fbpx

นโยบายการต่างประเทศของโคลอมเบียในคริสต์ศตวรรษที่ 21

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

โคลอมเบียถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของลาตินอเมริกา เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 3 ของภูมิภาค รองจากบราซิลและเม็กซิโก แต่การศึกษาและทำความเข้าใจโคลอมเบียยังมีอยู่น้อยมากในประเทศไทย คนไทยส่วนมากเมื่อพูดถึงโคลอมเบียจะนึกถึงแต่ภาพความรุนแรง การค้ายาเสพติด หรืออาจกล่าวโดยรวมว่าเป็นภาพลักษณ์ในเชิงลบเป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั่งการสะกดชื่อประเทศโคลอมเบียก็ยังมีการสะกดชื่อผิดเป็น ‘โคลัมเบีย’ ดังนั้น ในบทความคราวนี้ผมจะนำเสนอภาพรวมของนโยบายการต่างประเทศของโคลอมเบียในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาผ่านกรณีศึกษาต่างๆ เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจประเทศโคลอมเบียได้ดียิ่งขึ้นในหมู่คนไทย ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจประเทศโคลอมเบียเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับโคลอมเบีย (ค.ศ.1979-2019) รวมทั้งในโอกาสที่จะมีการตีพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์โคลอมเบียฉบับย่อ ซึ่งเขียนโดยนักรัฐศาสตร์ชื่อดัง Jorge Orlando Melo แปลจากภาษาสเปนโดยคุณตรีเทพ ศรีสง่า นักวิชาการทางด้านลาตินอเมริกันศึกษารุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่ University of Florida at Gainesville โดยมีผมเป็นบรรณาธิการแปล ซึ่งมีกำหนดการออกเผยแพร่ในช่วงปลายปีนี้

สำหรับในบทความนี้ ผมจะยกกรณีศึกษาทั้งสิ้น 3 กรณีเพื่อทำการวิเคราะห์ ได้แก่ 1) นโยบาย Plan Colombia 2) นโยบายการตั้งฐานทัพอเมริกันในโคลอมเบีย และ 3) นโยบายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างโคลอมเบียกับจีน

 

กรณีศึกษาที่ 1 นโยบาย Plan Colombia

 

ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ประธานาธิบดีของโคลอมเบีย Andrés Pastrana ได้ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ นโยบายของประธานาธิบดี Pastrana ระหว่างปี ค.ศ.1998-1999 ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับโคลอมเบีย ทั้งทางด้านการทหารและสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ เนื่องจากในขณะนั้น กองทัพโคลอมเบียมีความอ่อนแอค่อนข้างมาก และการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะกับ The Revolutionary Armed Forces of Colombia (FARC) ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น นโยบาย Plan Colombia เป็นการส่งเสริมทั้งทางคุณภาพและปริมาณความร่วมมือระหว่างโคลอมเบียกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านการทหาร

ขณะเดียวกัน หน่วยประชาสังคมและกลุ่มต่าง ๆ ทางด้านสิทธิมนุษยชนก็ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนปริมณฑลความร่วมมือระหว่างสองประเทศจากปัญหาสงครามการค้ายาเสพติดข้ามชาติมาสู่ปัญหาการเมืองภายในของโคลอมเบีย กล่าวคือ ประธานาธิบดี Pastrana ได้ขอรับความช่วยเหลือจากทางสหรัฐอเมริกาสำหรับการเจรจาสงบศึกกับกลุ่ม FARC แต่สหรัฐอเมริกาได้ระงับบทบาทดังกล่าว เมื่อเกิดการรั่วไหลว่ามีการแอบนัดพบกันอย่างลับๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกากับตัวแทนของ FARC และเมื่อ FRAC ได้ลอบสังหาร 3 มิชชันนารีชาวอเมริกัน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น คือ บิล คลินตัน (Bill Clinton) ยังคงสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลโคลอมเบียกับกลุ่ม FARC จวบจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายได้ล้มเหลวในการเจรจาและหันกลับมาใช้อาวุธต่อสู้กันอีกครั้งในช่วงปลายปี ค.ศ.2001

ถึงแม้ว่า Plan Colombia จะมีเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้งในประเทศโคลอมเบีย แต่ก็ได้รับเสียงคัดค้านภายในประเทศ โดยเฉพาะจากกลุ่ม FARC ที่มองว่า การช่วยเหลือของรัฐบาลอเมริกันต่อรัฐบาลโคลอมเบียเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการเจรจาสันติภาพของประธานาธิบดี Pastrana นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์จากหน่วยงานประชาสังคมต่างๆ ว่า การดำเนินงานภายใต้นโยบาย Plan Colombia ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ ส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดี Pastrana เป็นอย่างมาก กล่าวคือ มีประชาชนในประเทศแค่ร้อยละ 21 ที่เห็นชอบในการดำเนินการภายใต้ Plan Colombia ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับประธานาธิบดีก็ง่อนแง่น โดยประธานาธิบดี Pastrana ขู่จะยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่รัฐสภาก็ตอบโต้โดยการจะถอดถอนเขาให้ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม มีเพียงสมาชิกรัฐสภาส่วนน้อยที่มีทีท่าไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงต่อนโยบาย Plan Colombia ขณะเดียวกัน ประชาชนบางกลุ่มก็เรียกร้องให้รัฐบาลโคลอมเบียใช้มาตรการรุนแรงในการตอบโต้กลุ่ม FARC เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า FARC ไม่มีความจริงใจในการเจรจาสันติภาพ

นอกจากนี้ การดำเนินการตามนโยบาย Plan Colombia ทำให้กลุ่มผู้เพาะปลูกโคคารายย่อยต่างได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลโคลอมเบียมีนโยบายปราบปรามและทำลายแหล่งเพาะปลูกโคคาอย่างเคร่งครัด เกษตรกรเหล่านี้เป็นคนกลุ่มน้อย ดังนั้น เสียงสะท้อนของพวกเขาต่อรัฐบาลโคลอมเบียให้มีนโยบายผ่อนคลายและหาอาชีพเสริมจึงไม่ได้รับการตอบสนองสักเท่าไรนัก พวกเขาจึงได้รวมตัวกันเรียกร้องให้องค์การไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) ของสหรัฐอเมริกาช่วยสะท้อนข้อเรียกร้องของพวกเขาต่อรัฐบาลอเมริกัน เนื่องจากโดยวัฒนธรรมทางการเมืองของโคลอมเบียแล้ว กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ในโคลอมเบียล้วนแต่สนับสนุนสหรัฐอเมริกา เกษตรกรเหล่านี้หวังว่า NGOs ของสหรัฐอเมริกาจะช่วยกดดันให้รัฐบาลของประธานาธิบดีคลินตันเปลี่ยนแปลงการดำเนินการภายใต้ Plan Colombia ที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา

กล่าวโดยสรุปคือ ภายใต้นโยบาย Plan Colombia กลุ่มการเมืองที่สำคัญต่างๆ ในโคลอมเบียให้การสนับสนุนการได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ แต่พวกเขาไม่พอใจต่อแนวนโยบายการเจรจาของประธานาธิบดี Pastrana ที่อ่อนข้อให้กับกลุ่ม FARC มากจนเกินไป

 

กรณีศึกษาที่ 2 นโยบายการตั้งฐานทัพอเมริกันในโคลอมเบีย

 

ในช่วงระหว่างกลางคริสต์ทศวรรษที่ 2000 เป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างโคลอมเบียกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวเนซุเอลาตกต่ำลง ประธานาธิบดีโคลอมเบียในขณะนั้นคือ Álvaro Uribe ได้แสดงความเป็นกังวลกับสหรัฐอเมริกาต่อการที่กองกำลังของโคลอมเบียมีความอ่อนแอกว่าโดยเปรียบเทียบ เมื่อเทียบกับกองทัพของเวเนซุเอลา ประธานาธิบดี Uribe เชื่อว่า ถ้ามีฐานทัพอเมริกันบนดินแดนของโคลอมเบียจะเป็นหลักประกันว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ทอดทิ้งโคลอมเบียในกรณีที่เกิดการปะทะกันระหว่างโคลอมเบียกับเวเนซุเอลา ดังนั้น ในปี ค.ศ.2005 รัฐบาลโคลอมเบียจึงได้เปิดเจรจากับสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดตั้งฐานทัพอเมริกัน 7 แห่งในประเทศ ซึ่งอเมริกาก็ให้ความสนใจกับการเจรจาในครั้งนี้ เนื่องจากฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในเอกวาดอร์จะหมดสัญญาในปี ค.ศ.2009 และรัฐบาลเอกวาดอร์ประกาศที่จะไม่ต่อสัญญาอีกต่อไป

นอกจากการเจรจาเรื่องการตั้งฐานทัพในประเทศแล้ว ประธานาธิบดี Uribe ยังได้ร้องขอให้สหรัฐอเมริกาให้คำมั่นว่า จะสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แก่โคลอมเบีย รวมทั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศยาน หากเกิดกรณีที่โคลอมเบียทำสงครามกับเวเนซุเอลา การเจรจาดังกล่าวเป็นไปอย่างลับๆ และได้มีการลงนามของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายโดยที่ไม่ผ่านการให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาโคลอมเบีย เนื่องจากประธานาธิบดี Uribe กำลังได้รับคะแนนเสียงนิยมอย่างมากจากประชาชนในขณะนั้น ประกอบกับวัฒนธรรมทางการเมืองของโคลอมเบียที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นประธานาธิบดี Uribe จึงเชื่อมั่นว่า เขาจะได้รับเสียงสนับสนุนจากภายในประเทศจากการเจรจาดังกล่าว

ข้อตกลงการจัดตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในโคลอมเบียได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้สนับสนุนประธานาธิบดี Uribe รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นคือ Juan Manuel Santos ซึ่งต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ.2010 และจากผู้นำในรัฐสภาจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตามเมื่อข้อตกลงในรายละเอียดของสัญญาดังกล่าวได้รั่วไหลไปสู่สาธารณชนในปี ค.ศ.2008 ก็ได้เกิดแรงกระเพื่อมจากพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมและเกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านการมีฐานทัพอเมริกันในประเทศ แต่แรงกระเพื่อมดังกล่าวไม่มีพลังเพียงพอที่จะต่อต้านได้ เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากสมาชิกในรัฐสภา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดี Uribe ที่ยังคงมีอยู่สูงและเขาเพิ่งได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในปี ค.ศ.2006

สำหรับประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบราซิล เอกวาดอร์ และเวเนซุเอลา ต่างก็คัดค้านการดำรงอยู่ของฐานทัพอเมริกันในภูมิภาค แต่แรงกดดันดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความตั้งใจของโคลอมเบียได้ ประธานาธิบดี Uribe ได้เดินทางหรือไม่ก็ต่อสายโดยตรงไปยังประธานาธิบดีประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา เพื่ออธิบายเหตุผลของความจำเป็นในการมีอยู่ของฐานทัพอเมริกันในลาตินอเมริกา ขณะที่รัฐบาลอเมริกันก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า การดำรงอยู่ของฐานทัพอเมริกันในโคลอมเบียจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งไปกว่านั้น โคลอมเบียยังขู่ที่จะถอนตัวจาก The Union of South American Nations (UNASUR) ที่มีบราซิลเป็นหัวหอกจัดตั้งในปี ค.ศ.2008 ซึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้โดยมีเป้าหมายการรวมตัวในอนาคตเฉกเช่นเดียวกับ The European Union (EU) การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า โคลอมเบียให้ความสำคัญต่อการมีฐานทัพอเมริกันในประเทศมากกว่าแรงกดดันจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ท้ายที่สุดแล้ว โคลอมเบียสามารถสกัดกั้นคำประกาศของประเทศในลาตินอเมริกาที่ไม่เห็นด้วยกับการมีฐานทัพอเมริกันในภูมิภาคได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ในปีถัดมา สื่อท้องถิ่นในโคลอมเบียได้รายงานว่า ข้อตกลงการจัดตั้งฐานทัพอเมริกันในโคลอมเบียได้รวมถึงการไม่ต้องรับผิดของคนสัญชาติอเมริกันในโคลอมเบียและการดำรงอยู่อย่างถาวรของฐานทัพดังกล่าว ส่งผลให้ภาคประชาสังคมในโคลอมเบียเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาว่าสนธิสัญญาดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2010 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินว่า สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา ส่งผลให้ประธานาธิบดี Santos ซึ่งพึ่งได้ขึ้นดำรงตำแหน่งในปีนั้น ต้องส่งข้อตกลงดังกล่าวไปให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และแม้ว่าประธานาธิบดี Santos จะสนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าวในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของ Uribe แต่เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ท่าทีของเขาต่อสนธิสัญญานี้ได้เปลี่ยนไป ประธานาธิบดี Santos กลัวว่าประเด็นที่อ่อนไหวในข้อตกลงอนุญาตให้ตั้งฐานทัพอเมริกันบนดินแดนโคลอมเบียจะส่งผลต่อการสนับสนุนที่มีต่อตัวเขาจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งในขณะนั้นให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพกับกลุ่ม FARC เป็นลำดับแรก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประธานาธิบดี Santos จึงหาทางออกให้กับประเด็นดังกล่าว โดยแทนที่จะอนุญาตให้มีการตั้งฐานทัพอเมริกันในโคลอมเบียก็เปลี่ยนเป็นการอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาเข้าใช้ฐานทัพที่มีอยู่ของกองทัพโคลอมเบียได้ ซึ่งเขาให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับสหรัฐอเมริกาว่า ถึงแม้การมีฐานทัพอเมริกันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการรักษาเสถียรภาพทางการทหารในโคลอมเบีย แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ความจำเป็นดังกล่าวลดลง ซึ่งทั้งสหรัฐอเมริกาและโคลอมเบียต่างก็พอใจในหลักการนี้ ขณะเดียวกัน การตัดสินใจนี้ก็เป็นการป้องกันไม่ให้ฐานเสียงของประธานาธิบดี Santos ที่ต้องการสันติภาพมากกว่าสงครามหดหายไป

 

กรณีศึกษาที่ 3 นโยบายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างโคลอมเบียกับจีน

 

ในระหว่างการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.2012 ประธานาธิบดี Santos ได้ประกาศว่า โคลอมเบียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างโคลอมเบียกับจีน โดยประธานาธิบดี Santos ระบุว่า นโยบายการค้าเสรีกับจีนถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และยังชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวจะส่งเสริมการลงทุนของจีนในโคลอมเบีย ขณะเดียวกัน ก็เป็นการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของโคลอมเบีย รวมทั้งพัฒนาการค้าระหว่างประเทศของโคลอมเบียด้วย ต่อมา ทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงที่จะศึกษาความเป็นไปได้ของการเปิดการค้าเสรีระหว่างประเทศทั้งสอง โดยรัฐบาลของประธานาธิบดี Santos มีนโยบายในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน ขณะเดียวกัน ก็ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับจีนซึ่งมีมูลค่ามหาศาล

อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าเสรีกับจีนของประธานาธิบดี Santos ถูกต่อต้านจากภายในประเทศอย่างมาก เนื่องจากการนำเข้าสินค้าจีนของโคลอมเบียเพิ่มขึ้นกว่าแปดเท่าในช่วงเวลาเพียงแค่หนึ่งทศวรรษ และสินค้าหัตถอุตสาหกรรมของจีนยังได้เข้ามาตีตลาดสินค้าภายในประเทศ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมของโคลอมเบียแทบจะไม่มีที่ยืนในตลาดจีนและโอกาสการลงทุนในจีนก็มีอยู่น้อยมาก ด้วยเหตุนี้เอง ภาคธุรกิจเอกชนในโคลอมเบียจึงมีปฏิกิริยาเชิงลบต่อนโยบายดังกล่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลโคลอมเบียปกป้องตลาดสินค้าภายในประเทศจากสินค้าจีน โดยเฉพาะจากสินค้าลอกเลียนแบบซึ่งมีวางขายอยู่อย่างดาษดื่นในโคลอมเบีย ขณะที่รัฐบาลได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจเอกชนดังกล่าวโดยการประกาศใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของสินค้าจีน

นอกจากนี้ ข้อเสนอนโยบายการค้าเสรีของทั้งสองประเทศยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มธุรกิจใหญ่สองกลุ่มในโคลอมเบีย โดย The National Association of Entrepreneurs (ANDI) ได้ต่อต้านนโยบายดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ANDI เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญในการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างโคลอมเบียกับสหรัฐอเมริกา ANDI ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ประกอบการสินค้ายานยนต์ ผู้ประกอบการรายย่อย สหภาพแรงงาน นักวิชาการ NGOs และนักการเมืองจำนวนไม่น้อย ซึ่งถึงแม้ว่าโดยปกติแล้ว ผู้ที่ต่อต้านนโยบายการค้าเสรีมักมาจากฝ่ายซ้ายในโคลอมเบีย แต่ด้วยความกลัวสินค้าจีนที่จะเข้ามาตีตลาด ทำให้พวกกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีจุดยืนเคียงข้างกับภาคธุรกิจ รวมถึงพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลของ Santos ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการค้าเสรีกับจีน มีแต่เพียงภาคธรุกิจทางการเกษตร นำโดย The Agricultural Society of Colombia (SAC) เท่านั้นที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีดังกล่าว โดยกล่าวว่าจีนจะสร้างโอกาสทางธุรกิจขนาดใหญ่รวมถึงการจ้างงานให้กับภาคการเกษตรในโคลอมเบีย เพราะจีนเป็นตลาดผู้บริโภคอาหารที่สำคัญของโลก

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มพรรคการเมืองที่ร่วมกันเป็นรัฐบาลผสมของประธานาธิบดี Santos ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรค Partido de la U ของประธานาธิบดี ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดี Santos โดยพวกเขามองว่า จีนเป็นคู่ค้าที่เห็นแก่ตัวและโคลอมเบียไม่มีทางที่จะได้ผลประโยชน์จากการทำการค้าเสรีกับจีนโดยแน่แท้ ขณะที่ฝั่งพรรคฝ่ายค้านย่อมคัดค้านนโยบายดังกล่าวอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อเสียงสนับสนุนในรัฐสภาต่อตัวประธานาธิบดี Santos แม้ว่าจะมีเสียงสนับสนุนจากภาคการเกษตรก็ตาม ทำให้ความพยายามในการจัดประชุมระดับสูงของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทั้งสองประเทศในการหาข้อตกลงเพื่อบรรลุนโยบายการค้าเสรีถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ของโคลอมเบียไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ระหว่างการประชุมของของผู้แทน ANDI กับ SAC ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2013

 

จากกรณีศึกษาทั้งสามตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า โดยภาพรวม นโยบายการต่างประเทศของโคลอมเบียยังคงมีความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมการเมืองหลักของโคลอมเบียนับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในการขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมายังภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะเอเชีย แต่ก็มีแรงต้านภายในประเทศอยู่ไม่น้อยในประเด็นการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างโคลอมเบียกับเอเชียโดยเฉพาะกับจีน เนื่องจากความหวาดกลัวต่อการตีตลาดของสินค้าจีน รวมถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่นับวันจะครอบงำภูมิภาคลาตินอเมริกาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นในนิการากัวที่จีนเข้าไปรับสัมปทานการลงทุนขุดคลองนิการากัวเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก หรือในคิวบาที่จีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ Sinophobia ในหลายๆ ประเทศในลาตินอเมริกา รวมทั้งโคลอมเบียด้วยเช่นกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save