fbpx
ด้วยความ 'ยินยอม' เป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความ ‘ยินยอม’ เป็นอย่างยิ่ง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ยามดึกดื่น เขาดื่มด่ำความสุขสม เคลื่อนไหวเป็นจังหวะสม่ำเสมอ จากนั้นเร่งขึ้น เร้าขึ้น เอื้อมแตะดวงจันทร์ที่จุดสูงสุด ก่อนร่วงหล่น ช้าลง ช้าลง เตือนว่าเขาไม่ได้ตกลงบนปุยเมฆ แต่เป็นเตียงและร่างของใครอีกคน พร้อมสัมผัสสากๆ ของผ้าปูที่นอน และความเมื่อยล้าของสองแขนที่ค้ำน้ำหนัก หลังจากเสียงหอบแผ่วลง เขาจึงถอนตัวออกไป

เธอนอนนิ่ง ไม่แม้แต่จะมองการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเหนือร่างกาย แสงราตรีดำสนิททำให้เขาไม่เห็นสีหน้าเหยเกของเธอ และแม้เนื้อตัวที่แข็งทื่อ ไร้เรี่ยวแรง จะเป็นสัญญาณเตือน แต่ความเพลิดเพลินกลางลำตัวของเขาคงกลบสัญญาณนั้นไปเสียหมด น้ำตาของเธอจึงได้แต่ไหลเงียบเชียบ ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด

สถานการณ์ข้างต้น แค่อ่านก็รับรู้อย่างหมดจดว่า ขณะที่คนนึงสุขสม อีกคนกลับอยู่ในอารมณ์ตรงกันข้าม  ‘เธอ’ ไม่ได้พอใจกับเซ็กซ์ครั้งนี้ อาจไม่มีความสุข ไม่พร้อม หรือไม่ ‘ยินยอม’ เสียด้วยซ้ำ แต่ชีวิตจริงไม่มีตัวหนังสืออีโรติกบรรยายกำกับไว้ หลายคนอาจอ่านภาษากายได้ไม่ทะลุปรุโปร่ง และแม้จะรู้ว่าภาษากายอ่านยาก บางครั้งก็ยังละเลย ไม่เอ่ยถามความยินยอมด้วยวาจา

ในสถานการณ์เดียวกัน ไม่ว่าเราจะจินตนาการให้เขาและเธอมีหน้าตาอย่างไร ในชีวิตจริง เขา และ เธอที่ไม่ยินยอม อาจเป็นใครก็ได้ ตั้งแต่คู่นอน คู่รัก ไปจนถึงคู่สามีภรรยา เพราะในทุกครั้งที่เซ็กซ์เกิดขึ้น ความยินยอม-ไม่ยินยอมจะเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ ไม่มีข้อยกเว้น ไม่มีวันหมดอายุ ไม่จำกัดเพศ ทั้งยังไม่มีทฤษฎีไหนบอกว่าเป็นแฟนกัน เป็นผัวเมียกันแล้ว จะต้องยินยอมทุกครั้งไป

 

การถามไถ่ความยินยอม หรือตกลงกันด้วยวาจาอย่างตรงไปตรงมาว่า “เดี๋ยวเราจะมีเซ็กซ์กันนะ ดีไหม เธอว่าไง” เป็นเรื่องที่หลายคนอาจเคอะเขิน เขินมากเขินน้อย กระอักกระอ่วนมากกระอักกระอ่วนน้อย ต่างกันไปตามประสบการณ์ แต่การตกลงกันเช่นนี้จำเป็นเสมอ

เพื่อนผู้หญิงของฉันคนหนึ่งเล่าว่า ผู้ชายที่เธอ ‘คุยๆ’ อยู่จะเป็นฝ่ายถามก่อนว่า “อยากมีเซ็กซ์กันไหม โอเคไหมถ้าเราจะมีอะไรกันคืนนี้”

เพื่อนผู้หญิงอีกคน มีแฟนขี้อาย ในช่วงแรกที่คบกันเธอจึงตกลงกับแฟนว่า ต่อให้เธออยู่ด้วยกันที่ห้องแฟนดึกแค่ไหน หรืออยู่จนเกือบถึงเช้าอีกวัน ให้แฟนถามเธอเสมอว่า “จะค้างด้วยกันไหม” เธอมีสิทธิที่จะตอบว่า “ค้าง” เฉยๆ ซึ่งแปลว่าเธอยินยอมที่จะมีเซ็กซ์ด้วยหากแฟนต้องการ หรือ “ค้าง แต่ไม่มีเซ็กซ์นะจ๊ะ!” (แปลตรงตัว) ได้อย่างตรงไปตรงมา

ด้วยวิธีซับซ้อนขึ้นอีกหน่อย ฉันเคยให้ชายคนหนึ่งอ่านบันทึกประจำวันยาว 2 หน้า A4 หลังจากเราเดตกันหลายครั้ง ในบันทึก มีบรรทัดนึงที่เขียนว่า “เราสัมผัสร่างกายกันแล้ว และอาจมากกว่าสัมผัสถ้าเรา ‘ทั้งสองคน’  พอใจ”

การสื่อสารเรื่องความยินยอมนั้นอาจแตกต่างกัน — ด้วยวิธี ไม่ว่าจะพูดตรงๆ ใช้โค้ดลับที่ตกลงร่วมกัน หรือเขียนให้อ่าน — ด้วยจุดเริ่มต้น ฝ่ายหนึ่งอาจถามก่อน ฝ่ายหนึ่งอาจแสดงความปรารถนาเองก่อน — แต่การสื่อสารเพื่อขอความยินยอมจากกันและกันก็มีจุดที่ต้องให้ความสำคัญเหมือนๆ กัน

ในหนังสือ ‘Consent เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น’ เขียนโดย เจนนิเฟอร์ แลง ระบุว่า ผู้ให้ความยินยอมทั้งสองจะต้องมีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจความยินยอม ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งอายุถึงเกณฑ์ตามกฎหมาย การมีความสามารถทั้งทางสติปัญญาและพัฒนาการ รวมไปถึงการไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดจนมีระดับการรับรู้ต่ำกว่าปกติ

ทั้งสองฝ่ายยังต้องไม่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ต้องไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่สามารถกดดันให้อีกฝ่ายยินยอมหรือปฏิเสธได้ และไม่ควรมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพอใจกับการมีเซ็กซ์เพียงฝ่ายเดียว โดยการเช็คว่าเรากำลังตัดสินใจบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจหรือไม่ อาจเริ่มจากคำถามง่ายๆ เช่น “หากฉันตอบตกลง นั่นเพราะฉันตอบตกลงเอง หรือเพราะกลัวที่จะปฏิเสธคนคนนี้”

 

อีกประเด็นที่หลายคนอาจมองข้ามไปก็คือ ความยินยอมนั้นต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงเพราะคนสองคนเคยมีเซ็กซ์กันครั้งหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าจะต้องยอมมีเซ็กซ์กันอีกครั้ง และแม้ใครคนหนึ่งจะยินยอมในตอนแรก เขาก็ยังเปลี่ยนใจไม่ยินยอมระหว่างมีเซ็กซ์ได้เสมอ

“เราเป็นแฟนเขา มีอะไรกันภายนอกหลายรอบแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะโอเคกับทุกอย่างทันที”

คำบอกเล่าของรุ่นพี่คนหนึ่งยืนยันว่าสถานะแฟนและความยินยอมที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อน ไม่เคย — และไม่มีวัน — เป็นตัวชี้วัดความยินยอมครั้งถัดไป

เธอเริ่มมีเซ็กซ์กับแฟนด้วยการทำออรัลเซ็กซ์ให้กันและกัน ไม่นานหลังจากนั้น แฟนพยายามขอมีอะไรกับเธออีกด้วยการสอดใส่ทางอวัยวะเพศ

เสมือนการไต่เส้นไปเรื่อยๆ แม้ไม่สบายใจนักในแรกเริ่ม แต่เธอก็ตกลงยินยอม

“ก็อยากเรียนรู้การมีเซ็กซ์ที่ดีไปพร้อมกับแฟน กลัวนะ แต่ก็บอกเค้าว่าจะลองดู” เธอว่า

หลังจากผ่านครั้งแรกไป แฟนของรุ่นพี่คนนี้ก็พยายามจะมีเซ็กซ์กับเธออีกเป็นครั้งที่สอง ขาดก็แต่ครั้งนี้ ไม่ได้บอกกล่าวหรือส่งสัญญาณล่วงหน้า เซ็กซ์จึงหยุดลงกลางคัน ทิ้งความความหวาดกลัวไว้ให้กับเธอ

“เราเกร็งและกลัว เขาก็หยุดนะ ไม่ทำต่อ แต่เขาก็ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจเราในทันที อาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เหมือนชวนเรามีเซ็กซ์ตอนที่ไม่มีอารมณ์ มีอารมณ์เมื่อไหร่ก็คงยอมเองมั้ง เขาขอโทษเราแล้วก็ปล่อยผ่าน มองเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สำหรับเรา มันมีผลกับความกลัวของเรามาก

“เซ็กซ์ครั้งต่อๆ มาเราเอาแต่ระแวง และเริ่มไม่อยากมีเซ็กซ์กับเขาแล้ว เรากลัว ส่วนเขาก็ไม่มีความสุข สุดท้ายทนไม่ไหวจนต้องเปิดใจเคลียร์กัน ใครอาจจะบอกว่า เป็นแฟนกัน เซ็กซ์ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ทำไมต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ทุกคู่ไม่เหมือนกันหรอก สำหรับเราการถามไถ่ หรือการให้สัญญาณก่อนเริ่มเซ็กซ์ มันสร้างความสบายใจได้มากกว่า เขาก็จะได้ความแน่ใจด้วยว่า เราโอเคที่จะมีเซ็กซ์จริงๆ พอเข้าใจในจุดเดียวกัน เซ็กซ์ก็ดีตามไปด้วย เหตุผลแค่นี้ก็พอแล้ว” เธอกล่าว

เซ็กซ์เป็นกิจกรรมที่น่าทึ่ง เกี่ยวข้องกับทั้งร่างกาย อวัยวะ ฮอร์โมน ไปจนถึงอารมณ์ บางขณะเราจึงพร้อมกระโจนใส่ใครอีกคน ขณะที่คืนถัดไปเราพบว่าความร้อนแรงนั้นหายไปในพริบตา เช่นกัน การที่คนคนหนึ่งเคยทำออรัลให้คนรักนับร้อยครั้ง ก็ไม่ได้การันตีว่าเขาจะสะดวกกายสบายใจในการสอดใส่ ด้วยเหตุนี้ ‘ความยินยอม’ จึงเป็นกุญแจสำคัญ

‘พร้อมไหม อยากไหม เวลานี้ไหม จุดนี้ได้ไหม แบบนี้ดีหรือเปล่า’ เหล่านี้คือไม้ตายเสียยิ่งกว่าเคล็ดลับไหนๆ ขาดไปไม่ได้ น้อยไปไม่ดี และต้องไม่มีวันหยุดถาม เพราะความยินยอมที่เอ่ยขอด้วยวาจา และตอบกลับมาด้วยวาจานั้นชัดเจน ชัดจนสามารถสร้างเซ็กซ์ที่ปลอดภัยและน่าพอใจไปพร้อมๆ กันได้

แม้จะดูเป็นเรื่องเร่าร้อนน่าเขินอาย หรือดูลี้ลับเพราะถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้าม แต่เซ็กซ์ไม่ใช่ความลับของจักรวาล และการขอความยินยอมควรเอ่ยออกไปได้ง่ายที่สุดเสมอ จริงไหม?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save