fbpx

Communitarianism กับ Elitism: บทเรียนจากวงการฟุตบอล

การคว้าแชมป์ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกของทีมเชลซีเหนือแมนเชสเตอร์ ซิตี้เมื่อคืนวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นับเป็นการปิดฤดูกาลฟุตบอลยุโรปฤดูกาล 2020-2021 อย่างเป็นทางการ สื่อด้านกีฬาต่างมองว่านี่เป็นการปิดฤดูกาลที่สวยงามไม่น้อย เมื่อฟุตบอลได้ต้อนรับแฟนๆ กลับเข้าสนามอีกครั้งในแมตช์ใหญ่เช่นนี้

แต่ย้อนกลับไปเพียงแค่เดือนกว่า วงการฟุตบอลยุโรปเพิ่งผ่านเหตุการณ์ใหญ่โตเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของซีซั่น จากการพยายามจะแยกตัวไปตั้งลีกใหม่ โดยสโมสรยักษ์ใหญ่ในสเปน อิตาลี และอังกฤษ อาทิ แมนยูฯ ลิเวอร์พูล เรอัล มาดริด บาร์เซโลนา ยูเวนตุส ฯลฯ พยายามจะก่อตั้ง ‘ยูโรเปี้ยนซูเปอร์ลีก’ เป็นลีกอีลิทเฉพาะของพวกเขาเอง แนวคิดนี้แหวกธรรมเนียมการแข่งขันในยุโรปที่ทุกๆ ทีมสามารถเข้าร่วมได้ผ่านการคัดสรร (เช่น การเป็นทีมอันดับดีที่สุดของลีก หรือได้แชมป์ฟุตบอลถ้วยภายในประเทศ เป็นต้น) กลายเป็นลีกที่ไม่ต้องแข่งขันเพื่อเข้าร่วม และไม่มีการเลื่อนชั้นหรือตกชั้นใดๆ ซึ่งเมื่อมีข่าวประกาศออกมาก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โต มีแฟนบอลออกมาประท้วง นักเตะและผู้จัดการทีมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา

แกรี่ เนวิลล์[i] กูรูลูกหนัง อดีตผู้เล่นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเป็นผู้ได้ชื่อว่ารักสโมสรตัวเองอย่างยิ่ง ออกตัวแรงโดยกล่าวว่า “ผมรังเกียจสุดๆ” โดยเฉพาะต่อการกระทำของแมนยูฯ และลิเวอร์พูล สโมสรอย่างลิเวอร์พูลที่บอกว่าคุณจะไม่เดินอย่างเดียวดาย สโมสรของปวงประชา หรือสโมสรแมนยูฯ ที่เมื่อร้อยกว่าปีก่อนเกิดขึ้นจากคนงานรอบๆ เมือง สโมสรพวกนี้ทอดทิ้งเราไปสู่ลีกใหม่ที่ไม่ต้องมีการแข่งขันเลื่อนชั้น-ตกชั้น

เหตุผลของการก่อตั้งซูเปอร์ลีกที่ดูเป็นประเด็นที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของธุรกิจ สโมสรอย่างบาร์เซโลนา เรอัล มาดริด และยูเวนตุสนั้นมีปัญหาเรื่องการเงิน ส่วนสโมสรในอังกฤษก็ไม่ได้มีทีท่าจะดีกว่าสักเท่าไหร่ แล้วยิ่งมีวิกฤตโควิดด้วยแล้ว สภาวะทางการเงินของทีมชั้นนำนั้นลุ่มๆ ดอนๆ การตั้ง ‘ซูเปอร์ลีก’ ของพวกเขาเองจะสามารถบริหารผลประโยชน์จากการแข่งขันดึงแฟนคลับจากทั่วโลกมาโดยตรง ไม่ต้องผ่านองค์กรกลางอย่างยูฟ่า ซึ่งถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมในการบริหาร แต่ประเด็นหลักคือการกระจายผลประโยชน์โดยผ่านองค์กรกลางนั้นจะต้องแบ่งผลประโยชน์ไปให้ทีมเล็กใหญ่อื่นๆ เปรียบเหมือนการกระจายรายได้ที่ทีมชั้นนำโดนหักภาษี การแยกลีกออกมาของพวกเขาเองจึงเป็นเหตุผลทางธุรกิจในการหารายได้ทางตรงของทีมชั้นนำ เหตุผลด้านธุรกิจมีน้ำหนักขึ้นมาทันที เมื่อ JP Morgan ยักษ์ใหญ่ในโลกการเงินออกมาบอกว่าจะสนับสนุนเงินกู้ 4 พันล้านปอนด์เพื่อลงทุนประกอบการนี้

ปัญหามีอยู่ว่าการก่อตั้งยูโรเปี้ยนซูเปอร์ลีกนั้นเป็นการตัดสินใจของผู้บริหารและเจ้าของสโมสรเพียงกลุ่มเดียว โดยไม่ได้ผ่านการสังเคราะห์จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทีม โค้ช นักเตะ และที่สำคัญที่สุดคือแฟนบอลผู้สนับสนุนสโมสร ไม่ใช่เรื่องแปลกใจนักที่นอกจากแกรี่ เนวิลล์แล้ว นักเตะ ผู้จัดการทีม บรรดาพุนดิททั้งหลาย รวมไปถึงแฟนๆ ฟุตบอลต่างออกมาแสดงความไม่พอใจ เราเห็นแฟนบอลท้องถิ่นในประเทศอังกฤษออกมาต่อต้านการกระทำของผู้บริหารและเจ้าของสโมสร โพลของในสหราชอาณาจักรชี้ว่า 79%[ii] ของแฟนบอลไม่เห็นด้วย มีการประท้วงแสดงอารยะขัดขืน และถึงขั้นพังประตูเข้าไปในสนามก็มี จนในที่สุดยูโรเปี้ยนซูเปอร์ลีกเป็นอันต้องล้มพับไป เมื่อหลายสโมสรทนกระแสไม่ไหวต้องประกาศถอนตัวจากโครงการ 

หลังโครงการซูเปอร์ลีกล้มพับ ผู้บริหารหลายสโมสรต่างออกมาขอโทษขอโพยต่อสาธารณะ บางคนถึงกับต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบเลยทีเดียว ปรากกฏการณ์นี้แม้มองผิวเผินจะเป็นเรื่องปกติ แต่กลับสะท้อนคำถามเชิงศีลธรรมได้อย่างน่าสนใจทีเดียว เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วหากใช้เหตุผลทางตลาด สโมสรฟุตบอลถือว่าเป็นนิติบุคคล เจ้าของและผู้ถือหุ้นมีสิทธิขาดในการตัดสินใจ เมื่อมีเหตุผลทางการเงินและธุรกิจ ย่อมเป็นสิทธิขององค์กรที่จะแสวงหาผลกำไร ยิ่งหลายสโมสรมีความจำเป็นในการหารายได้ แล้วทำไมการสร้างซูเปอร์ลีกถึงถูกต่อต้านจนต้องยกเลิก มีคนโดนลงโทษ และมีความเสี่ยงที่สโมสรจะถูกตัดสิทธิไปตามๆ กัน

การตอบคำถามนี้ทำได้หลายแง่มุม แต่หนึ่งในแง่มุมที่น่าสนใจคือแนวคิดของไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel)[iii] ในเรื่อง Communitarianism ซึ่งมองว่าเหตุผลทางธุรกิจนั้นไม่เพียงพอสำหรับความชอบธรรม เพราะในเมื่อทุกปัจเจกเป็นสมาชิกของสังคม การกระทำของปัจเจกหนึ่งส่งผลกระทบกับปัจเจกทุกๆ คน การค้นหาความชอบธรรมนั้นจึงต้องใช้เวทีหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่เหตุผลทางกลไกตลาดอย่างเดียวที่มาจากการตัดสินใจของคนเพียงหยิบมือ

หนังสือสองเล่มล่าสุด What Money Can’t Buy: The Moral Limits of Markets กับ The Tyranny of Merit: What’s Become of the Common Good? แซนเดลตั้งคำถามว่าตลาดนั้นเป็นตัวกลางตัดสินราคายุติธรรมที่เพียงพอหรือเปล่า มีอะไรบ้างที่เงินซื้อไม่ได้ และอีกเล่มถามว่าตำแหน่งหน้าที่และรายได้ของแต่ละปัจเจกในสังคมนั้นวัดกันที่อะไร การศึกษาและความสามารถนั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะให้ตลาดแบบใครดีใครได้ตัดสินว่าทำไมบางคนจนหรือบางคนรวย  

แน่นอนว่าแซนเดลเสนอว่าไม่เพียงพอ เขายกตัวอย่างของศีลธรรมในการซื้อขายอวัยวะ เช่น เราควรจะซื้อขายไตในตลาดหรือไม่[iv]  เพราะว่ามีผู้ป่วยโรคไตมากมายที่ต้องการเปลี่ยนไต แต่ไม่สามารถหาเปลี่ยนได้ จึงมีการเสนอให้สร้างตลาดไตขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนให้มีอุปสงค์พอเพียงตามราคาตลาด แต่แซนเดลชี้ให้เห็นว่า ตลาดอวัยวะมีปัญหาเรื่องศีลธรรม เพราะหนึ่งเลยคือการซื้อขายอวัยวะขัดต่อความเป็นมนุษย์หรือเปล่า และถึงแม้จะซื้อขายได้ ราคาตามกลไกตลาดนั้นชอบธรรมหรือเปล่า ปัจเจกคนหนึ่งอาจจะยินยอมขายอวัยวะในราคานี้ แต่ไม่ได้แปลว่าความยินยอมของเขาและเธอไม่ได้เกิดจากสภาวะที่กดดัน ยกตัวอย่างเช่น ปัจเจกคนหนึ่งที่มีโอกาสน้อยกว่าอาจจะยอมขายในราคาหนึ่งแสน อีกคนที่มีฐานะหน่อยอาจจะขายในราคาสิบล้าน นี่แสดงให้เห็นถึงสภาวะที่แตกต่างกัน แล้วอย่างนี้เราจะบอกได้อย่างไรว่าการซื้อขายในตลาดนั้นเหมาะสมถูกต้อง แม้คนขายและคนซื้อจะยินยอม แต่มันไม่ได้แปลว่าการแลกเปลี่ยนนั้นจะชอบธรรมไม่ขัดต่อความเป็นมนุษย์ คอนเซ็ปต์เรื่องความยินยอม (consent) จึงเป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอ

อีกตัวอย่างก็คือเรื่องของการศึกษาและความสามารถแบบใครดีใครได้ เราบอกได้ไหมว่าปัจเจกคนหนึ่งที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ เหมาะสมกับรายได้ที่เขาและเธอหาได้ การศึกษาและปริญญาบัตรนั้นเป็นตัวชี้วัดที่เพียงพอหรือไม่ที่จะบอกว่าเขาและเธอนั้นเก่งกว่าคนอื่นๆ เหมาะสมคู่ควรกับศักดิ์ฐานะ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยชั้นนำซึ่งดูเหมือนจะเป็นอีลิทคลับมากกว่า เราต้องรู้ด้วยว่าประชากรของยุโรปและอเมริกาเกินครึ่งไม่ได้มีการศีกษาขั้นสูงในระดับมหาลัย ปัจเจกที่มีโอกาสเข้าสถาบันชั้นนำมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นวาทกรรมที่บอกว่าใบปริญญาและการศึกษาเป็นตัวทำให้ชีวิตดีขึ้นจึงค่อนข้างจะบิดเบือน และที่สำคัญการศึกษาที่ดีคืออะไร การศึกษาแบบที่ทำให้คนอ่อนน้อมต่อระบบ หรือการศึกษาควรเป็นการปลูกปัญญา เมื่อปัจเจกนั้นเข้ามาทำงาน กลไกตลาดที่มีธรรมเนียมใครดีใครได้จะเป็นตัวตัดสินที่ชอบธรรมหรือไม่ว่าเขาและเธอควรมีรายได้เท่าไหร่ ทำไมบางคนถึงจนและบางคนถึงรวย

จุดประสงค์ของแซนเดลไม่ได้ต้องการจะบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด[v] แต่ต้องการจะสร้างบทสนทนา สนับสนุนประชาธิปไตยพหุนิยม การแสดงออกทางการเมือง การกระทำอารยะขัดขืน เพื่อให้คนทั้งสังคมมาร่วมกันตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด เนื่องเพราะมีปัญหาขององค์ความรู้ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของความรู้แต่ผู้เดียว ความยุติธรรมจึงเป็นกระบวนการของทั้งสังคม ความชอบธรรมของตลาดขายไตและความชอบธรรมของธรรมเนียมตลาดที่ว่าใครดีใครได้ จึงต้องมีการถกกันให้ปรุโปร่ง

กลับมาที่ฟุตบอล!!

เพราะว่าฟุตบอลเป็นสถาบันของคนจำนวนมาก ผลลัพธ์ของระบบจึงส่งผลกระทบหลากหลายด้านกับทุกภาคฝ่าย ประวัติศาสตร์ สำนึกต่อรากเหง้า ความภาคภูมิใจ ฯลฯ แม้เงินจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเดียว ฟุตบอลเป็นเรื่องที่มากกว่าผลลัพธ์ในตลาด มีประวัติศาสตร์อันยาวนานว่าเป็นกีฬาของคนหมู่มาก มีสำนึกความภาคภูมิใจต่อการแข่งขันระหว่างถิ่นฐาน เป็นสถานที่แสดงออกของคนหลายหมู่เหล่า เปิดโอกาสให้คนใหญ่น้อยได้เข้าร่วม แม้การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤต แต่การเปลี่ยนแปลงของสถาบันที่เป็นของคนจำนวนมากอย่างฟุตบอลนั้น ต้องใช้กระบวนการพหูพจน์ในการหาความชอบธรรม และแน่นอนว่าปัจเจกแต่ละฝักฝ่ายก็มีความคิดเห็นความเข้าใจต่างกัน 

ดังนั้น ซูเปอร์ลีกจึงถูกมองว่าเป็นแนวคิดแบบ ‘อีลิทติส’ ที่นำเอาศีลธรรมแบบตลาดมาครอบโลกของฟุตบอล เมื่อผู้บริหารและเจ้าของสโมสรชั้นนำในโลกฟุตบอลไม่กี่คนตัดสินกันเองโดยอ้างอิงศีลธรรมของตลาด  

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเถียงว่า ฟุตบอลสมัยใหม่แบบที่เป็นอยู่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานตลาดอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าทำไมแฟนบอลจึงควรจำกัดอยู่แค่แฟนบอลท้องถิ่น ในเมื่อแฟนฟุตบอลนั้นมีอยู่ทั่วโลก ใครบ้างล่ะที่ควรจะนับเป็นแฟนและความเห็นของใครบ้างที่ควรให้น้ำหนัก ยกตัวอย่างเช่นแฟนบอลที่มีอยู่ทั่วโลกหลายกลุ่มอาจจะมีความเห็นต่างจากแฟนบอลในท้องถิ่น โดยสนับสนุนการแยกลีกของทีมชั้นนำเพราะเห็นว่าซูเปอร์ลีกจะทำให้พวกเขาสามารถชมทีมรักอย่างสนุกมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปัจจัยเชิงกายภาพและสังคมเหมือนแฟนบอลท้องถิ่น การปรับตัวให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมใหม่ในโลกฟุตบอลทำให้ทีมของพวกเขามีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น สามารถหานักเตะเก่งๆ มาทำให้ทีมดีขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของแฟนๆ ในแง่นี้การแหวกธรรมเนียมการแข่งขันเดิมที่เคยยึดกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงตอบโจทย์อีกหลายโจทย์ (ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างที่โดนวิจารณ์เท่านั้น) นี่แสดงให้เห็นถึงความคิดของแต่ละปัจเจกที่ต่างวาระ เรื่องการจะแยกลีกออกมาจึงเป็นเรื่องสลับซับซ้อน แสดงถึงความขัดแย้งของปัจเจกที่ร่วมสถาบันเดียวกัน    

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า เราควรปล่อยให้ตลาดตัดสินใจแทนเรา แซนเดลสนับสนุนให้เราถกเถียงกันด้วยเหตุผลแบบพหูพจน์มองผ่านความคิดหลายด้าน แนวคิดที่เขาใช้นั้นวางอยู่ในรากฐานปรัชญาของความเป็นมนุษย์ แม้เราจะมีความเห็นที่ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันตามสภาวะฐานะ แต่ความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่เรามีเหมือนกันตามธรรมชาติ[vi] แม้แต่ละปัจเจกจะขัดแย้งกันในขณะหนึ่ง แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ ทางออกที่เป็นสากลสำหรับทุกฝ่ายจึงมีเสมอ กระบวนการแบบพหูพจน์จึงจำเป็นในการหาความชอบธรรมนั้น 

แนวคิดแบบพหูพจน์นี้แตกต่างจากการที่คนจำนวนหยิบมือเดียวซึ่งเป็นเจ้าของทีมหรือผู้บริหารจะใช้เหตุผลเพียงด้านเดียวมาตัดสิน การกระทำของเจ้าของทีมและผู้บริหารสโมสรจึงถูกประนามและต่อต้าน เพราะการตัดสินกันเองไม่สามารถให้ความชอบธรรมครอบคลุมกับทุกภาคฝ่าย แม้ว่าหลายๆ สโมสรมีปัญหาทางการเงิน การแยกลีกเป็นเรื่องจำเป็นทางธุรกิจที่อาจจะทำให้สโมสรอยู่ได้ทางการเงิน แต่เหตุผลนี้ไม่ได้ผ่านการคิดไตร่ตรองจากทั้งสังคมไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมเนียมเดิมของฟุตบอลที่เคยอิงประวัติศาสตร์ สำนึกต่อถิ่นฐานและการมีส่วนร่วม การตัดสินใจของคนหยิบมือเดียวจึงไม่มีทางที่จะเป็นคำตอบที่มีเสถียรภาพในระยะยาว 

แนวคิดแบบแซนเดลจึงเห็นความชอบธรรมเป็นเรื่องของทั้งสังคมแบบคอมมิวนิทาเรี่ยน เขาเชื่อว่าความชอบธรรมและความยุติธรรมใช้เหตุผลอย่างหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้ และไม่ได้มีผู้ใดเป็นเจ้าของความชอบธรรมแต่ผู้เดียว ภายใต้แนวคิดนี้ความเป็นมนุษย์ต้องมาก่อน โดยถกเถียงกันในสังคมไม่ให้เหตุผลด้านเดียวครอบงำ ให้กลไกตลาดเป็นหนึ่งในสถาบันที่ช่วยประมวลความยุติธรรม ตลาดแบบใครดีใครได้แตกต่างจากตลาดแข่งขันนวัตกรรม ตลาดควรจะส่งเสริมการตัดสินผิดชอบชั่วดีด้วยจิตใจและความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือความยุติธรรมเป็นสัจจะเดียวกันทุกผู้คน[vii]

ในแง่นี้ โครงการซูเปอร์ลีกจึงสะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของความเป็นมนุษย์และตลาดได้อย่างน่าสนใจยิ่ง จริงอยู่ว่าในรอบนี้โครงการล้มพับไปแต่ก็น่าคิดว่า หากโครงการแบบซูเปอร์ลีกกลับมาใหม่ เป็นมติของทั้งแฟนบอล ผู้บริหาร นักเตะ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายให้พิจารณาโครงการนี้ ข้อถกเถียงเรื่องศีลธรรมของตลาดและกระบวนการแบบพหูพจน์น่าจะสนุกและเข้มข้นกว่าในรอบนี้เป็นแน่แท้


[i] ดูคอมเมนต์ของแกรี่ เนวิลล์ได้ที่นี่ 

[ii] ดูผลโพลได้ที่นี่ และที่นี่

[iii] ดูบทสัมภาษณ์ต่างๆ ของ Sandel ได้ในยูทูบ หรือหนังสือ ‘What Money Can’t Buy: The Moral Limits of Markets’ และ ‘The Tyranny of Merit: What’s Become of the Common Good?’ อยากเสริมข้อสังเกตว่าทำไมบ้านเราแปล ‘merit’ ว่า “บุญกุศล” แต่ meritocracy น่าจะแปลว่า ธรรมเนียมแบบใครดีใครได้? หรือว่าแปลได้หลายความหมาย? การรับรู้ภาษาเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง คำไทยกับคำภาษาอังกฤษหลายคำไม่สามารถเทียบกันได้ แต่กระนั้นก็ตาม merit ก็ไม่เพียงพอต่อความชอบธรรม ต้องใช้ความยุติธรรมในมนุษย์เป็นหลักใหญ่ 

Sandel เป็นนักศีลธรรม ที่ถูกเรียกว่า communitarian เขามีหนังสืออีกเล่มเรื่องความเกี่ยวพันของปรัชญาจีนขงจื้อกับแนวคิดตะวันตก https://plato.stanford.edu/entries/communitarianism/

[iv] ดูบทสนทนาระหว่าง Sandel กับ Mankiw เรื่องตลาดขายไต ผู้เขียนฟังเองแล้วก็รับไม่ค่อยได้กับจุดยืนของแมนคิวว์

[v] ดูหนังสือและคลาส justice อันโด่งดังมีคนดูคนฟังเป็นล้านของแซนเดลในวิดีโอนี้

[vi] ดูแนวคิดของ Kant ได้ที่นี่ 

[vii] ผู้เขียนแทรกแนวคิดแบบพวก European Enlightenment สมิธ ฮูม และคานท์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save