fbpx
fridge

ชัยชนะของทุนนิยม(?) เมื่อ ‘ความเย็น’ กลายเป็นปัจจัยที่ห้า

นักเขียนนามบาร์บาร่า คราสเนอร์-เคต (Barbara Krasner-Khait) เริ่มต้นข้อเขียนชิ้นหนึ่งของเธอว่า ลองจินตนาการถึงชีวิตที่ปราศจากไอศครีม ผลไม้สด เบียร์แช่เย็นหรืออาหารแช่แข็ง ลองจินตนาการว่าต้องไปร้านขายอาหารสดทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่าได้ของสดมาทำอาหาร[1]

สิ่งที่เธอพาดพิงถึงคือ ‘ตู้เย็น’ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดูจะมีกันทุกบ้าน สิ่งที่เราคุ้นเคยจนมิได้ใส่ใจในความสำคัญ และความจำเป็นอย่างยิ่งยวดของมันที่มีต่อชีวิตประจำวันของเรา เพราะการมีตู้เย็นมิใช่เพียงเพื่อแช่น้ำเย็นไว้ดื่มดับกระหาย หรือเพื่อถนอมรักษาวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารให้คงความสดไว้เท่านั้น หากยังมีตู้เย็นเพื่อรักษาความสดของอาหารเพื่อการขนส่ง เคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆ เพื่อการบริโภค และเพื่อเหตุผลด้านการกระจายอาหารไปสู่ผู้คนที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งอาหาร เพื่อเก็บรักษาอายุและสภาพของยา วัคซีน และปัจจัยทางการแพทย์ที่ต้องอาศัยความเย็น เก็บรักษาอวัยวะต่างๆ เพื่อการผ่าตัดและช่วยชีวิตมนุษย์ เก็บตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยในหลายสาขาวิชา และเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์อีกมากมาย หากไร้ซึ่งตู้เย็นและอุปกรณ์รักษาความเย็นอื่นๆ เราคงสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาลในที่ต่างๆ และเราคงต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย โรคภัยต่างๆ ความทุกข์ทรมานและความยากลำบาก ที่มิอาจจินตนาการถึงได้เลย!

ทว่า ความสำคัญของตู้เย็น – และความเย็น – ไม่ได้มีเพียงด้านสังคม ชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจและการแพทย์เท่านั้น หากยังมีนัยทางการเมืองของสภาวะสมัยใหม่ (Modernity) ที่วางรากฐานอยู่บนอุดมการณ์ทุนนิยม การดำเนินชีวิตและการบริโภคแบบทุนนิยม แต่กลับมีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ แม้แต่ในประเทศสังคมนิยม เช่น สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (ที่เรียกกันย่อๆ ว่า ‘สหภาพโซเวียต’ ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองและการปกครองเหนือหลายประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ก่อนที่จะสูญเสียอำนาจหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และการเป็นอิสระของประเทศต่างๆ ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต) ยังต้องแสดงว่าสังคมของตนก็อยู่ในสภาวะสมัยใหม่ แม้ว่าจะมิได้เป็นทุนนิยมก็ตาม แต่ผู้คนในประเทศของตนก็มีการดำรงชีวิตที่ทันสมัย มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบอันสำคัญของสภาวะสมัยใหม่ มิได้ด้อยกว่าหรือน้อยหน้าประเทศทุนนิยมตะวันตกเลย

ในที่นี้ ผมจะเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงความเป็นมาและพัฒนาการเกี่ยวกับการรับรู้และความคิดเรื่อง ‘ความเย็น’ ในสังคมตะวันตก การค้นพบความสำคัญของความเย็น ที่นำไปสู่การคิดและประดิษฐ์เครื่องสร้างความเย็น – ซึ่งรวมถึง ‘ตู้เย็น’ ด้วย – และอิทธิพลของตู้เย็นในชีวิตประจำวันของเรา


เครื่องดื่มเย็นๆ

         
ผู้คนในที่ต่างๆ พยายามเก็บและถนอมความเย็นไว้เพื่อการบริโภคมานานแล้ว คราสเนอร์-เคต เล่าว่าในประเทศจีนมีการเก็บและรักษาน้ำแข็งไว้ตั้งแต่ก่อนหนึ่งพันปีที่แล้ว ส่วนชาวฮิบรู กรีกและโรมันก็เก็บหิมะไว้ในหลุมที่เตรียมไว้โดยเฉพาะ แล้วปิดคลุมหลุมด้วยวัสดุที่เป็นฉนวนเก็บความเย็น หากต้องการดื่มอะไรเย็นๆ ก็แค่เอาผสมกับหิมะที่ละลาย หรือเอาใส่ภาชนะแล้วนำไปฝังในหิมะแล้วรอให้เย็น แต่ถ้าไม่มีหิมะก็ทำอย่างคนอียิปต์โบราณ ที่เอาน้ำสุกใส่ในไหดินแล้ววางไว้บนหลังคาข้ามคืน ลมเย็นๆ ตอนกลางคืนจะทำให้น้ำเย็นเอง

เครื่องดื่มเย็นๆ เป็นที่นิยมกันมากในยุโรปใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลีและสเปน และนิยมในฝรั่งเศสราวปี 1600 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนวิธีการทำให้น้ำเย็น จากเดิมที่ใช้วิธีปล่อยให้น้ำเย็นลงตอนกลางคืน มาเป็นการใช้ขวดใส่น้ำดื่มที่มีคอยาวแล้วนำไปแกว่งในน้ำที่ผสมดินประสิว เพราะมีการค้นพบว่าวิธีการนี้จะทำให้อุณหภูมิของน้ำลดลงมาก และทำน้ำแข็งได้ จนถึงตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำส้มแช่แข็งก็กลายเป็นที่นิยมในสังคมฝรั่งเศส

นานนับศตวรรษ ผู้คนในที่ต่างๆ พยายามถนอมอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นมและเนย เพื่อเก็บไว้บริโภคในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บไว้ในห้องใต้ดิน บนที่วางของนอกหน้าต่าง หรือแม้แต่เก็บไว้ในน้ำในทะเลสาปที่อยู่ใกล้เคียง หรือบ้างก็เก็บไว้ในบ้านหลังเล็กๆ ที่สร้างอยู่เหนือลำธาร (เพื่ออาศัยความเย็นของน้ำในลำธารในการเก็บรักษาอาหาร) แต่วิธีการเหล่านี้ก็ไม่สามารถป้องกันการบูดเน่าเสียของอาหารเพราะเชื้อแบคทีเรีย และวิธีการฆ่าเชื้อโรคด้วยกรรมวิธีพาสเจอไรซ์ก็ยังไม่ถูกค้นพบ[2]


น้ำแข็งและพัฒนาการเรื่องความเย็นในสังคมอเมริกา

         
ก่อน ค.ศ. 1830 การเก็บถนอมอาหารส่วนใหญ่ใช้วิธีการหมักเกลือ การใช้เครื่องเทศ การรมควัน การหมักดอง และการอบแห้ง วิธีการแช่เย็นยังไม่เป็นที่นิยมกัน อาหารสดต่างๆ เช่น เนื้อสด ปลาสด นม ผักและผลไม้ ยังไม่มีความสำคัญต่อชีวิตของคนอเมริกันเหมือนเช่นทุกวันนี้ อันที่จริง อาหารหลักในสมัยนั้นส่วนใหญ่คือขนมปังและเนื้อเค็ม

เฟรดเดอริค ทิวดอร์ (Frederic Tudor) นักธุรกิจชาวบอสตันผู้ถูกขนานนามว่า ‘ราชาน้ำแข็ง’ (Ice King) เพราะร่ำรวยขึ้นจากการค้าน้ำแข็ง โดยเขานำน้ำที่แข็งเป็นน้ำแข็งในทะเลสาปแถบนิวอิงแลนด์ในฤดูหนาว ขนส่งทางเรือไปให้ลูกค้าในที่ต่างๆ แต่ในช่วงแรกเริ่มทำกิจการ เขาต้องประสบกับปัญหาใหญ่สองประการคือ ผู้คนทั่วไปยังไม่รู้ว่าจะเอาน้ำแข็งไปทำอะไร และน้ำแข็งซึ่งเป็นสินค้าของเขา ละลายไปมากในระหว่างการขนส่ง แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนเฉลียวฉลาด เขาค้นพบว่าการใช้ขี้เลื่อยคลุมน้ำแข็งจะช่วยให้น้ำแข็งละลายช้าลง เขาจึงดำเนินการขนส่งน้ำแข็งจากทะเลสาป (ที่ไม่ต้องซื้อหา เพียงแค่จ่ายค่าจ้างให้คนงานตัดน้ำแข็งเท่านั้น) ลงบรรทุกในเรือ ปกคลุมด้วยขี้เลื่อยเพื่อป้องกันการละลาย แล้วส่งไปให้ลูกค้า ในช่วงทศวรรษ 1820 ธุรกิจของเขาขยายตัวจนมีโรงเก็บน้ำแข็งที่ตัดมาจากทะเลสาปในนิวอิงแลนด์ตามเมืองต่างๆ ในภาคใต้ของประเทศ ในทศวรรษ 1830 เรือส่งน้ำแข็งของเขาแล่นไปไกลถึงเมืองริโอและบอมเบย์ ว่ากันว่าเมื่อเขาตายในปี 1864 เขาร่ำรวย – เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน – ราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [3]

หลังจากนั้นธุรกิจน้ำแข็งก็เริ่มเฟื่องฟูในอเมริกา ว่ากันว่าในปี 1879 มีโรงงานน้ำแข็งเพื่อการค้าราว 35 แห่งทั่วประเทศ สิบปีต่อมาก็มีมากกว่า 200 แห่ง และเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 แห่งในปี 1909 ปริมาณการบริโภคน้ำแข็งก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณกันว่าใน ค.ศ. 1907 น้ำแข็งราว 14-15 ล้านตันถูกนำมาเพื่อการบริโภค ทำให้น้ำแข็งในทะเลสาปทุกแห่งถูกตัดเจาะขึ้นมาและนำมาจำหน่าย ส่งผลให้น้ำแข็งตามธรรมชาติหายากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้แหล่งน้ำก็ถูกปนเปื้อนด้วยมลภาวะและน้ำเสียที่เกิดขึ้นตามชุมชนต่างๆ ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความสะอาดของน้ำและต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การคิดค้น ประดิษฐ์ และพัฒนาเทคโนโลยีการแช่เย็น/แช่แข็ง (Refrigeration technology) [4]


เทคโนโลยีการแช่เย็น/แช่แข็ง

         
แต่มหาเศรษฐีอย่างทิวดอร์ไม่ใช่คนจิตใจโอบอ้อม น่ารักเลย มีเรื่องเล่าว่าในเมืองเล็กๆ ชื่ออะพาลาชิคโคลา (Apalachicola) ในรัฐฟลอริดา ตั้งอยู่ใกล้กับหนองบึงที่เต็มไปด้วยยุงที่เป็นพาหะของเชื้อมาลาเรีย ใน ค.ศ. 1842 นายแพทย์ชื่อ จอห์น กอร์รี่ (John Gorrie) พยายามรักษาคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ซึ่งมักมีไข้สูง ตัวร้อน โดยนำก้อนน้ำแข็งขึ้นไปแขวนไว้บนเพดานห้องคนไข้ ปรากฏว่าน้ำแข็งช่วยให้อุณหภูมิของห้องเย็นลง ซึ่งช่วยให้อุณหภูมิของคนไข้ลดลงด้วย พอไข้ลดลง คนไข้บางคนก็หายป่วยและรอดชีวิต แต่ปัญหาคือรัฐฟลอริดาตั้งอยู่ในเขตที่พายุเฮอริเคนมักเกิดขึ้นเสมอ เป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อเรือที่ขนส่งน้ำแข็งจากนิวอิงแลนด์มาฟลอริดา ทำให้บ่อยครั้งที่เกิดการขาดแคลนน้ำแข็ง หมอกอร์รี่จึงคิดค้นวิธีทำความเย็นขึ้นด้วยตนเอง

เขาอาศัยความคิดเรื่องสุญญากาศที่อาจทำให้เกิดความเย็น หมอกอร์รี่ประดิษฐ์เครื่องทำความเย็นที่มีท่อต่อกับเครื่องปั๊มอากาศ แล้วบีบอัดอากาศ (compress air) ทำให้อากาศร้อนขึ้น เกิดการขยายตัว แล้วอากาศรอบๆ เย็นตัวลง ในขณะที่น้ำที่ไหลไปตามท่อในเครื่องปั๊มก็จะช่วยให้ความร้อนของเครื่องลดลงด้วย ปรากฏว่าเครื่องทำความเย็นของเขาทำงานได้ผล ช่วยในการรักษาคนไข้ของเขา เขาจึงขอจดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ของเขา ทว่า ทิวดอร์ นักธุรกิจผู้ร่ำรวยจากการค้าน้ำแข็ง ไม่พอใจที่หมอกอร์รี่คิดประดิษฐ์เครื่องทำความเย็นได้สำเร็จ จึงสร้างความเท็จ กล่าวหาว่าน้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องทำความเย็นของหมอกอร์รี่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ ทำให้หมอกอร์รี่ขายเครื่องทำความเย็นไม่ได้เลย สุดท้ายก็เสียชีวิตลงอย่างยากจน[5]

แต่ความคิดในการประดิษฐ์เครื่องทำความเย็นไม่เคยตาย ในปี 1859 ชายฝรั่งเศสผู้มีชื่อว่าเฟอร์ดินานด์ คาร์เร่ (Ferdinand Carré) ได้คิดระบบทำความเย็นที่มีความก้าวหน้า มีประสิทธิภาพกว่าระบบบีบอัดอากาศของหมอกอร์รี่ คาร์เร่ใช้แอมโมเนียเป็นตัวเร่งให้เกิดความเย็น ระบบนี้ใช้การได้ดีเยี่ยม แต่แอมโมเนียเป็นก๊าซที่มีพิษและอาจอันตรายถึงชีวิตหากเกิดการรั่วไหลขึ้น [6] เครื่องทำความเย็นที่ใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และเมทิลคลอไรด์ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน จนกระทั่งในปี 1928 บริษัทชื่อฟริกจิแดร์ (Frigidaire) ได้ค้นพบระบบทำความเย็นที่เรียกว่า ‘ฮาโลคาร์บอน’ (Halocarbons) หรือ ‘CFCs’ (Chlorofluorocarbons) ซึ่งปลอดภัยกว่า ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ส่งผลให้การพัฒนาด้านความเย็นประสบความสำเร็จ เกิดการผลิต ‘ตู้เย็น’ อย่างมหาศาลในภายหลัง [7]

ทว่า มีการค้นพบว่า ‘CFCs’ เมื่อรั่วไหลสู่อากาศจะมีผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ และทำลายบรรยากาศในชั้นโอโซน (Ozone layer) สารชนิดนี้จึงถูกแบน และเลิกใช้ในระบบทำความเย็นของตู้เย็นในอเมริกาช่วงทศวรรษ 1970 และในประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา

ความนิยมชมชอบใน ‘ความเย็น’ และพัฒนาการด้านเทคโนโลยีความเย็นในสังคมอเมริกันได้ทำให้ตู้เย็นกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป มีผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่าตู้เย็นประจำบ้าน (Household Refrigerator) เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะมีเทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่สมบูรณ์แบบ ไว้วางใจได้ และราคาไม่แพง จึงสามารถซื้อหามาเป็นเจ้าของได้ ตู้เย็นได้เปลี่ยนวิธีการกินของผู้คนและส่งผลกระทบทางสังคมต่อคนในครัวเรือน ทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาบริการส่งน้ำแข็งตามบ้าน

ในช่วงทศวรรษ 1920 ตู้เย็นได้กลายเป็นสิ่งสำคัญของเครื่องใช้ในครัว เฉพาะปี 1921 ปีเดียว มีการผลิตตู้เย็นถึง 5,000 เครื่องในอเมริกา สิบปีต่อมาจำนวนตู้เย็นที่ผลิตได้มีมากกว่าหนึ่งล้านเครื่อง และหกปีต่อมาก็มีมากกว่าหกล้านเครื่อง แต่การผลิตตู้เย็นเป็นจำนวนมาก (Mass Production) เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 1950 มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของฟาร์มในอเมริกา และมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเรือนในเขตเมือง มีตู้เย็นอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง[8]


สภาวะสมัยใหม่แบบโซเวียต

         
ผมควรระบุว่าตู้เย็นมิได้เป็นเพียงเครื่องไฟฟ้าประจำบ้านในชีวิตคนอเมริกันเท่านั้น หากยังกลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของสัญลักษณ์แห่งสภาวะสมัยใหม่ มีนัยของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความมั่นคงและสุขอนามัยทางอาหาร การบริโภค และความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน จึงอาจกล่าวได้ว่าตู้เย็นเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตสมัยใหม่อันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมิได้จำกัดอยู่แค่ในสังคมตะวันตก แต่สังคมอื่นๆ (เช่น ในเอเชีย ซึ่งรวมถึงสังคมไทยด้วย) ก็ปรารถนาที่จะมีเช่นกัน

ประเด็นหนึ่งที่ควรชี้แจงด้วยคือ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสภาวะสมัยใหม่ของสังคมตะวันตกแตกต่างจากของสังคมโซเวียต แอนดรูว์ แชปแมน (Andrew H. Chapman) เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับการเข้าคิวรอในสังคมโซเวียต โดยเน้นศึกษาวาทกรรมเรื่องการเข้าแถวรอ (ยืนเข้าคิว) และประสบการณ์ของผู้คนที่ต้องเข้าแถวและรอคอย ที่เขาเรียกว่า ‘Queuetopia’ ประเด็นที่น่าสนใจคือเขาระบุถึงความแตกต่างของสภาวะสมัยใหม่ โดยแบ่งว่าประเทศที่เป็นทุนนิยมตะวันตกเป็นสังคมที่มี ‘สภาวะสมัยใหม่ของโลกที่หนึ่ง’ (First-world modernity) และโซเวียตเป็นสังคมที่เป็น ‘สภาวะสมัยใหม่ของโลกที่สอง’ (Second-world modernity) [9]

ด้วยเหตุที่แชปแมนสนใจเรื่องวาทกรรม จึงให้คำอธิบายว่าเราอาจพิจารณาถึงความแตกต่างของสภาวะสมัยใหม่นี้ได้จากภาษา เช่น ในภาษาอังกฤษ มีวาทกรรมเรื่องเวลาและเงิน มีคำกล่าวที่ว่า “เวลาเป็นเงิน” (Time is money.) และคำว่า “มาก่อน ได้ก่อน” (First come, first serve.) แต่ถ้อยคำในภาษารัสเซียคือ “เวลาให้เงินได้ แต่คุณไม่อาจซื้อเวลาด้วยเงิน” (เขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Time provides money, but you can’t buy time with money.”) อันมีนัยว่าเวลาไม่ใช่สินค้าที่ซื้อหาได้ และไม่ใช่สิ่งที่สังคมโซเวียตย้ำความสำคัญมากนัก เขาเสนอว่าหากเราทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดเรื่องความล่าช้า เราก็จะเข้าใจเรื่องสภาวะสมัยใหม่ของโลกที่สองและเรื่องระบบเศรษฐกิจของโซเวียต ซึ่งไม่ได้วางอยู่บนความคิดเรื่องผู้ให้บริการและลูกค้า และช่องว่างของการจัดสรรสินค้า (ที่ให้ได้ไม่ทั่วถึง ทำให้ลูกค้าต้องเข้าแถวรอ) [10]

ซูซาน รีด (Susan E. Reid) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมโซเวียต เริ่มต้นบทความชิ้นหนึ่งของเธอว่าสภาวะสมัยใหม่แบบโซเวียตเต็มไปด้วยปฏิพจน์ (oxymoron) หรือสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง โดยกล่าวว่าแนวคิดสมัยใหม่ (Modernism) แบบโซเวียตวางอยู่บนรากฐานที่ตรงกันข้ามกับ ‘ค่าย’ ทุนนิยม ด้วยเหตุผลที่ว่าสังคมนิยมและความเป็นสมัยใหม่นั้นเข้ากันไม่ได้ แม้ว่าความคิดเรื่องความเป็นสมัยใหม่จะเคยปราฏในสังคมรัสเซียช่วงทศวรรษ 1920 ก็ตาม แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะคิดถึงความคิดนี้ในช่วงสงครามเย็น [11]

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้รีดอภิปรายถึงการเคหะ (Housing) ในโซเวียต ซึ่งประสบปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการขาดแคลน รัฐบาลไม่อาจสร้างที่อยู่ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรได้ ทว่า หลังจากที่ นิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ครุชชอฟสั่งให้พัฒนาด้านการเคหะและให้สร้างอาคารจำนวนมากเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เป็นผลให้เกิดความคิด/ความรู้สึกเรื่องบ้านที่อบอุ่นน่าอยู่ (Cozy home) ในหมู่เจ้าของบ้าน (ผู้ย้ายเข้าไปอยู่ในอพาร์ทเมนท์ใหม่) เกิดความคิดเรื่องการตกแต่งบ้าน สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับบ้าน ฯลฯ นำไปสู่วิถีชีวิตใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฏในสังคมโซเวียตมาก่อนนั่นคือ การบริโภค (Consumption)[12]


การบริโภคและตู้เย็นในสังคมนิยมแบบโซเวียต

         
ในงานเขียนอีกชิ้นหนึ่ง ซูซาน รีด กล่าวถึงพัฒานาการด้านเคหะในโซเวียตสมัยครุชชอฟที่ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมและการสร้างมาตรฐานในด้านการเคหะ เกิดอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ (Consumer goods manufacture) ที่วางอยู่บนแนวคิดสมัยใหม่ที่เน้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการ สุขอนามัย การเลี้ยงดูเด็ก และอื่นๆ และเกิดการบริโภคสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตในบ้าน [13] ส่วนบทความอีกชิ้นหนึ่งก็อภิปรายถึงบทบาทของผู้หญิงในการสร้างบ้านให้อบอุ่นน่าอยู่ และรสนิยมในการบริโภค ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวคิดสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไปในสมัยครุชชอฟ [14]

เปรียบเทียบกับข้อความตอนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของแชปแมน ที่พาดพิงถึงนิยายเรื่อง ‘The Fur Hat’ ของนักเขียนรัสเซียนาม Vladimir Voinovich ที่เขียนล้อเลียนสังคมรัสเซียและการมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองแบบสังคมนิยม โดยกล่าวถึงตัวละครที่มีนามว่า Efim ผู้มีความคิดว่าความสำเร็จในชีวิตคือความร่ำรวยทางวัตถุ เขาจึงมีอพาร์ทเมนท์สวยๆ และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ชุดรับแขกจากโรมาเนีย เตียงนอนแบบอาหรับ เปียโนของเชคโกสโลวาเกีย โทรทัศน์โซนี่ของญี่ปุ่น และตู้เย็นโรเซ็นเลฟของฟินแลนด์ (a Finnish Rozenlev refrigerator) [15]

อันที่จริง อาจเป็นการผิดพลาดหากเราคิดว่าสภาวะสมัยใหม่ของโซเวียตไม่ทันสมัยเหมือนของสังคมทุนนิยมตะวันตก ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไร้ซึ่งความคิดในการออกแบบ หรือไม่ได้คำนึงถึงความคิดเรื่องสุนทรียะ ขาดความงดงาม

ยูเลีย คาร์โพวา (Yulia Karpova) นักประวัติศาสตร์ด้านการออกแบบแห่ง Central European University ศึกษาการออกแบบของโซเวียตโดยใช้เอกสารหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการที่รัฐให้การสนับสนุน การทดลองการออกแบบภายใน ต้นแบบสินค้าประจำบ้าน งานวิจัยด้านการบริโภค ตลอดจนโครงการใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจต่อกิจกรรมต่างๆ ของศิลปินของสหภาพโซเวียตและใน All-Union Research Institute of Technical Aesthetics (VNIITE) รวมถึงศิลปินคนอื่นๆ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่มที่เสนอความคิดทางเลือก (groups with alternative views) การศึกษาของเธอไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและสุนทรียศาสตร์ในการออกแบบของโซเวียตเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงอคติทางวิชาการของสังคมตะวันตกที่ละเลย ไม่ให้ความสนใจต่อประวัติศาสตร์การออกแบบของโซเวียต[16]

ในบทที่ 4 ของหนังสือ คาร์โพวาอภิปรายถึงต้นแบบ (prototype) ของการออกแบบในช่วงทศวรรษ 1970 ได้แก่ นาฬิกาปลุก Vitiaz (ปี 1972) ตู้เย็น OKA-USh (ปี 1972-1974) และเครื่องดูดฝุ่น Buran (ปี 1977) ทั้งสามประเภทถูกออกแบบขึ้นด้วยการเน้นประสิทธิภาพการใช้งานในบ้านเรือน โดยพัฒนาจากงานวิจัยของสถาบัน VNIITE ที่เริ่มขึ้นกลางทศวรรษ 1960 กลายเป็นการออกแบบและผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในโซเวียต (ที่ก่อนหน้านี้เกิดการขาดแคลน ไม่เพียงพอ) ตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลสังคมนิยม คาร์โพวาย้ำว่าประดิษฐกรรมทั้งสามประเภทถูกออกแบบโดยเฉพาะ และคำนึงถึงน้ำหนักและขนาดที่เหมาะสมกับที่อยู่อาศัย[17] ที่น่าทึ่งคือเธอได้แสดงให้เห็นว่าต้นแบบของการออกแบบทั้งสามสิ่งนี้วางอยู่บนพื้นฐานของความรู้ทางวิศวกรรมและทางวิทยาศาสตร์

และคงไม่น่าแปลกใจว่าสภาวะสมัยใหม่แบบโซเวียตจะมีอิทธิพลต่อสังคมอื่นที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต เช่น ประเทศในเอเชียกลาง ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ แคทริน ดูเลย์ (Kathryn Amelia Dooley) ที่ศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์และวัฒนธรรมการบริโภคในเอเชียกลาง จาก ค.ศ. 1945 ถึง ค.ศ. 1985 ที่ได้รับอิทธิพลจากการบริโภคแบบโซเวียต ในการอภิปรายตอนหนึ่งเธอพาดพิงถึงภาพวาดการ์ตูนแสดงรูปผู้ชายชาวอุซเบก (Uzbek) ถูกทับอยู่ใต้สิ่งของต่างๆ ที่เป็นสินสอดสำหรับการแต่งงาน เป็นวัตถุที่ปนเปกันระหว่างสินค้าประจำชาติและสินค้าโภคภัณฑ์สมัยใหม่ในช่วงเวลานั้น เช่น ผ้าพื้นเมืองสำหรับการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า พรม หมอน หีบไม้แกะสลัก โทรทัศน์ ตู้เย็น และหม้อต้มชาแบบรัสเซีย (Russianstyle samovar) [18]


ความสำคัญของตู้เย็น

         
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าตู้เย็นมีความสำคัญเพียงใดในชีวิตประจำวันของสังคมไทย จนผมอยากเดาว่าบ้านเรือนส่วนใหญ่มีตู้เย็น ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวเช่นนี้ น้ำเย็นที่แช่ในตู้เย็นนอกจากช่วยดับกระหายแล้ว ยังทำให้รู้สึกชื้นใจ ลดความร้อนในร่างกายลงได้ หรือถ้าไม่อยากเดินฝ่าแดดร้อนออกไปซื้ออาหาร แต่มีข้าวกล่องที่ซื้อมาจากร้านสะดวกซื้อที่แช่ไว้ในตู้เย็น เพียงนำออกมาอุ่นให้ร้อนก็กินได้ รวมถึงอาหารคาวหวาน ขนมชนิดต่างๆ ไอศครีม ฯลฯ ที่แช่เย็นรอการบริโภคอยู่ในตู้เย็น ชีวิตคนไทยก็สะดวกสบายขึ้นอีกมากมาย

ผมเริ่มต้นงานเขียนนี้ด้วยการพาดพิงถึงอาหารสดๆ เครื่องดื่มเย็นๆ เลยทำให้คิดถึงเรื่องในวัยเด็ก ถ้าจำไม่ผิด ตู้เย็นใบแรกในครอบครัวของผมเป็นยี่ห้อซันโย (SANYO) ตอนนั้นผมน่าจะอายุราว 8-9 ขวบ จำได้ถึงความดีใจของทุกคนในครอบครัวที่มีตู้เย็น รสชาติของน้ำที่แช่เย็น จำได้ว่าแม่ไม่ต้องไปตลาดสดทุกวันเพื่อซื้อเนื้อหมูสด ผักและของสดอื่นๆ เพราะซื้อมาแช่ไว้ในตู้เย็นได้หลายวัน

ตู้เย็นช่วยให้แม่มีเวลาอยู่บ้าน นั่งพักผ่อนได้บ้าง

เขียนถึงอะไรเย็นๆ แล้วทำให้รู้สึกกระหาย

เดี๋ยวอ่านทบทวนที่เขียนนี้อีกครั้ง แก้ไขเสร็จสมบูรณ์แล้วส่งให้ บ.ก. ผมว่าจะเปิดเบียร์เย็นๆ ที่แช่ไว้ในตู้เย็นดื่มซักขวด



อ้างอิง

[1] Barbara Krasner-Khait. “The Impact of Refrigeration

[2] Ibid.

[3] Steven Johnson, “Cold”, in How We Got to Now: Six Innovations That Made the Modern World (New York: Riverhead Books, 2014), pp. 45-54.

[4] Krasner-Khait. “The Impact of Refrigeration”.

[5] Johnson, “Cold”, pp. 62-65.

[6] Lindsey Chapman, “The History of the Refrigerator: Staying Cool Throughout the Ages”, findingDulcinea: Librarian of the Internet, November 24, 2010

[7] Krasner-Khait. “The Impact of Refrigeration”.

[8] Ibid.

[9] Andrew H. Chapman, “Queuetopia: Second-World Modernity and the Soviet Culture of Allocation” (Ph.D. Dissertation, Arts, University of Pittsburgh, 2013).

[10] Ibid., pp. 20-21.

[11] Susan E. Reid, “Communist Comfort: Socialist Modernism and the Making of Cosy Homes in the Khrushchev Era”, Gender and History, 21(3), November 2009, pp. 465–498.

[12] Ibid.

[13] ดู Susan E. Reid, “Khrushchev Modern: Agency and Modernization in the Soviet Home”, Cahiers du Monde russe, Jan. – Jun., 2006, Vol. 47, No. 1/2, pp. 227-268.

[14] ดู Susan E. Reid, “Cold War in the Kitchen: Gender and the De-Stalinization of Consumer Taste in the Soviet Union under Khrushchev”, Slavic Review, Vol. 61, No. 2, Summer 2002, pp. 211-252.

[15] Chapman, “Queuetopia: Second-World Modernity and the Soviet Culture of Allocation”, p. 151.

[16] Yulia Karpova, Comradely Objects: Design and Material Culture in Soviet Russia, 1960s-1980s (Manchester: Manchester University Press, 2020).

[17] Ibid., Chapter 4, pp. 118-158.

[18] Kathryn Amelia Dooley, “Selling Socialism, Consuming Difference: Ethnicity and Consumer Culture in Soviet Central Asia, 1945-1985” (Ph. D. Dissertation, History, Harvard University, 2016), p. 234.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save