ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้เด็กนักเรียนจำนวนกว่า 1.57 พันล้านคน จากกว่า 188 ประเทศ หรือคิดเป็น 91.3% ของผู้เรียนจากทั่วโลก[1] จำต้องออกนอกโรงเรียนและหันไปสู่การศึกษาในรูปแบบนอกห้องเรียนแบบต่างๆ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนทั่วโลก ว่ากันว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาที่ระบบการศึกษาในโลกจะถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ระบบการศึกษามีความก้าวหน้าที่สุดในโลก เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชียตะวันออก ไปจนถึงประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนก็ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น
การที่นักเรียนต้องออกจากระบบการศึกษาในลักษณะเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กและอาจรวมไปถึงต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างมหาศาล
งานวิจัยในอดีตได้เคยทำการศึกษาถึงผลกระทบของการที่ต้องปิดโรงเรียนหรือเปิดเรียนล่าช้า พบว่าการปิดโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อ GDP ของประเทศ ถึง 0.1-0.3%[2] และการที่นักเรียนต้องอยู่บ้านนานๆ ยิ่งทำให้เกิดการลืมเลือนสิ่งที่เคยเรียนมา ทำให้ต้องมาทบทวนกันใหม่ซ้ำอีกครั้ง เรียกว่าปรากฎการณ์ความรู้ที่ถดถอยไปหลังจากปิดเทอมใหญ่ (summer slide)
งานวิจัยพบว่าการที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนประมาณ 6 สัปดาห์ อาจจะทำให้ความรู้ของเขาหายไปถึงครึ่งปีการศึกษาเลยทีเดียว[3] ผลกระทบนี้มีความรุนแรงและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อนักเรียนในกลุ่มด้อยโอกาส นักเรียนกลุ่มที่ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ นักเรียนผู้พิการ มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านต่างๆ เด็กที่ต้องพึ่งพิงอาหารเช้า อาหารกลางวัน จากทางโรงเรียน ผู้ที่ต้องการการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด เด็กกลุ่มยากจนและเปราะบาง ผู้ขาดแคลนทรัพยากร ไม่มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครอง สภาพแวดล้อมในบ้านมีปัญหา เช่น ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว
แนวทางการตอบสนองต่อ COVID-19 ในระบบออนไลน์
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ระบบการศึกษาหลายแห่งในโลกหันไปใช้ระบบการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราวเป็นหลัก เช่น ระบบห้องเรียนเสมือน (virtual classroom) การประชุมออนไลน์ การเรียนการสอนแบบผู้เรียนผู้สอนเข้ามาพร้อมๆ กัน การบันทึกการสอนแบบล่วงหน้า การใช้ระบบ MOOC (massive open online courses) การสั่งการบ้าน การวัดผลประเมินแบบออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ การให้นักเรียนอัดวิดีโอการทำกิจกรรมมาแชร์ในห้อง การเรียนด้วยตนเองผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น (มีการจำแนกประเภทของการเรียนรู้ทางไกลโดย UNESCO[4]) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างใหม่สำหรับผู้เรียนและผู้สอนหลายคน และแต่ละระบบการศึกษาก็ตอบสนองได้แตกต่างกันตามระดับสาธารณูปโภคพื้นฐานและความคุ้นเคยกับระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์
ในกรณีของประเทศที่ต้องปิดโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมา เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง จีน อิตาลี หรือสหรัฐอเมริกา ในภาพรวมถือว่ามีความคุ้นเคยกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โรงเรียนและนักเรียนมีอุปกรณ์และเครือข่ายความพร้อมพอสมควร แต่ก็ยังพบปัญหาของความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงดิจิทัล (digital divide) มากพอสมควรตามที่ปรากฎในข่าวต่างๆ ยังมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ระหว่างนักเรียนหรือโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสกับโรงเรียนที่มีความพร้อม ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา โรงเรียนที่มีคุณภาพสูง เด็กมีเศรษฐฐานะดี เช่น Brooklyn Technical High School ในนิวยอร์ก นักเรียนถึง 98% ยังมีการเรียนการสอนทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องในช่วงปิดโรงเรียน ในขณะที่โรงเรียน Maywood Center for Enriched Studies ในเมือง Los Angeles ที่เป็นโรงเรียนในกลุ่มด้อยโอกาส มีเด็กเพียง 45% ที่เข้ามาเรียนในระบบออนไลน์[5]
ในกรณีของประเทศจีนก็เช่นกัน ที่มีทั้งโรงเรียนและนักเรียนที่มีความพร้อมสูงและเด็กในกลุ่มยากจน ขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ หรือต้องใช้ร่วมกับพ่อแม่หรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัว[6] ยังไม่นับรวมถึงความเหลื่อมล้ำอื่นๆ เช่น ความพร้อมของพ่อแม่ในการสนับสนุนการศึกษาแบบเรียนทางไกล สภาพแวดล้อมในบ้านที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียน ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจของครัวเรือน สุขภาพจิตของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการต้องอยู่ในบ้านหรืออยู่หน้าจอเป็นเวลานานๆ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการศึกษาทั้งสิ้น
อันที่จริงแล้วแม้แต่โรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่มีความพร้อมในทุกด้านในสถานการณ์ปกติอย่างเช่น Virtual Charter School งานวิจัยในระดับชาติของสหรัฐอเมริกา (The National Study of Online Charter Schools) ยังพบว่าการจัดการศึกษาอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าไรนัก เทียบกับการเรียนแบบผสมผสาน หรือการเรียนแบบห้องเรียนเป็นหลัก นักเรียนขาดความรู้สึกดึงดูดร่วมในชั้น[7] ดังนั้นหากคาดหวังว่าจะให้โรงเรียนที่ปกติไม่ได้สอนแบบออนไลน์เป็นหลักจะสามารถปรับตัวและทำได้ดีในช่วงระยะเวลาอันสั้นคงเป็นไปได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ของ COVID-19 อันเป็นตัวบังคับเช่นนี้ โรงเรียน ครู และนักการศึกษาก็คงต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
สำรวจความพร้อมของนักเรียนและโรงเรียนต่อการเรียนการสอนระบบออนไลน์
องค์กร OECD ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้จัดทำกรอบแนวทางสำหรับภาคการศึกษาในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ COVID-19[8] (A framework to guide an education response to the COVID-19 pandemic of 2020) โดยการใช้ข้อมูลการสำรวจของ OECD สำหรับนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวนกว่า 600,000 คน จาก 79 ประเทศทั่วโลกในปี 2018 ซึ่งได้มีการสำรวจสถานการณ์การใช้ ICT การครอบครองอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ การเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ต แนวทางการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทำให้เห็นถึงสถานการณ์ของแต่ละประเทศในเรื่องนี้ว่ามีความพร้อมที่แตกต่างกันอย่างไร
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมในการสำรวจครั้งนี้ ขอนำข้อมูลนี้มานำเสนอโดยเน้นเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในสภาวะต้องปิดโรงเรียนและใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นพิเศษในสถานการณ์ COVID-19 เช่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สเปน อิตาลี สหรัฐอเมริกา และจะทำการเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนไทยที่มีเศรษฐฐานะแตกต่างกันเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
สถานที่สำหรับเรียนในบ้านสำหรับเด็ก
การมีห้องหรือสถานที่เงียบๆ ในบ้านสำหรับทำการบ้าน อ่านหนังสือ นับเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นของความสำเร็จในการเรียนของเด็ก โดยเฉพาะในการเรียนแบบออนไลน์ที่เด็กต้องนั่งทำงานด้วยตนเองนานๆ
จากการสำรวจพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว 81% ของนักเรียนอายุ 15 ปีในกลุ่มประเทศ OECD มีห้องเงียบๆ สำหรับอ่านหนังสือหรือทำการบ้านในบ้านพักของตน แต่ในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มีเด็กมากกว่า 30% ที่ไม่มีสถานที่เงียบๆ ส่วนตัวให้เรียนหนังสือในบ้านได้ แต่ทั้งนี้ในแต่ละประเทศก็มีความเหลื่อมล้ำเช่นกัน เช่น ในเกาหลีใต้ แม้นักเรียนกว่า 85% ของประเทศมีห้องส่วนตัวในการเรียนหนังสือ แต่ก็มีนักเรียนถึงหนึ่งในห้าของกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุดที่ไม่มีสถานที่ในการเรียนหนังสือที่บ้าน (อาจนึกถึงฉากในภาพยนตร์รางวัลออสการ์เรื่อง Parasite[9]) ในกรณีของไทยหากแบ่งเด็กออกเป็นห้ากลุ่มเศรษฐฐานะ เด็กที่อยู่ในกลุ่มฐานะดีที่สุด 84% มีสถานที่เรียนในบ้าน ในขณะที่มีเด็กกลุ่มยากจนที่สุดเพียง 55% ที่มีสถานที่สงบๆ ให้ทำงานในบ้านได้
ที่มา: ฐานข้อมูล OECD (2018) คำนวณโดยผู้เขียน
การเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับการเรียนที่บ้าน
ประเทศที่เศรษฐกิจสังคมมีความก้าวหน้า เช่น เนเธอแลนด์ ฟินแลนด์ สเปน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร อิตาลี สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เอสโตเนีย นักเรียนมากกว่า 95% มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านสำหรับเอาไว้ทำการบ้านหรือใช้ในการเรียนการสอน ในขณะที่ประเทศไทยนักเรียนเพียง 53% ที่มีคอมพิวเตอร์สำหรับทำงานอยู่ที่บ้าน ซึ่งหากแบ่งตามเศรษฐฐานะ มีนักเรียนกลุ่มที่มีฐานะดีที่สุดถึง 91% ที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่บ้าน ส่วนนักเรียนกลุ่มที่ยากลำบากที่สุดเพียง 17% ที่มีคอมพิวเตอร์ เป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งการขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปสรรคหลักในการเรียนการสอนแบบออนไลน์
ระบบแพลตฟอร์มของการเรียนทางออนไลน์ส่วนใหญ่ถูกออกแบบไว้สำหรับทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการไม่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จึงทำให้การเรียนแบบออนไลน์เป็นไปได้ยาก รัฐบาลของหลายประเทศหรือระบบการศึกษาจะใช้วิธีการแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับครอบครัวที่ยากจนด้อยโอกาสโดยการแจกหรือให้ยืมเครื่อง รวมถึงการได้รับบริจาคจากภาคเอกชน เช่น บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ในสหรัฐอเมริกานิยมการบริจาคหรือซื้อโน้ตบุ๊ก Google Chromebook ซึ่งมีราคาถูกให้กับเด็กที่ยากจนและไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ในกรณีของประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการที่จะแจกเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในช่วง COVID-19
ที่มา: ฐานข้อมูล OECD (2018) คำนวณโดยผู้เขียน
การต่อเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่บ้านของนักเรียน
การเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นอีกเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอนแบบระบบออนไลน์ นักเรียนจากประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในหลายประเทศมีการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างแพร่หลายเกือบจะ 100% เช่น ฟินแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน เป็นต้น
ในกรณีของประเทศไทย จากการสำรวจพบว่านักเรียนอายุ 15 ปี ที่บ้านมีการเข้าถึงสัญญานอินเทอร์เน็ต มีประมาณ 81.6 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามหากแบ่งตามระดับเศรษฐฐานะของนักเรียน พบว่า ในขณะที่ครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะในระดับ 40% มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เกิน 90% ของครัวเรือน แต่นักเรียนในกลุ่มเศรษฐฐานะล่างสุดเพียง 57% ที่บ้านมีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีเงินสำหรับสมัครสมาชิกอินเทอร์เน็ตหรืออยู่ในบริเวณห่างไกลกว่าที่จะมีสัญญาณเข้าถึง นับเป็นความเหลื่อมล้ำแบบหนึ่ง ซึ่งทางแก้ก็มีหลายประเทศที่ใช้การจัดสรรอุปกรณ์ wifi แบบพกพา ให้กับนักเรียนที่บ้านไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ หรือจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ครัวเรือนยากจนมีเงินในการสมัครบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ที่มา: ฐานข้อมูล OECD (2018) คำนวณโดยผู้เขียน
การเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นๆ เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และเครื่องแท็บเล็ต
จากการสำรวจการเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กแบบพกพา คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ของเด็กในประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่า หากเปรียบเทียบการมีอุปกรณ์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และเครื่องแท็บเล็ต เด็กไทยมีอุปกรณ์เหล่านี้ 57.8% และ 43.4% ตามลำดับ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ของการต้องปิดโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมา นักเรียนของเขาจะมีการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้มากกว่านักเรียนไทย ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา (88.6% และ 79.2%) สิงคโปร์ (89.3% และ 76.7%) เสปน (89% และ 84%) อิตาลี (89.3% และ 79%) ตามลำดับ ซึ่งประเทศเหล่านี้แม้จะต้องอยู่ในสถานการณ์ล็อกดาวน์ แต่นักเรียนก็มีโอกาสในการเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ได้ในสัดส่วนที่สูงอยู่มาก
ที่มา: ฐานข้อมูล OECD (2018) คำนวณโดยผู้เขียน
การครอบครองโทรทัศน์ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่นๆ ของครัวเรือน
การสำรวจถึงการครอบครองอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของนักเรียน เช่น โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งแบบตั้งโต๊ะและพกพา เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต พบว่าสำหรับประเทศส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะสามารถเข้าถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากที่สุด รวมถึงโทรทัศน์ ที่มักจะต้องมีในทุกบ้าน ในกรณีของประเทศไทยพบว่าครัวเรือนของนักเรียนที่ได้ทำการสำรวจ มีโทรทัศน์ 1.7 เครื่อง (ประมาณ 2 เครื่องต่อครัวเรือน) มีมือถือ 2.3 เครื่อง (มีประมาณ 2-3 เครื่องในบ้าน) คอมพิวเตอร์ 0.9 เครื่อง (มีเกือบจะทุกครัวเรือน) แท็บเล็ต 0.5 เครื่อง (ทุกสองครัวเรือนจะพบว่ามีแท็บเล็ตหนึ่งเครื่อง) ดังนั้นในเชิงนโยบาย อาจจะเป็นไปได้ว่าหากต้องการเผยแพร่ข้อมูลทางการศึกษาแบบทางไกลในประเทศไทย สื่อเช่น โทรทัศน์ หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาจจะเป็นอีกช่องทางที่สามารถเข้าถึงเด็กจำนวนมากได้ โดยมีต้นทุนที่ต่ำและยุ่งยากน้อย
ที่มา: ฐานข้อมูล OECD (2018) คำนวณโดยผู้เขียน
ข้อสังเกตการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน : อุปกรณ์ดิจิทัลที่เด็กไทยเข้าถึงได้มากที่สุด
สำหรับประเทศไทยถือว่านักเรียนไทยมีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนค่อนข้างมาก คือ ประมาณ 86.1% เมื่อจำแนกตามกลุ่มเศรษฐฐานะก็พบว่าแม้แต่เด็กในกลุ่มที่ยากจนที่สุดถึงเกือบ 80% ยังมีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนับว่าอาจจะเป็นอุปกรณ์ที่เด็กไทยสามารถเข้าถึงได้ง่ายในกรณีที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ดังนั้นหากมีการประยุกต์แนวทางการเรียนการสอน หรือเนื้อหาให้ถ่ายทอดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนในแบบทางไกลได้
ทั้งนี้ในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกา ซึ่งค่อนข้างยากจน จะมีการใช้อุปกรณ์มือถือในการส่ง SMS หรือแจ้งเตือนต่างๆ ทางด้านการเรียนการสอนมานานแล้ว ซึ่งการใช้ระบบการส่ง SMS หรือการเรียนผ่านทางระบบมือถือได้รับการศึกษาในหลายประเทศพอสมควร โดยเฉพาะประเทศซึ่งเด็กและเยาวชนไม่ได้มีการเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากนัก ดังนั้นภาครัฐหรือโรงเรียนหรือผู้พัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มในไทยน่าจะได้พิจารณาพัฒนาระบบการเรียนรู้ผ่านทางมือถือและขยายผลการใช้ให้มากขึ้น หากหวังให้มีการเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์โดยทั่วถึง
ที่มา: ฐานข้อมูล OECD (2018) คำนวณโดยผู้เขียน
การใช้งานอินเทอร์เน็ตในการเรียนการสอนในชีวิตประจำวัน
จากการสำรวจของ OECD ถึงแนวทางการเรียนการสอนของนักเรียนจากประเทศต่างๆ ว่ามีการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตออนไลน์ในการติดตามการเรียนการสอน หรือในการทำการบ้านผ่านระบบออนไลน์มากน้อยเพียงใด ในกรณีของประเทศไทย เมื่อมีการเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนในกลุ่มเศรษฐฐานะสูงสุด 20% กับล่างสุด 20% ในเรื่องการเรียนการสอนและการทำการบ้านแบบผ่านระบบออนไลน์ พบว่ามีนักเรียนไทยในกลุ่มเศรษฐฐานะสูงที่ทำงานโดยผ่านระบบออนไลน์ทั้งการเรียนและการทำการบ้านทุกวันหรือเกือบทุกวันประมาณ 45% เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กกลุ่มเศรษฐฐานะล่างสุดซึ่งมีประมาณ 32% ที่ทำงานหรือทำการบ้านผ่านระบบออนไลน์ทุกวันหรือเกือบทุกวัน
ที่มา: ฐานข้อมูล OECD (2018) คำนวณโดยผู้เขียน
ข้อสรุปจากข้อมูลการเข้าถึงทรัพยากรของ OECD
จากการเก็บข้อมูลในปี 2018 ของ OECD พบว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ เช่น สถานที่ในบ้านสำหรับเรียนหนังสือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องโน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะดีมีความพร้อม กับครัวเรือนที่ยากลำบาก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจหรือการสังเกตอื่นๆ ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) อาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับการเข้าถึงโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ที่ดูเหมือนครัวเรือนในทุกระดับฐานะสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งสำหรับนักการศึกษาหรือผู้กำหนดนโยบายที่สามารถนำไปใช้เพื่อบริหารจัดการการเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินของสภาวะ COVID-19
อย่างไรก็ตามประเทศไทยมิใช่ประเทศเดียวในโลกที่มีปัญหานี้ หลายประเทศต่างต้องเผชิญกับปัญหานี้ไปด้วยกันและสามารถที่จะเรียนรู้บทเรียนและแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันได้
แนวทางการเรียนการสอนแบบอื่นๆ ในช่วงวิกฤต COVID-19
การใช้วิทยุและหนังสือพิมพ์
เป็นวิธีการแบบดั้งเดิมที่สุด ในสหรัฐอเมริกาเคยมีการปิดโรงเรียนเพราะการระบาดของโปลิโอในช่วงปี 1937 ทำให้นักเรียนประถมศึกษา 325,000 คน ตอนออกจากโรงเรียน ในยุคนั้นมีการใช้การออกอากาศบทเรียนทางวิทยุ โดยมีตารางออกอากาศ คำถาม การบ้าน ส่งไปในหนังสือพิมพ์ทุกเช้า มีครู ผู้ทรงคุณวุฒิคอยตรวจสอบเนื้อหาบทเรียน มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือแขกรับเชิญมาออกอากาศ และใช้ระบบ hotline ให้พ่อแม่สามารถโทรไปปรึกษาได้ มีครูคอยรับสายประมาณ 20 คน โดยมีพ่อแม่สนใจโทรมาแสดงความเห็นตลอด มีการสนับสนุนให้พ่อแม่นั่งทำการบ้าน ทำบทเรียนร่วมไปกับลูก แต่ในยุคนั้นก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น บางบ้านไม่มีวิทยุ สัญญาณไม่ดี หรือต้องย้ายออกไปอยู่นอกเขตเมืองที่สัญญาณวิทยุส่งไม่ถึง[10] และปัญหาที่ว่าอาจจะมีความเร็วในการเรียนรู้ รับรู้ ไม่เท่ากัน ซึ่งไม่ต่างจากยุคที่ใช้อินเทอร์เน็ตนี้เท่าไรนัก ที่แม้จะมีความสะดวกสบายมากกว่า แต่ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่สะดวกในเรื่องการเข้าถึงคล้ายๆ กัน
ในประเทศที่นักเรียนมีการเข้าถึงอุปกรณ์การสื่อสารยาก เช่น ในวิกฤตโรคอีโบลา ปี 2014 ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกมีการปิดโรงเรียนต้องใช้การเรียนผ่านทางระบบวิทยุ ใช้การส่งข้อความ ข่าวสารข้อมูลด้านการศึกษาผ่านทางโทรศัพท์มือถือแบบ SMS หรือใช้การส่งวิดีโอสั้นๆ ซึ่งใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตน้อยกว่า[11]
การใช้โทรทัศน์
ในช่วงปิดโรงเรียนประเทศจีนมีการจัดทำรายการโทรทัศน์เพื่อให้นักเรียนในระดับต่างๆ ได้เรียนผ่านหน้าจอ โดยแบ่งตาราง ช่องสถานี วันเวลา ตามระดับชั้นและวิชาต่างๆ ถือเป็นวิธีการที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด สำหรับนักเรียนที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นการสื่อสารแบบทางเดียว และมีหลายประเทศที่ใช้โทรทัศน์เป็นหนึ่งในช่องทางของการให้การศึกษา เช่น กรีซ นิวซีแลนด์ โทรทัศน์ช่องการศึกษาในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ สถานีโทรทัศน์ Discovery ที่เน้นเรื่องการศึกษา ในประเทศไทยก็มีการใช้ระบบการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม (DLTV) มานานแล้ว และมีฐานข้อมูลและระบบปฏิบัติการที่ค่อนข้างพร้อมพอสมควร
การใช้ระบบเอกสาร (learning box set)
การใช้ระบบเอกสารการเรียนรู้ เป็นชุดวิชาหรือบทเรียนที่เป็นหนังสือ แบบฝึกหัดต่างๆ เป็นวิธีดั้งเดิม เน้นให้นักเรียนเรียนด้วยตนเองหรือสามารถใช้ร่วมกับระบบอื่นๆ แบบผสมผสานกัน เช่น ให้การบ้าน ทำงาน แล้วหาเวลามาถามปัญหาหรืออภิปรายทางระบบออนไลน์ ในประเทศโปรตุเกส มีการดำเนินการส่งเอกสารให้กับนักเรียนโดยใช้ไปรษณีย์ รวมถึงการส่งการบ้านต่างๆ ร่วมกับระบบอื่นๆ หรือแม้แต่ในประเทศจีนผู้ปกครองที่กลัวว่าลูกจะใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไปก็จะใช้วิธีการเรียนโดยพิมพ์เอกสารมาอ่านหรือทำงาน หรือประเทศนิวซีแลนด์ที่ดำเนินการเพิ่มการพิมพ์เพื่อผลิตและแจกจ่ายเอกสารประกอบการเรียนเพื่อส่งไปตามบ้านนักเรียนในช่วงที่โรงเรียนถูกปิดเพิ่มขึ้น
บริบทของความเหลื่อมล้ำและเด็กผู้ด้อยโอกาสในสังคม
ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบใดก็ตามในการเรียนการสอนช่วงวิกฤต COVID-19 สิ่งที่สำคัญ คือ การเลือกให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของผู้เรียนและผู้สอนซึ่งจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุด ที่สำคัญคือนอกจากวิชาการแล้ว ควรจะต้องคอยเฝ้าระวังและให้การช่วยเหลือสนับสนุนด้านอาหารของเด็กนักเรียนที่อาจจะขาดไปเนื่องจากการปิดโรงเรียนเป็นเวลายาวนาน ด้านสุขภาวะในช่วงวิกฤต ให้ความสำคัญกับสภาวะด้านจิตใจอารมณ์และสังคมของนักเรียนเป็นสำคัญด้วย ครูและโรงเรียนควรจะทำให้นักเรียนมีความรู้สึกมั่นคง รู้สึกว่าตนเองยังไม่ได้ถูกครูทอดทิ้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนในช่วงแห่งวิกฤตเช่นนี้
ควรจะช่วยกันคิดต่อไปว่าสำหรับนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มการศึกษาพิเศษ ผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องในการเรียนรู้ นักเรียนในกลุ่มเด็กเล็กที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่สามารถเลี้ยงได้เนื่องจากต้องออกไปทำงานหาเงิน นักเรียนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ไม่เกื้อหนุนต่อการเรียนรู้ มีความรุนแรงในครอบครัว ทางโรงเรียน ทางภาครัฐ หรือองค์กรที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนต่างๆ ในสังคมควรจะทำอย่างไร เนื่องจากเด็กในกลุ่มเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนแบบพิเศษและมิอาจรอคอยสภาวะวิกฤตเช่นนี้ได้นาน
อ้างอิง
[1] ข้อมูลจาก UNESCO ณ วันที่ 8 เมษายน 2563
[2] Lempel H, Epstein JM, Hammond RA. Economic cost and health care workforce effects of school closures in the US: Center on Social and Economic Dynamics; 2009
[3] งานวิจัยเรื่องความรู้ที่หายไปในช่วงการหยุดเรียนนานๆ เช่น Summer Learning Loss: What We Know and What We’re Learning, Brookings Report (2017) Summer learning loss: What is it, and what can we do about it?
[4] แหล่งข้อมูลเรื่อง Distance Learning Solutions จาก UNESCO
[5] The New York Times. As School Moves Online, Many Students Stay Logged Out. April 6, 2020.
[6] The New York Times. The Coronavirus Exposes Education’s Digital Divide. March 17, 2020.
[7] งานวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนแบบออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา (เนื่องจาก Charter School ในสหรัฐอเมริกาได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ จึงต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลสู่สังคม) Online schools ‘worse than traditional teachers’, Inside Online Charter Schools, Virtual Schools in the U.S. 2019
[8] A framework to guide an education response to the COVID-19 pandemic of 2020 จัดทำโดย OECD และ Harvard Graduate School of Education
[9] ชนชั้นปรสิต (Parasite) ภาพยนตร์เสียดสีสังคมเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2020 บอกเล่าเรื่องราวความเหลื่อมล้ำของครอบครัวคนจนที่อาศัยอยู่ในห้องชั้นกึ่งใต้ดินที่เรียกว่า ‘พันจีฮา’ ซึ่งมีผู้คนนับพันในกรุงโซลที่มีชีวิตเช่นนี้ กับครอบครัวคนรวยที่อยู่ในคฤหาสน์หรูในกรุงโซล
[10] Washington Post. In Chicago, schools closed during a 1937 polio epidemic and kids learned from home – over the radio. April 3, 2020.
[11] รายงานเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อการศึกษา Turning on mobile learning in Africa and the Middle East และ The future in education of African is mobile