fbpx
1 ปี Connext Klongtoey เรียนรู้จากความไม่สำเร็จและด้านไม่สวยงามของโครงการศิลปะเพื่อสังคม

1 ปี Connext Klongtoey เรียนรู้จากความไม่สำเร็จและด้านไม่สวยงามของโครงการศิลปะเพื่อสังคม

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

นับเป็นเวลาครบหนึ่งปีพอดิบพอดี สำหรับโครงการ Connext Klongtoey – เวิร์กชอปศิลปะที่กลุ่ม Eye On Field (บ้านเล็กหลังใหม่ของ Eyedropper Fill – ผู้เขียนคอลัมน์) จัดขึ้นเป็นห้องเรียนทางเลือกสำหรับเด็กนักเรียนในสลัมคลองเตย ผู้อ่านหลายคนคงจำวิดีโอแคมเปญชิ้นนี้กันได้ หากจำไม่ได้ ลองกดชมเพื่อทำความรู้จักโครงการนี้กันอีกสักรอบ

 

 

ช่วงนี้ของปีก่อน ผลงานศิลปะหลายแขนงของนักเรียนในคลาส Connext Klongtoey ถูกนำไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการชื่อเดียวกัน ในงาน Bangkok Design Week 2019 ผลตอบรับทั้งคำชม รอยยิ้ม น้ำตาจากความซาบซึ้งทั้งของผู้ชมและเด็กนักเรียนที่พาผลงานเมดอินคลองเตยของตัวเองมาสู่สายตาประชาชน คล้ายเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จ สื่อหลายสำนักติดต่อสัมภาษณ์เพื่อนำโครงการนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดีในการทำงานศิลปะเพื่อสังคม ผู้เขียนที่มองอยู่ห่างๆ ก็สัมผัสได้ถึงความสำเร็จนั้น

 

Connext Klongtoey ในงาน Bangkok Design Week 2019

 

Connext Klongtoey ในงาน Bangkok Design Week 2019

 

Connext Klongtoey ในงาน Bangkok Design Week 2019

 

แต่สำหรับ เบสท์วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย หนึ่งในผู้จัดโครงการที่เติบโตขึ้นหนึ่งปีหลัง Connext Klongtoey จบ เมื่อมองย้อนไป เขาไม่ได้เห็นแต่ด้านสำเร็จและสวยงาม แต่กลับสนใจความไม่สำเร็จและด้านไม่สวยงามของศิลปะเพื่อสังคมโครงการนี้ เพราะมันทำให้ได้เรียนรู้ว่า บางปัญหาก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการทำโปรเจ็กต์เพียงลำพัง โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ Connext Klongtoey พยายามท้าทายนั้น มีมิติซับซ้อนกว่าแค่เรื่องในโรงเรียน

“จุดเริ่มต้นของ Connext Klongtoey คืออยากทดลองทำพื้นที่ทางเลือกสำหรับเด็กที่สนใจด้านศิลปะในคลองเตย ให้เขาได้เลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองชอบและลงมือทำจริง โดยมีวิทยากรคอยแนะนำ รวมไปถึงได้แสดงผลงานจริงออกมาด้วย ในตอนแรกเราคาดหวังไว้แค่อยากให้เด็กได้เรียนรู้ถึงศักยภาพด้านในของตัวเองในแบบที่ระบบการศึกษาหลักไม่ได้สนับสนุน และอยากให้งานศิลปะที่น้องทำเป็นตัวสื่อสารให้คนข้างนอกเห็นคลองเตยในมุมของเด็กคนหนึ่งที่กำลังจะเติบโตไปในสังคม”

ตั้งแต่เริ่มโครงการ เบสท์ได้รู้จักกับเด็กหลายคนจนสนิทกันเหมือนเพื่อน ทำให้ได้เห็นชีวิตนอกห้องเรียนและนอกรั้วโรงเรียนของพวกเขา ทำให้เขาพบว่าปัญหาการศึกษา โดยเฉพาะในบริบทที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างคลองเตย เราไม่สามารถแก้ได้แค่เรื่องการศึกษาในโรงเรียนอย่างโดดๆ โดยไม่คิดถึงปัจจัยรอบข้าง

“Connext Klongtoey ทำงานกับเด็กๆ ที่อยู่ในโรงเรียนเป็นหลัก แต่อย่าลืมว่าในหนึ่งวันเขาอยู่โรงเรียนแค่ 8 ชั่วโมง เวลาที่เหลือมันคือเวลาที่เขาจะอยู่กับครอบครัว เพื่อนเขา ชุมชนเขา

“ตรงนี้มีผลกับเด็กคนหนึ่งอยู่แล้ว เราเคยได้คุยกับแม่ของน้องในคลาสเรียน เขาเป็นแม่บ้านได้เงินต่อเดือนประมาณ 9,000 บาท เขากับสามีแยกทางกัน เท่ากับ 9,000 บาทนี้ต้องเอาไว้จ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละประมาณ 1,500 เลี้ยงดูลูกอีกสามคน ค่าข้าวค่าขนมไปโรงรียน ตอนเราฟังก็งงว่ามันจะพอได้ยังไง

“ฉะนั้น เด็กที่นี่พอเริ่มโตหน่อย สัก 14 – 15 ก็ต้องเริ่มช่วยครอบครัวหาเงิน บ้างก็ไปขนผักในตลาด บ้างก็ไปเดินขายพวงมาลัย บางคนโหดหน่อยคือทำหลายอย่างรวมกันหลังเลิกเรียนแล้วตกดึกก็ไปเป็นเด็กเปิดตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือ ได้ค่าจ้างคืนละ 200-300 ซึ่งรวมๆ แล้วก็พอจะเอามาจุนเจือครอบครัวได้อยู่ นี่เลยเป็นสาเหตุที่เห็นชัดเลยว่า การศึกษาสำหรับบางครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเป็นอันดับสองรองจากรายได้ กลายเป็นสาเหตุที่เด็กออกจากโรงเรียนเยอะมาก”

เช่นเดียวกันกับโครงการ Connext Klongtoey ช่วงเริ่มต้นเวิร์กชอป มีเด็กนักเรียนหลายคนที่ฉายแววทางศิลปะจนวิทยากรของเราตาลุกวาว แต่เมื่อโครงการดำเนินมาไม่ถึง นับจำนวนเด็กในคลาสพบว่าหายไปเกินครึ่ง โครงการจึงจำต้องจบลงก่อนกำหนด

“ยกตัวอย่างเคสนึงที่เห็นได้ชัด น้องคนหนึ่งในคลาสภาพถ่าย มีมุมมองน่าสนใจมาก แต่จู่ๆ วันหนึ่งก็หายไปจากคลาส สืบไปพบว่าถูกพี่เขยทำร้าย เขาต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เด็กบางคนมาได้ไม่กี่คลาสแล้วก็หายไป ไม่ใช่เพราะความขี้เกียจ แต่เพราะต้องไปช่วยที่บ้านทำงาน เราจำได้ประโยคหนึ่ง จากแม่น้องในคลาสที่กำลังไปได้สวยแต่ต้องออกไปกลางคัน เขาบอกว่า “ก็ตัวแม่เขาเองยังได้เท่านี้ เขาจะไปหวังอะไรให้ลูกเดินไปได้ไกลกว่าเขา ลูกคงไปไกลกว่าเขาไม่ได้มาก

“การลงไปทำโครงการนี้จึงทำให้เราเห็นว่า ถ้าหากต้องการจะแก้เรื่องระบบการศึกษา เราอาจจะต้องแก้บริบทอื่นๆ ที่รายล้อมไปพร้อมกันด้วย”

นอกจากปัญหาที่เบสท์เล่า มีปัจจัยมากกว่านั้นอีกมั้ยที่ทำให้ ‘โครงการเพื่อสังคม’ หลายๆ อันไม่ยั่งยืน – เราถามแทนคนสนใจงานเพื่อสังคม

“ปัจจัยของคนทำเองก็มีส่วน หนึ่งคือเรื่องกำลังทุน เราทำ proposal ไปเดินขอทุนหลายที่มาก แต่ในช่วงแรกยังไม่มีใครสนับสนุน วิดีโอโปรโมต เวิร์กชอป จนถึงนิทรรศการ บริษัทเราเลยต้องออกทุนเองไปก่อน เพราะอยากให้มันเกิดขึ้นจริงๆ จนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและได้ทุนจาก สสย. (สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน) มาสนับสนุน 40,000 บาท สองคือเรื่องเวลา บริษัทเรามีงานหลักเป็นการออกแบบสื่อ เราต้องแบ่งเวลาไปหาเงินเลี้ยงบริษัทให้อยู่รอดได้ด้วย

ถ้าทำต่อได้ เราคงอยากจะทำให้อยู่ยาวๆ แบบยั่งยืนกว่านี้ เข้าไปดึงภาคส่วนอื่นมาร่วมมือกันและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเป็นหลักสูตร”

 

เบสท์ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ถ่ายคู่กับเด็กในวันท้ายๆ ของโครงการ Connext Klongtoey

เบสท์ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ถ่ายคู่กับเด็กในวันท้ายๆ ของโครงการ Connext Klongtoey

 

พูดถึงเด็กที่เคยผ่าน Connext Klongtoey มา หลังจากพาผลงานตัวเองไปเจอคนดูในนิทรรศการแล้ว ผ่านไปหนึ่งปี ชีวิตแต่ละคนเป็นอย่างไร

“น้องหลายคนเลยเรียกร้องให้เราทำอีก เพราะเขาได้เห็นศักยภาพตัวเองในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้เขาได้รู้ว่าเขาทำได้ ส่วนตอนนิทรรศการที่เขาได้ไปพบปะคนข้างนอก มันทำให้เขารู้ว่าหลายคนก็ไม่ได้มองคลองเตยในแง่ลบเสมอไป

“ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน น้องบางคนไปได้ดี อาจจะไม่ใช่ในสายทางที่เรียนในคลาสเวิร์กช็อป อย่างน้องในคลาสแร็ป ตอนนี้ไปเป็นนักบอล ทำทีมไปลงแข่งจริงจัง บางคนกลับไปขายยา บางคนลาออกจากโรงเรียนเพื่อเดินตามความฝันในสายอาชีพ แต่ละคนเลือกทางเดินไปคนละแบบ”

ส่วนครูโมสต์ – สินีนาฎ คะมะคต ที่เป็นผู้ร่วมจัดทำ ตอนนี้ไปเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ ไปขับเคลื่อนภาคนโยบายในเรื่องแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นต่อยอดจากที่ได้เรียนรู้ในโครงการนี้ไปพร้อมกับเราว่า “การศึกษาถูกแก้จากเด็กอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเข้าไปแก้ที่คุณภาพชีวิตซึ่งรวมไปถึงพ่อแม่ ครอบครัวพวกเขาที่ทำงานหาเช้ากินค่ำด้วย”

ทั้งเด็กในคลาส และคนที่ได้ดูโครงการต่างเชียร์ให้ Connext Klongtoey ทำต่อ เราอยากรู้ว่า ‘ภาค 2’ ของมัน จะมีโอกาสเกิดขึ้นมั้ย

“หลังนิทรรศการจบไม่นาน พบว่าสิ่งที่เราพอจะทำต่อได้คือเล่าประเด็นนี้ออกมาเป็นหนังสารคดี เราตามถ่ายชีวิตของเด็ก 2 คนที่ได้รู้จักจากคลาสแร็ป เราเห็นพลังในตัวเขาที่มีแพสชั่นกับสิ่งนี้และทั้งสองคนก็เห็นตัวเองค่อนข้างชัดว่าอยากมาทางนี้จริงๆ”

 

 

“หลังทำอัลบั้ม School Town King ใน Connext Klongtoey จบ เด็กสองคนน้ียังไปต่อ ยังแร็ปหาเงินและเดินตามความฝันที่อนาคตอยากเป็นแร็ปเปอร์ ขณะเดียวกันเส้นทางนี้ทำให้เขายิ่งเฉออกไปจากเส้นทางของระบบการศึกษาหลักไปเรื่อยๆ เรามองว่าตรงนี้คือ turning point เลยนะ ถ้าคุณเฉออกมาจากเส้นทางหลักเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วการทำเพลงฮิปฮอปเป็นความหวังให้คุณได้จริงมั้ย แล้วถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จ คุณจะกลับไปเรียนในระบบการศึกษาหลักที่คุณหนีออกมาอีกหรือเปล่า

“ส่วนตัวเราก็ตอบให้ไม่ได้ แต่ทั้งหมดคือคำถามที่เด็กสองคนนี้เจอ และเราก็ค้นพบไปพร้อมๆ กับเขา ซึ่งมันแตกต่างมากจากโครงการ Connext Klongtoey เพราะอันนี้คือของจริง ชีวิตจริง ไม่มีคนแนะนำ ไม่มีทุนและวิทยากรสนับสนุนอีกต่อไปแล้ว เราเลยอยากให้หนังเป็นตัวบันทึกว่า อะไรคือปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เด็กเลือกอะไร ไม่เลือกอะไร เลือกตามฝัน หรือเลือกอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งในวัยของพวกเขาแล้วบางการตัดสินใจเป็นจุดที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปเลยจริงๆ”

สำหรับใครที่รอดู “หนังอยู่ในช่วงถ่ายทำและตัดต่อ คาดว่าน่าจะเสร็จช่วงปลายปี และน่าจะเป็นการฉายในโรงภาพยนตร์แบบจำกัดรอบ สารคดีเรื่องนี้เราได้รับทุนการสนับสนุนจาก กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) และดูแลการผลิตโดย The 101 Percent หนังเรื่องนี้ นอกจากกลุ่มคนดูหนังนอกกระแสแล้ว เราอยากขยายพื้นที่ฉายออกมายังกลุ่มคนอื่นๆ ในรูปแบบอีเวนต์ อาจไปตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย จัดเสวนาควบคู่ไปให้เกิดการพูดคุยกันจากคนหลายๆ สายด้วย”

สองปีในโรงเรียนกลางชุมชนคลองเตย กับอีกปีกว่าๆ ในการติดตามชีวิตเด็กแร็ปล่าฝัน เราอยากรู้ว่าเบสท์เห็นปัญหาการศึกษาผ่านเรื่องเหล่านี้อย่างไร

“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตลอดไม่เปลี่ยนแปลงคือ เด็กทุกคนมีความฝัน และทุกคนมีความสามารถที่จะไปถึงตรงนั้นได้ แค่อะไรหลายอย่างไม่ได้อำนวยให้เขาไปถึง เด็กที่นี่ชอบบ่นว่าเรียนไปแล้วไม่เข้าหัว ไม่ใช่เพราะสมองไม่ดี แต่เพราะเรื่องที่ห้องเรียนสอน มันไปคนละทางกับวิถีชีวิตและบริบทสังคมที่เขาอยู่ และวิธีการสอนในห้องเรียน ไม่ได้ไปกับโลกปัจจุบัน

“เด็กบางคนเรียนไม่เก่ง แต่อยากเป็นนักร้อง เขาสามารถหัดร้องเพลงจากยูทูบได้ เรียนภาษาอังกฤษจากเพลงในยูทูบได้ เด็กบางคนซ้ำชั้นทุกวิชา แต่ไลฟ์ขายของในเฟซบุ๊กเก่งมาก วิธีการเข้าถึงความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน ผ่านครู หรือผ่านเครื่องมือเดิมอีกต่อไปแล้ว เด็กเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีในมือถือได้คุ้มค่ามาก เขาคุ้นเคยกับการรับข้อมูลผ่านประสบการณ์อีกแบบ ตอบโต้ได้ ค้นหาเองได้ ตัดกลับมาในห้องเรียน ทุกอย่างต้องรอฟังจากครูเหมือนเดิม เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ครูพูดก็นำไปใช้ในสิ่งแวดล้อมของเขาไม่ได้ เราเลยคิดว่าภาพรวมของการศึกษาอาจจะต้องยืดหยุ่นตัวเองทั้งวิธีการสอนและเนื้อหาเพื่อเอื้อต่อความหลากหลายของเด็ก

“ที่สำคัญ ห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่เด็กสามารถเรียนรู้และล้มเหลวได้ ครูแค่ให้คำแนะนำและปล่อยให้เขาทดลองตามความสนใจ ถ้าห้องเรียนปล่อยให้เด็กเฟลไม่ได้หรือล้มแล้วต้องกลายเป็นผู้แพ้ มันบีบบังคับให้คุณต้องเลือก เช่น ถ้าไม่ชอบเรียนก็ต้องออกไปแร็ปให้สุด และต้องสำเร็จเท่านั้น เหมือนเด็กแร็ปสองคนที่เราตามถ่ายสารคดีกำลังแบกความกดดันนี้อยู่

“และถ้าสุดท้าย ทั้งสองคนค้นพบว่าทางที่เดินไปมันไม่ใช่ วันนั้นเมื่อเขาหันหลังกลับมา มีอะไรรองรับเขาบ้าง สุดท้ายสังคมเราจะมีแต่ผู้แพ้พ่ายต่อความฝันเต็มไปหมด”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save