fbpx

โอลิมปิกและเหรียญรางวัล ทำไมการเป็นเจ้าเหรียญทองจึงอิงแอบกับประเทศมหาอำนาจ

การจัดการแข่งขันกีฬาครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในช่วง 2-3 เดือนให้หลังคือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 ที่อิตาลีกลายเป็นแชมป์รายใหม่หลังคว่ำทีมชาติอังกฤษไปแบบชวนใจหาย (และทำวลี “It’s Coming Home” กลายเป็นหมัน) ตามมาด้วยการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 ซึ่งจัดขึ้นที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การเฝ้าติดตามดูเหล่านักกีฬาจากการแข่งขันใหญ่ๆ ติดต่อกันภายในเวลาไม่กี่เดือน โดยเฉพาะเมื่อเห็นนักกีฬาเหล่านั้นระเบิดศักยภาพที่มีในตัวเพื่อเอาชนะอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเชียร์หรือไม่เชียร์ใครก็ตาม ก็ชวนให้เลือดลมสูบฉีดและตั้งคำถามถึงขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์ที่ขยับไปไกลจากที่เคยในทุกปี

สำหรับโอลิมปิก กวาดตามองประเทศที่ครองตำแหน่งเป็นเจ้าแห่งเหรียญทองคงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา ที่กวาดเหรียญทองกลับบ้านไปได้ถึง 1,022 เหรียญจากกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว ประเทศที่ตามมาติดๆ คือรัสเซีย (หรือเมื่อก่อนคือสหภาพโซเวียต) ที่ได้ 590 เหรียญ และเยอรมนีได้ 428 เหรียญ เรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่มาพร้อมวัฒนธรรมกีฬาของแต่ละประเทศและการลงทุนอย่างขันแข็ง ศักยภาพของนักกีฬาผูกโยงเข้ากับศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่นักกีฬาจากบางประเทศต้องเจียดเวลาทำงานประจำสลับฝึกซ้อมเพื่อหาเลี้ยงชีพ นักกีฬาในประเทศพี่ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ เยอรมนี รัสเซียและจีนสามารถประกอบอาชีพเป็นนักกีฬาได้เต็มตัว กิจวัตรของพวกเขาคือการฝึกซ้อมและพักผ่อนเพื่อทะลุเพดานด้านร่างกายของตัวเอง โดยมีรายได้ทางหนึ่งมาจากสปอนเซอร์และเงินรางวัลจากการแข่งขันแต่ละครั้ง บวกรวมกับการได้รับงบอุดหนุนประจำปีสำหรับงานค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาจากรัฐบาล จนสามารถผลักขีดจำกัดให้นักกีฬาแต่ละคนทะลวงเพดานร่างกายตัวเองไปได้เรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น ชาร์ลส์ ดโวรัค นักกีฬากระโดดค้ำถ่อจากสหรัฐฯ ที่เคยสร้างสถิติไว้ในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1904 ไว้ที่ความสูง 3.5 เมตร ในอีกร้อยกว่าปีให้หลัง ธีอาโก บราซ์ นักกีฬาสัญชาติบราซิลสร้างเพดานไว้ที่ความสูง 6.03 เมตรจากการแข่งขันโอลิมปิกที่ริโอปี 2016 ส่วนสถิติโลกเป็นของ อาร์แมนด์ ดูพลานติส นักกีฬาชาวสวีเดนซึ่งทำความสูงไว้ที่ 6.18 เมตร ในการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ที่กลาสโกลว สหราชอาณาจักรเมื่อปีก่อน

ดังนั้น รายได้หลักของนักกีฬาในประเทศเหล่านี้จึงมาจากสปอนเซอร์และเงินรางวัลจากการแข่งขันแต่ละครั้ง ในกรณีของนักกีฬาระดับต้นๆ ของโลกรายได้จากสปอนเซอร์นั้นมหาศาลกว่าที่ได้จากการลงแข่งมาก และส่วนหนึ่งของรายได้ถูกปันไปจ้างโค้ชและนักโภชนาการส่วนตัวเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งกลายเป็นยอดมนุษย์ขึ้นไปอีกทีละขั้น ลองนึกถึงเหตุการณ์การขยับขวดน้ำอัดลมของ คริสเตียโน โรนัลโด พร้อมย้ำให้ทุกคนดื่มน้ำเปล่า (บอกเป็นนัยว่าเพื่อสุขภาพที่ดี) สะท้อนให้เห็นถึงความเคร่งครัดของเจ้าตัว ตลอดจนบทบาทของอาหารการกินที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อนักกีฬาอาชีพ

บรรยากาศเหล่านี้มักงอกเงยอยู่ในประเทศที่วัฒนธรรมด้านกีฬาเติบโตเต็มรูปแบบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ประเทศที่อุตสาหกรรมการกีฬาส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยเอกชนเป็นหลักผ่านสปอนเซอร์และการจ้างวานนักกีฬาเป็นพรีเซนเตอร์ นักกีฬาส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเป็น ‘นักกีฬา’ และอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ในโอลิมปิกที่เมืองริโอเดอจาเนโร ไมเคิล เฟล์ปส์ นักว่ายน้ำผู้กวาดเหรียญทองมาได้ห้าเหรียญและเหรียญเงินอีกหนึ่งเหรียญ พร้อมได้เงินรางวัลติดมือมานับล้าน ยังไม่นับว่าหลังจากทำลายสถิติทั้งของตัวเองและคนอื่นกระจุยกระจาย จนได้ครองตำแหน่งเป็นเบอร์หนึ่งของโลกนักว่ายน้ำยังทำให้สปอนเซอร์เจ้าใหญ่ๆ ตั้งแต่แบรนด์กีฬา ยาสีฟัน ไปจนถึงร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดติดต่อมาให้เขาเป็นพรีเซนเตอร์กับค่าตัวหลักล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่อง NBC ซึ่งเป็นช่องยักษ์ใหญ่ของอเมริกาจ่ายเงิน 7.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อสิทธิการฉายการแข่งขันทุกแมตช์ของมหกรรมโอลิมปิกลงช่องตัวเองไปจนถึงโอลิมปิกปี 2032 และลำพังปีนี้ก็ขายค่าโฆษณาไปได้แล้ว 1.25 ล้านเหรียญฯ (ส่วนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ International Olympic Committee – IOC เชื่อว่าโทรทัศน์แต่ละช่องน่าจะทำรายได้จากการถ่ายทอดกีฬาอยู่ที่ราวๆ 3-4 พันล้านเหรียญฯ) และโอลิมปิกที่โตเกียวครั้งนี้ สหรัฐฯ ตั้งค่ารางวัลให้นักกีฬาที่คว้าเหรียญทองกลับมาได้ที่ 37,500 เหรียญฯ โดยเป็นเงินที่ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนสิงคโปร์ รัฐบาลตั้งรางวัลไว้ที่ 737,000 เหรียญฯ (มากกว่าอเมริการาวๆ 20 เท่า) แต่นักกีฬาต้องเสียภาษีและต้องบริจาคเงินรางวัลบางส่วนให้แก่สมาคมกีฬาแห่งชาติเพื่อการพัฒนานักกีฬารุ่นต่อๆ ไปในอนาคต

อีกหนึ่งตัวอย่างของกรณีนี้คือประเทศจีน ถอยหลังกลับไปเมื่อโอลิมปิกปี 1960 ที่กรุงโรม อิตาลี จีนคว้ารางวัลกลับมาได้เพียงเหรียญเงินเหรียญเดียวเท่านั้น ผ่านไปอีกสี่ทศวรรษ ในโอลิมปิกที่ซิดนีย์ปี 2000 นับเฉพาะเหรียญทอง จีนได้กลับบ้านไปที่ 28 เหรียญและในโอลิมปิก 2008 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศตัวเองนั้น จีนกลายเป็นชาติที่ครองเหรียญทองมากที่สุดถึง 51 เหรียญ ผลักสหรัฐฯ ที่เดิมรั้งตำแหน่งแรกมาตลอดลงไปเป็นอันดับสองในรอบหลายปี (อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมเหรียญทั้งหมด สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่ได้เหรียญไปครองมากที่สุดอยู่ดีที่ 110 เหรียญ ส่วนจีนตามมาติดๆ ที่ 100 เหรียญ) ควบคู่กันมากับสภาพทางเศรษฐกิจที่โตขึ้นตามลำดับ มีบันทึกว่าค่า GDP ของจีนในปี 2006 อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านเหรียญฯ สิบปีต่อมาค่า GDP ของจีนกระชากไปที่ 9.4 ล้านล้านเหรียญฯ จนปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จด้านกีฬาของจีนส่วนหนึ่งมาจากความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในกีฬาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม ปี 2014 รัฐบาลจีนประกาศนโยบายที่เรียกกันย่อๆ ว่า ‘Number 46’ ว่าด้วยแผนการครองตลอดกีฬาในสากลโลกของจีนที่มุ่งทำเงินให้ได้ 5 ล้านล้านหยวนในปี 2025

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เคยมีนักวิจัยอย่าง คอลลิน ไมเซล อธิบายไว้คร่าวๆ ว่ามีอยู่ 3 เงื่อนไขที่ทำให้แต่ละประเทศคว้าเอาเหรียญรางวัลจากมหกรรมโอลิมปิกติดมือกลับมาบ้านได้ หนึ่งคือจำนวนประชากร สองคือการสนับสนุนจากภาครัฐ และสามคือขนาดของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ “ประเทศไหนที่มีประชากรมากมักถูกคาดหวังว่าจะทำผลงานในโอลิมปิกได้ดี แต่การฝึกฝนเพื่อให้ได้ไปแข่งโอลิมปิกนั้นก็มีราคาและไม่ใช่ถูกๆ เลยด้วย ดังนั้นมันเลยต้องเปิดช่องให้มีการสนับสนุนหรือลงทุน ไม่ว่าจะโดยภาคเอกชนหรือรัฐบาลก็ตามที” เขาอธิบาย 

อย่างไรก็ดี หากวัดพลังกันในเชิงจำนวนประชากรและขนาดของเศรษฐกิจ ประเทศอินเดียกลายเป็นตัวละครหลักที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับจีนอยู่เนืองๆ และมักถูกใช้เป็นข้อโต้แย้งข้อสังเกตของไมเซล เพราะที่ผ่านมาอินเดียแทบไม่ได้คว้าเหรียญรางวัลใดกลับบ้าน ทั้งที่หากเทียบเคียงด้านจำนวนประชากรแล้วถือว่าอินเดียมีจำนวนประชากรไล่เลี่ยกันกับจีน โดยอินเดียมีประชากรราวๆ ที่ 1.36 พันล้านคน ขณะที่จีนมีประชากรโดยรวมอยู่ที่ 1.39 พันล้านคน แต่หากมาเทียบกันด้านเหรียญรางวัลแล้ว จีนใส่สปีดทิ้งห่างอินเดียอย่างไม่เห็นฝุ่น มิหนำซ้ำยังไล่กวดอเมริกาผู้ครองตำแหน่งราชาเหรียญแบบหายใจรดต้นคออีกต่างหาก ซึ่งในโอลิมปิกปี 2004 อินเดียได้เหรียญเงินกลับบ้านเพียงหนึ่งเหรียญ ขณะที่ตุรกีซึ่งมีจำนวนประชากรเพียง 1 ใน 10 ของอินเดียหอบเอาเหรียญกลับบ้านไปสิบรางวัล (ส่วนประเทศไทยซึ่งมีประชากรราว 6 เปอร์เซ็นต์ของอินเดียก็กอดรางวัลกลับบ้านมาหกรางวัลเช่นกัน) ส่วนในโอลิมปิกปี 2008 อินเดียได้เหรียญทองกลับไปหนึ่งเหรียญและเหรียญทองแดงอีกสองเหรียฐ และในปี 2012 ได้เหรียญเงินสองเหรียญและเหรียญทองแดงอีกสี่เหรียญ

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องเศรษฐกิจ ขณะที่จีนเกิดการกระชากตัวด้านเศรษฐกิจจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก อินเดียกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อปี 2019 มีการรายงานค่า GDP ของอินเดียไว้ว่าอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านเหรียญฯ ต่างกับจีนที่มีค่า GDP อยู่ที่ 14 ล้านล้านเหรียญฯ รวมถึงการที่ภาครัฐของอินเดียเองไม่ได้จัดให้ ‘กีฬา’ เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องให้การสนับสนุนเป็นลำดับต้นๆ ที่ผ่านมาจึงมีนักกีฬาชาวอินเดียออกมาเล่าอยู่เนืองๆ ว่าการขาดการสนับสนุนจากภาครัฐทำให้พวกเขาไม่อาจยังชีพได้ด้วยการเป็นนักกีฬาเพียงอย่างเดียว หรือสำหรับนักกีฬาหลายคนถึงขั้นไม่มีเงินไปซื้ออุปกรณ์สำหรับฝึกซ้อมใดๆ ได้ รวมไปถึงเรื่องค่านิยมของคนอินเดียที่หากมีกำลังมากพอก็นิยมส่งลูกให้เรียนหนักหรือเน้นวิชาการมากกว่าสนับสนุนให้เป็นนักกีฬา ด้วยเหตุผลหลักคือมันดูไม่ใช่อาชีพที่ยั่งยืนหรือเลี้ยงตัวเองได้

ขณะที่นักกีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกา จีน หรือในกลุ่มประเทศยุโรปกลับถูกเคี่ยวตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะพบว่านักฟุตบอลอาชีพหลายคนหัดเตะฟุตบอลตั้งแต่อายุยังเป็นเลขหลักหน่วย แถมลงแข่งขันเป็นเรื่องเป็นราวจนโตมาเข้าลีกฟุตบอลใหญ่อย่างจริงจังได้ ด้านหนึ่งจึงเป็นเรื่องของระบบกีฬาและการจัดการในประเทศที่เอื้อให้เกิดการเติบโต

กระนั้นหลายประเทศในแถบแอฟริกาที่แม้ไม่ได้ถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศร่ำรวยใดๆ แต่ก็แทบจะเป็นพระเจ้าของสังเวียนกรีฑาอยู่แล้ว และแม้หลายคนจะให้เครดิตกับสิ่งลึกลับที่เรียกว่า speed gene หรือกรรมพันธุ์เชิงร่างกายต่างๆ ของนักกีฬา แต่องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งคือหลายประเทศในแถบนี้วางระบบการเฟ้นหานักกีฬาตั้งแต่ยังเด็ก เช่นประเทศจาไมกา บ้านเกิดของ ยูเซน โบลต์ มีการตั้งทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่มีแววว่าจะเป็นนักกรีฑาที่ดีได้ในอนาคต หรือฝากความหวังไว้ที่คุณครูวิชาพละที่กึ่งๆ เป็นแมวมองส่งเด็กในชั้นเรียนที่แววดีมีความสามารถไปคัดตัวเพื่อชิงทุน ตัดภาพกลับมายังอินเดีย แม้แต่สมาคมโอลิมปิกอินเดีย (The Indian Olympic Association) ยังออกปากรับว่าประเทศให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนนักกีฬาน้อยอย่างน่าใจหาย

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงชวนหวนกลับมายังข้อสรุปของไมเซลที่ว่าประเทศชั้นนำผู้มาพร้อมสภาพเศรษฐกิจคล่องตัวนั้นมักมีโอกาสในการคว้าชัยชนะได้มากกว่าประเทศรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำเสมอ เรื่อยไปจนถึงบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้หนุนหลังกีฬาแต่ละประเภทและร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการดูกีฬาของคนในชาติ ซึ่งไม่ว่าจะมองด้วยองค์ประกอบใด ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลาเนิ่นนานกับทุนมหาศาลในการสร้างและบ่มเพาะด้วยกันทั้งสิ้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save