fbpx
หมูป่าติดถ้ำ : อารมณ์ ชุมชนนานาชาติ และการเมืองโลก

หมูป่าติดถ้ำ : อารมณ์ ชุมชนนานาชาติ และการเมืองโลก

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

ข้าพเจ้าเฝ้าติดตามข่าว “หมูป่าติดถ้ำ” ด้วยความสนใจ ทางหนึ่งก็ลุ้นว่าเด็กๆ ทั้ง 12 คน และโค้ชจะออกจากถ้ำได้หรือไม่ท่ามกลางอุปสรรคนานับประการ อีกทางหนึ่งก็มหัศจรรย์ใจว่าเหตุใดเรื่องราวจากมุมเล็กๆ ในประเทศเล็กๆ อย่างเราถึงกลายเป็นข่าวระดับโลก เพื่อนชาวต่างชาติเขียนมาถามกันยกใหญ่ว่า “ทีมหมูป่า” เป็นอย่างไรบ้าง ต่างก็เอาใจช่วยให้นักฟุตบอลและโค้ชออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย

ปฏิบัติการช่วยเหลือคนออกจากถ้ำหลวงฯ จังหวัดเชียงรายเริ่มกลายเป็น “นานาชาติ” เมื่อทีมช่วยเหลือนาวิกโยธินและหน่วยงานราชการอื่นดูเหมือนขาดประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญในการช่วยคนติดถ้ำ นักประดาน้ำฝรั่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายพอได้ข่าว จึงแวะเยี่ยมพื้นที่และแนะนำว่าให้ขอความช่วยเหลือจากทีมนานาชาติ

จากนั้นความช่วยเหลือจากหลายประเทศก็หลั่งไหล่เข้ามา ไม่ว่าจะหน่วย Indo-Pacific Command จากสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประดาน้ำในถ้ำจาก British Cave Rescue Council ประเทศอังกฤษ หน่วยแพทย์และตำรวจประดาน้ำจากออสเตรเลีย รวมถึงทีมกู้ภัยจากจีน ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ลาว และพม่า นักประดาน้ำทั้งหมดมีจำนวนราว 90 คน จากไทย 40 คน และจากต่างประเทศ 50 คน[1] ผู้เกี่ยวข้องในปฏิบัติการดังกล่าวรวมกันราว 10,000 คน คิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 2,000 นาย และตัวแทนหน่วยงานรัฐบาลอีกกว่าร้อยหน่วยงาน[2]

แรงใจยังมาจากกลุ่มคนหลากหลายอาชีพทั่วโลก เช่นเจ้าพ่อเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เสนอให้ทางการไทยใช้เรือดำน้ำขนาดจิ๋วที่บริษัทตนประดิษฐ์ขึ้น[3] ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ก็ชื่นชมหน่วยทหารตนที่เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ขณะที่ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ก็ออกคำเชิญให้น้องๆ “หมูป่า” เข้าร่วมชมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่รัสเซีย (หากออกจากถ้ำและฟื้นร่างกายได้ทัน)[4]

สำนักข่าวทั่วโลกต่างจับจ้องปรากฏการณ์ “หมูป่าติดถ้ำ” CNN มีรายงานสดทั้งวัน บริเวณรอบถ้ำเต็มไปด้วยนักข่าวทั้งในและต่างประเทศ การ์ตูนการเมืองหนังสือพิมพ์ฝรั่งต่างวาดรูปให้กำลังใจเด็กทั้ง 12 และโค้ช ส่วนผู้คนในสื่อโซเชียลจากหลากประเทศต่างส่งข้อความให้กำลังใจเด็กๆ ล่าสุดทีมสร้างภาพยนต์ฮอลลีวูดเริ่มอยากทำหนัง “หมูป่าติดถ้ำ”[5]

ความเป็นนานาชาตินี้สานสร้างจากอารมณ์พื้นฐานบางประการที่เชื่อมร้อยผู้คนในโลกให้สนใจและเห็นใจ “ทีมหมูป่า”

 

เอาใจช่วยเด็กๆ

 

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กรณี “หมูป่าติดถ้ำ” ดึงดูดความสนใจนานาชาติ คือฐานะของเหยื่อที่เป็นเด็ก อีกทั้งยังเป็นนักฟุตบอลเยาวชน

ความเป็นเด็กสะท้อนความไร้เดียงสาและความอ่อนแอ ขณะเดียวกันสถานะนักฟุตบอลก็ชี้ว่าเด็กๆ เหล่านี้มีความฝัน

การที่ “หมูป่า” ทั้ง 12 และโค้ชยืนหยัดที่จะรอดชีวิตท่ามกลางอันตรายจากถ้ำอันมืดมิดและภัยธรรมชาติอันโหดร้าย เผยว่าทั้งหมดคือนักสู้

ความย้อนแย้งเช่นนี้ (ความไร้เดียงสา ทว่ามุ่งมั่น) ดูเหมือนเผยลักษณะสากลของความเป็นมนุษย์บางประการ ลักษณะเช่นนี้ข้ามพรมแดนวัฒนธรรม ผู้คนรู้สึกร่วมกับ “ทีมหมูป่า” ได้ไม่ยาก ทั้งยังเป็นความรู้สึกซึ่งชุ่มชื่นหัวใจ เราเอาใจช่วยอยากเห็นผู้อ่อนแอและไร้เดียงสาฝ่าฟันภยันตราย ได้รับการช่วยเหลือออกมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวได้ในที่สุด

 

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว : ชาติและชุมชนนานาชาติ

 

ทางการไทยและคนไทยจำนวนมากชี้ว่าความสำเร็จในการช่วยเหลือ “ทีมหมูป่า” สะท้อนความสามัคคีของคนในชาติ (national unity) หน่วยงานราชการ รวมถึงอาสาสมัครทำงานในหน้าที่ซึ่งตนได้รับมอบหมายหรือถนัด (เช่น มีอาสาสมัครจากร้านซักรีดรับซักเสื้อผ้าให้ทีมกู้ภัย) ฟันเฟืองเหล่านี้รวมกันเป็นองคาพยพที่ช่วยเหลือ “เด็กไทย” ให้รอดปลอดภัยได้

ทว่าข้อจำกัดของความรู้รักสามัคคีคือขอบรั้วแห่งรัฐ-ชาติ ซึ่งอธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดคนทั้งโลกถึงเอาใจช่วย “ทีมหมูป่า”

งานศึกษาว่าด้วยอารมณ์และชุมชนการเมืองแบบข้ามพรมแดน (cosmopolitan political community) ของเคท แนช (Kate Nash) ชี้ว่า การสร้างความเป็นพลเมืองข้ามพรมแดน (cosmopolitan citizenship) ได้สำเร็จ ต้องสร้างความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในชุมชนต่างวัฒนธรรมเข้าใจว่า “พวกเรา” เป็นคนกลุ่มคนเดียวกัน และมี “ความเป็นมนุษย์” ร่วมกัน  ความรู้สึกเช่นนี้มาจากความเมตตาอาทรต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ความทุกข์ของมนุษย์จึงจุดประกายให้โลกเชื่อมโยงกันเป็นชุมชนเดียว และผลักดันให้เกิดปฏิบัติการร่วมกัน (collective action) เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากนั้น[6]

ลักษณะเช่นนี้สะท้อนในข้อเขียนของนักปรัชญาผู้ทรงอิทธิพลอย่างอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ว่าความเดือดเนื้อร้อนใจของกลุ่มคนในมุมใดมุมหนึ่งของโลก ย่อมสะเทือนถึงผู้คนทั่วโลก[7]

การเชื่อมโยงของมนุษย์เช่นนี้ มีประสิทธิภาพมากขึ้นในยุคที่ข่าวสารรวดเร็วทันใจและข้ามพรมแดน รวมถึงการติดต่อในโลกโซเชียลยังช่วยเร่งกระบวนการ “โลกาภิวัตน์ทางอารมณ์”[8]

 

ความหวัง

 

เหตุการณ์ “หมูป่าติดถ้ำ” มิได้มีแต่ด้านลบ คือภยันตราย การเสี่ยงชีวิต และความทุกข์ร้อนของเด็กๆ และครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยความหวัง

ในโลกที่ดูเหมือนเต็มไปด้วยสงคราม ความขัดแย้ง การแก่งแย่งอำนาจ และความเกลียดชัง ความสำเร็จในการช่วยเหลือน้องๆ “หมูป่า” แย้งกับอารมณ์กระแสหลักในสื่อ ความหวังซึ่งกลายเป็นสินค้าหายาก เมื่อปรากฏขึ้น จึงต้องพยายามขยายผลเพื่อให้เห็นว่ามนุษย์ทำอะไรร่วมกันได้ ในการช่วยเหลือเด็กจากพื้นที่ชายขอบของโลก

ความสำเร็จของมวลมนุษยชาติในกรณีนี้เป็นไปได้ด้วยเงื่อนไขเฉพาะของวิกฤตถ้ำหลวง กล่าวคือกรณีนี้เป็นทั้งภัยธรรมชาติและเป็นผลจากการตัดสินใจของมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่ใช่ภัยธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่งควบคุมได้ยาก และความหวังจะช่วยเหลือมวลมนุษยชาติอาจริบหรี่ (ดังกรณีแผ่นดินไหวในเนปาลเมื่อสองสามปีก่อน หรือเหตุการณ์น้ำท่วมในญี่ปุ่นซึ่งเกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกับวิกฤตถ้ำหลวงฯ)

ความหวังเช่นนี้จึงเป็นความหวังแบบมีเงื่อนไข ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจึงต้องเก็บตวงอารมณ์ดีๆ เช่นนี้ไว้ให้ได้มากที่สุด

 

เรื่องนี้มีฮีโร่ ไม่มีผู้ร้าย

 

“ทีมหมูป่า” รอดพ้นภยันตรายได้ก็เพราะมีฮีโร่เป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ที่มีจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก แม้รัฐบาลจะเป็นแม่งานในปฏิบัติการถ้ำหลวง ทว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากคนสามัญข้ามชาติในภารกิจซึ่งรัฐบาลมิอาจทำได้เพียงลำพัง นอกจากนี้ จ่าเอก สมาน กุนัน ยังอุทิศชีวิตจากปฏิบัติการเสี่ยงอันตรายครั้งนี้

ความเสียสละของคนสามัญเป็นเรื่องน่าชื่นชม ความเป็นฮีโร่ของคนธรรมดาเป็นตัวเชื่อมโยงผู้คนร้อยพ่อพันแม่จากทั่วโลกไว้ด้วยกัน เรื่อง “หมูป่าติดถ้ำ” จึงแทบไม่มีผู้ร้ายให้เราได้ก่นด่า ทั้งยังมิใช่เรื่องการเมืองหรือความขัดแย้งแหลมคมซึ่งบังคับให้เราต้องเลือกข้าง

อารมณ์ที่เชื่อมโยงคนทั่วโลกให้สนใจข่าว “หมูป่าติดถ้ำ” มีแต่ด้านบวก ความโหดร้ายในกรณีนี้มิได้มาจากน้ำมือมนุษย์กลุ่มชาติพันธุ์หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่มาจากธรรมชาติ ซึ่งต้านทานได้ยากและยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์มาก

 

ชีวิต (ไม่) เท่ากัน?

 

ขณะนี้เกิดคำถามว่าเหตุใดคนจึงสนใจเด็กๆ “หมูป่า” มากกว่าเด็กที่อื่นซึ่งเผชิญภัยสงคราม ความอดอยาก หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐและผู้มีอำนาจไม่เว้นวัน เหตุผลสำคัญคืออารมณ์ซึ่งหล่อเลี้ยงเรื่อง “หมูป่าติดถ้ำ” มีเงื่อนไขเฉพาะดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

“ความบริสุทธิ์” ปราศจากการเมืองของกรณีนี้ ช่วยลดข้อโต้แย้งซึ่งหลายคนอาจมีในใจว่า เราไม่ควรช่วยเหลือคนกลุ่มนั้นหรือกลุ่มนี้ด้วยเหตุผลใด ที่สำคัญคือ ในขณะที่ความเป็นน้ำหนี่งใจเดียวและความหวังเดียว ช่วยส่องแสงแก่ชีวิตคนทั้ง 13 ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงของโลก แต่มันกลับบดบังความเห็นอกเห็นใจต่อคนกลุ่มอื่น ซึ่งเราอาจมิได้สนใจเรื่องราวของเขา เห็นว่าชีวิตเขาไม่สัมพันธ์อะไรกับเรา หรือปัญหาที่พวกเขาเผชิญยากเกินกว่าจะเยียวยาแก้ไข ฉะนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม

 

อ้างอิง

[1] https://www.bbc.com/news/world-asia-44757804

[2] https://www.nytimes.com/2018/07/12/world/asia/thailand-cave-rescue-seals.html

[3] https://edition.cnn.com/2018/07/10/asia/thai-cave-rescue-international-intl/index.html

[4] https://www.express.co.uk/news/world/986781/Thai-cave-rescue-FIFA-World-Cup-final-invitation

[5] http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30349902

[6] Kate Nash, “Cosmopolitan Political Community: Why does it Feel so Right?” Constellations 10(4) (2003): 193-212.

[7] Immanuel Kant, Perpetual Peace: A Philosophical Sketch, trans. Ted Humphrey (Cambridge: Hackett Publishing, 2003 [1795]).

[8] Birgitta Höijer, “The Discourse of Global Compassion: The Audience and Media Reporting  of Human Suffering,” Media Culture and Society 26(4) (2004): 513-531.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save