fbpx

จุดเปลี่ยนหลักนิติศาสตร์-ประวัติศาสตร์ : อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผ่านสายตานักกฎหมาย

“ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

พลันที่คำวินิจฉัยที่ 19/2564 ของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการชุมนุมซึ่งมีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เผยแพร่สู่สาธารณะ การเมืองไทยก็สั่นสะเทือนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะข้อกังวลที่ว่าคำวินิจฉัยครั้งนี้ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมักส่งผลต่อสถานะของศาลรัฐธรรมนูญเองและการเมืองภาพใหญ่อยู่เสมอ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลที่ตามมานั้นกลับสร้างปมเงื่อนความขัดแย้งใหม่ให้แก่สังคม

โครงการรัฐธรรมนูญสนทนาจึงจัดวงสนทนา Constitutional Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา ครั้งที่ 9 “อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ: ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” โดยชวนสามนักวิชาการด้านกฎหมายอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญร่วมกัน ได้แก่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินรายการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง – นิติสงครามบนแพร่งความขัดแย้ง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น ‘สึนามิ’ ทั้งในทางการเมืองและในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นเพียงเอกสารทางกฎหมาย แต่ยังเป็นเอกสารทางการเมืองซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ส่วนในทางนิติศาสตร์ คำวินิจฉัยจะกลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักการล้มล้างการปกครอง ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายอย่างยิ่ง


หลักการ Militant Democracy กับการตีความการกระทำล้มล้าง

ในด้านเนื้อหา มีอยู่ 3-4 ประเด็นหลักที่ศาลใช้เป็นฐานในการตัดสินว่าการเรียกร้องการปฏิรูปเป็นการกระทำล้มล้าง

เรื่องแรกคือรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่บอกว่าถ้าบุคคลใดพบเห็นคนใช้สิทธิเป็นการล้มล้างการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ให้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้กระทำหยุดการกระทำนั้น หลักการของมาตรา 49 มีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ในมาตราสุดท้ายของหมวดสิทธิเสรีภาพจะมีข้อหนึ่งระบุว่า คุณไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อทำลายระบบที่ให้สิทธิเสรีภาพคุณเองได้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองอย่างพรรคนาซีหรือพรรคฟาสซิสต์ในยุโรปลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่มีอุดมการณ์และเป้าหมายชัดเจนว่าจะไม่เคารพกติกาพื้นฐาน นักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ในยุคนั้นก็ชี้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย หากปล่อยให้พรรคเล่นกับอารมณ์ฝูงชนจนขึ้นมาเป็นใหญ่และทำลายรากฐานของกติกาจะอันตรายอย่างยิ่ง แต่ในขณะนั้นไม่มีใครฟัง สุดท้ายโลกจึงเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นเยอรมนีเป็นชาติแรกที่เขียนไว้ว่าหากพรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์ขัดต่อประชาธิปไตยจะไม่ได้รับสิทธิในการแข่งขันเหมือนคนอื่นและต้องถูกยุบพรรค นี่คือหลักการที่เราเรียกว่า militant democracy หรือประชาธิปไตยที่ป้องกันตัวเองได้ซึ่งใช้กันในหลายประเทศ

ในบริบทของไทย หลักการนี้อยู่ในมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ 2540 หมวดสิทธิเสรีภาพ ในบันทึกเจตนารมณ์ของกฎหมายพบว่า เขาต้องการให้เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น ประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ ว่านี่เป็นกลไกในการหยุดยั้งวงจรรัฐประหาร แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐประหารปี 2549 ก็ยุบศาลก่อนที่ใครจะไปฟ้องได้อีก แต่พอตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา ศาลก็ยืนยันว่าคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์เมื่อยึดอำนาจได้แล้วให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย

จากนั้นจึงมาเป็นมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งการตีความถูกขยายออกไปโดยไม่ได้คำนึงถึงการรัฐประหาร แต่กลับโยงเข้ากับ ‘การยุบพรรคการเมือง’ ที่บอกว่าหากสมาชิกพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แล้วกรรมการบริหารพรรครู้หรือสมควรได้รู้และไม่ห้าม ถือเป็นการพยายามล้มล้างการปกครอง จะเห็นว่าในขณะนั้นมีการยุบพรรคจำนวนมาก อย่างพรรคพลังประชาชนและพรรคชาติไทย และหลังจากนั้นก็ยิ่งขยายไปอีก เช่นที่ศาลชี้ว่าการแก้ไขเรื่อง ส.ว. เลือกตั้งนั้นเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย ผิดมาตรา 68 พอมาถึงมาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็กลายเป็นว่าความหมายของการล้มล้างการปกครองชักจะกว้างกว่าที่เราเข้าใจ

เราบอกว่าการจะใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยก็ต้องเคารพประชาธิปไตยก่อน แต่ว่ามาตรการที่ militant democracy อธิบายก็คือถ้าใครไม่เคารพ เรายุบพรรคเลย หรือประกาศให้กลุ่มคนนั้นหยุดการกระทำ ซึ่งตัวมันเองเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน เพียงแต่เขาบอกว่าคุณจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟสู้กับไฟ ในเมื่อเขาไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็ไม่เป็นประชาธิปไตยกลับโดยการให้เขายุบพรรค

การใช้ militant democracy ในทั่วโลกจึงเกิดผลสองแบบ ในแง่หนึ่งคือการใช้มาตรการป้องกันตัวเองของประชาธิปไตยจัดการกับแนวคิดนาซีใหม่ (neo-Nazism) หรือจัดการกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น รวมทั้งในบริบทสมัยใหม่ที่ถูกใช้จัดการกับพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มสนับสนุนการก่อการร้าย เช่น ในสเปน ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการหยิบยืมใช้หลักการประชาธิปไตยป้องกันตัวเองในเคสอย่างฮ่องกงและกัมพูชาที่มีการยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้าน โดยอ้างว่าเป็นพรรคที่สมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติจะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของกัมพูชา ผลคือพรรคของฮุนเซนชนะ 125 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคเดียวในสภา จะเห็นว่าจริงๆ แล้วการใช้มาตรการป้องกันตัวเองของประชาธิปไตยโดยเนื้อหาลึกลงไปมันไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยตัวของมันเอง ดังนั้นจึงมีคำเตือนแปะเอาไว้ว่าต้องใช้อย่างระมัดระวัง

คำถามคือสิ่งที่ศาลประกาศไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน เมื่อเทียบกับบริบทของต่างประเทศแล้วถือว่าร้ายแรงขนาดนั้นหรือเปล่า ศาลก็อธิบายว่าสถาบันฯ อยู่มานานและเป็นที่เคารพสักการะ แต่มีข้อสังเกตว่า คำว่า ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ มีขอบเขตที่กว้าง มันแปลว่าหนึ่งมีการเลือกตั้ง สองมีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประมุขแห่งรัฐกับกษัตริย์นั้นขยับได้ตลอด วันนี้สิ่งที่เราเข้าใจว่าคือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นก็ไม่เหมือนกับเมื่อสี่ปีก่อน ไม่เหมือนกับยุคก่อนพฤษภาทมิฬ หรือว่าในยุค 2489 และ 2492 มีการขยับเขยื้อนระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด การจะตีความอย่างคับแคบว่าต้องเป็นเท่านี้เท่านั้นหรือห้ามปฏิรูปนั้นเป็นปัญหาข้อหนึ่ง


อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร?

อีกเรื่องที่ต่อเนื่องกันคือการที่ศาลพูดว่า “อำนาจการปกครองเป็นของกษัตริย์มาโดยตลอด” คำพูดนี้จี้ไปที่ใจกลางของปัญหารัฐธรรมนูญที่เราพยายามหาคำตอบกันในรอบสิบปีนี้ว่า จริงๆ แล้วอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร

ในแง่หนึ่งตั้งแต่ปี 2555 จนถึงต้นปี 2564 ศาลพูดชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ถ้าจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไปทำประชามติ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อปีที่แล้วการสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่งกลายเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับกษัตริย์ ไม่เกี่ยวกับคนอื่น และในคำวินิจฉัยนี้เองก็กล่าวว่าอำนาจการปกครองเป็นของกษัตริย์

นี่คือความตึงเครียดในปัจจุบันที่เรายังตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ในรัฐธรรมนูญไทยบอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่านทั้งสามองค์กร ซึ่งเป็นการประนีประนอมแบบหนึ่งที่เราก็ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่ แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองแหลมคมขึ้น คนก็พยายามบีบคั้นว่าเราต้องหาคำตอบในเรื่องนี้ ซึ่งเราจะเห็นเหตุการณ์และคำวินิจฉัยต่างๆ ที่ขัดแย้งกันเอง อันนี้เป็นปัญหาของศาลที่ไม่มีความสม่ำเสมอว่าตกลงแล้วจะตัดสินอย่างไร


ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพในมุมมองของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนเนื้อหาเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของการใช้สิทธิ ซึ่งศาลเข้าใจผิดในความหมายที่คับแคบพอสมควร คือต้องใช้สิทธิเสรีภาพอย่างดีงามหรือใช้อย่างสงบเรียบร้อยเท่านั้น จริงๆ แล้วการแสดงออกทางการเมืองมีข้อจำกัดก็เฉพาะเมื่อการแสดงออกนั้นถูกแปรเป็นการกระทำที่จะสร้างความเดือดร้อนเสียหาย แต่คำถามคือการกระทำขั้นไหนถึงจะเรียกว่าเดือดร้อนเสียหายจนต้องหยุด

หากดูในต่างประเทศ การเผาหุ่นในที่ประท้วงก็ไม่ใช่การวางเพลิงตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา แต่คือการแสดงออกทางการเมือง เราไม่ควรใช้กฎหมายอาญาหรือสายตาของเราไปประเมินว่าอะไรก็ตามที่ทำเช่นนั้นมันผิดหมด เพราะนั่นหมายความว่าคุณยกกฎหมายอาญาขึ้นมาสูงกว่ารัฐธรรมนูญ

อีกปัญหาหนึ่งคือ ผมคิดว่าข้อเท็จจริงของศาลไม่สะท้อนกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ อย่างการบอกว่าม็อบปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของคนเห็นต่าง คำถามคือตรงไหน ในเมื่อปีที่แล้วเราก็เห็นว่าในการชุมนุมที่ราชดำเนิน ก็มีการชุมนุมของทั้งสองฝ่าย ฝั่งหนึ่งเป็นฝั่งปลดแอก อีกฝั่งคือฝั่งสนับสนุนสถาบันฯ การที่สองฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์หรือทะเลาะกันนั้นไม่ใช่การปิดกั้น เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ได้ห้ามการวิจารณ์หรือการทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ห้ามใช้กำลังไปปิดปากอีกฝั่งหนึ่งหรือไปหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


ความล่าช้าในกระบวนการเผยแพร่คำวินิจฉัย

ด้านกระบวนการ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือความล่าช้าในการเผยแพร่คำวินิจฉัย ขณะที่เราพูดคุยกันนี้อ้างอิงคำวินิจฉัยจาก press release หรือการอ่านคำวินิจฉัยด้วยวาจา แต่เคยมีกรณีที่ศาลแก้ไขบางถ้อยคำในคำวินิจฉัยฉบับเต็ม โดยปรับปรุงถ้อยคำที่มีปัญหาหรือที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ให้นุ่มนวลหรือสมเหตุสมผลขึ้น อย่างเรื่องอำนาจผู้ปกครองที่ยังคลุมเครืออยู่ก็อาจจะมีการแก้ไขภายหลังได้ นี่เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์มาหลายครั้งแล้วเพราะในวันที่ฟังคำวินิจฉัย ผลตามกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว คำวินิจฉัยควรพร้อมเผยแพร่ทันที ความล่าช้าของศาลยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการโดนคดีหมิ่นศาล หรือแม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการ ที่ศาลอาจอ้างได้ว่าการวิจารณ์นั้นไม่ได้เป็นตามหลักวิชาการเพราะเราไม่ได้ใช้คำวินิจฉัยตัวเต็ม


ความเข้าใจผิดของศาลเรื่องระบบไต่สวน

เรื่องกระบวนการพิจารณาที่เรามักพูดกันว่าเป็นแบบไต่สวน คือศาลสามารถแสวงหาหลักฐานเองได้ และศาลก็อ้างว่าได้แสวงหาหลักฐานครบแล้วจึงตัดสิทธิคู่ความในการแถลงเรียกพยาน ซึ่งผมคิดว่าศาลเข้าใจผิด ระบบไต่สวนแปลว่าถ้าศาลเห็นว่าคำให้การของคู่ความไม่สมบูรณ์ คุณก็สามารถ ‘แสวงหาเพิ่ม’ ไม่ใช่ศาลเป็นคนคิดเองว่าพอหรือไม่พอแล้วก็เป็นคนกำหนดประเด็นวาระเอง

การทำแบบนี้ก่อให้เกิดปัญหาในหลายคดี มีบางคดีที่เราไม่รู้ว่าศาลเอาข้อเท็จจริงมาจากไหน อย่างคดียุบพรรคอนาคตใหม่ คู่ความไม่เห็นว่าศาลกำหนดประเด็นแห่งคดีอะไรบ้าง ฉะนั้นก็แก้ประเด็นหรือแก้ตัวไม่ถูก สุดท้ายก็ไม่ได้สู้ในประเด็นที่ศาลตั้งไว้เพราะศาลตั้งประเด็นแล้วไม่บอกใคร อีกกรณีคือการยุบพรรคพลังประชาชนที่ศาลตัดการแถลงคดี แม้ข้อกฎหมายจะชัดเจนว่ายังไงก็ต้องยุบเพราะกฎหมายเขียนแบบนั้น แต่การตัดกระบวนวิธีพิจารณาความก็ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม แทนที่คำวินิจฉัยจะช่วยสร้างความยุติธรรมหรือสลายความขัดแย้ง กลับกลายเป็นสร้างอีกปมหนึ่ง


ความผิดปกติในกระบวนการทำคำวินิจฉัย

เรื่องความผิดปกติในกระบวนการทำคำวินิจฉัย ในวันนั้นศาลไม่อนุญาตให้ทนายหรือสาธารณะเข้าไปเลย โดยหลักการพิจารณาคดีต้องเปิดต่อสาธารณะ ศาลจำกัดแค่ตัวผู้ถูกร้องหรือผู้รับมอบอำนาจ โดยอนุญาตให้มีผู้รับมอบอำนาจหนึ่งคนต่อผู้ถูกร้องหนึ่งคน ฉะนั้นให้เข้าไปได้แค่สามคน โดยทีมทนายทั้งหมดไม่สามารถเข้าไปได้

เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับประเด็นศาลในฐานะผู้ตัดสินข้อพิพาททางการเมืองด้วยว่า ถ้าคุณเข้าใจว่าคดีนี้ไม่ได้มีแค่แง่มุมกฎหมาย แต่มีแง่มุมการเมืองด้วย แล้วผู้ถูกร้องเป็นประชาชน แต่ว่าโจทก์คือรัฐ เพราะเขาเรียกร้องให้ปฏิรูปรัฐ นอกจากศาลจะต้องดำเนินพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมแล้ว ยังต้องพิสูจน์ให้หมดข้อสงสัยว่าศาลไม่ได้อคติ

ดังนั้นการไม่ให้คนอื่นเข้าไป ให้แค่คู่ความไม่กี่คนไปเผชิญหน้ากับศาลมันสร้างความรู้สึกข่มขู่ กดดัน และไร้ญาติขาดมิตร ในข้อนี้ศาลไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นผู้แก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการเมืองได้


ผลของคำวินิจฉัยต่อการดำเนินคดีอาญา การรณรงค์แก้ไข ม.112 และการชุมนุมในอนาคต

เรื่องผลคำวินิจฉัย ตอนนี้ทุกคนพยายามตีความว่าผลมันจำกัดแค่คู่ความสามคน และควรจะจำกัดอยู่แค่การกระทำในปีที่ผ่านมา จะสั่งไปล่วงหน้าไม่ได้ หลายคนพูดว่ามันไม่ใช่แค่หัวข้อแต่รวมถึงวิธีการสื่อสาร เพราะฉะนั้นถ้าเปลี่ยนแพลตฟอร์มและวิธีการ คำวินิจฉัยก็ไม่น่าผูกพัน

สิ่งที่ผมอยากจะชี้คือสิ่งที่เรียกว่า ‘นิติสงคราม’ ที่จะใช้ต่อไป มีหลายคนไปยื่นยุบพรรคหรือดำเนินคดีอาญาต่อ ตรงนี้ต้องเข้าใจว่ามาตรฐานการเอาผิดในคดีนี้ไม่ควรถูกลงโทษทางอาญา ยกตัวอย่างกรณีของสเปนที่ยุบพรรคเพราะมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย เขาก็ไม่ได้ลงโทษทางอาญาเพราะเห็นว่าความเกี่ยวโยงของพรรคกับการก่อการร้ายไม่เพียงพอกับมาตรฐานทางอาญาซึ่งเข้มงวดมาก อย่างที่กล่าวไปว่าต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยก็ปรากฏว่ามันพิสูจน์ไม่ได้ เขาเลยออกกฎหมายใหม่ว่าความรับผิดทางรัฐธรรมนูญนั้นเอาให้พอเชื่อได้ว่าก็พอ คือให้ผลแค่ยุบพรรคแต่ไม่ให้โทษทางอาญา คล้ายกันกับมาตรา 49 ที่มีผลเพียงให้หยุดการกระทำ บนมาตรฐานการพิสูจน์คือศาลเชื่อได้ว่า แต่หากจะเอาผิดทางอาญา เช่น มาตรา 112 113 หรือ 116 นั้นต้องได้รับการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย

เพราะฉะนั้นจะเอาคำวินิจฉัยของศาลไปเทียบกับคดีอาญาโดยตรงไม่ได้ ถ้าหากศาลอาญาอนุญาตผมจะแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง นึกถึงคดียุบพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2550 แต่ในปี 2559 คดีอาญาเพิ่งออกมาว่าไม่สามารถพิสูจน์ว่าพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ตั้งพรรคเล็กลงสมัครจริงก็เลยยกฟ้องในทางอาญา จะเห็นว่าแม้มาตรฐานทางรัฐธรรมนูญจะทำให้ถูกยุบพรรค แต่มาตรฐานทางอาญายังไม่เพียงพอที่จะเอาผิดกรรมการบริหารพรรค อันนี้ต้องเข้าใจว่าคนละศาล คนละมาตรฐาน


ทิศทางสังคมไทยเมื่อศาลรัฐธรรมนูญอยู่ใจกลางความขัดแย้ง

ผมคิดว่าประเด็นสิทธิเสรีภาพน่าเป็นห่วงมากกว่าประเด็น militant democracy ซึ่งคนพอเข้าใจแล้วว่าการตีความของศาลเรื่องการล้มล้างนั้นเกินไปมาก ในขณะที่ความเข้าใจเรื่องขอบเขตสิทธิเสรีภาพยังไม่กระจ่างนัก หากใช้สิทธิเสรีภาพแล้วทำให้เกิดความไม่สงบ ไปกระทบหรือแตะคนอื่นไม่ได้เลย ก็ต้องย้อนถามว่าอะไรคือวัตถุประสงค์ของการมีสิทธิเสรีภาพ เสรีภาพมีไว้ปกป้องเวลาคุณต้องการพูดในสิ่งที่คนมีอำนาจไม่อยากฟัง และคุณต้องมีเสรีภาพหลังการแสดงออกต่อได้ อย่างการปฏิรูปสถาบันฯ ก็เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่อยากฟัง นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเราต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อที่เราจะได้พูดคุยกันต่อ ซึ่งไม่ได้แปลว่าห้ามรู้สึกเจ็บแค้นหรือห้ามรู้สึกไม่ชอบใจ แต่การปิดทางไปเลยมันผิดวัตถุประสงค์ของเสรีภาพ ไม่ได้ทำให้สังคมสงบ ซึ่งศาลเข้าใจหลักคิดเรื่องเสรีภาพผิดไปมาก

ศาลจะเป็นองค์กรที่ตัดสินตามเสียงข้างมากไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนส่วนมากยอมรับคำวินิจฉัยได้แม้จะไม่ตรงใจเขา ดังนั้นมันอยู่ที่การให้เหตุผล ถ้าให้เหตุผลดีก็จะมีแรงสนับสนุนเชิงสถาบันต่อไป แม้คำวินิจฉัยไม่เป็นที่พอใจ แต่ทุกคนยังเห็นว่าสถาบันศาลยังต้องอยู่ต่อ ทุกวันนี้ศาลไม่มีแรงสนับสนุนเช่นนี้และเริ่มมีข้อเสนอจากประชาชนแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่มีความจำเป็น ในฐานะคนสอนรัฐธรรมนูญเราก็ไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น เพราะยังถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย

ที่ผ่านมามีคนตำหนิม็อบปลดแอกว่า ‘เร็วเกินไป’ ซึ่งเป็นข้อตำหนิที่เหมือนสมัยอภิวัฒน์ 2475 แต่เราต้องมองใหม่ว่าในปัจจุบันนี้ว่าเร็วเกินไปหรือสายเกินการณ์กันแน่ ความสำเร็จของชนชั้นนำในการปรับตัวครั้งก่อนมักกลายเป็นอุปสรรคในการปรับตัวต่อความท้าทายครั้งใหม่ เช่นคิดว่าคราวก่อนเราสำเร็จแล้วเราจะไม่ปรับตัวอีก

วิธีการหลีกเลี่ยงความรุนแรงมีวิธีเดียวคือการยอมรับและการเจรจา ในการชุมนุมหลายครั้งแกนนำที่ถูกกล่าวหาว่าทำการล้มล้างระบอบการปกครองเขาหลีกเลี่ยงการปะทะเสมอ ถ้าจะนำไปสู่อันตรายหรือทำให้ฝูงชนบาดเจ็บล้มตาย ฝ่ายผู้มีอำนาจควรมองว่าข้อเสนอของผู้ชุมนุมเป็นข้อเสนอตามกฎหมาย ต้องการเล่นตามกติกา เราควรจะลองเชื่อใจและเปิดใจเจรจา

แน่นอนว่าเรายังไม่เห็นสัญญาณในตอนนี้ซึ่งเป็นที่น่ากังวลมาก พอศาลตัดสินแบบนี้ก็มีทั้งตัวแสดงที่เป็นรัฐ (state actor) และไม่ใช่รัฐ (non-state actor) ทั้ง คฝ. เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งกลุ่มขวาจัดที่กระเหี้ยนกระหือรือจะจัดการกับม็อบเด็ก เราได้แต่หวังว่าผู้มีอำนาจจะปรับตัวทัน ถึงแม้ความหวังจะริบหรี่ ที่สำคัญที่สุดคือทุกคนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความรุนแรงควรจะออกมาพูดให้เป็นเสียงเดียวกัน ไม่ยอมรับการปิดทางการปฏิรูป และสนับสนุนหนทางสันติวิธีนี้ต่อไป เป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่าสังคมควรจะเคลื่อนไปทางนี้

ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ – ศาลรัฐธรรมนูญเลือกพิทักษ์คุณค่าดั้งเดิม มากกว่าสิทธิเสรีภาพ

ภาพจากเว็บไซต์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนมีประเด็นที่ต้องขบคิดอยู่ทั้งหมด 4 เรื่อง


สามเงื่อนไขบนหลักการ Militant Democracy

ประเด็นแรก การใช้มาตรา 49 ตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการห้ามใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ไปในทางที่ขัดต่อหลักการปกครอง ซึ่งเป็นไปตามหลักการ militant democracy ต้องคำนึงว่ากลไกนี้ไม่ใช่เพียงกลไกที่จำกัดการใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน แต่แทบจะทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกร้องไปเลย เช่น การตัดสินยุบพรรค หรือการตัดสินริบสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง ซึ่งส่งผลให้คนคนนั้นเสมือนว่าตายในทางการเมือง ด้วยเหตุนี้การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้กฎหมายข้อนี้จึงต้องพิเคราะห์ถึงสามเงื่อนไขเสมอ

เงื่อนไขแรก ศาลรัฐธรรมนูญที่จะใช้กลไกนี้ตัดสินอนาคตทางการเมืองของประเทศได้ต้องเป็นศาลที่มีความชอบธรรมทางการเมืองสูงมาก โดยต้องมีที่มาที่สง่างามและเป็นที่ยอมรับมาก แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยปัจจุบันมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร จึงชัดเจนว่าไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้เลย

เงื่อนไขที่สอง เนื่องจากการใช้หลักการ militant democracy มีลักษณะจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างมาก ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าใครล้มล้างการปกครองหรือไม่ ศาลจำเป็นต้องได้พิจารณาไต่สวนจนได้ความชัดเจนที่แท้จริงก่อน จึงจะใช้กลไกนี้ได้  

และเงื่อนไขที่สามคือเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยของศาล ตามหลักแล้ว การจะตัดสินว่าใครล้มล้างการปกครองต้องชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงมาก มีการต่อสู้ขัดขวาง ทำเป็นกระบวนการ และมีเป้าหมายชัดเจนว่ามีเจตนาเอาระบอบอื่นมาใช้แทน แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยมีการยกเหตุผลขึ้นมาเยอะมาก และเป็นเหตุผลที่แทบไม่สัมพันธ์กัน เช่น การใช้ความหยาบคาย การใช้ความรุนแรง และการไม่มีผู้นำการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่เข้าใจว่าเป็นความผิดล้มล้างการปกครองอย่างไร โดยที่ศาลไม่ได้วินิจฉัยลงไปที่เนื้อหาของข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเลย การให้เหตุผลของศาลจึงมีปัญหาค่อนข้างมากและยากที่จะทำให้คนเชื่อคล้อยตาม


การปะทะกันของคุณค่าทางรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่สองศาลรัฐธรรมนูญพยายามพูดถึง ‘คุณค่า’ ในทางรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาเป็นเหตุผลสนับสนุนชี้ขาดว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครอง โดยโยงถึงคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ต่อสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และชี้ว่าการกระทำผู้ถูกร้องซึ่งอ้างสิทธิเสรีภาพในการออกมาโจมตีในที่สาธารณะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เห็นต่าง โดยประเด็นที่น่าสนใจคือการที่คำวินิจฉัยศาลเป็นการยืนยันว่าในสังคมประชาธิปไตยนี้มีคุณค่าสองอย่างที่อาจขัดแย้งกันอยู่ในตัว ขณะที่ศาลยอมรับว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น แต่ก็บอกว่าการใช้เสรีภาพนี้ไปล่วงละเมิดคุณค่าสถาบันหลักของชาติ

ตามหลักวิชาการในต่างประเทศเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า ‘การปะทะกันของคุณค่าทางรัฐธรรมนูญ’ ทำให้ศาลควรมีบทบาทเป็นผู้ประสานคุณค่า ให้คุณค่าที่ขัดแย้งกันมาอยู่ร่วมกันได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาคือความตั้งใจยืนยันว่าคุณค่าดั้งเดิมเป็นสิ่งที่แตะต้อง วิพากษ์วิจารณ์ หรือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปไม่ได้ ถือเป็นการขีดเส้นว่าประชาชนใช้เสรีภาพได้เพียงเท่านี้ จนเกิดข้อกังขาว่าตกลงแล้วตอนนี้เรายังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรือเปล่า ในเมื่อคนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้เลย

ปกติแล้ว สิทธิเสรีภาพมักมีกรอบอุดมการณ์บางอย่างที่ครอบอยู่ ซึ่งเป็นในหลายๆ ประเทศที่รัฐธรรมนูญอาจมีการบอกว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้บ้าง โดยการที่รัฐจะเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน รัฐก็ต้องคำนึงเสมอว่าจะเข้าไปจำกัดได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ศาลต้องตีความ และการตีความก็ต้องนำไปสู่คำตอบในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยหยิบเอาข้อยกเว้นซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลต้องการพิทักษ์โดดขึ้นมาเป็นเหตุผลหลักในคำวินิจฉัย ถือเป็นการตีความกฎหมายที่อันตรายมาก เพราะทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไม่ได้รับความคุ้มครองเลย และที่สำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่เคยอธิบายได้ชัดเจนถึงหลักความได้สัดส่วนและหลักความพอสมควรแก่เหตุ ว่าจะให้หรือจำกัดสิทธิพื้นฐานได้มากน้อยแค่ไหน ชั่งน้ำหนักคุณค่าต่างๆ อย่างไร ถือเป็นปัญหารากฐานของการตีความเรื่องสิทธิเสรีภาพของศาลรัฐธรรมนูญไทย

นอกจากนี้ ภารกิจหลักของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลกที่ควรจะเป็นอย่างหนึ่ง คือการเป็นกลไกพิทักษ์คนฝ่ายข้างน้อยหรือคนที่ไม่ได้ถืออำนาจ ภายใต้สังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยกลับไม่ได้พัฒนามาในทิศทางนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายเรื่องที่ผ่านมากลายเป็นว่าผสมโรงให้เสรีภาพของคนที่ไม่ถืออำนาจถูกจำกัดมากขึ้นไปอีก จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าศาลรัฐธรรมนูญมีความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างไร และเข้าใจบทบาทตนเองอย่างไร


สิทธิขั้นพื้นฐานและการจำกัดสิทธิ

ประเด็นที่สามคือปัญหาเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและการจำกัดสิทธิ เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่าการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานจะกระทบสิทธิของบุคคลอื่นไม่ได้ หรือกระทบความมั่นคงไม่ได้ แต่การให้เหตุผลทำนองนี้ผิดหลักวิชาค่อนข้างมาก เพราะการใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพสื่อ ไม่มีทางที่จะไม่กระทบบุคคลอื่น เช่นการแสดงความเห็นของเราอาจกระทบชื่อเสียงของคนอื่น ที่จริงศาลควรให้เหตุผลว่าในเมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นไปขัดกับคุณค่าอื่นหรือคนอื่น แล้วเราจะทำอย่างไรให้คุณค่าสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้ ทำให้ทุกคนพึงพอใจในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกันอยู่


คำพิพากษากับผลผูกพันในอนาคต

ประเด็นสุดท้าย ตามหลักแล้ว คำพิพากษาควรมีผลผูกพันเฉพาะการกระทำที่ได้ทำไปแล้วเท่านั้น จึงไม่สามารถห้ามไปที่การกระทำในอนาคตได้ เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่าการกระทำที่ศาลห้ามไว้ในอนาคตจะมีข้อเท็จจริงเดียวกันหรืออยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกันกับคำวินิจฉัยนี้ จึงไม่คิดว่าคำวินิจฉัยจะมีผลเป็นการสกัดกั้นการใช้เสรีภาพของบุคคลอื่นๆ ได้ล่วงหน้า


โดยสรุป ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีปัญหามากเรื่องความรู้ความเข้าใจในการใช้และตีความข้อกฎหมาย แต่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ อะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังทำให้การใช้และตีความกฎหมายหนีออกไปจากหลักวิชาการ นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากและอันตรายอย่างยิ่ง ในความเห็นของผม ศาลรัฐธรรมนูญกำลังป่วยการมากที่จะใช้หลักวิชาการไปอธิบายเหตุผลตามคำวินิจฉัย จึงอยากให้สังคมไทยต้องตั้งสติและตั้งคำถามถึงสถานะของศาลรัฐธรรมนูญในทางการเมืองไทยว่า ภายใต้โครงสร้างอย่างนี้หรือภายใต้องค์ประกอบของคณะตุลาการรูปแบบนี้จะเป็นศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไรและจะพิทักษ์สิทธิของเราได้อย่างไร และหากในอนาคต อีก 3-4 คดีข้างหน้า ถ้าเราคาดหมายถึงผลคำวินิจฉัยได้ล่วงหน้า ก็เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็นอีกต่อไป

สมชาย ปรีชาศิลปกุล “คำวินิจฉัยที่มหัศจรรย์พันลึก”

กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผมขอใช้คำว่า ‘มหัศจรรย์พันลึก’ คือเป็นคำวินิจฉัยที่นำมาซึ่งคำถามแทบจะทุกประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผล เท่าที่เห็นผมเห็นตอนนี้ยังไม่เห็นใครให้เหตุผลสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้เลย ดูเหมือนว่าสังคม นักกฎหมาย และนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามกับคำวินิจฉัย นี่เป็นคำวินิจฉัยที่แปลกและพิสดารอยู่พอสมควร

การที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ส่งผลกระทบ 2 เรื่องสำคัญ คือเรื่องระบบกฎหมายสมัยใหม่และคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


ระบบกฎหมายสมัยใหม่ต้องเปิดโอกาสให้โต้แย้ง

ผมอยากชวนมองปรากฏการณ์นี้โดยที่ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ได้ ลองมองจากสามัญสำนึกของคนธรรมดาก็น่าจะมองเห็นว่าคำวินิจฉัยนี้ของศาลรัฐธรรมนูญคือการลงโทษบุคคลอย่างร้ายแรงด้วยกระบวนการและเหตุผลทางกฎหมายที่คลุมเครืออย่างมาก เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าการกระทำที่ทนายอานนท์ปราศรัยในม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์วันที่ 3 สิงหาคม 2563 กับการชุมนุมของกลุ่มธรรมศาสตร์จะไม่ทนวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เป็นการล้มล้างการปกครอง ไม่ใช่การปฏิรูป

ข้อหาการล้มล้างการปกครองรุนแรงมาก ซึ่งตามคุณลักษณะของระบบกฎหมายสมัยใหม่หรือกฎหมายแบบที่เราเชื่อว่าเป็นอารยะนั้น เมื่อไหร่ที่คุณจะตัดสินลงโทษคน ต้องมีกฎหมายและผ่านการพิสูจน์ที่ชัดเจน ต้องมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและโต้แย้งได้ ไม่ว่าข้อหาเล็กน้อยหรือรุนแรงก็ตาม ยิ่งข้อหารุนแรงก็ยิ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ที่ต้องมีโอกาสโต้แย้ง

ในแง่หนึ่งผมตกใจพอสมควรว่ากรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกร้องนำพยานบุคคลเข้าไปชี้แจง ศาลให้เหตุผลว่าเป็นศาลไต่สวน รวบรวมข้อมูลเพียงพอแล้ว เพราะฉะนั้นจะตัดสินเลย ปัญหาก็คือที่บอกว่าเพียงพอแล้วนั้น เพียงพอต่อความต้องการของศาล แต่อีกฝ่ายไม่มีโอกาสชี้แจงหรือตอบโต้ต่อพยานหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมา

หลังจากคำตัดสินเกิดขึ้น ผมกลับไปนั่งอ่านเอกสารถอดเทปการปราศรัยของอานนท์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 และการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์วันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยสรุปทั้งหมดคือการพยายามจะเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ แน่นอนว่าอาจมีถ้อยคำที่บางคนอ่านแล้วไม่พอใจ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การที่เราฟังใครพูดแล้วไม่สบายใจ ไม่เข้าหูเรา แต่ถ้าไม่ได้เป็นคำพูดที่ผิดกฎหมาย สังคมประชาธิปไตยก็ต้องเรียนรู้ นี่คือเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่สำคัญ

อย่างที่สหรัฐอเมริกา การเผาธงชาติเพื่อแสดงออกทางการเมืองเป็นสิ่งที่กระทำได้ การเผาธงชาติก็ทำให้คนจำนวนมากไม่สบายใจ แต่นี่คือเสรีภาพในการแสดงออก ตราบเท่าที่ยังไม่ได้เป็นการล้มล้างระบอบการเมืองการปกครองโดยรวม นี่เป็นสิ่งที่ต้องอดทน

ในแง่นี้เราก็พิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไปเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘เจตนาที่ซ่อนเร้น’ ในทางกฎหมายเรื่องนี้เป็นปัญหา นักเรียนกฎหมายจะรู้ว่าเวลาพูดถึง ‘เจตนา’ หมายถึงเจตนาในเหตุผลที่ว่าเป็นการกระทำที่เราสามารถคาดหมายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญมองไปถึงเจตนาที่ซ่อนเร้น ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากและเกิดข้อสงสัยขึ้นมาได้ว่า คำตัดสินนี้วางอยู่บนฐานความเชื่อของผู้ตัดสินเป็นหลัก ในขณะที่ในเชิงกระบวนการ คนที่ถูกกล่าวหาไม่สามารถโต้แย้งได้เลย แล้วสุดท้ายมาจบลงที่คำตัดสินว่าการกระทำที่พวกคุณทำทั้งหมดคือการล้มล้างระบอบการปกครอง

นี่เป็นคำวินิจฉัยที่มหัศจรรย์พันลึก มีปัญหาให้ตั้งข้อโต้แย้งและตั้งคำถามได้มากมายเต็มไปหมด


คำวินิจฉัยที่ด้อยค่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ประเด็นที่สอง นี่คือการด้อยค่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ในคำวินิจฉัยที่ประกาศออกมาว่า “ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย อำนาจการปกครองเป็นของกษัตริย์มาโดยตลอด ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์” การให้คำอธิบายแบบนี้เป็นการพูดถึงซีกเดียวของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือพูดถึงการที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ดำรงมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้พูดถึงซีกระบอบประชาธิปไตย จึงทำให้การทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขดูเหมือนจะบิดเบี้ยว

ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และในขณะเดียวกันสิทธิเสรีภาพก็ตามมา เพราะฉะนั้นเวลาจะพิจารณาประเด็นปัญหาต่างๆ ถ้าตราบเท่าที่มันไม่ได้เป็นการทำลายล้าง ต้องเป็นการพิจารณาสิทธิทั้งสองอย่างให้ดำรงอยู่ควบคู่ไปด้วยกัน แต่ถ้าเราพิจารณาจากกรณีนี้จะพบว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำลายสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยลง โดยให้ความสำคัญกับอีกซีกเดียวของระบอบการเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่

คำอธิบายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ท้าทายแค่นักกฎหมาย แต่ท้าทายอย่างสำคัญถึงคำอธิบายด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย


คำวินิจฉัยที่จำกัดเสรีภาพของประชาชน

นอกจากสองประเด็นข้างต้น ผมมีอีกหนึ่งข้อสังเกต นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นปัญหา หลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 หรือหลังปี 2557 เป็นต้นมา แทบทุกครั้งที่มีคำวินิจฉัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นเรื่องสถาบันทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของประชาชน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดูเหมือนจะให้ความสำคัญเพียงด้านใดด้านเดียว โดยเฉพาะด้านที่ไม่ใช่เรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ผมคิดว่าคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีความรู้ความเข้าใจ แต่เรื่องนี้อาจชวนให้เราตั้งคำถามได้ว่า เป็นเพราะโครงสร้างการออกแบบศาลรัฐธรรมนูญตั้งใจจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่แบบหนึ่งหรือไม่

ผมขอหยิบยืมคำอธิบายของนักวิชาการฝรั่งที่บอกว่า เมื่อไหร่ที่ชนชั้นนำไม่สามารถยึดครองรัฐสภาได้ ฝ่ายตุลาการจะกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ชนชั้นนำในสังคมนั้นยึดมาใช้ และทำหน้าที่เป็นผู้ธำรงอำนาจนำดั้งเดิม หมายความว่าบทบาทของตุลาการจะกลายเป็นคนที่ปกป้องชนชั้นนำหรืออุดมการณ์ของชนชั้นนำที่มีมาแต่ดั้งเดิม เพราะฉะนั้นในแง่นี้ ปัญหาไม่น่าใช่ความไม่รู้ของศาล เพราะหลายท่านก็เคยเป็นอาจารย์และนักวิชาการมาก่อน แต่อาจจะเป็นปัญหาอื่นหรือเปล่า ดังนั้นอาจนำมาสู่คำถามที่ว่าสถานะและบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นเพราะโครงสร้างทางอุดมการณ์หรืออย่างอื่นหรือเปล่าที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้

อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ ก่อนหน้านี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมักจะพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เป็นที่นิยมของประชาชน เช่น พลังประชาชน ไทยรักไทย อนาคตใหม่ ฯลฯ และรวมไปถึงการตัดสิทธินักการเมือง พยายามทำให้นักการเมืองไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องในทางการเมืองได้

คำวินิจฉัยครั้งนี้ไม่ได้พุ่งไปที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันอย่างเป็นทางการ แต่พุ่งไปที่ประชาชนหรือกลุ่มคนที่ทำการเคลื่อนไหว สิ่งนี้หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้ามาจำกัดการเคลื่อนไหวสิทธิเสรีภาพของผู้คนในสังคมใช่หรือเปล่า เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยนี้จึงน่าสนใจมาก ทำไมจึงเกิดคำวินิจฉัยที่ทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเยาวชนที่การเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์กลับกลายเป็นการล้มล้างการปกครอง บทบาทนี้เป็นอีกจังหวะหนึ่งที่กำลังจะบอกอะไรสังคมหรือเปล่า หรืออาจเป็นบทบาทหน้าที่ใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะแสดงมากขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการกำกับการเคลื่อนไหวของประชาชน ในแง่หนึ่งเป็นเพราะว่าอำนาจของชนชั้นนำหรืออำนาจของรัฐโดยรวมอ่อนแอลงมากหรือเปล่า การใช้กลไกทางตำรวจหรือกลไกอื่นที่มีอยู่ไม่สามารถควบคุมหรือลดการเคลื่อนไหวได้ เลยต้องมาอาศัยยืมอำนาจตุลาการเข้ามาทำหน้าที่นี้หรือเปล่า

ถ้าเราคิดแบบนี้จะเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราก็เห็นบทบาทในลักษณะเดียวกันของศาลยุติธรรมที่ชวนสงสัยอยู่ หมายความว่าไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่อำนาจตุลาการโดยรวมของสังคมไทยเป็นปัญหา


ส่งเสียงเพื่อป้องกันอาวุธทางกฎหมาย

เวลาเราศึกษาศาลรัฐธรรมนูญประเทศอื่น สิ่งที่จะเห็นบ่อยครั้งคือมีคำวินิจฉัยที่เราต้องเรียน คือเป็นคำวินิจฉัยที่ดี ให้เหตุผลที่เราไม่สามารถเห็นต่างไปจากนั้นมากเท่าไหร่ เป็นคำวินิจฉัยบรรทัดฐาน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าใช้เหตุผลในการไตร่ตรอง ผมจึงย้อนกลับมามองเมืองไทย เวลานึกถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยไหนบ้างที่เปี่ยมล้นไปด้วยเหตุผลและหลักการของกฎหมาย เป็นคำวินิจฉัยที่อยู่ข้ามเวลาไปได้ยาวนาน เห็นแต่เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมา ก็มักจะมีการจัดเวทีว่าคำวินิจฉัยนี้มีปัญหาอย่างไร มีเหตุผลที่ไม่ดีอย่างไร นี่เป็นปัญหาที่เราต้องตั้งคำถามกลับไปถึงสาเหตุอีกหลายๆ เรื่อง

สำหรับคำวินิจฉัยครั้งนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่นักวิชาการควรทำคือชี้ให้เห็นว่าคำวินิจฉัยนี้มีปัญหามาก ทั้งในแง่หลักการกฎหมายและความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมือง เราไม่ควรปล่อยให้คำวินิจฉัยนี้กลายไปเป็นฐานของการเขยิบในทางการเมืองที่จะไปเอาผิดกับผู้คน เพราะไม่อย่างนั้นคำวินิจฉัยนี้จะกลายไปเป็นฐานของกลุ่มที่ไม่ได้สนใจประชาธิปไตยหยิบไปเป็นเครื่องมือในการเอาผิดทางกฎหมาย

เป็นความจำเป็นที่เราต้องออกเสียงว่าคำวินิจฉัยนี้มีปัญหาอย่างมาก และไม่ควรเอาไปเป็นฐานเอาผิดทางกฎหมายกับใครอีก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save