fbpx
รวมบ้าน ต้านภัยเหงา : Co-Housing Space

รวมบ้าน ต้านภัยเหงา : Co-Housing Space

เผลอแว้บเดียว เราก็ใช้ชีวิตห่างจากศตวรรษใหม่มาเกือบ 20 ปีแล้ว

นอกเหนือไปจากความทันสมัย โลกที่เชื่อมถึงกันด้วยอินเทอร์เน็ต และข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลมาอยู่ที่ปลายนิ้ว (แม้กระทั่งตัวอักษรที่คุณกำลังอ่านอยู่ในตอนนี้) อีกหนึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับโลกยุคใหม่ในหน้าจอที่เชื่อมถึงกัน คือชีวิตในโลกออฟไลน์ที่เราห่างเหินกันไปมากขึ้นทุกทีๆ

 

อันที่จริง คำว่า ‘ห่างเหิน’ ในที่นี้สามารถจัดกลุ่มได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ‘Loneliness’ หรือ ‘ความเหงา’ ที่หมายถึงความรู้สึกอ้างว้างเหมือนอยู่คนเดียวแม้จะมีผู้คนอยู่รอบๆ ในขณะที่ ‘Social Isolation’ หรือ ‘การแยกตัวออกจากสังคม’ เป็นเหมือนด้านตรงข้าม คือความรู้สึกอยากออกไปอยู่คนเดียว แยกตัวออกจากสังคมที่รู้สึกทำให้ชีวิตวุ่นวาย

แม้แต่ในแง่ของการใช้ชีวิต ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติก็เผยให้เห็นว่าคนไทยที่เลือกใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 2 ล้านคนในปี 2550 เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 3.8 ล้านคนในปี 2558 และแนวโน้มของสังคมโลกก็ดูจะเป็นไปในทิศทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นในสหราชอาณาจักรที่ประชากร 1 ใน 3 เลือกอาศัยอยู่ตัวคนเดียว หรือสหรัฐอเมริกาเอง ตัวเลขของผู้ชายที่อาศัยอยู่คนเดียวก็เพิ่มจากน้อยกว่า 6% ในปี 1970 เป็น 12% ในปี 2012 ในขณะที่สาวๆ ก็เลือกเป็น ‘หญิงเดี่ยว’ ถึง 15% จากข้อมูลในปี 2013

ยังไม่รวมความ ‘ป๊อป’ ของชีวิตเหงาๆ ที่กลายเป็นเทรนด์ของคนยุคใหม่ที่เราเห็นกันจนชินตา

 

โลกที่เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของผู้คน ชีวิตมนุษย์ที่ขาดปฏิสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริงอาจฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ ก็ใครกันจะมานั่งจ้อกับคนแปลกหน้าหรือคนในบ้านได้ทั้งวัน ในเมื่อสังคมทุกวันนี้ย้ายไปอยู่บนเลขฐานสองกันเกือบหมด

แม้แต่ในวงเหล้า แสงไฟบนหน้าจอที่ส่องหน้ายังเท่ากับจำนวนคนบนโต๊ะด้วยซ้ำไป

แต่ในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความเหงาแบบ Loneliness หรืออาการอยากอยู่คนเดียวแบบ Social Isolation มันต่างเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อายุขัยของเราสั้นลงทั้งคู่

งานวิจัยหัวข้อ Loneliness and Social Isolation as Risk Factors for Mortality จาก Brigham Young University ศึกษาถึงผลกระทบจากความรู้สึกโดดเดี่ยวที่มีผลต่อร่างกายของมนุษย์ และพบว่ามันเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตถึงเกือบ 30% ซึ่งใกล้เคียงกับความเสี่ยงจากโรคอ้วน ที่สำคัญ เมื่อแยกกลุ่มตัวอย่างเป็นคนอายุน้อยและคนแก่มากกว่า 65 ปี ความโดดเดี่ยวก็เพิ่มอัตราเสี่ยงมากขึ้นกับคนอายุน้อยในกลุ่มแรกด้วย

จากแค่ความเหงาแบบหว่องๆ ที่บนจอดูงดงาม กลับกลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อชีวิตไปซะอย่างนั้น

คำถามคือ เราจะปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้ ‘เหงาน้อยลง’ จากตอนนี้ได้อย่างไรบ้าง

 

นอกจากปรับการใช้ชีวิตจากภายใน หนึ่งเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นไว้ต้านภัยเหงาคือคอนเซ็ปต์ของที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่า Co-Housing

หากยุคนี้กระแสออฟฟิศเพื่อชาวสตาร์ทอัปอย่าง Co-Working Spaces กำลังมาแรง Co-Housing เองก็น่าจะเป็นบรรพบุุรุษของรูปแบบคอมมูนิตี้แบบนี้ เพียงแค่เปลี่ยนจากการแชร์ที่ทำงาน มาเป็นการแชร์พื้นที่ ‘ใช้ชีวิต’ ที่สำคัญ เทรนด์นี้ยังเริ่มขึ้นมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ!

แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 60s – 70s ที่ประเทศเดนมาร์ก ก่อนจะขยายตัวไปในกลุ่มประเทศแถบแสกนดิเนเวีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จนถึงปัจจุบัน กว่า 8% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในเดนมาร์กเป็นชุมชนแบบ Co-Housing ในขณะที่ฝั่งยุโรปและสหรัฐก็กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

อธิบายอย่างง่าย ในยุคสมัยที่เราเห็นหน้าเพื่อนบ้านแค่ในลิฟต์ก่อนจะเดินแยกเข้าประตูห้องใครห้องมัน หรือแม้แต่ในบ้านที่หน้าจอโทรศัพท์ยังสำคัญกว่าบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร ชุมชนแบบ Co-Housing เป็นเหมือน ‘หมู่บ้าน’ ที่แต่ละคนยังมีบ้านหรือห้องส่วนตัวเป็นของใครของมัน แต่คล้ายกับโรงแรมแบบโฮสเทล ชุมชนแบบนี้จะมี ‘พื้นที่ส่วนกลาง’ ที่มีไว้สำหรับให้ทุกครอบครัวที่อยู่ในชุมชนได้เข้ามาทำกิจกรรม พบปะ พูดคุยกัน อาจจะเป็นกิจกรรมง่ายๆ อย่างการผลัดกันทำมื้อค่ำเลี้ยงครอบครัวอื่นๆ นั่งทานข้าวด้วยกันเป็นบางวัน

จากมื้อค่ำที่ทำด้วยกัน ทานด้วยกัน บทสนทนาบนโต๊ะอาหารก็ทำให้เกิดการแพลนกิจกรรมที่แต่ละครอบครัวมาใช้เวลาร่วมกัน ให้ลูกหลานของแต่ละบ้านได้ออกมาวิ่งเล่น ทำความรู้จัก และด้วยคอนเซ็ปต์ของการเป็นชุมชนที่ดำเนินการกันด้วยตนเอง ในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนอาจจะไม่ได้มีแค่ห้องอาหาร แต่อาจจะเป็นสระว่ายน้ำ ห้องสมุด ยิม ฯลฯ

Lilac หนึ่งในชุมชน Co-Housing ต้นแบบในเมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ มีการบริหารจัดการชุมชน และการจัดการกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ส่วนตัวในพื้นที่ชุมชนที่น่าสนใจ โดยสมาชิกทุกคนจะมีส่วนร่วมลงขันเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท (ที่พวกเขาเป็นเจ้าของร่วมกันแต่แรก) ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านแต่ละหลัง สมาชิกจ่ายเงินขั้นแรก 10% ของมูลค่าบ้าน จากนั้นให้สมทบเงิน 35% ของเงินเดือนเพื่อถือหุ้นในบริษัทเพิ่มขึ้น หากใครอยากย้ายออก ก็ให้ขายหุ้นที่ตัวเองมีคืนให้ชุมชน

สิ่งนี้จึงทำให้การจัดการชุมชนแบบ Co-Housing แตกต่างจากหมู่บ้านสุดหรู หรือคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง เพราะคนที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จริงๆ ไม่ใช่กลุ่มเดเวลอปเปอร์อสังหาริมทรัพย์ ที่จะมาจัดการพื้นที่ส่วนกลาง แต่เมื่อ ‘ทุกคน’ ในหมู่บ้านมาเป็นเจ้าของร่วมกัน การดูแล การจัดหากิจกรรมที่จะทำร่วมกันจึงขึ้นอยู่กับความสนใจร่วมของทุกคนจริงๆ

ที่น่าสนใจคือ การขยายตัวของที่อยู่อาศัยร่วมกันแบบ Co-Housing ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากจำนวนรถยนต์ต่อครอบครัวที่น้อยลดมาก (เพราะเมื่อสนิทกัน แต่ละบ้านก็ยืมรถกันได้) ช่วยขยายกลุ่มอาชีพฟรีแลนซ์ให้เพิ่มมากขึ้น แถมยังตอบโจทย์ด้วยพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถใช้เป็นที่ทำงาน ลดปัญหาพื้นที่ทำงานที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ และด้วยโมเดลการบริหารจัดการแบบกลุ่ม Co-Housing จึงช่วยให้ราคาที่อยู่อาศัยสามารถเอื้อมถึงได้สำหรับคนทั่วไป

 

อนาคตของ Co-Housing ดูเต็มไปด้วยข้อดีทั้งกับสภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่เหนือสิ่งอื่่นใด อย่าลืมว่า ‘ความโดดเดี่ยว’ ที่เรามีต่างหาก คือสาเหตุที่ทำให้มันถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา

ระหว่างที่เรารอสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริง มาทดลองกันก่อนหลังจากอ่านจบบรรทัดนี้ดูไหม

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง Are Dorms For Adults The Solution To The Loneliness Epidemic? โดย Adele Peters ของ Fast Company ตีพิมพ์เมื่อ 27 เมษายน 2560

บทความเรื่อง How to create happy communities through co-housing โดย Harriet Sherwood ของ The Guardian ตีพิมพ์เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2557

อินโฟกราฟิกเรื่อง COMMUNITY 2.0 : IS COHOUSING THE FUTURE OF URBAN DESIGN? จาก towergate insurance 

งานวิจัยเรื่อง Loneliness ‘increases risk of premature death’ ของ NHS ตีพิมพ์เมื่อ 13 มีนาคม 2558

อินโฟกราฟิกเรื่อง คนไทยอยู่คนเดียวมากขึ้น จาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558

งานวิจัยเรื่อง Growing Number of People Living Solo Can Pose Challenges โดย Tim Henderson จาก The Pew Charitable Trusts ตีพิมพ์เมื่อ 11 กันยายน 2557 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save