fbpx
ต้นทุนและผลได้ของมาตรการยับยั้งการระบาด COVID-19

ต้นทุนและผลได้ของมาตรการยับยั้งการระบาด COVID-19

วิมุต วานิชเจริญธรรม เรื่อง

 

“There’s no such thing as free lunch”

ประโยคทองของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่สะท้อนถึงสัจจธรรมของชีวิต ที่เราไม่สามารถได้สิ่งใดในโลกมาฟรีๆ โดยไม่มีของแลกเปลี่ยนตอบแทน

เพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด มนุษย์จึงต้องตัดสินใจเลือกกระทำเพียงบางสิ่งจน ไม่อาจบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ครบถ้วนสมบูรณ์

วิชาเศรษฐศาสตร์จึงอุดมไปด้วยสถานการณ์ของการ “Trade-off” หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ได้อย่าง เสียอย่าง”

ในภาวการณ์ปัจจุบันที่ เราเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เช่นกัน

รัฐบาลดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ไล่เรียงมาตั้งแต่การสั่งปิดสถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ จนถึงการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 อีกทั้งยังห้ามจัดงานสงกรานต์และประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศอีกด้วย

มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อตัดตอนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจากคนสู่คน รัฐบาลจึงเร่งสร้างระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้คนให้มากที่สุด

มาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมถูกบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาร่วมหนึ่งเดือนแล้ว และดูเหมือนว่าจะสัมฤทธิ์ผลในระดับที่น่าพอใจทีเดียว

กล่าวคือ หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการเข้มข้นมากขึ้นก่อนสิ้นเดือนมีนาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็เริ่มปรับลดน้อยลงเป็นลำดับ ซึ่งหากนับจากวันที่ 9 เมษายน มาจนถึงวันที่ 17 เมษายน  ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนโดยเฉลี่ยเท่ากับ 37.8 รายต่อวัน และตัวเลขเริ่มคงที่อยู่ในราว 28-33 คนต่อวัน ต่อเนื่องกันเกือบหนึ่งอาทิตย์แล้ว

หากเทียบกับตัวเลขค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนหน้านั้น (ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 14 วัน) จะเห็นได้ถึงความแตกต่างที่ชัดเจน เพราะตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในแต่ละวันระหว่างวันที่ 22 มีนาคม ถึง 3 เมษายน นั้นมีค่าเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 120.5 ราย โดยจะพบว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อวันนั้นเป็นตัวเลขหลักร้อยแทบทุกวัน

ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ต้องแลกมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง อันสืบเนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งสั่งระงับธุรกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกประเภท ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลหดหายไปในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

ณ เวลานี้เราอาจต้องรอการแถลงตัวเลขผลผลิตมวลรวมรายไตรมาสอย่างเป็นทางการจากสภาพัฒน์ฯ ในเดือนพฤษภาคม เพื่อใช้ประเมินต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ อย่างไรก็ดี จากการประเมินในเบื้องต้นของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในรายงาน World Economic Outlook ประจำเดือนเมษายน คาดได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวในอัตราร้อยละ 6.7 ในปี 2563 นี้

หากคิดเป็นเลขรายได้มวลรวมที่สูญไปในปีนี้โดยใช้จีดีพีของไทยในปี 2562 ที่มีมูลค่าราว 16.8 ล้านล้านบาทมาเป็นฐานเพื่อคำนวณมูลค่าผลผลิตหดหายไปตามการคาดการณ์ของ IMF จะพบว่า ต้นทุนของการดำเนินมาตรการฯ มีมูลค่าเท่ากับ 1.13 ล้านล้านบาท

นั่นคือตัวเลขในฝั่งของต้นทุนการควบคุมการระบาด

ในฝั่งของผลได้จากการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่ากลับมีความยากในการประเมินมากกว่าทางฝั่งต้นทุน ทั้งนี้เพราะประโยชน์ที่ได้จากการใช้มาตรการปิดเมืองหรือสร้างระยะห่างทางสังคม คือชีวิตที่ปลอดจากเชื้อไวรัส และรอดพ้นจากการเสียชีวิต ซึ่งหากจะวัดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว จำเป็นต้องตีค่าของชีวิตให้เป็นตัวเงิน (เพื่อให้เปรียบเทียบได้กับมูลค่าของต้นทุนนั่นเอง)

นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้อาจหาญจะไปวัดมูลค่าของชีวิตคน เพราะเข้าใจดีถึงข้อความจริงที่ว่า ชีวิตคนนั้นไม่อาจตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้

อย่างไรก็ตาม วิชาเศรษฐศาสตร์สามารถวัดมูลค่าที่เป็นตัวเงินของความเสี่ยงของการเสียชีวิต และนำมาใช้คำนวณมูลค่าของผลได้จากมาตรการหยุดยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสได้

กล่าวคือ เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า การใช้มาตรการปิดเมืองในช่วงเวลาหนึ่งๆ (เช่นระยะเวลาสองอาทิตย์) ทำให้ความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสและความเสี่ยงของการเสียชีวิตลดลงไปเท่าไหร่ และตีมูลค่าของความเสี่ยงที่ลดลงนั้นเป็นมูลค่าของประโยชน์ที่เกิดจากมาตรการปิดเมือง

แนวคิดของการวัดมูลค่าความเสี่ยงที่ลดลงมีที่มาจากเศรษฐศาสตร์แรงงาน โดยนักเศรษฐศาสตร์แรงงานพบว่า งานที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตสูง จะชดเชยความเสี่ยงด้วยการจ่ายค่าตอบแทนแรงงานที่สูงตามไปด้วย ดังนั้นจึงนำข้อมูลจากตลาดแรงงานมาคำนวณเป็นจำนวนเงินที่ต้องชดเชยหากจะต้องทำงานที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานประเภท A มีโอกาสที่จะเสียชีวิต (หรือความน่าจะเป็นที่จะเสียชีวิต) มากกว่างานประเภท B เท่ากับ 1/1000 และ ค่าแรงต่อเดือนของแรงงานที่ทำงานประเภท A สูงกว่าคนที่ทำงานประเภท B อยู่ 10,000 บาทต่อเดือน ข้อมูลเช่นนี้บ่งชี้ว่าเงิน 10,000 บาทเพียงพอที่จะชดเชยความเสี่ยงของการเสียชีวิตที่มากขึ้น 1/1000 ต่อเดือน

ดังนั้นถ้าหากนำมาประยุกต์ใช้กับการประเมินผลได้จากมาตรการปิดเมืองนี้ โดยมองว่าการปิดเมืองทำให้ประชากร X คนมีความเสี่ยงจะเสียชีวิตลดลง 1/1000 มูลค่าของผลได้ของมาตรการนี้จึงเท่ากับ 10,000 บาท คูณกับจำนวน X คน นั่นเอง

หลักการคำนวณนี้เรียกว่าการหามูลค่าของชีวิตเชิงสถิติ หรือ Value of Statistical Life (VSL) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้กันแพร่หลายในหลายสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ อาทิ เศรษฐศาสตร์แรงงาน และ เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

งานวิจัยของ Kip Viscusi กับ Clayton Masterman ในปี 2017 ประเมินว่า VSL ของคนไทยมีค่าประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 32.5 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน ปัจจุบัน) ดังนั้นถ้าหากมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมที่รัฐบาลใช้สามารถช่วยคนไทยไม่น้อยกว่า 34,769 คนให้ปลอดภัยจากไวรัสโคโรน่าได้ มูลค่าของผลได้จากมาตรการดังกล่าวจะมีมากกว่า 1.13 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจที่คำนวณไว้ข้างต้น

งานวิจัยในต่างประเทศที่ทำการประเมินผลของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ให้ผลในทิศทางที่สนับสนุนมาตรการดังกล่าว เช่น งานของ Micheal Greenstone กับ Vishan Nigam เรื่อง Does Social Distancing Matter? ที่นำหลักการคำนวณ VSL มาใช้ประเมินผลได้ของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในประเทศสหรัฐฯ และพบว่า การใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรน่า เป็นระยะเวลาสามเดือน จะช่วยชีวิตคนอเมริกันได้ถึง 1.7 ล้านคน ซึ่งเมื่อคิดมูลค่าของชีวิตเชิงสถิติที่ช่วยไว้ได้จะมีมูลค่าถึง 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 60,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อครัวเรือน

ผลงานวิจัยจำนวนมากบ่งชี้ว่านักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นพ้องกับการนำมาตรการที่เข้มข้นมาใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะผลได้ของมาตรการมีมูลค่าสูงกว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อมาตรการที่เข้มข้นถูกใช้มาระยะหนึ่งแล้ว จะพบว่าประโยชน์ส่วนเพิ่มของการยืดเวลาการเว้นระยะห่างทางสังคมออกไป จะน้อยลงกว่าผลที่ปรากฎในระยะแรกๆ จนในที่สุด ผลได้ที่ก่อเกิดจะต่ำกว่าต้นทุนของการยืดระยะเวลาการใช้มาตรการต่อไป

พูดง่ายๆ ว่า VSL จากความเสี่ยงที่ลดลงไม่คุ้มกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการเข้มงวดต่อไปอีกระยะหนึ่ง

เมื่อถึงเวลานั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาอย่างจริงจังถึงการผ่อนให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าตามปกติ ควบคู่ไปกับ การเลือกใช้มาตรการควบคุมการระบาดในลักษณะอื่นๆ ทดแทนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

 


อ้างอิง

Greenstone, Michael and Nigam, Vishan, Does Social Distancing Matter? (March 30, 2020). University of Chicago, Becker Friedman Institute for Economics Working Paper No. 2020-26. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=3561244 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.3561244

Viscusi, W. Kip and Masterman, Clayton, Income Elasticity and the Global Value of a Statistical Life (May 10, 2017). Vanderbilt Law Research Paper No. 17-29. Available at  : here

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018