fbpx
คอร์รัปชัน : ปัญหาของเส้นแบ่งระหว่างเรื่องส่วนตัวเรื่องสาธารณะ

คอร์รัปชัน : ปัญหาของเส้นแบ่งระหว่างเรื่องส่วนตัวเรื่องสาธารณะ

“เฮ้ยมึง กระดาษที่ออฟฟิศ เราเอาไปใช้ (ในเรื่องส่วนตัว) ได้ไหมเนี่ย”

“ไม่รู้ดิ คงใช้ได้แหละมั้ง”

“ถ้างั้นก็คงได้แหละ”

หลายครั้งที่เราต้องเจอกับเหตุการณ์ทำนองนี้ และต้องเผชิญกับความอิหลักอิเหลื่อว่าสิ่งที่ตัวเองจะทำนั้น ‘ผิด’ หรือ ‘ถูก’ กันแน่

 

ถ้าเป็นในมุมมองของวัฒนธรรมไทย การนำของเล็กๆ น้อยๆ จากที่ทำงานมาใช้ส่วนตัวอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โต หรือผิดแบบจริงจังมากนัก – แหม! กับของแค่นี้ จะอะไรกันนักหนาล่ะ ช่วยๆ กัน หน่อยจะเป็นอะไรไป

แต่ถ้าวัดจากมุมมองของชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวตะวันตก การหยิบใช้ของพวกนี้อาจจะผิด และถือว่าเป็น ‘คอร์รัปชัน’ ได้เลยทีเดียว

 

ในวิธีคิดของชาวตะวันตก การเอาทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นเงิน อุปกรณ์ หรือแม้กระทั่งแรงงานที่เป็นของสาธารณะไปใช้ในเรื่องส่วนตัวไม่ว่าระดับเล็กหรือใหญ่ ล้วนเป็นสิ่งที่ผิดทั้งสิ้น ถือเป็น ‘คอร์รัปชัน’ อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งนี้เพราะว่าเขามีวิธีคิดแยกเรื่องสาธารณะและส่วนตัวอย่างชัดเจน

แต่ก่อนโน้น ย้อนไปสักสองร้อยกว่าปี ราวศตวรรษที่ 18-19 การทำงานในประเทศตะวันตกยังเผชิญกับความสิ้นเปลืองและไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก บุคลากรตามหน่วยงานต่างๆ มักชอบแอบนำ ‘ของหลวง’ หรือ ‘ของบริษัท’ ไปใช้เพื่ออะไรอย่างอื่นที่นอกเหนือจากเป้าประสงค์ขององค์กรเสียเอง

เป็นต้นว่า ในระบบราชการ เหล่าข้าราชการมักเอาเงินหรืออุปกรณ์ของหน่วยงานไปใช้ในครอบครัว เช่น นำดินสอ หรือกระดาษไปให้ลูกให้หลานที่บ้านตัวเองใช้ หรือบางครั้งมีญาติตัวเองมาติดต่อราชการ ข้าราชการบางคนก็อาจจะให้ญาติตัวเองลัดคิวเพื่อให้บริการก่อนประชาชนคนอื่น (เป็นการให้อภิสิทธิ์) ซึ่งในส่วนของวงการธุรกิจ รูปแบบพฤติกรรมที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากนี้เท่าไหร่นัก

นักคิดด้านสังคมศาสตร์ทั้งหลายในสมัยนั้นเห็นว่า จะปล่อยให้พฤติกรรมแบบนี้ดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะนอกจากจะทำให้การทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ขาดประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้เกิด ‘วัฒนธรรมฉ้อฉล’ ในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งหากปล่อยไป นานวันเข้า สังคมจะกัดกินตัวเองและล่มสลายไปในที่สุด – ว่าไปโน่น

แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักสังคมวิทยาคนสำคัญของประเทศเยอรมนี ได้เสนอแนวคิดเรื่อง ‘องค์กรขนาดใหญ่’ (Bureaucracy) ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและเสนอวิธีการทำงานขององค์กรในอุดมคติ

โดยองค์กรในอุคมคติของเวเบอร์จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะต้องมีวิธีการทำงานที่เป็นไปอย่างมีระบบและการใช้ความเชี่ยวชาญตามความถนัดของแต่ละคนแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ‘การแยกเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม’

แนวคิดพื้นฐานของการแยกเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม มาจากความเชื่อที่ว่า ในการทำงานที่ต้องข้องแวะกับสังคม เราต้องแยก ‘ชีวิตส่วนตัว’ (private life) และ ‘ชีวิตสาธารณะ’ (public life) ออกจากกันให้ได้ เพราะจะทำให้คนทำงานแบ่งแยกการทำงานได้อย่างชัดเจน และจะได้ไม่สับสนว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องไหนเป็นเรื่องงานหรือสาธารณะ

ผลประโยชน์ของวิธีคิดในการทำงานแบบนี้คือ ทำให้คนทำงานไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับการทำงานประจำซึ่งเป็นเรื่องของส่วนรวม บุคลากรจึงสามารถทุ่มเททรัพยากรส่วนรวมทั้งหมดเพื่อทำงานแก่ส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากใครมีพฤติกรรมที่เอาเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานมาปะปนกัน (แม้เพียงนิดเดียว และหากจับได้) ก็จะโดนลงโทษ เช่น การหักเงินเดือน การลดขั้น หรือการไล่ออก

ด้วยหลังจากที่แนวคิดนี้ได้รับการเผยแพร่ องค์กรทั้งน้อยใหญ่ต่างก็นำไปปรับใช้ และผลลัพธ์ก็เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ วิธีคิดนี้จึงกลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการทำงานในองค์กรในประเทศตะวันตก และประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก

 

คำถามที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าวิธีคิดการแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวมจะได้รับการยอมรับโดยทั่วกัน แต่ทำไมคนไทยถึงไม่ยอมใช้วิธีคิดดังกล่าวนี้กันอย่างจริงจัง

คำตอบของคำถามนี้น่าจะอยู่ที่ ‘รากฐานทางวัฒนธรรมของไทย’ โดยเฉพาะ ‘ระบบเจ้าขุนมูลนาย’ นี่แหละ

ระบบเจ้าขุนมูลนายหรือระบบศักดินาแบบไทยๆ มีบทบาทสำคัญในการจัดโครงสร้างสังคมและการเมืองไทยในอดีตอย่างมาก โดยในระบบดังกล่าว ประชาชนต่างๆ ในสังคมจะถูกจัดช่วงชั้นตามศักดินาที่ตนได้รับ ซึ่งศักดินาที่ได้รับนั้นก็เป็นการพระราชทานมาจากกษัตริย์ ทั้งนี้ หากผู้ใดมีศักดินามากก็หมายถึงว่าผู้นั้นก็จะมีสิทธิและหน้าที่มาก ส่วนคนที่มีศักดินาน้อย สิทธิและหน้าที่ก็น้อยตามลงไป หน่วยที่ใช้วัดศักดินาก็คือ ‘ไร่’ นั่นเอง อย่างไรก็ดี การใช้จำนวนไร่ในการวัดศักดินาก็ไม่ได้หมายถึงจำนวนไร่แบบตายตัว ดังนั้น หากใครมีศักดินามาก ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะมีที่ดินมากตามไปด้วย

การกำหนดศักดินา (รวมถึงสิทธิและหน้าที่) ด้วยจำนวนไร่ในเชิงนามธรรมเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่อาจสามารถทำให้กษัตริย์สามารถปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ กษัตริย์จึงต้องพระราชทานทรัพยากรอื่นๆ แก่ข้าราชบริพารของตนเพื่อเป็นการให้รางวัลให้พอเหมาะกับศักดินาที่พวกเขาได้รับควบคู่ไปด้วย

ผู้ที่มีศักดินามาก จึงมักได้รับที่ดินและสมบัติหรือข้าทาสบริวารที่พระราชทานจากกษัตริย์มากตามไปด้วย แต่ทรัพย์สินหรือที่ดินที่ข้าราชบริพารได้รับ แม้จะถูกนำมาใช้สอยเป็นการส่วนตัว แต่โดยหลักการแล้วไม่ได้เป็นของพวกเขา ยังคงถือว่าเป็นของกษัตริย์หรือ ‘ของหลวง’ ที่ได้รับพระราชทานมาอยู่นั่นเอง

ดังนั้น จึงเกิดความพร่าเลือนระหว่าง ‘ของหลวง’ กับ ‘ของส่วนตัว’ ขึ้นมา ซึ่งรูปแบบการใช้ทรัพยากรเช่นนี้ เกิดขึ้นในแทบทุกระดับชั้นของสังคม ไล่มาตั้งแต่เจ้าในวังถึงสามัญชนข้างถนน จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการทำงานในสังคมไทย

วิธีคิดในการทำงานที่สืบทอดมานี้ ทำให้เราปนเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวมไว้ด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ดังนั้นจึงพูดได้ว่า ส่วนหนึ่งที่เกิดการคอร์รัปชันเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ขึ้น ก็เพราะวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ ที่ทำให้เราแยกปริมณฑลของชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงานหรือสาธารณะกันได้ยาก แต่กระนั้น นี่ก็เป็นเพียงสาเหตุเดียวเท่านั้นที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันในระดับเล็ก (ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว)

เอาเข้าจริงแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมากที่เรายังต้องค้นหากันต่อไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save