fbpx

ล้างผลาญทุจริต: การเมืองของชนชั้นนำในเวียดนาม

ที่มาภาพปก: Báo Người Lao Động

ข่าวการจับกุมนายทหารระดับสูงและนักธุรกิจใหญ่ในเวียดนามในข้อหาอันเกี่ยวเนื่องด้วยการฉ้อโกงและทุจริตช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ‘เหงียน ฝู จ่อง’ (Nguyen Phu Trong) ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายล้างผลาญการทุจริตในแวดวงชนชั้นสูงของเวียดนามตามแผน ‘dot lo’ ในภาษาเวียดนาม หรือ ‘blazing furnace’ ในภาษาอังกฤษที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2016 ต่อไป เพื่อเรียกศรัทธาให้ตัวเขาเองซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศมาตั้งแต่ปี 2011 และที่สำคัญทำให้ชาวเวียดนามทั้งมวลเห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์ที่บริหารประเทศแต่เพียงพรรคเดียวมากว่า 7 ทศวรรษยังคงเอาจริงเอาจังกับการขจัดความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมที่กัดกร่อนความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคมาโดยตลอด

ในวันที่ศรัทธาต่อตำนานการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาติจากการเป็นอาณานิคมในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 และอุดมการณ์มาร์กซิมต์-เลนินนิสต์กำลังจางหายไป เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็ดังขึ้นทุกที นั่นสะท้อนความจริงอย่างหนึ่งว่าความนิยมและอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์กำลังถูกท้าทาย สิ่งที่ค้ำจุนอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันก็เหลือเพียงกำลังทหารของกองทัพและการสนับสนุนของชนชั้นนำในภาคการเมืองและธุรกิจเท่านั้น เลขาธิการใหญ่ จ่อง เป็นนักอุดมการณ์คนสำคัญของเวียดนาม เขาเรียนรู้จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไม่ศักดิ์สิทธิพอจะต้านทานความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นภายในองคาพยพของพรรคและรัฐได้ ดังนั้นการทำความสะอาดภายในจึงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้การทุจริตกัดกร่อนระบอบสังคมนิยมแบบเวียดนามให้พังทลายลงได้

ในทำนองเดียวกัน การกำจัดทุจริตเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างศรัทธาจากนานาชาติและเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย การสำรวจและจัดอันดับของ Transparency International แสดงให้เห็นว่าเวียดนามมีพัฒนาการที่ดีขึ้นนับแต่พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศแผนการ dot lo ในปี 2016 คะแนนความโปร่งใสเพิ่มจาก 31 เต็ม 100 ในช่วงที่เลขาธิการจ่องขึ้นสู่ตำแหน่งสมัยแรกระหว่างปี 2012-2015 มาเป็น 33 ในปี 2016 เป็น 35 ในปี 2017 ลดลงเหลือ  33 ในปี 2018 และเริ่มเพิ่มขึ้นนับแต่นั้นเรื่อยมาจนกระทั่งถึง 39 ในปี 2021 (ในขณะที่ประเทศไทยที่เคยได้ชื่อว่าเปิดกว้างและโปร่งใสกลับมีคะแนนลดลงเรื่อยมานับแต่การรัฐประหารจาก 38 ในปี 2014 เหลือ 35 ในปี 2021)

บทความนี้ต้องการสำรวจแผนการปราบปรามทุจริตของเลขาธิการใหญ่ จ่อง เพื่อจะโต้แย้งว่าสิ่งที่เขาทำมาตลอดระยะเวลานับทศวรรษนั้นเป็นเพียงการปราบปรามการคอร์รัปชั่นแบบผิวเผินในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แม้ว่าคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาเหล่านั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค รัฐบาล กองทัพ และภาคเอกชนก็ตาม แต่ปฏิบัติการแบบนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ในเวียดนาม และอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างได้อย่างถาวรหรือเพียงพอที่จะรักษาศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในหมู่คนรุ่นใหม่ให้ยืนยาวต่อไปได้

การล้างผลาญคอร์รัปชันของเหงียน ฝู จ่อง

เหงียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม / ที่มาภาพ: Báo Người Lao Động

จ่องอายุ 78 ปี เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก่อนการรวมประเทศตั้งแต่ปี 1967 เขาไม่ใช่นักต่อต้านการคอร์รัปชันตั้งแต่ต้น หากแต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานในพรรคในทางอุดมการณ์ เพราะเรียนจบปรัชญาและสังคมศาสตร์จากโซเวียต ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกรมการเมืองในปี 2006 และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2007

เขาทำหน้าที่บรรณาธิการวารสารคอมมิวนิสต์รีวิวของพรรคอยู่หลายปี เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการทบทวนแนวคิดทฤษฎีระหว่างที่เวียดนามปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางโด่ยเม่ย เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในสายอนุรักษนิยมและเป็นเจ้าพ่อแห่งกฎเหล็กทั้งปวง

จ่องขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในสารบบอำนาจของเวียดนามเมื่อสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 11 ในปี 2011 เขาไม่ได้ตั้งเป้าชำระล้างความสกปรกในพรรคคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังตั้งแต่แรก หากแต่ใช้เรื่องทุจริตคอร์รัปชันมาเป็นประเด็นในการต่อสู้ทางการเมืองกับเหงียน เติ่น สุง (Nguyen Tan Dung) คู่แข่งคนสำคัญที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น จ่องยกเรื่องทุจริตในเครือข่ายอุปถัมภ์ของนายกรัฐมนตรีมาเป็นประเด็นถกเถียงในพรรค แม้ว่าจะเอาผิดใครไม่ได้แต่ก็ทำให้สุงต้องจำใจถอนตัวในการชิงตำแหน่งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ในสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 12 ในปี 2016 และจ่องก็ได้นั่งในตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคต่อไปเป็นสมัยที่สอง (2016-2020)

จ่องประกาศนโยบายล้างผลาญการทุจริตอย่างเป็นทางการในปี 2016 เมื่อเขานั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการต่อต้านคอร์รัปชันอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยในปีแรกพรรคคอมมิวนิสต์สามารถดำเนินคดีคอร์รัปชั่น 12 คดีมีต้องหา 172 คน ในจำนวนนั้นแค่ 73 คนต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดจริง [1]) แต่การดำเนินการช่วงระหว่างปี 2018-2020 นับว่าได้ผล เพราะจับได้ ‘ปลาตัวใหญ่’ โดยดิ่ญ ลา ถัง (Dinh La Thang) เลขาธิการประจำนครโฮ จิ มินห์ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ระดับสมาชิกกรมการเมืองเป็นคนแรกที่โดนพิพากษาจำคุก 13 ปี ด้วยข้อหาทุจริตในบริษัทปิโตรเวียดนามและมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ อีก 22 คนในบริษัทซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสำคัญทางด้านพลังงานแห่งนี้โดนคำพิพากษาอีกด้วย [2])

ถัดจากนั้นไม่กี่เดือน ซาง ถัง บิญ (Dang Thang Binh) รองผู้ว่าแบงค์ชาติเวียดนามกับพวกอีก 4 คนโดนพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ฐานปล่อยปะละเลยให้เกิดความเสียหายในธนาคารก่อสร้างซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของเอกชน [3])

จากนั้นการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็เกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ เช่น เล ทัญ ฮาย (Le Thanh Hai) อดีตสมาชิกรมการเมือง เลขาธิการพรรคประจำนครโฮจิมินห์ ฮ่วาง จุง ฮาย (Hoang Trung Hai) สมาชิกกรมการเมือง เลขาธิการพรรคประจำกรุงฮานอย โดนลงโทษทางวินัยในเดือนมกราคม 2020 ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เหงียน ดึก จุง (Nguyen Duc Chung) กรรมการกลางพรรคและประธานกรรมาธิการประชาชนฮานอยถูกจับและลงโทษฐานครอบครองเอกสารลับของพรรคอันเกี่ยวกับคดีฟอกเงิน ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปีและถูกขับออกจากพรรคในเดือนธันวาคม 2020 [4]  

นอกเหนือไปจากการลงโทษตามคำพิพากษาของศาลแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ยังได้ลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรค 110 คน ในจำนวนนี้เป็นกรรมการกลางพรรค 10 คนและอดีตกรรมการกลางพรรคอีก 17 คนระหว่างปี 2017-2020 [5])

สำหรับการดำเนินการในปี 2022 นั้นนับแต่ต้นปีจนถึงปลายเดือนเมษายน ทางการเวียดนามได้ทำการสืบสวนไปแล้ว 1,264 คดี ได้ผู้ต้องหา 2,038 คน สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้แล้ว 737 คดี มีคนตกเป็นจำเลย 1,567 คน เจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดและอายัติทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับคดีเป็นมูลค่า 2.05 ล้านล้านโด่งหรือประมาณ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐและสามารถเรียกคืนทรัพย์สินให้รัฐได้เกือบ 4 ล้านล้านโด่ง [6])

ความฉ้อฉลในภาคธุรกิจ

การจับกุมและดำเนินคดีนักธุรกิจใหญ่ที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในเวียดนามคนหนึ่งที่ชื่อ จิ่ญ วัน เกวียต (Trinh Van Quyet) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ฐานปั่นหุ้นและปกปิดข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า อำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก แม้ว่าเวียดนามจะปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการเปิดเสรีและใช้กลไกตลาดเป็นแนวในการบริหารเศรษฐกิจมาตั้งแต่ ปี 1986 แต่ความเป็นจริงภาคธุรกิจของเวียดนามมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภาครัฐอยู่อย่างเหนียวแน่น ธุรกิจขนาดใหญ่ของเวียดนามจำนวนมากคือ รัฐวิสาหกิจหรืออดีตรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่พรรคคอมมิวนิสต์ใช้ในการบริหารเศรษฐกิจ ส่วนภาคเอกชนนั้นจำนวนไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มดังๆ อย่าง Vinh Group ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หรือสายการบินต้นทุนต่ำที่โด่งดังอย่างเวียตเจ็ท ที่เติบโตขึ้นมาหลังยุคปฏิรูปล้วนแล้วแต่อาศัยเส้นสายระบบอุปถัมภ์จากพรรคคอมมิวนิสต์หรือกองทัพ เพื่อแบ่งหรือให้ได้สัมปทานจากภาครัฐ ดังนั้นเมื่อเกิดสิ่งผิดปกติและความฉ้อฉล พรรคคอมมิวนิสต์จึงต้องเกี่ยวข้องและรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

เกวียต อายุ 47 ปี นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัท FLC ซึ่งเป็นบริษัททางด้านอสังหาริมทรัพย์ และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสายการบินต้นทุนต่ำ Bamboo Airlines คู่แข่งรายสำคัญของเวียตเจ็ท สร้างเนื้อสร้างตัวร่ำรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง 

เขาตั้งบริษัท FLC เมื่อปี 2010 เพื่อทำโครงการขนาดใหญ่ เช่น รีสอร์ททัญฮว้า กวีเญน และบิ่ญดิ่ญ สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างมากคือการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ แต่เบื้องหลังความสำเร็จอาจจะมีอาชญากรรมซ่อนอยู่ เขาเคยโดนข้อหาปั่นหุ้นและสร้างราคาหลักทรัพย์มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2017 โดนปรับเป็นเงิน 65 ล้านโด่ง เพราะขายหุ้นบริษัท FLC 75 ล้านหุ้นโดยไม่แจ้งตลาด

ความผิดครั้งล่าสุดของเขาเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2022 เมื่อเกวียตขายหุ้น 74.8 ล้านหุ้นของบริษัท FLC แต่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ในตอนเย็นของวันที่ขายหุ้นแทนที่จะแจ้งล่วงหน้า 3 วันทำการตามระเบียบของตลาด วันรุ่งขึ้นตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ซิตี้จึงระงับธุรกรรมดังกล่าวเพราะผิดระเบียบ เกวียตถูกปรับ 1,500 ล้านโด่ง หรือประมาณ 65,800 ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 17 มกราคม นับว่าเป็นค่าปรับที่สูงที่สุดที่ตลาดหลักทรัพย์เวียดนามเคยทำและการซื้อขายหุ้นของเขาถูกแขวนเป็นเวลา 5 เดือน

คดีปั่นหุ้นและปกปิดข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ของเกวียตทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ร้อนตัว เพราะความย่อหย่อนในการควบคุมตลาดหลักทรัพย์ทำให้ตลาดหุ้นกลายเป็นเหมือนบ่อนการพนันที่เปิดโอกาสให้คนจำนวนมากอาศัยความฉ้อฉลสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว คณะกรรมาธิการตรวจสอบ (Inspector Committee) ของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคมให้ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้แสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎระเบียบในการซื้อขายหลักทรัพย์

ความจริงระหว่างปี 2015-2020 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการหลักทรัพย์แห่งรัฐของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามต้องแสดงความรับผิดชอบในคดีคล้ายๆ กันนี้หลายครั้ง ในฐานที่ปล่อยปละละเลยและขาดการดูแลเอาใจใส่การค้าขายหลักทรัพย์เท่าที่ควร

เจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ที่เคยถูกลงโทษมาแล้ว เช่น เหงียน ทัญ ลอง (Nguyen Thanh Long) เลขาธิการคณะกรรมาธิการกำกับหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฮานอย เล ไฮ่ จา (Le Hai Tra) เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์โฮมิจิมินห์ หรือแม้แต่ เจิ่ญ วัน สุง (Tran Van Dung) ประธานคณะกรรมาธิการหลักทรัพย์ของพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาแบบนี้มาแล้ว [7])

นอกจากนี้รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามต้องแสดงให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับการทุจริตฉ้อฉลในภาคธุรกิจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งดูเหมือนจะพัวพันไปในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การใช้ประโยชน์จากที่ดินไปจนถึงภาคการเงิน ก่อนหน้าคดีของเกวียต โด่ แองห์ สุง (Do Anh Dung) ประธานบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตัน ฮอง มิญ (Tan Hong Minh Group) โดนจับกุมและดำเนินคดีเมื่อต้นเดือนเมษายน ฐานออกพันธบัตรมูลค่า 10 ล้านล้านโด่งให้บริษัทในเครือ 3 บริษัทโดยมิชอบ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเขาผิดจริงอาจจะโดนลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเลยทีเดียว [8])  

ทุจริตในกองทัพ

คดีทุจริตที่โด่งดังอีกคดีหนึ่งของเวียดนามเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2022 คือการจับกุมนายพล 5 คนและนายพันเอก 2 คนของหน่วยยามฝั่ง (coast guard) โดยหน่วยสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมของกระทรวงกลาโหม ได้ทำการจับกุมพลโท เหงียน วัน เซิน (Nguyen Van Son) อดีตผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งเวียดนาม พลโท ฮวาง วัน ดง (Hoang Van Dong) อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่การเมืองของหน่วยยามฝั่ง พลตรี ซ่วน บาว เกวียต (Duang Bao Quyet) อดีตรองหัวหน้าฝ่ายการเมืองของหน่วยยามฝั่ง พลตรี ฟาม คิม ฮวา (Pham Kim Hau) อดีตรองผู้บัญชาการและเสนาธิการหน่วยยามฝั่ง พลตรี บุ่ย จุง สุง (Bui Trung Dung) รองผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่ง พันเอกเหงียน วัน หุง (Nguyen Van Hung) หัวหน้าฝ่ายเทคนิคหน่วยยามฝั่ง และ พันเอก บุ่ย วัน โฮ (Bui Van Hoe) รองหัวหน้าแผนกการเงิน ในข้อหาร่วมกันยักยอกและฉ้อโกง [9])

นายทหารเหล่านี้ประจำการในหน่วยยามฝั่งระหว่างปี 2015-2020 ได้ร่วมกันกระทำความผิดในการบริหารจัดการและใช้จ่ายงบประมาณ การลงทุนในโครงการต่างๆ การจัดซื้อหาวัสดุอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ ในจำนวนนี้ 4 คนคือ เซิน ดง เกวียต และ สุง ถูกปลดออกจากตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามด้วยในฐานที่ทำผิดระเบียบวินัยของพรรค ทำให้เกิดความเสื่อมเสียในคุณค่าและจริยธรรมของพรรคอย่างร้ายแรง

นอกจากนี้แล้วนายทหารระดับสูงยศนายพล 2 คนของมหาวิทยาลัยแพทย์ทหาร (Military Medical University) คือ พลโท โด๋ เกวียต (Do Quyet) ผู้อำนวยการ และพลตรี ฮ่วาง วัน เลือง (Hoang Van Loung รองผู้อำนวยการ ถูกลงโทษทางวินับด้วยการปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อต้นเดือนเมษายน เพราะพัวพันกับการทุจริตชุดตรวจโควิด-19 ของบริษัท Vietnam A ทำให้เกิดความเสียหายในงบประมาณของรัฐและการควบคุมโรคระบาดใหญ่ ทั้งสองคนถูกปลดออกตำแหน่งในคณะกรรมาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหาวิทยาลัยซึ่งพวกเขาอยู่มาตั้งแต่ปี 2015 [10])

ข่าวไม่ได้แจ้งว่าพวกเขาจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วยหรือไม่ แต่ทางการเวียดนามได้คุมขังผู้เกี่ยวข้อง 28 คนระหว่างที่กำลังมีการสอบสวนคดีของบริษัทนี้ทั้งหมด 4 คดี

การสืบสวนสอบสวนการทุจริตในกองทัพประชาชนเวียดนามเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับแต่เหงียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่เริ่มรณรงค์ปราบการทุจริต ปรากฏว่ามีนายทหารระดับนายพลถูกจับกุมดำเนินคดีไปแล้วมากถึง 20 คน โดยนายทหารที่ยศและตำแหน่งสูงที่สุดที่เคยถูกดำเนินคดีคือ พลเรือเอก เหงียน วัน เฮียน (Nguyen Van Hien) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (อยู่ในตำแหน่ง 2009-2016) ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือนเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ในความผิดฐานโอนที่ดินแปลงหนึ่งในนครโฮจิมินห์ที่เป็นทรัพย์สินของกองทัพเรือไปให้เอกชนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย สร้างความสูญเสียให้กับรัฐคิดเป็นเงิน 940,000 ล้านโด่งหรือ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ [11])

อย่างไรก็ตามการทุจริตในกองทัพดังที่กล่าวมานั้นอาจจะเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง อาจจะยังมีการทุจริตคอร์รัปชันในเหล่าทัพหรือหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของเวียดนามอีกมากมายที่ยังไม่ได้ถูกตรวจสอบ เพราะกองทัพเวียดนามนั้นคล้ายกับกองทัพอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกหลายที่เช่น ตัดมาดอว์ของพม่า หรือกองทัพไทย ซึ่งครอบครองอสังหาริมทรัพย์และทรัพยากรอื่นๆ ของชาติอยู่มาก อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในเชิงพาณิชย์อีกมากมาย เป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากว่าเจ้าหน้าที่ทุกระดับของกองทัพจะพัวพันหริอเบียดเอาผลประโยชน์ทางธุรกิจเหล่านั้น

นอกจากนี้เส้นสายและระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ภายในกองทัพและส่วนที่สัมพันธ์กับพรรคและรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริตหรือฉ้อฉลและทำให้ตรวจสอบยาก ระบบการวิ่งเต้นเส้นสายการซื้อขายตำแหน่งเพื่อความเจริญก้าวหน้าของอาชีพการงานในหน่วยงานความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจของเวียดนามนั้นหนักหนาไม่แพ้ที่อื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน การจัดการปัญหาทุจริตดังเช่นที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้อาจเป็นแค่เพียงระดับปัจเจกบุคคลซึ่งดูผิวเผินมากเมื่อเปรียบกับปัญหาในเชิงโครงสร้างของกองทัพเวียดนาม

สรุป

โดยทั่วไปแล้วแผนการ dot lo ของเหงียน ฝู จ่อง ได้รับการประเมินจากทั้งภายในและภายนอกประเทศไปในทางบวกว่าเกิดจากความตั้งใจจริงที่เลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในอันที่จะ ‘ทำความสะอาด’ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ให้มีความน่าเชื่อถือเพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แม้ว่าในระยะแรกในช่วงที่ขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ในช่วงปี 2011-2016 จ่องจะเรียกร้องให้มีการปราบปรามการทุจริตทั้งในภาครัฐ กองทัพ และในภาคเอกชนอยู่บ้าง แต่การดำเนินการดูไม่จริงจังและมีเป้าหมายขจัดเหงียน เติ่น สุง นายกรัฐมนตรีและกลุ่มพวกพ้องบริวารของสุงเท่านั้น

การดำเนินการในหลังปี 2016 ถึงปัจจุบันดูหนักหน่วงและจริงจังมากขึ้น และอาจกล่าวได้ว่าได้ปลาตัวใหญ่ตั้งแต่ระดับสมาชิกกรมการเมืองซึ่งถือว่านั่งอยู่ชั้นวงในสุดของศูนย์กลางอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่ระดับรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลและนายพลใหญ่ในกองทัพ แต่การปราบปรามการทุจริตในเวียดนามก็ยังไม่ถึงรากถึงโคนและที่สำคัญดูเหมือนจะละเลยปัญหาในเชิงโครงสร้าง ด้วยเหตุผลสำคัญดังต่อไปนี้

ประการแรก ระบอบการเมืองเวียดนามเป็นแบบรวมศูนย์และค่อนข้างปิด ซึ่งทำให้ขาดความโปร่งใส ไร้การตรวจสอบ เพราะเวียดนามมีรัฐบาลและรัฐสภาที่ถูกครองงำด้วยพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียว ไร้ฝ่ายค้าน ไม่มีการถ่วงดุลทางอำนาจ การปราบปรามการทุจริตที่กำลังดำเนินอยู่นี้เป็นการริเริ่มจากคนที่มีอำนาจสูงสุดคือเลขาธิการใหญ่ของพรรค จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าถ้าหากผู้มีอำนาจไม่ดำเนินการหรือหากเลขาธิการใหญ่คอร์รัปชันเสียเอง การปราบปรามคงไม่เกิดขึ้น

ประการที่สอง ความจริงแล้วไม่เฉพาะกองทัพที่ครอบครองที่ดินหรือทรัพยากรและเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ก็มีสภาพเช่นเดียวกันประกอบกับการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส ทำให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้ กองทัพและหน่วยงานของรัฐผ่านการปรับปรุงโครงสร้างมาหลายครั้ง มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอยู่เสมอๆ แต่ก็เป็นการขายให้เอกชน ควบรวม หรือยุบทิ้งในกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือขาดทุนเพื่อลดภาระทางการเงินเท่านั้น ไม่ได้มีแนวคิดที่จะแยกการดำเนินธุรกิจออกจากการบริหารงานของภาครัฐจริงจัง กิจการขนาดใหญ่ของเวียดนามจำนวนมาก เช่น บริษัทเวียดเทล ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมที่ลงทุนทั้งในและต่างประเทศเป็นรัฐวิสาหกิจของกองทัพประชาชนเวียดนาม

ประการที่สาม พรรคคอมมิวนิสต์ดำเนินการปราบปรามการทุจริตเพื่อหวังเรียกศรัทธาจากประชาชน แต่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมจากประชาสังคม จะสังเกตได้ว่ามักมีการจับกุมสื่อมวลชน หรือนักกิจกรรมภาคประชาชนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐหรือพยายามเปิดโปงการทุจริตในหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐอยู่เนืองๆ

Human Right Watch รายงานว่าทางการเวียดนามจับกุมและกักบริเวณ (house arrest) นักกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์มากถึง 170 คนในช่วงปี 2004-2021 [12]) การดำเนินการเช่นนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกันอยู่ในที ความจริงแล้วการปราบปรามทุจริตที่ได้ผลยั่งยืนจะต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน


References
1 Xuan Hoa “Vietnam to crackdown on day-to-day corruption in 2018:Party Chief” VN Express 22 January 2018 (https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-to-crack-down-on-day-to-day-corruption-in-2018-party-chief-3702382.html
2 Mai Nguyen and James Pearson “Vietnam jails former politburo official for 13 years in graft crackdown” Reuters 22 January 2018 (https://www.reuters.com/article/us-vietnam-security-idUSKBN1FB0C5
3 “Vietnam jails former central bank official amid graft crackdown” Reuters 2 July 2018 (https://www.reuters.com/article/us-vietnam-security-trials-idUSKBN1JS0ZS
4 Hai Hong Nguyen Vietnam in 2020: The year in transition in Daljit Singh and Malcolm Cook (eds) Southeast Asian Affairs 2021 (Singapore: ISEAS Yusof Ishak Institute,2021) p 385
5 Quynh Tran “The Rise and Rise of Nguyen Phu Trong” The Diplomat 26 February 2021 (https://thediplomat.com/2021/02/the-rise-and-rise-of-nguyen-phu-trong/
6 “Central anti-corruption committee discusses settlement of corruption cases” Vietnam plus 27 April 2022 (https://en.vietnamplus.vn/central-anticorruption-committee-discusses-settlement-of-corruption-cases/227664.vnp
7 Pham Du “Real estate developer FLC’s accountant arrested” VNExpress International 4 April 2022 (https://e.vnexpress.net/news/companies/real-estate-developer-flcs-accountant-arrested-4447466.html
8 Tomoya Onichi “Vietnam’s conglomerates in crosshairs of corruption crackdown” Nikkei Asia 13 April 2022 (https://asia.nikkei.com/Business/Companies/Vietnam-s-new-conglomerates-in-crosshairs-of-corruption-crackdown
9 Pham Du “Coast Guard top brass detained for embezzlement” VNExpress International 18 April 2022 (https://e.vnexpress.net/news/news/coast-guard-top-brass-detained-for-embezzlement-4452949.html
10 “Leaders of Military Medical University disciplined over Viet A case” Vietnam News 5 April 2022 (https://vietnamnews.vn/society/1171500/leaders-of-military-medical-university-disciplined-over-viet-a-case.html
11 “Vietnam jails ex-deputy defense minister over land scandal” Reuters 21 March 2020 (https://www.reuters.com/article/us-vietnam-security-trial-idUSKBN22X1NW
12 Human Rights Watch. Lock Inside our Home 17 February 2022 (https://www.hrw.org/report/2022/02/17/locked-inside-our-home/movement-restrictions-rights-activists-vietnam

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save