fbpx

เสียน้ำตาที่คาเฟ่: จาก ‘ความฮา’ ถึง ‘ความเศร้า’ ในเงาความทรงจำของตลกคาเฟ่ไทย

หากหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปประมาณเกือบสามสิบกว่าปีก่อน คงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ได้ทัศนาจรยามค่ำคืนไปบนถนนเส้นเพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อดื่มกินและปล่อยเสียงหัวเราะไปกับการแสดงบนเวทีของตลกคาเฟ่ หรือไม่ก็คงจะมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย เดินเท้าเข้าร้านเช่าวิดีโอเพื่อไปเช่าตลับวิดีโอตลกมารับชมและปล่อยเสียงฮาจนขากรรไกรค้างอยู่ที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันนี้ตลกคาเฟ่จะเป็นเพียงความทรงจำสีจางของสังคมไทย แต่ก็อาจจะยังคงแจ่มชัดในเงาความทรงจำของใครหลายๆ คน ที่เคยได้ผ่านช่วงเวลาแห่งความทรงจำนั้น

คาเฟ่เป็นสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่รุ่งเรืองสุดขีดในช่วงทศวรรษ 2530 โดยมีจุดขายสำคัญคือเป็นร้าน/ห้องอาหารที่มีการจัดแสดงต่างๆ บนเวที เพื่อให้ผู้เข้ามาดื่มกินหลากหลายช่วงวัยได้รับชมดนตรี มายากล และที่สำคัญคือการแสดงตลกของคณะตลกต่างๆ ซึ่งเรียกกันว่า ‘ตลกคาเฟ่’

กำเนิดตลกคาเฟ่ในสังคมไทยเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างความซบเซาของวงการเพลงลูกทุ่งกับการเกิดขึ้นของธุรกิจคาเฟ่สมัยใหม่ เพราะแต่เดิมศิลปินตลกส่วนใหญ่จะประจำการอยู่กับวงดนตรีลูกทุ่ง เนื่องจากการแสดงตลกเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงโชว์ในคณะวงดนตรีลูกทุ่งที่ออกเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ ศิลปินตลกจำนวนมากในสังคมไทยจึงมีรากฐานมาจากคณะวงดนตรีลูกทุ่ง เช่น สีหนุ่ม เชิญยิ้ม เคยอยู่กับคณะวงลูกทุ่งดารา สุริยา ชินพันธ์, เทพ โพธิ์งาม เคยอยู่กับวงเพลิน พรมแดน, เด๋อ ดอกสะเดาเคยอยู่กับวงระพิน ภูไท, หม่ำ จ๊กมกเคยอยู่กับวงสดใส รุ่งโพธิ์ทอง รวมถึงโชคชัย โชคอนันต์ เกรียงไกร กรุงสยาม หรือ โหน่ง ชะชะช่า ก็เคยอยู่กับวงของศรชัย เมฆวิเชียรและสายัณห์ สัญญา

ทว่าเมื่อวงการเพลงลูกทุ่งเข้าสู่ช่วงขาลงในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ถึงทศวรรษ 2530 ก็เป็นจังหวะพอดีที่นักธุรกิจร้านอาหารชื่อ ‘บุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล’ มีความคิดที่จะทำธุรกิจสถานบันเทิงคาเฟ่แบบเต็มตัวในชื่อ ‘ดาราคาเฟ่’ และ ‘วิลล่าคาเฟ่’ โดยสร้างจุดขายด้วยการจ้างคณะศิลปินตลกที่มีชื่อเสียงมาทำการแสดง ซึ่งผลปรากฏว่าธุรกิจประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถเรียกเสียงฮาจากลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงกำไรในทางธุรกิจ โดยจากบทสัมภาษณ์ของ ‘เฮียเลี้ยง’ บุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล ในปี 2539 ถือเป็นภาพสะท้อนยุคสมัยตลกคาเฟ่ได้อย่างชัดเจน โดยเฮียเลี้ยงเล่าว่า            

“จุดเริ่มต้นที่เอาตลกเข้ามาเล่น ก็เพราะเมื่อศึกษาข้อมูลการตลาดศิลปินกลุ่มนี้ คาดว่าอนาคตต้องเป็นที่ยอมรับ แต่ตอนที่ทำยังไม่มีใครในวงการยอมรับ ในทีวีก็ยังไม่ดัง ฉะนั้นสื่อทีวี วิดีโอ ที่เรายัดเยียดปีหนึ่งๆ จึงหมดไปหลายสิบล้าน…  ที่นี่ลูกค้ามาจากทุกภาค ต่างประเทศก็มี กลายเป็นความฝังใจของลูกค้าว่านี่คือเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ เป็นจุดนัดพบของคนทั่วไป…”

แน่นอนว่าความสำเร็จธุรกิจคาเฟ่ของ ‘เฮียเลี้ยง’ สอดคล้องไปกับบริบทการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในช่วงทศวรรษ 2530 เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของไทยให้พุ่งทะยาน ซึ่งเมื่อสภาพเศรษฐกิจเฟื่องฟูก็ส่งผลให้คนมีรายได้สูงขึ้น จากที่เคยนอนขดอยู่ในห้องแถวตามย่านเก่าๆ ในกรุงเทพฯ ก็ขยับขยายไปซื้อบ้านจัดสรรตามหมู่บ้านชานเมือง ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟูตามมา สัมพันธ์ไปถึงการเจริญเติบอย่างไม่หยุดยั้งในภาคอุตสาหกรรม จนทำให้มีการคาดการณ์กันว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น ‘เสือตัวที่ 5’ ของเอเชีย

ในบริบทที่อัตราการเติบโตราวกับบั้งไฟพญานาคที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ส่งผลให้คนจำนวนมากในภาคเอกชนได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนสูงขึ้นไปด้วย และเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินตราในประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งเสริมการจัดตั้งสถานบันเทิงอย่างเสรี ซึ่งเมื่อคนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ค่านิยมและวัฒนธรรมความสุขก็เปลี่ยนไป จากที่เคยนอนฟังรายการเพลงทางวิทยุที่บ้าน ก็ออกมาท่องเที่ยวผ่อนคลายชีวิตตามศูนย์การค้า ผับบาร์ และคาเฟ่

ความสำเร็จของวิลล่าคาเฟ่และดาราคาเฟ่ ส่งผลให้สถานบันเทิงคาเฟ่ในเมืองไทยผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในฤดูฝน ไม่ว่าจะเป็นธนบุรีคาเฟ่ อรุณอัมรินทร์คาเฟ่ ดอกไม้ป่าคาเฟ่  นภาลัยคาเฟ่ และที่สำคัญคือ ‘พระรามเก้าคาเฟ่’ ของสมยศ สุธางค์กูร ซึ่งในด้านหนึ่งก็ส่งผลให้เกิดคณะตลกและศิลปินตลกทั้งรุ่นเก่าและใหม่ที่มีเชื่อเสียงตามมาอย่างมากมายเพื่อรองรับธุรกิจ เช่น เทพ โพธิ์งาม ดู๋ ดอกกระโดน  ดี๋ ดอกมะดัน  เด่น ดอกประดู๋  ดอน จมูกบาน กลุ่มตลกคณะเชิญยิ้ม (โน้ต, เป็ด, ศรีหนุ่ม) กลุ่มคณะชวนชื่น เอ็ดดี้ ผีน่ารัก หม่ำ จ๊กมก ฯลฯ

สำหรับนักท่องเที่ยวยามราตรี ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ รวมไปถึงแถบฝั่งธนฯ และบุคคโล กลายเป็นถนนแห่งความบันเทิงยามค่ำคืนสำหรับทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาเสี่ย อาเฮีย นักร้องคาเฟ่ นักดนตรี เด็กเสิร์ฟ เด็กรับรถ เด็กสับคอแขกในห้องน้ำ ไปจนถึงบรรดาแมงดาแมน จนกล่าวกันว่า “น้ำในอ่างที่เพชรบุรีตัดใหม่ไม่เคยหยุดไหล”

กระนั้น มิใช่เพียงน้ำในอ่าง แต่น้ำในตาของคนจำนวนไม่น้อยก็คงจะไหลที่นี่ ไม่ว่าจะมาจากน้ำตาที่เสียไปให้กับเสียงหัวเราะจากคณะตลก หรือเสียไปเพราะความเศร้าที่ถูกนักร้องสาวคาเฟ่หักอก ดังปรากฏเป็นเรื่องราวในเพลงดังอย่าง ‘เสียน้ำตาที่คาเฟ่’ ของ ศรเพชร ศรสุพรรณ ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่ง ที่หญิงสาว “ได้งานเด่น เป็นนักร้อง อยู่ห้องอาหาร” แต่แล้วความรักก็ต้องกลายเป็นความเศร้า จนถึงขนาดที่ว่าสำหรับชายหนุ่มแล้ว “พอเห็นคาเฟ่ ใจฉันเขวอกสั่นขวัญหาย” เพราะว่า

“มาวันหนึ่ง ฉันบึ่งเข้าห้องอาหาร เพื่อรับเธอกลับบ้าน วันนั้นฉันจึงได้เจอ

มีแขกใจใหญ่ คล้องมาลัยให้เธอ สุดท้ายเล่าเออ เธอหลงเห่อตามเขาไป

ความรักเอย ก็เลยเป็นน้ำตา เสียเวลา ต้องกลับมาเสียใจ

พอเห็นคาเฟ่ ใจฉันเขวอกสั่นขวัญหาย ปวดร้าวทรวงใน ยังเสียวหัวใจไม่ ลืมมมมมม”

เช่นเดียวกับเพลงดัง ‘อกหักจากคาเฟ่’ ของ สายัณห์ นิรันดร ผลงานประพันธ์โดยครูสลา คุณวุฒิ ที่เริ่มต้นเพลงมาความเศร้าก็ปรากฏเสียแล้ว ดังว่า

“ลืมแขกโต๊ะสี่ แล้วหรือคนดีชื่อเก๋ นักร้องคาเฟ่ ที่เคยนั่งคุยคืนนั้น”

ความรุ่งเรืองของยุคคาเฟ่และตลกคาเฟ่ ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจบันเทิงอย่างรายการโทรทัศน์และการบันทึกเป็นวิดีโอให้ผู้ชมต่างจังหวัดได้รับชม โดยในส่วนของรายการโทรทัศน์ ตลกได้กลายเป็นรูปแบบสำคัญของทั้งรายการประเภทวาไรตี้และเกมส์โชว์ ซึ่งสำหรับผู้ชมเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนย่อมต้องคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับรายการอย่าง ‘ทไวไลท์โชว์’ ของ ‘ต๋อย’ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ทางช่อง 3 ที่นำเอาคณะตลกดังๆ มาเล่นออกทีวีทุกวันเสาร์ เช่นเดียวกับหลายรายการเกมส์โชว์ของ JSL ก็มักมีศิลปินตลกเป็นพิธีกรหรือแขกรับเชิญมาเรียกเสียงฮาจากผู้ชม และที่สำคัญได้แก่ รายการ ชิงร้อยชิงล้าน ฮากลางแดด และระเบิดเถิดเทิง ของ ปัญญา นิรันดร์กุล ที่นำเอาดาวตลกอย่างหม่ำ จ๊กมก เอ็ดดี้ ผีน่ารัก และหนู เชิญยิ้ม มาเป็นตัวชูโรงเรียกเสียงหัวเราะในรายการช่วงยุคสมัยแรกๆ ก่อนภายหลังต่อมาจะได้ตู้ เชิญยิ้ม (เท่ง เถิดเทิง) และโหน่ง เชิญยิ้ม (โหน่ง ชะชะช่า) มาสมบทจนกลายเป็น ‘แก๊ง 3 ช่า’ ตำนานแก๊งตลกทีวีในปัจจุบัน

ในขณะที่ธุรกิจเช่าวิดีโอตลก ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน สำหรับผู้เขียนที่เป็นเด็กต่างจังหวัดแล้ว ภาพการนั่งรถเข้าไปในตลาดตัวอำเภอ เพื่อเช่าวิดีโอตลกคาเฟ่มาดู ยังคงเป็นความทรงจำราวกับกลิ่นจากดอกของต้นตีนเป็ด (พญาสัตบรรณ) ที่ติดอยู่ที่ปลายจมูกในช่วงหน้าหนาว ประโยคจากบรรดาตลกที่เล่นทั้งในวิลล่าคาเฟ่ หรือ กรุงธนคาเฟ่ มักชอบพูดกันว่า “เอาตลกมาใส่ตลับ” โดยเฮียหนวด โยโกะ รวมไปถึงภาพผู้คนและลูกเด็กเล็กแดงจำนวนมากที่มานั่งหน้าเวทีดู ‘จี้เส้นคอนเสิร์ต’ ที่เมอร์รี่คิง รังสิต ล้วนคือความทรงจำในวัยเยาว์แห่งช่วงเวลาของชีวิตที่ร้อยยิ้มและเสียงหัวเราะอันปราศจากซึ่งเล่ห์กลภายใต้หน้ากากมนุษย์

กล่าวได้ว่าทศวรรษ 2530 ถือเป็น ‘ยุคทอง’ ของตลกคาเฟ่ไทย มีคณะตลกและศิลปินตลกในเมืองไทยกำเนิดเกิดขึ้นอย่างมากมาย และอาชีพตลกกลายเป็นธุรกิจที่เต็มไปด้วยชื่อเสียงและเงินทอง ดังคำบอกเล่าย้อนความทรงจำของกล้วย เชิญยิ้ม ที่เคยเล่าถึงภาพความรุ่งเรืองของตลกคาเฟ่ว่า

“ในส่วนตัวผมคิดว่าประมาณปี 2535-2540 คาเฟ่ที่ดังๆ ถ้าฝั่งพระนครก็มี พระราม 9 วิลล่าดารา แต่ถ้าเป็นฝั่งธนก็เป็น ธนบุรีคาเฟ่… สำหรับผม ผมถือว่าเป็นรายได้ที่ดีขนาดที่เราซื้อบ้านในราคา 5-6 ล้านแล้วสามารถผ่อนหมดได้ภายใน 2 ปี…ถ้างกหน่อยก็เป็น 10-12 ที่เลยนะ อันนี้คือไม่ค่อยเอาคุณภาพเท่าไรนะ เน้นเอาปริมาณเยอะๆ แต่ว่าส่วนใหญ่เราคงไม่เอาเปรียบคนดู ไม่เอาเปรียบผู้จ้างขนาดนั้น ส่วนตัวผมนะ ซัก 7-8 ที่ก็ตึงแล้ว…”

ขณะที่ศิลปินตลกกับมุกปากเหม็นในตำนานอย่างถั่วแระ เชิญยิ้มก็เล่าว่า

“สมัยรุ่งเรืองอยู่ในยุคของเฮียเลี้ยง (บุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล) เฮียสมยศ (สมยศ สุธางค์กูร) เป็นยุคทองของตลกจริงๆ มีคาเฟ่ดังๆ เกิดขึ้นมามากมาย เช่น พระราม 9 คาเฟ่ กรุงธนคาเฟ่ เรียกว่าอู้ฟู่สุดๆ…ไม่เคยมีรถขับก็มี ไม่เคยมีบ้านก็มีบ้านอยู่ พูดคำเดียวว่าอะไรที่ไม่เคยมีก็มี หนี้สินก็หายหมด รวยไม่รวยไม่รู้เเต่มีกินมีใช้สบาย”

แต่ทว่าเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2540 พายุแห่งความเปลี่ยนแปลงก็พัดโหมวงการธุรกิจคาเฟ่ เริ่มตั้งแต่การเสียชีวิตของ ‘เฮียเลี้ยง’ ที่ได้รับการยกย่องในวงการว่าเป็น ‘เจ้าพ่อคาเฟ่’ ตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2541 ซึ่งส่งผลให้บุคคลสำคัญที่คอยกระตุ้นและสนับสนุนวงการตลกคาเฟ่ขาดหายไปทันที

แม้ตลกจะยังคงมีคาเฟ่อื่นๆ ขึ้นแสดงอยู่ แต่เมื่อพายุเศรษฐกิจจากวิกฤตต้มยำกุ้งในช่วงปี 2540 สาดโหมสังคมไทย จนทำให้สุดท้าย ไม่เพียงแต่การจะกลายเป็น ‘เสือตัวที่ 5’ ของเอเชีย แม้แต่การจะเป็น ‘เสือ 11 ตัว’ ก็ยังมิอาจเป็นได้ วิกฤตต้มยำกุ้งส่งผลให้ผู้คนโดยเฉพาะในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เคยเป็นท่อน้ำเลี้ยงเงินตราหลักของธุรกิจตลกคาเฟ่ต้องตัดสินใจเดินทางกลับบ้านนอกต่างจังหวัด หรือไม่ก็กลายเป็นพ่อบ้านที่ดีนอนอยู่ที่บ้านกับเมียและลูกมากกว่าจะออกเที่ยวคาเฟ่ดังแต่ก่อน รวมทั้งสุดท้าย เมื่อรัฐบาลออกมาตรการทางกฎหมายจัดระเบียบสังคมในการจำกัดเวลาปิดของสถานบริการและร้านเหล้าไม่เกิน 02.00 น. และคนจะเข้าสถานบริการได้ต้องมีอายุต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี ก็เหมือนเป็นการเซ็นใบมรณบัตรให้กับคาเฟ่ตลกทันที

พายุความเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษ 2540 ส่งผลให้ศิลปินตลกหลายคนต้องปรับตัว โดยเฉพาะเมื่อที่ทำมาหากินอย่างคาเฟ่ ต่างต้องค่อยๆ ปิดตัวลง และพื้นที่ทำมาหากินต่อมาอย่างร้านหมูกระทะ บรรยากาศความรุ่งเรืองและรายก็ได้เทียบมิได้เลยกับยุคคาเฟ่ ขณะที่พื้นในวงการโทรทัศน์ก็ดูจะไม่กว้างใหญ่เพียงพอกับศิลปินตลกที่มีจำนวนมาก

สำหรับบรรดาศิลปินตลกที่เข้ามาเบิกทางในวงการทีวีอยู่ก่อนแล้วอย่างกลุ่มของเป็ด โน้ต โย่ง และศรีหนุ่ม เชิญยิ้ม รวมถึงแก๊งสามช่าอย่าง หม่ำ เท่ง โหน่ง รอดตัวจากพายุความเปลี่ยนแปลงมาได้อย่างปลอดภัย เช่นเดียวกลุ่มตลกคาเฟ่อย่าง ค่อม แจ๊ซ แอนนา ชวนชื่น โก๊ะตี๋ ผีน่ารัก จตุรงค์ มกจ๊ก รวมไปถึงบอล เชิญยิ้ม หรือโรเบิร์ต สายควัน ที่มีผลงานทางหน้าจอภาพยนตร์และโทรทัศน์ในช่วงทศวรรษ 2560 อันที่จริงแล้ว อาจจะเรียกได้ว่าพวกเขาคือบรรดาตลกในโบกี้ท้ายขบวนของรถไฟเที่ยวสุดท้ายแห่งยุคทองตลกคาเฟ่ ที่ยังเหลือรอดมาสู่ยุคสมัยปัจจุบัน ภายหลังการล่มสลายของยุคทองตลกคาเฟ่

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือท่ามกลางกลุ่มตลกคาเฟ่ที่ยังเหลืออยู่พอให้แฟนๆ ในปัจจุบันได้เห็นได้รับชม อีกฝั่งของท้องฟ้าก็มีศิลปินตลกคาเฟ่จำนวนมากที่ได้ล้มหายตายไปจากวงการตลก และดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่มีวันหวนคืนกลับมาเรียกเสียงฮาจากแขกและผู้ชมอีกแล้ว เหลือไว้แต่เพียงการปรากฏข่าว ‘อดีตตลกดัง’ เจ็บป่วย หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นๆ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับภาพของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ชอบเช่าวิดีโอตลกมาดู เพื่อจำมุกตลกของตลกดังอย่างหนู เชิญยิ้ม ไปเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน ก็ได้กลายเป็นเพียงเงาของความทรงจำให้หวนไว้คิดถึงราวกับการนอนคิดถึงลมหนาวในหน้าร้อน เท่านั้น.

เอกสารอ้างอิง

คริส  เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2559). ประวัติไทยร่วมสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:มติชน.

บุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล: เบื้องหลังราตรีนี้มีแต่เสียงหัวเราะ, ใน ศิลปวัฒนธรรมปีที่ 17 ฉบับที่ 9 (กรกฏาคม, 2539)

ไขปริศนา! ‘สมยศ สุธางค์กูร’ แบนคณะเชิญยิ้ม สู่บทอวสานตลกคาเฟ่ไทย, ใน https://www.thairath.co.th/content/508534

ไม่เคยไปต้องดู? ย้อน 5 คาเฟ่ดังในตำนาน แหล่งบันเทิงรุ่นคุณพ่อ ฮากระจาย!, ในhttps://www.thairath.co.th/content/508550

“ผมเบื่อวงการตลกเหลือเกิน” ถั่วเเระ เชิญยิ้ม, ใน https://www.posttoday.com/politic/report/390465

สำนักข่าวไทย อสมท, “ข่าวดังข้ามเวลา ตอน ปลิดชีพเจ้าพ่อคาเฟ่ บุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล”, ใน

https://www.youtube.com/watch?v=AATUvO1FcRU

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save