fbpx

‘ใจจำลอง’ พี่ต้องคอยร่ำร้อง เพราะน้องไม่เคยจริงใจ

จะว่าไป ปี 2021 ก็นับเป็นปีที่คึกคักในแวดวงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสำหรับผลงานหนังของผู้กำกับไทยอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่หนังเรื่อง One for the Road (2021) ของผู้กำกับ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ได้ฉายประกวดในสายหนังนานาชาติที่เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ถัดมาเทศกาลหนังร็อตเตอร์ดัมก็เชิญให้ ‘พญาโศก พิโยคค่ำ’ (2021) โดยผู้กำกับ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ร่วมประกวด ส่วนเทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินก็มีทั้ง ‘ใจจำลอง’ (2021) ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ และ ‘พลอย’ (2021) ของ ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ฉายโชว์ในสาย Forum สำหรับหนังที่มีน้ำเสียงทดลองแปลกใหม่ ไปที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หนังเรื่อง memoria (2021) ของผู้กำกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็ได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ และได้รับรางวัล Jury Prize ไล่มาถึงเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส ‘เวลา’ (2021) โดย จักรวาล นิลธำรงค์ ก็ได้ประกวดในสาย Orizzonti ปิดท้ายด้วยสารคดีเรื่อง ‘มรณสติ’ ของสองผู้กำกับ ธัญสก พันสิทธิวรกุล และ พัศรวินทน์ กุลสมบูรณ์ ก็ได้เข้าประกวดที่เทศกาล Doclisboa ประเทศโปรตุเกสด้วย สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของทั้งรูปแบบและเนื้อหาของบรรดาผู้กำกับหนังสัญชาติไทย ซึ่งแต่ละเรื่องจะถูกจริตตรงใจผู้ชมแต่ละรายหรือไม่ก็คงต้องติดตามชมแล้วมาวิพากษ์วิจารณ์กัน

ในขณะที่หนังเรื่องอื่นๆ มีโอกาสได้ลงโรงฉายในบ้านเราจนเกือบหมดแล้ว ‘ใจจำลอง’ หรือ Come Here ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ กลับเพิ่งจะมีโอกาสได้ออกฉายในวงจำกัดให้คอหนังชาวไทยได้พิสูจน์กันก็ล่วงเข้ากลางปี 2022 ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะ ‘ใจจำลอง’ เป็นเพียงหนังเล็กๆ ความยาวกระชับเพียง 68 นาที ที่เล่าด้วยน้ำเสียงส่วนตัว มิใช่หนังฟอร์มใหญ่ที่เล่นประเด็นเนื้อหาเกินตัวอะไร ทั้งยังมีความเรื่อยๆ ง่ายๆ ไม่ใฝ่สูงทะเยอทะยานเหมือนงานชิ้นก่อนๆ อย่าง ‘เจ้านกกระจอก’ (2009) หรือ ‘ดาวคะนอง’ (2016) เสียด้วยซ้ำ

ถ้าพอจะเคยติดตาม ก็คงทราบว่า ‘กัลปพฤกษ์’ ไม่ถูกจริตกับผลงานของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ อย่างแรง โดยเฉพาะสองเรื่องที่กล่าวไป ค่าที่มีความรู้สึกว่าผู้กำกับช่างอหังการหาญเล่าในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้มีความเข้าใจ ไม่เคยคิดจะพัฒนาเนื้อหาที่บันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ล้ำลึกระหว่างมนุษย์เพศชายใน ‘เจ้านกกระจอก’ และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ใน ‘ดาวคะนอง’ แล้วใช้เทคนิคหนังสารพัดสารพัน ตัดต่อข้ามเวลาไปมา ไพล่พาคนดูไปเอ้อระเหยเยี่ยมชมสิ่งอื่นๆ เพื่อกลบความกลวงโบ๋ของตัวเรื่องด้วยอาการฟุ้งซ่านติสต์แตก เหมือนมีอาการ Crystallophobia syndrome หวาดกลัวการเล่าด้วยวิธีตรงๆ ง่ายๆ ถ้าคนดูคิดตามทันแล้วจะกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จนไม่เคยได้สาระใจความใดๆ ในการดูผลงานหนังของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ มาก่อนเลย

กระทั่งมาถึงงานกำกับร่วมกับผู้กำกับ เบน ริเวอร์ส (Ben Rivers) ชื่อ ‘กระบี่ 2562’ (2019) ที่พอจะซาบซึ้งไปกับความครุ่นคิดคำนึงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พื้นที่ที่ยังพอจะเห็นว่าโฟกัสได้อยู่ ไล่มาถึงผลงานใหม่ ‘ใจจำลอง’ ซึ่งต้องบอกเลยว่ารู้สึกดีกับหนังของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ มากกว่าเดิมแบบมาก ๆ แม้จะไม่ได้ประทับใจไปกับสิ่งที่ผู้กำกับอยากนำเสนอ โดยข้อแตกต่างสำคัญใน ‘ใจจำลอง’ ก็คือ ผู้กำกับไม่ได้ดัดจริตที่จะทำตัวเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ อีกต่อไป หากกลับใช้หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนกลเกมหมากกระดานฝ่าด่านถอดรหัสสัญลักษณ์ โดยผู้กำกับทำหน้าที่เป็นนางกวักชักชวนผู้ชมมานั่งล้อมวงร่วมเล่นเกมด้วยกันในฐานะเจ้ามือ “รู้หรือไม่ว่าตัวละครนี้ ฉากนี้ สิ่งนี้มีความหมายว่าอะไร ใครตอบได้เอาไปเลยข้อละสิบคะแนน!” ซึ่งพอใช้แผนการตลาดอีท่านี้ นักวิจารณ์ so-hard-to-please ขี้เก๊กอย่างเราก็จำต้องคำนึงถึงมรรยาท เขาชวนเราร่วมนั่งเล่นเกมดีๆ ก็น่าจะลองเสียเวลาสัก 68 นาที ดูสิว่ามันเป็นยังไง ชอบไม่ชอบก็ค่อยว่ากันไป แต่อย่างน้อยๆ เราก็จะได้เห็นว่า เออ! เขาสามารถทำหนังแนวทางแบบนี้ออกมาได้เหมือนกันนะ

‘ใจจำลอง’ จึงเป็นหนังที่รวบรวมเอาเกร็ดเหตุการณ์ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์เคยประสบมา แล้วนำมาเล่าผ่านตัวละครที่เธอรู้สึกสนใจ โดยไม่ได้ให้ความหวังเลยว่าเนื้อหาเรื่องราวจะได้รับการต่อยอดพัฒนาหาข้อมูลเชิงลึกมาถ่ายทอดให้คนดูได้รับรู้ เพราะผู้กำกับไม่ใช่ครูที่จะต้องเตรียมเนื้อหามาสอน เพียงแค่ไปเจออะไรกระทบใจก็นำมาตั้งเป็นกระทู้เล่นเกมกับคนดูได้ อย่าไปใส่ใจกับส่วนรายละเอียดที่กระดิกคลิกหาผ่านสารานุกรมออนไลน์อย่างวิกิพีเดีย แป๊บเดียวเดี๋ยวก็เจอ

เปิดฉากมาว่าด้วยสามหนุ่มหนึ่งสาววัยผู้ใหญ่ตอนต้น (แสดงโดย ศรภัทร ภัทราคร , ภูมิภัทร ถาวรศิริ , สิราษฎร์ อินทรโชติ และ อภิญญา สกุลเจริญสุข) ชักชวนกันมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีภูมิประวัติเชื่อมโยงกับทางรถไฟสายมรณะ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เนื้อหาที่ออกจะ ‘ขายค้อง-ขายของ’ เหมาะจะทำเป็นหนังเล่นประเด็นประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องน่ารู้เสียเกิน! แต่สำหรับผู้กำกับอโนชา อย่าได้หวัง ทั้งสี่รายไม่มีใครรู้จักที่จะใช้กูเกิลแม็ป เดินมาถึงประตูแล้วเพิ่งจะรู้ว่าเขาปิดปรับปรุง สุดท้ายเลยได้แค่เดินเตะฝุ่นจนฟุ้งทางเดินรอบๆ แล้วกลับมาปลอบใจความเงิบกันเองที่ห้องพักเรือนแพ แผ่นั่งกรึ่มเคล้าเหล้ายาปลาปิ้ง นั่งดูเขายิงพลุตะไลไฟพะเนียงซึ่งก็ไม่รู้ว่าเนื่องในโอกาสอันใด หรือใส่มาเพียงเพื่อให้หนังพอจะมีฉากสวยๆ อันนี้ก็ป่วยการจะคาดเดา

โดยเราจะได้รู้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนทำละครเวที จากบทสนทนาตัดพ้อต่อความไม่มั่นคงในอาชีพว่าจะทู่ซี้ทำไปได้จนถึงอายุเท่าไหร่ ก่อนจะปล่อยให้พวกเขาใช้ลานบนเรือนแพมาฝึกฝนทักษะการละคร แสร้งทำตัวเป็นสุนัข ระกา และวานร โดยต้องเห่าหอนโก่งขันเกาคันและแสดงท่าทางการเยื้องย่างอย่างสมจริง ซึ่งดูจะการซ้อมที่เปล่าดายไม่คุ้มค่าความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยขบอย่างมากมาย เพราะสุดท้ายคงไม่มีใครจ้างให้พวกเขาไปเล่นเป็นสัตว์เหล่านี้ในละครตระกูลสมจริง ยิ่งเป็นละครเกี่ยวกับสิงสาราสัตว์ ตัวบทก็จะดัดแปลงให้มีความเป็นมนุษย์ด้วยวิธีการบุคลาธิษฐานกันอยู่แล้ว ภาพการซ้อมอะไรแบบนี้จึงมีวิถีการมองศาสตร์แห่งละครเวทีที่ไม่พ้นไปจากระดับผิวเปลือกที่ขอแค่ให้ภาพภายนอกแลดูละม้ายคล้ายคลับก็จักพึงพอใจ

ในระหว่างที่เล่าเรื่องราวของสี่หนุ่มสาวนี้ หนังก็จะมีการตัดสลับไปติดตามหญิงสาวนิรนาม ซึ่งรับบทโดย เววิรี อิทธิอนันต์กุล วิ่งกระหืดกระหอบหนีตัวอะไรมากลางป่าก็มิอาจทราบ ก่อนจะเจอแอ่งน้ำขนาบแล้วได้วิ่งลงไปดื่มกินอย่างโหยกระหาย คือจากการแสดงไม่มีการบ่งบอกเลยแม้แต่โดยนัยว่าเธอเป็นใครอะไรยังไง รู้แต่ว่า เววิรี กำลังทำการแสดงแบบเล่นใหญ่ ผิดวิสัยการแสดงภาพยนตร์โดยทั่วไปที่ต้องเล่นให้ ‘น้อย’ กว่าละครเวที เพราะเวลาที่ภาพถูกขยายขึ้นบนจอใหญ่ ความล้นทะลักทางการแสดงอะไรแบบนี้มันจะเห็นได้ชัดเจนมาก โดยเฉพาะเมื่อมันปราศจากความหมายภายในอันกลวงโบ๋

จริงๆ ในช่วงท้ายที่เราจะได้เห็นฉากนอนดิ้นทุรนทุรายสะบัดหน้าขวาซ้ายแล้วกลายสภาพ ก็พอจะมีการเชื่อมโยงกับตัวละครสี่สหายเอาไว้อยู่เหมือนกัน แต่ก็นั่นแหละ พอมาอยู่ในหนังของอโนชา ก็เริ่มจะไม่มั่นใจเสียแล้วว่า มันคือลีลาสัญลักษณ์ หรือแค่ฉากอยากลองเทคนิคซีจี คือถ้าจะเล่นกันถึงขนาดนี้ มันก็น่าจะมีลูกหยดลูกหยอดให้พอได้ถอดความอะไรกันบ้าง แต่ถ้าจะให้ไขกระจ่างผู้กำกับอโนชาก็อาจจะขอยอมตายเสียดีกว่า เอาเป็นว่าถ้าคนดูหงุดหงิดนักกับความไม่เข้าใจก็เลือกคลำความหมายคำอธิบายให้ตัวเองไว้สักแบบ มันถูกทั้งนั้นแหละกับการตีความแบบครอบทั้งเวิ้งจักรวาลอย่างนี้ แต่ถ้าจะให้ดีมองเป็นฉากเห่อซีจีว่าเดี๋ยวนี้คนไทยก็สามารถใช้เทคนิคฮอลลีวูดมาสร้างฉากแบบนี้กันได้ง่ายๆ ก็อาจจะสบายใจขึ้น

และนั่นก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปริศนาประลองปัญญาท้าสมองคนดูที่ผู้กำกับจัดเตรียมไว้ในบอร์ดเกมเรื่อง ‘ใจจำลอง’ นี้ ยังมิพักต้องพูดถึงการหั่นแบ่งครึ่งจอบนล่างแสดงภาพจากฉากและสถานการณ์ที่ต่างกัน การซ้ำฉากเดียวกันโดยเปลี่ยนมุมมอง และที่ต้องขนลุกเลยก็คือ ผู้กำกับอโนชา หาได้พอใจอยู่กับการถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านสื่อภาพยนตร์อย่างเดียวไม่ แต่ยังได้ดัดแปลงบันทึกการเดินทางท่องเที่ยวเทียวค้างอ้างแรมบนเรือนแพแปรออกมาเป็นละครเวทีอีกต่อหนึ่งด้วย ที่น่ากลัวก็คือลำพังแค่ได้เห็นเบื้องหลังการสร้างฉาก การฝากโมทีฟ (motif -หมายถึงภาพ เสียง หรือองค์ประกอบต่างๆ ในภาพยนตร์ที่ซ้ำกัน) รถไฟผ่านจอ rear projection และการนั่งบล็อคกิ้งของนักแสดง ก็รู้สึกได้แล้วว่าทำไมมันถึงเป็นละครเวทีที่กำกับศิลป์ได้แข็งกระด้างจัง นี่ถ้าต้องนั่งดูมันทั้งเรื่องจะเป็นอย่างไร จะอดรนทนไหวไหมกับความกระโดกกระเดกทางศิลปะการละครที่แทบจะหาความอ่อนโยนใดๆ ไม่เจอเลย!

การที่ผู้กำกับอโนชา เลือกใช้นักแสดงระดับคุณภาพฝีมือดี หลายคนก็เคยผ่านงานละครเวทีระดับหินมาแล้วใน ‘ใจจำลอง’ ครั้งนี้ ดูเหมือนจะมีนัยยะของการ ‘หวังพึ่ง’ ว่าได้นักแสดงระดับนี้มา ก็คงไม่มีใครปากกล้าวิจารณ์เรื่องการแสดงให้ได้ยินอีก เลยจงใจปล่อยของให้เวลาน้องๆ แสดงศักยภาพในฉากซุ่มซ้อมต่างๆ อย่างเต็มที่ แต่หารู้ไม่ว่าต่อให้เป็นนักแสดงฝีมือดีขนาดไหนจะเกิดหรือจะตายมันก็ไม่พ้นฝ่ามือเล็กๆ ของผู้กำกับนี่แหละว่าจะปั้นพวกเขาได้ไหมในโจทย์ใหม่ แต่ ‘ใจจำลอง’ กลับสนใจมองแต่ความสามารถผิวเปลือกโดยไม่ได้สนใจการแสดงที่มาจากภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากโคลสอัพที่ให้นักแสดงทำหน้านิ่งๆ แล้วร้องไห้ ซึ่งนับเป็นฉากแสนสุ่มเสี่ยงอันตราย เพราะการแสดงไม่ว่าจะแขนงใด ถ้านักแสดงเริ่มร้องไห้หลั่งน้ำตาออกมาเมื่อไหร่ แต่คนดูกลับไม่สามารถสัมผัสหรือเข้าใจได้เลยว่า ‘ที่มา’ ของหยาดน้ำตาเหล่านั้นมันคืออะไร ทุกหยดจะกลายเป็นเพียง ‘น้ำตาจระเข้’ จากการเสแสร้งแกล้งทำซึ่งไม่ควรนำมาใช้เลยในศิลปะการละคร

และด้วยการมุ่งเน้นโครงสร้างการเล่า (ที่เลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ) ของ ‘ใจจำลอง’ ที่ไม่ได้ต้องการสีสันอันมีชีวิตชีวาใดๆ ก็คงจะเป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้ อโนชา สุวิชากรพงศ์ เลือกถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยภาพสีขาวดำ ลักษณะเดียวกับหนังที่เล่นโครงสร้างเรื่องแบบจัดๆ ของผู้กำกับเกาหลีใต้ ฮองซางซู (Hong Sang-soo) ซึ่งกลวิธีนี้ก็ไม่ได้มีจุดที่ติดใจอะไร หนำซ้ำยังทำให้หนังมีบรรยากาศภาพขาวดำแบบไทยๆ ที่ไม่ใคร่จะมีผู้กำกับเลือกใช้กันบ่อยครั้งนัก ติดอยู่นิดเดียวที่การกำกับภาพตามแบบฉบับของผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ มันอาจทำให้ภาพขาวดำของหนังดูแข็งๆ ไปหน่อย ไม่ค่อยเห็นความอ่อนละมุนนัก ขนาดฉากชมดอกไม้ไฟที่น่าจะสร้างความประทับใจได้มากที่สุดในหนังก็ยังรู้สึกประดิษฐ์จัดวางไปทุกๆ ดอกดวงไฟ แต่ก็นั่นแหละอย่าลืมว่ามันคือ ‘เกม’ จะถ่ายให้สวยสดหยดย้อยกันไปเพื่ออะไร เพราะจุดใหญ่ใจความสำคัญมันคือการเล่นปริศนาถอดค่าสัญลักษณ์กันมากกว่า

นึกแล้วก็อิจฉาเหล่าคอหนังพันธุ์แทนค่าถอดสัญลักษณ์ที่คงจะสนุกสนานกับการเชื่อมโยง GAT-PAT ชิ้นส่วนต่างๆ ในหนังเรื่องนี้กันน่าดู แต่ถึงจะเป็นหนังที่วางตัวเป็นกลเกมไม่ได้ต้องการเล่าเนื้อหาอภิปรัชญาใดๆ มันก็ยังพอประเมินคุณค่าเชิงสุนทรียะได้จากตัวกฎกติกาและเบี้ยตามที่ผู้กำกับได้ออกแบบไว้ จริงอยู่ที่การเลือกดูหนังของ ‘กัลปพฤกษ์’ ไม่ได้ต่างจากการเลือกอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม ที่หวังเสมอว่าจะได้รับสาระในการรู้จักความเป็นมนุษย์แง่มุมต่างๆ รวมถึงความไพศาลสล้างของความเป็นไปได้ในโลกศิลปะ แต่ถึงเธอจะมาในรูปแบบของหนังสือแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ มีให้แต่โจทย์นะ เนื้อหาเธอต้องไปทำเอาเอง เราก็ไม่ได้อิดออดอะไร ตราบใดที่ตัวโจทย์เหล่านั้นมีความคิดสร้างสรรค์ท้าทายน่าลองทำ ไม่ได้เป็นโจทย์ที่ตั้งมาแบบสั่วๆ มั่วๆ สักแต่เปลี่ยนตัวเลข หรือเป็นโจทย์ที่ไม่เคยสอดคล้องกับโลกความจริง เช่น ไม่รู้เลยว่าจำนวนนักเรียนห้อง /1 กับ /2 เป็นเท่าไหร่ รู้แต่ว่าทั้งสองห้องมีนักเรียนชายรวมกันมากกว่านักเรียนหญิง 5 คน คืออันง่ายๆ ไม่รู้ ดันไปรู้แต่ข้อมูลพิสดาร ถ้าแบบนั้นมันก็จะบั่นทอนสติปัญญามากกว่าจะประเทือง

สำหรับเรื่อง ‘ใจจำลอง’ รวมๆ แล้วก็ยังรู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่ไม่ค่อยน่าเล่นน่าทำสักเท่าไหร่ จะให้สนุกมันจริงๆ เธอต้องติสต์แตกแหวกทุกกฎให้ได้เท่าผู้กำกับอย่าง เฟเดริโก เฟลลีนี (Federico Fellini), ดีเรค จาร์แมน (Derek Jarman), ปีเตอร์ กรีนอะเวย์ (Peter Greenaway), อเลฆันโดร โจโดโรว์สกี (Alejandro Jodorowsky) หรือ อุลริเคอ อ็อตทิงเงอร์ (Ulrike Ottinger) หรือถ้าเอาน้ำเสียงและแนวทางใกล้เคียงที่สุดก็น่าจะเป็นผู้กำกับหญิงโปรตุเกส เทเรซา ฟวิลลาแฟวร์เดอ (Teresa Villaverde) คือถ้าได้ระดับนั้นจะก้มหน้าก้มตานั่งเล่นนั่งทำได้ทั้งวันโดยไม่เบื่อเลย

การทำหนังเป็นโจทย์เป็นเกมนั่งเล่นกับคนดูที่ชวนให้รู้สึกว่าเป็นการสื่อสารที่ ‘ไม่จริงใจ’ จึงไม่ควรจะกลายเป็นข้อหาใหญ่ เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่เคยมีใครบัญญัติไว้ว่าผู้กำกับจะต้อง ‘จริงใจ’ กับสิ่งที่เล่าต่อคนดูอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าถ้าเธอเลือกจะเล่าเรื่องราวเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งประทับใจ เธอจะมาใส่หน้ากากแล้วแอบเบ้ปากใส่คนดูไม่ได้ แล้วใครจะไปให้ใจ แต่ถ้าจะกวักมือชวนมาเล่นหมากกระดานกันสักยกไหม จะตอหลดตอแหลตุกติกยิกยักอะไรก็เชิญได้ตามสบาย แล้วเราจะได้ทำใจตั้งแต่แรกว่าจะไม่ได้สาระคุณค่าหรือเนื้อหาใดๆ จากหนังเรื่องนี้ที่ต้องคิดมโนทุกอย่างเอาเอง

หรือถ้าคิดกลับด้าน ผลงานเรื่อง ‘ใจจำลอง’ ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ อาจไม่ได้ทำสิ่งใดผิดไปเลยก็ได้ เพียงแต่ ‘กัลปพฤกษ์’ เป็นนักวิจารณ์ที่ปวารณาตัวเป็นสานุศิษย์ของ ซูซาน ซอนทาก (Susan Sontag) ผู้เคยเขียนบทความเขย่าวงการศิลปะชื่อ Against Interpretation (1966) ไว้ว่า การเสพงานศิลปะด้วยการพยายามตะพึดตะพือถอดค่าตีความหมายเชิงสัญลักษณ์ถือเป็นการเสพศิลปะระดับต่ำเตี้ยที่สุด ศิลปะมันบรรเจิดและสูงค่ายิ่งกว่าการถอดสมการ อันควรสัมผัสผ่านอายตนะและสุนทรียญาณ ไม่จำเป็นต้องมาแจกแจงอีกต่อไปว่าอะไรหมายถึงอะไร ตีตกหลักการจิตวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์ Archetypes ของ คาร์ล กุสตาฟ ยุง (Carl Gustav Jung) อย่างไม่แยแส แม้อาจจะถูกมองว่าเป็นนักเสพงานศิลปะสายขี้เกียจ ไม่ยอมให้เหล่าศิลปินทิ้งช่องว่างให้ผู้ชมสร้างความหมายเอาเอง เอ๊า! ก็นี่ซื้อตั๋วเข้าไปดูก็เพราะอยากรู้อยากฟังความคิดของเธอไม่ใช่เหรอ ถ้าเข้าไปแล้วได้ภาชนะเปล่ากลับมาพร้อมคำพูดว่า “อันนี้เป็นที่ว่างให้เธอเทเติมเอาเองนะ” คืออย่างนี้ไม่ต้องเดือดร้อนจ่ายเงินเข้าไปในโรงก็ได้ไหม หม้อ ไห โอ่ง ถาด กาละมัง ที่บ้านก็มีตั้งมากมาย นั่งคิดนั่งมโนเติมโน่นเติมนี่เอาเองก็ได้ไม่ต้องออกไปไหน เพราะฉะนั้นทำหนังออกมา จะถ่ายทอดเนื้อหา เรื่องราว หรือไอเดียอะไร มันล้วนเป็นหน้าที่ของเธอเหล่าผู้กำกับผู้สร้าง ไม่ใช่หน้าที่คนดูอย่างฉัน ถ้าจะมาเบี่ยงโบ้ยกันง่ายๆ แบบนี้คราวหลังจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่เสียเวลามานั่งเล่นกงเล่นเกมอะไรด้วยแล้วนะ อย่าให้ต้องค้อนเคือง!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save