fbpx
อุษาคเนย์ในฐานะพลเมืองโลก

อุษาคเนย์ในฐานะพลเมืองโลก

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

 

เมื่อถูกชวนเชิญให้มาเขียนงานกับ 101 เรื่องที่ผมอยากเขียนถึงที่สุดเรื่องหนึ่งคือความเป็น “พลเมืองโลก” (cosmopolitanism) ของสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เหตุเพราะนอกจากไม่ค่อยมีใครในบ้านเรานำแนวคิดพลเมืองโลกมาใช้ในการศึกษาสังคมแล้ว แนวคิดนี้ยังช่วยให้เรามองพ้นไปจากขอบเขตแคบๆ พ้นไปจากพรมแดนตายตัวของตัวเรา สังคมเรา ประเทศเรา และภูมิภาคเรา ข้ามไปสู่สังคมที่ปกติแล้วเราติดต่อสัมพันธ์ด้วยมายาวนาน แต่กลับไม่ค่อยยอมรับมัน

พร้อมๆ กันนั้น ผมคิดว่าแนวคิดพลเมืองโลกเป็นแนวคิดเชิงคุณค่าที่สำคัญในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากมันเตือนให้เราเห็นตนเองและยอมรับคนอื่นไปพร้อมๆ กัน แนวคิดพลเมืองโลกจึงเป็นทั้งคุณค่าทางเศรษฐกิจ การเมือง คุณธรรม และญาณวิทยาหรือกรอบการคิดในการเข้าใจสังคม

ความคิดที่ว่าสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสังคมพลเมืองโลก เป็นความคิดที่ได้รับการนำเสนอมาตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานของโอลิเวอร์ โวลเตอร์ส (Oliver Wolters) และแอนโทนี รีด (Anthony Reid) ที่กล่าวถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคการค้าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15

ลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีความเป็นเอกภาพชัดเจน เป็นชุมทาง เป็นแหล่งพบปะกันของคนจากหลายถิ่น และที่สำคัญคือมีร่องรอยของคนจากหลายถิ่นฐานที่มาพำนัก ในบรรดาสังคมที่มีลักษณะความเป็นพลเมืองโลกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมอยากเอ่ยถึงเวียดนามเป็นลำดับแรกๆ ดังที่จะเล่าต่อไป

ความเป็นพลเมืองโลกมีลักษณะสำคัญคือการเปิดตนเองสู่โลกกว้าง การเป็นส่วนหนึ่งของโลกกว้าง การยอมรับความเป็นอื่นเข้ามาสัมพันธ์กับตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องละเลิกความเป็นตัวของตัวเอง พลเมืองอันหลากหลายเหล่านี้ล้วนอาศัยและอยู่ร่วมพื้นที่เดียวกัน

จากนิยามดังกล่าว บางคนอาจจะคิดว่าพลเมืองโลกเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่ เพราะฟังดูข้ามพ้นความเป็นสารัตถะเฉพาะถิ่นไปไกล หรืออาจคิดว่าความคิดนี้เกิดมาในสมัยโลกาภิวัตน์ ที่โลกใกล้ชิดกันจนเกือบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่า “พลเมืองโลก” เป็นคำเก่าแก่ มีความเป็นมาสืบย้อนกลับไปไกลได้ถึงยุคกรีกโบราณ แล้วไล่เรียงมาได้ถึงยุคสมัยใหม่ยุคแรก นับตั้งแต่ยุค “แสงสว่างแห่งปัญญา” (Enlightenment) ถึงสมัยของนักปรัชญาเยอรมันอย่างอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างอดัม สมิธ (Adam Smith) ต่างก็มีส่วนสนับสนุนแนวคิดนี้ในยุคสมัยใหม่ทั้งสิ้น แนวความคิดนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่งก็ในยุคหลังสมัยใหม่ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เปิดกว้างต่อความแตกต่างนั่นเอง

นี่แสดงว่าความเป็นพลเมืองโลกน่าจะมีอยู่ในสำนึกมนุษย์หลายยุคหลายสมัย เพียงแต่บางช่วงเวลาหรือบางสังคมละเลยหรือไม่ตระหนักถึงมันนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เราปิดตัวเอง ขังตัวเองอยู่กับความภูมิใจในโลกแคบๆ ที่บางคนเรียกว่า “รัฐ-ชาติ” (nation-state) ก็เป็นได้

การคิดถึงพลเมืองโลกยุคสมัยใหม่นั้น ในมิติทางการเมือง หมายถึง การเป็นส่วนหนึ่งของโลกไปพร้อมๆ กับการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐประชาชาติหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องรับหลักการของประชาคมโลกได้พร้อมๆ กับการมีกฎหมายของแต่ละประเทศเองด้วย ไม่ใช่ยืนยันอยู่แต่ว่ากติกาของเราดีที่สุด

ในทางเศรษฐกิจ หมายถึง การค้าเสรีหรือไม่ก็เศรษฐกิจทุนนิยมโลก ที่ทะลุทะลวงพื้นที่และสังคมต่างๆ ไปทั่วโลก

ในทางศีลธรรม การเป็นพลเมืองโลก หมายถึง การเปิดรับความแตกต่างของคนจากต่างถิ่น ยอมรับความเป็นอื่น ยอมรับคุณค่าที่แตกต่างจากเรา

ส่วนในทางสังคม หมายถึง สังคมพหุลักษณ์ หรือสังคมที่ประกอบด้วยประชากรที่ไม่จำเป็นต้องมีสังกัดของชุมชนเดียวกันเสมอ พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีอะไรร่วมกันเหมือนๆ กันทุกๆ เรื่อง มีบางเรื่องที่ทำให้พวกเขามาอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน แล้วก็ติดต่อแลกเปลี่ยนกัน มีบางเรื่องที่พวกเขาแตกต่างกัน จึงไม่ได้ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป

อรชุน อัพปาดูราย (Arjun Appadurai) นักมานุษยวิทยา ผู้เป็นคนแรกๆ ที่สร้างคำอธิบายทั่วไปว่าด้วยสังคมโลกาภิวัตน์ อธิบายคำนี้ว่า

“พลเมืองโลก หมายถึง คนพลัดถิ่น นักเดินทาง ผู้แสวงหาสิ่งใหม่ คนที่ไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์ที่ติดตัวมา กับชีวประวัติของตนเอง และกับคุณค่าทางวัฒนธรรมตนเอง ในโลกปัจจุบัน ความเป็นพลเมืองโลกมักหมายถึงความคิดที่ก้าวพ้นรัฐประชาชาติ มีจริตของการเป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นการเมืองและระบบคุณค่าที่ยกย่องพหุวัฒนธรรม เปิดรับต่อการทดลองทางวัฒนธรรมอย่างใหม่ๆ เปิดรับต่ออัตลักษณ์ลูกผสม และยอมรับการถ่ายเทและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม”

จากความหมายกว้างๆ ดังกล่าว แม้ว่าความเข้าใจโดยทั่วไปต่อนัยของคำว่าพลเมืองโลกมักจะจำกัดอยู่ที่สังคมในเมือง แต่ในความหมายของมิติทางสังคม ผมคิดว่าพลเมืองโลกไม่ได้จำกัดเฉพาะในสังคมเมือง แต่เป็นสังคมแบบใดก็ตามที่มีลักษณะเช่นนั้น แน่นอนว่าสังคมเมืองอาจจะมีโอกาสมากสักหน่อย เนื่องจากมีผู้คนเดินทางจากหลายถิ่นมาพำนักอยู่ด้วยกันมากกว่า แต่พื้นที่ห่างไกลบางลักษณะ เช่น ตลาดนัดบนเขาสูงบางแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็อาจเป็นชุมทางของผู้คนจากหลากถิ่นได้เช่นกัน

แล้วทำไมผมถึงคิดว่าเวียดนามเป็นสังคมพลเมืองโลก? ทำไมต้องเริ่มที่เวียดนาม?

ที่ว่าเวียดนามเป็นสังคมพลเมืองโลก ก็เพราะเวียดนามเป็นแหล่งพบปะกันของสังคมที่มีที่มาอันหลากหลายนับตั้งแต่ยุคโบราณ  ที่อยากเริ่มที่เวียดนาม ก็เพราะเวียดนามมีหลายอย่างที่ทั้งต่างจากไทยและมีลักษณะร่วมกับไทยในฐานะสังคมพลเมืองโลก  ที่เลือกเล่าจากเวียดนาม ก็เพราะการเล่าถึงที่อื่นจะช่วยให้เราส่องสะท้อนกลับมายังตนเองพร้อมๆ กับเข้าใจผู้อื่นตามหลักการของแนวคิดพลเมืองโลกไปด้วยในตัว ในแง่นี้ สำหรับผมเองแล้ว แนวคิดพลเมืองโลกจึงมีอีกฐานะหนึ่งที่คนไม่ค่อยกล่าวถึงกันนักคือ พลเมืองโลกเป็น “ญาณวิทยา” (epistemology) ของการเข้าใจโลกและตัวเรา

สำหรับความเป็นพลเมืองโลกของเวียดนาม ผมได้ข้อสังเกตนี้มาจากอะไรหลายอย่าง เช่น เวียดนามเป็นชุมทางของคนพูดหลายภาษา หากไม่นับว่ามีภาษาใหญ่ๆ ถึง 5 ตระกูลภาษาที่พูดกันอยู่ในเวียดนามตั้งแต่เหนือจรดใต้ แต่กล่าวเฉพาะภาษาเวียดนามของชาวพื้นราบเองแล้ว ก็ยังเป็นส่วนผสมของลักษณะเฉพาะของทั้ง 1. ภาษามอญ-แขมร์ ซึ่งเป็นแขนงใหญ่ของภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกที่มักพบทางใต้ของภูมิภาค 2. ภาษาไต-กะได ซึ่งเป็นภาษาที่พบมากตั้งแต่จีนตอนใต้มาจนถึงประเทศไทย และ 3. ภาษาจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาษาตระกูลจีน-ทิเบต

ภาษาเวียดนามจึงประกอบไปด้วยคำมอญ-แขมร์ (เช่นคำว่า จวด ในภาษาเวียดนามที่แปลว่า หนู เป็นคำเดียวกับ ชูต ภาษาเขมร) คำไต-กะได (เช่นคำว่า หมา ในภาษาเวียดนามที่ตรงกับคำว่า หมา ในภาษาไทย) และคำยืมจากภาษาจีนอีกมากมาย ไม่เว้นแม้แต่คำเรียกถิ่นที่อยู่ของคนเวียดนามบริเวณลุ่มน้ำแดงว่า “ตังเกี๋ย” ออกเสียงแบบเวียดนามเหนือว่า ดงกิงญ์ ที่แปลว่าเมืองตะวันออก (มีความหมายเดียวกับคำว่า “โตเกียว” ในภาษาญี่ปุ่น) นอกจากนั้น การมีวรรณยุกต์ในภาษาเวียดนาม ซึ่งทำให้ภาษาเวียดนามแปลกกว่าภาษาออสโตรเอเชียติกส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากการปะทะติดต่อกับภาษาจีน และอาจจะรวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับคนพูดภาษาไต-กะได ที่มีเสียงวรรณยุกต์เช่นกัน

เวียดนามเป็นถิ่นที่มีคนหลายกลุ่มชนอาศัยอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะนับในเชิงเผ่าพันธ์ุหรือในเชิงสังคมวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันนี้สะท้อนในตำนานกำเนิดสังคมในดินแดนลุ่มแม่น้ำแดงภาคเหนือของเวียดนาม เช่น ตำนานไข่ร้อยฟองของชาวเวียดนามที่เล่าว่า พ่อมังกรทะเลและแม่เทพีภูเขาคือผู้ให้กำเนิดประชากรในเวียดนาม เมื่อทั้งสองพบรักกันก็ให้กำเนิดไข่ร้อยฟอง ต่อมาทั้งสองอยู่ด้วยกันไม่ได้ จึงแยกทางกันโดยแบ่งลูกกันไปเลี้ยง ครึ่งหนึ่งไปอยู่กับพ่อที่ชายฝั่งเป็นชนพื้นราบเวียดนาม อีกครึ่งหนึ่งไปอยู่กับแม่บนที่สูง เป็นกลุ่มชนบนที่สูงของเวียดนาม

อีกตำนานหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องนี้คือตำนานน้ำเต้าปุง คนไตในเวียดนามเล่าว่า “แถน” เทพผู้สร้างสิ่งต่างๆ บนฟ้า ทิ้งน้ำเต้าขนาดใหญ่ลงมาบนพื้นโลก จากนั้นก็มีสิงสาราสัตว์และคนเผ่าต่างๆ เจาะรูออกมาจากน้ำเต้า คนเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน เป็นคนตระกูลต่างๆ กัน แต่ก็อาศัยอยู่ด้วยกันในที่ต่างๆ ในประเทศ การรับรู้ถึงการอยู่ร่วมกันของคนหลายกลุ่มจึงเป็นสำนึกร่วมของคนจำนวนมากในเวียดนาม

ตำนานทั้งสองสะท้อนความสำคัญของกลุ่มชนหลายกลุ่มที่อยู่ร่วมกันในเวียดนาม หากแบ่งเวียดนามออกเป็นที่สูงและพื้นราบแล้ว กล่าวได้ว่าชนพื้นราบ ซึ่งมีประชากรประมาณ 86% ของประเทศ อาศัยอยู่ในพื้นที่เพียง 50% ของประเทศ ส่วนชนบนที่สูงซึ่งมีประมาณ 14% ของประเทศ อาศัยบนพื้นที่อีก 50% ของประเทศ นี่ยังไม่นับว่าอันที่จริง ชนกลุ่มน้อยอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ชาวจีน ชาวจาม ชาวแขมร์ นั้น อาศัยอยู่ในที่ราบทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้อีกเช่นกัน

ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของวัฒนธรรมเวียดนามคือ การเป็นวัฒนธรรมที่ทั้งเปิดรับอิทธิพลจีนพร้อมๆ กับมีลักษณะร่วมกับสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นจากภูมิประเทศของเวียดนามเองที่เปิดต่อทะเลจีนใต้ ทำให้มีโอกาสถูกกองกำลังทางทะเลจากจีนรุกรานได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการรุกรานนั้นก็เกิดขึ้นบ่อยจริงๆ จนกระทั่งเวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนอยู่ยาวนานนับพันปีตั้งแต่ราว 100 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11

กระนั้นก็ตาม อิทธิพลของจีนในทางวัฒนธรรม ที่เรามักเข้าใจกันว่าเวียดนามเป็นเสมือนส่วนย่อยของเขตวัฒนธรรมจีนนั้น อาจจะเป็นความเข้าใจเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ในสังคมยุคที่มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองแล้ว กล่าวคือเมื่อก่อนคริสตกาลมาแล้ว ผู้คนในเวียดนามก็ยังคงความเป็นคนท้องถิ่นก่อนอิทธิพลจีนอยู่อย่างสูงมาก

ข้อนี้สังเกตดูได้ส่วนหนึ่งจากลวดลายประดับหน้ากลองมโหระทึกอายุกว่า 3,000 ปี ซึ่งเป็นกลองสำริดที่มักพบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พบชุกชุมมากในภาคเหนือของเวียดนาม

บนกลองเหล่านี้มักปรากฏรูปบ้านเรือนยกพื้นบนเสาสูง อย่างที่รู้กันว่าชาวเวียดนามพื้นราบหลังอิทธิพลจีนแล้วอาศัยในบ้านที่ปลูกบนดิน ซึ่งเป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนจากทางเหนือ แต่จากลายรูปเรือนยกพื้น แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมการตั้งบ้านเรือนในดินแดนนี้ก่อนหน้านั้นเป็นการอาศัยบนเรือนยกพื้น แบบเดียวกับคนในถิ่นทางใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าที่จะเป็นการอาศัยในเรือนที่ตั้งบนพื้นดิน นอกจากนั้น ยังมักพบรูปเครื่องดนตรีประเภทแคนในลวดลายบนกลองมโหระทึกเช่นกัน

วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นเวียดนามก่อนอิทธิพลจีน และมีลักษณะร่วมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าคือ การที่ผู้หญิงมีอิทธิพลต่อสังคมเวียดนามมากกว่าที่คนทั่วไปมักเข้าใจกันว่าเวียดนามอยู่ใต้อิทธิพลขงจื้อเช่นเดียวกับจีน จึงเป็นสังคมชายเป็นใหญ่เหมือนกัน

ในอดีต เวียดนามมีวีรสตรีคนสำคัญที่ถือว่าเป็นผู้พยายามปลดปล่อยเวียดนามจากจีนอย่างน้อย 3 คนด้วยกันคือ “ท่านหญิงเฉี่ยว” (ฺBà Triệu) นักรบสตรีผู้ต่อต้านทหารจีนเมื่อ 200 กว่าปีก่อนคริสตกาล และ “สองท่านหญิงจึง” (Hai Bà Trưng ฮายบ่าจึง) ผู้นำกำลังเข้าขับไล่ทหารจีนที่ปกครองเวียดนามในปี ค.ศ. 40 แต่อีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นจีนก็กลับมาปกครองอีกและปกครองต่อมายาวนานนับพันปี วีรกรรมของท่านหญิงทั้งสามจึงได้รับการถ่ายทอดและส่งต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะภาพพิมพ์พื้นบ้านที่แสดงภาพสองท่านหญิงจึงขี่ช้างขับไล่กองทหารจีน

ความสำคัญของผู้หญิงในวัฒนธรรมเวียดนามยังแสดงให้เห็นใน “ลัทธิบูชาเจ้าแม่” (Đạo Mẫu) ลัทธิบูชาเจ้าแม่มีองค์ประกอบปลีกย่อยมากมาย และเกี่ยวข้องกับการทรงเจ้าของชาวเวียดนามที่ได้รับการรื้อฟื้นมากขึ้นหลังประเทศเวียดนามผ่อนปรนเรื่องความเชื่อ

หากแต่หลักๆ แล้ว ตัวแทนของลัทธิบูชาเจ้าแม่ที่สำคัญคือเจ้าแม่ 3 องค์ ประกอบไปด้วยเจ้าแม่แห่งผืนฟ้า (Mẫu Thượng Thiên) เจ้าแม่แห่งขุนเขา (Mẫu Thượng Ngàn) และเจ้าแม่แห่งสายน้ำ (Mẫu Thoải) เจ้าแม่ทั้งสามมีอำนาจเหนือความเป็นไปของปรากฏการณ์และสรรพสิ่งสรรพชีวิตของดินแดนทั้งสาม ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมทุกส่วนของชีวิตมนุษย์และโลก แท่นบูชาที่มีรูปบูชาเจ้าแม่ทั้งสามถูกตั้งไว้ในศาลบูชาแทบทุกแห่งที่ผมเคยไปมาในเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นศาลบูชาพระพุทธรูป ศาลบูชาบุคคลในตำนานที่กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (เช่นบูรพกษัตริย์บางพระองค์) หรือศาลบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นที่อาจจะไม่มีหุ่นแสดงตัวตนชัดเจน

การให้ความสำคัญกับผู้หญิงอย่างสูงนี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในตำนาน ประวัติศาสตร์ หรือความเชื่อ แต่ยังมีปรากฏในวัฒนธรรมการสืบทอดอำนาจการปกครอง แม้ในราชสำนักเวียดนามเอง ก็เคยมีบันทึกทำนองตำหนิติเตียนของพระขงจื้อในราชสำนักเวียดนามว่า ในบางช่วงของการเปลี่ยนแปลงราชบัลลังก์ แทนที่กษัตริย์พระองค์ใหม่จะสมรสกับพระชายาคนใหม่ กษัตริย์พระองค์ใหม่ที่บางครั้งเป็นพี่น้องของกษัตริย์พระองค์เดิมกลับสมรสกับพระราชินีของกษัตริย์พระองค์เดิม

นี่แสดงว่าอำนาจของฝ่ายหญิงมีเหนือราชสำนักเสียจนฝ่ายชายต้องจำยอม และยังแสดงให้เห็นอีกว่าประเพณีลักษณะนี้อยู่นอกจารีตของขงจื้อเสียจนพระขงจื้อต้องวิจารณ์  ลัทธิขงจื้อจึงไม่ได้มีอิทธิพลเหนือราชสำนักเวียดนามอย่างเบ็ดเสร็จดังที่มักเข้าใจกัน

ความสำคัญของผู้หญิงแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้ความสำคัญกับอำนาจและบทบาทของผู้หญิง เข้ากับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่เข้ามาในประเทศเวียดนามพร้อมอิทธิพลของวัฒนธรรมและอำนาจการปกครองของจีน รวมถึงการผสมผสานอำนาจของเพศหญิงและเพศชาย

มีเรื่องราวและตัวอย่างอีกมากมายที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการเปิดตัวเองและการผสมผสานของสังคม ตลอดจนคุณค่าทางวัฒนธรรมและการเมืองของตนเองกับผู้อื่นในเวียดนาม ความผสมผสานของกลุ่มชาติพันธ์ุ วัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนความเป็นหญิงและชายในสังคมเวียดนาม แสดงถึงความเป็นสังคมพลเมืองโลกที่กล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแลกเปลี่ยนค้าขาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอยู่ร่วมกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรุกรานอำนาจกันแล้วรับอิทธิพลของสังคมวัฒนธรรมที่มีอำนาจเหนือกว่า

การยอมรับคุณค่าของสังคมโลกและสังคมท้องถิ่นเกิดขึ้นทั่วไปไม่เฉพาะในเวียดนาม หากกล่าวได้ว่าเป็นคุณค่าและแนวปฏิบัติพื้นฐานสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนการปิดกั้นแบ่งแยกเป็นประเทศอย่างเด่นชัดตั้งแต่ยุคอาณานิคมและยิ่งเข้มข้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าคุณค่าและแนวปฏิบัติดังกล่าวจะถูกละเลยไปมาก แต่ก็ยังคงสืบทอดมาอย่างไม่ตระหนักรู้ในปัจจุบัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save