fbpx
สิ่งที่ ‘ศูนย์ประชุม’ พึงมี

สิ่งที่ ‘ศูนย์ประชุม’ พึงมี

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

งานหนังสือปีนี้ย้ายไปจัดที่ ‘ศูนย์ประชุม’ แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ชานเมือง พูดให้ถูกกว่านั้นก็คือ ย้ายไปจัดที่ ‘เมืองบริวาร’ (satellite city) หรือเมืองที่มีเป้าหมายจะให้เป็น ‘เมืองบริวาร’ แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ว่าศูนย์ประชุมแห่งนั้นเข้าถึงได้ยาก พูดภาษาอังกฤษให้ฟังยากหน่อยก็คือ มี accessibility ต่ำ เนื่องจากไม่มีขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ จะมีก็เพียงรถตู้ที่รับส่งคนจากจุดต่างๆ เข้าไปป้อนศูนย์ประชุมเท่านั้น ส่วนคนที่ขับรถไป แม้จะมีทางด่วนผ่ากลางตัดตรงลงไปใกล้ศูนย์ประชุม แต่เมื่อไปถึงแล้ว ส่วนใหญ่ก็ต้องติดอยู่บนถนนใกล้ๆ นั่นเอง เนื่องจากการจัดการจราจรและที่จอดรถที่ไม่เพียงพอรองรับ

นั่นทำให้ผมเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า อะไรคือ ‘ศูนย์ประชุม’ กันแน่ และก่อนที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ศูนย์ประชุม’ หรือ Convention and Exhibition Center (ซึ่งหลายคนเรียกย่อๆ ว่า CEC) เมืองต่างๆ ในโลกนี้เขา ‘คิดให้ครบ’ อะไรกันบ้าง ถึงได้ออกมาเป็นศูนย์ประชุมได้

ปีที่แล้ว ตอนที่มีการประชุมร่วมระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ งานใหญ่ยักษ์ระดับโลกนั้นจัดขึ้นที่ ‘ดองแดมุนดีไซน์พลาซา’ (Dongdaemun Design Plaza หรือ DDP) ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงโซล ถือว่าเป็นศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เป็นแค่อาคารสถานที่แห่งหนึ่งเท่านั้น แต่คือ ‘แลนด์มาร์ค’ หรือสถานที่ที่บ่งบอกถึง ‘อัตลักษณ์เมือง’ ไปด้วยในตัว

อุตสาหกรรมที่เราเรียกกันว่า MICE (จริงๆ ก็คืออุตสาหกรรมการประชุมและการจัดอีเวนต์ต่างๆ) มีตัวเลขเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เดียว บอกว่าในปี 2016 อุตสาหกรรมนี้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 845 พันล้านเหรียญ และสร้างงานใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นถึง 5.9 ล้านตำแหน่ง และถ้านับรวมไปถึงภาษีต่างๆ ทั้งภาษีของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นด้วย จะสร้างเม็ดเงินมากถึง 104 พันล้านเหรียญเลยทีเดียว

แน่นอน — ทั้งหมดนี้มี ‘ศูนย์ประชุม’ หรือ CEC นี่แหละ เป็น ‘ศูนย์กลาง’ หรือ ‘หัวใจ’ ของอุตสาหกรรม

ดังนั้น จึงไม่มีเมืองไหนในโลก ที่สร้างศูนย์ประชุมขึ้นมากันอย่างชุ่ยๆ สักแต่ทำ หรือสร้างแบบขอไปทีโดยไม่มีการศึกษา หลายที่นอกจากจะศึกษาอย่างละเอียดแล้ว ยังศึกษานำร่องไปถึงโครงการในอนาคตหลายสิบปีข้างหน้าด้วย ว่าหากต้องมีการขยาย จะขยายอย่างไร และจะต้องมีอะไรมารองรับบ้าง

มีงานเขียนของบริษัทที่ปรึกษาในประเทศออสเตรเลีย บอกว่าการสร้าง CEC นั้น ต้องมีปัจจัยพื้นฐาน 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ที่ตั้ง การเชื่อมต่อ และความยืดหยุ่น

 

1.ที่ตั้ง (location)

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะที่ตั้งของศูนย์ประชุมจะอยู่ตรงไหนในเมือง คือเรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบด้าน ศูนย์ประชุมอาจเป็นธุรกิจของเอกชนก็จริงอยู่ แต่ในเมื่อมันคือหน้าตา คือภาพตัวแทนอัตลักษณ์ของเมือง ที่ตั้งของศูนย์ประชุม (ซึ่งมักจะเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างหน้าตาเป็นเอกลักษณ์) จึงต้องสอดคล้องสอดรับกับภูมิทัศน์ของเมืองโดยรวมด้วย

 

2.การเชื่อมต่อ (connection)

ที่จริงเรื่องที่ตั้งกับการเชื่อมต่อนั้นสัมพันธ์กันมาก ไม่มีเมืองไหนในโลกที่ผ่านการวางแผนมาแล้วอย่างดี จะสร้างศูนย์ประชุมที่ไร้การเชื่อมต่อ

อย่างที่แฟรงค์เฟิร์ต ซึ่งเป็นที่จัดงาน Frankfurt Book Fair ที่หลายคนคุ้นเคย จะมีรถไฟไปถึงโดยตรง ทำให้เข้าออกงานได้สะดวก CEC ที่สิงคโปร์ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ว่าจะเป็น Marina Bay Sands หรือ Suntec City ล้วนมีการเชื่อมต่อมาถึงโดยตรงทั้งสิ้น อย่าง Marina Bay Sands แม้ไม่ได้มีรถไฟตั้งแต่ต้น ทว่าก็มีการวางแผนเพื่ออนาคต จึงออกมาเป็นศูนย์ประชุมที่ ‘มาง่าย’ เอามากๆ อีกที่หนึ่งที่เคยไปก็คือ Paris Marathon Expo หรือ Le Salon du Running อันเป็นสถานที่จัดงานรับ bib ของงานวิ่งปารีสมาราธอน เพียงนั่งรถไฟไปลงที่สถานี Porte de Versailles ก็ถึงเลย

คำว่า connection ที่ว่า หมายถึงการเชื่อมต่อระหว่าง CEC เข้าไปสู่เมือง (ในกรณีที่ CEC ไม่ได้อยู่ในเมืองโดยตรง) รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับศูนย์ประชุมอื่นๆ ด้วย แม้จะเป็น CEC ที่เป็นคู่แข่งกัน แต่บ่อยครั้งถ้างานบางงานใหญ่มากจริงๆ ก็ต้องเกิดความร่วมมือกัน และที่สำคัญกว่านั้นก็คือเพื่อความสะดวกของลูกค้า CEC ใหญ่ๆ แต่ละที่หรือแต่ละมุมเมืองจึงควรต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อที่ดีและมีอารยะด้วย ไม่ใช่แข่งขันกันเอาเป็นเอาตายจนถึงระดับกีดกันกันและกัน

ที่สำคัญที่สุดก็คือ CEC คืออาคารที่เป็น ‘สเกลใหญ่’ ระดับ mega scale คือเป็นอาคารมหึมา ถ้ามองจากแผนที่ทางอากาศ จะเห็นได้ชัดว่า CEC ล้วนแต่สเกลใหญ่กว่าตึกธรรมดาทั่วไปมาก

แต่เรื่องที่ย้อนแย้งสำหรับอาคารระดับ mega scale เหล่านี้ก็คือ มันเกิดขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานในระดับ human scale คือรองรับผู้ชมงานที่ล้วนแล้วแต่ต้องใช้วิธี ‘เดิน’ เป็นหลัก ดังนั้น ‘โจทย์ใหญ่’ อย่างหนึ่งของ CEC ก็คือการทำให้ตัว CEC เองมี walkability หรือความสามารถในการเดินที่สูงด้วย

มนุษย์ (หรือลูกค้า) จะสัญจรอยู่ในความมหึมาของอาคารเหล่านี้ได้ ก็ด้วยการ ‘เดิน’ ทั้งนั้น ดังนั้น CEC จำนวนมากในโลกจึงต้องใส่ใจกับ walkability ภายในตัวอาคารอย่างพิถีพิถันละเอียดละออ ซึ่งก็สะท้อนออกไปนอกอาคารด้วย ว่าตัว CEC ตั้งอยู่ในเมืองที่ใส่ใจกับ walkability มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญก็คือ ถ้าทำได้ CEC ควรเชื่อมร้อยความสามารถในการเดินจากข้างนอกเข้ามาสู่ภายในอาคารด้วย จึงจะเกิดการสัญจรที่ ‘ไร้ตะเข็บ’ (seamless) ขึ้นมา

แต่ศูนย์ประชุมจำนวนมากในไทยยังคงถูกครอบงำด้วย ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ ทำให้คนต้องขับรถมาเพื่อวนหาที่จอดหรือติดอยู่แถวๆ หน้าศูนย์ประชุมนานเป็นชั่วโมงๆ และเกิด ‘รอยต่อ’ ระหว่างการสัญจรโดยใช้รถยนต์กับการเดินเท้าภายในศูนย์ประชุมขึ้นมา (เช่น ต้องเดินจากที่จอดรถเข้ามาในอาคารเป็นระยะทางไกลมาก อาจไกลเกิน ‘ระยะเดิน’ ที่พึงเป็นด้วยซ้ำ)

การเชื่อมต่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเป็นไปได้ CEC ควรเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะใหญ่ๆ อื่นๆ เช่น สนามบิน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเดินทางจากสนามบินมายังศูนย์ประชุมได้เลย และเมื่อมาร่วมงานก็ต้องมีที่พัก CEC ใหญ่ๆ ในโลก จะมีโรงแรมชั้นดีรายล้อม รวมทั้งมีทางเชื่อมหรือการสัญจรที่สะดวกด้วย เพื่อให้ผู้มาร่วมงานไม่จำเป็นต้องไปไหนไกล ยิ่งในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนหรือมีฝนตก การเชื่อมต่อยิ่งต้องพิถีพิถัน คือควรมีทางเดินในร่มไปถึงโรงแรมหลักทั้งหลาย ไม่่ใช่ปล่อยให้เดินตากแดดตากฝนไปตามยถากรรม หรือต้องคอยพึ่งพิงรถยนต์ตามสำนึกของคนที่ถูกปลูกฝังวัฒนธรรมรถยนต์ราวกับเป็นทาสของมันไม่ยอมเลิก

ถ้ามองในแง่นี้  connection ของการสร้าง CEC ในมิติต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดด้วยซ้ำไป

ถ้าเราพิจารณาศูนย์ประชุมที่ใช้จัดงานหนังสือปีนี้ เราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์ของศูนย์ประชุมแห่งนี้เกิดขึ้นเพื่อ ‘แก้ปัญหา’ บางอย่าง

พื้นที่ที่ใช้ทำศูนย์ประชุม แท้จริงแล้วอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เคยมีแนวคิดจะสร้าง ‘เมืองบริวาร’ หรือ satellite city ขึ้นมา เพื่อให้เมืองใหม่นี้มีทั้งที่อยู่ อาคารพานิชย์ มหาวิทยาลัย และที่พักผ่อนหย่อนใจต่างๆ โดยให้เมืองใหม่นี้มีลักษณะเป็น self-cointained city คือคนอยู่ในเมืองนี้ได้โดยไม่ต้องออกไปไหนเลย ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาจราจร และทำให้คนที่อยู่ในเมืองนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำปี 2540 โครงการที่ว่านี้ได้รับผลกระทบหนัก จึงเกิดแนวคิดแก้ปัญหาด้วยการสร้างสเตเดียมและศูนย์ประชุมขึ้นมาเพื่อ ‘ดึงคน’ เข้ามาที่นี่

แต่ปัญหาก็คือ เมื่อการสร้างศูนย์ประชุมไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อสร้างศูนย์ประชุม แต่เกิดขึ้นเพราะต้องการแก้ปัญหา เลยทำให้เกิดความลักลั่นในหลายระดับขึ้นมา เพราะทำให้คนจำนวนมากทะลักเข้ามาในเขตเมือง ที่จริงๆ แล้วควรจะสงบเงียบและใช้เป็นที่อยู่อาศัยมากกว่าการเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมใหญ่ระดับศูนย์ประชุม จึงขัดกับเป้าหมายแรกที่อยากเป็น self-contained city โดยสิ้นเชิง ปัญหาความวุ่นวายยุ่งเหยิงต่างๆ จึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาจราจร

 

3.ความยืดหยุ่น (flexibility)

เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นความถนัดของศูนย์ประชุมในไทยหลายแห่ง เพราะเราออกแบบอาคารเอาไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงและลักษณะงานที่หลากหลาย ถือว่าเป็นจุดเด่น รวมทั้งมีอุปกรณ์ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่มีอัธยาศัยไมตรี ถือเป็นจุดเด่นของอุตสาหกรรม CEC ในไทยได้เป็นอย่างดี

 

ที่จริงแล้ว ถ้าเราดูเทรนด์ของทั่วโลก เราจะพบว่าเทรนด์การสร้าง CEC นั้นอยู่ในขาขึ้น เพราะอุตสาหกรรม MICE กำลังมาแรง และคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลส์ ก็ต้องการ ‘เสพประสบการณ์’ จากการจัดงานต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น

ดังนั้น การคิดเพื่อให้ CEC เชื่อมโยงไปสู่อนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ CEC ในไทยรองรับความต้องการในอนาคตได้ ก็ต้องย้อนกลับไปดูปัจจัยหลักพื้นฐานสามอย่างที่ว่ามาข้างต้น

จะได้ไม่มีใครต้อง ‘เข็ดขยาด’ กับการเดินทางไปศูนย์ประชุมต่างๆ อีกต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม

https://corrs.com.au/insights/regional-convention-and-exhibition-centres-what-are-the-elements-of-success

http://news.samsungcnt.com/unconventional-design-challenges-building-convention-centers/

http://www.dcvb-nc.com/cr/considering_a_convention_center_paper.pdf

https://dspace.mit.edu/handle/1721.1/79948

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save