fbpx
ภาพทวีปลาตินอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ไวรัสโควิด-19 กับลาตินอเมริกา

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่อีกครั้งเกี่ยวกับปัญหาไวรัสโควิด-19 กับประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา เมื่อรัฐบาลของโคลอมเบียออกมาประกาศว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศ Carlos Holmes Trujillo วัย 69 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่นักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในลาตินอเมริกาชาวเม็กซิกัน Carlos Slim รวมถึงประธานาธิบดีของประเทศเม็กซิโก Andrés Manuel López Obrador ก็ออกมาประกาศว่า ทั้งคู่มีผลบวกจากการทดสอบหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เฉพาะในโคลอมเบียประเทศเดียวมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วกว่า 2 ล้านคน โดยมีคนที่เสียชีวิตไปแล้ว 52,000 คน แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับในบราซิลที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กว่า 9 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 222,000 คน

สำหรับลาตินอเมริกา มีรายงานการค้นพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นรายแรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว (2020) ในเมืองเซาเปาลู ประเทศบราซิล โดยเชื้อได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนทำให้ลาตินอเมริกากลายเป็นภูมิภาคที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลกเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2020 ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกา ยกเว้นบราซิลและเม็กซิโก ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการปิดประเทศและมีมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในโบลิเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู ซึ่งถือได้ว่าปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันอย่างแข็งขันเป็นลำดับต้นๆ ของโลก

อย่างไรก็ตาม การที่ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่ประสบปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ กลับกลายเป็นว่ามาตรการการป้องกันที่เข้มงวดเหล่านี้ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ และยังส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติประมาณการว่า จากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำไห้การว่างงานในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 8.1 ในปี 2019 เป็นร้อยละ 13.5 ในปี 2020 ขณะที่อัตราของผู้ที่ตกอยู่ภายใต้ความยากจนเพิ่มสูงขึ้นอีก จากร้อยละ 7 เป็นร้อย 37.2 ในปีเดียวกัน โดยอัตราของผู้ที่ตกอยู่ใต้ความยากจนขั้นวิกฤตเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4.5 จากเดิมร้อยละ 11 ในปี 2019 เป็นร้อยละ 15.5 ในปี 2020 ถ้ากล่าวให้ชัดขึ้น เท่ากับว่าจำนวนประชากรในภูมิภาคที่ตกอยู่ภายใต้ความยากจนขั้นวิกฤตเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 28 ล้านคนในปีที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเทียบอัตราส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้พบว่า ชนพื้นเมืองที่มีความยากจนเดิมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และชนพื้นเมืองที่เป็นสตรีจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

จากการศึกษาพื้นฐานโครงสร้างของระบบสาธารณสุขในลาตินอเมริกาและความสามารถในการรับมือต่อโรคอุบัติใหม่อย่างเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาไม่มีความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากจำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ ทั้งในด้านกำลังคนและงบประมาณ การระบาดของโรคจึงทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะในประชากรที่ยากจน รวมถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย

จะเห็นว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 แสดงให้เห็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในแง่นโยบายทางสังคมของลาตินอเมริกา ว่าจะมีความยั่งยืนอย่างแท้จริงเช่นไรในอนาคต ถึงจะมีความพยายามในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อลดอัตราความยากจนและความเหลื่อมล้ำก็ตาม ขณะเดียวกัน แม้ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาจะได้รับการยกระดับให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางแล้ว แต่ภาวะโรคระบาดอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้เกิดคำถามว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะเป็นไปในทิศทางใด จะต้องปรับปรุงประเด็นใดบ้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา ขณะที่ The Economic Commission for Latin America and the Caribbean (ECLAC) ประมาณการว่า รายได้ประชาชาติของภูมิภาคจะลดลงถึงร้อยละ 9.1 ในปี 2020 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการประมาณการของธนาคารโลก ขณะที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 แสดงให้เห็นปัญหาของการจัดการสวัสดิการในอนาคตอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีความเป็นอยู่ที่สุ่มเสี่ยงและมีความอ่อนไหวในสังคมภูมิภาคลาตินอเมริกา

นอกจากนี้ ต้นทุนทางสังคมในการระบาดของโควิด-19 ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สตรีดูเหมือนจะได้รับผลกระทบทางสังคมมากกว่าบุรุษ เช่น สตรีจะต้องดูแลเด็กๆ ที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเนื่องจากโรงเรียนถูกสั่งปิด หรือแม้กระทั่งการดูแลรักษาความสะอาดในบ้านที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อก็ถือเป็นภาระที่หนักขึ้นของผู้หญิง ขณะเดียวกัน การที่ต้องใช้เวลาอยู่บ้านเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากมาตรการล็อกดาวน์และการมีระยะห่างทางสังคม ก็ส่งผลให้อัตราการเกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย ในชิลีและเม็กซิโกมีรายงานว่า มีผู้หญิงโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน เนื่องมาจากการทะเลาะวิวาทในครอบครัว เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 50 ขณะที่ในเปรูมีรายงานว่า มีผู้หญิงกว่า 500 คนหายตัวไปในช่วงที่รัฐบาลประกาศนโยบายล็อกดาวน์

ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อสังคม โดยเฉพาะกับสตรี ซึ่งต้องได้รับการดูและและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกัน มีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศลาตินอเมริกา เช่น การประท้วงในกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลี ในเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ประชาชนออกมาประท้วงเรื่องการขาดแคลนอาหารอันเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ประเทศ ขณะที่รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุไว้ว่า แม้ภูมิภาคลาตินอเมริกาจะประกอบด้วยด้วยประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและสูงคิดเป็นส่วนที่น้อยนิดของประชาชนทั้งประเทศ อาทิ ในปี 2019 ประชาชนร้อยละ 77 ในภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีรายได้สะสมที่จะเก็บไว้ใช้ยามมีเหตุฉุกเฉินอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ณ ขณะนี้ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ ประเทศในลาตินอเมริกาอย่างบราซิลและนิการากัวต่างถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลก เพราะประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการจัดการไวรัสเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองในบราซิล และมีการประท้วงนโยบายของประธานาธิบดี Jair Bolsonaro อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เกื่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาไวรัสโควิด-19 อาทิ เดิม Bolsonaro ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าจะห้ามการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของบริษัทหัวเว่ย (Huawei) ในบราซิล โดยกล่าวหาว่าหัวเว่ยมีความใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงเกรงว่าถ้าให้บริษัทเข้าร่วมการประมูลเพื่อแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในประเทศจะทำให้ข้อมูลของประเทศรั่วไหล แต่เมื่อทรัมป์หมดอำนาจ เขาก็รีบเปลี่ยนท่าทีทันที โดยอนุญาตให้หัวเว่ยเข้าร่วมการประมูลได้

นอกจากนี้ Bolsonaro ยังถูกผู้นำชนกลุ่มน้อยในประเทศฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอน ซึ่งถือได้ว่าเป็น ‘ปอดที่ใหญ่ที่สุดของโลก’ เนื่องจากนโยบายของ Bolsonaro ที่ต้องการขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจโดยการปลูกถั่วเหลืองเข้าไปในพื้นที่ป่าแอมะซอน โดยเขายึดคติประจำตัวว่า “Growth over Green”

ขณะที่ในชิลี ผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การประท้วงของประชาชนที่เกิดขี้นในช่วงปี 2019 สงบลงบ้าง แม้จะมีการประท้วงประปรายตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ขณะที่มีการแทรกแซงประเภทต่างๆ ของรัฐบาลซึ่งส่งผลในการขยายบทบาทของรัฐบาล โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประชาชนต้องการสวัสดิการและความช่วยเหลือต่างๆ มากขึ้น ในสภาวะเช่นนี้ จะเห็นว่าสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและมีความพร้อมในการจัดการปัญหาถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบางประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโบลิเวีย เมื่อพรรคหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้าย Movimiento al Socialismo ได้รับชัยชนะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ขณะเดียวกัน การลงประชามติอย่างท่วมท้นให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเผด็จการทหารในชิลีก็แสดงให้เห็นถึงความหวังที่จะเห็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยและมีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ หนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความคาดหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น ก็มาจากการร่วมมือกันขององค์กรต่างๆ ที่ประชาชนได้จัดตั้ง ซึ่งมีความร่วมมือเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสุขอนามัยอันเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้

อย่างไรก็ตาม อาจจะเร็วไปที่จะประเมินค่าความสำเร็จของรัฐบาลแต่ละรัฐบาลในการจัดการและแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะข้อมูลที่สำคัญที่สุด คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่อย่างแท้จริง เนื่องจากขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละประเทศว่า จะรายงานว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิด-19 หรือเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ นอกจากนี้ นโยบายของแต่ละรัฐบาลในภูมิภาคลาตินอเมริกาก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ อาทิ ในเม็กซิโกที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับปากท้องของประชาชนมากกว่าการป้องกันการระบาดแบบใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

เราจึงต้องจับตาต่อไปว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงจะเป็นเครื่องทดสอบว่า รัฐบาลในลาตินอเมริกาจะยังให้ความสำคัญกับการปกป้องและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่ด้อยโอกาสหรือกลุ่มผู้ยากไร้ต่อไปหรือไม่ ขณะที่ The Economic Commission for Latin America and the Caribbean (ECLAC) คาดการณ์ล่วงหน้าว่า การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจจะทำให้ความยากจนและการว่างงานในทุกประเทศเพิ่มขึ้น มีประมาณการว่า ประชากร 438 ล้านคนหรือร้อยละ 77 ของประชากรในลาตินอเมริกามีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจในระดับลึก

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการขยายขอบเขตการคุ้มครองทางสังคม ขณะที่การรวมการลงทุนทางสังคมเข้ากับมาตรฐานการดำรงชีวิตจะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากเครื่องมือนโยบายที่เฉพาะเจาะจงแล้ว กลยุทธ์การคุ้มครองทางสังคมสำหรับภูมิภาคจำเป็นต้องมีพื้นฐานมาจากความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งในบริบทของลาตินอเมริกา ความยุติธรรมทางสังคมจำเป็นต้องมีการแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในบทบัญญัติการปกป้องทางสังคม การเอาชนะความแตกแยกระหว่างกลุ่มประชากรที่ได้รับการสนับสนุนจากรูปแบบการจ้างงาน และความช่วยเหลือทางสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นต้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save