fbpx

ราคาที่ต้องจ่ายในการปิดโรงเรียน

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า ภาพ

 

 

ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการปิดโรงเรียน หากคิดออกมาเป็นจำนวนเงินแล้วจะแพงขนาดไหน?

 

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 จะค่อยๆ ผ่อนคลายลงจนหลายประเทศเริ่มคลายการปิดเมือง และกลับมาเปิดรั้วโรงเรียนต้อนรับนักเรียนได้อีกครั้ง แต่การศึกษาที่ห่างหายไปจะยังคงเป็นวิกฤตระยะยาว ส่งผลกระทบต่อนักเรียนผู้ซึ่งจะกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

ความรู้ที่หล่นหายไประหว่างทางนั้น ไม่เพียงแต่ถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (ซึ่งเกิดจากทั้งคุณภาพการศึกษา และความสามารถในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ที่ต่างกัน ระหว่างเด็กจากครอบครัวมีฐานะและเด็กจากครอบครัวยากจน) ให้กว้างขึ้น ตอกย้ำวิกฤตการศึกษาให้ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์แห่งความไม่เท่าเทียม แต่ยังปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดโอกาสที่เด็กนักเรียนเหล่านี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน อย่างที่ปรากฏการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับเด็กนักเรียนที่ต้องหยุดเรียนจากการที่ประเทศกลายเป็นสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผลกระทบจากการขาดเรียนยังคงทำให้รายได้ของผู้ใหญ่ที่เติบโตท่ามกลางสงครามโลกขาดหายไปใน 40 ปีต่อมา

นี่ไม่ใช่สิ่งที่เด็กจำนวนเพียงหยิบมือจะต้องเผชิญ เมื่อโรงเรียนและมหาวิทยาลัยใน 192 ประเทศทั่วโลกจำต้องปิดลงชั่วคราว ความรู้ในวันนี้หายไปพร้อมกับรายได้มหาศาลในอนาคต

บทความจาก World Bank Blog ได้เสนอภาพจำลองแนวโน้มความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คนรุ่นต่อไปจะต้องแบกรับคร่าวๆ เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้โลกมองไปข้างหน้าว่าจะลดราคาแสนแพงที่ต้องจ่ายหลังปิดโรงเรียน และบรรเทาพิษเศรษฐกิจที่จะตามมาได้อย่างไร

หากตั้งสมมติฐานว่า ทุกปีที่เด็กได้เรียนหนังสือเพิ่มจะเท่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้น 10% ในแต่ละปีที่ทำงาน ถ้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยปิดเป็นเวลา 4 เดือน เด็กนักเรียนจะเสียรายได้ลง 2.5% ต่อปีตลอดอายุการทำงาน

และถ้าหากสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

เด็กนักเรียนกว่า 76 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ ที่จะได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 53,490 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีตลอด 45 ปีที่ต้องทำงาน กลับจะต้องเสียรายได้ 1,337 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือเมื่อคิดเทียบเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบัน (โดยใช้อัตราคิดลด 3% เพื่อปรับมูลค่าของเงินในอนาคตให้ใกล้เคียงปัจจุบัน) จะเท่ากับว่ารายได้ของนักเรียนแต่ละคนจะหายไปถึง 33,464 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เงินที่หายไปไม่ใช่จำนวนมากนัก ถ้าคิดว่าเงินจำนวนนี้คือเงินที่คนหนุ่มสาวแต่ละคนต้องสละไปเพื่อรับมือกับไวรัส

แต่ถ้าทั้งประเทศต้องปิดเรียน 4 เดือน รายได้ในอนาคตของนักเรียนทุกคนในสหรัฐฯ รวมกันจะหายไปเท่ากับ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับ 12.7% ของ GDP สหรัฐฯ เลยทีเดียว และแน่นอนว่านักเรียนจะไม่เสียรายได้เพียงแค่นี้ เพราะกว่าครึ่งของมลรัฐในสหรัฐฯ ยังคงสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่อไปจนถึงช่วงเดือนกันยายนเป็นอย่างน้อย

ยิ่งปิดโรงเรียนต่อไป ราคาที่ต้องจ่ายก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

และเมื่อใช้แบบจำลองนี้คิดเทียบในระดับโลก ราคาของการปิดโรงเรียนมีราคาแพงมากอย่างคาดไม่ถึง หากเทียบว่าการผลิตของสหรัฐฯ คิดเป็น 1 ส่วน 4 ของโลก การปิดโรงเรียนทั่วโลกเป็นเวลา 4 เดือนจะส่งผลให้เด็กนักเรียนสูญเสียรายได้ในอนาคตมากถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คือราคาที่คนรุ่นใหม่ต้องจ่ายเพื่อปิดโรงเรียน

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงแค่การจำลองอย่างง่ายเพื่อวาดภาพผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เด็กจะอยู่ด้วยต่อไปในอนาคต แต่ภาพจำลองนี้ยังจุดประกายคำถามต่อไปอีกว่า ผลกระทบจากการเสียรายได้จะรุนแรงมากน้อยต่างกันอย่างไรระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน? เด็กนักเรียนกลุ่มไหนคือกลุ่มที่เปราะบางจากการปิดโรงเรียนมากที่สุด? และผลจะเป็นอย่างไรหากเทียบความสูญเสียทางเศรษฐกิจของเด็กจากการปิดโรงเรียนกับความสูญเสียที่คนกลุ่มอื่นในสังคมต้องเผชิญจากการปิดเมือง?

 

เราจะลดราคาที่ต้องจ่ายในอนาคตอย่างไร?

 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่จะลดราคาความเสียหาย เมื่อราคาที่เพิ่มขึ้น (และวงจรความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่หยั่งรากลึกมากยิ่งขึ้น) เกิดจากการเรียนรู้ของเด็กที่ขาดช่วงไป ดังนั้นรัฐบาลต้องออกนโยบายตอบสนองทันที เพื่อประคับประคองกระบวนการเรียนไม่ให้เด็กสูญเสียความรู้ไปมากกว่านี้ และเพื่อไม่ให้ราคาที่ต้องจ่ายในอนาคตต้องแพงมากขึ้นไปอีก

World Bank Group ได้ออกรายงาน The COVID-19 Pandemic: The Shocks And Policy Responses เสนอแนวนโยบายรับมือต่อวิกฤตการศึกษา โดยหวังว่าจะช่วยลดความเสียหายของการเรียนรู้ที่เกิดจากการปิดโรงเรียนได้ อันที่จริง World Bank Group เสนอว่า นโยบายการศึกษาควรตั้งเป้าหมายว่าจะนำพาการศึกษากลับมาให้ดีกว่าในภาวะก่อน COVID-19 เพราะสถานการณ์การศึกษาก่อนโรคระบาดก็ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตและไม่พึงประสงค์อยู่แล้ว

หัวใจสำคัญของแนวนโยบายอยู่ที่การพยายามหยุดปรากฏการณ์การเรียนรู้ขาดช่วง (learning loss) ของเด็กนักเรียน และใช้ประโยชน์จากวิกฤต พลิกให้เป็นโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ปรับระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

World Bank Group ได้แปลงแก่นแนวคิดดังกล่าวออกมาเป็นแนวนโยบายที่รัฐควรนำมาใช้แก้วิกฤตการเรียนรู้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. รับมือ (Coping) 2. บริหารความต่อเนื่อง (Managing Continuity) 3. พัฒนาและเร่งเครื่อง (Improving and Accelerating)

เมื่อโรงเรียนปิดลงอย่างกะทันหัน นโยบาย ‘รับมือ’ ในระยะที่ 1 มุ่งให้โรงเรียนต้องรักษาสมดุลระหว่างสุขภาพและความรู้ รักษาสุขภาพของเด็กให้แข็งแรงปลอดภัยมากที่สุด ควบคู่ไปกับการประคับประคองไม่ให้ความรู้หล่นหายไป

จากการปิดโรงเรียนทั่วโลกมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา หลายประเทศได้ออกนโยบายการศึกษาไปในทิศทางเดียวกับที่ World Bank Group เสนอนโยบายรับมือระยะที่ 1 ไว้ ที่เห็นได้ชัดคือ หลายประเทศพยายามนำระบบการศึกษาทางไกลเข้ามาช่วยให้เด็กยังได้เรียนหนังสือต่อไป โดยเลือกใช้แพลตฟอร์มที่เด็กทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนเข้าถึงได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างเช่นการเรียนทางไกลผ่านโทรทัศน์ จัดโครงการอาหารกลางวันเพื่อให้เด็กที่พึ่งพาอาหารกลางวันโรงเรียนได้อิ่มท้องและได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งพยายามสื่อสารกับทางบ้านว่าต้องดูแลการเรียนของเด็กอย่างไร และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เด็กจากครอบครัวยากจนที่เสี่ยงจะต้องออกจากโรงเรียน

หลังจากสัญญาณการแพร่ระบาดค่อยๆ เบาบางลงจนโรงเรียนกลับมาเปิดได้อีกครั้ง นโยบาย ‘บริหารความต่อเนื่อง’ ระยะต่อไปจะต้องตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้นักเรียนกลับสู่โรงเรียนอย่างปลอดภัยไร้ไวรัส พร้อมไปกับฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กให้กลับคืนมา โดยเฉพาะเด็กยากจนที่เสี่ยงต่อการสูญเสียความรู้ระหว่างที่โรงเรียนปิดมากกว่าเด็กจากครอบครัวมีฐานะ

วิกฤตครั้งนี้ตอกย้ำครอบครัวฐานะยากจนหรือฐานะปานกลางให้ต้องเผชิญความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ฐานะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีอาจส่งผลให้บางครอบครัวต้องแลกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจกับการศึกษาของลูก หรือในบางครอบครัว เรื่องเงินทองอาจไม่ใช่ประเด็น แต่ไม่มั่นใจว่าพื้นที่สาธารณะอย่างโรงเรียนจะปลอดภัยจากไวรัส จึงไม่กล้าให้ลูกกลับไปที่โรงเรียน

ดังนั้น นโยบายในระยะที่ 2 โรงเรียนต้องเตรียมความพร้อม ลดเงื่อนไขที่กีดขวางไม่ให้เด็กมาโรงเรียนได้ เช่น การลดค่าเทอมหรือสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน เพื่อไม่ให้เด็กที่ไม่พร้อมจำต้องออกจากระบบการศึกษา และยังต้องวางแผนไม่ให้เด็กเรียนร่วมกันในพื้นที่ที่แออัดมากเกินไป อาจปรับให้มีการเรียนผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียนเพิ่มขึ้น หรือสลับวัน/สัปดาห์ให้นักเรียนเข้ามาที่โรงเรียน ลดความเสี่ยงที่เด็กจะติดเชื้อจากเพื่อนๆ ในโรงเรียน

ที่สำคัญที่สุด โรงเรียนต้องปรับหลักสูตรและวิธีการสอนเพื่อให้เด็กต่อติด หลังห่างหายไปจากโรงเรียนหลายเดือน แน่นอนว่าโรงเรียนจำเป็นจะต้องวัดหาระดับการเรียนรู้ที่หายไปจากการปิดเรียน และช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างเด็กกันเอง เพื่อปรับวิธีสอนและระดับความยากง่ายของบทเรียนให้เหมาะสมกับเด็กทุกคน ไม่ปล่อยให้เรียนตามไม่ทัน

ในระยะสุดท้าย นโยบาย ‘พัฒนาและเร่งเครื่อง’ จะเป็นการใช้โอกาสที่วิกฤตเปิดให้สร้างระบบการศึกษาใหม่ที่ดีกว่า ในเมื่อการปรับตัวในระยะ ‘รับมือ’ และระยะ ‘บริหารความต่อเนื่อง’ มาจากการมองปัญหาการศึกษาที่ฝังรากลึกแต่เดิมได้ชัดขึ้น แล้วลองผิดลองถูก หาวิธีแก้ไขปัญหา นโยบายระยะ ‘พัฒนาและเร่งเครื่อง’ ก็คือการนำนโยบายที่ผ่านการลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จในการสร้างการเรียนรู้ที่เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาทำให้เป็นนโยบายการศึกษาถาวร

นโยบายที่ได้ผลดีอาจเป็นการนำเทคโนโลยีและการเรียนทางไกลมาบูรณาการเป็นเครื่องมือสอนควบคู่กับการเรียนในห้องเรียน เพื่อให้เด็กสนุกกับการเรียนหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการสร้างระบบรองรับไม่ให้กลุ่มนักเรียนเปราะบางต้องออกจากโรงเรียน หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนวิธีสอนของครู โดยคัดกรองแต่เนื้อหาที่จำเป็นและนักเรียนทุกคนได้ประโยชน์ เป็นต้น

สิ่งที่ World Bank Group ย้ำอยู่เสมอคือ หากต้องการลดความเสียหายด้านการศึกษาที่เกิดจาก COVID-19 ให้มีประสิทธิภาพ การคิดและลงมือทำอย่างจริงจังรวดเร็วคือสิ่งสำคัญ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save