24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 คณะราษฎรขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามแก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ธรรมนูญฉบับนี้ได้ร่างไว้ล่วงหน้าโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม[1] และคณะราษฎร[2] โดยมีมาตราสำคัญที่มอบอำนาจการปกครองสูงสุดในทางหลักการแก่ราษฎรคือ มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านธรรมนูญฯ แล้วได้ทรงเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ และประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม[3] บทความนี้เสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใหม่ของราษฎรปัญญาชนที่เขียนจดหมายถึงพระปกเกล้า เพื่อเสนอให้ตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่น[4] และลำดับเหตุการณ์วันทูลเกล้าถวายธรรมนูญการปกครองอย่างละเอียด
การเห็นควรตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่นของราษฎรก่อนการปฏิวัติ
สยามในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีการขอพระราชทานคอนสติตูชั่น[5]และก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2 ครั้งสำคัญ ได้แก่ เหตุการณ์ ร.ศ. 103 นำโดยชนชั้นนำกับนักเรียนนอก[6] และเหตุการณ์ ร.ศ. 130[7] นำโดยทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง รวมถึงเกิดการตื่นตัวทางความคิดเรื่องประชาธิปตัย[8]และคอนสติตูชั่น[9]ในกลุ่มราษฎรปัญญาชน โดยมีหลักฐานชั้นต้นสำคัญในงานศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คือจดหมายของนายภักดี และนายไทย เรื่องเห็นควรตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่น ที่ส่งถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2468 (นับตามแบบปฏิทินเก่า)
ผู้เขียนขอคัดลอกข้อความต้นฉบับเอกสารไมโครฟิล์มจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อย่างละเอียดทุกถ้อยความดังนี้
“จังหวัดพระนคร
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘
ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบข่าวเล่าลือกันทั่วไปว่า ในรัชกาลของใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เมื่อแรกขึ้นครองแผ่นดินนี้ จะทรงตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่น เปนปฐมราชกิจอันสำคัญยิ่ง เพื่อให้ราชการแผ่นดำเนิรในแบบแผนดียิ่งขึ้น แลให้นานาประเทศทั้งหลายไว้ใจนับถือยิ่งขึ้น ให้นานาประเทศรู้สึกว่า ประเทศสยามก็มิได้นิ่งนอนใจ มีหูตากว้างพอที่จะแลดูโลก ได้พยายามก้าวน่าไปในทางเจริญโดยเต็มกำลัง อย่างประเทศเอกราชทั้งหลายในโลก มิได้งมงายอยู่ในสิ่งที่พ้นสมัยแล้ว
ปฐมราชกิจนี้เปนกิจสำคัญจำเปนต้องมีตามแบบของพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนฯ ซึ่งเมื่อแรกขึ้นครอง ก็ได้กระทำมาแล้ว เช่นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราชรัชกาลที่ 5 แรกขึ้นครองแผ่นดินได้ทรงตั้งกฎหมายเลิกทาษ เปนปฐมราชกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ์รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงตั้งกองลูกเสืออันนานาประเทศนิยมกันทั่วโลก ยกจรรยาของชาติให้สูงขึ้น เปนปฐมราชกิจสำคัญ เหตุฉะนั้นมาในรัชกาลของใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงสมควรยิ่งนักที่จะทรงตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่นเปนปฐมราชกิจ เพราะจะหากิจการอย่างอื่นดียิ่งกว่าหรือเท่ากับกฎหมายชนิดนี้ก็ไม่มี แลเปนชิ้นอันสำคัญที่อวดนานาประเทศได้เต็มที่ แลเป็นความปรารถนาของทวยนาครทั่วไปที่เล่าลือกันเซงแซ่ในบัดนี้ตามที่ลือนั้น เนื่องจากกฎหมายคอนสติตูชั่นนี้ จะมีที่ประชุม ๒ สภา คือสภาชั้นสูงแลชั้นต่ำ สภาชั้นสูงมีเจ้านายแลขุนนางเปนสมาชิก สภาชั้นต่ำคือสภาประชาราษฎร์ แต่นัยว่า ในชั้นแรกเริ่มนี้จะมีแต่สภาชั้นสูงสภาเดียวก่อน สภาชั้นต่ำจะงดไว้จนกว่าจะถึงเวลาอันควร ควรเลือกผู้เปนอรรคมหาเสนาบดี สมาชิกของสภาชั้นสูงเปนผู้เลือกโดยวิธีโหวดตามแบบของกฎคอนสติตูชั่น ผู้เปนสมาชิกของสภาชั้นสูงนั้น จะมีแต่เจ้านายชั้นสูงที่มีความสามารถเปนที่นิยมนับถือของคนทั่วไปไม่เคยเสียหายในราชการมาแต่ก่อนสมัยด้วย
แต่สำหรับอรรคมหาเสนาบดีคนแรกนี้ นัยว่าพระเจ้าแผ่นดินเลือกแลตั้งให้ทีเดียวไม่ต้องโหวด ซึ่งเหมาะแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์มีกำหนดอยู่ในตำแหน่ง ๗ ปี หรือ ๑๐ ปีแล้วแต่กฎหมาย
อนึ่ง กฎหมายคอนสติตูชั่นนี้ จะไม่ตัดทอนอำนาจพระเจ้าแผ่นดินแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย กิจการทุกอย่างคงดำเนิรเปนกระแสร์พระบรมราชาโองการนั้นเองแปลกแต่มีหลักถานมั่นคงยิ่งขึ้น และมีพลาดน้อยเข้า เพราะทำด้วยความเห็นชอบของคนส่วนมากซึ่งมีความสามารถทั้งนั้น และทั้งต้องผ่านสภาอภิรัฐมนตรีอีกชั้น ๑ ในที่สุดจึงเป็นพระบรมราชโองการ ใช้ได้ทีเดียว
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า นายภักดี ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายไทย ขอเดชะ”[10]
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทจดหมายของนายภักดี และนายไทย ถึงรัชกาลที่ 7 ฉบับนี้ ในแง่ภาษาแสดงให้เห็นว่ามีลักษณะปัญญาชน ในแง่ความคิดมีลักษณะชนชั้นนำที่มีแนวคิดเชิงอนุรักษนิยม เนื่องจากเสนอการเปลี่ยนแปลงแบบคอนสติตูชั่นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่การรีโวลูชั่นเลย กล่าวคือให้มีสองสภา ได้แก่ สภาสูงที่รัชกาลที่ 7 ทรงแต่งตั้งจากเสนาบดีชั้นสูง และสภาต่ำที่เป็นสภาของราษฎรซึ่งจัดให้มีขึ้นตามความเหมาะสมต่อไปในภายหลัง มิได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกในทันที
แม้จะยังไม่ได้ต้องการให้เปลี่ยนแปลงเป็นระบอบรัฐธรรมนูญแบบมีสภาผู้แทนราษฎรโดยฉับพลัน แต่จดหมายของนายภักดีและนายไทยก็สะท้อนการตื่นตัวทางความคิดและการเรียกร้องธรรมนูญการปกครองสยามในช่วงรัชกาลที่ 7
กำเนิดธรรมนูญปกครองสยามฉบับแรก : แนวคิด ลำดับเหตุการณ์ และคณะราษฎร
แนวคิดการยกร่างธรรมนูญการปกครองฉบับแรกโดยปรีดี พนมยงค์
“ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับ 27 มิถุนายน 2475 นั้น ผมในนามคณะราษฎรเป็นผู้ยกร่างขึ้น เดิมไม่มีคำว่า “ชั่วคราว” ครั้นเมื่อผมนำไปทูลเกล้าถวายพระปกเกล้าฯ ที่วังศุโขทัย พระองค์ได้ขอให้เติมคำว่า “ชั่วคราว” แล้วก็ทรงเขียนลายพระหัตถ์เองเติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ โดยรับสั่งว่าให้ใช้ไปพลางก่อนแล้วจึงตั้งกรรมการและให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้เป็นรัฐธรรมนูญถาวรขึ้น”[11]
ลำดับเหตุการณ์การเข้าเฝ้าทูลเกล้าถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามโดยคณะราษฎร
การเข้าเฝ้าทูลเกล้าถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามโดยคณะราษฎร ปรากฎในหนังสือพิมพ์ จดหมายเหตุลำดับเหตุการณ์ในสมัย พ.ศ. 2475 และหนังสืออนุสรณ์งานศพบ้างประปราย แต่ยังไม่เคยมีการลำดับเหตุการณ์อย่างชัดเจนจึงขอนำเสนอเป็นครั้งแรกในบทความนี้
วันที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2475
เวลา 9.11 น. มหาเสวกเอก เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ให้เชิญนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร และผู้แทนคณะราษฎร ประกอบด้วย นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ นายพันตรี หลวงวีระโยธา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ร้อยเอก ประยูร ภมรมนตรี นายจรูญ ณ บางช้าง นายสงวน ตุลารักษ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
เวลา 11.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออก พระยาสุริยวงศ์วิวัฒน์ นำนายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พร้อมด้วยคณะราษฎรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคืนพระราชกำหนดนิรโทษกรรมมาแล้ว หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงอ่านพระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอ่านถวายจนจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า
“ข้อความในพระราชบัญญัตินั้นมาก พระองค์ยังไม่สู้จะเข้าพระทัยดี ใคร่จะขอร่างพระธรรมนูญนี้ไว้ดูก่อน”
แล้วพระองค์ก็เสด็จขึ้น ราว 30 นาที พระยาอิศราฯ นำร่างธรรมนูญกลับมาหาคณะราษฎร ซึ่งคอยอยู่และแจ้งอย่างเป็นทางการว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งมาว่า
“พระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองนี้ยาวมาก บางตอนยังไม่เข้าพระทัยดี ครั้นจะประทานพระบรมนามาภิธัยลงทันทีก็ดูจะไม่งามนัก ขอ…ส่งคืนไปตามทางการในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา 17.00 น.”
คณะราษฎรเห็นเป็นการสมควรที่จะผ่อนตามพระราชประสงค์ที่พระองค์แจ้งมา ครั้นแล้วพระยาอิศราฯ ก็บรรทุกพระบรมราชโองการขอผัดลงนามมอบให้แก่คณะราษฎรเป็นหลักฐาน แล้วคณะราษฎรจึงกลับมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475
เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม คืนมายังคณะราษฎรโดยลงพระบรมนามาภิธัย ประกาศใช้เป็นธรรมนูญการปกครองฉบับแรกของสยาม มีชื่อเรียกว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 จำนวน 39 มาตรา และทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสไว้ในธรรมนูญว่า
“โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และ
โดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้…”
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475
คณะราษฎรตั้งสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น และผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ปฎิบัติตามพระราชธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 เพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 70 นาย ซึ่งมีทั้งฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายอนุรักษนิยมเดิมเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวร่วมกัน
เวลา 12.30 น. ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารอัญเชิญเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และกรมพระนริศรานุวัติวงศ์ กลับจากพระที่นั่งอนันตสมาคมสู่วังโดยรถส่วนพระองค์[13]
กำเนิดธรรมนูญปกครองสยามฉบับแรก ในวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของการเมืองก่อนและหลังการอภิวัฒน์ 2475 ได้เป็นอย่างดี แม้การณ์จะดำเนินไปอย่างสงบ แต่ภายใต้ความสงบนั้นมีชั้นเชิงการต่อรองของทั้งสองฝ่ายที่แสดงออกอย่างแยบคาย และปรากฎชัดต่อมาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.10.11.4/167 เอกสารส่วนบุคคล พันเอก แสง จุละจาริตต์ เรื่อง สยามรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ม.ป.ท. : ม.ป.ป.)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มร.7 บ./10 เอกสารรัชกาลที่ 7 เรื่อง นายภักดี, นายไทย, เห็นควรตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่น (2468)
หนังสือพิมพ์
ศรีกรุง, 28 มิถุนายน 2475
หนังสืออนุสรณ์งานศพ
ธีรัชย์ พูลท้วม, ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475, ดร. เจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒน
ภักดี จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายธีรัชย์ พูลท้วม เป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนสถานคุรุสภา วัดสระ
เกศ กรุงเทพมหานคร 11 มีนาคม 2539, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด, 2539)
หนังสือภาษาอังกฤษ
Arjun Subrahmanyan, Amnesia: a history of democratic idealism in modern
Thailand, (NewYork : State University of New York, 2021)
หนังสือภาษาไทย
กษิดิศ อนันทนาธร, บรรณาธิการ, ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2565: บางเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร 2475, (กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565)
กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จาก 14 ถึง 6 ตุลา ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2562)
จดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์ของคณะราษฎรปกครองแผ่นดิน และพระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม
พ.ศ. 2475, (พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล, 2475)
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2543)
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, รัฐธรรมนูญสถาปนา : ชีวิตและชะตากรรมของประชาธิปไตยในวัฒนธรรมไทย, (กรุงเทพฯ : วิภาษา
และสถาบันเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย, 2549)
เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส
ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560)
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553)
นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ๒๔๗๕ ราษฎรพลิกแผ่นดิน,(กรุงเทพฯ : มติชน, 2564)
ปั้น บุณยเกียรติ และเฮง เล้ากระจ่าง, สยามรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินอย่างมีพระราชาธิบดีอยู่ใต้พระธรรมนูญการ
ปกครอง ภาค 1, (พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2475)
ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร,(กรุงเทพฯ : มติชน, 2562)
เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130 พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2564)
วิทยานิพนธ์
ทิพวรรณ บุญทวี, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477),” (วิทยานิพนธ์
รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2528)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์
กษิดิศ อนันทนาธร. (4 มีนาคม 2565). ‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม. สืบค้นจาก https://www.the101.world/first-constitution/
ประจักษ์ ก้องกีรติ. (24 มิถุนายน 2560). การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน. สืบค้นจาก https://www.the101.world/the-myths-of-2475/
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (27 มีนาคม 2563). 24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/03/37
[1] บรรดาศักดิ์ของปรีดี พนมยงค์ ในเวลานั้น
[2] กษิดิศ อนันทนาธร. (4 มีนาคม 2565). ‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม. สืบค้นจาก https://www.the101.world/first-constitution/
[3] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส
ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560) และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553)
[4] ในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 สยามยังไม่มีการบัญญัติคำว่า รัฐธรรมนูญ จึงใช้คำทับศัพท์ และคำว่าธรรมนูญเป็นหลัก ส่วนคำว่า รัฐธรรมนูญ ได้มีการบัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ 2 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยหม่อมเจ้า วรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงอธิบายความหมายไว้ดังนี้
“…ตามศัพท์แปลว่าระเบียบอำนาจหน้าที่ในการปกครองแผ่นดิน “ธรรมนูญ” แปลว่า ระเบียบอำนาจหน้าที่ และ “รัฐ” แปลว่า การปกครองแผ่นดิน เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากวลีที่ว่า “พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” เพื่อให้กระทัดรัดขึนและเพื่อให้เป็นศัพท์ขลังตามสมควรแก่สภาที่ศักดิ์สิทธิ์ คำว่า “รัฐธรรมนูญ” นี้ เป็นคำแปลมาจากภาษาฝรั่งว่า “Constitution” เพราะวิธีปกครองแบบนี้เป็นวิธีดัดแปลงมาจากฝรั่ง…” โปรดดูเพิ่มเติม บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, รัฐธรรมนูญสถาปนา : ชีวิตและชะตากรรมของประชาธิปไตยในวัฒนธรรมไทย, (กรุงเทพฯ : วิภาษา และสถาบันเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย, 2549)
[5] แนวคิดคอนสติตูชั่น ปรากฏครั้งแรกในสังคมสยามจาก The Bangkok Recorder ค.ศ. 1865-1866 โปรดดูเพิ่มเติม บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, รัฐธรรมนูญสถาปนา : ชีวิตและชะตากรรมของประชาธิปไตยในวัฒนธรรมไทย, (กรุงเทพฯ : วิภาษาและสถาบันเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย, 2549), หน้า 66-67. และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จาก 14 ถึง 6 ตุลา ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2562), หน้า 137-138.
[6] บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, รัฐธรรมนูญสถาปนา : ชีวิตและชะตากรรมของประชาธิปไตยในวัฒนธรรมไทย, (กรุงเทพฯ : วิภาษาและสถาบันเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย, 2549)
[7] เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130 พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2564)
[8] สะกดคำตามศัพท์บัญญัติ ในทศวรรษ 2470
[9] สะกดคำตามศัพท์บัญญัติ ในทศวรรษ 2470
[10] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มร.7 บ./10 เอกสารรัชกาลที่ 7 เรื่อง นายภักดี, นายไทย, เห็นควรตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่น (2468)
[11] ทิพวรรณ บุญทวี, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2528), หน้า 33-34.
[12] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.10.11.4/167 เอกสารส่วนบุคคล พันเอก แสง จุละจาริตต์ เรื่อง สยามรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ม.ป.ท. : ม.ป.ป.)
[13] ปั้น บุณยเกียรติ และเฮง เล้ากระจ่าง, สยามรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินอย่างมีพระราชาธิบดีอยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครอง ภาค 1, (พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2475), หน้า 41-59. และ จดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์ของคณะราษฎรปกครองแผ่นดิน และพระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475, (พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล, 2475)