fbpx
ลิงเก็บมะพร้าวในไทยกับการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ในอังกฤษ

ลิงเก็บมะพร้าวในไทยกับการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ในอังกฤษ

สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

กรณีที่มีสื่อรายงานเรื่องการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวด้วยวิธีการแบบทารุณ และผู้บริโภคในอังกฤษมีการรณรงค์ต่อต้านธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจการค้าอย่างผิดจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้แรงงานคนหรือทารุณสัตว์ รวมไปถึงกระบวนการผลิตสินค้าที่มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเด็นเรื่องการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม (ethical business practice) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility – CSR) หวนกลับมาเป็นกระแสการถกเถียงกันอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนเรื่องที่มีผู้เข้าใจผิดไถลไปไกลถึงเรื่องการหมิ่นศักดิ์ศรี เหยียบย่ำวิถีประเพณีชาวบ้าน หรือมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของอดีตนักล่าอาณานิคมจนต้องออกมาโต้เถียงอย่างรุนแรงนั้น คงต้องโทษวิธีการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนในประเทศไทยที่ทำให้มีการหลงประเด็น เพราะรัฐบาลอังกฤษมิได้มีมาตรการใดๆ ออกมา แต่เป็นเรี่องของกลุ่มพลเมืองที่เคลื่อนไหวใช้พลังผู้บริโภคกดดันให้ธุรกิจประพฤติตนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้

ลิงเก็บมะพร้าวในไทยกับการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ในอังกฤษ
ภาพจาก www.peta.org.uk

มีกรณีตัวอย่างที่กลุ่มเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จเมื่อเร็วๆ นี้คือบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ระดับโลกแห่งหนึ่งที่ขายสินค้าสบู่แชมพูและอาหารยี่ห้อดังมากต้องติดป้ายที่สินค้าของตนว่า “ไม่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมในการผลิต” หลังจากมีกลุ่มรณรงค์ต่อต้านน้ำมันปาล์มเพราะเป็นผลผลิตที่ได้มาจากการเผาทำลายป่าในอินโดนีเซียอันเป็นที่อยู่อาศัยของลิงอุรังอุตัง น้ำมันปาล์มจึงกลายเป็นสินค้าที่ไม่พึงประสงค์ของผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมและการอยู่ดีกินดีของสัตว์ป่า

การเคลื่อนไหวของขบวนการปกป้องพิทักษ์สัตว์ (animal rights movement) ในสหราชอาณาจักรมีมากมายหลากหลายกลุ่มโดยมีวัตถุประสงค์แยกแตกต่างกันไป และมีวิธีการต่อสู้รณรงค์ที่แตกต่างกันแล้วแต่ประเด็นการต่อสู้ บางแห่งก็ใช้สันติวิธี ด้วยการตีแผ่ข้อมูลเรียกเสียงสนับสนุนจากสังคมวงกว้าง สร้างกระแสกดดันทางสังคม (social sanction) เรียกเสียงตอบรับจากสื่อมวลชน เรียกร้องให้ผู้บริโภคบอยคอตธุรกิจที่ทารุณสัตว์ แต่บางแห่งก็ใช้วิธีรุนแรงแบบผิดกฎหมายก็มี อย่างเช่นกลุ่มที่ต่อต้านการนำเอาสัตว์มาใช้ในห้องทดลองยาเป็นต้น อย่างกลุ่มที่มักเป็นข่าวกันบ่อยๆ ได้แก่ Animal Liberation Front (ALF)

กลุ่ม ALF นี้ประกาศหลักการในทางสาธารณะว่าจะรณรงค์อย่างสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงต่อทั้งมนุษย์และสัตว์ แต่นักเคลื่อนไหวสายเหยี่ยวบางคนของกลุ่มนี้บางคนก็มีพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมาย เช่นการข่มขู่แบบถึงเนื้อถึงตัวผู้บริหารธุรกิจ หรือผู้ปฏิบัติการในห้องทดลองที่ใช้สัตว์มาลองยา ขู่กรรโชกว่าจะวางเพลิงก็เคยเป็นข่าว บ้างก็ทำลายทรัพย์สินของหน่วยงานวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยหรือธุรกิจด้านเภสัชกรรม-เครื่องสำอาง

ขบวนการปกป้องพิทักษ์สัตว์ในอังกฤษส่วนใหญ่แล้วมักจะเคลื่อนไหวเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น ไม่ไปข้องแวะกับต่างประเทศ แต่ก็มีบางกลุ่มเหมือนกัน เช่น กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทยจนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อเร็วๆ นี้คือ People for the Ethical Treatment of Animals (PETA) ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมพิทักษ์สิทธิสัตว์ที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลก คือมีมากกว่าแปดแสนคน กลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์หลักสี่ประการ คือ คัดค้านการเลี้ยงสัตว์แบบทารุณที่เรียกว่า factory farm คัดค้านการใช้สัตว์ในห้องทดลอง ต่อต้านอุตสาหกรรมเสื้อผ้าขนมิงค์ที่เรียกว่า fur trade และต่อต้านการใช้สัตว์ในธุรกิจบันเทิง เช่น ละครสัตว์ เป็นต้น เท่าที่ผ่านมาผลงานเด่นของกลุ่มนี้ได้แก่การเปลี่ยนพฤติกรรมของวงการแฟชั่นชั้นสูง ทำให้เศรษฐี ดารา นักร้อง ที่เรียกกันว่าเซเลบหรือแม้กระทั่งสมาชิกราชวงศ์ ไม่กล้าสวมใส่เสื้อเฟอร์ออกงาน กลัวถูกประจานออกสื่อว่าหาความสุขจากการทารุณสัตว์

เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน PETA และกลุ่มต่อต้านการทารุณสัตว์หลายกลุ่มรวมตัวกัน โดยมีหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งเป็นแนวร่วม รณรงค์เคลื่อนไหวให้ฟาร์มเลี้ยงไก่ทั่วประเทศยุติการเลี้ยงไก่แบบที่เรียกว่า battery hen คือกักขังเลี้ยงในกรงแคบๆ อันเป็นวิธีการเลี้ยงสัตว์แบบทารุณ กลุ่มผู้บริโภคให้ความร่วมมือจนฟาร์มเลี้ยงไก่เหล่านั้นต้องปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงไก่ให้มีมนุษยธรรมมากขึ้น บรรดาซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลายต้องติดป้ายรับรองว่าไก่ที่นำมาขายนั้นไม่ได้มาจาก factory farm เพื่อให้ผู้บริโภคสบายใจ

สำหรับกลุ่มที่ทรงอิทธิพลและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดสำหรับประชาชนในสหราชอาณาจักรคือ Royal Society for the Prevention of Cruelty to Animals (RSPCA) ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้งสมัยสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเมื่อปี ค.ศ. 1840 ปัจจุบันมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธเป็นองค์อุปถัมภ์ โดยได้รับการรับรองทางกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศกว่าห้าร้อยคน มีสาขาเกือบสองร้อยแห่ง ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนเรื่องร้องเรียนที่มีการทารุณสัตว์ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินคดีกับบุคคลที่ต้องสงสัยว่าทอดทิ้งหรือทารุณสัตว์ บังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองสัตว์อย่างเข้มข้น น่าจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทพิทักษ์สิทธิสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีผลงานต่อเนื่องมายาวนาน

กลุ่มเคลื่อนไหวอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เป็นหัวหอกในการผลักดันให้มีการออกกฎหมายยุติการล่าสุนัขจิ้งจอก (fox hunting) ซึ่งถือว่าเป็นวิถีชาวบ้านของชาวอังกฤษชนบทมาหลายร้อยปี คือกลุ่ม League Against Cruel Sports กลุ่มนี้จัดตั้งพื้นที่คุ้มครองสัตว์หลายแห่งทางภาคตะวันตกของอังกฤษ

แม้จะเรียกว่าการล่าสุนัขจิ้งจอก แต่ความจริงเป็นเกมกีฬาเลือด (blood sports) ไล่ล่าฆ่าสัตว์แบบทารุณ โดยที่ชาวอังกฤษในพื้นที่ชนบทรวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ แล้วขี่ม้าถือปีนยาวพร้อมสุนัขจำนวนมากออกล่าสัตว์ต่างๆ เช่น กวาง กระต่ายป่า ตัวมิงค์ (ที่มักจะถลกหนังมาทำเสื้อเฟอร์) และสุนัขจิ้งจอกตามทุ่งเนินเขาในชนบท มักจะออกล่ากันต้นฤดูหนาว เป็นวิถีชาวบ้านที่ปฏิบัติกันต่อเนื่องมาตั้งแต่โบราณ แต่ต้องสิ้นสุดลงเมื่อรัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ออกกฎหมาย The Hunting Act 2004 มีผลบังคับใช้ในแคว้นอังฤษและเวลส์ (ส่วนที่สกอตแลนด์มีกฎหมายห้ามอยู่แล้วสองปีก่อนหน้า สำหรับไอร์แลนด์เหนือยังไม่มีกฎหมายลักษณะนี้) ทำให้กีฬาเลือดดังกล่าวผิดกฎหมาย ทั้งนี้หลังจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์หลายกลุ่มเคลื่อนไหวนานสิบปีจนพรรคเลเบอร์ต้องกำหนดไว้ในนโยบายหาเสียง และนับว่าเป็นนโยบายหนึ่งที่ได้คะแนนช่วยให้นายโทนี แบลร์ชนะเลือกตั้ง

ลิงเก็บมะพร้าวในไทยกับการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ในอังกฤษ
ภาพจาก www.league.org.uk

กลุ่มเคลื่อนไหวอีกกลุ่มหนื่งที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์คือกลุ่ม Animal Aid เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวแบบสันติวิธี รณรงค์ต่อต้านการทำร้ายทารุณสัตว์ในรูปแบบต่างๆ และส่งเสริมให้มนุษย์ใช้ชีวิตที่ไม่เป็นการทำร้ายทารุณสัตว์ กลุ่มนี้จะมีทีมงานสืบสวนสอบสวนในทางลับ แล้วนำหลักฐานที่ค้นพบมาฟ้องสังคม ด้วยการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน เรียกร้องให้ใช้มาตรการทางสังคมขัดขวางต่อต้านการทำร้ายสัตว์

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกลุ่มนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งที่มีผลงานต่อเนื่องกันมา ความจริงยังมีกลุ่มใหญ่กลุ่มเล็กอีกหลายสิบกลุ่มที่เคลื่อนไหวในระดับชาติ และในระดับท้องถิ่น เช่นชมรมนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยดังๆ หลายแห่งที่มีห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ หรือวอร์ริค จึงไม่แปลกที่คนหนุ่มสาวชาวอังกฤษที่ผ่านรั้วมหาวิทยาลัยดังกล่าวย่อมต้องเคยเข้าร่วมกับชมรมดังกล่าวมาแล้ว และพกพาอุดมการณ์ติดตัวเมื่อจบออกมาด้วยอย่างเช่น แคร์รี ไซมอนด์ส ศิษย์เก่าวอร์ริค คู่หมั้นของนายก รัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ที่ใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัวสนับสนุนกลุ่ม PETA ที่ออกมารณรงค์เรื่องลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทย

ในสหราชอาณาจักรมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวหลากหลายตามประเด็นความสนใจของแต่ละคน ส่วนหนึ่งก็มีจุดเริ่มต้นมาจากกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย และเมื่อจบการศึกษาแล้วคนเหล่านี้เข้าสู่ตลาดแรงงานก็ยังสมัครเป็นสมาชิกหรือส่งเงินสนับสนุนการเคลื่อนไหวเหล่านั้น อย่างกรณีประเด็นทางสังคมเรื่องการทารุณสัตว์ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คนเหล่านี้จะไม่ถอยไม่ทน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนในฐานะผู้บริโภคด้วยการบอยคอตสินค้า หรือการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลที่จะออกกฎหมายแบบ The Hunting Act 2004 ตามที่หาเสียงเอาไว้ จะได้ยุติกีฬาเลือดของคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างถึงวิถีชีวิตชาวบ้านแต่โบราณกาลในการทารุณสัตว์

เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่มนักเคลื่อนไหวคือการกระตุ้นผู้บริโภคให้รวมพลังกันกดดันธุรกิจ- อุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองต่อความอ่อนไหวไม่ยอมรับพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมหรือผิดจริยธรรม ไม่ยอมรับการค้ากำไรที่ได้มาจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การทรมานสัตว์ การทำลายสิ่งแวดล้อม หรือที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ทั่วโลกขณะนี้คือ แฮชแท็ก #StopHateforProfit การรณรงค์ของกลุ่มที่เรียกร้องให้ Facebook จัดการกับคอนเทนต์ในลักษณะ ‘วจีทุจริต’ สร้างความเกลียดชัง สร้างความแตกแยกในหมู่คนต่างสีผิว การปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันทางการเมือง

ความจริงก่อนหน้านี้ก็เคยมีหลายกลุ่มเคลื่อนไหวโดยตรงไปถึงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แต่ไม่ได้ผล เขาอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ของ Facebook ที่จะคอยเซ็นเซอร์คอนเทนต์ที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มของตน

กลุ่ม #StopHateforProfit จึงเปลี่ยนเป้าหมายการรณรงค์ด้วยการใช้พลังของผู้บริโภควิ่งเต้นล็อบบี้บรรษัทยักษ์ใหญ่ระดับ global brand ที่ลงโฆษณาใน Facebook แล้วปรากฏว่าได้ผล เพราะยักษ์ใหญ่หลายแห่งเป็นห่วง brand value ของตน ไม่อยากให้ถูกสังคมตราหน้าว่าสร้างผลกำไรจากความเกลียดชังหรือสนับสนุนความรุนแรง บริษัทแบรนด์ดังกว่าร้อยแห่งแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมตามหลักการ CSR  สั่งระงับการลงโฆษณาเป็นการชั่วคราว จนกว่า Facebook จะกำกับดูแลตัวเองให้เป็นสื่อที่มีจริยธรรม ทำให้ราคาหุ้นตกไป 8% มูลค่าหุ้นในมือของซักเคอร์เบิร์กหายไป 6 พันล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว ต้องรีบกลับลำสั่งให้ถอดหน้าเพจที่ยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงและเข้าข่ายสร้างความเกลียดชังหลายร้อยบัญชีออกจากแพลตฟอร์มของตน พร้อมกับกำหนดมาตรการหลายอย่างควบคุมคอนเทนต์ที่สร้างปัญหาดังกล่าว

สำหรับประเด็นร้อนแรงเรื่องการทารุณสัตว์ในประเทศไทยนั้น ในสมัยหนึ่งการล่าสัตว์ป่าเป็นอาหารเป็นเรื่องของความเก่งกล้าสามารถ แต่มาสมัยนี้การฆ่าเสือดำเป็นอาหารกลายเป็นเรื่องที่สังคมกำลังจองเวรกับบุคคลที่น่ารังเกียจนั้น และเช่นเดียวกันยุคสมัยหนึ่งหูฉลามหรือรังนกเป็นวิถีชีวิตหรูบนโต๊ะจีนที่หลายคนยกย่องชื่นชม แต่ในสมัยนี้คนรุ่นใหม่ถือว่าเป็นการทารุณสัตว์อย่างน่ารังเกียจในประเทศที่อ้างอย่างเคยปากว่าเป็นเมืองพุทธ

สังคมมนุษย์มีวิวัฒนาการและปรับมาตรฐานวิถีชีวิตให้มีอารยะมากขึ้นและก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ไม่หมกมุ่นอยู่กับวิถีความเชื่อแบบเก่าๆ สิ่งที่เคยถือปฏิบัติจนเคยชินในยุคสมัยหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องล้าสมัยและน่ารังเกียจในหมู่ผู้คนในอีกยุคสมัยหนึ่ง เมื่อความรู้สำนึกของสังคมปรับเปลี่ยนไป อย่างเช่นมีการใช้สิทธิทางประชาธิปไตยเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายออกกฎหมายห้ามกีฬาเลือดที่เคยเป็นวิถีชีวิตชาวอังกฤษมาตั้งแต่โบราณ

ในประเทศไทยก็ยังมีการเลี้ยงไก่แบบ factory farm อยู่หลายแห่งทั่วประเทศและยังมีกีฬาเลือดแบบไก่ชน หรือปลากัดที่เคยเป็นวิถีชนบทแบบไทยๆ ของชาวบ้าน แต่ในสมัยนี้เป็นเรื่องที่สังคมส่วนหนึ่งตั้งคำถาม เพราะมันสวนทางกับสิ่งที่มักจะอ้างกันอย่างเคยชินว่าเป็นเมืองพุทธ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save