fbpx

ตัวการ์ตูนแห่งยุคปฏิวัติ 2475 ‘ขุนหมื่น’ ของ สวัสดิ์ จุฑะรพ

การ์ตูน 2475

ภาพวาดลายเส้นที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘การ์ตูน’ เริ่มปรากฏเค้าลางในสังคมไทยนับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 จนถึงต้นรัชกาลที่ 5 กระทั่งมาปรากฏเด่นชัดและเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 ในหลวงรัชสมัยนี้ทรงสนพระทัยในรูปล้อการเมืองจนใช้ฝีพระหัตถ์วาดรูปภาพเจ้านายและข้าราชบริพารเป็นลายเส้นการ์ตูน[1] และสมัยนี้เองที่เริ่มปรากฏ ‘การ์ตูนล้อการเมือง’ จากนักวาดสามัญชนคนไทย คือ เปล่ง ไตรปิ่น (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต มีอายุระหว่าง พ.ศ. 2428-2485)[2] พร้อมกับการเติบโตของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบที่เรียกว่า ‘ภาพวิจิตรประกอบเรื่อง’

เมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพียงไม่กี่เดือน บรรณพิภพการ์ตูนไทยได้ต้อนรับตัวละครน่ารักน่าชังตัวหนึ่งชื่อว่า ‘ขุนหมื่น’ ที่รับบทหลักสอดแทรกใน ‘การ์ตูนเล่าเรื่อง’ ด้วยแบบฉบับ ‘แถบการ์ตูนช่อง’ (Comic Strips) ที่ใส่ ‘วงคำพูด’ (Dialogue Balloon)


ขุนหมื่นถือพานรัฐธรรมนูญ ปกหนังสือห้างขายยาเต๊กเฮงหยู พ.ศ. 2477


กำเนิด ‘ขุนหมื่น’


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ นักวาดการ์ตูนหน้าใหม่อายุอานามเพียงยี่สิบเศษนามว่า สวัสดิ์ จุฑะรพ (พ.ศ. 2454-2493) เปิดตัวผลงานครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามหนุ่ม รายวัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (ฉบับแรก) วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2475 หน้า 15 ด้วยการเขียนกำกับใต้ภาพว่า ‘การ์ตูนเบ็ดเตล็ด เรื่อง ราษฎรมีสิทธิ์เท่ากัน’[3] (ในหนังสือของ นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ระบุชื่อเรื่องว่า ‘การ์ตูนปลัดเปด’) เป็นการนำเสนอตัวละครหลักชื่อว่าเปด “ผู้สังเกตการณ์การปฏิวัติ 2475 บนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร เขาเห็นเจ้าหน้าที่ยืนอยู่บนรถถังพร้อมประกาศคำมั่นสัญญาด้วยถ้อยแถลงที่ยากจะเข้าใจได้ว่าด้วยสิทธิเท่าเทียมของประชาชนทุกคน แต่เมื่อเปิดกลับถึงบ้านก็เจอกับภรรยาผู้เข้มงวดซึ่งไม่ยอมสละอำนาจของเธอ”[4]

ต่อมาการ์ตูนนี้ถูกแทนที่ด้วยเรื่อง ‘นักสืบข่าว’ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งน่าจะได้รับการขนานนามว่าเป็นการ์ตูนเรื่องยาวแบ่งเป็นตอนๆ เรื่องแรกของประเทศไทย ตัวเอกชื่อว่า ‘จอน’ ในการ์ตูนเรื่องนี้ดูเหมือนได้รับแรงบันดาลใจจากการ์ตูนของแอร์เฌ (Hergé) เรื่องตินตินผจญภัยในโซเวียต (Tintin in the Lang of the Soviets พ.ศ. 2472-2473) และ ตินตินบุกอเมริกา (Tintin in America)[5]

จะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรืออย่างไรมิแน่ชัด สวัสดิ์ได้หยุดเขียน ‘นักสืบข่าว’ แล้วเปลี่ยนมาเขียนการ์ตูนจากวรรณคดีไทยเรื่อง ‘พระไชยสุริยา’ ด้วยรูปแบบ 6-8 ช่องต่อหนึ่งตอนลงในหนังสือพิมพ์เดิม สยามหนุ่ม เริ่มเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2475 จำนวนกว่า 20 ตอน แต่ดำเนินเรื่องไม่จบ ต่อมาเขาย้ายค่ายไปเขียนการ์ตูนให้หนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง ของครอบครัววสุวัต ผู้ให้สนับสนุนผู้ก่อการปฏิวัติ 2475 ข้อนี้มักนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่าสวัสดิ์เขียนการ์ตูนนิทานพื้นบ้านเรื่องสังข์ทอง เป็นครั้งแรกลงในหนังสือพิมพ์รายวันสยามราษฎร์[6] แต่ข้อเท็จจริงคือเขาเขียนลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง

เขาใช้นามปากกา ‘ผล สรแสง’ วาดการ์ตูนชื่อเรื่อง ‘การ์ตูนสังข์ทอง’ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ‘ศรีกรุง’ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ก่อนพบว่าใช้ชื่อจริง ‘สวัสดิ์ จุฑะรพ’ แทนนามปากกา และเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น ‘ภาพตลกเรื่องสังข์ทอง’ ในเวลาต่อมา ด้วยการสร้างสรรค์กลวิธีในการนำเสนอแบบใหม่ด้วยการแทรกตัวละครที่ต่อมามีชื่อเคียงข้างผู้ให้กำเนิดตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของสวัสดิ์ ชื่อว่า ‘ขุนหมื่น’[7]


ขุนหมื่น จาก ศรีกรุง 29 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ปฏิทินเก่า)


ขุนหมื่น ตัวการ์ตูนแห่งยุคปฏิวัติ 2475


ประยูร จรรยาวงษ์ (พ.ศ. 2453-2535) เจ้าของฉายา ‘ราชาการ์ตูนไทย’ สหายรักของสวัสดิ์ จุฑะรพ กล่าวถึงตัวการ์ตูน ‘ขุนหมื่น’ ที่รังสรรค์โดยมิ่งมิตรของเขาไว้ว่า “ตัวละครที่เป็นตัวตลกเด่นที่สุดที่ติดปากของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในยุคนั้นคือ “ขุนหมื่น” ซึ่งขุนหมื่นตัวนี้ดัดแปลงมาจาก “ป๊อบอาย” ของฝรั่ง แต่เตี้ยกว่า ตัวขุนหมื่น คุณสวัสดิ์ได้บรรจุอุปนิสัยใจคอของตนลงไปไว้อย่างชัดแจ้ง เป็นต้นว่า ขี้โมโห และมักจะพบกรณีอุปัทวเหตุขันๆ หรือ พูดอะไรเปิ่นๆ ออกมาเสมอ สวัสดิ์ จุฑะรพ มักจะนำ “ขุนหมื่น” ของเขาไปเป็น “ยาดำ” สอดแทรกในท้องเรื่อง จักรๆ วงศ์ๆ ของเขาทุกเรื่อง โดยเป็นตัวประกอบนอกบัญชีทำนองตัวตลกของภาพยนตร์ไทยสมัยนี้ และด้วยเหตุนี้การ์ตูนของเขาแต่ละเรื่องจึงเพิ่มรสชาติขึ้นเป็นพิเศษอย่างมากด้วยความขบขันของบทขุนหมื่น ซึ่งมักจะต้องถูกกำหนดให้ทำอะไร “หมื่นๆ” ออกไปทุกที”

ถึงแม้ว่าโดยรูปลักษณ์ของขุนหมื่นจะคงเค้าเดิมจากต้นฉบับป๊อบอายไว้ด้วยตาหรี่ข้างหนึ่งกับคางยื่น แต่สวัสดิ์แต่งกายตัวการ์ตูนนี้ด้วยชุดไทยและหมวกทหารโบราณ[8] และแสดงทัศนะไว้ว่า

“การเขียนภาพตลกจากบทละคร ย่อมเป็นเช่นเดียวกันกับการเล่นละครตลก ละครตลกอาจมีกลเม็ดพลิกแพลงนอกเรื่องไปได้บ้างฉันใด การเขียนภาพก็เป็นไปได้ฉันนั้น แม้การแสดงภาพจะโลดโผนเพียงไร ก็ยังยึดหลักไว้ 2 ประการ คือมิให้เสียเนื้อเรื่องเดิม ประการหนึ่ง และถือเอาความสนุกขบขันเป็นใหญ่อีกประการหนึ่ง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ขอให้ท่านดูภาพเหมือนอย่างที่ท่านดูละครตลกเถิด”[9]


ขุนหมื่น ในฐานะ พรีเซนเตอร์ขายของ พ.ศ. 2477


ความนิยมของขุนหมื่นพอจะวัดได้จากการที่เขาได้รับงานเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์จำนวนมากของ ห้างขายยาเต๊กเฮงหยู เจ้าของเภสัชภัณฑ์ชื่อดังภายใต้แบรนด์สินค้า ตรากิเลน[10] ขุนหมื่นได้ขึ้นปกหนังสือประชาสัมพันธ์ของบริษัทยารายนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2477 ชื่อเล่มว่า ‘ขุนหมื่น ผจญภัย’ ด้วยอากัปกิริยาท่าเดินกระฉับกระเฉง มือซ้ายจับดาบฝรั่ง มือขวาถือ ‘พานแว่นฟ้าเทินรัฐธรรมนูญ’ เนื้อหาภายในเป็นการโฆษณาสรรพโอสถของบริษัท เช่น ทันใจ (ปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อ ‘ทัมใจ’), ขี้ผึ้งกิเลน, เดนตอล (รักษาฟัน), ยาธาตุ 4, วัน-วัน (ยาอม), โกโน-โน (กำจัดหนองใน) โดยจัดวางเรียงหน้าสลับการ์ตูนขุนหมื่นจำนวน 2 ช่องไว้ด้านซ้าย เภสัชภัณฑ์วางด้านขวา และปิดท้ายเล่มด้วยภาพนางสาวสยามปี พ.ศ. 2477 ‘กัญญา เทียนสว่าง’


“ขุนหมื่น เดินทาง” ในหนังสือรถไฟ ฉบับวันชาติ พ.ศ. 2486


ด้านหน่วยงานราชการ พบว่าขุนหมื่นได้รับเกียรติไปปรากฏตัวในหนังสือพิมพ์รถไฟฉบับวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2486[11] (ระยะสงคราม) ด้วยชื่อ ‘‘ขุนหมื่น’ เดินทาง’  ไว้ในภาควรรณกรรม ร่วมกับนักเขียนชื่อก้องแห่งยุคอีก 6 ท่าน 6 บทความ คือ ร.จันทพิมพ์ (สิทธิธัมชาติ), มาลัย ชูพินิจ (ค่าถ่ายคนรถไฟ), ยาขอบ (เพียงแต่จะเริ่มเขียนของ ‘ยาขอบ’), วิตต์ สุทธสเถียร (โอภาปราสัยบนรถสินค้า), ฮิวเมอริสต์ (รถดิน รถน้ำ รถลม รถไฟ) และเพื่อนรักของเขา ประยูร จรรยาวงษ์ ( วิพิธทัสนา นำโดย ‘สุขเล็ก’)


ปยุต เงากระจ่าง (ภาพจากหอภาพยนตร์)


ปยุต เงากระจ่าง (พ.ศ. 2472-2553) เจ้าของฉายา ‘บิดาแห่งแอนิเมชันไทย’[12] กล่าวถึงขุนหมื่นไว้ว่า “ผมผูกพันกับการ์ตูนเรื่องนี้มากจนอยากทำให้เป็นหนังการ์ตูนให้ได้สักวันหนึ่ง”  ถึงแม้ในการฝึกวาดภาพของเด็กชายปยุต ลวดลายที่วาดมักเป็นลวดลายหนังตะลุง ลวดลายไทย ลายกระหนก รูปคาวบอยบ้าง รูปเรือรบต่างๆ บ้าง “เด็กชายปยุตรู้จักการ์ตูนครั้งแรกจากหนังสือพิมพ์รายวันของไทยอย่าง “ขุนหมื่น” ของ คุณสวัสดิ์ จุฑะรพ เป็นตัวการ์ตูนแนวฝรั่งที่ปยุตประทับใจมากที่สุด หน้าตาเหมือนป๊อปอาย แต่งตัวแบบทหารไทย โผล่มาในการ์ตูนเรื่อง “สังข์ทอง” ตอนท้าวสามรใช้ให้ไปล่อเจ้าเงาะ ขุนหมื่นเลยใช้ดอกชบาล่อ ผู้คนติดใจในความทะเล้นช่างคิด ยิ่งมีบทบรรยายตลกสองแง่สองง่ามตามสมัยนิยม ประกอบกับช่วงนั้น คนนิยมเล่นละครชาตรี ตัวละครตามพระเอก อย่างขุนหมื่น ก็ยิ่งเป็นที่นิยมชมชื่นจนได้มีบทบาทต่อมาอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี ประวัติพระยอดเมืองขวาง ฯลฯ”[13]

นอกจากนี้ ปยุตยังเท้าความถึงขุนหมื่นเมื่อคราวรำลึกย้อนถึงอดีตราว พ.ศ. 2483 ครั้งนั้นเขายังเรียนมัธยมต้นที่บ้านเกิดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีโอกาสได้สนทนากับบุคคลนิรนามท่านหนึ่งโดยภายหลังจึงทราบว่าคือยอดศิลปินแห่งยุค ‘เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน’ ระหว่างคำพูดนั้น เด็กชายปยุตได้คุยว่า “ผมยังชอบเขียนการ์ตูน ผมเขียนเลียนแบบตัวขุนหมื่นของสวัสดิ์ จุฑะรพ เขียนตัวมิกกี้เมาส์ของดิสนีย์ ได้สบาย” (ผู้เขียนประทับใจบทความนี้มาก จึงขอแนะนำให้อ่านบทสัมภาษณ์เต็มนี้ในลิงก์นี้[14])

จุก เบี้ยวสกุล หรือ จุลศักดิ์ อมรเวช (พ.ศ. 2485-2547)[15] นักวาดการ์ตูนชื่อดังเสริมข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า สวัสดิ์ จุฑะรพ นับเป็นผู้บุกเบิกการ์ตูนเรื่องยาวขึ้นมาในเมืองไทย มีทั้งเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เช่น ‘พระสมุท’, ‘สังข์ทอง’, ‘ไกรทอง’, ‘สังข์ศิลปชัย’, ‘พระอภัยมณี’ ฯลฯ เรื่องชาดก เช่น ‘ชูชก’ เรื่องแต่งเอง เช่น ‘เมื่อแม่หม้าย’ ฯลฯ  ซึ่งแน่นอนอัตลักษณ์ในงานของสวัสดิ์ นอกเหนือจากลายเส้นที่ประณีตกับเนื้อเรื่องที่สนุกสนานแล้ว ‘ขุนหมื่น’ มักจะต้องปรากฏกายในผลงานแทบทุกชิ้นของเขาเสมอ

ต่อมาจึงมี คุณจำนงค์ รอดอริห์ เขียนการ์ตูนเรื่อง ‘ระเด่นลันได กับ พญาน้อยชมตลาด’ คุณฉันท์ สุวรรณะบุณย์ เขียนการ์ตูนชุด ‘ป๋องกับเปรียว’ ประกอบโคลงโลกนิติ มิพักต้องเอ่ยถึง ‘ราชันการ์ตูนไทย’ อย่างประยูร จรรยาวงษ์ เรื่องแรกที่สร้างชื่อคือ ‘จันทระโครบ’ และต่อมา ‘อาบูหะซัน’ จนถึง ‘ไกรทอง’ จนมีคนสามารถรวบรวมเรื่องยาวของประยูรที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มากถึง 34 เรื่อง[16]


แก้วหน้าม้า พ.ศ. 2483


ช่วงพุทธทศวรรษ พ.ศ. 2480 แวดวงการ์ตูนไทยนับว่ามีความคึกคักเมื่อหนังสือพิมพ์หลากหัวได้ให้พื้นที่หน้าในการนำเสนอสม่ำเสมอ เช่น ‘แก้วหน้าม้า’ และ ‘อาหรับราตรี’ ของ เดช ณ บางโคล่ (ประชาชาติรายวัน) ‘พระรถ’ และ ‘แม่โขง’ ของ ประยูร จรรยาวงษ์ (นิกรรายวัน) ‘เมฆอรุณ’ ของ ทัศนัย (ศรีกรุงรายวัน) รวมถึงเรื่อง ‘เมืองแม่หม้าย’ และ ‘เมืองพ่อหม้าย’ ของ สวัสดิ์ จุฑะรพ (ศรีกรุงรายวัน)[17]

จำเพาะ ‘เมืองแม่หม้าย’ จุก เบี้ยวสกุลเสริมเป็นเกร็ดไว้ว่า แม้ตัวการ์ตูนจะนุ่งน้อยห่มน้อย แต่เมื่ออยู่ในสมัยการปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กำลังชูนโยบายรัฐนิยม ‘มาลานำไทย’ “ตัวการ์ตูนหญิงใน เมืองแม่หม้าย จึงพากันใส่หมวกตามนโยบายท่านผู้นำไปด้วย”[18] ขณะที่มีเรื่องเล่าในทิศทางตรงกันข้ามว่าทางเจ้าหน้าที่เซนเซอร์เคยขอให้สวัสดิ์วาดตัวการ์ตูนสวมหมวกกระทั่งแก้แล้วแก้อีก จนถึงกับ “หักพู่กันยุติการเขียนการ์ตูนสมัยที่น่าขันไว้เพียงแค่นั้น”[19]

ภายหลังสวัสดิ์เสียชีวิตหลังสงครามโลกยุติราว 5 ปี มีผู้เขียนใช้นามปากกาว่า ‘ปราการ’ เขียนไว้อาลัยในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493 ว่า

“ภาพขุนหมื่นนี้ได้สร้างความหฤหรรษ์ให้คนทั่วเมืองไทยมาแล้ว และแม้ว่าตัวการ์ตูน “ขุนหมื่น” จะมีที่มาเกี่ยวกับกะลาสีป๊อปอายในเรื่องการ์ตูนฝรั่งก็ตาม แต่คุณสวัสดิ์ จุฑะรพ ได้สร้างขุนหมื่นให้เป็นตัวของขุนหมื่นเอง เป็นลักษณะของไทย มีลักษณะใกล้เคียงกับกะลาสีป๊อปอาย-สัญชาติฝรั่งน้อยเต็มที การบวกฝรั่งเข้ากับดั้งเดิมของไทยนี่เองเป็นความสำเร็จอันใหญ่ยิ่งของวงการเขียนการ์ตูนเมืองไทย แบบการ์ตูนที่คุณสวัสดิ์คิดสร้างขึ้น อาทิ ตัวเทวดา ตัวไพร่ และตัวผู้หญิง มีลักษณะของการแต่งตัวเฉพาะที่แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน กลายเป็นมาตรฐานของการ์ตูนไทย ซึ่งยังไม่มีใครสร้างให้ดีไปกว่าคุณสวัสดิ์ จุฑะรพ ได้”


ตอบหนูๆ โดย ขุนหมื่น


สวัสดิ์ยังนับเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ตัวละครของเขาพูดกันด้วยโวหารสัมผัส จดจำง่าย และมีอารมณ์ขันเสมอ สวัสดิ์เคยปรารภกับมิตรใกล้ชิดว่า “ผมเป็นคนรักเด็ก และอยากทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กๆ มีความสุข”[20] ดังนั้น ‘ขุนหมื่น’ นอกจากมาในรูปแบบของการ์ตูน ยังต้องแปลงร่างมาเขียนคอลัมน์ตอบคำถามเด็กๆ ชื่อว่า ‘ตอบหนู ๆ โดยขุนหมื่น’ ในหน้าหนังสือพิมพ์ชื่อว่า ดรุณเกษม


ป๊อปอาย และ มิคกี้เม้าส์ ฝีมือ วิตต์ สุทธเสถียร

 

ลิงกี้ ผู้ ขยี้ยักษ์ โดย วิตต์ สุทธเสถียร


อนึ่งพึงหมายเหตุประกอบไว้ว่ายุคนั้น ‘ขุนหมื่น’ มิใช่การ์ตูนเพียงตัวเดียวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากป๊อปอาย ขณะที่ขุนหมื่นกำลังโลดแล่นอยู่ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงนั้น ในวันที่ 3 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2475 (ปฏิทินเก่า) วิตต์ สุทธเสถียร (พ.ศ. 2460-2532) ด้วยวัยเพียง 14 ขวบเริ่มต้นใช้นามปากกา ‘วิตตมิน’ เขียนการ์ตูนช่องเผยแพร่และต่อมาพบการสอดแทรกป๊อปอายกับมิกกี้เม้าส์ในงานของเขา ก่อนจะพัฒนาผสมผสานตัวการ์ตูนทั้งสองตัวนี้เข้าด้วยกันแล้วให้ชื่อว่า ‘ลิงกี้ผู้ขยี้ยักษ์[21]‘ เมื่อ พ.ศ. 2478[22]


สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้ให้กำเนิด ‘ขุนหมื่น’


สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้ให้กำเนิด ขุนหมื่น
ภาพวาดสวัสดิ์ จุฑะรพ โดย ประยูร จรรยาวงษ์

 
เนื่องจากยังไม่พบว่ามีการจัดพิมพ์อนุสรณ์งานศพของ สวัสดิ์ จุฑะรพ หรือไม่อย่างไร? อาศัยเพียงคำบอกเล่าจากเพื่อนใกล้ชิดของเขาคือ ประยูร จรรยาวงษ์ ว่ายอดนักวาดภาพวิจิตรท่านนี้เกิดเมื่อ พ.ศ. 2454 ปีมะแม บ้านเรือนอยู่ย่านสี่แยกคอกวัวอันเป็นแหล่งของช่างทองและช่างแกะสลัก เข้าศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เมื่อสำเร็จมัธยม 6 แล้วจึงไปเรียนวาดเขียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ต่อด้วยเข้าโรงเรียนเพาะช่าง หลังจบการศึกษาเขากลับมาเจริญรอยตามบิดามารดาด้วยการเป็นช่างทองอยู่กับบ้าน[23]

แต่ประวัติการศึกษานี้มีเรื่องเล่าอีกฉบับหนึ่งที่ลักลั่นกันว่า ขณะสวัสดิ์เข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง “วิชาแรกที่ได้ทดลองเรียนคือวิชา “ลายไทย” และหลังจากเรียนได้เพียง 1 วัน เด็กหนุ่มผู้นี้ก็หายหน้าไปจากชั้นเรียนและจากโรงเรียนเพาะช่างไปตลอดกาล…โรงเรียนที่เขาเคยคิดว่าอยากจะเรียนวิชาที่ตนรักที่สุด การฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตนเองในโอกาสต่อมา จากการขีดๆ เขียนๆ บนกระดาษห่อของเขียวๆ แดงๆ ที่มีใช้อยู่ในยุคนั้น…”[24]

ประวัติการศึกษาของสวัสดิ์ในช่วงนี้คงต้องได้ค้นคว้ากันอีกต่อไป แต่ที่แน่ชัดคือหลังจากนั้นชื่อเสียงของเขาก็เริ่มโด่งดังขจรขจายจากการเขียนการ์ตูนลงในหนังสือพิมพ์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเฉพาะกับตัวการ์ตูน ‘ขุนหมื่น’


ถวิล จุฑะรพ ภริยา สวัสดิ์


สวัสดิ์ แต่งงานกับ ถวิล สวนรัตน์ ราว พ.ศ. 2478 ทั้งคู่ครองรักครองเรือนอย่างมีความสุขกับบุตรธิดา ทว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เขามีชีวิตดูโลกแสนสั้นเพียง 39 ปีก่อนอำลาไปด้วยวัณโรคเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 เกร็ดประวัติของเขายังพอหาอ่านได้จากหนังสืองานศพของคู่ชีวิตท่านนี้ที่มีชีวิตยืนยาวต่อมาอีก 40 ปี ประยูร จรรยาวงษ์ เขียนคำไว้อาลัยถึงสามีภริยาคู่นี้ไว้ในอนุสรณ์เล่มนี้ไว้ว่า

“ถ้าคุณสวัสดิ์ จุฑะรพ ไม่มีคุณถวิลเป็นคู่ชีวิต ผมว่างานการเขียนการ์ตูนอันยอดเยี่ยมด้วยฝีมือ และคำพูดจะไม่แนบเนียน ได้รับคนยกย่องนับถือจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ สะพานมอญมาเป็นประวัติกาล เช่นที่เป็นอยู่ในครั้งกระโน้น หลายต่อหลายครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปส่งคุณสวัสดิ์ จุฑะรพ ถึงบันไดบ้านพร้อมด้วยแอลกอฮอล์เต็มท้อง คุณถวิลจะยิ้มแย้มแจ่มใสออกมาประคองรับคุณสวัสดิ์ขึ้นเรือนโดยกิริยาอาการน่ารักสมเป็นแม่บ้านที่ใจเย็น และเห็นอกเห็นใจสามี ไม่มีกิริยาอาการกระฟัดกระเฟียด หรือต่อว่าต่อขานให้เป็นที่ร้าวฉานเหมือนคู่อื่นๆ ที่ผมเคยเห็นมา

ในเวลาปกติ คุณถวิล จุฑะรพ ก็จะรับภาระรบกับลูกๆ ห้าคน และงานบ้าน เป็นตั้งแต่คนใช้กระทั่งแม่บ้านพร้อมเสร็จ ด้วยรายได้ที่จำกัดจำเขี่ย คุณถวิล จุฑะรพ ไม่เคยมีปฏิกิริยาอึดอัดใจให้เป็นที่กระเทือนใจ แก่คุณสวัสดิ์เลยแม้แต่น้อย

ผมมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับครอบครัวคุณสวัสดิ์มานานปี เพราะสถานที่ชุมนุมของกลุ่มเรา ซึ่งมีคุณครูถนิม เลาหวิไล และคุณครูอบ ไชยวสุ เป็นหัวแถวอยู่ตึกแถวตรงข้ามกับแผงขายสลากกินแบ่งเดี๋ยวนี้ และทุกเย็นกระทั่งดึกเราก็ไปพบปะสังสรรค์กันที่นั่นเป็นประจำวันมิได้ขาด และบ้านคุณสวัสดิ์ จุฑะรพ ก็อยู่ใกล้กันนั่นเอง

หลังจากคุณสวัสดิ์ จุฑะรพ จากไปร่วม 40 ปี คุณถวิล จุฑะรพ ก็ปกครองลูกๆ ทุกคน ให้ได้รับความสุขความเจริญตามอัตภาพตลอดมาจนกระทั่งถึงโอกาสที่จะตามคุณสวัสดิ์ไป…”[25]


โต๊ะทำงานของสวัสดิ์


ก่อนหน้าคุณแม่ถวิลสิ้นไม่นาน เป็นเรื่องน่ายินดีว่าทางองค์การค้าของคุรุสภาได้ไปเยี่ยมเยียนเธอที่บ้านย่านบางลำพูเพื่อขออนุญาตนำผลงานของสวัสดิ์มาจัดพิมพ์ใหม่ และเสร็จทันมอบให้คู่ชีวิตเจ้าของผลงานชื่นชมอย่างฉิวเฉียด คือเรื่อง ‘พระอภัยมณี’ (กรกฎาคม พ.ศ. 2528) ที่จัดพิมพ์ขึ้นก่อนคุณแม่ถวิลลาโลกเพียงไม่กี่เดือน (มตะ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2528) ระหว่างดำเนินการจัดพิมพ์ ภริยายอดนักวาดการ์ตูนไทยท่านนี้ ยังเปิดโอกาสให้คณะผู้จัดพิมพ์เยี่ยมชมอุปกรณ์การวาดภาพของสามี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘โต๊ะ’ (ดูภาพประกอบ) ที่สวัสดิ์ จุฑะรพ ใช้สร้างสรรค์งานของเขา ซึ่งทางสำนักพิมพ์ได้ถ่ายรูปมาประกอบในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วย

ถาวร ชนะภัย ในฐานะหัวหน้าฝ่ายวิชาการองค์การค้าของคุรุสภาได้รับเกียรติให้เขียนคำไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งในหนังสืองานศพของคุณแม่ถวิล จุฑะรพ ณ ที่นี้ขอคัดบางส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับ ‘ขุนหมื่น’ ไว้ดังนี้

“ตัวละคร “ขุนหมื่น” ตัวการ์ตูนที่นักอ่านสมัยคุณสวัสดิ์ พากันสนใจติดตาม และตัวละคร “แม่อ้วน” ภรรยาขุนหมื่น ซึ่งนักอ่านทั่วไปเข้าใจและเห็นคล้อยกันว่า มีลักษณะละม้ายแม้นคุณสมถวิล สุภาพสตรีร่างอ้วน..ภรรยาสุดที่รักในชีวิตจริงของคุณสวัสดิ์ จุฑะรพ นั่นเอง ลูกมากๆ ของครอบครัว “ขุนหมื่น” ก็เหมือนกับลูกๆ ของคุณสวัสดิ์ และคุณสมถวิล ที่เป็นลูกชายหญิงที่น่ารักถึง 5 คน

ความเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ยอดเยี่ยม และความเป็นผู้ริเริ่มเขียนภาพการ์ตูนเป็นเรื่องยาว ขึ้นเป็นคนแรกในวงการเขียนภาพการ์ตูนของเมืองไทย จนประสบความสำเร็จสูงสุดของคุณสวัสดิ์ จุฑะรพ ก็เพราะแรงบันดาลใจจากสุภาพสตรีผู้เป็นภรรยาของยอดศิลปิน คือ คุณสมถวิล จุฑะรพ นี่เอง…”

หัวหน้าฝ่ายวิชาการท่านนี้ยังได้เล่าถึงโครงการจัดพิมพ์การ์ตูนของสวัสดิ์ครั้งนั้นไว้ในหนังสืองานศพเล่มเดียวกันนี้ว่า

“เมื่อองค์การค้าของคุรุสภา โดยฝ่ายวิชาการแสดงความปรารถนาที่จะอนุรักษ์ ผลงานอันเป็นอมตะของคุณสวัสดิ์ไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา โดยจะรวบรวมค้นหาต้นฉบับเก่าๆ ที่หลงเหลืออยู่มาจัดพิมพ์เป็นเล่มขึ้นใหม่นั้น ก็ได้รับความร่วมมือจากคุณสมถวิล และลูกๆ ด้วยดี

สุภาพสตรีผู้สูงอายุ แต่นุ่มนวลด้วยวาจาและกิริยาที่ออกมาให้การต้อนรับนักวิชาการที่ไปติดต่อในวันนั้นได้ให้ความประทับในความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า บ้านเก่าแก่อันเป็นบ้านพักอาศัยของครอบครัว “จุฑะรพ” ในซอยบวรรังษีแถวบางลำภูหลังนี้มีความหมาย มีอดีตที่ทรงคุณค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ และควรแก่การอนุรักษ์เครื่องใช้ไม้สอยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของคุณสวัสดิ์ จุฑะรพ นักเขียนการ์ตูนผู้มีฝีมือยอดเยี่ยมไว้ และคุณสมถวิล ก็ยังเก็บรักษาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโต๊ะไม้เก่าๆ ตัวหนึ่งที่เคยเป็นที่รองรับแขน มือ ที่บรรจงละเลงภาพโดยปลายพู่กัน ภาพแล้ว ภาพเล่า ด้วยความประณีต อ่อนช้อย และมีชีวิตชีวา โดยฝีมือของเจ้าของโต๊ะ คือคุณสวัสดิ์ผู้เป็นสามี

จนกระทั่งเมื่อผลงานชิ้นแรกที่องค์การค้าของคุรุสภาได้รวบรวมเป็นหนังสือภาพและการ์ตูนชุดอมตะเรื่อง “พระอภัยมณี” ของคุณสวัสดิ์ จุฑะรพ และจัดพิมพ์แล้วเสร็จ นักวิชาการจากฝ่ายวิชาการ ได้เอาผลงานพิมพ์ชิ้นนั้นไปมอบให้แก่ผู้ทรงลิขสิทธิ์ คือ คุณสมถวิล จุฑะรพ ที่บ้าน

เธอกำลังนอนป่วยอยู่ และไม่สามารถออกมาต้อนรับเหมือนครั้งแรก ได้ทราบมาเพียงว่า เธอเคยล้มป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในหัวใจตีบมาเมื่อประมาณ ปี 2520

แต่ถึงอย่างไร และอย่างน้อยที่สุด เธอก็ได้มีโอกาสชื่นชมผลงานของสามีที่ได้รวบรวมจัดพิมพ์เป็นเล่มขึ้นใหม่ล่าสุด อีกครั้งหนึ่ง และเป็นการได้ชื่นชมครั้งสุดท้ายในชีวิต เพราะหลังจากนั้นมินานก็ได้ทราบข่าวว่า คุณสมถวิล จุฑะรพ ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว

เสียดาย…และใจหายจริงๆ”[26]


ปก พระอภัยมณี ฉบับ พ.ศ. 2528

 

ขุนหมื่น ใน พระอภัยมณี


ระยะนั้น องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์หนังสือภาพและการ์ตูนชุดอมตะโดยบรรจุเรื่อง ‘พระอภัยมณี’ (กรกฎาคม พ.ศ. 2528 จำนวน 10,000 เล่ม) วางไว้อันดับหนึ่งแล้ว ต่อมาในซีรีส์นี้ยังได้จัดพิมพ์เพิ่มผลงานของสวัสดิ์อีก 2 เรื่อง คือ ‘พระสมุท’ [27] (สิงหาคม พ.ศ. 2528 จำนวน 10,000 เล่ม) และ ‘สังข์ทอง’  (พ.ศ. 2530 จำนวน 5,000 เล่ม) ถึงแม้จะเป็นเพียงบางส่วนของผลงานจำนวนมหาศาล แต่ก็นับเป็นคุณุปการอย่างสูงต่อวงการการ์ตูนไทย



(นอกเหนือจากงาน 3 เรื่องนี้ของสวัสดิ์ จุฑะรพ หนังสือการ์ตูนในชุดนี้ยังประกอบด้วย ‘หลวิชัย คาวี’ โดย ประยูร จรรยาวงษ์ 1 และ ‘วีรชนในประวัติศาสตร์ไทย’ กับ ‘สุดสาคร’โดย ปยุต เงากระจ่าง)


ส่งท้าย


 ป๊อปอาย (Popeye) ขณะกินผักเติมพลัง


ทุกวันนี้เรายังคงเห็นตัวการ์ตูนป๊อปอาย (Popeye)[28] กะลาสีเรือผู้เกิดก่อน ‘ขุนหมื่น’ เพียง 3 ปี (ชาตะ 17 มกราคม พ.ศ. 2472) โลดแล่นสร้างความบันเทิงให้ผู้คนร่วมสมัย[29] เขามีแฟนสาวร่างผอมชื่อโอลีฟ และพร้อมจะดิ่งเข้าช่วยเหลือเธอผู้เป็นที่รักทุกครั้งเมื่อได้รับพลังจากการกินผัก Spinach (มักจะแปลว่า ‘ผักโขม’ จนคุ้นเคย แต่บ้างก็ว่ามันคือ ‘ผักปวยเล้ง’![30]) มิพักต้องเอ่ยถึงของมูลค่าลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนที่ยังคงเป็นเรื่องราวกรณีศึกษาในวัยที่เขากำลังล่วงเข้าวัย 100 ขวบปี[31]

เมื่อกลับมามองในดินแดนตะวันออกอันไกลโพ้น สำมะหาอันใดจะนึกถึง ‘ขุนหมื่น’ ตัวการ์ตูนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกะลาสีเรือกล้ามโตของฝรั่ง รวมถึงศิลปินผู้ให้กำเนิด คือ ‘สวัสดิ์ จุฑะรพ’ ที่กล่าวได้ว่าล้วนถูกม่านหมอกแห่งกาลเวลากลบมิดสนิทเงียบพร้อมความทรงจำอันเลือนรางต่อการรับรู้ประวัติศาสตร์ปฏิวัติ 2475 ไปด้วยเช่นกัน

หวนรำลึกครั้งสวัสดิ์เสียชีวิตลงเพียง 2 วัน เมื่อวันที่ 31 มีนาคมศกนั้น ชมรมนักประพันธ์นัดที่เจ็ดมีการประชุม ได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมยืนไว้อาลัย 1 นาที ที่ประชุมเสนอให้ ประยูร จรรยาวงษ์ ลุกขึ้นเล่าเรื่องชีวิตและสังเขปประวัติ ความตอนสุดท้ายประยูรทิ้งไว้ว่า

“ตลอดเวลาที่คุ้นเคยกับคุณสวัสดิ์ ได้เห็นว่าเขาเป็นคนมักน้อย ในด้านฝีมือนั้นผมอยากจะขอกล่าวยืนยันว่าคุณสวัสดิ์เป็นนักเขียนการ์ตูนที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ซึ่งจะหามือขนาดนี้ในเมืองไทยไม่มีอีกแล้ว เส้นสายในการเขียนเขาก็มีชีวิต ภาพทุกภาพของเขาเต็มไปด้วยความประณีต ผมรู้สึกว่าเป็นที่น่าเสียดายสำหรับชาติเราเป็นอย่างมากที่สูญเสียคนอย่างเขาไปในครั้งนี้”


ภาพขุนหมื่น ถือโคมไฟ บนปกอนุสรณ์งานศพของ ถวิล จุฑะรพ ภริยาสวัสดิ์



[1] วรชาติ มีชูบท, ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ใน รัชกาลที่ 6, พ.ศ.2555, (สร้างสรรค์บุ๊คส์).

[2] ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร, 140 ปี “การ์ตูน” เมืองไทย (ประวัติและตำนาน พ.ศ.2417-2557), พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๖๑, (ศรีปัญญา), น.160.

[3] ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร, อ้างแล้ว, น.179.

[4] นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ผู้เขียน, ชนิดา อรวัฒนานนท์ ผู้แปล, การ์ตูนไทย ศิลปะ และ ประวัติศาสตร์, พ.ศ.2564, (ริเวอร์บุ๊คส์), น.31.

[5] นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ผู้เขียน, อ้างแล้ว, น.31.

[6] ถาวร ชนะภัย, หนังสือภาพและการ์ตูนชุดอมตะ อันดับที่ 1 พระอภัยมณี โดย สวัสดิ์ จุฑะรพ, พิมพ์รวมเล่มใหม่ครั้งแรก 2528, (องค์การค้าของคุรุสภา), คำนำ น.ก.

[7] นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ผู้เขียน, ชนิดา อรวัฒนานนท์ ผู้แปล, การ์ตูนไทย ศิลปะ และ ประวัติศาสตร์, พ.ศ.2564, (ริเวอร์บุ๊คส์), น.33.

[8] นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ผู้เขียน, อ้างแล้ว, น.35-36.

[9] สวัสดิ์ จุฑะรพ, สังข์ทอง, พ.ศ.2530, (องค์การค้าของคุรุสภา), น.คำนำ.

[10] บริษัท โอสถสภา จำกัด https://www.osotspa.com/new/th/about/index.php

[11] สวัสดิ์ จุฑะรพ, ขุนหมื่นเดินทาง, หนังสือพิมพ์รถไฟ ปีที่ 1 เล่มที่ 6 ฉบับวันชาติ มิถุนายน 2486, (โรงพิมพ์กรมรถไฟ), น.81-82.

[12] ปยุต เงากระจ่าง บิดาแห่งแอนิเมชันไทย https://artsandculture.google.com/story/sAXhQtVXnGgZWQ?hl=th

[13] อุบล สุทธนะ, คือชีวิต คือปยุต คือAnimation “วอล์ท ดิสนีย์ เมืองไทย” ปยุต เงากระจ่าง, พ.ศ.2549, (ซัมซิสเท็ม).

[14] จาก ปยุต เงากระจ่าง ถึง เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ผู้ส่งต่อความฝันให้เกิดหนังการ์ตูนไทย จุดเชื่อมต่อ https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/277

[15] จุก เบี้ยวสกุล เจ้าชายแห่งนิยายภาพไทย อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายจุลศักดิ์ อมรเวช เป็นกรณีพิเศษ ณ เมรุวัดพระธาตุหนองบัว จ.อุบลราชธานี 24 ตุลาคม พ.ศ.2547, (สมาคมการ์ตูนไทย).

[16] จุลศักดิ์ อมรเวช, ตำนานการ์ตูน LENGEND OF CARTOONS AND COMIC, พ.ศ.2544, (แสงดาว), น.40-42.

[17] ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร, 140 ปี “การ์ตูน” เมืองไทย (ประวัติและตำนาน พ.ศ.2417-2557), พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๖๑, (ศรีปัญญา), น.205-206.

[18] จุลศักดิ์ อมรเวช, ตำนานการ์ตูน LEGEND OF CARTOONS AND COMIC, พ.ศ.2544, (แสงดาว), น.43.

[19] ถาวร ชนะภัย, หนังสือภาพและการ์ตูนชุดอมตะ อันดับที่ 1 พระอภัยมณี โดย สวัสดิ์ จุฑะรพ, พิมพ์รวมเล่มใหม่ครั้งแรก 2528, (องค์การค้าของคุรุสภา), คำนำ น.ข.

[20] อ้างแล้ว, คำนำ น.ค.

[21] การ์ตูนของวิตต์ ใน อนุสรณ์งานเมรุ วิตต์ สุทธเสถียร ร วัดธาตุทอง วันที่ 18 พฤศจิกายน 2533, (โรงพิมพ์ด่านสุทธา), น.88-102.

[22]นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ผู้เขียน, อ้างแล้ว, น.38-39.

[23] ประยูร จรรยาวงษ์, “คุณสวัสดิ์ จุฑะรพ ในสายตาของ ประยูร จรรยาวงษ์”, พระสมุท, พ.ศ.2528.

[24] ถาวร ชนะภัย, หนังสือภาพและการ์ตูนชุดอมตะ อันดับที่ 1 พระอภัยมณี โดย สวัสดิ์ จุฑะรพ, พิมพ์รวมเล่มใหม่ครั้งแรก 2528, (องค์การค้าของคุรุสภา), คำนำ น.ก.

[25] ประยูร จรรยาวงษ์, คำไว้อาลัยใน อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่ถวิล จุฑะรพ ณ วัดตรีทศเทพวรวิหาร 5 มกราคม 2529, (14 การพิมพ์), น.18-19.

[26] ถาวร ชนะภัย, คำไว้อาลัยใน อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่ถวิล จุฑะรพ ณ วัดตรีทศเทพวรวิหาร 5 มกราคม 2529, (14 การพิมพ์), น.20-24.

[27] ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, 100 ปีการ์ตูนไทย (การ์ตูนที่รัก ลำดับที่ 10), พ.ศ.2556, (มติชน), น.17-25.

[28] ดูย่อหน้า  “อาจเป็นเพราะว่าตั้งแต่เด็กเรานั่นเราได้เห็นว่าในการ์ตูนเรื่อง ป๊อปอาย ตัวละครเอกอย่างป๊อปอายนั้นรับประทานผักที่มีชื่อว่า Spinach ซึ่งนั่นเป็นชื่อภาษาอังกฤษของผักปวยเล้ง ทว่ากลับมีการแปลผิดเป็นผักโขม จึงทำให้เราเข้าใจผิดกันมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว ผักโขมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Amaranth ในขณะที่ผักปวยเล้งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Spinach แต่ถึงแม้ว่าทั้งสองชนิดจะเป็นผักคนละอย่างกัน แต่ก็อยู่ในตระกูลเดียวกัน รวมทั้งมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกัน” อ้างอิง “ผักโขม ปวยเล้ง สองคู่หูตระกูลผัก แล้วคุณจะรักถ้าได้รู้คุณประโยชน์” จุดเชื่อมต่อ  https://health.kapook.com/view124852.html

[29] https://th.wikipedia.org/wiki/ป๊อปอาย

[30] Popeye https://www.britannica.com/topic/Popeye

[31] Pow! Popeye Loses Copyright Battle in Europe https://content.time.com/time/world/article/0,8599,1872225,00.html และ Raffaella Aghemo, Intellectual Property and the curious case of “Popeye” จุดเชื่อมต่อ https://medium.datadriveninvestor.com/intellectual-property-and-the-curious-case-of-popeye-1fb6932551e8


บทความนี้พิสูจน์อักษรโดย สุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save