fbpx
'Conservative Populism' ประชานิยมแบบอนุรักษนิยม มรดกของโดนัลด์ ทรัมป์ ?

‘Conservative Populism’ ประชานิยมแบบอนุรักษนิยม มรดกของโดนัลด์ ทรัมป์ ?

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สภาพของการบริหารประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจสรุปออกมาเป็นภาพอุปมาได้ว่าเหมือนกับสวนสัตว์ (ผมได้ความคิดนี้มาจากคำอธิบายของนักนิเทศศาสตร์ไทยว่า หนังสือพิมพ์รายวันไทยนั้นจัดหน้าแบบสวนสัตว์ คือมีทุกอย่างและตื่นเต้นเร้าใจแทบทุกเรื่องด้วยหัวข่าวขนาดต่างๆ) ผมเห็นด้วยว่าการดำเนินนโยบายและปฏิบัติการต่างๆ ของทรัมป์นั้นทำให้ทำเนียบขาวดูเหมือนสวนสัตว์ไปเลย แต่ละวันมีแต่หัวข่าวที่ออกไปจากทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์ โฆษกของทำเนียบขาวแทบไม่ได้ออกมาแจ้งข่าวอะไรแก่สื่อมวลชนเลย เพราะทุกคนรู้จากทวีตก่อนแล้ว นอกจากมาตอบหรือแก้ต่างให้กับเนื้อหาของทวีตที่มีเนื้อหาเชิงลบต่อบุคคลอื่นๆ เป็นประจำ

ในขณะที่สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ข่าวและสถานการณ์การเมืองในอเมริกา พุ่งเป้าของการรายงานข่าวไปที่ทวีตของโดนัลด์ ทรัมป์ แบบรายวันกระทั่งรายชั่วโมง จนทำให้ดูเหมือนสถานการณ์และการดำเนินนโยบายของทำเนียบขาว มีแต่สิ่งที่เป็นความต้องการและสนองความอยากของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นสรณะ แต่ละวันเต็มไปด้วยข้อความในทวีตที่โจมตี วิพากษ์วิจารณ์ และเสียดสีฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดและการกระทำของทรัมป์ หากติดตามข่าวและการตอบโต้กันไปมาระหว่างทรัมป์กับสื่อมวลชน (ซึ่งโชคดีที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญอเมริกันในข้อแก้ไขที่ 1 ว่ารัฐบาลไม่อาจปิดกั้นการแสดงออกอย่างมีเสรีภาพของประชาชนได้) ก็จะรู้สึกว่าสภาพการเมืองและการต่อสู้ระหว่างฝ่ายการเมืองกับสังคมในอเมริกา ก็ไม่ต่างจากการเมืองในประเทศโลกที่สามสักเท่าไร

ทรัมป์ดำรงตำแหน่งมากว่าครึ่งสมัยแล้ว ปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ หมายความว่านับแต่นี้ไปเขาจะต้องทำอะไร รวมถึงออกนโยบายใดๆ ก็ตามเพื่อบรรลุการหาเสียงสนับสนุนในการเข้ารับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง ความจริงแล้วทรัมป์ไม่ได้เริ่มหาเสียงเร็วๆ นี้ ทว่าหลังจากเข้ารับตำแหน่งสาบานตนกล่าวคำปฏิญาณอย่างไม่ขาดตกบกพร่องได้เพียงเดือนเดียว เขาก็เริ่มการรณรงค์ที่มุ่งไปยังฐานเสียงของเขาแล้ว ทรัมป์ไม่ได้คิดหรือห่วงในนโยบายระยะสั้นและยาวของสหรัฐอเมริกาแต่ประการใด ไม่ว่าในเรื่องภาษี นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่พรรครีพับลิกันไม่ต้องการและไม่สนับสนุน แต่ก็ยังไม่สามารถเสนอรูปแบบทางเลือกใหม่ออกมาได้ กฎหมายการควบคุมอาวุธปืนท่ามกลางการเพิ่มคดีความรุนแรงของการใช้ปืนไปล่าฆ่าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ในเมืองและโรงเรียนสถานบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นประวัติการณ์ของรัฐบาลทรัมป์ไปแล้ว

น่าสนใจว่ากว่าสองปีมานี้ ทรัมป์ไม่สามารถทำให้รัฐสภาผ่านกฎหมายอะไรที่เป็นผลงานของเขาออกมาได้สักฉบับ เขาไม่เคยแวะไปที่ Capital Hill อันเป็นที่ตั้งของสภาคองเกรส เพื่อพูดคุยและสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างทำเนียบขาวกับคองเกรสเลย เขาใช้วิธีเดียวคือการสั่งให้สมาชิกสภาคองเกรสทำในสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่ทรัมป์พบว่าสนุกมากสำหรับเขาคือการออกคำสั่งของฝ่ายบริหาร เมื่อต้องการให้หน่วยงานรัฐบาลทำอะไรที่เขาต้องการ เช่น การห้ามคนจากประเทศมุสลิมและแอฟริกาบางประเทศเข้าสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน สั่งให้บริษัทอเมริกันที่ทำการผลิตในจีนย้ายกลับมายังสหรัฐฯ เป็นต้น เมื่อเขาไม่พอใจการที่สภาผู้แทนราษฎรที่คุมโดยพรรคเดโมแตรต ไม่อนุมัติเงินให้เขาไปสร้างกำแพงปิดชายแดนกับเม็กซิโก ทรัมป์ก็วีโตด้วยการปล่อยให้เกิดการ ‘ชัตดาวน์’ ปิดหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ซึ่งจะไม่ได้รับเงินเดือนไปอย่างยาวนานกว่าที่เคยเกิดในอดีต

ท่ามกลางความสับสนและดูเหมือนไม่เห็นอนาคตว่าการเมืองอเมริกันจะดำเนินไปในหนทางใด และด้วยอุดมการณ์อะไร นอกจากการออกมาแสดงกำลังของกลุ่มขวาสุดขั้วและชาตินิยมผิวขาว ซึ่งยิ่งทำให้อนาคตของการเมืองอเมริกันดูหดหู่และไร้อนาคตยิ่งกว่าสมัยใดๆ ก็มีการเคลื่อนไหวและเสนอความคิดใหม่ของฝ่ายอนุรักษนิยมในพรรครีพับลิกันออกมา หากกลุ่มสมาชิกพรรครีพับลิกันในคองเกรสนี้สามารถผลักดันแนวคิดและนโยบายของพวกเขาออกมาได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ก็อาจเป็นทางเลือกที่มีน้ำหนักแก่พรรครีพับลิกันต่อไป

น่าสนใจว่าตัวแทนของความคิดอนุรักษนิยมใหม่ในอเมริกาขณะนี้ คือจอร์ช ฮอว์ลีย์ (Josh Hawley) สมาชิกวุฒิสภาที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 39 ปีของพรรครีพับลิกัน จากรัฐมิสซูรี่ เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดด้วยการพิชิตวุฒิสมาชิกแมคคลอสกี้ จากพรรคเดโมแครต ด้วยคะแนนที่สูสีมาก ตำแหน่งก่อนหน้านี้ของเขาคือเป็นอัยการรัฐมิสซูรี่ (state attorney general) สิ่งที่ฮอว์ลีย์ได้ทำไปบ้างแล้วได้แก่การออกกฎหมายลดค่ายาตามใบสั่งหมอ ให้เครดิตภาษีที่หักจากรายได้ของพวกเขา

ขณะนี้เขากำลังเคลื่อนไหวร่วมกับสมาชิกพรรคเดโมแครต ในการสอบสวนพฤติกรรมของบรรษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนเลยี คือกูเกิล (Google) เฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) ว่ากระทำการเอาประโยชน์จากผู้ใช้บริการด้วยการขายข้อมูลส่วนตัวของสมาชิกโดยไม่ได้รับความเห็นชอบ น่าสนใจมากว่าการเคลื่อนไหวนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างสองพรรคการเมืองที่ในระยะหลังมานี้แทบไม่มีอะไรให้ร่วมกันได้เลย นี่อาจเป็นเรื่องระดับโลกที่ทำให้สองพรรคร่วมมือกันได้ ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือการพุ่งเป้าตรวจสอบและหาทางกำกับควบคุมบรรษัทอุตสาหกรรมที่เรียกว่าทุนใหญ่ของอเมริกานั้น ไม่เคยเป็นนโยบายของพรรครีพับลิกันในศตวรรษที่ 20 เลย

ตรงกันข้าม หลังยุคประธานาธิบดีลิงคอล์นมาแล้ว พรรครีพับลิกันค่อยๆ กลายพันธุ์จากพรรคเพื่อคนนิโกรผิวดำและทาส มาเป็นพรรคเพื่อนายทุนใหญ่และอุตสาหกรรม ในขณะที่พรรคเดโมแครตกลายมาเป็นพรรคเพื่อกรรมกร คนงาน และปัญญาชนหัวก้าวหน้าไป การเสนอนโยบายและความคิดอนุรักษนิยมใหม่ของฮอว์ลีย์ จึงน่าสนใจว่าเขาจะสามารถทำให้สมาชิกรีพับลิกันอาวุโสและฐานเสียงดั้งเดิมสนับสนุนเขาได้อย่างไร

ฮอว์ลีย์กล่าวว่านโยบายประชานิยมของเขานั้นคือการไม่สนับสนุน ‘ธุรกิจใหญ่’ (Big Business) เขาให้เหตุผลว่าเพราะสิ่งที่พรรคของเขาไม่ไว้วางใจมาตลอดคือการมีรัฐบาลใหญ่ (Big Government) อันนำมาซึ่งการรวมศูนย์อำนาจและผูกขาดอำนาจ (concentration of power) ว่าไปแล้วนี่เป็นจุดยืนเก่าของรีพับลิกันมานานแล้ว วิธีคิดใหม่ของฮอว์ลีย์คือการโยงระหว่าง ‘ธุรกิจใหญ่’ ให้เข้ากับ ‘เทคใหญ่’ (Big Tech) อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กว่าเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวอย่างเจาะจงคือเขาต้องการเล่นงาน ‘เทคใหญ่’ ไม่ใช่ ‘ทุนใหญ่’ ทั่วไป ถ้าเป็นอย่างนี้ ฮอว์ลีย์ก็รอดตัวไปได้ เพราะเขาสามารถอธิบายสมาชิกรีพับลิกันอาวุโสได้ว่า จุดยืนของเขาไม่ได้คัดค้านจุดยืนดั้งเดิมของพรรคแต่ประการใด

ลองตามไปดูว่าเขาคิดอย่างไรกับ ‘เทคใหญ่’ ว่าทำไมถึงเป็นภัยร้ายต่อสังคมอเมริกัน เขากล่าวว่าหากดูพัฒนาการความก้าวหน้าในระยะกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เขาคิดว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมก่อนๆ ซึ่งได้สร้างคุณูปการและความก้าวหน้าอย่างมากมายให้สังคมและคนอเมริกัน เทคใหญ่อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กกลับไม่ได้สร้างความก้าวหน้าและความสุขแก่ครอบครัวอเมริกันเลย

ตรงกันข้าม เทคใหญ่พวกนี้เอาแต่กีดกันไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ผลจึงนำไปสู่การชะลอการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา เขาให้สมญานามแก่เศรษฐกิจเทคโนแบบกูเกิ้ล-เฟซบุ๊ก ว่าเป็น ‘เศรษฐกิจมอมเมา’ (Addiction economy) ต้นแบบของโซเชียลมีเดียแบบนี้คือการสร้างความมอมเมา ไม่ใช่สร้างนวัตกรรม ผมคิดว่านี่เป็นคำวิพากษ์ที่แรงมากๆ โดยเฉพาะจากนักการเมืองฟากอนุรักษนิยมที่ไม่ใช่ซ้ายหรือก้าวหน้า

เมื่อเห็นว่าอนุรักษนิยมอเมริกันให้ความห่วงใยในตลาดที่ไม่มีการแข่งขัน ต้องการให้ตลาดเปิดให้ผู้ประกอบการใหม่ๆ เข้ามาเล่นได้ และให้เป็นผลดีต่อคนทำงาน (กรรมกร) ด้วย ถามว่าแล้วเขาสนับสนุนการเพิ่มค่าแรงให้คนงานไหม เรื่องนี้ไม่อยู่ในกรอบนโยบาย หากแต่พูดรวมๆ ไปถึงชีวิตที่มีหลักประกันและได้รับสวัสดิการตามความเป็นจริง ฮอว์ลีย์ไม่ใช้คำว่า ‘กรรมกร’ หากแต่ใช้คำว่าคนทุกๆ คนทั้งหญิงและชายที่เป็นคนในชีวิตประจำวัน (everyday men and women) ที่สำคัญที่เขาระวังมากคือการไม่ทำให้คนงานของเขามีแต่คนผิวขาว เขาระบุเลยว่าคนงานรวมคนทุกเชื้อชาติเอาไว้ อเมริกาไม่มีการถือลักษณะร่วมทางเชื้อชาติใดๆ เป็นเกณฑ์ในการจำแนกผู้คน (สังคมไทยมีเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญแก่ความเป็นคนไทยเหนือคนอื่นๆ)

เมื่อพูดถึงประเด็นว่าทำไมค่าแรงของคนงานถึงต่ำและไม่พอกินมานานมาก ฮอว์ลีย์อธิบายว่ามันมาจากพวกผู้บริหารระดับสูง ซีอีโอของบรรษัทยักษ์ใหญ่ต่างหาก เขาโจมตีเทคใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์ว่าพวกนี้ไม่ทำให้บรรษัทเป็นอเมริกันเลย ตรงกันข้ามกลับทำตัวเป็น ‘พลเมืองของโลก’ หรือพลเมืองโลก ในขณะที่ปฏิบัติต่อคนงานอเมริกันเหมือนคนชั้นสอง บรรษัทนานาชาติและการลงทุนในสวัสดิการและชีวิตของคนงานอเมริกันจึงมีน้อยมาก เช่นเดียวกับการลงทุนในการสร้างทุนอเมริกัน การวิจัยและพัฒนาในอเมริกาก็น้อย นี่เองคือปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ไม่เติบใหญ่ และมีผลทำให้คนงานอเมริกันไม่ได้รับค่าจ้างอย่างที่ควรเป็น ไม่ใช่จากการเอาเปรียบแรงงานโดยนายทุน ทัศนะของฮอว์ลีย์ ฟังแล้วเหมือนสภาพเศรษฐกิจ 4.0 ในไทยแลนด์เลย

ประเด็นอันเป็นหัวใจของทฤษฎีประชานิยมแบบอนุรักษนิยมของฮอว์ลีย์ คือการให้ความสำคัญแก่กลุ่มคนที่เขาเรียกว่า ‘อเมริกันกลาง’ (America Middle) ไม่ใช่คนในมลรัฐตอนกลางของประเทศ หรือคนชั้นกลางที่พวกซ้ายและเสรีนิยมนิยาม หากแต่เป็นคนที่ทำมาหากินโดยปกติทุกวัน มีทุกเชื้อชาติและเพศ คนจำนวนมากที่อยู่กลางสังคมของเราเหล่านี้คือเป้าหมายในนโยบายของพรรค นโยบายพรรคต้องตอบสนองความต้องการของพวกเขาและครอบครัว ให้ความสนใจในความฝันของพวกเขา สิ่งที่คนเหล่านี้ยึดถือร่วมกัน คือการไม่มีเชื้อชาติรวมที่แบ่งแยกเชื้อชาติอื่นออกไป คนเหล่านี้มีสามัคคีกันภายใต้ความรักที่ร่วมกัน การเมืองของพรรครีพับลิกันจึงต้องตอกย้ำในสิ่งที่พวกเรารักร่วมกัน การเมืองใหม่ต้องตอกย้ำความรู้สึกร่วมและความรักร่วมกัน

ฮอว์ลีย์ยังวิพากษ์กลุ่มคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับนโยบายประชานิยมแบบอนุรักษนิยมของเขา ได้แก่บรรดาชนชั้นนำของบรรษัทเทคใหญ่และกิจการในซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งเขาให้สมญาว่า ‘ชนชั้นนำศูนย์กลาง’ (Cosmopolitan Elite) ชนชั้นนำเหล่านี้เป็นผู้นำในบรรษัทต่างๆ ในหน่วยงานรัฐ ในมหาวิทยาลัย ในวงการสื่อมวลชน และในรัฐบาล คนเหล่านี้ไม่ได้มีพื้นเพร่วมกันทางเชื้อชาติ ไม่มีศาสนาร่วมกัน แต่พวกเขามีการศึกษาร่วมกัน คือจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ มีโลกทัศน์ร่วมกันที่ ‘ลดความเป็นชาติ’ (denationalized) ลง คนพวกนี้ไม่ค่อยคิดถึงความรู้สึกแบบรักชาติรักปิตุภูมิ (patriotism) แต่กลับมีความรู้สึกเป็นอริกับมันเสียอีก เพราะคิดว่าพวกเขาเป็นพลเมืองของโลก ให้ความสำคัญแก่ความเปลี่ยนแปลงมากกว่าประเพณี ให้คุณค่าแก่อาชีพมากกว่าสถานที่ คนพวกนี้จึงสนับสนุนการเมืองที่ให้ความสำคัญแก่ความทะเยอทะยานของชนชั้นนำมากกว่าของคนอเมริกันที่อยู่ตรงกลาง คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่มีอะไรร่วมในคุณค่าและโลกทัศน์ของชนชั้นนำ ส่วนมากอาศัยอยู่ในเมืองที่พวกเขาเติบใหญ่ขึ้นมา ต้องการทำงานในธุรกิจของครอบครัวถ้ามี แล้วตั้งหลักสร้างครอบครัวของตนขึ้นมา นี่คือคนอเมริกันที่สร้างประเทศนี้ขึ้นมา

ทั้งหมดนี้คือหลักคิดและแนวนโยบายของนักการเมืองรุ่นใหม่ในพรรครีพับลิกันที่เรียกว่า ‘ประชานิยมแบบอนุรักษ์ฯ’ ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินความสำเร็จหรือเป็นไปได้ของทฤษฎีนี้ แต่ถ้าเทียบกับเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อพลังสนับสนุนพรรครีพับลิกันจำนวนหนึ่งแตกออกไปก่อตั้งพรรคใบชา (Tea Party หมายถึงการประท้วงการนำเข้าใบชาของอังกฤษ จนก่อหวอดไปสู่ขบวนการปฏิวัติอเมริกาขึ้นในที่สุด) ขึ้นมา ด้านหนึ่งเป็นผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ทำให้บารัก โอบามา วุฒิสมาชิกอเมริกันผิวดำได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรก ทำให้รีพับลิกันฝ่ายขวาสุดทนไม่ได้ ออกมาต่อต้านประท้วงจนกลายเป็นพรรคย่อยในมุ้งรีพับลิกันไป นอกจากนำเสนอและปลุกระดมคนผิวขาวออกมาต่อต้านนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าของโอบามาแล้ว ก็ไม่ได้นำเสนอหลักคิดหรือนโยบายอะไรที่เป็นหลักเป็นฐานออกมา ที่แย่กว่านั้นคือยังเป็นกลุ่มการเมืองที่เหยียดผิวและเชื้อชาติอย่างหนัก เรียกว่าเป็นการถอยหลังลงคลองไปหลายเส้น

หากเปรียบเทียบทฤษฎีประชานิยมแบบอนุรักษ์ฯ ของฮอว์ลีย์แล้ว ก็ต้องกล่าวว่าโมเดลหลังนี้เป็นเรื่องเป็นราวและมีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าขบวนการพรรคใบชาหลายเท่า ที่สำคัญคือสิ่งที่ฮอว์ลีย์คิดและพูดและจะทำนั้น ถึงที่สุดก็คือสิ่งเดียวกับที่ทรัมป์คิดและอยากทำเหมือนกัน ยกเว้นสิ่งเดียวที่ฮอว์ลีย์ไม่ได้เอามาด้วย คือน้ำเสียงอันเหยียดหยามดูหมิ่นทางเชื้อชาติศาสนาและเพศสภาพ

ตรงนี้เองที่อาจเป็นมรดกและคุณูปการของทรัมป์ที่ทิ้งให้กับอนาคตการเมืองอเมริกันต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save