fbpx

ชวนคิดนอกกรอบ COP26: เมื่อการแข่งขันอาจช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ดีกว่าความร่วมมือ?

ช่วงสองอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน 2021 หนึ่งในประเด็นที่ครอบครองพื้นที่หลักในหน้าข่าวต่างประเทศคือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา (Conference of the Parties – COP) ครั้งที่ 26 ระหว่างบรรดาเหล่าผู้นำทั่วโลก ณ เมืองกลาสโกลว์ สกอตแลนด์ การประชุมดังกล่าวจะเกิดขึ้นทุกปีเพื่อให้ประเทศต่างๆ ที่เคยลงนามในกรอบอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) มาถกเถียงกันว่าจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้

เป้าประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้ก็คือ ประเทศต่างๆ ต้องมาอัพเดต กดดันกันและกันให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ติดตามเรื่องเงินสนับสนุนจากประเทศร่ำรวย เพื่อให้ประเทศที่ยากจนกว่าสามารถใช้เงินสนับสนุนดังกล่าวในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ลงนามกันในปี 2015 (ในการประชุม COP ครั้งที่ 21) ข้อตกลงดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศกำหนดระดับก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศตนสัญญาว่าจะลดได้เอง และระดับดังกล่าวจะถูกนำกลับมาทบทวนทุกๆ 5 ปี เนื่องจากการประชุมปีที่แล้วต้องถูกยกเลิกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด การทบทวนดังกล่าวจึงจะเกิดขึ้นในการประชุมปีนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี มีการคำนวณว่า แม้ต่อให้ทุกประเทศสามารถทำตามสัญญาที่ตนให้ไว้ตามความตกลงปารีส อุณหภูมิเฉลี่ยโลกก็จะยังเพิ่มขึ้นถึง 2.7 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ เลขดังกล่าวถือว่ายังสูงกว่าตัวเลขที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติพยายามสนับสนุน นั่นคือไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส (หรือกระทั่งหากเป็นไปได้ ไม่ควรเกิน 1.5 องศาเซลเซียส) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกคำนวณไว้ว่า หากเกินกว่านี้แล้ว โลกของเราจะต้องเผชิญวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง

นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดกันว่าการเจรจาครั้งนี้อาจไม่ได้มีความคืบหน้าเชิงนโยบายที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากนานาประเทศยังคงมีข้อขัดแย้งกันว่า ใครควรรับผิดชอบต่อก๊าซเรือนกระจกอย่างไร และในสัดส่วนเท่าไหร่ บางกลุ่มมองว่าแม้ว่าประเทศที่อุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว อย่างเช่นสหรัฐฯ และยุโรปจะปล่อยก๊าซในปริมาณที่น้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนา เช่นจีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ แต่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรรับผิดชอบหลักในการลดแก๊สอยู่ฝ่ายเดียว และประเทศที่พัฒนาแล้วควรให้เงินสนับสนุนชดเชยกับประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการปัญหา เพราะประเทศที่อุตสาหกรรมพัฒนาแล้วเองก็เคยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากในช่วงที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจมาก่อนเช่นกัน[1] ในขณะที่บางกลุ่มมองว่า การลดการปล่อยก๊าซในขณะนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า และประเทศที่ควรเน้นกดดันคือประเทศกำลังพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากในตอนนี้อย่างจีนและอินเดีย ท่าทีหลังนี้ได้รับการสนับสนุนหลักๆ โดยประเทศเกาะขนาดเล็กในแปซิฟิกและแคริบเบียน ซึ่งจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

การสร้างความร่วมมือยิ่งทวีความท้าทายยิ่งขึ้น เมื่อเราพิจารณาความขัดแย้งว่าด้วยเงินชดเชย ในปี 2010 ประเทศร่ำรวยเคยสัญญาจะมอบเงินหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ให้กับประเทศยากจนเพื่อช่วยประเทศเหล่านั้นลดก๊าซเรือนกระจก และปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศภายในปี 2020 แต่จนถึงปัจจุบัน เงินจำนวนนั้นก็ยังคงจ่ายไม่ครบ โดยสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่พยายามบ่ายเบี่ยงการข้องเกี่ยวกับการระดมเงินชดเชยดังกล่าว และคาดกันว่า คงเป็นการยากที่สหรัฐฯ จะเปลี่ยนท่าที่ แม้กระทั่งภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งมีจุดยืนในการสนับสนุนการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนก็ตาม

ความยากลำบากในการสร้างความร่วมมือ (และการทำตามข้อตกลง) ในการลดแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับนักเศรษฐศาสตร์หรือนักรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ หากวิเคราะห์ผ่านกรอบคิดหลักที่ใช้ทำความเข้าใจความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว ความร่วมมือในประเด็นสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไม่ควรจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือด้วยความสมัครใจด้วยซ้ำ เนื่องด้วยปัญหา ‘ทางแพร่งของนักโทษ’ (prisoner’s dilemma)”[2]

ทางแพร่งของนักโทษในเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ปัญหาทางแพร่งของนักโทษมีอยู่ว่า ผู้เล่นแต่ละคน (หรือในที่นี้อาจมองได้ว่าแต่ละประเทศ) มีแรงจูงในที่จะไม่ร่วมมือกัน หรือหากมีการทำข้อตกลงความร่วมมือแล้ว ก็มีแนวโน้มที่ผู้เล่นจะไม่ทำตามข้อตกลงดังกล่าว ทั้งๆ ที่หากร่วมมือกัน ผลลัพธ์โดยรวมจะออกมาดีที่สุด

สมมติง่ายๆ ว่ามีเพียงแค่สองประเทศคือ A และ B กำลังจะทำข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก โดยให้แต่ละฝ่ายต้องลดก๊าซในระดับเท่าๆ กัน โดยที่ทั้งสองประเทศรู้ว่า หากร่วมมือกันในการลดก๊าซเรือนกระจกโลก (ซึ่งหมายถึงประโยชน์ที่ทุกฝ่ายได้รับรวมกัน) จะได้ประโยชน์มากที่สุด

อย่างไรก็ดี หากรัฐ A นั้นลงทุนและช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจริง ผลจากการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นส่งผลดีให้กับทั้งรัฐ A และรัฐ B (อากาศสามารถลอยข้ามพรมแดนประเทศได้) ดังนั้นรัฐ B จึงมีแรงจูงใจที่จะตีตั๋วฟรี (free-riding) ที่ไม่ต้องลงทุนใดๆ แต่สามารถได้รับอากาศที่ดีขึ้นได้ เมื่อ A คาดการณ์ไว้แล้วว่าสถานการณ์นี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น รัฐ A ก็มีแรงจูงใจที่จะไม่ลงทุนในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในกรณีที่ต้นทุนในการลดก๊าซเรือนกระจกสูง และผลจากการลดก๊าซฝ่ายเดียวนั้นไม่คุ้มต้นทุน (การลดก๊าซเรือนกระจกนั้นมีต้นทุน เช่น ต้องค้นคว้าวิจัยพลังงานทางเลือกแบบใหม่ หรือต้องสร้างเทคโนโลยีให้โรงงานกรองก๊าซเรือนกระจกก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น)

ในท้ายที่สุด ทั้งสองรัฐจึงมีแรงจูงใจที่จะไม่ร่วมมือกันในการลดก๊าซเรือนกระจก หรือหากมีการสร้างข้อตกลงกันจริง สองรัฐนั้นก็มีแรงจูงใจที่จะไม่ทำตามข้อตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อข้อตกลงนั้นไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษใดๆ (เช่น ในกรณีความตกลงปารีส) ผลที่ตามมาก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็ยากที่จะได้รับการแก้ไข

ในเมื่อปัญหาในการสร้างความร่วมมือดูจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากจะแก้ไข แล้วเราควรทำอย่างไร?

William Nordhaus นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2018 เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแรงจูงใจในการสร้างความร่วมมือลดโลกร้อนระหว่างประเทศ โดยการออกแบบความร่วมมือระหว่างประเทศให้มีลักษณะเป็น ‘คลับ’ (club) ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิกจะได้สิทธิพิเศษเหนือผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ด้วยระบบแรงจูงใจดังกล่าว ผู้ที่เป็นสมาชิกก็จะยอมทำตามข้อตกลงเพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษจากการอยู่ในกลุ่มต่อไป ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกก็จะมีแรงจูงใจในการเข้าคลับ

Nordhaus เสนอว่าการสร้างคลับนี้อาจมี 2 ขั้นตอนหลักๆ ขั้นตอนแรกก็คือ ประเทศที่จะเป็นสมาชิกในคลับจะต้องตกลงยอมรับเป้าหมายร่วมกัน (เช่นการจำกัดระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส) และขั้นตอนที่สองคือต้องมีการลงโทษสมาชิกในคลับที่ไม่ได้ทำตามเป้าหมายที่สัญญาไว้และลงโทษผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (เช่น ตั้งกำแพงภาษีทางการค้า)

นอกจากนี้ Nardhaus ยังเสนอด้วยว่า การกำหนดกลไกต่างๆ ควรใช้หน่วยเป็น ‘ราคาคาร์บอน’ (เงินที่ต้องจ่ายต่อหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละประเทศปล่อย) มากกว่าใช้จำนวนคาร์บอนโดยตรงที่แต่ละประเทศปล่อย อย่างที่แต่ละประเทศใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะจะช่วยทำให้เราคิดคำนวณได้ง่ายขึ้นว่า ต้นทุนในการลงทุนเพื่อการลดคาร์บอนนั้นคุ้มค่ากับการจ่ายราคาคาร์บอนหรือไม่ (พูดง่ายๆ ก็คือการคำนวณต้นทุนกำไรจะง่ายขึ้นเพราะเป็นหน่วยราคาเหมือนกัน) นอกจากนี้ เขายังมองว่า ราคาคาร์บอนก็ควรใช้อัตราเดียวกันทั่วโลก เพราะหากไม่กำหนดราคาคาร์บอนเป็นหน่วยเดียวกันทั่วโลกแล้ว การเจรจาต่อรองก็จะไม่เป็นที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ดี Nordhaus ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่โมเดลของเขาจะเกิดขึ้นจริงในเวทีเจรจาระหว่างประเทศ เขาเห็นว่าอุปสรรคหลักคือความเขลาและไม่มีวิสัยทัศน์ของผู้นำและกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ต้องการให้เกิดการลดโลกร้อน ผู้เขียนเห็นด้วยกับ Nordhaus ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ใช่แค่เพราะเหตุผลที่เขากล่าวเท่านั้น หนึ่งในเรื่องที่ Nordhaus ไม่ได้คิดคำนวณในโมเดลของเขาเลยก็คือเรื่องความไม่เท่าเทียมหรือความไม่ยุติธรรมในการแบกรับภาระในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตราบใดที่ข้อเสนอของเขาไม่มีโปรแกรมชดเชยเพื่อรองรับในเรื่องนี้ คงเป็นการยากที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศจะยอมรับการใช้กฎเกณฑ์ราคาคาร์บอนในอัตราเดียวกันทั้งโลกแบบที่เขาเสนอ

โลกของเราจะสามารถร่วมมือกันเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร?

ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ ผู้เขียนคิดว่า ‘ความร่วมมือแบบคลับ’ กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาตัวอย่างน่าสนใจ เพราะกลไกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเวทีพหุภาคีที่เป็นทางการ (เช่น สหประชาชาติ) แบบที่ Nordhaus เสนอ แต่กลับเกิดขึ้นจากการเริ่ม ‘จุดติด’ ของแนวคิดการเติบโตสีเขียว (Green Growth) ผนวกกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์

การเติบโตสีเขียวกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์

แม้ยังไม่มีการนิยามอย่างเป็นทางการว่าแนวคิด ‘การเติบโตสีเขียว’ คืออะไร ประกอบด้วยนโยบายแบบใดบ้าง และเกี่ยวข้องกับแนวคิดใกล้เคียงอื่นๆ (เช่น เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) หรือการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ (low-carbon growth) อย่างไร แต่หลักๆ แล้ว หัวใจของแนวคิดกลุ่มนี้คือ ความเชื่อที่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือการปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแค่ไปด้วยกันได้ (compatible) เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันและกัน (complementary)

แนวคิดการเติบโตสีเขียวเป็นการมองประเด็นสิ่งแวดล้อมผ่านแนวคิดทางเศรษฐกิจสองแบบรวมกัน นั่นคือ (1) แบบ Schumpeterian ที่มองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและกระบวนการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ และ (2) แบบ Keynesian นั่นคือรัฐมีบทบาทในการแทรกแซงเศรษฐกิจโดยเฉพาะผ่านนโยบายการคลัง ตัวอย่างของนโยบายแบบการเติบโตสีเขียวที่เป็นรูปธรรมก็เช่น การที่รัฐอัดฉีดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปพร้อมๆ กับ ‘ทำลายล้าง’ อุตสาหกรรมพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในประเทศที่ทดลองใช้นโยบายนี้ประเทศแรกๆ และถือว่าประสบความสำเร็จมากก็คือประเทศจีน โดยปัจจุบัน จีนเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศที่แสดงให้เห็นว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถสวนทางกับตัวเลขคาร์บอนที่ปล่อยออกมา

นอกเหนือจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง ความสำเร็จของนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน มีผลโดยตรงต่อการช่วยลดโลกร้อนในระดับโลกอย่างน้อยสองประการ ประการแรก ความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมหรือพลังงานทดแทนจะทำให้ต้นทุนของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีนั้นต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือประเทศอื่นๆ มีแรงจูงใจที่จะลงทุนในพลังงานทดแทนมากขึ้น และประการที่สอง องค์การระหว่างประเทศต่างๆ ได้สร้างและสนับสนุนแนวคิดการเติบโตสีเขียวโดยสามารถใช้ความสำเร็จของประเทศเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นแนวปฏิบัติตัวอย่าง

กล่าวได้ว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้แนวคิดการเติบโตสีเขียว ‘จุดติด’ ในระดับโลก เกิดจากการที่องค์การระหว่างประเทศสร้างภาษาทางการเมืองให้กับ ‘การเติบโตสีเขียว’ และสนับสนุนแนวและพัฒนาแนวคิดนี้ต่อในหลายๆ องค์การ โดยพบว่า คำว่า ‘การเติบโตสีเขียว’ เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในปี 2005 โดยเจ้าหน้าที่ชาวเกาหลีในองค์การเล็กๆ อย่างคณะกรรมการเศรษฐกิจสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกของสหประชาชาติ (UN Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) ในเอกสารของ UNESCAP มีการกล่าวถึงความสำเร็จของประเทศจีนและเกาหลีใต้ในการใช้นโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวดังกล่าวอย่างชัดเจน หลังจากนั้น แนวคิดสีเขียวก็ถูกพัฒนาและส่งเสริมต่อในองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น UNEP, OECD และ World Bank [3]

เมื่อต้นทุนในการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกลดลง กอปรกับหลายประเทศเริ่มมองว่าแนวคิดดังกล่าวอาจสามารถส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศได้จริง เราจึงเริ่มเห็นรัฐบาลในหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการเติบโตสีเขียวมากขึ้น อย่างไรก็ดี นโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวและการแข่งขันทางเศรษฐกิจไม่ได้ตั้งอยู่อย่างโดดๆ หากแต่เกี่ยวข้องพัวพันกับบริบททางการเมืองระหว่างประเทศโดยตรง ดังที่เห็นจากการประกาศข้อตกลงสีเขียวเรื่องการซื้อขายเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา

ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดว่า คู่สัญญาสองฝ่ายจะพัฒนาและซื้อขายเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือด้วยพลังงานสะอาด เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว (ดังเช่นที่ทำได้สำเร็จในสวีเดน) เท่านั้น ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลักๆ เพราะต้องการกีดกันสินค้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากจีน ซึ่งปัจจุบันยังใช้กรรมวิธีที่ยังห่างไกลกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม และยังขายสินค้าดังกล่าวในราคาถูกกว่าจากยุโรปและสหรัฐฯ เพราะได้รับการสนับสนุนทางด้านราคาจากรัฐบาล

ปรากฏการ์ณข้างต้นคือการเริ่มก่อตัวของ ‘คลับ’ ในตลาดเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมสีเขียวที่มีสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นสมาชิกหลัก ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นด้วยวิธีที่ Nordhaus เสนอไว้ กล่าวคือ คลับนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ประเทศทั่วโลกมาร่วมมือวางแผนกันผ่านองค์การระหว่างประเทศที่เป็นทางการ และไม่ได้มีการกำหนดและใช้ราคาคาร์บอนเป็นกลไกหลักในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่คลับนี้เกิดจากที่รัฐต่างๆ เริ่มซื้อแนวความคิดเรื่องการเติบโตสีเขียว (ซึ่งเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม) และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์

แม้ว่าข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการกีดกันสินค้าจีน แต่การที่ประเทศสมาชิกได้รับผลประโยชน์มากกว่า (เช่นมีสิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดขนาดใหญ่) อาจช่วยจูงใจให้ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของคลับ รวมถึงจีนพยายามพัฒนาและปรับเปลี่ยนกระบวนการการผลิตให้สะอาดขึ้นตามมาตรฐานเพื่อให้ประเทศถูกนับเข้ามาในกลุ่มและขายสินค้าให้กับประเทศในคลับนั้นได้

ผลจากการเกิดขึ้นของคลับนี้จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก เพราะอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมแบบดั้งเดิมถือว่าเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก หากคำนวณเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป พบว่าหากทั้งสองฝ่ายสามารถพัฒนาพลังงานสะอาดในการผลิตเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมได้ตามเป้า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะสามารถลดลงไปถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยทั้งหมดของโลกเลยทีเดียว

อนาคตของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ?

แม้ว่าผลของการประชุม COP26 มีแนวโน้มที่อาจไม่ได้มีอะไรคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก แต่มิได้หมายความว่าการทำงานผ่านกรอบพหุภาคีจะไม่มีความหมายเลย ด้วยต้นทุนพลังงานทางเลือกที่ถูกลงและการการยอมรับแนวคิดการเติบโตสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่า ความร่วมมือแบบพหุภาคีในอนาคตอาจเกิดได้ง่ายขึ้น (หากคิดผ่านกรอบปัญหาทางแพร่งของนักโทษดังที่อธิบายในตอนต้น อาจกล่าวได้ว่าแรงจูงใจในการไม่ทำตามข้อตกลงมีน้อยลง) ลักษณะของสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อป้องกันชั้นโอโซนในบรรยากาศไม่ให้ถูกทำลาย ในกรณีดังกล่าว เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เคยผลิตสาร CFCs สามารถสร้างสารทดแทนได้ ความยุ่งยากในการบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อดูแลชั้นโอโซนก็ถูกคลี่คลายลง[4]

แม้ว่าการเกิดของ ‘คลับ’ อาจจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แต่จุดอ่อนสำคัญของ ‘คลับ’ คืออำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกในคลับด้วยกันเองและกับผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิก ซึ่งแตกต่างจากการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศที่เป็นทางการ ข้อเสียเปรียบของประเทศกำลังพัฒนา เช่น เงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือก็จะไม่ถูกนำไปพิจารณาอย่างจริงจัง

ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีขนาดเล็ก ควรใช้ประโยชน์จากทั้งแพลตฟอร์มทางการและ ‘คลับ’ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และหากจะทำอย่างนั้นได้ (โดยเฉพาะหากต้องการเข้าร่วมเข้าใน ‘คลับ’) ไทยต้องปรับมาตรฐานการผลิตและสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น

นอกจากนี้ สังคมไทยควรต้องตระหนักให้ดีว่า แม้การสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก แต่การเปลี่ยนผ่านใดๆ ควรจะต้องวางแผนเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมภายในประเทศด้วย นักเศรษฐศาสตร์การเมืองหลายคนมองในแง่ดีว่านโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวอาจสั่นคลอนกลุ่มชนชั้นนำที่อาจผูกอำนาจกับฐานเศรษฐกิจจากพลังงานดั้งเดิมหรือทำให้เกิดโอกาสในการกระจายความเท่าเทียมสังคม อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าหากสังคมไทยไม่ได้วางแผนอย่างเหมาะสม ผลที่เกิดขึ้นอาจจะตรงกันข้ามก็เป็นได้ เช่น ผู้คนในงานบางชนิด (เช่น งานในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม) อาจจะไม่ได้รับการจ้างงานต่อ เป็นต้น


[1] ก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศสามารถคงอยู่ได้เป็นหลายร้อยปี ดังนั้น ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยในอดีตโดยประเทศพัฒนาแล้วยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศอยู่ และแท้จริงแล้ว แม้ว่าตอนนี้ประเทศจีนจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แต่ว่าถือว่าจีนไม่ได้ปล่อยจำนวนมากที่สุด หากพิจารณาจำนวนประชากร หรือหากเทียบที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์

[2] ในการอธิบายปัญหานี้ นักวิชาการบางคนอาจพูดถึงเรื่องเดียวกันด้วยแนวคิดเรื่องโศกนาฎกรรมของสาธารณสมบัติ (tragedy of the commons) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ Hardin 1968) หรือพูดรวมๆ ว่า ปัญหาการร่วมมือกัน (collective action problem) ในเชิงตรรกะ หลักๆ ที่ใช้อธิบายในเรื่องนี้ไม่ได้ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (ในทางเทคนิคแล้ว tragedy of the commons มักใช้สำหรับบรรยายตัวแสดงหลายตัว แต่ส่วนใหญ่แล้วการเลือกใช้คำมักขึ้นกับว่า ต้องการเน้นที่ตัวแสดงหรือผลของตัวแสดงเป็นสำคัญ) ผู้เขียนอธิบายผ่านแนวคิดทางแพร่งของนักโทษ เพราะมองว่าเป็นเวอร์ชันที่อาจทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า

[3] หากสนใจเพิ่มเติมในเรื่องการพัฒนาและแพร่ขยายของแนวคิดการเติบโตสีเขียวในระดับโลก โปรดดู Creative Learning and Policy Ideas: The Global Rise of Green Growth

[4] หากสนใจ สามารถอ่านเพิ่มได้ที่ The ozone story: A model for addressing climate change?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save