fbpx
โรงแรมนรก

บิดาของหนังอาร์ตไทย โรงแรมนรก

ช่วงระหว่างที่โรงหนังทุกแห่งจำต้องปิดให้บริการชั่วคราว หอภาพยนตร์ได้นำหนังเรื่อง ‘โรงแรมนรก’ มาเผยแพร่ให้ดูกันทาง youtube เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการดูซ้ำอีกครั้งของผมเอง และการหยิบมาแนะนำเล่าสู่กันฟังตรงพื้นที่นี้

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว เชื่อกันว่าฟิล์มหนังเรื่องนี้สาบสูญถาวร ข้อมูลเกี่ยวกับตัวหนังว่ามีเนื้อเรื่องเช่นไร ก็ปรากฏอยู่เลือนรางมาก ทราบเพียงเลาๆ ว่าเรื่องเกิดขึ้นจบลงในเวลาอันจำกัด และเหตุการณ์ทั้งหมดดำเนินไปในฉากสถานที่เพียงฉากเดียว

จากข้อมูลน้อยนิดที่มีอยู่บวกรวมกับชื่อเรื่อง ส่งผลให้ผมคาดเดาล่วงหน้าเป็นตุเป็นตะไปเองอยู่หลายปีว่า ‘โรงแรมนรก’ คงจะเป็นหนังประเภทฆาตกรรมลึกลับสืบสวนสอบสวนอะไรเทือกๆ นั้น

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2538 หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มหนังไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งมี ‘โรงแรมนรก’ รวมอยู่ด้วย จากบริษัทแรงค์ แลบอราทอรีส์ ประเทศอังกฤษ

นับจากนั้นมา ‘โรงแรมนรก’ ก็มีโอกาสฉายเผยแพร่ต่อสาธารณชนหลายครั้งหลายครา และสร้างความตื่นเต้นฮือฮาเป็นที่ประทับใจให้แก่ผู้ชมรุ่นหลังทุกครั้งไป

ครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้ดู ‘โรงแรมนรก’ ความประทับใจสูงสุดเบื้องต้นก็คือ สิ่งที่เคยคาดเดาว่าหนังควรจะเป็นอย่างไร ผิดกระจุยกระจายไม่มีรายละเอียดใดๆ ตรงกันเลยสักนิด

ถัดจากนั้นผมได้ดูซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง ทุกครั้งที่ได้ดูก็ยิ่งจับสังเกตเห็นความดีงามเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งความสนุกบันเทิงที่เพิ่มทวีตลอด

จนถึงวันนี้ ‘โรงแรมนรก’ ผ่านการพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัย และมีสถานะเป็นหนึ่งในหนังไทยที่ดีที่สุดตลอดกาลอย่างสง่างามเต็มภาคภูมิ

‘โรงแรมนรก’ เป็นหนังปี พ.ศ. 2500 ผลงานการสร้าง กำกับ และเขียนบทโดย รัตน์ เปสตันยี ปูชนียบุคคลของวงการหนังไทย ซึ่งมีคุณูปการอย่างสำคัญยิ่งยวดในการยกระดับคุณภาพของหนังไทยให้มีความเป็นศิลปะและมีมาตรฐานสากล ตั้งแต่เทคนิควิธีการถ่ายทำด้วยระบบ 35 มม. บันทึกเสียงจริงของนักแสดงระหว่างการถ่ายทำ ขณะที่หนังไทยส่วนใหญ่โดยรวมช่วงเวลานั้น (ครอบคลุมเนิ่นนานต่อมาจนถึงการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา) เป็นหนัง 16 มม. และเป็นหนังพากย์ (ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นการพากย์สดขณะฉาย ไม่ใช่การพากย์แบบเสียงในฟิล์ม)

นั่นเป็นความ ‘มาก่อนกาล’ ในเชิงเทคนิค แต่ในฐานะศิลปิน ผลงานทั้งหมดของรัตน์ เปสตันยี ซึ่งแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คืองานที่กำกับเอง และคนอื่นกำกับ (รัตน์ เปสตันยีอำนวยการสร้างและกำกับภาพ ได้แก่ ‘สันติ-วีณา’ ปี 2497 และ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ปี 2498) ทุกเรื่องล้วนมีความประณีตพิถีพิถัน แปลกใหม่ และเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ แตกต่างจากคุณภาพของหนังไทยโดยรวมในยุคเดียวกัน (และหลังจากนั้นอีกร่วมๆ 20 ปี) อย่างเด่นชัด

เป็นความแตกต่างที่สามารถใช้คำว่า ดีกว่า เหนือกว่า ได้เต็มปากนะครับ

งานของรัตน์ เปสตันยีแต่ละเรื่องโดดเด่นมีอรรถรสผิดแผก ไม่เคยซ้ำกันเลย พูดง่ายๆ คือเหมือนมีการพยายามทดลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดทุกเรื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงการตั้งโจทย์ให้ตนเองในการ ‘เล่นท่ายาก’ ในแง่นี้ ‘โรงแรมนรก’ เป็นผลงานที่เจิดจ้ายิ่งกว่าเรื่องอื่นใดทั้งหมดของรัตน์ เปสตันยี

มีร่องรอย 2 อย่างที่บ่งชัดถึงความเก่านานของ ‘โรงแรมนรก’ อย่างแรกคือ ฉากที่สร้างในโรงถ่าย ซึ่งแลดูไม่สมจริง เหมือนฉากละครเวที ข้อนี้ผมเข้าใจว่า เป็นผลมาจากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณทุนสร้างและมาตรฐานฝีมือการสร้างฉากในช่วงเวลานั้น หรืออาจเป็นไปได้ว่าเป็นเจตนาความตั้งใจของผู้กำกับ (เทียบเคียงกับเรื่อง ‘แพรดำ’ ในอีกไม่กี่ปีให้หลัง ซึ่งมีบางซีนสร้างฉากในโรงถ่าย ความแนบเนียนสมจริงนั้นพัฒนาไปไกลจนน่าตื่นเต้น)

อย่างต่อมาคือ การแสดงอันไม่มีความเป็นธรรมชาติ ตัวละครในบทสำคัญใช้ดารามืออาชีพ ส่วนตัวรองๆ ลงมาและตัวประกอบปลีกย่อย ผมเข้าใจว่าใช้นักแสดงสมัครเล่น ลักษณะของการแสดงจึงแยกชัดออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกคือการแสดงในลักษณะเล่นใหญ่เป็นละครเวที ออกท่าออกทางสีหน้าแววตาแสดงอารมณ์จะแจ้ง ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของการแสดงในเวลานั้น ส่วนต่อมาในกลุ่มที่ไม่ใช่ดารา เล่นแข็งทื่อ ไร้อารมณ์ จนกระทั่งกลายเป็น ‘หน้าเด้ด’ แบบที่ทุกวันนี้เราท่านคุ้นเคยจากหนังของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, เวส แอนเดอร์สัน และอากิ คอริสมากิ

แต่ความพิเศษเหนือธรรมดาก็คือ ทั้งการแสดงที่เล่นเป็นละครและเล่นแข็งจนดูออกทันทีว่าเล่นหนังไม่เป็น (รวมทั้งการสร้างฉากที่ดูเป็นฉาก) กลับไม่ใช่ข้อบกพร่องหรือจุดอ่อน มันเป็นได้เพียงแค่ ‘ตีนกาและรอยเหี่ยวย่นทางภาพยนตร์’ บ่งบอกความเก่าอายุขัยของหนังเท่านั้น

ในทางตรงข้าม ทั้งหมดที่กล่าวมา สอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับหัวใจสำคัญของหนังได้อย่างดีเยี่ยม นั่นคือ การตั้งใจเล่นกับความไม่สมจริง หรือพูดอีกแบบได้ว่าเป็นการเล่าเรื่องดาษดื่นที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วให้ออกรสสนุกประหลาดพิลึก

มีคำกล่าวที่ได้สดับกันอยู่บ่อยๆ ว่า ไม่สำคัญหรอกว่าเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับอะไร แต่เป็นการเล่าออกมาอย่างไร ด้วยวิธีเช่นไรต่างหากที่น่าสนใจยิ่งกว่า ‘โรงแรมนรก’ เข้าข่ายตรงตามนี้สมบูรณ์แบบ

เนื้อเรื่องเหตุการณ์ของ ‘โรงแรมนรก’ คล้ายๆ การเที่ยวเมืองนอกกับบริษัททัวร์ มันเกิดขึ้นจบลงในระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ระหว่างนั้นหนังก็พาคนดูแวะโน่นแวะนี่เพื่อเยี่ยมชมอะไรต่อมิอะไรสารพัดสารพัน และมีความจับฉ่ายหลายหลากมาก จนไม่น่าเชื่อว่าจะมาผสมรวมอยู่ในหนังเรื่องเดียวกันได้ (อย่างวิเศษมาก และไม่มีอะไรขัดเขินชวนให้รู้สึกประดักประเดิดเลยสักนิด) ตั้งแต่การซ้อมบรรเลงแตรวง, ร้องเพลงโอเปร่า, งิ้ว, การพนันงัดข้อ, การแข่งขันชกควาย (รายละเอียดเป็นอย่างไร ต้องไปติดตามดูในหนังด้วยตนเองนะครับ), เรื่องรักจำพวกพ่อแง่แม่งอน เกลียดกันเมื่อแรกเจอ แล้วคลี่คลายเป็นรักกันในบั้นปลาย (ตลอดเวลาเหล่านี้ นางเอกเป็นฝ่ายเกี้ยวพาราสีซึ่งๆ หน้า ขณะที่พระเอกก็ตอบสนองโดยออกอาการเกรี้ยวกราดหัวเสียและแสนงอน), การต่อสู้ขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบระหว่างตัวละคร 3 กลุ่ม เพื่อครอบครองเงินจำนวนมหาศาล จนนำไปสู่ความเป็นหนังแอคชันหนังบู๊อย่างเต็มที่, เหตุการณ์ล้อเลียนหนังไทยเรื่องดังที่สร้างดัดแปลงจากวรรณกรรมอมตะ ฯลฯ

ความท้าทายและตั้งโจทย์เพื่อ ‘เล่นท่ายาก’ ของ ‘โรงแรมนรก’ ก็คือ บรรดาเหตุการณ์ปลีกย่อยเบ็ดเตล็ดและเหตุการณ์ที่เป็นเนื้อเรื่องหลักทั้งหลายประดามีที่กล่าวมา เกิดขึ้นท่ามกลางพื้นที่อันจำกัดเพียงแค่ฉากเดียว เป็นบริเวณภายในของโรงแรมแห่งหนึ่งในต่างจังหวัดที่ไม่ได้ระบุนามว่าเป็นที่แห่งใด

หนังไม่มีฉากภายนอก ฉากกลางแจ้งให้เห็นกันเลยแม้แต่เฟรมเดียว เฉพาะความล้ำหน้ามาก่อนกาลเวลาในแง่นี้ นับจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นความแปลกใหม่และท้าทายฝีมือคนทำหนัง

โรงแรมนั้นมีชื่อว่า ‘โรงแรมสวรรค์’ สภาพไม่ได้ใหญ่โตโอ่โถงหรือทันสมัย เป็นโรงแรมเล็กๆ สภาพซอมซ่อ มีห้องพักแค่ห้องเดียว (แต่ก็ยังไม่วายมีเลขห้องกำกับไว้ด้วยว่า ห้องหมายเลข 101) ตัวโรงแรมทั้งหมดทำด้วยไม้ นอกจากห้องพักแล้วก็มีเคาน์เตอร์บาร์ โต๊ะอาหาร โซฟาและเก้าอี้หนึ่งชุด ประเมินด้วยสายตาแล้ว ขนาดความกว้างคูณยาวของพื้นที่ทั้งหมดไม่น่าจะเกินตึกแถว 2 คูหารวมกัน

พูดง่ายๆ ว่า เป็นฉากที่สร้างออกมาเหมือนฉากละครเวที และมีพื้นที่ขนาดเล็กกะทัดรัดกว่าเวทีโรงละครเสียอีก

ตรงนี้เชื่อมโยงไปถึงจุดเด่นต่อมาของ ‘โรงแรมนรก’ นั่นคือ การใช้ภาษาภาพ ทั้งการวางมุมกล้อง การจัดองค์ประกอบภาพ การแพนกล้อง การตัดต่อลำดับภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ตัวฉากนั้นเหมือนฉากละคร แต่งานด้านภาพ การใช้ประโยชน์จากแสง-เงา และการตัดต่อ เป็นภาษา ไวยากรณ์ และศิลปะของหนังเต็มๆ เลยนะครับ นี่คือความล้ำนำสมัยประการต่อมาของ ‘โรงแรมนรก’ เมื่อเทียบกับหนังไทยร่วมรุ่นเรื่องอื่นๆ

ที่สำคัญคือ งานด้านภาพและการถ่ายทำตามลักษณะที่กล่าวมาทำหน้าที่เล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหล เพลิดเพลิน ชวนติดตามตลอดเวลา อาจรู้สึกแปลกๆ ไม่คุ้นเคยอยู่บ้างในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อปรับสายตาทำความคุ้นเคยได้แล้ว ที่เหลือก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป มิหนำซ้ำ การปักหลักอยู่กับฉากเดิมตั้งแต่ต้นจนจบก็ยังผลให้องค์ประกอบทุกอย่างในฉากเดียวกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูด และทำให้ตัวฉากนั้นเองมีชีวิตชีวาประหนึ่งเป็นอีกตัวละครสำคัญ

โดยเนื้อเรื่องและเป้าหมายปลายทางแล้ว ‘โรงแรมนรก’ เป็นหนังเน้นความบันเทิงไม่ต่างจากหนังตลาดจ๋าทั่วไป พล็อตเรื่องนั้นเมื่อติดตามไปได้สักพักก็สามารถคาดเดาส่วนที่เหลือทั้งหมดได้โดยไม่มีอะไรผิดพลาด

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งผู้ชมไม่อาจคาดเดาได้เลยก็คือ ขณะที่กำลังติดตามฉากหนึ่งอยู่นั้น อะไรจะเกิดขึ้นติดตามมาในลำดับต่อไป เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ต้นจนจบตลอดความยาวร่วมๆ 2 ชั่วโมง 20 นาที

ตรงนี้เป็นความสนุกเร้าใจชวนติดตามอีกอย่างหนึ่งของหนังนอกเหนือจากความบันเทิงที่มีเต็มพิกัดในตัวของมันเองอยู่แล้ว

ความคาดเดาอะไรไม่ได้เลย ปรากฏชัดตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น 20 นาทีแรก ซึ่งปราศจากเนื้อเรื่อง พ้นจากการให้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับโรงแรมสวรรค์และแขกรายเดียวที่มาพักแล้ว สิ่งที่หนังนำเสนอก็คือการร้อยเรียงฉากเบ็ดเตล็ดจิปาถะในลักษณะ ‘เรื่องไม่เดิน’

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องเล่าที่ไร้พล็อตในช่วง 20 นาทีแรกบอกเล่าใจความสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับตัวหนัง นั่นคือ ที่โรงแรมสวรรค์แห่งนี้ อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้และเป็นไปได้หมด ยกเว้นอย่างเดียวคือการทำหน้าที่เป็นโรงแรม

ยิ่งไปกว่านั้น 20 นาทีดังกล่าว ยังเป็นการเล่าเรื่องไร้พล็อตที่สนุกสนานครื้นเครง ตลกสุดขีด และทำให้ผู้ชมตกหลุมรัก มีความเอ็นดูหนังเรื่องนี้ สามารถซื้อใจกันได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดล่วงหน้า ทั้งๆ ที่เวลายังเหลืออยู่อีก 2 ชั่วโมง

ผ่านช่วงดังกล่าวแล้ว หนังขยับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการเปิดตัว เรียม นางเอกของเรื่อง ตัวละครที่เปี่ยมด้วยสีสัน ลบภาพนางเอกหนังไทยตามขนบคุ้นเคยในทุกมิติ (รวมถึงนางเอกประเภทแก่นเซี้ยวด้วยนะครับ) ทั้งบุคลิกที่เชื่อมั่น เป็นตัวของตัวเองสูงปรี๊ด สามารถต่อปากต่อคำกับบรรดาตัวละครชายอย่างไม่ยี่หระ ปราศจากอาการสะทกสะท้าน และไม่มีทีท่าว่าจะเพลี่ยงพล้ำตกเป็นรอง

การปรากฏตัวของเรียมทำให้รสบันเทิงของหนังผันเปลี่ยนไปอีกทิศทาง เป็นอารมณ์ขันแบบพ่อแง่แม่งอนที่แฟนๆ หนังไทยคุ้นเคย ขณะเดียวกันก็ยิ่งออกรสออกชาติจากความแหวกแนวไม่คุ้นเคย เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปในลักษณะสลับฝ่ายสลับขั้วระหว่างฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย ถึงตรงนี้ก็เป็นเวลาอีกราวๆ 40 นาทีที่หนังดำเนินไปโดยไม่มีเนื้อเรื่อง (แต่สนุกเหลือเกิน)

เนื้อเรื่องของหนังน่าจะเริ่มต้นจริงๆ เมื่อผ่านพ้นหนึ่งชั่วโมงไปแล้ว และเมื่อเริ่มมีเนื้อเรื่อง ก็มาเป็นระลอกต่อเนื่อง เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างกระชับฉับไว รวมทั้งเปลี่ยนโทนอารมณ์จากหนังตลกหลุดโลก จากอารมณ์ขันกระจุ๋มกระจิ๋ม กลายมาเป็นหนังอาชญากรรมที่เข้มข้น ตื่นเต้นลุ้นระทึก ผู้ร้ายกลุ่มหนึ่งบุกเข้ามาควบคุมสถานการณ์ในโรงแรมสวรรค์ด้วยเป้าหมายแผนการใหญ่

พื้นที่คับแคบและฉากจำกัดถูกใช้สอยอย่างเกิดประโยชน์ ทั้งหนุนเสริมความอึดอัดตึงเครียดของสถานการณ์ ทำให้ผู้ชมตระหนักชัดถึงสภาพจนมุมไร้ทางออกของตัวละครฝ่ายดี เหนืออื่นใดคือคาดคะเนไม่ได้ว่าจะพลิกเปลี่ยนคลี่คลายออกจากมุมอับนี้ได้อย่างไร

มีตัวละครหนึ่งชื่อเสือดิน ซึ่งหนังเกริ่นกล่าวถึงล่วงหน้าอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับพิษสงความร้ายกาจน่าเกรงขาม ประวัติอาชญากรรมในอดีตที่ผ่านๆ มา และเมื่อถึงจังหวะเปิดตัวละครรายนี้ ก็ทำออกมาได้อลังการน่าตื่นตาตื่นใจในเชิงศิลปะภาพยนตร์ ทั้งการถ่ายภาพ จัดแสง และการตัดต่อ การใช้ดนตรีประกอบ

เป็นฉากที่ยอดเยี่ยมถึงพร้อม เท่ เข้มข้น เร้าใจ แม้จะดูกันในปัจจุบัน ซึ่งมีหนังไทยหนังเทศมากมายนับไม่ถ้วนทำแบบเดียวกันจนเป็นที่คุ้นเคยไปแล้ว แต่ฉากเปิดตัวเสือดินใน ‘โรงแรมนรก’ ก็เหมาะเจาะลงตัวและดีงามมากๆ จนผมต้องยกมือไหว้แสดงความคารวะ

‘โรงแรมนรก’ ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนังไทยที่ล้ำหน้ามาก่อนกาล คุณสมบัติข้อนี้เด่นชัดและเป็นความเห็นใกล้ๆ จะเอกฉันท์ (พูดดักเผื่อไว้นะครับ เพราะเป็นไปได้ว่าอาจมีคนที่ไม่สนุกและไม่รู้สึกว่าหนังดีตรงไหนได้เหมือนกัน) แต่ความโดดเด่นอีกประการซึ่งผมคิดว่าอยู่ในระดับสูงลิ่วไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ ความพิเศษเฉพาะตัว ไม่เหมือนหนังไทยเรื่องอื่นใดไหนเลยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งวิธีการเล่าเรื่อง ลักษณะของอารมณ์ขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเขียนบทสนทนา ซึ่งผมสนุกเพลิดเพลินและหลงรักมากเป็นพิเศษ

มีอีกตัวอย่างของความล้ำหน้ามาก่อนกาลของ ‘โรงแรมนรก’ ในฉากไคลแมกซ์ ตัวละครตัดสินชี้ชะตากันด้วยวิธีการบางอย่าง

20 กว่าปีต่อมา หนังฮอลลีวูดเรื่องดังระดับออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยชื่อเรื่องและปีสร้างอย่างเจาะจง เพราะจะสปอยล์ความลับของ ‘โรงแรมนรก’ ไปทันที) ให้ตัวละครใช้วิธีเดียวกัน มีรายละเอียดปลีกย่อยผิดแผกกันอยู่บ้าง แต่หลักใหญ่ใจความของกรรมวิธีเป็นแบบเดียวกัน

ในหนังฮอลลีวูดเรื่องดังกล่าว กรรมวิธีกลายเป็นฉากฮือฮา เป็นที่กล่าวขวัญถึงกันอย่างอื้ออึง และมีหนังรุ่นหลังถัดมาอีกมากมายหลายสัญชาตินำไปใช้บ้าง

ใครที่ได้ดู ‘โรงแรมนรก’ และหนังฮอลลีวูดเรื่องนั้นน่าจะตระหนักชัดว่า กรณีนี้มีความคล้ายความต่างจนชัดเจนว่าไม่มีใครลอกใคร เป็นเรื่องต่างคนต่างคิด เผอิญคิดออกมาละม้ายคล้ายกัน

แน่นอนว่า โดยยุคสมัยที่สร้าง ทุนรอน เครื่องไม้เครื่องมือ ฉากไคลแมกซ์ของ ‘โรงแรมนรก’  ย่อมไม่ถึงรสจัดจ้านเท่าหนังฮอลลีวูดเรื่องนั้น แต่ในแง่ความคิดสร้างสรรค์แล้ว ‘โรงแรมนรก’ และคุณรัตน์ เปสตันยี เป็นความภาคภูมิใจ เป็นมาสเตอร์พีซและเดอะ มาสเตอร์ของวงการหนังไทย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save