fbpx

ก่อนออกไปสู่โลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ชื่อเรื่องตอนนี้ ความจริงคนเขียนตั้งไว้เมื่อ 2 เดือนก่อนและลงมือเขียนไปบ้างแล้วพอสมควร แต่ค้างไว้ยังไม่เสร็จ เมื่อกลับมาอ่านใหม่ รู้สึกว่าที่เขียนไปยังไม่สู้จะเข้าท่า เลยม้วนเก็บขึ้นเพื่อรอแรงดลใจ แต่เมื่อเวลาคืบคลานไปพร้อมกับภารกิจใหม่ที่เลื่อนเข้ามาไม่ขาดสาย แรงดลใจดังว่านั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น จนวันก่อน เปิดคอมพ์ตัวเก่าไปเจอบทปัจฉิมนิเทศเมื่อ 9 ปีก่อน ที่คนเขียน/คนกล่าวนึกว่าหายสูญไปแล้วเหมือนกับแผ่นดิสก์เก็ตที่เคยใช้กันมาเมื่อหมื่นปีที่แล้ว ก่อนที่มันจะหายสูญไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อกระดานชนวนแบบใหม่ พร้อมกับระบบเก็บข้อมูลบนเมฆ เลื่อนเข้ามาแทนที่

บทปัจฉิมนิเทศนี้มีที่มาจากหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสำนักสามย่าน ซึ่งแต่ก่อน – คือหมายถึงช่วงที่ยังอยู่ในยุค old normal – มีกิจกรรมจัดประจำปีกิจกรรมหนึ่ง คือ กิจกรรมปัจฉิมนิเทศสำหรับว่าที่มหาบัณฑิตที่เรียนจบหมาดๆ เหลือแต่เพียงรอวันรับพระราชทานปริญญา ปีนั้นหลักสูตรฯ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมีเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์มากล่าวปัจฉิมนิเทศ ท่านกรุณาตอบรับด้วยความยินดี แต่แล้วเมื่อถึงวันสุกดิบ ท่านแจ้งเข้ามาว่ามีภารกิจสำคัญกะทันหัน ไม่อาจมากล่าวปัจฉิมนิเทศตามที่ตั้งใจไว้ได้  แต่เมื่อเวทีไม่อาจขาดผู้กล่าว เพราะงานได้จัดขึ้นแล้ว ในเวลาจวนเจียนหาใครมากล่าวแทนไม่ทัน ถึงเป็นคนไม่ชำนาญเวที แต่ในคราวจำเป็น ก็ต้องขึ้นไปขัดตาทัพ และเมื่อไม่ชำนาญ ก็ต้องรีบเขียนสิ่งที่คิดขึ้นได้ในเวลาเร่งด่วนเพื่อถือขึ้นเวทีไปด้วย

ตัวบทปัจฉิมนิเทศที่เก็บขึ้นมาได้จากคอมพ์ตัวเก่า เขียนไว้ด้วยภาษารุ่น old normal เมื่อย้อนอ่านใหม่อีกรอบ ก็เหมือนว่าได้เวลาที่ฝากไว้ในขวดแก้วกลับคืนมา แม้ว่าเวลาจริงไม่ใช่ของที่ย้อนคืนกลับได้ มีแต่ต้องเป็นปัจจุบันอยู่เรื่อยไป คนที่รู้เคล็ดลับและเล่ห์กลของเวลา เขาจึงเตือนว่าอย่าหวนหาอดีต อย่าคาดคั้นอนาคต

ในยาม new normal  ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรืออนาคต  ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ เราทั้งไม่หวนหาและทั้งไม่คาดคั้น เพราะสิ่งที่เราจะทำคือการนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่


นิสิตผู้เป็นว่าที่มหาบัณฑิตทุกท่าน[1]

วิทยากรที่เราตั้งใจเชิญ ท่านเกิดติดภารกิจสำคัญ ผมเลยต้องเชิญตัวเองมาขัดตาทัพรับทำหน้าที่กล่าวปัจฉิมนิเทศแทน แต่จากการที่เราคุ้นเคยกันมาสองปี จนมีประสบการณ์ที่ทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่น จึงอาจทำให้สิ่งที่ผมเตรียมจะพูดต่อไปนี้ มิได้เป็นของใหม่สำหรับท่านแต่อย่างใด ก็ขอให้ถือเสียว่าบทปัจฉิมกถาต่อไปนี้ เป็นการชวนให้ท่านคิดย้อนทบทวน ชวนให้ท่านคิดใคร่ครวญ ในสิ่งที่ท่านได้เรียนมาแล้ว –อันเป็นเรื่องที่ใครก็ตามที่อยู่ในสาขาวิชานี้รวมทั้งตัวผมเอง ย่อมต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนและเรียนรู้ในแบบเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันกับที่ท่านได้รับมา– ว่าสิ่งเหล่านั้น ความรู้เหล่านั้น วิธีการเหล่านั้น มีความหมายและให้ประโยชน์ที่จะนำไปใช้ต่อไปได้อย่างไรบ้าง?

          แต่ก่อนที่จะเริ่ม ผมเชื่อว่า ไม่ว่าผมจะพูดอะไรในเช้าวันนี้ ผมรู้ว่าในเวลาไม่นานนัก ท่านจะลืมมันไปอย่างรวดเร็ว อนาคตเรื่องนี้ผมสามารถพยากรณ์ได้อย่างมั่นใจว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ว่าท่านจะลืมมันไปอย่างรวดเร็วเพียงใด มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่อยากให้ท่านลืมเสียเลย คือความจำเป็นของการหาโอกาสเป็นบางครั้งบางคราวสำหรับการนั่งลงเงียบๆ เพื่อคิดใคร่ครวญและทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาของตนเอง เรื่องที่เราได้ทำไปชีวิตในแต่ละช่วงที่ผ่านมา สถานีชีวิตแต่ละแห่งที่เราเคลื่อนผ่านไป ผู้คนมากหน้า ที่เราได้ผ่านพบเพื่อผูกพัน หรือเพื่อจะผ่านเลยไป แล้วพิจารณาว่าทั้งหมดของชีวิตช่วงนั้นมีความหมายต่อตัวเราเองอย่างไร เพราะการจะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิต มิใช่เป็นเพียงจากการนับจำนวนเหตุดีร้ายที่เราผ่านพบมา หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองเท่านั้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือเราเก็บรับอะไรไว้จากเหตุการณ์เหล่านั้น หรือจากสิ่งที่เราประสบมานั้นได้ประทับรอยในใจ ในท่าทีวิธีคิด และในความหมายที่เราให้แก่ชีวิต จนทำให้เรากลายเป็นคนอย่างไร ในท่ามกลางการดำเนินไปของชีวิตที่จะแปรสภาวะของเราจาก being ไปสู่ becoming เสมอ ไม่มีหยุดนิ่ง

นอกจากนั้น การย้อนพินิจทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ก็เพื่อที่ว่าเราจะจัดอดีตส่วนนั้นไว้ตรงไหน ในความหมายแบบไหน  ก่อนที่เราจะเดินต่อไปข้างหน้าโดยไม่แบกอดีตอย่างเป็นภาระ แต่เป็นอดีตในฐานะของประสบการณ์ที่ให้พลัง และเพื่อจะทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปโดยมีความหวนนึกเสียใจในภายหลังน้อยลง ว่าตอนนั้นเราไม่น่าทำอย่างนี้ หรือน่าจะทำอย่างนั้น เพราะด้วยการย้อนพินิจทบทวนเช่นนี้เองที่จะทำให้เราประณีตกับการใช้ชีวิตมากขึ้น และจัดสัมพันธ์กับคนและภารกิจต่างๆ ทั้งที่เป็นหน้าที่ และที่เป็นความรักสมัครใจ ได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน

นิสิตทุกท่าน

เช้าวันนี้ ความจริงผมอยากนำเสนอแง่คิดทบทวนสิ่งที่ผมได้รับจากการอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าเป็น “ความรู้” ของสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมายาวนานพอสมควร นานจนปีหน้าจะครบสามสิบปีแล้ว แต่เนื่องจากงานนี้มิใช่งานเกษียณอายุราชการของผม ดังนั้น แทนที่จะผมพูดถึงเรื่องที่มาจากอายุงานสามสิบปี ขออนุญาตพูดเรื่องน่าเรียนรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้กับท่านทั้งหลายคงจะดีกว่า และท่านคงสนใจมากกว่าเป็นแน่

จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวิชาการเมื่อวาน ผมได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง

เมื่อวานนี้เราทำอะไร? และได้อะไร? สำหรับผมแล้วกิจกรรมเมื่อวาน และต้นทางที่นำไปสู่กิจกรรมของเมื่อวาน อันได้แก่การค้นคว้าวิจัยเพื่อทำสารนิพนธ์นั้น เป็นการฝึกกระบวนวิธีคิดในการแสวงหาและนำเสนอคำตอบต่อปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อวานหลักสูตรฯ จัดเวทีเพื่อเป็นโอกาสให้พวกเรานำเสนอคำตอบ ที่เป็นข้อค้นพบของสารนิพนธ์ของแต่ละคนในเวลาจำกัด เราจำกัดเวลาทั้งโดยความตั้งใจ และโดยความจำเป็นของโลกความเป็นจริง เพราะเวลาอันจำกัดเป็นเงื่อนไขชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การฝึกฝนใดๆ จึงล้วนเป็นการฝึกทำภายใต้ความจำกัดของเวลาเสมอ

สิ่งหนึ่งที่พวกเราหลายคนหรือทุกคนคงต้องฝึกฝนต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็คือ ในสถานการณ์ที่เรารู้ข้อมูลข้อเท็จจริงจำนวนมาก แต่เมื่อถูกบีบด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของเวลา ให้นำเสนอสาระสำคัญของความรู้และข้อค้นพบเหล่านั้นในเวลาอันสั้น จากข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ จำนวนมากที่มีอยู่นั้น เรารู้ที่จะเลือกและสังเคราะห์ส่วนสำคัญที่สุดมาประกอบเชื่อมโยงกัน จนแสดงประเด็นหลักที่เป็นข้อสมมุติฐานและคำตอบใจกลางต่อโจทย์วิจัยที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ อย่างไร

ผมทราบว่าพวกเราเตรียมการนำเสนอมาด้วยกรอบอย่างหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนและเวลาบีบรัดเข้ามา กรอบที่เราเตรียมมาไม่อาจใช้ได้เสียแล้ว แต่หลายคนยังคงพยายามยึดอยู่กับกรอบเดิมและการเตรียมการณ์แบบเดิม แทนที่จะเลือกจัดการกับข้อมูลชุดนั้นใหม่และปรับประมวลมันออกมาอีกแบบหนึ่ง เพื่อให้เหมาะสมกับกรอบเวลาใหม่ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากแผนที่วางไว้แต่แรก โดยไม่สูญเสียบูรณภาพของสารนิพนธ์และยังคงสามารถรักษาหัวใจของเรื่องที่ต้องการนำเสนอไว้ได้

แง่คิดที่ผมได้จากการนำเสนอเมื่อวาน มีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน

ข้อแรก ผมคงไม่จำเป็นต้องเน้น เพราะทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า การรู้จักปรับให้เหมาะสมกับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เราเลือกไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมได้ หรือควบคุมได้ แต่ไม่ทั้งหมด เป็นทักษะพื้นฐานของการมีชีวิตรอด แต่ชีวิตในทางสังคม ความยากยังอยู่ที่การปรับอย่างไรในเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลง โดยไม่สูญเสียสิ่งที่เป็นคุณค่าสาระหลัก โดยยังคงสามารถรักษา integrity ของสิ่งนั้น หรือจริงๆ ก็คือของตัวเราไว้ได้

ข้อที่สอง สิ่งที่ท่านมี ซึ่งในกรณีนี้ คือข้อมูลและข้อเท็จจริงจำนวนมาก ไม่สำคัญเท่ากับว่า ท่านทำอย่างไรกับสิ่งที่ท่านมี  ในชีวิตของท่าน นอกเหนือจากความรู้และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสมัยนี้เชื่อกันว่าเป็นที่มาของอำนาจมหาศาลแล้ว ท่านอาจจะมีหรือครอบครองทรัพยากรและคุณสมบัติต่างๆ หรือจะเป็นโทษสมบัติก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะมากก็ตาม น้อยก็ตาม ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น เงิน งบประมาณ คน ฐานสนับสนุนทางการเมือง ความคิด ความเชื่อ การยอมรับนับถือ แต่สิ่งทั้งหมดที่ท่านมีอยู่เหล่านี้ ล้วนเป็นแต่เพียงศักยภาพที่ยังมิได้นำออกใช้ ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ท่านจะผสมส่วนใช้สิ่งเหล่านี้อย่างไร และใช้มันทำอะไร อย่างไร

ชีวิตของคนเรา ความสำเร็จหรือล้มเหลว การที่ชีวิตจะตอบสนองความพึงพอใจให้แก่ท่านได้มากหรือน้อยเพียงใด คำกริยาที่สำคัญสำหรับ verb to be และการมีชีวิต มิใช่ verb to have แต่คือ verb to do 

นอกจากแง่คิด 2 ข้อที่กล่าวมาแล้ว ผมอยากเสนอว่า ในการสร้างความรู้ การค้นพบและนำเสนอคำตอบต่อปัญหาต่างๆ นั้นมีความสำคัญ ในแง่ที่ว่ามันจำเป็นต่อการขยายพรมแดนความรู้ออกไป แต่ในการเรียนรู้ ผมอยากบอกด้วยว่า การตั้งคำถามและกระบวนการคิดเพื่อหาทางตอบคำถาม มีความสำคัญกว่าตัวคำตอบสุดท้ายยิ่งนัก คำตอบสุดท้ายแบบสำเร็จรูป ต่อให้คำตอบนั้นถูกต้อง เป็นจริง หรือใช้การได้ดีเพียงใด แต่ถ้าคำตอบนั้นมิได้มาจากคำถามหรือปัญหาของเราเอง หรือเป็นผลของกระบวนวิธีคิดเพื่อหาทางตอบคำถามด้วยตัวของเราเอง พูดง่ายๆ คือมิได้มาจากปัญญาของเราเอง สุดท้ายแล้ว การรับหรือจำ หรือพึ่งพาใช้แต่คำตอบสำเร็จรูปขั้นสุดท้าย ก็จะกลายมาเป็นข้อจำกัดต่อการเรียนรู้ของเราในที่สุด และเราจะพบว่าคำตอบที่เป็นผลมาจากการตั้งคำถามหรือจากปัญหาของคนอื่น หรือเป็นผลมาจากการคิดหาทางตอบคำถามของคนอื่น ไม่อาจแก้ปัญหาของเราให้เราได้หมดทุกอย่าง

ยิ่งเมื่อคำนึงถึงความจริงที่ว่า คำตอบอาจมีอยู่สำหรับทุกๆ ปัญหา แต่ทุกๆ คำตอบต่างก็มีปัญหาใหม่รออยู่ด้วยทั้งสิ้น ถ้าเราไม่รู้คิดที่จะตั้งคำถามและฝึกฝนเรียนรู้การคิดหาคำตอบนั้นด้วยตัวเอง การยืมคำตอบสำเร็จรูปของคนอื่นมาใช้ตลอดไป ก็คงไม่ต่างอะไรกับการยืมจมูกคนอื่นหายใจ การไม่รู้แก้ปัญหาของตัวเองด้วยตัวเอง หรือรู้แต่ไม่ยอมลงมือแก้นั้น เป็นชีวิตที่น่าเศร้า ทั้งยังจะสร้างผลกระทบต่อคนอื่นที่ต้องเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย   

การเรียนขั้นสูงที่กำหนดให้ทำสารนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์คือวิธีการฝึกทางวิชาการให้เรารู้จักตั้งคำถาม และเรียนรู้วิธีการที่จะหาทางตอบคำถามนั้นด้วยตัวของเราเองได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงการหาทางตอบคำถาม หรือหาทางแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ตาม ผมอยากให้เราใส่ใจให้มากกับคำถามที่เราตั้ง หรือสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหา เพราะการมองปัญหาและวิธีการตั้งคำถามตั้งแต่แรกจะมีผลกำหนดคำตอบที่จะได้อยู่มากพอสมควร พูดสั้นๆได้ว่า การแก้ไขปัญหาใดๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะตั้งโจทย์หรือมองปัญหานั้นอย่างไร

แต่การจะมองปัญหาไปอย่างไร มิใช่อยู่เพียงแค่ว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดของเรื่องนี้มีอยู่อย่างไรเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับว่าข้อเท็จจริงใดมีความสำคัญ และอันใดเป็นแต่เพียงบริบทแวดล้อม แล้วเราจะแยกแยะส่วนที่สำคัญออกจากส่วนที่แวดล้อมอยู่อย่างไร รวมทั้งจะเชื่อมโยงข้อเท็จจริงเหล่านั้นเข้าหากันอย่างไร ด้วยกรอบใดหรือตรรกะเหตุผลแบบไหน ที่จะทำให้ลักษณะของปัญหาปรากฏตัวออกมาให้เราเห็น และเข้าใจว่ามันประกอบด้วยเงื่อนปมที่ถูกผูกไว้แบบใด ในระดับใด

ถ้ามองปัญหาด้วยกรอบที่แคบ การแก้ปัญหาก็จะมุ่งไปที่การตอบโจทย์เป็นส่วนๆ หรือแก้ไขปัญหานั้นๆ แบบแยกส่วน ซึ่งมิได้หมายความว่าแยกส่วนแล้วดีหรือไม่ดีโดยตัวมันเอง เพราะความหมายโดยตรงของการวิเคราะห์คือการแตกออกเป็นส่วนๆ เพื่อดูว่าแต่ละส่วนทำงานอย่างไร แต่พร้อมกันนั้น ก็ต้องให้ตระหนักว่าเรากำลังมองด้วยกรอบที่จำกัดอยู่อย่างไร และจากกรอบที่จำกัดนั้น พาให้เราเลือกพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงใด และทิ้งข้อใดเรื่องใดไว้นอกกรอบ โดยไม่ลืมว่าเรื่องที่ถูกทิ้งไว้นอกกรอบนั้น มันอาจกลับมามีความสำคัญถ้ามองด้วยกรอบแบบอื่นที่ต่างออกไป 

แต่ถ้ามองปัญหาด้วยกรอบใหญ่-กว้าง ที่พยายามผนวกเงื่อนปมให้ครอบคลุมทุกส่วน ก็อาจทำให้เห็นภาพรวมหรือองค์รวมของปัญหาได้ แต่การมองด้วยกรอบใหญ่ก็อาจทำให้เห็นว่าปัญหานี้ใหญ่โตเกินกว่าที่ใครโดยลำพังจะสามารถแก้ตก หรือควบคุมจัดการได้แต่เพียงคนเดียวฝ่ายเดียว แล้วเลยเป็นผลให้ทอดธุระ เพราะไม่รู้จะแก้ได้อย่างไร หรือมิเช่นนั้นก็รอโดยสารฟรี เมื่อมีหรือหวังให้มีคนอื่น ฝ่ายอื่นเข้ามาเป็นผู้แก้ไขปัญหานั้นให้

การมองจึงเป็นศิลปะสำคัญของการใช้ชีวิต ก่อนที่เราจะจากกัน ผมจึงหวังให้ท่านและขออวยพรให้ท่าน : รู้จักมองให้ดี แล้วจงเห็น

สุดท้ายเมื่อพวกเรามาเสาะหาวิชาในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมจึงขอพูดถึงคำสำคัญคำนี้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องอยู่ฟังผมไปอีกสองปี  ผมเพียงแต่อยากตั้งคำถามว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประกอบด้วยคำสามคำ ท่านคิดว่าคำทั้งสาม คำใดสำคัญที่สุด

ประเทศหรือรัฐ หรือความสัมพันธ์ เป็นคำที่มีความสำคัญยิ่ง สองปีที่ผ่านมาท่านคงได้เรียนรู้อะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิติต่างๆ ของคำสำคัญทั้งสองนี้

เช้าวันนี้ ผมอยากชวนท่านพิจารณาคำสำคัญ แต่มักถูกมองข้ามไป อันได้แก่คำว่า ระหว่าง ให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น ว่าสภาวะระหว่างของมนุษย์คืออะไร เกิดจากอะไร มีความหมายอย่างไรได้บ้าง ขอเสนอให้ท่านพิจารณาสภาวะระหว่างของมนุษย์ ในสองความหมาย

ความหมายแรก สภาวะระหว่างเกิดขึ้นจากสภาวะการรับรู้ของมนุษย์ ที่มีข้อจำกัด

ข้อจำกัดในการรับรู้ของมนุษย์ในด้านหนึ่งคือการรับรู้ความเป็นจริงจากโลกภายนอกเกิดขึ้นได้ก็โดยผ่านอายตนะที่แต่ละคนมี  การรับรู้ความเป็นจริงจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในตัวคนๆ หนึ่งจึงถูกกรองและปรุงแต่งโดยคุณสมบัติและคุณภาพหยาบประณีตของอายตนะทั้งหลาย ซึ่งแต่ละคนมีอยู่แตกต่างกัน  แต่อายตนะที่เป็นเครื่องรู้ทั้งหมดก็ล้วนจำกัดพิสัยการรับรู้ หรือแม้แต่สามารถลวงผู้เป็นเจ้าของได้เสมอกัน

และในอีกด้านหนึ่ง การจะสะท้อนความคิด ความเข้าใจ ความรู้สึกที่มีอยู่ในโลกภายในของตนเองออกไปให้คนอื่นที่สัมพันธ์อยู่ด้วยนั้น รับรู้ เข้าใจ เห็นใจ หรือยอมรับอย่างที่ตนต้องการ หรือความสามารถที่จะเข้าถึงหรือเข้าใจผู้อื่น ไปจนถึงเกิดความเห็นใจหรือมีความรู้สึกร่วมไปกับมุมมองความคิด หรือความสลับซับซ้อนภายในใจของผู้อื่น ฝ่ายอื่น ที่เรามิได้มีประสบการณ์แบบเดียวกันกับพวกเขาได้ ต้องอาศัยการสื่อความหมายจากภายในออกไปสู่โลกภายนอก โดยผ่านสิ่งที่เป็นสื่อกลาง คือภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษากาย ภาษาพูด หรือภาษาเขียน

แต่ภาษาและถ้อยคำที่มีอยู่ก็ไม่มีวันถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดหรือประสบการณ์ในใจของใครออกมาได้อย่างหมดจดครบถ้วนในทุกแง่ และในภาษาที่ใช้ถ่ายทอดออกมา เราไม่อาจหวังได้ว่าคนทุกคนจะเห็นอย่างที่เราเห็น หรือเข้าใจความหมายตามนัยที่เราต้องการได้ สิ่งที่คนอื่นเห็น ได้ยิน หรืออ่าน จริงๆ แล้วเป็นแต่เพียงสัญญะ ถ้อยคำหรือเนื้อความเท่านั้น หาใช่ตัวความรู้สึกนึกคิด หรือประสบการณ์ที่เป็นโลกภายในของเราโดยตรงไม่

แม้ว่าเราจะมีความจริงใจเพียงใด ก็ไม่มีอะไรจะเป็นหลักประกันแก่เราได้เลยว่า คนที่ได้ยินถ้อยคำที่เราพูด อ่านเนื้อความที่เราเขียน เห็นท่าทางที่เราใช้ จะมองผ่านคำ ความและท่าทางเหล่านั้นเลยเข้ามา จนเห็นและเข้าใจ จนสามารถร่วมรับรู้ในความหมายที่เราประสงค์จะสื่อออกไปได้อย่างเที่ยงตรง

ยิ่งไปกว่านั้น คำๆ หนึ่ง ยังถูกประจุไว้ด้วยความหมายจำนวนมาก จากการที่มันถูกนำไปใช้สื่อแสดงถึง หรือแทนค่าให้แก่สิ่งต่างๆ เราจึงมีคำให้เลือกใช้จำนวนมาก แต่ก็สั่งหรือคุมความหมายและนัยแฝงของมันให้นิ่งไม่ได้ หรือมิเช่นนั้น เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด บางครั้งเราก็ต้องการเพียงคำๆ เดียว แต่แม้จะเป็นเพียงคำเดียวที่ต้องการ บางทีเราก็หามันไม่พบ ในสถานการณ์เช่นนั้น สิ่งดีที่สุดที่เราจะทำได้ อาจคือการงันสงบอยู่ในความเงียบ

เมื่อเราเข้าถึงความจริงในโลกภายนอกไม่ได้โดยตรง และเราก็เข้าถึงโลกภายในของคนอื่นโดยตรงไม่ได้อีกเช่นกัน ความเข้าใจที่ตรงต้องกันระหว่างผู้คนด้วยการสื่อสาร และด้วยการรู้รับฟังกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น  อย่างน้อยก็เพื่อช่วยลดทอนภาวะอันโดดเดี่ยวของมนุษย์ที่แต่ละคนต่างถูกแยกขังไว้ในกายยาววาหนาคืบของตนเอง  

สภาวะระหว่างลักษณะที่สองของมนุษย์ คือสภาวะระหว่างการเดินทางของชีวิตจากจุดเริ่มต้นหนึ่ง ไปสู่เป้าหมาย หรือจุดหมายอีกที่หนึ่ง จุดหมายหรือเป้าหมายย่อมมีความสำคัญโดยตัวของมันเอง แต่สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่า และเป็นสิ่งกำหนดว่าท่านจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้หรือไม่ อยู่ที่วิธีการ และการใช้วิธีการเหล่านั้นกับผู้ร่วมทางหรือผ่านเข้ามาในเส้นทางของท่านอย่างไร รวมทั้งการรู้จักที่จะใส่ใจ ไม่เพียงแต่จุดหมายที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งอาจจะเลื่อนลอยถอยห่างออกไป หรือเขยิบสูงขึ้นไปอีกทุกครั้ง ที่ท่านบรรลุถึง แต่ยังรวมถึงการรู้จักชมและรื่นรมย์ไปกับกับทัศนียภาพและสัมพันธภาพระหว่างการเดินทาง

ผมคงไม่สามารถตัดสินแทนท่านทุกคนได้ว่า ระหว่างชีวิตที่ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายและจุดหมาย กับการใช้ชีวิตแบบที่ใส่ใจกับรายละเอียดระหว่างการเดินทาง อย่างไหนจะมีความสุขกว่ากัน ท่านคงต้องพิจารณาตัดสินใจด้วยตัวท่านเอง

แต่ในระหว่างการเริ่มต้นออกเดินทางอีกครั้งหนึ่งไปสู่จุดหมายใหม่ บนก้าวย่างที่ไม่มีทางกลับย้อน จนกว่าจะบรรลุถึงที่สุดของแต่ละคน ผมขอให้ทุกท่านเดินทางถึงจุดหมายนั้นโดยสวัสดิภาพ และรู้จักมองหาและมองเห็นแง่มุมอันรื่นรมย์ตลอดการเดินทาง

ขอบพระคุณครับ


[1] ปัจฉิมนิเทศนิสิตหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (แผน ข.) วันที่ 10 มิถุนายน 2555  โรงแรมทวารวดี จังหวัดปราจีนบุรี

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save