fbpx
รัฐธรรมนูญฉบับเก่าแต่ไม่แก่ของนอร์เวย์

รัฐธรรมนูญฉบับเก่าแต่ไม่แก่ของนอร์เวย์

ปรีดี หงษ์สต้น เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

อันที่จริง ถัดจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีรัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมใช้กันจนมาถึงปัจจุบันแล้ว นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญอายุยืนนานเช่นกัน รัฐธรรมนูญของนอร์เวย์นั้นใช้กันมายาวนานที่สุดในยุโรป เพราะฉะนั้นหากจะว่ากันถึงเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองว่าด้วยรัฐธรรมนูญ นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีเรื่องน่าเล่าไม่แพ้ประเทศใหญ่อื่นๆ

รัฐธรรมนูญของนอร์เวย์เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 1814 มีชื่อเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญเอดสโวล (Eidsvoll) ตามชื่อเมืองที่มีการประชุมกัน

ประวัติชีวิตของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เต็มไปด้วยความตื่นเต้นของการเมืองในสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็นหมุดหมายของการแยกออกจากการปกครองของเดนมาร์กอันยาวนานหลายร้อยปีก่อนหน้า (ชาวนอร์เวย์เขาเรียกประเทศตนเองช่วงอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์กว่า “ค่ำคืนอันยาวนาน”) หรือรัฐธรรมนูญยังมีบทบาทต่อการเป็นหลักฐานอธิปไตยของประเทศเมื่อต้องเข้าร่วมอยู่ใต้การปกครองของสวีเดนในช่วงสั้นๆ

ไปจนกระทั่งเมื่อกองทัพเยอรมันบุกเข้านอร์เวย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยืนกรานความเป็นนอร์เวย์ร่วมกันภายใต้การรุกรานของต่างชาติด้วย

 

รัฐธรรมนูญเอดสโวล
รัฐธรรมนูญเอดสโวลฉบับดั้งเดิม

 

บริบทในยุโรป

 

สงครามนโปเลียนสิ้นสุดลงในต้นศตวรรษที่ 19 ด้วยความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสต่อกองกำลังสัมพันธมิตรของประเทศต่างๆ นอร์เวย์ในช่วงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่ปี 1660 โดยเดนมาร์ก-นอร์เวย์อยู่ข้างฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ความพ่ายแพ้นี้ส่งผลกระทบต่ออำนาจของกษัตริย์เดนมาร์กอย่างมาก เนื่องจากเดนมาร์กอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสวีเดนในสงครามนโปเลียน สวีเดนจึงใช้โอกาสนี้อ้างเอาการปกครองนอร์เวย์ไปจากเดนมาร์ก (เพราะตนเองสูญเสียการปกครองฟินแลนด์ไปให้กับรัสเซีย) สำหรับเดนมาร์ก ความพ่ายแพ้นี้จึงหมายความถึงการสูญเสียนอร์เวย์จากการปกครองของตนไปอยู่ในมือสวีเดนแทน

แต่สำหรับผู้ปกครองนอร์เวย์แล้ว ความพ่ายแพ้นี้เป็นโอกาสทองที่จะแสดงถึงความเป็นเอกราชของตนเอง ท่ามกลางความมะรุมมะตุ้มกันของมหาอำนาจทั้งใหญ่น้อยที่มักเอาเปรียบประเทศเล็ก เป็นโอกาสที่จะประกาศเอกราชของตนเป็นครั้งแรกตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา

เมื่อสวีเดนอ้างจะปกครองนอร์เวย์ กษัตริย์ผู้ปกครองนอร์เวย์อยู่ก็ต่อต้านทันที ใครจะไปอยากให้คนอื่นมาตักตวงผลประโยชน์ที่กลุ่มตัวเองกำลังตักตวงอยู่เล่า

ในเวลาดังกล่าวนี้ กลุ่มผู้ปกครองนอร์เวย์ต่างเห็นว่าจะต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญกันได้แล้ว ต่างก็ร่างรัฐธรรมนูญของตนเองกันขึ้นและส่งเวียนให้แก่กันและกันพิจารณา

สำหรับปัญญาชนผู้จับปากกาแล้วล่ะก็ การร่างรัฐธรรมนูญนับเป็นกระแสเลยทีเดียว ถึงขนาดว่าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์หัวหนึ่งเปิดประกวดการร่างรัฐธรรมนูญ และมีเงินรางวัลให้ด้วยสำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ “เจ๋ง” ที่สุดด้วย

 

สงครามนโปเลียน
สมรภูมิโคเปนเฮเกน ส่วนหนึ่งของสงครามนโปเลียน

 

รัฐธรรมนูญเอดสโวล

 

วันที่ 10 เมษายน 1814 ตัวแทน 112 คนจากภูมิภาคต่างๆ ของนอร์เวย์มาประชุมกันที่บ้านของขุนนางผู้หนึ่ง ณ เมืองเอดสโวล ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองออสโลในปัจจุบันไปประมาณ 50 กิโลเมตร ตัวแทนทั้งหมดเหล่านี้ค่อนข้างหนุ่มทีเดียว อายุเฉลี่ยของพวกเขาอยู่ประมาณ 42 ปีเท่านั้น และต่างก็สังกัดชนชั้นทางสังคมที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผู้นำทางการเมืองและปัญญาชน

แต่ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนจากชาวนาเข้าร่วมการประชุมด้วยจำนวนมากถึงประมาณหนึ่งในสามของตัวแทนทั้งหมด ตัวแทนเหล่านี้เป็นที่รู้จักต่อมาอย่างยกย่องว่าผู้ก่อการเอดสโวล (Eidsvoldsmænd) ซึ่งปรากฏในจินตกรรมความเป็นชาติร่วมกันของชาวนอร์เวย์

ในขณะเดียวกันสำหรับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์แล้ว กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ นั้น อาจจะกล่าวได้ว่าถึงแม้จะมีตัวแทนเข้าร่วมเป็นหลักร้อย แต่กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญยังคงเป็นกลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่งอยู่ ซึ่งมีกันอยู่ประมาณ 15 คนเท่านั้น และมีกระบวนการถกเถียงเพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายกันจริงๆ ไม่ถึงหนึ่งเดือน

นั่นอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์รายล้อมที่ส่งแรงกดดันให้กระบวนการของผู้ก่อการเอดสโวลถือเอาความเร่งด่วนเป็นที่ตั้ง และอาจจะเรียกได้ว่ารัฐธรรมนูญเอดสโวลเป็นคำประกาศเอกราชจากสวีเดนก็ได้

 

ผู้ก่อการเอดสโวล ที่มาวาดทีหลังจากจินตกรรมของออสการ์ เวอร์จิแลนด์
ผู้ก่อการเอดสโวล ที่มาวาดทีหลังจากจินตกรรมของออสการ์ เวอร์จิแลนด์

 

ความขัดแย้ง

 

แน่นอนว่าชนชั้นนำ (ย้ำว่าชนชั้นนำ ไม่ใช่ชาวนา) ของสวีเดนไม่อยากจะเอาสาระอะไรกับรัฐธรรมนูญเอดสโวลนี้ รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐธรรมนูญของนอร์เวย์นั้นมีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญสวีเดนมาก แต่การผลักดันของนอร์เวย์อย่างแข็งขันก็ทำให้มาตกลงกันอยู่ตรงจุดที่ว่า ทั้งสองประเทศร่วมเป็นสหภาพกัน กอปรกับสถานการณ์ในยุโรปที่ต้องการมุ่งไปสู่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) เพื่อต้องการหาข้อตกลงทางการทหารกันในเดือนกันยายน 1814

สถานการณ์เช่นนี้ผลักนอร์เวย์ให้เคลื่อนจากการเป็นรัฐสมบูรณาสิทธิราชย์ภายใต้เดนมาร์กสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ถือเป็นการเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสาสมใจของความเคลื่อนไหวที่ได้รับอิทธิพลจากยุคสว่างในยุโรป

 

จากนั้นมา

 

จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเอดสโวลมา เวลาก็ล่วงเลยมาสองร้อยกว่าปีแล้ว มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปตามยุคสมัย ตามกาลเวลา มีการวัฒนากันไปโดยยังคงรักษาสปิริตของรัฐธรรมนูญฉบับเก่าแต่ไม่แก่นี้เอาไว้ โดยเฉพาะการมุ่งไปสู่เส้นทางการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ วันที่ 17 พฤษภาคมจึงถือเป็นวันชาติของนอร์เวย์

เช่นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่แนวทางที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่สามารถแต่งตั้งรัฐบาลที่ไม่มีเสียงประชาชนชาวนอร์เวย์ส่วนใหญ่สนับสนุนได้ เป็นต้น

ฉะนั้นถ้าจะว่าด้วยรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ใช้กันมานาน รัฐธรรมนูญเอดสโวลนี้ไม่แพ้ใคร ทั้งยังปรับตัวไปตามยุคสมัย เป็นรัฐธรรมนูญที่ยัง “เก๋า” ยังมีความเป็นหนุ่มอยู่เสมอ โดยวางอยู่บนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศ

แต่ใครจะได้รับอนุญาตให้เป็นพลเมืองบ้าง คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ชาวนอร์เวย์เฉลิมฉลองวันชาติ 17 พฤษภาคม
ชาวนอร์เวย์เฉลิมฉลองวันชาติ 17 พฤษภาคม

 

หมายเหตุ – ผู้เขียนอ้างอิงจาก Karen Gammelgaard and Eirik Holmøyvik (eds.), Writing Democracy: The Norwegian Constitution 1814-2014 (2015)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save