fbpx
ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร: เตียงผู้ป่วย แป๊ะเจี๊ยะ และตั๋วช้าง

ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร: เตียงผู้ป่วย แป๊ะเจี๊ยะ และตั๋วช้าง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่กำลังกลายเป็นวิกฤตของระบบสาธารณสุขไทย เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศทะลุหลักพันคนต่อวันมาตั้งแต่ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์และมีทีท่าว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรด้านการสาธารณสุขที่มีอยู่เริ่มเข้าใกล้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล และนำไปสู่ข่าวที่ปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ ทั้งเรื่องการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ยังไม่มีเตียงรองรับ และดราม่ากรณีการย้ายโรงพยาบาลของนักแสดงตลกชื่อดัง

ย้อนกลับไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ส.ส. รายหนึ่งจากพรรคฝ่ายค้านเปิดประเด็นเรื่อง ‘ตั๋วช้าง’ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงทั้งในและนอกสภาครั้งนี้ทำให้ #ตั๋วช้าง กลายเป็นเทรนด์ร้อนแรงในโลกโซเชียลมีเดียในชั่วข้ามคืน

แม้ว่ากรณี ‘เตียงผู้ป่วย’ กับ ‘ตั๋วช้าง’ ข้างต้นอาจดูเหมือนเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ แต่แท้ที่จริงแล้ว ทั้งสองเหตุการณ์นั้นมีจุดร่วมเดียวกัน และเป็นภาพสะท้อนสังคมไทยไม่แตกต่างกัน

ว่าด้วยเส้นสาย

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในระบบสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลได้ทั้งทางบวกและทางลบ ในทางหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลช่วยลดต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economics: NIEs) เรียกต้นทุนเหล่านี้รวมๆ ว่าต้นทุนทางธุรกรรม (transaction cost) ทั้งนี้ ต้นทุนธุรกรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ได้แก่ ต้นทุนในการหาข้อมูลข่าวสาร (information cost) ต้นทุนในการเจรจาต่อรอง (negotiation cost) และต้นทุนในการบังคับใช้ (enforcement cost)

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลช่วยลดต้นทุนธุรกรรมเหล่านี้ลงได้ ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้าน เราย่อมต้องการผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ ฝีมือดี คิดค่าแรงอย่างเหมาะสม ดังนั้น นอกเหนือจากราคาค่าก่อสร้างแล้ว เรายังมีต้นทุนในการหาผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่เราต้องการ มีต้นทุนในการเจรจาเรื่องค่ารับเหมา และมีต้นทุนในการควบคุมการทำงานของผู้รับเหมาเพื่อไม่ให้ทิ้งงานกลางคัน ขณะที่ผู้รับเหมาที่ได้รับการแนะนำจากญาติสนิทมิตรสหายอาจสร้างต้นทุนเหล่านี้น้อยกว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการ ‘รู้จักกัน’ นี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลายเรื่อง ตั้งแต่การเลือกร้านอาหารสำหรับมื้อค่ำจนกระทั่งการเลือกคู่ครอง

อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็อาจทำให้การตัดสินใจเลือกมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลเสียอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะ เช่น หากเปลี่ยนจากการซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้านเป็นโครงการก่อสร้างทางหลวง การเลือกใช้บริการของผู้รับเหมาที่มี ‘เส้นสาย’ และได้รับการแนะนำมาอาจทำให้ถนนถูกสร้างขึ้นอย่างด้อยคุณภาพ หรือใช้งบประมาณสูงเกินควร เนื่องจากผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) อันเกิดจากความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ (nepotism) หรือพวกพ้อง (cronyism) ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลทางลบดังกล่าว กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างจึงต้องสร้างความโปร่งใส และจำกัดการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจ

ว่าด้วยเตียงผู้ป่วย

นอกจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐแล้ว การใช้เส้นสายยังสร้างผลทางลบในเรื่องต่างๆ อีกไม่น้อย โดยเฉพาะการบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดของสาธารณะ ตั้งแต่งบประมาณระดับชาติจนถึงเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา

อันที่จริง ความจำกัดของทรัพยากรด้านสาธารณสุขถูกสะท้อนออกมาให้เห็นอยู่เนืองๆ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว เช่น การต่อแถวรอรับบัตรคิวที่โรงพยาบาลของรัฐตั้งแต่เช้ามืด หรือการรอคิวผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางเป็นเดือนๆ หรือเป็นปี การใช้เส้นสายจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยบางรายได้ ‘ลัดคิว’ เพื่อรับบริการทางการแพทย์ที่เร็วขึ้น ตรงกันข้ามกับผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่อาจถูกยืดระยะเวลาการรอคอยออกไป เมื่อโรคระบาดโควิด-19 แพร่กระจายไปในวงกว้าง ความจำกัดดังกล่าวก็กลายเป็นความขาดแคลน การใช้เส้นสายจึงยิ่งสร้างผลเสียแก่สังคมเป็นทวีตรีคูณ

เนื่องจากความรุนแรงของโรคระบาดระลอกนี้ทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว การได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วจึงมีความสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เราเห็นข่าวการเสียชีวิตของอดีตเกมเมอร์และอาม่าที่ได้เตียงผู้ป่วยช้าหรือไม่ได้เลยจนกระทั่งเสียชีวิต เราก็เห็นอดีตนักจัดรายการวิทยุโพสต์รูปลงอินสตาแกรมเพื่อขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ “ช่วยเป็นธุระทุกทาง” ให้นักแสดงตลกชื่อดังได้ย้ายโรงพยาบาล เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้เส้นสาย แม้ว่าภายหลังรัฐมนตรีคนดังกล่าวจะออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เพราะตนให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกคนที่ติดต่อมา

ว่าด้วยแป๊ะเจี๊ยะ

ระบบการศึกษาเผชิญกับการใช้เส้นสายไม่ต่างไปจากระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะจากความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพของสถานศึกษาซึ่งนำไปสู่การแย่งชิงโควตาที่นั่งในโรงเรียนรัฐชื่อดัง ในสมัยก่อน เรามักได้ยินเรื่อง ‘เด็กฝาก’ ที่ผู้ปกครองของนักเรียนใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนรับเด็กเข้าเรียนผ่านช่องทางพิเศษ ซึ่งไม่ใช่การรับเข้าด้วยวิธีการปกติเช่นการสอบเข้า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอาจเป็นได้ทั้งความสัมพันธ์ทางตรงระหว่างผู้ปกครองกับผู้บริหารสถานศึกษา หรือเป็นความสัมพันธ์โดยอ้อมผ่านบุคคลที่สาม ซึ่งมักเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมหรือผู้มีอำนาจในระบบราชการ

การใช้เส้นสายเพื่อฝากเด็กเข้าเรียนนี้ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นการจ่ายเงิน (หรือสิ่งของ) เพื่อให้ได้สิทธิในการเข้าเรียนในสถานศึกษา หรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ ในบางกรณี เงินที่ผู้ปกครองจ่ายนี้อาจถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานต่างๆ ของโรงเรียน แต่ในอีกหลายกรณี แป๊ะเจี๊ยะไม่ต่างอะไรกับสินบนที่พุ่งตรงเข้าสู่กระเป๋าสตางค์ของผู้มีอำนาจ

รายงานวิจัยฉบับหนึ่งพบว่า โรงเรียนรัฐเป็นหน่วยงานที่มีการเรียกรับเงินสูงสุดเป็นอันดับสอง รองจากสำนักงานที่ดินและสถานีตำรวจ การคอร์รัปชันเช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะความจำกัดของที่นั่งในโรงเรียนสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้บริหารโรงเรียน เพราะหากผู้ปกครองใช้เส้นสายก็ได้คอนเนกชัน หรือหากจ่ายแป๊ะเจี๊ยะก็ได้เม็ดเงิน เมื่อพิจารณาในแง่นี้ เราจึงเห็นว่า การใช้เส้นสายกับการจ่ายสินบนเป็นสิ่งที่อาจใช้ทดแทนกันได้ และอาจนับเป็นการคอร์รัปชันไม่ต่างกัน

ว่าด้วยตั๋วช้าง

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับตำแหน่งหน้าที่ในวงราชการมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกกันไม่ออก ผู้บังคับบัญชามักมีอำนาจในการให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งรวมถึงการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง และเช่นเดียวกันกับแป๊ะเจี๊ยะในระบบการศึกษา หากไม่มีเส้นสาย เงินก็เป็นสิ่งจำเป็น เราจึงได้ยินเรื่องการซื้อขายตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะตำแหน่งที่เอื้อต่อการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ

ตั๋วช้างเป็นตัวอย่างสำคัญในกรณีนี้ ตามการอภิปรายของ ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านนั้น ‘ตั๋ว’ หมายถึงการใช้เส้นสายเพื่อแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับสูง ซึ่งอาจกระทำได้หลายวิธีรวมถึงการยกเว้นหลักเกณฑ์บางอย่างเพื่อให้ตำรวจบางนายได้เลื่อนขั้นเร็วกว่ากำหนด หรือได้ย้ายสังกัดตามที่ต้องการ ตั๋วที่ว่านี้มีหลายประเภท โดย ส.ส. คนดังกล่าวระบุว่า “ตั๋วที่ดีที่สุดและไม่เคยได้รับการปฏิเสธไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งอะไรมีชื่อเรียกว่าตั๋วช้าง ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการตำรวจเท่านั้น”

ตั๋วประเภทต่างๆ นั้นมีราคาที่ต้องจ่ายซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหลักล้านบาทเป็นหลายสิบล้านบาทตามตำแหน่งที่สูงขึ้น ตั๋วจึงอาจถือเป็นขั้นกว่าของแป๊ะเจี๊ยะ เพราะนอกจากจะใช้เงินแล้วยังต้องใช้เส้นสายประกอบด้วย ระบบตั๋วจึงอาจเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาในวงการตำรวจ เพราะเมื่อต้องใช้เงินเพื่อเลื่อนขั้นจึงจูงใจให้เกิดการคอร์รัปชัน และเมื่อจำเป็นต้องอาศัยเส้นสายเพื่อเลื่อนตำแหน่งจึงสืบทอดระบบอุปถัมภ์

ว่าด้วยสังคมเศรษฐกิจไทย

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอาจมีประโยชน์ในระดับปัจเจก แต่ในภาพที่กว้างขึ้นนั้น การใช้เส้นสายกลับเต็มไปด้วยผลเสียต่อสังคม ตั้งแต่การเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานอย่างการสาธารณสุขและการศึกษา จนกระทั่งการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการระดับสูง หากเตียงผู้ป่วย แป๊ะเจี๊ยะ และตั๋วช้างจะสะท้อนอะไรให้เราเห็น ก็คงเป็นอัปลักษณะของสังคมเศรษฐกิจไทยที่หากไม่มีเส้นสายก็ต้องมีเงิน แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ต้องมีทั้งสองอย่างประกอบกัน ซึ่งมักจบลงที่การคอร์รัปชันอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ผลทางลบของการใช้เส้นสายมิได้หยุดแค่ความเสียหายจากการคอร์รัปชัน หากแต่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว นักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่เห็นว่า เนื่องจากสถาบันเป็นตัวกำหนดโครงสร้างแรงจูงใจในสังคมเศรษฐกิจ ดังนั้น ในสังคมที่ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเหนือสิ่งอื่น ผู้คนจึงเรียนรู้ที่จะแสวงหาเส้นสายเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า แทนที่จะพัฒนาความชำนาญเฉพาะอย่าง (specialisation) ของตน เมื่อไม่มีความชำนาญเฉพาะอย่าง กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพ สังคมนั้นๆ ย่อมพัฒนาเศรษฐกิจได้ช้ากว่าสังคมอื่นๆ

นอกจากนี้ การดำรงอยู่ของการใช้เส้นสายยังทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองกระจุกอยู่ในมือของกลุ่มคนในวงแคบ ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ เพื่อน พี่ น้อง ร่วมสถาบันการศึกษา เพื่อนพ้องที่เคยร่วมงานกัน เครือข่ายที่สร้างขึ้นผ่านหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง หรือกิจกรรมทางสังคมที่มักใช้คำว่าการกุศลบังหน้า เส้นสายจึงทำให้ระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระเบียบการเมืองแบบเปิด (open access order) เกิดขึ้นได้ยาก เพราะเส้นสายช่วยหนุนเสริมคุณลักษณะของระเบียบการเมืองแบบจำกัด (limited access order) ไม่ว่าจะเป็นการให้อภิสิทธิ์แก่บางคนหรือบางกลุ่ม การจัดชนชั้นทางสังคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม รวมไปถึงการสร้างความรับรู้ว่าคนเกิดมาไม่เท่ากัน

การเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นและหยั่งรากลึกลงได้ต้องออกแบบกฎกติกาเพื่อกำจัด หรืออย่างน้อยก็ต้องจำกัดการใช้เส้นสาย เพราะระเบียบการเมืองแบบเปิดเช่นว่านี้วางอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่อิงอยู่กับตัวบุคคล ตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐ และปฏิบัติต่อคนทุกคนอย่างเสมอภาคกัน ซึ่งเป็นทุกอย่างที่ตรงข้ามกันกับการใช้เส้นสาย

บทส่งท้าย

“มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่” เป็นคำกล่าวที่เราคงเคยได้ยินมานาน นัยยะสำคัญของวลีนี้คือความเป็นพวกเดียวกัน หากไม่ได้เป็นพวกเดียวกันก็ต้องร่ำรวยจึงจะถูกนับเป็นพวกเดียวกัน ส่วนคนที่ไม่มีทั้งเส้นสายและเงินทองก็จำต้องเป็นคนนอกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในทางสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมืองก็ตาม

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจึงเดินบนเส้นทางแห่งการพัฒนาไปได้ไม่ไกลนัก เพราะในสังคมเศรษฐกิจไทยนั้น ค่าของคนมิได้อยู่ที่ผลของงาน หากแต่อยู่ที่ว่าคนๆ นั้นเป็นคนของใคร


อ่านเพิ่มเติม

Furubotn, E., & Richter, R. (2005). Institutions and Economic Theory: The Contribution of the New Institutional Economics. Ann Arbor: University of Michigan Press.

North, D., Wallis, J., & Weingast, B. (2009). Violence and Social Orders: A Conceptual Framework for Interpreting Recorded Human History. Cambridge: Cambridge University Press.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save