fbpx

เมื่อโควิด-19 เปลี่ยนระบบยุติธรรม และสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมในอาเซียน

ตลอดช่วงเวลากว่า 2 ปีของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทุกองคาพยพ ไม่เว้นแม้แต่ระบบยุติธรรม

สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเอง เป็นที่เห็นได้ชัดว่า การทำงานของทุกภาคส่วนตลอดทั้งกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล หรือราชทัณฑ์ ล้วนถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงาน จนส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบยุติธรรมย่ำแย่ลง ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงการระบาด หลายประเทศอาเซียนยังพบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยอ้างเหตุแห่งการควบคุมโรคระบาดเพื่อความชอบธรรมในการดำเนินการ จนเป็นที่น่ากังวลว่าประชาธิปไตยในภูมิภาคกำลังเผชิญความถดถอย

การระบาดของโควิด-19 ยังเพิ่มความท้าทายต่อระบบยุติธรรมของแต่ละประเทศอาเซียนจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม อันเป็นเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่หนักขึ้นจากวิกฤตการระบาด นอกจากนั้นการล็อกดาวน์ที่ทำให้ผู้คนหันหน้าเข้าหาโลกออนไลน์มากขึ้น ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเผชิญอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งพบว่ากำลังพัฒนากลวิธีซับซ้อนขึ้น เช่นในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือโรแมนซ์สแกม (romance scam) ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในหลายชาติอาเซียน

สถานการณ์ระบบยุติธรรมของชาติอาเซียนในยุคแห่งการระบาดเป็นอย่างไร เราจะต้องรับมืออย่างไรในโลกหลังโควิด-19 ที่ระบบยุติธรรมกำลังต้องเผชิญความท้าทายและภัยคุกคามที่ซับซ้อนขึ้น 101 ถอดความจากงานเสวนาหัวข้อ ‘การตอบสนองต่อความท้าทายทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างการฟื้นฟูภูมิภาคอาเซียนหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19’ ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ACCPCJ) ครั้งที่ 3 จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เมื่อวันที่ 22-24 สิงหาคม 2565 ซึ่งตอบคำถามในประเด็นเหล่านี้

ภาพถ่ายโดย TIJ

Call Center – Romance Scam
ภัยคุกคามไซเบอร์รูปแบบใหม่ในวันที่โลกหันหน้าหาออนไลน์มากขึ้น

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนพากันหันเข้าหาโลกออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้อาชญากรรมไซเบอร์ (cybercrime) ขยับเข้าใกล้ตัวผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ และได้กลายเป็นวิธีการหลักที่กลุ่มอาชญากรใช้คุกคามเหยื่อ โดยพบจำนวนอาชญากรรมไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากทั้งในไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะอาชญากรรมในรูปแบบการหลอกลงทุนในเงินคริปโต (cryptocurrency) และการพนันออนไลน์

รศ.ดร. พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการพนันออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในยุคโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้รัฐบาลจะพยายามออกกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องกลุ่มวัยรุ่นจากการถูกหลอกเข้าสู่วงการพนันออนไลน์ แต่การควบคุมจัดการและการพยายามจับกุมขบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากกลุ่มสแกมเมอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่อยู่ในประเทศใกล้เคียง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังรายงานถึงการหลอกลวงทางคอลเซนเตอร์ที่มีเพิ่มขึ้น โดยในปี 2021 ประเทศไทยมีคนได้รับสายคอลเซนเตอร์จากกลุ่มสแกมเมอร์มากกว่า 6.4 ล้านครั้ง ได้รับข้อความ SMS คอลเซนเตอร์เพิ่มขึ้นถึง 57 % และจากการร้องเรียนทั้งหมดในปี 2021 พบว่ามีผู้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์มากกว่า 1,600 คน

นอกจากนี้ อีกเทรนด์อาชญากรรมไซเบอร์ที่น่าสนใจในยุคโควิด-19 คือโรแมนซ์สแกม ซึ่งคือการที่สแกมเมอร์ใช้ความรัก ความเชื่อใจ หรือความหวังดีต่อเหยื่อ เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาจหลอกให้โอนเงินหรือหลอกให้กระทำความผิดบางอย่าง ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเหยื่อที่ใช้แอปพลิเคชันหาคู่ (dating app) เช่น ทินเดอร์ (Tinder) หรือบัมเบิล (Bumble) และคนที่ตกเป็นเป้าหมายส่วนใหญ่คือคนที่มีอายุค่อนข้างมาก

“กลุ่มสแกมเมอร์ใช้รูปของสาวไทยสวยๆ เพื่อหลอกเอาเงินจากคนที่มีอายุมาก หรือบางครั้งอาจใช้รูปของผู้ชายหล่อๆ เป็นรูปโปรไฟล์ในแอปพลิเคชันอย่างทินเดอร์เพื่อหลอกลวงวัยรุ่นไทยที่อาศัยอยู่คนเดียวให้มาร่วมลงทุนในตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ของพวกเขา” พรรณชฎากล่าว

พรรณชฎาเสริมว่า romance scammer ส่วนใหญ่เป็นชาวไนจีเรีย โดยนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวไนจีเรียที่มหาวิทยาลัยมหิดลเคยเล่าให้พรรณชฎาฟังว่า ไนจีเรียมีโรงเรียนนอกระบบที่ฝึกสอนผู้เป็น romance scammer ให้มีทักษะการเข้าถึงและหลอกลวงเหยื่อ ทั้งการสอนวิธีโพสต์รูปภาพ หรือการสอนเทคนิคการพิมพ์ข้อความพูดคุยกับเหยื่อ ทำให้ romance scammer ส่วนใหญ่มีรูปแบบการพูดคุยหรือตอบกลับข้อความไปในรูปแบบเดียวกัน

เมื่อโควิด-19 ดิสรัปต์ตำรวจ-ศาล-ราชทัณฑ์

นอกจากการระบาดของโควิด-19 จะนำไปสู่แนวโน้มอาชญากรรมรูปแบบใหม่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบยุติธรรมทางอาญาใน 3 แง่มุม ทั้งในมุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล และระบบราชทัณฑ์

พรรณชฎาระบุว่าในช่วงปลายปี 2020 ถึงต้นปี 2021 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงของคนรุ่นใหม่ เช่นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าควบคุมหรือจับกุมผู้ประท้วง ซึ่งทำให้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดผู้คนสูงขึ้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัย จนมีการติดเชื้อที่สูงมากในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ตัวอย่างเช่นกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียง 2 นายประจำการอยู่ที่สถานีตำรวจลาดพร้าว เพราะตำรวจคนอื่นๆ ติดโรคโควิด-19 กันหมด คำถามคือประชาชนจะไปแจ้งความหรือร้องเรียนเรื่องต่างๆ ได้อย่างไรในเมื่อไม่มีตำรวจอยู่ที่นั่น จึงเป็นเหตุผลที่ต่อมาทางตำรวจได้ออกนโยบายใหม่ๆ มาเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19” พรรณชฎากล่าว

รศ.ดร. พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพถ่ายโดย TIJ

ขณะเดียวกัน ศาลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ โดยศาลมีช่วงเวลาที่ต้องหยุดการดำเนินงานไปกว่า 3-4 เดือนในช่วงแรกของการระบาด ส่งผลให้การพิจารณาคดีต่างๆ หยุดชะงักตามไปด้วย อีกทั้งในตอนนั้นประเทศไทยก็ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชันประชุมทางออนไลน์ เช่น ซูม (ZOOM) แต่ต่อมาเมื่อสังคมเริ่มปรับตัวมากขึ้น ศาลจึงกลับมาทำงานต่อได้ผ่านระบบออนไลน์ หรือใช้วิธีจำกัดจำนวนคนสำหรับการพิจารณาคดีแบบออนไซต์ อย่างไรก็ดี พรรณชฎาระบุว่า ศาลนับเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 สำคัญแห่งหนึ่ง เนื่องจากไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างบุคคลในห้องพิจารณาคดี ซึ่งสร้างความเสี่ยงในการติดโรคทั้งต่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ พยาน และผู้พิพากษา

ส่วนในแง่มุมระบบราชทัณฑ์ พรรณชฎาก็ชี้ว่าเป็นส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยเฉพาะจากปัญหาการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็วภายในคุกและเรือนจำ เนื่องจากไม่มีพื้นที่มากพอจะเอื้ออำนวยให้สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้ อีกทั้งยังมีจำนวนนักโทษที่มากเกินไป และยังขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค

“รุ้ง ปนัสยา (สิทธิจิรวัฒนกุล) หนึ่งในผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ถูกจับกุม เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ก็ให้ข้อมูลว่ามีผู้ต้องขังจำนวนมากติดเชื้อโควิด-19 อยู่ภายในเรือนจำ จึงเป็นเหตุผลที่ทางราชทัณฑ์ต้องออกมาให้ข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำแก่สาธารณชน” พรรณชฎากล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลจึงพยายามแก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำด้วยการปล่อยตัวนักโทษที่ไม่ได้มีความผิดร้ายแรง หรือปล่อยตัวชั่วคราวนักโทษบางคนที่สามารถใช้อุปกรณ์กำไล EM เพื่อตรวจสอบหรือติดตามการเดินทางของพวกเขาได้” พรรณชฎาอธิบาย

จากปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อระบบยุติธรรมทางอาญาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พรรณชฎาเสนอว่าประเทศไทยควรมีมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นได้อนาคต โดยพรรณชฎาเสนอไว้ทั้งหมด 4 ประการ

ประการแรก ต้องปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ทุกเมื่อ

ประการที่ 2 ควรมีการแชร์ข้อมูลข่าวสารร่วมกันระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมทางอาญา รวมถึงสร้างมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการเตรียมพร้อมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินในอนาคตในทุกองคาพยพของหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม

ประการที่ 3 ปรับสมดุลการทำงานในกระบวนการยุติธรรมและระบบสาธารณสุข เพื่อเพิ่มการเว้นระยะห่างทางสังคม และลดความหนาแน่นของจำนวนคนในการทำงานของระบบยุติธรรมทางอาญา

ประการสุดท้าย พัฒนาการสื่อสารและเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานด้านสาธารณสุข โดยควรมีแนวทางในการสื่อสารที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม

“รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ต้องแสดงข้อมูลที่แท้จริงทั้งหมดเพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง การพัฒนาการสื่อสารไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจความเป็นไปของสถานการณ์ต่างๆ แต่หน่วยงานของรัฐจะได้เตรียมพร้อมต่อสถานการณ์และภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย” พรรณชฎากล่าวสรุป

นอกจากนี้ จอร์จ โอ ออร์ธา (George O. Ortha II) เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ได้หยิบยกกรณีประเทศฟิลิปปินส์ ที่หลายหน่วยงานภายใต้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของกระทรวงยุติธรรม ศาล และเจ้าหน้าที่ในระบบยุติธรรม ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด

ออร์ธาชี้ว่า ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือการออกมาตรการห้ามหรือจำกัดไม่ให้ครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งปฏิรูปแก้ไขเพื่อให้ผู้ต้องขังยังคงสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกได้

จอร์จ โอ ออร์ธา (George O. Ortha II) เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM)
ภาพถ่ายโดย TIJ

สร้างวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน ลดอาชญากรรมที่ต้นเหตุ

ริชาร์ด ตัน (Richard Tan) อดีตหัวหน้าคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) แห่งสิงคโปร์ อธิบายว่า โดยทั่วไปแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้มาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ การป้องกัน (prevention) คือป้องกันไม่ให้คนมีเจตนาที่จะก่ออาชญากรรม, การยับยั้ง (deterrence) คือการลดโอกาสที่จะเกิดการก่ออาชญากรรม, และการสืบหา (detection) คือเมื่อเกิดการก่ออาชญากรรมขึ้น ตำรวจมีหน้าที่ต้องเร่งสืบหาเพื่อให้เกิดความเสียหายหรือความสูญเสียน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ตันตั้งคำถามถึงมาตรการเหล่านี้ว่าสามารถลดการเกิดอาชญากรรมได้จริงหรือไม่ เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมายังมีคนจำนวนมากถูกปล้นชิงทรัพย์ ถูกข่มขืน ถูกลักพาตัว ถูกบุกรุกเข้าไปขโมยของในบ้านเรือน รวมทั้งยังมีการก่อการร้ายอยู่ไม่น้อย

ตันจึงชี้ว่าในการจะป้องกันการก่ออาชญากรรม สังคมอาเซียนอาจต้องตระหนักถึงวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน (culture of prevention) โดยมุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าปลายเหตุ โดยตันระบุว่าสาเหตุที่แท้จริงของการก่ออาชญากรรม นั่นคือปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมในสังคม และความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับประชาคมในอาเซียนในการแก้ปัญหา และยิ่งทุกวันนี้ที่อัตราการว่างงานกำลังเพิ่งสูงขึ้น แนวโน้มของการก่ออาชญากรรมก็อาจเพิ่มขึ้นตามไปอีก

นอกจากความยากจนและความไม่เท่าเทียมแล้ว ตันยังชี้ถึงสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้คนหันมาก่ออาชญากรรม ได้แก่ ยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาครอบครัว แรงกดดันจากคนรอบข้าง ศาสนา การเมือง รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมอันไม่เท่าเทียม ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ชาติอาเซียนต้องแก้ไขเพื่อจะลดการก่ออาชญากรรม

ตันยกตัวอย่างถึงประเทศสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน (culture of prevention) โดยต้องเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูเด็ก การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว การปลูกฝังค่านิยมเคารพและให้เกียรติผู้อื่น การรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมและความเท่าเทียม รวมถึงการแบ่งปันความสุขและความเจริญงอกงามให้เท่าเทียมกันทุกคน

“สิ่งเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งที่ประเทศสิงคโปร์ แน่นอนว่าอาจจะยังมีปัจจัยบางประการที่เราไม่อาจควบคุมได้ แต่พวกเราก็พยายามอย่างเต็มที่ที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนทุกคนในประเทศสิงคโปร์มีสถาบันครอบครัวที่มั่นคง มีความยุติธรรมและเท่าเทียมกันในสังคม และมีการกระจายความสุขครอบคลุมทุกคนในประเทศ” ตันกล่าว

ริชาร์ด ตัน (Richard Tan) อดีตหัวหน้าคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) แห่งสิงคโปร์
ภาพถ่ายโดย TIJ

ตันอธิบายเพิ่มเติมว่า การที่สังคมจะไปสู่หมุดหมายของวัฒนธรรมแห่งการป้องกันดังที่กล่าวมาได้นั้น อันดับแรกคือสังคมต้องมีระบบการศึกษาที่ดีเสียก่อน โดยต้องเป็นระบบการศึกษาที่ไม่เพียงแต่ให้ทักษะและความรู้แก่ผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังต้องปลูกฝังค่านิยมความเป็นพลเมืองดี รวมถึงต้องสามารถเป็นบันไดนำไปสู่การขยับฐานะทางสังคม (social mobility) ของผู้คนโดยไม่มีการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือสถานะทางสังคม

“ไม่ว่าคุณจะมาจากที่ไหนในโลก คุณจะมีบันไดแบบเดียวกันให้ปีนขึ้นไปเพื่อที่จะได้เป็นคนในแบบที่คุณอยากจะเป็น ดังนั้นที่ประเทศสิงคโปร์ ทุกคนจึงได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันทั้งหมด” ตันยืนยัน

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ตันเน้นย้ำคือความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ในฐานะที่เป็นรากฐานสำคัญของสังคมและเป็นสถาบันแรกสุดที่จะต้องดูแลและสนับสนุนสมาชิกในครอบครัวยามประสบปัญหา ดังนั้นสถาบันครอบครัวจึงต้องเข้มแข็งมากพอที่จะโอบรับสมาชิกของตนได้

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำต่างๆ จำเป็นต้องมีความสามารถและซื่อสัตย์ ตันเน้นย้ำว่า ผู้นำที่ว่านี้หมายรวมถึงผู้นำทุกระดับในภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์ในโรงเรียน หรือแม้แต่ผู้นำชุมชนต่างๆ ซึ่งล้วนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความปรองดองในสังคมและความสามัคคีในชาติได้

นอกจากนี้ ตันกล่าวด้วยว่า อีกสิ่งสำคัญคือต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (political will) และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้สังคมดีขึ้น อีกทั้งประเทศต่างๆ ในอาเซียนจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกในการเติบโตของธุรกิจ พัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของสังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างงานซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรม รวมถึงจัดการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกีฬาเพื่อสุขภาพ ศิลปะที่สร้างแรงบันดาลใจ และความบันเทิงต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน

“ถ้าเราสามารถทำได้ดังที่กล่าวมา แน่นอนว่าประชาคมอาเซียนของเราจะเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก” ตันกล่าวทิ้งท้าย

ประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวของประชาชนในยุคสมัยแห่งโรคระบาด

ยันอวา นูโกรโฮ (Yanuar Nugroho) อดีตผู้นำระดับสูงของสำนักการบริหารของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ยืนยันว่าระบบยุติธรรมทางอาญาในประเทศอินโดนีเซียก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อย่างการที่ศาลจำเป็นต้องปิดทำการหรือปรับเปลี่ยนการดำเนินการครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลเสียต่อการพิจารณาคดีอย่างมาก เพราะทำให้การดำเนินการพิจารณาคดีต่างๆ อาจเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรมและทันท่วงทีอย่างที่ควรจะเป็น

กระบวนการทำงานที่ชะงักลงของศาลในช่วงการระบาดยังส่งผลให้มีคดีต่างๆ ตกค้างรอการพิจารณาเพิ่มขึ้น และทำให้กระบวนการพิจารณาคดีกินระยะเวลายาวนานกว่าเดิม รวมถึงทำให้มีการกักขังผู้ต้องขังก่อนการพิจารณาคดีเป็นเวลานาน โดยนูโกรโฮกล่าวว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือผู้หญิงและเด็ก ที่เสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรง รวมถึงผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยในประเทศ

นอกจากนี้ นูโกรโฮยังชี้ว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีทางประชาธิปไตยไม่แพ้กัน โดยนูโกรโฮกล่าวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียเป็นเหมือนภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก กล่าวคือโรคระบาดทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบายบางประการที่บีบบังคับให้ประชาชนไม่มีสิทธิกระทำบางอย่างที่เคยทำได้ในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19

นูโกรโฮตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐบาลพยายามจะจำกัดกิจกรรมของนักวิจารณ์ รวมถึงกิจกรรมสาธารณะของประชาชน โดยอ้างเรื่องการป้องกันโรคระบาดเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินการ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์และความขัดแย้งต่างๆ ที่มีต่อการควบคุมจัดการโรคระบาดของรัฐบาล มักจบลงด้วยการถูกปราบปราม

“การที่ภาครัฐทำอย่างนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่า นี่อาจเป็นการสิ้นสุดลงของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม รัฐบาล(อินโดนีเซีย) ยังยืนยันจะจัดการเลือกตั้งระดับภูมิภาคต่อไปเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยยังไม่หายไปไหน” นูโกรโฮกล่าว

ยันอวา นูโกรโฮ (Yanuar Nugroho) อดีตผู้นำระดับสูงของสำนักการบริหารของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ภาพถ่ายโดย TIJ

นอกจากนี้ นูโกรโฮยังตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐอาจเข้ามามีบทบาทในการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 อย่างมากเกินความจำเป็น จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือการใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ อย่างในอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้กองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (TNI) และกองกำลังตำรวจแห่งอินโดนีเซีย (POLRI) เข้ามามีบทบาทในการควบคุมจัดการภายในส่วนกลางมากขึ้น จนเป็นเหตุแห่งการจัดการโรคระบาดด้วยแนวทางรุนแรงเกินกว่าเหตุ

“ในขณะที่รัฐบาลจัดการความรับผิดต่อหน่วยงานด้านสุขภาพมากขึ้น ทว่าการกดขี่ข่มเหงประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐในที่สาธารณะกลับขัดต่อนโยบายด้านสุขภาพเหล่านั้นเสียเอง” นูโกรโฮกล่าว

นูโกรโฮระบุด้วยว่า ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงระบบยุติธรรมของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นูโกรโฮเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาหลักนิติธรรม การปกป้องและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หลักการพื้นฐานของความถูกต้องตามหลักกฎหมาย รวมถึงสิทธิความเท่าเทียมในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเตรียมความพร้อมรับมือและฟื้นฟูสังคมในภาวะโควิด-19 แพร่ระบาด

ขณะที่แพทริก เบอร์เกส (Patrick Burgess) ประธานองค์กรว่าด้วยความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Justice and Rights – AJAR) ให้ความเห็นว่า วิกฤตโรคระบาดเผยให้เห็นผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบ โดยแง่บวกคือการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและระหว่างประเทศเป็นไปอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และมีการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนในแง่ลบคือพบว่ารัฐบาลหลายประเทศฉวยโอกาสจากวิกฤตในการออกนโยบายที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต กระทั่งส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการประเทศตามหลักนิติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ เบอร์เกสชี้ว่า เมื่อมีการจำกัดการเดินทาง คนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เหยื่อของความรุนแรงภายในครอบครัวที่ไม่สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเหตุได้เหมือนอย่างปกติ กลุ่มคนชายขอบและผู้ลี้ภัยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้เหมือนกลุ่มคนอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกจำคุกระหว่างการพิพากษาคดี ก็นับว่าเป็นผู้ถูกลิดรอนสิทธิ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีหลักฐานว่าพวกเขากระทำผิด


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save