fbpx
โคโรนาไวรัสและจุดจบของโลกาภิวัตน์?

โคโรนาไวรัสและจุดจบของโลกาภิวัตน์?

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ข้าพเจ้าตาลีตาลานเปลี่ยนตั๋วเครื่องบินเพื่อกลับมาเบอร์ลินจากกรุงเทพฯ เมื่อรู้ข่าวว่ารัฐบาลเยอรมนีจะปิดพรมแดนในวันพุธที่ 18 มีนาคม ท้ายที่สุดก็ได้ที่นั่งสุดท้ายของเที่ยวบินวันพุธ ท่ามกลางเที่ยวบินเข้ายุโรปที่เหลือน้อยลงทุกที

เมื่อมาถึงสนามบินมิวนิค ณ  เวลา 18.00 น. เพื่อเปลี่ยนเครื่อง ภาพที่ปรากฏตรงหน้าต่างกับเมื่อปลายปี 2019 ที่ข้าพเจ้าใช้สนามบินแห่งนี้ครั้งสุดท้าย จากที่ผู้คนแน่นขนัดกลายเป็นบางตาอย่างน่าใจหาย พนักงานตรวจคนเข้าเมืองเช็ควีซ่าพำนักอาศัย (resident permit) ข้าพเจ้าอย่างละเอียดก่อนจะให้ผ่านด่านไป โดยแจ้งว่าขณะนี้แม้แต่นักศึกษาต่างชาติที่มีวีซ่าระยะยาวหากออกไปแล้วก็ยากจะกลับเข้าประเทศ เพราะมหาวิทยาลัยปิดทั้งหมด จึงไม่เห็นเหตุผลในการกลับเข้ามา

ข้าพเจ้าเติบโตในยุคที่สงครามเย็นกำลังสิ้นสุด เข้าเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในช่วงที่โลกาภิวัตน์เฟื่องฟูสุดๆ แทบไม่มีวิชาไหนในสาขาที่ไม่สอนเรื่องโลกาภิวัตน์ และเดินทางข้ามพรมแดนด้วยเครื่องบินครั้งแรกราวๆ ปี 2000 และนับแต่นั้นมาก็ถือว่าตนเป็น ‘พลเมืองโลก’ ข้าพเจ้าไม่เคยประสบการปิดพรมแดนอย่างเมื่อวันพุธ ปรากฏการณ์เช่นนี้ทั้งน่าตระหนก น่าสนใจ และชวนให้สงสัยว่าอนาคตของโลกาภิวัตน์จะเป็นเช่นใด? เป็นไปได้หรือไม่ที่พิษโคโรนาไวรัสจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย ซึ่งปิดฉากกระบวนการโลกาภิวัตน์แบบที่เรารู้จักกัน?

 

เส้นทางของจุดจบ

 

กระแสต้านโลกาภิวัตน์ดำเนินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคุ้นกับบทวิเคราะห์ที่ว่ากลุ่มสุดโต่งทางศาสนา อย่างอัลกออิดะห์ หรือขบวนการหวนกลับสู่วัฒนธรรมท้องถิ่นสะท้อนการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมที่ชุมชนเห็นว่ากำลังทำลายอัตลักษณ์ท้องถิ่น นอกจากนี้นักสังคมวิทยาได้บันทึกและวิเคราะห์บทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมที่ลุกขึ้นต้านกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ (anti-globalisation movements) ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุนข้ามชาติเข้ามากอบโกยและฉวยใช้ทรัพยากรท้องถิ่น กระนั้นก็ดีในช่วงขาขึ้นของโลกาภิวัตน์นี้ กระแสดังกล่าวถูกครหาว่าเป็นการต้านความก้าวหน้าของระบบเศรษฐกิจและกระแสธารทางวัฒนธรรมที่ก้าวข้ามอุปสรรคพรมแดนของรัฐ-ชาติ งานศึกษาทางรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งถึงกับชี้ว่านี่คือจุดจบของรัฐ-ชาติ ต่อไปนี้กลไกโลกจะลดบทบาทของรัฐในด้านการจัดสรรทรัพยากร การเงิน การค้า แรงงาน สาธารณสุข เทคโนโลยี เป็นต้น

วิกฤตแฮมเบอเกอร์เมื่อปี 2008 เผยให้เห็นจุดอ่อนของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ที่ให้อำนาจกับเอกชนและจำกัดอำนาจรัฐในการกำกับตลาด อันเป็นเหตุให้ธนาคารเล่นแร่แปรธาตุกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ จนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่แม้จะเริ่มในสหรัฐฯ แต่ส่งผลต่อหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะยุโรปซึ่งเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงปี 2009 ถึง 2015 ในช่วงเวลานี้เองรัฐในโลกตะวันตกถูกบอกให้ตัดงบประมาณสาธารณะ ซึ่งเป็น ‘social safety net’ ของประชาชนออก ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การศึกษา เงินบำเหน็จบำนาญ รวมถึงบริการสาธารณะต่างๆ เช่น บริการขนส่ง

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ รัฐในโลกตะวันตกทิ้งสังคมไว้ข้างหลัง ชุมชนถูกบอกให้เสียสละเพื่อช่วยพยุงภาคธุรกิจ จึงไม่น่าแปลกใจว่านับจากปี 2008 เป็นต้นมา ความเหลื่อมล้ำในโลกตะวันตกระหว่างชนชั้นนำเพียงกระจุกมือและคนที่เหลือถ่างกว้างขึ้นอย่างมหาศาล

วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 เป็นจุดเริ่มของกระแสต้านโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากปฏิบัติการของขบวนการประท้วงอย่าง Occupy Wall Street ที่เริ่มจากสหรัฐฯ แต่ขยายเครือข่ายไปทั่วโลก แต่เมื่อขบวนการประท้วงมิได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมมากนัก ผู้คนยังคงเผชิญกับปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำต่อไป ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ระบอบประชาธิปไตยในโลกตะวันตก รวมถึงกระบวนการโลกาภิวัตน์ทั้งอันก็ถดถอยลงเรื่อยๆ

คลื่นผู้อพยพในช่วงปี 2012 ถึง 2015 ประกอบการเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันยิ่งโน้มน้าวประชาชนจำนวนมากในโลกตะวันตกให้เห็นว่าการเปิดพรมแดนมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ในห้วงเวลานี้เอง พรรคการเมืองและขบวนการภาคประชาชนฝ่ายขวาเริ่มได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ในยุโรปพรรคเหล่านี้ได้คะแนนเสียงในสภามากขึ้น จนกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้านอันทรงพลัง ในอังกฤษกระแสต้านพรมแดนเปิดช่วยให้แคมเปญ Brexit ชนะการลงประชามติเมื่อปี 2016 ส่วนในสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีเดียวกัน ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายหาเสียงที่สัญญาว่าจะจำกัดกลไกโลกาภิวัตน์ โดยส่งเสริมให้บริษัทอเมริกันกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้น (ดังนั้นจะสร้างงานให้แก่ชาวอเมริกัน) หรือกีดกันการค้าจากต่างชาติ รวมถึง ‘สร้างกำแพง’ ชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก เพื่อลดจำนวนแรงงามข้ามชาติราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

โคโรนาไวรัสและผลต่อโลกาภิวัตน์

 

ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดในวิกฤตครั้งนี้คือ ขณะที่โลกาภิวัตน์บอกให้โลกเชื่อมต่อกันและใกล้ชิดกันทั้งทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรม ฉะนั้นพรมแดนจึงเป็นของไม่ดี แต่โรคระบาดนี้กำลังสวนทางความเชื่อนี้ โดยชี้ว่าอยู่ห่างๆ กันจะดีกว่า (หลัก social distancing) เชื่อมโยงกันให้น้อยลง และที่สำคัญพรมแดนเป็นเรื่องดี พูดอีกอย่างให้เหมาะกับกระแสตอนนี้คือ รวมกันเราตาย แยกกันเราอยู่

ในแง่นี้โคโรนาไวรัสอาจกำลังเปลี่ยนระบบและชุดคุณค่าที่กำหนดชีวิตทางเศรษฐกิจและธรรมเนียมทางสังคมในโลกที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 1980

ในทางเศรษฐกิจ บทวิเคราะห์จำนวนมากขณะนี้เน้นย้ำความเปราะบางของระบบการพึ่งพาซึ่งกันและกันในกระบวนการผลิต กล่าวคือลักษณะเด่นของกระบวนการโลกาภิวัตน์ประการหนึ่ง ได้แก่ การแบ่งกันผลิตตามความเชี่ยวชาญ แทนที่สินค้าหนึ่งชิ้นจะผลิตในหนึ่งประเทศ แต่กลับแยกผลิตส่วนประกอบในหลายประเทศซึ่งเชี่ยวชาญการผลิตชิ้นส่วนที่ต่างกัน ความเชื่อลึกๆ คือกระบวนการเช่นนี้มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและราคาถูกอีกด้วย

แต่พิษโคโรนากำลังเปลี่ยนความเชื่อนี้ โรคระบาดเริ่มในจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น เทคโนโลยีติดต่อสื่อสาร การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น เมื่อจีนต้องปิดโรงงานอุตสาหกรรมเนื่องด้วยโรคระบาด ก็ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์ iPhone หรือยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการควบคุมและรักษาโรคระบาดได้ ผลต่อเนื่องคือในสหรัฐฯ และยุโรปที่โรคระบาดเข้าขั้นวิกฤตในขณะนี้ เริ่มขาดแคลนยา หน้ากาก และอุปกรณ์ช่วยหายใจ ซึ่งพึ่งพาการผลิตจากจีนเป็นหลัก ขณะนี้การปิดประเทศอิตาลีกำลังส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์เพราะอิตาลีเป็นประเทศผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ คาดการณ์กันว่าวิกฤตโรคระบาดจะทำให้ห่วงโซ่การผลิตที่โยงใยโลกเข้าด้วยกันต้องปรับเปลี่ยนแบบถาวร

ความเชื่อเรื่องการพึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจยังขึ้นอยู่กับความไว้ใจว่าในยามตกทุกข์ได้ยาก รัฐจะร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความร่วมมือเช่นนี้ปรากฏในรูปแบบการสร้างองค์การระหว่างประเทศ แม้จะร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ก็หวังใจกันว่าเมื่อร่วมมือกันถึงจุดหนึ่ง ประเทศสมาชิกจะขยับไปร่วมมือกันเรื่องอื่นที่อ่อนไหวมากขึ้น เช่น เรื่องความมั่นคงและการช่วยเหลือด้วยมนุษยธรรม พิษโคโรนาเป็นบททดสอบน้ำยาขององค์การระหว่างประเทศขณะนี้ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือสหภาพยุโรป ซึ่งเกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และหวังว่าจะเป็นบันไดสู่การสร้างชุมชนยุโรป อย่างไรก็ดีความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายนี้จะบรรลุกลับเลือนลางตั้งแต่วิกฤตค่าเงินยูโรเป็นต้นมา เมื่อเผชิญกับโรคระบาดอย่างสาหัส รัฐบาลอิตาลีขอความช่วยเหลือสหภาพยุโรป ทว่าไม่มีคำตอบรับใดๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลในสหภาพยุโรปเข้าสู่โหมดตัวใครตัวมัน โดยประกาศนโยบายห้ามส่งออกหน้ากากและเครื่องมือทางการแพทย์ อีกทั้งยังปิดพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกันไม่ให้คนในประเทศนั้นๆ ข้ามพรมแดนมาซื้อของกักตุนในอีกประเทศ ส่วนพันธมิตรคู่ทุกข์คู่ยากอย่างสหรัฐฯ กับเยอรมนีก็กำลังมีปากเสียงกันหลังจากสหรัฐฯ พยายามซื้อลิขสิทธิ์วัคซีนไวรัสที่บริษัทในกรุงเบอร์ลินกำลังคิดค้นทดลอง รัฐบาลเยอรมันจึงหามาตรการป้องกัน โดยอาจแบนธุรกรรมทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเบอร์ลิน

ที่สำคัญคือโคโรนาไวรัสกำลังตอกย้ำความเชื่อของฝ่ายขวาและผู้วิพากษ์กระบวนการโลกาภิวัตน์ว่าพรมแดนยังจำเป็น และปิดพรมแดน (closed border) ดีกว่าเปิดพรมแดน (open border) ณ วันที่ 20 มีนาคม หลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการยกเลิกเที่ยวบินจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ควบคุมการเดินทางเข้าออก (เช่นกรณีไทย คือคนไทยและคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ต่อเมื่อมีใบรับรองแพทย์ว่าปลอดเชื้อโคโรนาไวรัส) ปิดสนามบิน และปิดพรมแดนเลย (เช่นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปขณะนี้) สำนักข่าวอัลจาซีรารวบรวมข้อมูลตามแผนที่ที่ปรากฏด้านล่างนี้ โดยแบ่งกลุ่มประเทศที่ควบคุมพรมแดนเป็นสองกลุ่มคือควบคุมบางส่วน (สีเหลือง) และควบคุมเบ็ดเสร็จ (หรือปิดพรมแดน-สีแดง)

 

ลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการยกเลิกเที่ยวบินจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ควบคุมการเดินทางเข้าออก (เช่นกรณีไทย คือคนไทยและคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ต่อเมื่อมีใบรับรองแพทย์ว่าปลอดเชื้อโคโรนาไวรัส) ปิดสนามบิน และปิดพรมแดนเลย (เช่นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปขณะนี้) สำนักข่าวอัลจาซีรารวบรวมข้อมูลตามแผนที่ที่ปรากฏด้านล่างนี้ โดยแบ่งกลุ่มประเทศที่ควบคุมพรมแดนเป็นสองกลุ่มคือควบคุมบางส่วน (สีเหลือง) และควบคุมเบ็ดเสร็จ (หรือปิดพรมแดน-สีแดง)

 

หากใครติดตามข่าวขณะนี้ จะเห็นภาพความโกลาหลที่สนามบิน ซึ่งนักท่องเที่ยวพยายามเดินทางกลับบ้านก่อนประเทศที่ตนมุ่งหมายมาพักผ่อนหย่อนใจจะปิดพรมแดน รัฐบาลแคนาดาและหลายประเทศในยุโรปถึงกับต้องออกเงินจ้างสายการบินให้รับนักท่องเที่ยวเรือนแสนกลับบ้านอย่างเร่งด่วน

การปิดพรมแดนยังส่งผลเชิงสัญลักษณ์ต่อวิธีของผู้คนต่อผู้อพยพลี้ภัย ในช่วงปี 2015 รัฐบาลเยอรมนีประกาศนโยบายต้อนรับผู้ลี้ภัยจากสงคราม ส่งผลให้มีการรับผู้ลี้ภัยเรือนล้านในปีนั้น แม้ต่อมานโยบายดังกล่าวจะถูกวิจารณ์ อันส่งผลให้อัตราการรับผู้อพยพน้อยลง ทว่าการไม่รับผู้อพยพอย่างออกนอกหน้าก็อาจถูกประจานได้ง่าย อย่างไรก็ดีวิกฤตโคโรนาอาจสร้างคำอธิบายใหม่ซึ่งให้ความชอบธรรมกับการปิดพรมแดน อีกทั้งยังรองรับแนวคิดที่ว่ารัฐควรใส่ใจประชาชนในประเทศตนก่อนผู้ลี้ภัยซึ่งมิใช่สมาชิกของรัฐนั้นๆ การผลักดันผู้อพยพมิให้เดินทางข้ามพรมแดนจากตุรกีมายุโรปกำลังเกิดในประเทศกรีซและอิตาลี ขณะเดียวกันกระบวนการพิจารณารับผู้ลี้ภัยในประเทศที่เผชิญวิกฤตโคโรนาก็ช้าลง ตลอดจนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยก็ลดลงไปด้วย

ท่ามกลางวิกฤตโคโรนาไวรัส วิธีคิดแบบ ‘ชุมชนนิยม’ (communitarianism) กำลังมีน้ำหนักมากกว่าวิธีคิดแบบ ‘โลกนิยม’ (cosmopolitanism) ซึ่งเป็นฐานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชากรที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าเขาและเธอจะมาจากประเทศใด

ประเด็นสุดท้ายที่เชื่อมโยงกัน คือการเรียกร้องให้รัฐ-ชาติกลับมามีบทบาทสำคัญในยามคับขัน ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างย้อนแย้ง คือแม้ทางหนึ่งจะจำกัดความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ในกรณีผู้ลี้ภัย ดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ก็สร้างแรงกดดันให้รัฐหันมาใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ มิใช่ปล่อยให้กลไกตลาดในระบบโลกเป็นผู้จัดการอย่างที่เป็นมา

ประเด็นนี้ชัดเจนอย่างยิ่งในโลกตะวันตกที่ภาคสาธารณสุขตกอยู่ในมือเอกชนมาสองสามทศวรรษ ผลคือสาธารณสุขสาธารณะถูกเปลี่ยนให้เป็น ‘สินค้า’ ใครมีเงินมากกว่าก็เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีได้ วิกฤตโคโรนาชี้ให้เห็นว่าการที่คนคนหนึ่งเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้หรือไม่นั้นมิใช่เรื่องของปัจเจกอีกต่อไป เพราะการที่ผู้คนไม่มีเงินจ่ายค่าตรวจไวรัสหมายความว่าคนคนนั้นจะไม่ตรวจและยังใช้ชีวิตในสังคม และสามารถแพร่โรคระบาดต่อไป จนทำให้การควบคุมโรคในภาพใหญ่เป็นไปได้ยาก ลักษณะเช่นนี้กำลังเกิดในประเทศที่สาธารณสุขถูกครอบงำโดยภาคเอกชนอย่างสหรัฐฯ เป็นต้น ส่วนในยุโรปที่ภาคสาธารณสุขค่อยๆ เปลี่ยนมือสู่เอกชนช่วงปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลหลายประเทศกำลังสะท้อนบทเรียนและหามาตรการให้รัฐเข้าดูแลภาคสาธารณสุข อีกทั้งสัญญาว่าจะจัดสรรงบประมาณให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้น ในสเปน หลังจากจำนวนผู้ติดโรคระบาดพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลเปลี่ยนโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทุกที่ให้เป็นของรัฐ ขณะที่ฝรั่งเศสและอิตาลีกำลังพิจารณามาตรการคล้ายกัน เพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนจ่ายได้

กล่าวให้ถึงที่สุดคือ โคโรนาไวรัสอาจนำมาสู่จุดจบของนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ อันสัมพันธ์แนบแน่นกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ หากเสรีนิยมใหม่มุ่งลดบทบาทของรัฐในการดูแลสังคม โดยปล่อยให้ปัจเจกบุคคลพึ่งพาศักยภาพของตนในการเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจเอง ชนิดที่ใครมีแรงมากกว่าก็ชนะคนอ่อนแอ หลังวิกฤตโคโรนาไวรัสเราอาจเห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของรัฐ (โดยเฉพาะในโลกตะวันตก) ในการดูแลเอาใจใส่คุณภาพชีวิตของประชาชน

ไม่ว่าผลของโคโรนาไวรัสต่อระบบเศรษฐกิจ กลไก และคุณค่าระหว่างประเทศจะมีขอบข่ายมากน้อยเพียงใด ที่แน่ๆ คือประวัติศาสตร์จะบันทึกโรคระบาดโควิด-19 ว่าเป็น ‘จุดวิกฤตสำคัญ’ (critical juncture) ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าระเบียบการเมืองโลกอย่างไม่มีวันหวนกลับ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save