จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง
การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ – รัสเซีย ซึ่งเกิดขึ้นที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2018 ที่ผ่านมา นับเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ กับประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้นำทั้งสองจะเคยพบปะกันในการประชุมระหว่างประเทศอย่างน้อยสองครั้งแล้วก็ดี การจัดการประชุมสุดยอดผู้นำฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากการเดินทางเยือนรัสเซียของจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งได้เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีปูตินที่กรุงมอสโกเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เราจะทำความเข้าใจการประชุมสุดยอดผู้นำฯ นี้อย่างไร
ผมขอเรียกการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างทรัมป์กับปูตินว่าเป็น ‘Collusive Détente’ หรือ การผ่อนคลายความตึงเตรียดที่มีภาพลักษณ์ของการฮั้วกัน
กล่าวคือ การประชุมซัมมิทระหว่างทรัมป์กับปูติน เป็นความพยายามที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดหรือปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่อาจสลัดภาพลักษณ์ของการฮั้วกันของผู้นำทั้งสองประเทศได้
ในการเมืองภายในสหรัฐฯ การประชุมซัมมิตทรัมป์-ปูติน แทบจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทุกฝ่ายทุกภาคส่วนอย่างเสมอหน้า จนอาจจะเป็นฉันทามติของสองพรรคการเมือง (bipartisan consensus) ก็ว่าได้ จุดโฟกัสหลักคือ การฮั้วกัน (collusion) ระหว่างทรัมป์และปูติน โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังการแทรกแซงระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำให้ทรัมป์ได้ชัยชนะและก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวอย่างไม่สมศักดิ์ศรีนัก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าอกสั่นขวัญแขวนคือ ทรัมป์ถูกประณามด้วยวาทกรรมเรื่อง ‘กบฏ’ (treason) จน John King ผู้สื่อข่าวคนสำคัญของ CNN เรียกการประชุมสุดยอดผู้นำทรัมป์-ปูตินว่า ‘surrender summit’ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ทรัมป์ยอมสิโรราบให้แก่รัสเซีย ทรัมป์ได้กล่าววิจารณ์หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ต่อหน้าประชาคมโลก กระทั่งยอมรับคำปฏิเสธของปูตินที่ว่ารัสเซียไม่ได้มีส่วนพัวพันกับการแทรกแซงระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนทรัมป์ต้องออกมาชี้แจงแถลงไขในเวลาต่อมาว่า ตนยังคงเชื่อมั่นในชุมชนความมั่นคงการข่าวกรองของสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังยืนยันว่า “การกระทำของรัสเซียไม่ได้มีผลต่อผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง”
กระนั้นก็ดี หายนะได้เกิดขึ้นไปแล้วอย่างไม่มีวันหวนคืน
ในการเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ก็ถูกตั้งข้อกังขาอย่างรุนแรงจากพันธมิตรโลกตะวันตก สถานะของผู้นำโลกเสรีก็ถูกตั้งคำถามสั่นคลอน จนผู้สังเกตการณ์บางคนคาดการณ์ถึงระเบียบโลกที่ไม่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ผู้นำสหรัฐฯ เลือกข้างรัสเซียและโจมตีผู้นำโลกตะวันตกในการประชุมต่างๆ เช่น G7 หรือ NATO
ในการทำความเข้าใจการปรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย บทความนี้จะเริ่มต้นจากมายาคติอย่างน้อยสี่ประการ และลองพิจารณาว่าในความเป็นจริงแล้ว การประชุมซัมมิททรัมป์-ปูตินครั้งนี้ บอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย และการเมืองระหว่างประเทศในยุคที่ระเบียบเสรีนิยมกำลังถูกสั่นคลอน

มายาคติ 1 : รัสเซียควรถูกประณามว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย
คำถามว่าใครควรถูกประณามว่าเป็นฝ่ายผิดในการทำให้ความสัมพันธ์แตกร้าวหรือเป็นอริ เป็นคำถามคลาสสิกหนึ่งในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการศึกษาสาเหตุของสงครามหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ในมุมมองของโลกตะวันตก รัสเซีย โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวหรือก้าวร้าว บวกกับการเมืองแบบอำนาจนิยม มักถูกพิจารณาว่าเป็นสาเหตุหลักหรือต้นเหตุของความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย
กระนั้นก็ตาม ในช่วงการแถลงข่าวร่วมกับปูติน ทรัมป์กลับประณามพรรคเดโมแครตและรัฐบาลของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ว่าเป็นผู้ทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีเสื่อมทรามลง ในขณะที่ปูตินให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Fox News ว่าปัญหาในความสัมพันธ์รัสเซีย – สหรัฐฯ เกิดจากการต่อสู้ทางการเมืองภายในสหรัฐฯ เองเป็นสำคัญ
ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนในการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตกต่ำลง สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือต่างฝ่ายต่างมองอีกฝ่ายหนึ่งเป็น ‘ศัตรู’ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองของนโยบายต่างประเทศ
การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียรอบใหม่นี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่เป็นปฏิปักษ์ในอย่างน้อยสองด้านด้วยกัน นั่นคือ
ประการแรก ในด้านนโยบายต่างประเทศ สหรัฐฯ และรัสเซียดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ไม่เป็นมิตรต่อกันมาช่วงระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่การหวนคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สามของปูตินในปี 2012 และวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในปี 2014 ซึ่งนำมาสู่การที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย
ประการที่สอง คือบริบททางการเมืองภายในของสหรัฐฯ หลายฝ่ายตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของรัสเซีย โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ในปัจจุบันความเกี่ยวพันระหว่างรัสเซียและคณะหาเสียงของทรัมป์กำลังถูกสืบสวนสอบสวนโดยคณะกรรมการสอบสวนพิเศษภายใต้การนำของโรเบิร์ต มูลเลอร์ อัยการพิเศษ
มายาคติ 2 : ปูตินคือผู้ชนะในการปรับความสัมพันธ์ครั้งใหม่
สื่อหลายสำนักรวมทั้งนักวิชาการหลายคน มองว่า ผู้ชนะของการประชุมสุดยอดผู้นำฯ นี้คือ ปูติน ผู้ซึ่งแทบจะไม่ต้องออกแรงทำอะไรมากนัก เพราะมี ‘หุ่นเชิด’ อย่างทรัมป์ที่ทำทุกอย่างแทนปูติน
แน่นอน ปูตินคงฉลองชัยชนะทางการทูตหรือเชิงสัญลักษณ์ และได้ประโยชน์จาก Collusive Détente ระหว่างรัสเซีย-สหร้ฐฯ ไม่น้อยทีเดียว แต่ Dmitri Trenin ผู้อำนวยการของ Carnegie Moscow Center เสนอว่าในมุมมองของปูติน การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่รางวัล แต่เป็นเพียงการรื้อฟื้นความสัมพันธ์แบบปกติ
และหากมองในเชิงสารัตถะแล้ว การประชุมสุดยอดผู้นำฯ นี้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ใหญ่หลายประการของรัสเซียอย่างรวดเร็วฉับไว ดังที่หลายฝ่ายวิจารณ์ทรัมป์ว่าเป็นเพียง ‘หุ่นเชิด’ ของปูติน
ประการแรก การรับรองสถานะของไครเมีย แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงยูเครน แต่ทรัมป์ก็ไม่ได้ประกาศรับรองการผนวกรวมคาบสมุทรไครเมียของรัสเซียอย่างเป็นทางการ
ประการที่สอง การยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทรัมป์ยังคงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียต่อไป
ประการที่สาม การปรับความสัมพันธ์รอบใหม่ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการทหารของสหรัฐฯ ในยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ สหรัฐฯ ไม่ได้ถอนทหารออกจากยุโรป และไม่ได้ถอนการสนับสนุนพันธมิตรในการปกป้องการรุกรานหรือโจมตีจากภัยคุกคามภายนอก ในกรณีนี้คือ แนวโน้มของการแทรกแซงของรัสเซียในประเทศยุโรปกลาง/ยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นความวิตกกังวลของพันธมิตรในยุโรป
ประการที่สี่ การเจรจาข้อตกลงในเรื่องการควบคุมหรือลดอาวุธยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงการควบคุมอาวุธสำคัญสองฉบับ ได้แก่ ข้อตกลงกำจัดขีปนาวุธพิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty) หรือข้อตกลง INF ปี 1987 และข้อตกลง New START (Strategic Arms Reduction Treaty) ปี 2010 (ซึ่งลดอาวุธพิสัยไกลของทั้งสองประเทศ) ทั้งสองข้อตกลงเผชิญกับวิกฤตในการเจรจาระหว่างสองมหาอำนาจในช่วงที่ผ่านมา กล่าวคือ ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต่างวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่ายว่าละเมิดข้อตกลง INF ในขณะที่ข้อตกลง New START ก็กำลังจะหมดอายุในปี 2021 เว้นแต่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงร่วมกันที่จะขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี ซึ่งเรายังไม่เห็นผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมจากการประชุมสุดยอดผู้นำฯ ครั้งนี้
อาจกล่าวได้ว่า แม้ว่ารัสเซียจะประสบความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์ แต่ในเชิงสารัตถะแล้ว ชัยชนะทางการทูตนั้นยังอีกยาวไกลนัก
โจทย์สำคัญที่สุดของปูตินคือเรื่องเศรษฐกิจการเมืองภายในรัสเซีย การลดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ย่อมจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันทางสังคมการเมืองในรัสเซีย แม้ว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอาจจะยังคงอยู่ในอนาคตอันใกล้ แต่การปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติ ย่อมจะทำให้แนวโน้มการค้าการลงทุนสามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ นี่คือความคาดหวังประการหนึ่งของปูติน
อีกประการหนึ่ง คือ การปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ ย่อมช่วยทำให้รัสเซียได้รับการยอมรับในฐานะมหาอำนาจของโลกอีกครั้งหนึ่ง ประเด็นเรื่องสถานะความเป็นมหาอำนาจนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำรัสเซียให้ความสำคัญอย่างยิ่งมาโดยตลอด
มายาคติ 3 : ทรัมป์และปูตินอาจทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซียปรับตัวดีขึ้น
แม้ว่าปัจจัยผู้นำจะมีบทบาทสำคัญ กล่าวคือ ทั้งทรัมป์และปูตินต่างแสดงท่าทีที่เป็นมิตรต่อกันและกัน แต่กระนั้น การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียก็ไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายดาย ทั้งนี้เพราะ
ประการแรก ทั้งสองมหาอำนาจต่างมีความขัดแย้งร้าวลึกมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นความไม่ไว้วางใจระหว่างประเทศ
หากมองในประวัติศาสตร์ช่วงยาว เราเห็นความพยายามในการปรับความสัมพันธ์ใหม่ หรือที่เราอาจเรียกว่า ‘รีเซ็ต’ (reset) ในทุกรัฐบาลของทั้งสองประเทศตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา เช่น สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา และ ดเมทรี เมดเวเดฟ ในช่วงระหว่างปี 2008-2012 เป็นต้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องมาจากความแตกต่างพื้นฐานทางด้านอัตลักษณ์ ผลประโยชน์ และคุณค่าปทัสถาน [1]
การปรับความสัมพันธ์ใหม่ หรือ ‘รีเซ็ต’ รอบนี้ จึงเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายอย่างยิ่งต่อทั้งรัฐบาลทรัมป์และปูติน
ความท้าทายของการปรับความสัมพันธ์ฯ อาจไม่เรื่องเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เช่นการจับมือระหว่างผู้นำหรือการออกแถลงการณ์ แต่คือการตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ว่า ทำไมความขัดแย้งร้าวลึกนี้ยังคงดำรงอยู่อย่างถาวร ทั้งๆ ที่ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามที่จะปรับความสัมพันธ์กันมาโดยตลอด การทำความเข้าใจสาเหตุเบื้องลึกของวิกฤตการณ์ในความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้
ประการที่สอง การปรับความสัมพันธ์ไม่สามารถอาศัยแค่การสร้างสายสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำ แต่ยังต้องอาศัยความชอบธรรมทางการเมืองภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ในการก้าวข้ามความสัมพันธ์แบบอริ
ความท้าทายสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้การปรับความสัมพันธ์นี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวที่แนบแน่นของผู้นำรัฐเท่านั้น แต่ยังทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ (1) ก้าวข้ามแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันซึ่งครอบงำโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลด้านนโยบายต่างประเทศหรือความมั่นคง (security/ foreign policy establishment หรือ ‘Blob’) (2) พัฒนาความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งในระดับภาครัฐและภาคประชาสังคม และ (3) ยกระดับเป็นความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันระหว่างกัน
มายาคติ 4 : การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ – รัสเซีย ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระเบียบโลกแบบเสรีนิยม และระบบพันธมิตร
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำฯ ครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้บริบทการเมืองระหว่างประเทศที่ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกำลังถูกท้าทาย สั่นคลอน ไม่ว่าจะเป็นกระแสประชานิยมฝ่ายขวา สงครามการค้าหรือลัทธิปกป้องการค้า (protectionism) การผงาดขึ้นมาของจีน (the rise of China) รวมทั้งรอยร้าวในความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติก (Transatlantic relations) โดยเฉพาะความไม่เห็นพ้องต้องกันระหว่างทรัมป์ กับผู้นำโลกตะวันตก ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และแคนาดา
กล่าวคือ ท่าทีของทรัมป์ที่สนับสนุนรัสเซีย และกังขาต่อระบบพันธมิตรดั้งเดิม กลายเป็นประเด็นถกเถียงโต้แย้งสำคัญในการประชุมระหว่างผู้นำโลกตะวันตกในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประชุม G-7 ที่แคนาดา หรือการประชุม NATO ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – รัสเซีย ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างมากต่อพันธมิตรในโลกตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งมองว่า การหันไปหารัสเซียของสหรัฐฯ อาจกระทบต่อระบบพันธมิตรข้ามแอตแลนติกอย่างมีนัยสำคัญ จนอาจนำไปสู่แนวโน้มของการเปลี่ยนขั้วระบบพันธมิตร (alliance shifting) หรือแม้กระทั่งจุดจบของ NATO
แต่หากมองจากรัสเซีย ระบบพันธมิตรทางการทหารภายใต้การนำของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ดี และเข้มแข็ง กล่าวคือ แนวโน้มการเพิ่มงบประมาณกลาโหม NATO ซึ่งทรัมป์เรียกร้องจากรัฐสมาชิกอย่างแข็งกร้าว กลับยิ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการทหารแก่ระบบพันธมิตร แม้ว่าวาทศิลป์ของทรัมป์จะรุนแรงหรือก้าวร้าวต่อพันธมิตรโลกตะวันตก แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะยังไม่ได้ถอนตัวออกจาก NATO อย่างที่หลายฝ่ายกังวล
สหรัฐฯ ยังยืนยันพันธกรณีที่มีต่อรัฐสมาชิกหากว่ารัฐใดรัฐหนึ่งถูกโจมตีจากภัยคุกคามภายนอก และยังคงกองกำลังของสหรัฐฯ ไว้ในยุโรป รวมทั้งการฝึกซ้อมรบร่วมในยุโรปกลาง/ยุโรปตะวันออก ก็ยังไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด ซึ่งรัสเซียวิจารณ์ท่าทีและบทบาทของ NATO ในฐานะที่มุ่งสกัดกั้นและมองรัสเซียเป็นศัตรูมาโดยตลอด
นอกจากนั้น ปัจจัยอื่นนอกเหนือจากการปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย – สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระเบียบภูมิรัฐศาสตร์โลกมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นกระแสประชานิยมฝ่ายขวา สงครามการค้าหรือลัทธิปกป้องการค้า การก้าวขึ้นมาของจีน รวมทั้งรอยร้าวในความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติกเอง
กระนั้นก็ดี ความท้าทายของการปรับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียคือ ทั้งสองตัวแสดงระหว่างประเทศยังจำเป็นต้องคำนึงถึงนัยที่มีต่อระเบียบและสันติภาพในระดับโลกด้วย เพราะทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต่างมีสถานะเป็นมหาอำนาจโลกซึ่งมีบทบาทและความรับผิดชอบระหว่างประเทศ
สรุป : Détente หรือ Collusion ?
เราอาจกล่าวได้ว่า Collusive Détente อาจให้ประโยชน์แก่รัสเซียในระยะสั้น แต่ไม่ได้ส่งผลดีต่อการปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย-สหรัฐฯ ในระยะยาว ไม่พักต้องกล่าวถึงนัยต่อระเบียบภูมิศาสตร์การเมืองโลก
แม้ว่าทรัมป์จะได้ส่งเทียบเชิญประธานาธิบดีปูตินมาเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ แต่การปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียก็ไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายเลย ทั้งนี้เพราะการปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับพลวัตการเมืองภายใน หรือต้องอาศัยความชอบธรรมทางการเมืองภายใน เพื่อส่งเสริมขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ
การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย อาจประสบผลสำเร็จในช่วงสมัยทรัมป์ – ปูติน แต่ก็คงจะไม่สง่างามสมศักดิ์ศรีนัก หรืออาจไม่ยั่งยืนถาวร
Détente ที่มีภาพลักษณ์ของการฮั้วกันนั้นอาจต้องแลกมาด้วยการขาดความชอบธรรมทางการเมือง การละเลยประเด็นคุณค่าปทัสถาน หรือแม้กระทั่งการท้าทายเสรีประชาธิปไตยเอง
ประเด็นสุดท้าย แม้ว่าการรื้อฟื้นความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซียจะมีแนวโน้มความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าลักษณะของความสัมพันธ์สหรัฐ-รัสเซียที่เป็นอริต่อกันนั้น เป็นความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่ร้าวลึกมานาน โจทย์สำคัญจึงไม่ใช่แค่เพียงการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวที่แนบแน่นของผู้นำ แต่ทำอย่างไรที่จะก้าวข้ามโครงสร้างสถาบันและวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ลำพังแค่ Collusive Détente อาจไม่ใช่คำตอบที่เพียงพอ
เชิงอรรถ
[1] โปรดดู จิตติภัทร พูนขำ, “ความสัมพันธ์สหรัฐฯ และรัสเซีย: ข้าม(ไม่)พ้น ความตึงเครียดร้าวลึก?”