fbpx
คอร์รัปชันกับเสรีภาพสื่อ : ความฝัน

คอร์รัปชันกับเสรีภาพสื่อ : ความฝัน

ในช่วงเวลาที่เสรีภาพสื่อบ้านเรายังอยู่ในขั้นเบต้า (หรือแอลฟา?) ลองมาเรียนรู้บทเรียนเพื่อก้าวสู่เวอร์ชั่นสมบูรณ์จากสองประเทศที่ปล่อยเวอร์ชั่นแรกมาตั้งแต่ 250 ปีที่แล้วกันดีกว่า

 

เวทีแรก กับการค้นฟ้าคว้าดาวหาประเทศที่คอร์รัปชันได้มากที่สุดใน Corruption Perception Index ที่ปี 2016 ที่ผ่านมาเราได้คะแนนความคลีนไปเพียง 35 คะแนน เข้ารอบลึกจนได้ตำแหน่งประเทศคอร์รัปชันอันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก

ส่วนเวทีที่สอง การเฟ้นหาประเทศที่มีเสรีภาพสื่อน้อยที่สุดกับ World Press Freedom Index เราก็คว้าตำแหน่ง 136 จาก 180 ประเทศ

เรียกว่าในทั้งสองเวที เราแทบจะอยู่ก้นเหว!

เราไม่ได้เป็นอย่างนี้แค่ในช่วงรัฐบาลทหารเท่านั้น แต่ถ้าย้อนกลับไปดูในอดีต ต่อให้เป็นรัฐบาลพลเรือนก็ใช่ว่าจะโปร่งใสหรือมีเสรีภาพสื่อมากกว่ากันสักเท่าไหร่ ถ้าไม่โกหกตัวเองมากเกินไป ผลการจัดอันดับที่จึงได้น่าจะบอกเราได้ไม่น้อย ว่าประเทศขวานทองเมืองพุทธของเรานี้ เป็นดินแดนแห่งคอร์รัปชันที่สื่อตรวจสอบได้ยากหรือเปล่า

ที่เรายกการคอร์รัปชันมาเทียบกับเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นเพราะสองเรื่องนี้เชื่อมโยงกัน หากเราจะบอกว่ารัฐสักรัฐปกครองอย่างมีธรรมาภิบาล นั่นหมายความว่ารัฐนั้นต้องรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมาย รับรองสิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน บริหารประเทศอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

โดยเฉพาะสิทธิในการแสดงความเห็นที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยจับตามอง และแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจที่พัฒนา และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1998 เคยบอกว่า “ในประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ ความแร้นแค้นไม่เคยปรากฏกายให้เห็นในประเทศประชาธิปไตยที่เป็นอิสระ และมีสื่อมวลชนที่ทำงานด้วยเสรีภาพ”

สองเรื่องนี้จึงสำคัญ!

แน่ละ เราอาจจะบอกว่าประเทศไทยเองรับรองเสรีภาพสื่อมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2540 ในมาตรา 41 ฉบับพุทธศักราช 2550 ในมาตราที่ 46 และฉบับล่าสุดที่ยังไม่คลอดในมาตราที่ 35

แต่ความลุ่มๆ ดอนๆ เขียนใหม่แล้วเขียนใหม่อีกในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไม่นับรวมคำสั่งต่างๆ ในตอนนี้ที่ขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว (จนท่านผู้นำของเรา ได้รับฉายา ‘นักล่าเสรีภาพสื่อ’ จากองค์กร Reporters Without Borders) ก็น่าจะไม่เกินจริงที่จะบอกว่า เสรีภาพสื่อของไทย ได้แช่อยู่ในขั้นเบต้ามาถึง 20 ปีเต็ม และนำพาเราให้ติดเป็นมือวางอันดับเกือบต้นๆ ในสนามแข่งคอร์รัปชันของโลก

เสรีภาพสื่อในประเทศของเราอาจอยู่ในขั้นเบต้าที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อม แต่มีอีกสองประเทศที่ปล่อยเวอร์ชั่นพัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบมาตั้งแต่ 250 ปีที่แล้ว ก็คือสวีเดนและฟินแลนด์

วันที่ 2 ธันวาคม 1766 สวีเดน (ซึ่งในขณะนั้นมีฟินแลนด์เป็นหนึ่งในดินแดน) ได้ผ่านกฎหมาย Freedom of Press Act หลังจากความพยายามในการต่อสู้กับกฏหมายเซ็นเซอร์ฉบับแรกตั้งแต่ปี 1661 ที่ให้หนังสือทุกเล่มที่จะตีพิมพ์ต้องส่งไปให้วังของพระเจ้าชาร์ลสที่ 11 แห่งสวีเดนตรวจสอบและแก้ไข การผ่านกฎหมายฉบับนี้ของรัฐสภาทำให้สวีเดนกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่รับรองเสรีภาพของประชาชนและสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ แบบที่ไม่มีประเทศไหนทำมาก่อน

กฎหมายฉบับนี้มีสามข้อหลักๆ ด้วยกัน นั่นคือ การรับรองสิทธิ์ในการตีพิมพ์ความเห็น การวิจารณ์ใดๆ ให้กับประชาชนทุกคน ที่รวมไปถึงการคุ้มครองผู้สื่อข่าวที่ไม่ต้องไปขึ้นศาลหากถูกฟ้องร้อง, รัฐและผู้มีอำนาจไม่มีสิทธิ์ในการเซ็นเซอร์ข้อมูลใดๆ ที่ถูกตีพิมพ์ และสุดท้ายที่เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญทั้งสองประเทศก็คือ สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยที่รัฐห้ามหือห้ามอือ และห้ามอยากรู้ว่าใครเป็นคนขอข้อมูลนั้น

ไม่ใช่แค่เขียนไปในรัฐธรรมนูญงั้นๆ ให้ดูเก๋ เพราะเวลากว่า 250 ปีได้ทำให้อุดมการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชน การแสดงความเห็นของทุกคนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และเป็น ‘ดีเอ็นเอ’ ของชาติไปเรียบร้อย

อีกหนึ่งเครื่องมือในการคงความเสรีของเหล่าสื่อมวลชนสวีเดนและฟินแลนด์ให้เข้มแข็งก็คือ Press Council หรือ Pressens Opinionsnämnd ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของบรรดาสื่อมวลชนหลากหลายเจ้าตั้งแต่ปี 1916 เพื่อกำกับดูแลสื่อด้วยกันเอง สร้างแนวจริยธรรมวิชาชีพที่สื่อทุกเจ้าต้องอาศัยใต้มาตรฐานเดียวกัน ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าไม่ดูแลกันเอง พวกเขาก็จะถูกนักการเมืองหรือรัฐเข้ามาควบคุม เมื่อนั้นสื่อก็จะไม่เสรี

แต่ที่สำคัญ การกำกับดูแลกันเองต้องไม่ใช่การ ‘เซ็นเซอร์’ ตัวเอง

อูเล เวสต์เปอรี (Olle Wästberg) อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Expresssen และอดีตผู้อำนวยการสถาบัน Swedish Institute เล่าให้ฟังว่า การที่สื่อในสวีเดนทำผิดจรรยาบรรณอะไรสักอย่างถือเป็นสิ่งที่น่าอับอายมาก การลงกรอบเล็กๆ เพื่อขอโทษคู่กรณีในหนังสือพิมพ์ตัวเอง เหมือนการชี้หน้าด่าตัวเองว่า ‘ห่วยแตก’

แนวคิดของนักการเมืองที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือที่มีต่อสื่อมวลชนก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ยืนยันดีเอ็นเอเสรีภาพสื่อในสองประเทศสแกนดิเนเวียนี้เหมือนกัน เช่นคำพูดของ ติโม ซอยนี (Timo Soini) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟินแลนด์ ที่บอก (ด้วยความรู้สึกแบบใดไม่ทราบได้) ว่า “การต่อกรกับสื่อเสรีไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักการเมือง แต่ผมขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่านี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น นี่คือสิ่งที่ทำให้สังคมเปิดกว้างและเสรี การต้องรับมือกับสื่อมวลชนเป็นสิ่งที่ทำให้ผมภาคภูมิใจมาก”

ระยะเวลาบ่มเพาะกว่า 250 ปี กับความเชื่อที่ว่าเสรีภาพสื่อและการแสดงออก คือสิ่งที่จะต่อสู้กับการคอร์รัปชันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทำให้ฟินแลนด์และสวีเดนได้ตำแหน่งประเทศสุดโปร่งใสในลำดับที่ 3 และ 4 ของโลก พร้อมด้วยฟินแลนด์ที่ควบตำแหน่งเสรีภาพสื่ออันดับ 1 มาเจ็ดปีซ้อน

เมื่อเทียบกับประเทศไทย ถ้าจะเอาเวลาสองร้อยกว่าปีกับยี่สิบปีมาเทียบกันคงใจร้ายไปสักนิด

แต่เชื่อเถอะว่า ถึงจะใช้เวลานานเท่ากัน ถ้าเรายังเขียนเอาไว้ให้ดูเก๋อย่างเดียวแบบที่ทำมา ไม่เอาไปใช้ให้ลงลึกไปถึงดีเอ็นเอ จะอีกร้อย สองร้อย หรือสามร้อยปี เสรีภาพสื่อก็คงอยู่ในระดับเบต้า แต่คอร์รัปชันน่าจะก้าวหน้าไปจนถึงระดับจักรวาล!

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ 20 MILESTONES OF SWEDISH PRESS FREEDOM จาก SWEDEN.SE, February 2, 2017

-ผลสำรวจ CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX 2016 จาก Transparency International, JANUARY 25, 2017

-องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน Reporter Sans Frontiere

-ประกาศ Free Media Contribute to Good Governance, Empowerment and Eradicating Poverty ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ปี 2014 จาก UNESCO 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save