จะต่อสู้กันต่อไปอย่างเข้มข้น ในการหาคำตอบว่าถ้ามีวิกฤติครั้งต่อไป เราจะต้องลงทุนอย่างไรและรับมือกับมันด้วยวิธีไหน มันเป็นโลกสองแบบที่อาจจะเป็นไปได้ทั้งคู่ก็ได้ นี่คือความท้าทายใหม่

 

Exit strategy

 

ในสวีเดน เนื่องจากเขาไม่ได้มีการปิดประเทศตั้งแต่ต้น ดังนั้นก็จะไม่ใช่การออกเหมือนประเทศอื่นๆ แต่จะเป็นการออกอีกแบบหนึ่ง

ตอนนี้มันมีความเห็นในทางระบาดวิทยาว่า ที่สุดแล้วจะทำอย่างไรให้ประชากรของประเทศเสียชีวิตน้อยที่สุดและผ่านช่วงเวลานี้ไปโดยคนมีภูมิคุ้มกันได้เมื่อมันกลับมาอีกครั้ง เหมือนตอนที่เราเจอไข้หวัดใหญ่

Exit strategy คือทำให้สองสิ่งนี้มันดำเนินไปและไม่ทำให้ภาคสาธารณสุขมีภาระมากเกินไป เช่น ไม่ทำให้เตียงไม่พอ ไม่ทำให้คนต้องไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีความพร้อมในการดูแล

ส่วนเดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ก็กำลังคุยกันอยู่ว่าเมื่อค่อยๆ เปิดเมือง จะทำยังไงให้ตัวเลขการติดเชื้อไม่พุ่งขึ้น

ต้องเข้าใจว่าในโลกเสรีประชาธิปไตย เขาไม่สามารถปิดเมืองได้นาน อย่างที่อเมริกาเราเห็นแล้วว่าคนประท้วงกันมาก เพราะเขาไม่อาจหวังให้ปิดเมืองไปจนกว่าจะมีวัคซีนได้ เพราะมันมีรายจ่ายด้านอื่นๆ อีกมหาศาล

ตั้งแต่ช่วงอีสเตอร์ที่ผ่านมา (มีนาคม) เป็นเทศกาลที่คนกลับไปเจอญาติๆ ที่สแกนดิเนเวียพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้พุ่งขึ้น เขาเลยคาดการณ์กันว่านโยบายตอนนี้กำลังไปถูกทางแล้ว

สิ่งที่เขาพยายามรับมือและวางแผนเชิงนโยบาย เช่น เวลานี้เขาพบว่ามีคนโทรไปปรึกษาจิตแพทย์มากขึ้น ถ้าคนเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น อีก 10 ปีข้างหน้าจะทำอย่างไร เพราะโรคนี้มันกินเวลาหลายปี

ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แต่มีปัญหาเรื่องการสูญเสียรายได้ มีปัญหาการทำร้ายร่างกาย ใช้ความรุนแรงในครอบครัว ต้นทุนเหล่านี้รัฐจะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่เขาเริ่มคุยกัน เขาไม่ได้ดูเพียงแค่ตอนนี้คนตายเท่าไหร่ ติดเชื้อเท่าไหร่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save