fbpx
ผู้หญิง + จุดสุดยอด = ความซับซ้อนที่มากกว่าความสุข

ผู้หญิง + จุดสุดยอด = ความซับซ้อนที่มากกว่าความสุข

โดยพฤตินัย, ’จุดสุดยอด’ คือปลายทางของเซ็กส์

ไม่ว่าจะเป็นเซ็กส์ที่เกิดขึ้นจากความปรารถนา ความใคร่ หรือความรัก (กระทั่งเซ็กส์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ) ธรรมชาติได้พัฒนาความรู้สึกของ ‘ความสุข’ จากระบบการทำงานของสมองและสารเคมีต่างๆ ไว้ให้กับเรา สำหรับเพศชาย ไม่ว่ากาลเวลาจะโรแมนติไซส์เซ็กส์และความรักมากแค่ไหน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสุขจากจุดสุดยอดมีไว้เพื่อเหตุผลในการสืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์

ยิ่งรู้สึกดี ก็ยิ่งอยากปลดปล่อย เพิ่มโอกาสขยายพันธุ์ให้มีมากยิ่งขึ้น

แต่จุดสุดยอดสำหรับเพศหญิงล่ะ มีไว้เพื่ออะไรกัน?

 

ไม่ใช่เรื่องของความไม่เท่าเทียมทางเพศ เพราะคำถามนี้คาใจนักวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลายาวนาน ถ้าผู้ชายรู้สึกแฮปปี้เพราะจุดสุดยอดเพื่อความสามารถในการขยายพันธุ์ แล้วผู้หญิงจะมีจุดสุดยอดไว้ทำไม… ในเมื่อกล้ามเนื้อช่องคลอดที่บีบรัดเวลาถึงจุดสุดยอด ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับความสามารถในการมีลูก (แถมผู้หญิงหลายคนก็ไม่ได้ ‘ถึง’ ทุกครั้งเวลามีเซ็กส์เสมอไป)

มีหลายทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ และยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

บ้างบอกว่าจุดสุดยอดของผู้หญิงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือไว้ใช้เลือกคู่ครองที่มีคุณภาพ ถ้าแข็งแกร่งมากพอที่จะคุมคนในฝูงไปพร้อมๆ กับทำให้เพศหญิงถึงจุดสุดยอดได้ ก็ถือว่าเป็นคู่ครองที่ดี เหมาะกับการตกลงมีลูกด้วย บ้างให้เหตุผลว่าฮอร์โมนโดพามีน (ทำให้รู้สึกดี) และออกซีโตซิน (ทำให้รู้สึกผูกพัน) ที่หลั่งออกมาเมื่อชายและหญิงถึงจุดสุดยอด เพิ่มโอกาสในการอยู่รอดหากทั้งอยู่ด้วยกันและมีลูกด้วยกัน ทำให้จุดสุดยอดของเพศหญิงถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มโอกาสคงอยู่ของเผ่าพันธุ์

หรือจะเป็นทฤษฎีที่คิดขึ้นในช่วงต้นปี 1900 ที่ว่า การบีบรัดของช่องคลอดเมื่อผู้หญิงถึงจุดสุดยอด ช่วยให้น้ำอสุจิเดินทางเข้าไปในมดลูกเพื่อปฏิสนธิได้ง่ายขึ้น แต่ก็ทฤษฎีนี้ก็ตกไป เพราะจริงๆ แล้วแม้ไม่ถึงจุดสุดยอด ผู้หญิงก็มีโอกาสท้องได้พอๆ กันอยู่แล้ว

ที่โด่งดังที่สุดคือทฤษฎี ‘By-Product’ ที่บอกว่าจุดสุดยอดของผู้หญิงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประโยชน์ทางวิวัฒนาการหรอก ที่จริงแล้วก็คล้ายกับการมีอยู่ของหัวนมผู้ชาย (ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร) คือมันมีอยู่แล้วตั้งแต่ตอนเรายังเป็นเอ็มบริโอนั่นแล

ล่าสุดเมื่อปลายปีก่อน ในงานวิจัยเรื่อง The Evolutionary Origin of Female Orgasm จากวารสาร The Journal of Experimental Zoology โดยนักชีววิทยาวิวัฒนาการ Mihaela Pavlicev และ Günter P. Wagner ได้เสนอทฤษฎีใหม่โดยเชื่อมโยงจุดสุดยอดของเพศหญิงเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ และพบว่าการมีอยู่ของความรู้สึกนี้เกี่ยวข้องกับ ‘การตกไข่’ ของเพศหญิง

พวกเขาพบว่าทั้งมนุษย์เพศหญิงและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศเมียชนิดอื่นๆ ปล่อยฮอร์โมนออกซีโตซินและโปรแล็คตินออกมาระหว่างการมีเซ็กส์ ซึ่งในสัตว์ ฮอร์โมนสองชนิดนี้จะไปกระตุ้นการตกไข่ นั่นหมายความว่าในอดีต การตกไข่เพื่อพร้อมที่จะมีลูกหลานของเพศเมียถูกกำหนดด้วยเพศผู้ และปุ่มคลิตอริสที่อยู่ในช่องคลอดจะกระตุ้นให้เพศเมียหลั่งฮอร์โมนทั้งคู่ออกมา

แต่เมื่อบรรพบุรุษของมนุษย์เริ่มอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ได้เจอเพศชายมากขึ้น (ต่างกับสัตว์เพศเมียชนิดอื่นๆ) ระบบการตกไข่แบบเป็นรอบเดือนก็ถูกพัฒนาขึ้น พร้อมๆ กับคลิตอริสที่ถูกย้ายออกมาอยู่ด้านนอก เพื่อป้องกันไม่ให้สัญญาณบอกการตกไข่ผิดเพี้ยนไป

จากจุดสุดยอดเพื่อกระตุ้นการตกไข่ หลงเหลือไว้เป็นจุดสุดยอดเพื่อ ‘ความสุข’ ในปัจจุบัน

ระหว่างที่เหล่าสายวิทย์กำลังหาคำตอบว่าทำไมผู้หญิงถึงต้องมีความสุขจากเซ็กส์ ก่อนการมาถึงของแนวคิดเฟมินิสม์ และความภูมิใจในร่างกาย อารมณ์ ความปรารถนาของตัวเอง ความสุขจากจุดสุดยอดของพวกเธอในอดีตมันช่างระทมยิ่งนัก!

ในยุคกลาง มีความเชื่อที่ว่าอวัยวะเพศหญิงก็คืออวัยวะเพศชายที่หดกลับเข้าไป ไม่ต่างอะไรกันในเชิงฟังก์ชั่น แนวคิดนี้ทำให้จุดสุดยอดเป็นสิ่งจำเป็นของการมีลูก ฟังดูเป็นเรื่องดี แต่ทางปฏิบัติ ความเชื่อนี้ถูกนำไปปรับใช้เพื่อให้ ‘การข่มขืน’ เป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าผู้หญิงในยุคกลางถูกข่มขืนแล้วท้อง นั่นหมายความว่าพวกเธอจะต้อง ‘ถึง’ จุดสุดยอด (ตามความเชื่อเรื่องฟังก์ชั่นที่ว่า) ดังนั้น คำว่า ‘ข่มขืน’ จึงใช้กล่าวอ้างเป็นความผิดต่อผู้ชายไม่ได้

เมื่อมาถึงสมัยวิคตอเรียน ช่วงศตวรรษที่ 19 อาการทางจิตเวชในชื่อ ‘ฮิสทีเรีย’ ถูกใช้บ่งบอกอาการของผู้หญิงที่มีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์และจิตสำนึก ส่งผลต่อการควบคุมร่างกาย และวิธีรักษาที่แพทย์ยุคนั้นบอกว่าได้ผล คือการนวดบริเวณเชิงกรานจนผู้ป่วยถึงจุดสุดยอด (ในตอนนั้นมีศัพท์เรียกกันว่า Hysterical Paroxysm) กลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของแพทย์ในช่วงเวลานั้น

การช่วยตัวเองให้ผู้หญิงถึงจุดสุดยอดถูกมองว่าเป็นการรักษาอาการป่วยไข้ ไม่ใช่เรื่องของความสุข แต่คุณูปการของโรคฮิสทีเรียในยุคนั้นคือการมาถึงของ ‘ไวเบรเตอร์’ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษา ก่อนจะเป็นเครื่องมือสร้างความสุขด้วยตัวเองของผู้หญิงในเวลาต่อมา

ความสุขกับจุดสุดยอดของผู้หญิงมาบรรจบกันได้ก็ในช่วงทศวรรษ 40s หลังจาก Alfred Kinsey ทำการสำรวจในผู้หญิงหลากหลายช่วงวัยเกี่ยวกับความสุขทางเพศ ที่เข้ามาล้มล้างความเชื่อเดิมๆ ด้วยผลสำรวจที่ว่า กว่า 40% ของผู้หญิงถึงจุดสุดยอดครั้งแรกด้วยการช่วยตัวเอง และจุดสุดยอดสำหรับผู้หญิงก็ไม่ต่างกับผู้ชาย เพราะมีอยู่ในทุกช่วงวัย ก่อนจะเริ่มหมดลงในวัยชรา

 

ปัจจุบัน จุดสุดยอดสำหรับผู้หญิงไม่ใช่แค่เรื่องของความสุขทางเพศอีกต่อไป เราเห็นผลการวิจัยและบทความในหน้านิตยสารสำหรับผู้หญิงที่บอกข้อดีของจุดสุดยอด ทั้งการช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ทำให้สุขภาพดี ช่วยเรื่องความจำและสมอง ปล่อยฮอร์โมนที่ลดอาการปวดทั้งหลายแหล่ แถมยังดูเด็กลงได้อีกต่างหาก

ถึงจุดสุดยอดของผู้หญิงในเชิงวิทยาศาสตร์จะซับซ้อนแค่ไหน ประวัติศาสตร์จะมองไม่ดียังไง แต่ถ้า ‘ถึง’ แล้วดีต่อใจขนาดนี้

ก็ทำไปเถอะคุณ!

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ THE BIOLOGY OF THE ORGASM ของ Michelle Spoto จาก Reporter, May 3, 2014

-บทความ Scientists Ponder an Evolutionary Mystery: The Female Orgasm ของ 

-บทความ A Brief History Of The Female Orgasm, From Medieval To Modern Times ของ JR THORPE จาก Bustle, March 2, 2015

-บทความ Female Hysteria during Victorian Era: Its Symptoms, Diagnosis & Treatment/Cures จาก Victorian-Era

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save