fbpx

อินเดีย: จากประเทศผู้ผลิตวัคซีน สู่วิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่

ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนจนถึงตอนนี้ อินเดียกลับมาเป็นจุดสนใจของประชาคมโลกอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้อินเดียเป็นข่าวไปทั่วโลก เมื่อประเทศแห่งนี้ประกาศเป็นผู้บริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 รายใหญ่ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนซึ่งไม่มีศักยภาพแข่งขันมากเพียงพอเพื่อแย่งชิงวัคซีนกับประเทศพัฒนาแล้ว โครงการบริจาควัคซีนดังกล่าวได้รับการชื่นชมอย่างมากจากหลายประเทศทั่วโลก

แต่แล้วในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน อินเดียถูกจับตาจากทั่วโลกอีกครั้งในฐานะประเทศที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันมากที่สุดในโลก ทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน รวมไปถึงภาพผู้ป่วยนอนรอเตียงรักษาพยาบาล หรือต่อคิวยาวเหยียดเพื่อหาออกซิเจน

ตัวเลขและภาพเหล่านี้กลายเป็นคำถามใหญ่ขึ้นในใจใครหลายคนว่า อะไรทำให้ประเทศผู้บริจาควัคซีนรายใหญ่แห่งนี้ สามารถเดินมาถึงจุดวิกฤตทางสาธารณสุขได้ถึงเพียงนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำรัฐบาลอินเดียยังเคยออกมาประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19 ไปแล้วเสียด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าอาจมีงานหลายชิ้นเขียนวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้ไปบ้างแล้ว ทั้งในมิติการป้องกันส่วนบุคคลของประชาชน ความล้มเหลวของตัวผู้นำ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้คนมารวมตัวกัน อย่างไรก็ตามยังมีมิติอีกมากมายที่ยังไม่มีการกล่าวถึงและมีส่วนอย่างมากต่อสถานการณ์วิกฤตของอินเดียในครั้งนี้

ระบบ-ระเบียบราชการที่ไม่ยืดหยุ่นกับการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

อินเดียถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่การทำงานบริการประชาชนยังคงผูกขาดอยู่กับภาครัฐ ไม่ว่าในยามปกติหรือยามวิกฤตก็ตาม ภาครัฐยังคงมีบทบาทอย่างสูงในการทำงาน ส่งผลให้สถานะข้าราชการของอินเดียค่อนข้างสูงมากชนิดที่ว่าความฝันสูงสุดของคนอินเดียส่วนใหญ่คือ การได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในระบบราชการโดยเฉพาะของรัฐบาลกลาง

ฉะนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาการสอบแข่งขันเข้าเป็นข้าราชการของอินเดียจึงมีจำนวนผู้เข้าสอบค่อนข้างสูงมาก อยู่ที่ราวประมาณ 1 ล้านกว่าคน ในขณะที่แต่ละปีจะมีตำแหน่งว่างเพียง 1,000 กว่าตำแหน่งเท่านั้น ระบบราชการอินเดียนั้นยังหมายรวมถึงการบริหารงานของรัฐบาลในระดับรัฐอีกด้วย ซึ่งแต่ละรัฐก็จะมีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป

ดังนั้นการทำงานในระดับพื้นที่ของอินเดียจึงมีทั้งข้าราชการจากส่วนกลาง และข้าราชการระดับรัฐ โดยที่ความยุ่งยากอยู่ตรงที่นอกจากทั้งสองฝ่ายจะต้องมาจูนการทำงานร่วมกันแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติก็เป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะบางครั้งนโยบายของรัฐบาลกลางมีความแตกต่างจากรัฐบาลระดับรัฐ

นอกจากการทำงานที่ไม่สอดคล้องกันแล้ว ยังมีเรื่องระเบียบและกฎการบริหารราชการที่มีความแตกต่างกันของรัฐบาลทั้ง 2 ระดับ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การทำงานในระดับพื้นที่บางครั้งเกิดปัญหาแม้ว่าอยู่ในสภาวะปกติ ไม่ต้องพูดถึงในช่วงเกิดวิกฤต การทำงานของระบบราชการอินเดียก็เป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น

ขอยกเคสการลงทุนสร้างเครื่องผลิตออกซิเจนของอินเดียในกรุงนิวเดลีซึ่งกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนออกซิเจนอย่างหนักในเวลานี้ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลอินเดียได้มีการระดมเงินจากภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้กองทุน PM Care ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำเงินไปสร้างสิ่งอำนวยสะดวกเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 และหนึ่งในนั้นคือเครื่องผลิตออกซิเจน

รัฐบาลตั้งเป้าได้ว่าจะสร้างเครื่องผลิตออกซิเจนทั้งหมดจำนวน 156 เครื่อง โดยกรุงนิวเดลีจะได้รับ 8 เครื่องด้วยกัน แต่จนถึงวันนี้ การสร้างเครื่องผลิตออกซิเจนในกรุงนิวเดลีเกิดขึ้นจริงเพียง 1 เครื่องเท่านั้น โดยปัญหาสำคัญเกิดจากระเบียบราชการที่ระบุว่าการลงทุนของภาครัฐต้องผ่านการประมูล และการเบิกจ่ายต่าง ๆ ต้องเป็นตามกฎหมาย

ยังไม่นับรวมว่าการติดตั้งเครื่องผลิตออกซิเจนต้องทำเรื่องขออนุญาตกับหน่วยงานท้องถิ่นอีก ส่งผลให้การดำเนินการภายใต้ระบบราชการอินเดียต้องผ่านทั้งการขออนุญาตจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐด้วย กว่าโครงการจะเริ่มกระบวนการประมูลได้ก็ปาเข้าไปเดือนตุลาคมปี 2020 และจนถึงวันนี้ยังไม่ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ซ้ำร้ายผู้รับเหมาจำนวนมากก็ทิ้งงาน ซ้ำเติมวิกฤตเข้าไปอีก ความล่าช้าของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจึงกลายเป็นวิกฤตการขาดแคลนออกซิเจนของอินเดียในทุกวันนี้

หรือในกรณีของรัฐมหาราษฏระที่ต้องการนำเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติออกมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากการจะนำเงินดังกล่าวออกมาใช้จำเป็นต้องอาศัยการประกาศจากรัฐบาลกลาง ที่ต้องระบุว่า “การระบาดของโควิด-19” เป็นภัยพิบัติของประเทศ

ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการประกาศออกมา และรัฐบาลรัฐมหาราษฏระก็ไม่สามารถนำเงินจากกองทุนนั้นออกมาใช้เยียวยาประชาชนได้ ทั้งที่รัฐนี้เผชิญวิกฤตโควิด-19 หนักที่สุด ทั้งในมิติทางด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจ และยังทำให้การควบคุมโรคระบาดภายในรัฐกระทำได้ยาก ส่งผลให้การกักตัวของประชาชนภายในที่อยู่อาศัยแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนต้องหาเลี้ยงชีพ

และนี่ก็คือภาพปัญหาของระบบและระเบียบการทำงานของราชการอินเดียที่ขาดความยืดหยุ่น และมีส่วนอย่างมากต่อการสร้างวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศ

การเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลระดับรัฐ

นอกจากอุปสรรคและปัญหาของระบบ-ระเบียบราชการที่กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของอินเดียรอบนี้เผชิญวิกฤตอย่างหนักแล้ว ประเด็นต่อเนื่องอีกเรื่องที่แอบเขียนไปแล้วข้างต้นคือ สายสัมพันธ์และการทำงานระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลระดับรัฐของอินเดีย เพราะอินเดียนั้นประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ มากถึง 28 รัฐ กับอีก 8 ดินแดนสหภาพ

ด้วยลักษณะการปกครองที่ค่อนข้างพิเศษ การบริหารจัดการในระดับพื้นที่จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐ ส่งผลให้การขับเคลื่อนงานในพื้นที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ กล่าวคือหากรัฐบาลระดับรัฐเป็นพรรคการเมืองเดียวกันกับรัฐบาลกลาง การทำงานก็จะราบรื่น เพราะคุยกันง่ายและสามารถวางนโยบายไปในทิศทางเดียวกันได้ ในทางกลับกัน หากรัฐบาลระดับรัฐเป็นพรรคขั้วตรงข้ามกับพรรคการเมืองซึ่งปกครองรัฐบาลกลาง การทำงานก็จะติดขัด

ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่ข้อยกเว้นในช่วงเวลาวิกฤตอย่างสถานการณ์โควิด-19 แต่ยิ่งมีวิกฤตเช่นนี้ ความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาล 2 ระดับก็ยิ่งมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลระดับรัฐอยู่กันคนละขั้วกันในการเมืองระดับชาติ ยกตัวอย่างเช่นรัฐมหาราษฏระที่มุขมนตรีรัฐนี้อยู่ขั้วตรงข้ามกับพรรครัฐบาลกลาง ส่งผลให้การร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางเกิดปัญหาหลายเรื่อง และหนึ่งในนั้นคือการประกาศให้โควิด-19 เป็นสถานการณ์ภัยพิบัติ

ยังไม่นับรวมถึงปัญหาการกระจายวัคซีนซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของรัฐบาลกลาง แนวทางการจัดสรรวัคซีนเช่นนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่ามีแนวโน้มเพิ่มโควตาวัคซีนให้กับรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของพรรครัฐบาลมากกว่าที่จะจัดสรรตามสถานการณ์การระบาด หรือสัดส่วนของประชากร ถึงขนาดที่ว่ารัฐมหาราษฏระซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัคซีนของอินเดียนั้น เผชิญปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอจนต้องปิดศูนย์ฉีดวัคซีนไปเป็นจำนวนมาก

แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ นโยบายวัคซีนนี้ถูกหยิบยกเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งระดับรัฐในช่วงที่ผ่านมาด้วย เช่นพรรครัฐบาลหาเสียงในรัฐเบงกอลตะวันตกว่า หากได้รับชัยชนะจะให้บริการวัคซีนฟรีกับประชาชนในรัฐนี้ทุกคน

อีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลระดับรัฐคือ การโจมตีกันไปมาระหว่างรัฐบาลกรุงนิวเดลีกับรัฐบาลกลางในกรณีการกระจายออกซิเจน โดยเฉพาะการขออนุญาตนำเข้าออกซิเจนจากรัฐที่อยู่ภายใต้การปกครองของพรรครัฐบาล ซึ่งประสบปัญหาความล่าช้าอย่างมาก จนกลายเป็นวิกฤตออกซิเจนไม่เพียงพอภายในนิวเดลี

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับ 2 รัฐนี้ที่เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับหลายรัฐที่การเมืองอยู่คนละขั้วกับพรรครัฐบาลกลาง จนเป็นเหตุให้ศาลสูงสุดของอินเดียต้องตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อทำงานเรื่องการกระจายออกซิเจนให้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์มากที่สุด ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลกลางอย่างจัง

ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลระดับรัฐ และการเล่นการเมืองในสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาลทั้ง 2 ระดับ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การทำงานแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ของอินเดียในรอบนี้ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

บทเรียนจากอินเดียบอกอะไรเราได้บ้าง

แน่นอนว่าการจัดการสถานการณ์โควิด-19 นั้นไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะมีตัวแปรหลายตัวที่ไม่สามารถควบคุมได้ และมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สำหรับอินเดียในเวลานี้ ทุกคนคงเห็นเพียงภาพวิกฤตและความล้มเหลว

แต่ภายใต้ม่านหมอกเหล่านี้ อินเดียยังคงให้บทเรียนที่น่าสนใจกับประเทศไทยเพื่อป้องกันไม่ให้เราเดินในเส้นทางเดียวกันกับที่อินเดียกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะในประเด็นของการทำงานของตัวระบบราชการที่ขาดความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมไปถึงปัญหาการทำงานที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น

อยากให้ทุกคนลองย้อนเวลาไปเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อินเดียเผชิญปัญหาการระบาดอย่างหนักภายในประเทศ แต่ในครั้งนั้นรัฐบาลกลางค่อนข้างแสดงบทบาทเข้มแข็ง และประสานการทำงานอย่างดีกับรัฐบาลระดับรัฐ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและการระบาดในอินเดียอยู่ในลักษณะที่ควบคุมได้ดี

แต่พอตัดภาพมาในช่วงปัจจุบันที่รัฐบาลกลางทำงานอย่างปล่อยปละละเลย ขาดแผนกลางในการทำงาน และปล่อยให้แต่ละรัฐวางกรอบและมาตรการจัดการโควิด-19 เอง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดอย่างรุนแรงในการควบคุมโรคระบาดในประเทศ เพราะไม่มีแนวทางในภาพรวม มีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีมาตรการกลางที่ทุกคนต้องบังคับใช้ในแนวทางเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้บางรัฐมีมาตรการเข้มงวดมากเกิน บางรัฐมีมาตรการผ่อนปรนเกินไป ไม่มีความสมดุล ทำให้การจัดการสถานการณ์โควิด-19 ไม่เกิดประสิทธิภาพ เพราะแม้รัฐที่เข้มงวดจะควบคุมโรคได้ แต่ก็ต้องเผชิญการระบาดอีกระลอกจากการเดินทางของผู้ติดเชื้อจากรัฐที่มีมาตรการผ่อนปรน

สถานการณ์โควิด-19 ของอินเดียจึงเกิดเป็นวงรอบ วนไปไม่รู้จบ แต่ที่เลวร้ายคือการเดินทางของเชื้อไวรัสที่ขยายจากเมืองไปยังชนบทมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความพร้อมทางด้านสาธารณสุข และเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยาก

ฉะนั้นบทเรียนที่เราต้องเรียนรู้จากอินเดียคือ หากจะปล่อยให้หน่วยงานระดับพื้นที่มีอิสระในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ก็ควรมีแผนปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานควบคู่ไปด้วยเพื่อให้การทำงานต่างๆ มีความสอดประสานกัน และที่สำคัญ รัฐบาลต้องแน่วแน่ และมองภาพรวมให้ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 กระจายตัวจากเมืองสู่ชนบท

ที่สำคัญกว่านั้นระเบียบ-ระบบราชการใดที่เป็นอุปสรรค เป็นปัญหาต่อการบริหารสถานการณ์วิกฤตก็แก้ไขให้มันยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น อย่าให้ถึงวันที่ต้องเกิดวิกฤตก่อน ถึงจะเริ่มทำ ซึ่งมันอาจจะสายไปแล้ว ดังเช่นที่เกิดขึ้นในอินเดีย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save