fbpx
โคโรน่าไวรัส: เราจะไม่ทำอะไรเลย, จะผ่อนหนักเป็นเบา, หรือจะเลือกใช้ค้อนและเริงระบำ

โคโรน่าไวรัส: เราจะไม่ทำอะไรเลย, จะผ่อนหนักเป็นเบา, หรือจะเลือกใช้ค้อนและเริงระบำ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

โคโรน่าไวรัสยังคงแพร่ระบาดเกือบจะทุกที่ใน 152 ประเทศทั่วโลก ผู้ติดเชื้อไวรัสมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้เรากำลังวิ่งแข่งกับเวลา สถานการณ์ที่น่ากลัวอย่างยิ่งสำหรับการเลือกนโยบายและกลยุทธ์ในการรับมือกับเชื้อโคโรน่าก็คือ เมื่อใดที่ไวรัสชนิดนี้โจมตีเราได้ ระบบสาธารณสุขจะตกอยู่ในสภาพล่มสลาย ทำให้คนตายมหาศาล

มีโมเดลนโยบายและมาตรการหลายอย่างที่ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทยกำลังใช้อยู่ มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว การทำความเข้าใจต่อข้อมูล เหตุผลของนโยบายและผลกระทบที่ตามมาต่อมาตรการเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะต่อนักระบาดวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปต้องรู้ด้วย

Tomas Pueyo ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง online social platforms ได้เขียนบทความเรื่อง Coronavirus: Why You Must Act Now ในเว็บไซต์ Medium ซึ่งมีคนอ่านมากกว่า 40 ล้านคน ต่อมา Pueyo เขียนบทความของเขาอีกชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันคือ Coronavirus: The Hammer and the Dance เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2020

นี่เป็นบทความที่ผมนำมาถอดความเป็นภาษาไทยในที่นี้

 

กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 หากไม่ทำอะไรเลย ผ่อนหนักเป็นเบา (Mitigation) การใช้ฆ้อน (Hammer) และการเริงระบำ

 

มาตรการรุนแรงในเรื่องโคโรนาไวรัสทุกวันนี้คงมีผลแค่ภายใน 2-3 สัปดาห์ การติดเชื้อการติดเชื้อน่าจะยังไม่มีจุดสูงสุด เราสามารถจะดำเนินการทั้งหมดได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากจนเกินไปนักสำหรับสังคม เพื่อให้สามารถป้องกันชีวิตของคนเป็นจำนวนล้าน แต่ถ้าเราไม่ดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้ คนจำนวนนับสิบล้านจะติดโรค คนจำนวนมากจะตาย พร้อมกันนั้นก็จะทำให้คนจำนวนมากเข้าสู่การพยาบาลเป็นผู้ป่วยหนัก (ICU) เพราะว่าระบบสาธารณสุขล่ม

ภายในเวลาสัปดาห์เดียวประเทศต่างๆ ในโลกก้าวจาก “โคโรนาไวรัสไม่ใช่เรื่องใหญ่” ไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ขณะที่หลายประเทศยังไม่ทำอะไรมากนัก ทำไม?

ทุกประเทศกำลังถามคำถามเดียวกันคือ เราจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร? สำหรับพวกเขาคำตอบก็ยังไม่ชัดเจนนัก

บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สเปน หรือฟิลิปปินส์ ออกคำสั่งปิดประเทศอย่างเข้มข้น ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรือสวิสเซอร์แลนด์พากันถ่วงเวลา ด้วยความลังเลใจก็ลองทำมาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing)

เมื่ออ่านบทความนี้ท่านจะทราบข้อสรุปเตือนใจว่า ระบบสาธารณสุขของเรากำลังจะล่ม ประเทศต่างๆ มีสองทางเลือกว่าจะสู้อย่างหนักเดี๋ยวนี้ หรือจะพบกับความสูญเสียจากการแพร่ระบาดขนานใหญ่ ถ้าเขาเลือกยอมรับการแพร่ระบาด คนเป็นแสนๆ จะตาย ในบางประเทศจะเป็นหลายล้าน และนั่นไม่ใช่การขจัดการแพร่ระบาดที่จะตามมาอีกหลายระลอก

ถ้าเราสู้อย่างหนักเดี๋ยวนี้ เราจะสกัดกั้นความตายได้จำนวนมาก เราจะฟื้นระบบสาธารณสุข เราจะเตรียมตัวได้ดีกว่าและได้เรียนรู้มากขึ้น โลกไม่เคยได้เรียนรู้อะไรที่รวดเร็วแบบนี้ และเราต้องเรียนรู้เพราะว่าเรามีความรู้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นกับไวรัสชนิดนี้

ทั้งหมดนี้จะเห็นผลสำเร็จในสิ่งที่สำคัญ เราจะซื้อเวลา หรือถ้าเราตัดสินใจสู้อย่างแรง การต่อสู้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากนั้นจะค่อยๆ เดินไปทีละขั้นๆ เราจะถูกปิดล็อกเป็นสัปดาห์ ไม่ใช่เป็นเดือนๆ หลังจากนั้นเราจะได้เสรีภาพกลับคืนมามากยิ่งขึ้น มันไม่ใช่การกลับคืนสู่ภาวะปกติในเวลาสั้นๆ ทันทีทันใด แต่จะเป็นการปิดกั้นและในที่สุดจะกลับมาสู่ความปกติ เราสามารถทำได้ไปพร้อมกับการพิจารณาเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย

 

สถานการณ์คืออะไร?

ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นสถานการณ์โคโรนาไวรัสทั่วโลก นอกจากประเทศจีน เราจะมองเห็นแค่อิตาลี อิหร่าน และเกาหลีใต้ แต่ถ้าเราซูมไปที่มุมขวาล่างจะเห็นประเทศที่กำลังผุดขึ้นมาหลายประเทศ ประเด็นคือว่า ประเทศเหล่านี้กำลังจะเข้าไปร่วมกับประเทศสามประเทศแรกแล้ว เกิดอะไรขึ้น?

 

กราฟ โคโรนาไวรัส เปรียบเทียบรายประเทศ

โคโรน่าไวรัสเปรียบเทียบรายประเทศ

 

ภาพที่ 2 แสดงว่าเป็นไปตามที่คาดไว้ กรณีการแพร่ระบาดจำนวนมากเกิดการแตกระเบิดขึ้นภายในสิบกว่าประเทศ ถ้าเราจะแสดงให้เห็นเฉพาะประเทศที่มีการระบาดมากกว่า 1,000 คน สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ

  • สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกามีกรณีการแพร่ระบาดมากกว่าอิตาลี ณ ขณะที่อิตาลีประกาศปิดประเทศ
  • มีอีก 16 ประเทศที่เกิดกรณีการแพร่ระบาด (ในขณะที่ทำการวิเคราะห์นี้) มากกว่าหูเป่ย ในขณะที่มีการประกาศปิดเมือง: ญี่ปุ่น มาเลเซีย แคนาดา โปรตุเกส ออสเตรเลีย เช็คเกีย บราซิลและการ์ตา ประเทศเหล่านี้มีกรณีแพร่ระบาดมากกว่าหูเป่ยในตอนนั้น แต่ต่ำกว่า 1,000 กรณี ส่วนสวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ออสเตรีย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก มีกรณีการแพร่ระบาดมากกว่า 1,000 กรณี

เราเห็นบางอย่างที่แปลกในรายชื่อประเทศเหล่านี้ นอกประเทศจีนและอิหร่านซึ่งมีการระบาดขนานใหญ่และหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งบราซิลและมาเลเซีย ทุกประเทศในรายการนี้มาจากกลุ่มประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก

เราจะคิดว่าไวรัสมุ่งโจมตีประเทศที่ร่ำรวยหรือ? หรืออาจเป็นไปได้ที่ประเทศเหล่านี้สามารถที่จะระบุตัวไวรัสได้ดีกว่า? ไม่น่าเป็นไปได้ที่ประเทศที่ยากจนกว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ อากาศอุ่นกว่าและความชื้นที่สูงกว่าอาจจะช่วยได้ แต่มันไม่ได้ป้องกันการแพร่ระบาดได้โดยตรง มิเช่นนั้นแล้วสิงคโปร์และมาเลเซียหรือบราซิลก็อาจจะไม่มีการระบาด อาจจะเป็นไปได้ว่าโคโรน่าไวรัสอาจใช้เวลานานกว่าจะไปถึงประเทศเหล่านี้เพราะว่ามีการสัมพันธ์เชื่อมต่อน้อยกว่าหรือไม่ก็ไวรัสไปถึงแล้วแต่ประเทศเหล่านี้ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะลงทุนในการตรวจสอบเพื่อให้รู้ว่าเกิดการแพร่ระบาดไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็ความหมายว่าประเทศต่างๆ ส่วนมากไม่สามารถหนีพ้นโคโรน่าไวรัสได้ เป็นเรื่องของเวลาเท่านั้นก่อนที่จะเจอการแพร่ระบาด และจำต้องเลือกใช้มาตรการต่างๆ มาตรการอะไรบ้างที่ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเลือก

 

ทางเลือกคืออะไร?

ในด้านมาตรการที่สุดโต่ง เราเห็นสเปนและฝรั่งเศส ไทม์ไลน์ของสเปนในการใช้มาตรการ คือ วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม ประธานาธิบดีปฎิเสธคำแนะนำว่าทางการสเปนนั้นดูเบากับภัยคุกคามต่อสาธารณสุข, วันศุกร์ พวกเขาประกาศภาวะฉุกเฉิน, วันเสาร์ ออกมาตรการดังต่อไปนี้

  • ประชาชนออกจากบ้านไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุผลสำคัญ เช่น ไปร้านขายของเครื่องใช้ ทำงาน ซื้อยา ไปโรงพยาบาล ไปธนาคาร หรือบริษัทประกัน
  • ห้ามพาเด็กเดินออกจากบ้านหรือไปพบเพื่อนหรือครอบครัว
  • ปิดบาร์และร้านอาหาร เว้นแต่ซื้ออาหารกลับบ้าน
  • ปิดสถานบันเทิงทุกอย่าง กีฬา การฉายภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ เทศกาลเฉลิมฉลอง
  • การแต่งงานห้ามเชิญแขกมางาน งานศพมีแขกได้จำนวนจำกัด
  • การขนส่งมวลชนยังเปิดให้บริการ

พอวันจันทร์ปิดชายแดนทั้งหมด ผู้คนจำนวนหนึ่งบอกว่ามาตรการนี้ดีที่สุด แต่บ้างก็ปฏิเสธและดูเหมือนจะมีความสิ้นหวัง

ฝรั่งเศสก็มีมาตรการคล้ายๆ กัน แต่ใช้เวลานานกว่าจะยอมรับและเมื่อใช้แล้วก็เลือกมาตรการที่ก้าวร้าวมากกว่า เช่น ค่าเช่า ภาษีและค่าสาธารณูปโภคมีการยกเว้นให้ชั่วคราวแก่ธุรกิจเล็กๆ

ส่วนมาตรการในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ก็เหมือนประเทศต่างๆ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ ยังถ่วงเวลาในการดำเนินมาตรการต่างๆ และไทม์ไลน์ของสหรัฐอเมริกา คือ วันพุธที่ 11 มีนาคม สั่งห้ามการเดินทาง, วันศุกร์ ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติ แต่ยังไม่มีมาตรการสร้างความห่างในทางสังคม, วันจันทร์ รัฐบาลกระตุ้นเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงภัตตาคารหรือบาร์ และไม่ชุมนุมเกิน 10 คน ไม่ได้บังคับมาตรการสร้างระยะห่างในทางสังคม ทำเพียงแค่แนะนำให้ควรระวัง ต่อมามลรัฐและเมืองต่างๆ ริเริ่มบังคับมาตรการที่เข้มงวดกันเอง

ส่วนสหราชอาณาจักรใช้มาตรการแบบเดียวกัน รัฐบาลเพียงแค่ให้คำแนะนำมากมายหลายอย่าง แต่ก็มีมาตรการบังคับน้อยมาก

กลุ่มประเทศสองกลุ่มเหล่านี้แสดงให้เห็นแนวทางในการสู้กับโคโรน่าไวรัส คือ ไม่ทำอะไรเลย, ผ่อนหนักให้เป็นเบา, หรือปราบอย่างรุนแรง

เรามาทำความเข้าใจความหมายของแนวทางนี้

 

ทางเลือกที่ 1: ไม่ทำอะไรเลย

เรามาลองดูกันว่าการไม่ทำอะไรเลยนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นกรณีของสหรัฐอเมริกา

 

กราฟผู้ติดเชื้อ ทางเลือกที่ 1 หากไม่ทำอะไรเลย

 

ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ทุกๆ คนจะติดเชื้อ ระบบสาธารณสุขจะรับภาระหนักจนล้นเกิน การตายจะเพิ่มมากขึ้นเหมือนอย่างระเบิด คนประมาณ 10 ล้านจะตาย (ดูแท่งสีน้ำเงิน) ถ้าร้อยละ 75 ของคนอเมริกันติดเชื้อ ร้อยละ 4 จะตาย นั่นก็คือคนจำนวน 10 ล้านจะตายหรือประมาณ 25 เท่าของการตายของคนอเมริกันที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ 2

คุณอาจจะคิดว่ามันมากเกินไปหรือไม่? เราเคยได้ยินมาว่าคนจะตายน้อยกว่านั้นมาก ข้อสรุปก็คือ ตัวเลขทั้งหมดนี้อาจจะทำให้งงได้ง่าย แต่มีตัวเลขสองประเภทที่สำคัญ คือสัดส่วนของคนที่ติดเชื้อไวรัสและกลายเป็นคนป่วย และสัดส่วนที่คนกลุ่มนี้จะตาย ถ้าคนร้อยละ 25 ป่วย (เพราะว่าคนอื่นๆ อาจติดไวรัสแต่ไม่แสดงอาการ ดังนั้นจึงไม่ถูกนับว่าติดเชื้อและป่วย) และอัตราการตายเป็นร้อยละ 0.6 แทนที่จะเป็นร้อยละ 4 แต่รวมแล้วอาจจะมีคนตาย 500,000 คนในอเมริกา

ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จำนวนคนตายจากโคโรนาไวรัสอาจจะตกอยู่ในช่วงระหว่างตัวเลขสองตัว ความต่างระหว่างตัวเลขสุดโต่งสองแบบจะถูกขับดันโดยอัตราการตาย ดังนั้นการที่เราเข้าใจเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ อะไรกันแน่ที่ทำให้เกิดการตายโดยโคโรนาไวรัส?

อัตราการเสียชีวิต (Fatality Rate) คืออะไร? นี่เป็นกราฟแบบเดิม แต่ตอนนี้เรามาดูที่คนที่เข้าโรงพยาบาลแทนที่จะไปดูที่คนที่ติดเชื้อและตาย

 

ภาพจำนวนคนไข้COVID-19 ที่เข้่าโรงพยาบาล กับศักยภาพของ รพ. ที่รับได้

 

พื้นที่สีฟ้าอ่อนคือจำนวนคนที่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล และสีฟ้าเข้มคือคนที่จำเป็นต้องเข้าห้องไอซียู จะเห็นได้ว่าตัวเลขจะขึ้นสูงสุดที่เกิน 3 ล้านคน

ตอนนี้เรามาเปรียบเทียบจำนวนเตียงในห้องไอซียูที่เรามีในสหรัฐอเมริกา (50,000 เตียง ในปัจจุบัน เราอาจจะคูณสองไปได้ถ้ามีการเพิ่มปรับพื้นที่ใช้งานเท่าที่มีอยู่) นั่นก็คือเส้นประสีแดง แต่เส้นนั้นไม่ใช่ความคลาดเคลื่อน เส้นประสีแดงนั้นคือศักยภาพของเตียงผู้ป่วยไอซียูที่มีอยู่ ใครที่ตกอยู่เหนือเส้นนี้ขึ้นไปจะอยู่ในภาวะวิกฤต ไม่สามารถจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ตนเองจำเป็นต้องได้รับ และน่าจะต้องตาย

แทนที่จะดูที่เตียงคนไข้ห้องไอซียู เราสามารถจะดูที่เครื่องช่วยหายใจ (Ventilators) แต่ผลการวิเคราะห์ก็จะเหมือนกันเพราะมีเครื่องช่วยหายใจน้อยกว่า 100,000 เครื่องในสหรัฐอเมริกา นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้คนตายเป็นกลุ่มใหญ่ในหูเป่ย และปัจจุบันก็กำลังเป็นกลุ่มใหญ่ในอิตาลีและในอิหร่าน

อัตราการตายในหูเป่ยลดลงในที่สุด ซึ่งดีขึ้นมากกว่าที่ควร เพราะมีการสร้างโรงพยาบาลใหม่สองแห่งในเวลาชั่วข้ามคืน อิตาลีและอิหร่านไม่สามารถทำแบบเดียวกันได้ บางประเทศทำได้ บางประเทศทำไม่ได้ และผลในท้ายที่สุดก็อย่างที่เห็น

ดังนั้นทำไมอัตราการตายจึงใกล้เคียงกับร้อยละ 4 คำตอบก็คือ ถ้าร้อยละ 5 ของกรณีการติดเชื้อจากการแพร่ระบาดซึ่งต้องการการรักษาแบบการดูแลผู้ป่วยหนักและเราไม่สามารถทำได้ คนกลุ่มนี้ส่วนมากจะตาย นี่คือเหตุผลง่ายๆ

ความสูญเสียตามมาโดยไม่ตั้งใจจะเกิดขึ้นอีก เพราะตัวเลขเหล่านี้เป็นการตายจากโคโรน่าไวรัสเท่านั้น แต่อะไรจะเกิดขึ้นถ้าระบบสาธารณสุขล่มเพราะคนไข้โคโรน่าไวรัสมีมากล้นเกิน คนไข้ประเภทอื่นอาจจะตายไปด้วยเพราะโรคของตัวเอง อะไรจะเกิดขึ้นถ้าคนเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน แต่รถพยาบาลต้องใช้เวลาถึง 50 นาที แทนที่จะเป็น 8 นาทีในการมารับตัวผู้ป่วย เพราะต้องไปรับผู้ป่วยโคโรน่าไวรัสหลายคนก่อน และเมื่อรถพยาบาลมาถึงก็ไม่มีไอซียูและไม่มีหมอเหลืออยู่ ในที่สุดคนไข้ก็จะตาย

ในสหรัฐอเมริกามีคนไข้ไอซียูที่เข้ารับการรักษาจำนวน 4 ล้านคนต่อปี และในนี้มีคนไข้ถึง 500,000 คนต้องตาย (ประมาณร้อยละ 13) ถ้าไม่มีเตียงคนไข้ไอซียู สัดส่วนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 80 ถึงแม้จะมีคนตายเพียงแค่ร้อยละ 50 ก็ตาม ถ้าการระบาดลากยาวไปถึงหนึ่งปี เราจะมีคนตายจากห้องไอซีจาก 500,000 คน กลายเป็น 2,000,000 คน นี่คือความสูญเสียที่ตามมาโดยไม่ตั้งใจ (Collateral Damage)

ถ้าหากโคโรน่าไวรัสถูกปล่อยให้แพร่ระบาด ระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาจะล่ม และจะมีคนตายเป็นจำนวนหลายล้าน อาจจะมากกว่า 10 ล้านคน แนวคิดแบบเดียวกันนี้จะเกิดกับประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะจำนวนเตียงคนไข้ไอซียู เครื่องช่วยหายใจและคนทำงานสาธารณสุขนั้นเหมือนกับอเมริกาหรือน้อยกว่าในหลายประเทศ

จนถึงขณะนี้เราควรจะมีปฏิบัติการทันที ทางเลือกมีอยู่สองอย่างคือการผ่อนหนักเป็นเบา (Mitigation) และการปราบ (Suppression) ทั้งสองแนวทางมุ่งจะทำให้เส้นโค้งรูประฆังกลายเป็นเส้นแบนราบ แต่ทั้งสองทางเลือกก็ทำงานต่างกัน

 

ทางเลือกที่ 2: กลยุทธ์การผ่อนหนักเป็นเบา

คนที่มีแนวคิดแบบผ่อนหนักเป็นเบาจะพูดทำนองว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกันโคโรน่าไวรัสเดี๋ยวนี้ ดังนั้นเราจะทำเพียงแค่ยอมให้มันเดินไปตามทางของมัน ในขณะเดียวกันต้องลดจุดที่สูงสุดของการแพร่ระบาดเชื้อ เราทำเพียงแค่ทำให้เส้นโค้งรูประฆังกลายเป็นเส้นแบนราบให้มากขึ้นทีละน้อยเพื่อให้ระบบสาธารณสุขจัดการกับมันได้”

 

กราฟ เตียงผู้ป่วยฉุกเฉินต่อประชากร 1,000,000 คน

 

ภาพที่ 5 ยอดสูงสุดของความต้องการเตียงไอซียูในสหราชอาณาจักร จำแนกตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมแบบต่างๆ ภาพในกราฟนี้เอามาจากบทความที่ตีพิมพ์โดย Imperial College London เห็นได้ชัดว่ามันผลักดันให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนเส้นทางเดิน กราฟนี้คล้ายกับที่เสนอไปก่อนหน้านี้ แม้จะไม่เหมือนกันแต่แนวคิดก็ใกล้เคียง

ในสถานการณ์นี้ “การไม่ทำอะไร” คือเส้นโค้งสีดำ เส้นโค้งอื่นๆ แต่ละเส้นบอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราดำเนินมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมแบบที่เข้มขึ้น เส้นสีฟ้าแสดงให้เห็นผลของมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมแบบที่เข้มที่สุด โดยแยกคนที่ติดเชื้อออกโดดเดี่ยว กักตัวประชาชนที่อาจจะติดเชื้อ และคัดแยกคนสูงอายุออก เส้นสีฟ้านี้คือกลยุทธ์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในขณะนี้ แม้ว่ากระทั่งปัจจุบันพวกเขายังใช้วิธีแค่ให้คำแนะนำแต่ไม่บังคับ

เส้นสีแดงคือศักยภาพของห้องไอซียูในสหราชอาณาจักร ดูอีกครั้งว่าเส้นนี้อยู่ใกล้กับฐานล่างสุด อาณาบริเวณทั้งหมดของเส้นโค้งทั้งหลายที่อยู่เหนือเส้นแดงแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโคโรน่าไวรัสน่าจะเสียชีวิตเพราะขาดทรัพยากรในห้องไอซียู และไม่ใช่เพียงแค่นั้น ในขณะที่พยายามทำให้เส้นโค้งรูประฆังกลายเป็นเส้นแบนราบให้มากขึ้นนั้นจะทำให้ระบบไอซียูล่มเป็นเวลาหลายเดือนด้วย จึงเพิ่มอัตราความสูญเสียตามมาโดยไม่ตั้งใจให้มากขึ้นไปอีก

เราอาจจะช็อกเมื่อได้ยินคำพูดว่า “เรากำลังทำการผ่อนหนักให้เป็นเบา” แต่สิ่งที่พวกเขากำลังพูดจริงๆ คือว่า “เรากำลังทำให้ระบบสาธารณสุขท่วมท้นอย่างรุนแรงโดยที่เราก็รู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันจะขับดันให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น”

แนวคิดแบบก็นี้แย่พอแล้ว แต่ไม่เพียงแค่นั้น เพราะข้อสมมุติฐานที่สำคัญของกลยุทธ์นี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันโรคของชุมชน” (Herd Immunity)

แนวคิดนี้คือเมื่อคนทั้งหมดที่ติดเชื้อและฟื้นตัวได้จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส นี่เป็นแกนกลางของกลยุทธ์นี้ “ฟังให้ดี เรารู้ว่าสถานการณ์จะดูแย่ลงในบางชั่วขณะ แต่ในทันทีที่เราทำสำเร็จและมีคนสักสองสามล้านตาย พวกเราที่เหลืออยู่ก็จะมีภูมิคุ้มกันไวรัส ดังนั้นไวรัสจะหยุดแพร่ระบาดและเราก็จะบอกอำลากับโคโรน่าไวรัส เราควรจะยอมรับมันโดยทันทีและก็จบเรื่องนี้ได้เพราะการรักษาระยะห่างทางสังคมไปทั้งปีก็ยังเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างสูงตามมาอยู่ดี”

เว้นเสียแต่ว่า แนวคิดนี้มีฐานคติอย่างหนึ่งคือ ไวรัสจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก ถ้าเป็นเช่นนี้ คนจำนวนมากจะได้รับภูมิคุ้มกันโรค และเมื่อถึงจุดหนึ่ง การระบาดจะหยุดไปเอง

แต่เป็นไปได้ไหมที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ ใช่ ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นแล้ว

 

ภาพแสดงการกลายพันธุ์ของ COVID-19

 

กราฟนี้แสดงให้เห็นว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสมีหลายแบบ สายพันธุ์แรกเกิดขึ้นในจีน (สีม่วง) และแพร่ระบาดออกไป แต่ละครั้งที่แตกตัวไปในกราฟซ้ายมือคือเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น ทำให้มีความแปรผันต่างกันเล็กน้อยในตัวไวรัส

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ไวรัสที่มีพื้นฐานมาจาก RNA แบบโคโรน่าไวรัสหรือไข้หวัดใหญ่มักจะมีโอกาสกลายพันธุ์ได้มากกว่าไวรัสที่มีฐานมาจาก DNA ถึง 100 เท่า แม้ว่าโคโรน่าไวรัสจะกลายพันธุ์ได้ช้ากว่าไวรัสในไข้หวัดใหญ่ ไม่เพียงแค่นั้น วิถีทางดีที่สุดสำหรับไวรัสชนิดนี้ที่จะกลายพันธุ์ได้ก็คือการมีโอกาสขยายพันธุ์มากถึงจำนวนหลายล้านครั้ง ซึ่งตรงกันพอดีกับกลยุทธ์การผ่อนหนักเป็นเบาที่จะเปิดโอกาสให้มันทำได้

นี่เป็นสาเหตุที่เราต้องฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่กันทุกปีเพราะมีสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่มากมายและกำลังแตกตัวใหม่ไปเรื่อยๆ แต่การฉีดยาไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ทุกสายพันธุ์ กล่าวอีกแง่หนึ่ง กลยุทธ์การผ่อนหนักเป็นเบาไม่เพียงแค่มีข้อสมมติฐานว่าคนเป็นล้านจะตายในประเทศอย่างสหราชอาณาจักรหรือสหรัฐอเมริกา กลยุทธ์นี้ยังเล่นพนันกับข้อเท็จจริงที่ว่าไวรัสไม่กลายพันธุ์มากจนเกินไป ทั้งที่เรารู้ว่ามันกลายพันธุ์มาก และกลยุทธ์นี้ก็ยังเปิดโอกาสให้ไวรัสได้กลายพันธุ์ด้วย

ดังนั้นในทันทีที่คนเป็นจำนวน 2-3 ล้านคนตายไปแล้ว เราก็จะต้องเตรียมพร้อมรับสำหรับคนตายต่อไปอีก 2-3 ล้านคนทุกๆ ปี โคโรน่าไวรัสจะกลายเป็นความจริงแห่งชีวิตที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กันต่อไปเหมือนกับไข้หวัดใหญ่แต่เป็นอันตรายถึงตายมากยิ่งกว่าหลายเท่าตัว เพราะฉะนั้น หากการไม่ทำอะไรและการผ่อนหนักเป็นเบาใช้ไม่ได้ ทางเลือกคืออะไร? ก็แหลือแนวทางที่เรียกว่าการปราบ (Suppression)

 

ทางเลือกที่ 3: กลยุทธ์การปราบ

กลยุทธ์การผ่อนปรนไม่พยายามจะจำกัดการแพร่ระบาด เพียงแค่ทำให้เส้นโค้งรูประฆังกลายเป็นเส้นแบนราบให้มากขึ้นทีละน้อย ขณะเดียวกันกลยุทธ์การปราบพยายามจะใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่หมัด มาตรการโดยเฉพาะคือ

  • ออกมาตรการเข้มข้นเดี๋ยวนี้ สั่งให้มีการรักษาระยะห่างอย่างรุนแรง จะต้องควบคุมเรื่องนี้ให้ได้
  • จากนั้นก็ผ่อนมาตรการเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมามีเสรีภาพเป็นขั้นๆ และกลับเข้าสู่ภาวะปกติของชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ

 

กรณีการติดเชื้อโคโรนาไวรัสและการเสียชีวิตภายใต้มาตรการปราบ สถิติ กราฟ

 

ภายใต้กลยุทธ์การปราบ หลังจากผ่านการจัดการในคลื่นแรก อัตราการตายจะเป็นหลักพันไม่ใช่หลักล้าน

ทำไม? เพราะว่าเราไม่ทำเพียงแค่การตัดอัตราการขยายาตัวของกรณีการติดเชื้อในแบบทวีคูณ แต่เรายังตัดอัตราการตายด้วยเพราะระบบสาธารณสุขจะไม่ถูกทำให้ท่วมล้น ถ้าเราใช้อัตราการตายเท่ากับร้อยละ 0.9 เท่ากับในเกาหลีใต้ทุกวันนี้ เพราะใช้กลยุทธ์การปราบที่มีประสิทธิผลที่สุด การกล่าวเช่นนี้ดูเหมือนไร้สติที่จะบอกว่าทุกคนควรจะทำตามกลยุทธ์การปราบ แต่ทำไมรัฐบาลบางรัฐบาลยังลังเลใจ เพราะพวกเขากลัวอยู่สามเรื่องคือ

  1. การปิดเมืองหรือปิดประเทศจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นสิ่งที่รับไม่ได้สำหรับคนหลายคน
  2. การปิดเมืองเป็นเดือนจะทำลายเศรษฐกิจ
  3. อาจจะไม่แก้ปัญหาด้วยซ้ำ เพราะเราทำเพียงแค่เลื่อนเวลาการระบาด และต่อมาเมื่อเราผ่อนคลายมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม คนเป็นล้านก็จะยังติดเชื้อไวรัสและตายอยู่ดี

นี่คือสิ่งที่ทีมวิจัย Imperial College สร้างโมเดลการปราบ เส้นสีเขียวและสีเหลืองเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในแบบที่ต่างกันถ้าใช้การปราบ เราจะเห็นได้ว่ามันดูไม่ดีเลยเพราะเรายังคงต้องรับกับจุดสูงสุดของการระบาดขนานใหญ่ ดังนั้นจะไปคิดเรื่องนี้ทำไม?

เตียงผู้ป่วยฉุกเฉินต่อประชากร 1,000,000 คน

เราจะพูดเรื่องนี้ต่อไปทีหลัง แต่มีเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่า เราหลุดประเด็นสำคัญตรงนี้ไป การนำเสนอโมเดลแบบนี้ที่ให้กลยุทธ์การผ่อนหนักเป็นเบาและกลยุทธ์การปราบมาอยู่ข้างๆ กัน ทำให้มันดูไม่น่าประทับใจ เหมือนให้เลือกสองอย่าง คนจะตายเป็นจำนวนมากในไม่ช้าและเราไม่ทำลายเศรษฐกิจในวันนี้ หรือเราจะทำให้เจ็บปวดในทางเศรษฐกิจวันนี้และเลื่อนการตายจำนวนมากออกไป ตรงนี้เป็นการมองข้ามคุณค่าของ “เวลา”

 

คุณค่าของเวลา

ในการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ เราอธิบายคุณค่าของเวลาในการช่วยชีวิตมนุษย์ ทุกๆ วัน ทุกๆ ชั่วโมงเรารอคอยที่จะใช้มาตรการต่างๆ แม้กระนั้นภัยคุกคามที่เพิ่มแบบทวีคูณก็ยังคงเดินหน้าแพร่กระจายเชื้อต่อไปเรื่อยๆ เรามองเห็นว่าเวลาหนึ่งวันสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ร้อยละ 40 และลดการตายได้มากขึ้น แต่เวลายิ่งมีคุณค่ามากกว่านั้น เรากำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันที่เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดที่มีต่อระบบสาธารณสุขอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เรายังไม่มีความพร้อมอย่างสิ้นเชิง เรากำลังเผชิญหน้ากับข้าศึกที่เราไม่รู้จัก นี่ไม่ใช่สถานะที่ดีเลยในภาวะสงคราม

อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเรากำลังเผชิญหน้ากับศัตรูที่อันตรายที่สุดโดยที่เราเองรู้จักมันน้อยมากและเรามีสองทางเลือก จะวิ่งเข้าหามันหรือจะหลบหนีด้วยการซื้อเวลาให้ตัวเองทีละน้อยเพื่อจะได้เตรียมตัว ทางเลือกใดที่เราจะตัดสินใจ?

นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องทำวันนี้ โลกตื่นขึ้นแล้ว ทุกๆ วันที่เราเลื่อนเวลาการแก้ปัญหาโคโรน่าไวรัสออกไป เราสามารถจะเตรียมตัวให้ดีขึ้น

ในตอนต่อไปคือรายละเอียดที่เราจะซื้อเวลา ลดจำนวนของคนที่ติดเชื้อด้วยการใช้วิธีปราบอย่างมีประสิทธิผล จำนวนของกรณีคนติดเชื้อจะลดลงแบบลูกดิ่งชั่วข้ามคืน นี่คือสิ่งที่เรามองเห็นจากกรณีหูเป่ย

 

สถิติ แสดงกลยุทธ์การปราบ COVID-19 ในหูเป่ย

 

ในวันนี้ มีกรณีผู้ติดเชื้อรายใหม่ของโคโรน่าไวรัสต่อวันเท่ากับ 0 จากประชากร 60 ล้านคนในภูมิภาคหูเป่ย การตรวจวินิจฉัยคนป่วยจะเดินหน้าต่อไปอีกสองสัปดาห์ จากนั้นกรณีคนติดเชื้อจะเริ่มลดลง การที่มีกรณีผู้ติดเชื้อลดลงทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง และความสูญเสียที่ตามมาโดยไม่ตั้งใจก็จะลดลงด้วย คนที่ตายด้วยโรคอื่นๆ ที่มิใช่ไวรัสโคโรน่าจะมีน้อยลงเพราะระบบสาธารณสุขไม่ถูกทำให้รับภาระล้นเกิน ดังนั้น การปราบจะทำให้เราได้ผลตามมาคือ

  • มีกรณีการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสน้อยลง
  • ผ่อนภาระเฉพาะหน้าของระบบสาธารณสุขและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
  • ลดอัตราการตาย
  • ลดอัตราความสูญเสียที่ตามมาโดยไม่ตั้งใจ

สามารถจัดการบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อให้ถูกแยกและกักตัว เพื่อให้สุขภาพดีขึ้นและกลับมาทำงานต่อ ในอิตาลีบุคลากรสาธารณสุขมีถึงร้อยละ 8 ของผู้ติดเชื้อ

การเข้าใจปัญหาที่แท้จริง: การตรวจและการติดตามร่องรอย(Testing and Tracing)

ในขณะนี้ สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกายังคิดไม่ออกว่าตัวเลขของกรณีผู้ติดเชื้อที่แท้จริงคืออะไร เรายังไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เราเพียงแค่รู้ว่าตัวเลขที่เป็นทางการนั้นไม่ถูกต้องและตัวเลขจริงน่าจะถึงหมื่นคน นี่เป็นเพราะว่าเราไม่เคยตรวจและไม่เคยติดตามร่องรอย

ภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ เราสามารถจัดระบบการตรวจให้เข้าที่เข้าทาง และเริ่มตรวจทุกๆ คน ด้วยข้อมูลดังกล่าวเราจะรู้ได้ในที่สุดว่าขอบเขตของปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน เราจะมีมาตรการเชิงรุกได้ที่ไหน และชุมชนอะไรมีความปลอดภัยที่จะปลดปล่อยมาตรการปิดเมือง

  • วิธีการตรวจแบบใหม่สามารถจะเร่งการตรวจและลดต้นทุนลงอย่างมาก
  • เรายังสามารถที่จะจัดการเรื่องปฏิบัติการติดตามร่องรอยเหมือนที่ทำในจีนหรือประเทศในเอเชียตะวันออกที่สามารถระบุคนทุกคนที่ผู้ป่วยหนักไปพบเจอ และกักตัวพวกเขาไว้ได้ นี่จะเป็นการให้ความรู้อย่างใหญ่หลวงเพื่อที่จะปล่อยพวกเขาออกไปและเริ่มมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ถ้าเรารู้ว่าไวรัสอยู่ที่ไหน เราก็พุ่งเป้าไปที่บางสถานที่เท่านั้น นี่ไม่ใช่วิทยาการสร้างจรวด แต่เป็นหลักพื้นฐานที่ประเทศเอเชียตะวันออกสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโดยไม่ต้องอาศัยวิธีการเข้มงวดกวดขันอย่างหนักในการรักษาระยะห่างทางสังคมแบบที่บางประเทศทำกัน

มาตรการในส่วนนี้ (การตรวจและการติดตามร่องรอย) เกาหลีใต้นำมาใช้ในการจำกัดการเติบโตของโคโรน่าไวรัสโดยไม่ต้องอาศัยใครอื่นและสามารถคุมโรคระบาดได้โดยไม่ต้องอาศัยการบังคับเข้มงวดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม

 

การเสริมสร้างศักยภาพ

สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรกำลังเข้าสู่สงครามโดยไม่มีเกราะป้องกัน เรามีหน้ากากไว้ใช้งานได้เพียงแค่สองสัปดาห์ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ไม่เพียงพอ ไม่มีเครื่องช่วยการหายใจที่เพียงพอ เตียงไอซียูก็ไม่พอ เครื่องผลิตออกซิเจนในเลือด (ECMOs) ไม่เพียงพอ นี่ก็เป็นสาเหตุทำให้อัตราการตายสูงขึ้นมากในกลยุทธ์การผ่อนหนักเป็นเบา แต่ถ้าเราซื้อเวลาให้ตัวเอง เราก็จะสามารถพลิกสถานการณ์ได้

  • เราจะมีเวลาพอที่จะซื้อเครื่องมือที่เราต้องการสำหรับคลื่นการระบาดในอนาคต
  • เราสามารถเพิ่มการผลิตหน้ากาก ผลิต PPEs ผลิตเครื่องช่วยหายใจและ ECMOs และอุปกรณ์ที่สำคัญอื่นๆ เพื่อลดอัตราการตาย กล่าวในอีกแง่หนึ่งเราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเป็นปีเพื่อสร้างเกราะป้องกันกระสุน แต่ต้องการเวลาแค่ห้วงสัปดาห์ เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การผลิตเริ่มเดินเครื่อง ประเทศต่างๆ ต้องระดมกัน เราจะต้องรอเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อให้ได้เกราะกันกระสุนในเมื่อกำลังอยู่ต่อหน้าศัตรูที่ฆ่าเราได้หรือ? นี่ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างศักยภาพที่เราต้องการ เรายังต้องการบุคลากรสาธารณสุขให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจะได้พวกเขามาจากไหน เราจำเป็นจะต้องฝึกผู้ช่วยพยาบาล เราต้องการบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นโดยหามาจากผู้ที่เกษียณอายุ เราสามารถจะทำได้ในเวลาสองสามสัปดาห์แต่จะทำไม่ได้เลยถ้าทุกสิ่งทุกอย่างล่ม

 

ลดระดับการแพร่ระบาดในที่สาธารณะ

ประชาชนทั่วไปกำลังกลัว โคโรน่าไวรัสเป็นสิ่งใหม่ มีเรื่องอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ประชาชนยังไม่เรียนรู้ให้หยุดจับมือทักทายกัน พวกเขายังกอดกัน พวกเขาไม่เปิดประตูด้วยข้อศอก ไม่ล้างมือหลังจากจับลูกบิดประตู พวกเขาไม่ฆ่าเชื้อบนโต๊ะก่อนจะนั่งลง ทันทีที่เรามีหน้ากากเพียงพอ เราสามารถจะใช้มันนอกระบบสาธารณสุข แต่ตอนนี้เป็นการดีกว่าที่จะเก็บไว้ใช้กับบุคลากรสาธารณสุข แต่ถ้ามันไม่ขาดแคลน ประชาชนทั่วไปก็ควรจะใส่หน้ากากในชีวิตประจำวันอันจะทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นน้อยลง การสวมใส่หน้ากากดีกว่าไม่ใส่เลย ทั้งหมดนี้เป็นวิธีต้นทุนต่ำที่สุดที่จะลดการแพร่เชื้อโรค

 

ทำความเข้าใจไวรัส

เรายังรู้น้อยมากเรื่องไวรัส แต่ทุกๆ สัปดาห์จะมีบทความจากรายงานวิจัยออกมาเรื่อยๆ

 

สถิติ กราฟ อัตราเร่งของการวิจัยโคโรนาไวรัส

 

โลกกำลังผนึกกำลังต่อสู้กับศัตรูร่วมกัน นักวิจัยมากมายทั่วโลกกำลังระดมกำลังกันเพื่อทำความเข้าใจไวรัสนี้ให้มากขึ้น คำถามที่ต้องหาคำตอบคือไวรัสนี้แพร่กระจายอย่างไร? ทำอย่างไรเราจึงจะลดการแพร่ระบาดลงได้? พาหะนำเชื้อที่ไม่แสดงอาการมีสัดส่วนมากน้อยขนาดไหน? พวกเขาทำให้เกิดการระบาดไหม? วิธีการบำบัดรักษาที่ดีคืออะไร? มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ต่างกันมีผลต่างกันไหมต่ออัตราการแพร่ระบาด? ต้นทุนของมาตรการเหล่านี้คือเท่าไหร่? การติดตามร่องรอยแบบไหนดีที่สุด? การตรวจของเรามีความเที่ยงตรงน่าเชื่อถือเพียงใด?

การตอบคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เรารับมืออย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น ในขณะที่เราสามารถจะลดผลกระทบที่ตามมาที่ไม่ได้คาดหมายไว้ในทางสังคมและเศรษฐกิจ

 

การค้นหาวิธีบำบัดรักษา

อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราพบวิธีการรักษาภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า? ในทุกๆ วันเรากำลังเดินเข้าใกล้วิธีการบำบัดรักษา ในขณะนี้มีความเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น Favipiravir, Chloroquine หรือ Chloroquine ผสมกับ Azithromycin อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราพบวิธีการรักษาโคโรน่าไวรัสในอีกสองเดือนข้างหน้า? จะไม่ดูเป็นการเสียค่าโง่หรือถ้าเราดันไปทำให้คนเสียชีวิตเป็นล้านไปแล้วเพราะการหันไปใช้กลยุทธ์ผ่อนหนักเป็นเบา

 

เข้าใจค่าใช้จ่าย ต้นทุน และผลประโยน์ตอบแทน

ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นจะช่วยเราให้รักษาชีวิตคนเป็นจำนวนล้าน นั่นก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ฝ่ายการเมืองคงไม่คิดเพียงแค่ชีวิตของผู้ติดเชื้อเท่านั้น พวกเขาจะคิดถึงประชากรทั้งหมด และมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มข้นจะมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าวิธีการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ต่างแบบกันจะช่วยลดการแพร่เชื้อต่างกันอย่างไร เรายังไม่รู้ว่าต้นทุนทางสังคมเศรษฐกิจของมันเป็นอย่างไร คงเป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะตัดสินใจว่ามาตรการใดจำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ถ้าเรายังไม่รู้ค่าใช้จ่าย ต้นทุน และผลประโยชน์ตอบแทน

 

การใช้ค้อนและเริงระบำ

ตอนนี้เรารู้แล้วว่ากลยุทธ์การผ่อนหนักเป็นเบาอาจจะเป็นทางเลือกที่เลวร้าย และกลยุทธ์การปราบมีผลประโยชน์อย่างขนานใหญ่ในระยะสั้น แต่คนก็ยังมีความกังวล (อย่างสมเหตุสมผล) ในกลยุทธ์นี้ กล่าวคือ

  • กลยุทธ์การปราบนี้จะใช้เวลานานไปไหม?
  • ต้นทุนของกลยุทธ์การปราบจะแพงไปไหม?
  • อาจจะเกิดยอดสูงสุดของคลื่นการระบาดมากพอๆ กับการที่เราไม่ทำอะไรเลยไหม?

ตรงนี้ถ้าเรามองดูที่กลยุทธ์การปราบว่ามันเป็นอะไรจริงๆ เราอาจจะเรียกมันว่าการใช้ค้อนและการเริงระบำ

 

การใช้ค้อน

อันดับแรกสุด เราปฎิบัติการด้วยความรวดเร็วและก้าวร้าว ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังที่กล่าวไปแล้ว ด้วยการคำนึงถึงคุณค่าของเวลา เราต้องการจะปราบสิ่งนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

กราฟบ่งบอกถึง การปราบ vs. การผ่อนหนักเป็นเบา vs. การไม่ทำอะไร

 

คำถามที่สำคัญที่สุดคือกลยุทธ์การปราบนี้จะใช้เวลานานไปไหม? มีความกลัวว่าทุกคนจะถูกล็อกประตูในบ้านตัวเองนานเป็นเดือน ซึ่งจะทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจและสติแตกกัน แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากบทความของทีมวิจัย Imperial College

 

เตียงผู้ป่วยฉุกเฉินต่อประชากร 1,000,000คน

 

เมื่อกลับไปดูอีกทีที่ภาพนี้ พื้นที่สีฟ้าอ่อนจะเริ่มจากปลายเดือนมีนาคมไปจบที่สิ้นเดือนสิงหาคม อันเป็นห้วงเวลาที่บทความนี้แนะนำว่าเป็นการใช้ค้อนทุบ การปราบเริ่มด้วยการบังคับให้ใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างรุนแรง ถ้าเราเป็นนักการเมืองและมองเห็นว่าทางเลือกคือการยอมปล่อยให้คนเป็นแสนหรือล้านตายไปด้วยกลยุทธ์การผ่อนหนักเป็นเบา หรือการให้เศรษฐกิจหยุดตัวลง 5 เดือนก่อนแล้วก็เดินไปสู่คลื่นสูงสุดของการติดเชื้อและการตายมากมายอีกเช่นกัน ข้อเสนอทางเลือกอันนี้ดูจะไม่น่าประทับใจนัก

แต่สถานการณ์ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นในแบบที่กล่าว บทความชิ้นนี้ซึ่งมีอิทธิพลมากต่อนโยบายในวันนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดว่ามีจุดอ่อนมาก พวกเขามองข้ามการติดตามร่องรอย (Tracing) อันเป็นแกนสำคัญของนโยบายที่ใช้ในเกาหลีใต้ จีนหรือสิงคโปร์ หรือมาตรการห้ามเดินทางที่จีนใช้ มองข้ามผลกระทบของการห้ามฝูงชนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ และการใช้มาตรการค้อนทุบจำเป็นต้องใช้เวลาแค่เป็นช่วงสัปดาห์ไม่ใช่เป็นเดือนๆ

 

 

ภาพที่ 12 นี้แสดงให้เห็นกรณีการติดเชื้อใหม่ๆ ในภูมิภาคหูเป่ยทั้งหมด (มีประชากร 60 ล้านคน) รายงานทุกวันตั้งแต่ 23 มกราคม ภายใน 2 สัปดาห์ ประเทศกลับไปสู่การเริ่มทำงานใหม่ ภายใน 5 สัปดาห์ สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม และภายใน 7 สัปดาห์ การวินิจฉัยโรคพบว่ามีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นี่เป็นภูมิภาคที่เลวร้ายที่สุดของจีน ในกราฟนี้แสดงให้เห็นแท่งสีส้มเท่านั้น ส่วนแท่งสีเทาซึ่งเป็นกรณีการติดเชื้อที่แท้จริงนั้นลดในแบบดิ่งลงก่อนหน้านี้ไปแล้ว (ดูในกราฟที่ 9)

มาตรการเหล่านี้ถูกนำไปใช้แบบเดียวกันในอิตาลี สเปนหรือฝรั่งเศส เช่น การแยกเดี่ยว การกักตัว ประชาชนจะต้องอยู่บ้านเว้นแต่มีเรื่องฉุกเฉิน หรือไปซื้ออาหาร มีการติดตามร่องรอยการติดต่อสัมพันธ์ การตรวจ การมีเตียงคนไข้เพิ่มขึ้น การห้ามเดินทาง

อย่างไรก็ดี รายละเอียดในทางปฎิบัติก็สำคัญด้วยเช่นกัน มาตรการของจีนมีความเข้มข้นกว่า ตัวอย่างเช่นคนในบ้านถูกจำกัดให้มีแค่หนึ่งคนต่อหนึ่งครัวเรือนที่สามารถออกจากบ้านไปซื้ออาหารทุกสามวัน การบังคับใช้มาตรการรุนแรงมาก มีความเป็นไปได้มากที่ความรุนแรงเข้มข้นนี้จะช่วยหยุดการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น แต่ในอิตาลี ฝรั่งเศสและสเปน มาตรการไม่แรงเท่าจีน และการดำเนินการไม่เข้มข้นเท่า คนยังเดินตามถนน หลายคนยังไม่ใส่หน้ากาก สิ่งนี้ทำให้การใช้ค้อนทุบจึงช้าลง และใช้เวลานานกว่าจะคุมการแพร่ระบาดได้เต็มที่

มีคำกล่าวของคนบางคนว่าประชาธิปไตยไม่สามารถจะทำเลียนแบบการลดกรณีการแพร่ระบาดแบบจีนได้ นี่เป็นการกล่าวผิด

 

กรณี การติดเชี้อ COVID-19 ใหม่ และการวิวัฒนาการในเกาหลีใต้

 

เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดนอกประเทศจีน ปัจจุบันการแพร่ระบาดอยู่ภายใต้การควบคุม เกาหลีใต้ทำสำเร็จโดยไม่ใช้มาตรการให้ประชาชนอยู่กับบ้าน แต่ทำได้โดยการโหมหนักในเรื่องตรวจ การติดตามร่องรอยความสัมพันธ์ และบังคับให้กักตัวและแยกเดี่ยวผู้ติดเชื้อ

จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้มาตรการต่างกันไป ประเทศที่มีการเตรียมพร้อมดี ด้วยการมีองค์กรที่มีอำนาจในเรื่องระบาดวิทยาที่เข้มแข็ง มีการให้การศึกษากับประชาชนเรื่องสุขภาวะ และการรักษาระยะห่างทางสังคม มีการตรวจและแยกเดี่ยวผู้ป่วย จะไม่ต้องจ่ายด้วยการใช้มาตรการที่หนักในเวลาต่อมา

ประเทศอย่างอิตาลี สเปน หรือฝรั่งเศสทำเรื่องเหล่านี้ได้ไม่ค่อยดีนักก็เลยจำเป็นจะต้องใช้ค้อน อาศัยมาตรการเข้มข้นเพื่อตามแก้ปัญหาให้ทันกาล การขาดมาตรการในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นภาพเปรียบเทียบด้านตรงข้ามที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ยังคงไม่สามารถจะทำได้อย่างที่สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือไต้หวันทำในการควบคุมไวรัส ทั้งที่การแพร่ระบาดขยายตัวในอัตราทวีคูณ แต่เป็นเรื่องของเวลามากกว่า ไม่ว่าจะโดยการแพร่ระบาดขนานใหญ่ หรือการยอมรับในความผิดพลาดของตนเองภายหลัง ประเทศเหล่านั้นก็จำเป็นจะต้องหันมาใช้มาตรการค้อนทุบอย่างหนักเพื่อชดเชย นี่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น

แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าหากการระบาดในเกาหลีใต้สามารถคุมได้ด้วยการใช้เวลาเป็นสัปดาห์โดยไม่ต้องใช้การบังคับให้รักษาระยะห่างทางสังคม ประเทศตะวันตกซึ่งใช้มาตรการค้อนทุบไปแล้วด้วยการบังคับให้รักษาระยะห่างทางสังคมอาจจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ มันจึงเป็นเรื่องของวินัย การจัดการ และการที่ประชาชนจะรับฟังปฎิบัติตามกฎมากน้อยเพียงใดด้วย

เมื่อมาตรการใช้ค้อนลงตัวแล้ว และโรคระบาดถูกควบคุมได้แล้ว ขั้นที่สองก็จะเริ่มต้น ขั้นนี้ก็คือการเริงระบำ

 

การเริงระบำ

ถ้าหากเราใช้ค้อนสู้กับโคโรน่าไวรัส ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์เราจะคุมมันได้และอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในการรับมือกับมัน ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องใช้เวลายาวนานในการจำกัดขอบเขตของมันจนกระทั่งเรามีวัคซีน

 

 

ตรงนี้อาจเป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เป็นความผิดพลาดที่คนทั่วไปมักคิดว่ามาตรการนี้จะทำให้คนติดอยู่ในบ้านเป็นเวลาหลายเดือน ที่จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

ความจริงแล้วชีวิตของพวกเราจะกลับไปสู่ภาวะที่ใกล้เคียงกับปกติ หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จกำลังอยู่ในภาวะการเริงระบำ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ใต้หวันและญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้มีสภาวะการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อมานาน ในกรณีของเกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อเป็นพันคนและพวกเขาก็ไม่ถูกปิดล็อกให้อยู่ในบ้าน

วิธีการง่ายมากคือ การตรวจอย่างมีประสิทธิภาพ การติดตามร่องรอยอย่างมีประสิทธิภาพ การห้ามเดินทาง การแยกเดี่ยวและกักตัวอย่างมีประสิทธิภาพ

ในสิงคโปร์ก็เช่นกัน มีการใช้มาตรการอย่างเกาหลีใต้ ในกรณีของสิงคโปร์มีการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกกักตัวและห้ามการเดินทาง สำหรับประเทศอื่นจะเป็นการสายเกินไปหรือไม่ เปล่าเลย ด้วยการใช้มาตรการค้อน พวกเขาจะมีโอกาสใหม่ในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าพวกเขายังรอต่อไป เขาจะต้องใช้ค้อนหนักขึ้นและใช้เวลานานมากขึ้น แต่มาตรการนี้ก็จะควบคุมโรคระบาดได้ แต่อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามาตรการเหล่านี้ไม่พอ

 

การเริงระบำของ R

เราจะเรียกช่วงระยะเวลายาวนานเป็นเดือนๆ ระหว่างการใช้มาตรการค้อนและเวลาที่เราจะมีวัคซีนหรือการรักษาที่ได้ผลว่า “การเริงระบำ” เพราะไม่ใช่ห้วงเวลาที่การใช้มาตรการจะมีความรุนแรงเข้มข้นเหมือนกัน บางภูมิภาคเราจะเห็นการระบาดอีกครั้ง ในบางที่จะไม่เกิดเป็นเวลานาน มันขึ้นอยู่กับว่ากรณีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้อย่างไร เราอาจมีมาตรการเข้มขึ้นในเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคมในบางพื้นที่หรือปล่อยให้หลวมในบางพื้นที่ นี่คือการเริงระบำของ R การเต้นรำระหว่างมาตรการปล่อยชีวิตให้กลับไปเหมือนเดิมและการปล่อยให้โรคแพร่ระบาดไป การเต้นระหว่างระบบเศรษฐกิจกับระบบสาธารณสุข

แต่การเริงระบำเช่นนี้เป็นอย่างไร? มันเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวรอบตัว R ถ้ายังจำได้ R คืออัตราการแพร่เชื้อ (Transmission Rate) ในระยะเริ่มแรกของการแพร่ระบาด ตามมาตรฐานนั้น ประเทศที่ไม่พร้อมจะอยู่ในช่วงระหว่าง 2 และ 3 หมายความว่าในระหว่าง 2-3 สัปดาห์แรกที่มีใครบางคนติดเชื้อ พวกเขาจะแพร่เชื้อให้คนประมาณ 2-3 คนโดยเฉลี่ย

ถ้า R มากกว่า 1 การแพร่ระบาดถือเป็นทวีคูณ ถ้าต่ำกว่า 1 การแพร่ระบาดจะหายไป ในระหว่างการใช้ค้อน เป้าหมายก็คือทำให้ Rเข้าใกล้ศูนย์ให้เร็วที่สุด เพื่อขจัดการแพร่ระบาด

ในอู่ฮั่น มีการคำนวณว่าค่า R ในตอนแรกเท่ากับ 3.9 และหลังจากการปราบและการกักตัวแบบรวมศูนย์ ค่า R ลดลงไปเป็น 0.32 แต่ทันทีที่เราก้าวไปสู่ช่วงของการเริงระบำ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรอย่างนั้นอีกต่อไป เราเพียงแค่รักษาค่า R ให้ต่ำกว่า 1

มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมจำนวนมากมักมีต้นทุนสูงสำหรับประชาชน พวกเขาอาจจะสูญเสียงานและธุรกิจ กระทบต่อนิสัยความเคยชินต่างๆ ในด้านการรักษาสุขภาพ เราสามารถที่จะทำให้ R ต่ำกว่า 1 ได้ด้วยมาตรการง่ายๆ เพียงบางอย่างเท่านั้น

 

 

ภาพนี้เป็นการประมาณการว่าผู้ป่วยชนิดต่างๆ มีการตอบสนองต่อไวรัสต่างกัน รวมทั้งการแพร่เชื้อด้วย ไม่มีใครรู้แน่ว่ารูปทรงจริงๆ ของเส้นโค้งนี้จะเป็นอย่างไร แต่เราเก็บข้อมูลจากบทความหลายชิ้นเพื่อประมาณค่าว่ามันน่าจะเป็นอย่างไร

ทุกๆ วันภายหลังจากติดเชื้อไวรัส คนอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะแพร่เชื้อออกไป เมื่อเอาข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน วันเวลาทั้งหมดที่อาจจะมีการแพร่เชื้อนับรวมกันได้จะมีค่าเฉลี่ย 2.5 เชื่อกันว่ามีการแพร่เชื้อบางอย่างเกิดขึ้นแล้วระหว่างห้วงเวลาที่ “ไม่แสดงอาการของโรค” หลังจากนั้นเมื่ออาการของโรคมีมากขึ้น ตามปกติคนจะไปหาหมอ ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการแพร่เชื้อของพวกเขาจะลดลง

ตัวอย่างเช่น ตอนแรกเราได้รับเชื้อไวรัสแต่ไม่มีอาการ ดังนั้นเราก็จะปฎิบัติตัวโดยเชื่อว่าเป็นปกติดี เมื่อเราพูดกับคนอื่น เราจะแพร่ไวรัส เมื่อเราสัมผัสจมูกและเปิดประตูด้วยลูกบิด คนถัดมาที่แตะลูกบิดและสัมผัสจมูกก็จะติดเชื้อ เมื่อไวรัสเติบโตในร่างกายเรามากขึ้นเราก็จะยิ่งแพร่เชื้อมาก ฉะนั้นเมื่อเราเริ่มมีอาการโรค เราอาจจะหยุดไปทำงาน นอนเตียง สวมใส่หน้ากาก หรือเริ่มไปหาหมอ ยิ่งมีอาการมากขึ้นเราจะแยกห่างจากคนอื่นในสังคมมากขึ้นและลดการแพร่ไวรัส ทันทีที่เราเข้าโรงพยาบาล แม้จะเราจะมีศักยภาพที่จะแพร่ไวรัสมากขึ้นเราก็จะไม่แพร่เชื้อเพราะถูกแยกเดี่ยวในการรักษา

นี่คือสิ่งที่เราจะได้เห็นผลกระทบอย่างมากของนโยบายต่างๆ แบบที่ใช้ในสิงคโปร์หรือเกาหลีใต้

  • ถ้ามีการตรวจหรือทดสอบเป็นจำนวนมากอย่างเป็นมวลใหญ่ รัฐบาลก็สามารถที่จะระบุบ่งชี้โรคได้แม้จะอยู่ในขั้นก่อนแสดงอาการของโรค เพื่อจะกักตัวป้องกันการแพร่เชื้ออะไรก็ตาม
  • ถ้าคนถูกฝึกอบรมให้สามารถบ่งชี้การแสดงอาการของโรคในขั้นแรกเริ่มได้ พวกเขาก็จะลดจำนวนของวันที่อยู่ในพื้นที่สีฟ้าในกราฟ และลดการแพร่เชื้อในภาพรวม
  • ถ้าคนถูกแยกเดี่ยวทันทีที่เขาแสดงอาการของโรค การระบาดแบบในพื้นที่สีส้มจะหายไป
  • ถ้าคนได้รับการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การสวมหน้ากาก การล้างมือหรือการฆ่าเชื้อในสถานที่ต่างๆ พวกเขาจะแพร่เชื้อไวรัสน้อยลง

เว้นเสียแต่ว่ามาตรการเหล่านี้ล้มเหลว เราจึงต้องมีมาตรการที่หนักขึ้นในการรักษาระยะห่างทางสังคม

 

การรักษาระยะห่างทางสังคม

ถ้าใช้มาตรการทั้งหมดข้างต้นแล้วเรายังคงมีค่า R สูงกว่า 1 มาก เราต้องลดจำนวนโดยเฉลี่ยของบุคคลที่คนแต่ละคนจะพบปะให้ได้ มีวิธีบางอย่างที่ต้นทุนถูก เช่น ห้ามจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมกันในจำนวนที่แน่นอน (มากกว่า 50 หรือ 100 คน) หรือขอร้องให้คนทำงานที่บ้านถ้าทำได้ วิธีอื่นจะแพงกว่าในทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ปิดโรงเรียน ปิดมหาวิทยาลัย ขอให้คนอยู่บ้าน หรือปิดการทำธุรกิจ

ในระหว่างช่วงของการใช้ค้อน นักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายต้องการที่จะทำให้ R มีค่าน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยใช้มาตรการต่างๆ ที่ประชาชนยอมทนได้

ในหูเป่ย พวกเขาทำได้จนถึงขั้นที่ค่าลดลงไประดับ 0.32 เราอาจจะไม่จำเป็นต้องทำถึงขั้นนั้น บางทีอาจจะได้แค่ 0.5 หรือ 0.6 ก็ได้ แต่ว่าในขั้นของการเริงระบำ พวกเขาต้องการให้ค่าแกว่งอยู่ใกล้ๆ กับ 1 ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่พยายามรักษาระดับให้ต่ำกว่า 1 ในช่วงยาวๆ ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะป้องกันการระบาดใหม่ในขณะที่พยายามขจัดมาตรการที่เป็นยาแรงออกไป

ความหมายตรงนี้ก็คือ ไม่ว่าผู้นำจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่พวกเขากำลังทำก็คือ

  • ทำลิสต์รายการมาตรการที่สามารถจะทำได้เพื่อลด R
  • คิดคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนของการใช้มาตรการดังกล่าว การลดค่า R
  • คิดคำนวณต้นทุนที่จะต้องจ่ายคือ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรม
  • เรียงลำดับการริเริ่มทางนโยบายและมาตรการบนพื้นฐานของการคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ตอบแทนของมาตรการเหล่านั้น
  • เลือกมาตรการอะไรที่ทำให้ลดค่า R ให้เหลือน้อยที่สุดจนถึงค่า 1 ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

 

บทสรุป: ซื้อเวลาของเรา

  • โคโรน่าไวรัสยังคงแพร่ระบาดเกือบจะทุกที่ ใน 152 ประเทศกำลังมีผู้ติดเชื้อไวรัส เรากำลังวิ่งแข่งกับเวลา แต่เราไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น มีวิถีทางที่ชัดเจนในการคิดเรื่องนี้
  • บางประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่โดนโจมตีอย่างหนักจากโคโรน่าไวรัส อาจจะสงสัยว่ามันจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ คำตอบก็คือ เรื่องอาจจะเกิดขึ้นไปแล้วโดยที่เราไม่เห็น เมื่อใดที่มันเข้าโจมตีจริงๆ ระบบสาธารณสุขของท่านอาจจะตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าประเทศที่ร่ำรวยซึ่งระบบสาธารณสุขแข็งแรง ป้องกันไว้ดีกว่ามาเสียใจทีหลัง ท่านควรดำเนินการเดี๋ยวนี้
  • สำหรับประเทศที่โคโรน่าไวรัสมาถึงแล้ว ทางเลือกมีอยู่อย่างชัดเจน
  • ด้านหนึ่ง หลายประเทศเดินไปทางกลยุทธ์การผ่อนหนักเป็นเบา ทำให้เกิดโรคระบาดขยายตัวอย่างหนัก จนล้นเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข อาจผลักให้คนตายเป็นล้าน และปล่อยให้ไวรัสนี้กลายพันธุ์ใหม่เหมือนอยู่ในป่า
  • อีกด้านหนึ่ง ประเทศต่างๆ สามารถที่จะสู้ พวกเขาปิดเมือง 2-3 สัปดาห์เพื่อซื้อเวลา สร้างแผนปฏิบัติการ และควบคุมไวรัสเอาไว้จนกว่าจะมีวัคซีน
  • รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกในวันนี้ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรือสวิสเซอร์แลนด์ยังคงเลือกใช้เส้นทางกลยุทธ์การผ่อนหนักเป็นเบา
  • นี่ก็หมายความว่าพวกเขายอมที่จะไม่สู้ พวกเขามองประเทศอื่นสู้และมีชัย แต่กลับบอกว่าเราทำอย่างนั้นไม่ได้

อะไรจะเกิดขึ้นถ้าวินสตัน เชอร์ชิล พูดอย่างเดียวกัน? “พวกนาซีบุกไปอยู่ทุกหนทุกแห่งในยุโรปแล้ว เราสู้พวกเขาไม่ได้ เรายอมแพ้ดีกว่า” นี่คือสิ่งที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกกำลังทำทุกวันนี้ พวกเขากำลังไม่ให้โอกาสท่านต่อสู้ในสงครามนี้ พวกท่านต้องเรียกร้องให้เขาสู้

 

____________________________
หมายเหตุ – ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เลือกถอดความจากบทความประมาณ 90% โดยเลือกประเด็นที่เหมาะสำหรับสังคมไทย และกราฟสถิติในที่นี้ได้ปรับข้อความเป็นภาษาไทยบางส่วนจากบทความต้นทางเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผู้อ่านสามารถอ่านบทความทั้งหมดได้ที่ Tomas Pueyo

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save