fbpx
Clothing rental มีใส่ไม่ต้องซื้อ : ทางเลือกใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน

Clothing rental มีใส่ไม่ต้องซื้อ : ทางเลือกใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน

กรณิศ ตันอังสนากุล เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ในบทความความยั่งยืนเริ่มจากตู้เสื้อผ้า หนึ่งในความไม่ยั่งยืนอันน่ากังวลที่ผู้เขียนหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง คืออัตราการใช้ประโยชน์เสื้อผ้าที่ลดลงในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนที่เสื้อผ้าจะหมดอายุการใช้งาน เราสวมใส่มันเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น การเพิ่มจำนวนครั้งการใช้งานเสื้อผ้าตลอดช่วงอายุ ไม่เพียงแต่คืนคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ แต่ยังสามารถลดแรงกดดันที่มีต่อทรัพยากร และลดผลกระทบด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การออกแบบและผลิตเครื่องนุ่งห่มให้มีคุณภาพสูงขึ้น ตลอดจนมุ่งเน้นการจัดการการเข้าถึงสินค้าผ่านโมเดลธุรกิจแบบใหม่ จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากมุมมองที่เห็นเสื้อผ้าเป็นสิ่งของที่เราพร้อมโยนทิ้ง ไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรค่าแก่การใช้งานอย่างยาวนาน เพื่อหยุดวัฏจักรผลิตภัณฑ์แบบเส้นตรง (ผลิต ใช้ ทิ้ง)

มูลเหตุจูงใจในการเลือกซื้อเครื่องนุ่งห่มมิได้จำกัดเพียงความต้องการพื้นฐาน (เช่น เพื่อรักษาความอบอุ่น) แต่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองความต้องการด้านอารมณ์และสังคมที่ซับซ้อนกว่านั้น (เช่น การแสดงออกถึงตัวตนและคุณค่าที่ยึดถือ สถานะทางสังคม เป็นต้น) ขณะที่กิจกรรมการซื้อเสื้อผ้าก็เป็นประสบการณ์ในตัวมันเอง แนวทางการรับมือและจัดการกับวัฏจักรเสื้อผ้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงบทบาทของเครื่องแต่งกายในมิติต่างๆ ทั้งการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในระดับปัจเจก และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม หากเป็นระบบเศรษฐกิจเส้นตรงแบบปัจจุบัน เรามักจะซื้อเสื้อผ้าใหม่เพื่อสนองความต้องการเสื้อผ้าในมิติต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่านำไปสู่อัตราการใช้เสื้อผ้าที่ลดลง

การศึกษาในสหราชอาณาจักรพบว่าการที่เสื้อผ้าถูกทิ้ง จำหน่ายต่อ หรือนำไปบริจาค มาจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ เจ้าของไม่ชอบมันอีกต่อไป (26%) และใส่ไม่ได้แล้ว (42%) บริการเช่าเสื้อผ้าทำให้ลูกค้าเข้าถึงเสื้อผ้าที่หลากหลายและลดความต้องการในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ลง โดยเฉพาะการเช่าระยะสั้น ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่ความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้รูปแบบธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้า จึงได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นทางเลือกที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์เสื้อผ้าได้ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาตู้เสื้อผ้าที่อัดแน่นไปด้วยเสื้อผ้าที่ใช้ในบางโอกาส เช่น ชุดไปงาน เสื้อผ้าสำหรับการท่องเที่ยว

ในปัจจุบันผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น การซื้อขายที่รวดเร็วสะท้อนความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะที่การเลือกซื้อโดยไม่จำเป็นต้องไปที่ร้าน สะท้อนการให้คุณค่ากับประสบการณ์ทางกายภาพของการช้อปปิ้งลดลง การเช่าเสื้อผ้าเป็นรูปแบบธุรกิจที่ลดความสำคัญของการเป็นเจ้าของ และรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปพร้อมๆ กัน ธุรกิจบริการเช่าเสื้อผ้าได้รับการพัฒนาขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่หลากหลาย ซึ่งมีทั้งแบบสมัครสมาชิกรายเดือน หรือการเช่าระยะสั้นเป็นครั้งตามโอกาส

การเช่าเสื้อผ้าแบบสมัครสมาชิก (subscription model) ลูกค้าจะจ่ายค่าบริการแบบคงที่รายเดือน และได้รับเสื้อผ้าในจำนวนที่ตกลงกันไปใช้งาน กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของโมเดลธุรกิจบริการเช่าเสื้อผ้าแบบสมัครสมาชิก คือกลุ่มรายได้ระดับกลางที่ใช้ชีวิตในเมือง ที่ต้องการเข้าถึงเสื้อผ้าที่หลากหลาย อยากดูทันสมัยด้วยรูปลักษณ์ใหม่ๆ แต่ขาดงบประมาณในการซื้อเสื้อผ้าระดับกลางไปจนถึงแบรนด์เนม

Le Tote หนึ่งในผู้ให้บริการเช่าเสื้อผ้าแบบ subscrition เรียกเก็บค่าบริการ (ค่าเช่า) แบบคงที่ต่อเดือนอยู่ที่ 69-119 ดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 2,000 – 4,000 บาท) ลูกค้าสมัครสมาชิกโดยตอบคำถามสั้นๆ เกี่ยวกับสไตล์ที่ชอบ โดยลูกค้าสามารถตั้งค่าเก็บข้อมูลสไตล์เสื้อผ้าที่ชอบไว้ใน ‘ตู้เสื้อผ้า’ ของตน จากนั้นเลือกเสื้อผ้าที่ต้องการลงกล่อง โดย Le Tote จะส่งกล่องเสื้อผ้าไปยังลูกค้า สิ้นเดือนลูกค้าก็ส่งเสื้อผ้าเหล่านี้คืนให้กับบริษัท หากลูกค้าสนใจเสื้อผ้าชิ้นไหนเป็นพิเศษและอยากจะเก็บไว้ ก็สามารถทำได้ บริษัทจะเรียกเก็บเงินสำหรับสิ่งที่เก็บไว้ในราคาพิเศษ

อย่างไรก็ดี การเช่าเครื่องแต่งกายยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก และไม่ใช่ผู้บริโภคทุกคนจะเปิดรับกับโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากเดิม ข้อมูลการสำรวจจากเยอรมนี โปแลนด์ สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ระบุว่ากว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่าง ยังไม่คิดว่าจะ subscribe บริการเช่าเสื้อผ้า

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเช่าเสื้อผ้าที่ออกแบบมาสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะบริการเช่าเสื้อผ้าเด็กและเด็กแรกเกิด รวมถึงชุดคลุมท้องที่ได้รับความนิยมในหมู่คุณแม่ลูกอ่อน แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในหมู่คุณแม่ยุโรปคือ Vigga ร้านเสื้อผ้าเด็กจากเดนมาร์ก

Peter และ Vigga ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Vigga อยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเด็กมากว่า 10 ปี บริษัทของทั้งคู่ผลิตเสื้อผ้าจากวัตถุดิบออร์แกนิค ปราศจากสารเคมีอันตราย ให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์และสิทธิแรงงาน จนกระทั่งวันหนึ่งที่พบข้อมูลว่า เสื้อผ้าของพวกเขาถูกใช้เฉลี่ยเพียง 5-7 ครั้ง เพราะเด็กๆ โตขึ้น ทั้งสองจึงไม่ได้มองว่าสินค้าของเขายั่งยืนอีกต่อไป แต่กลับสร้างขยะกว่าล้านชิ้นหลังถูกใช้งานเพียงไม่กี่ครั้ง แม้เสื้อผ้าเด็กจะผลิตมาอย่างยั่งยืน ด้วยกรรมวิธีที่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างที่สุด ก็คงจะไม่มีประโยชน์ รูปแบบธุรกิจของ Vigga จึงถือกำเนิดขึ้น โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมาใช้ผ่าน subscription model เช่นเดียวกับ Le Tote

ลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มคุณแม่จะ subscribe ผลิตภัณฑ์สำหรับคุณแม่และเด็กเล็กของ Vigga โดยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 48 ยูโร (ประมาณ 1,800 บาท) และจะได้รับเสื้อผ้าในขนาดที่พอดีครั้งละ 20 ชิ้น เมื่อเด็กๆ โตขึ้น Vigga จะจัดส่งเสื้อผ้าไซส์ใหม่มาแทน เสื้อผ้าเก่าที่ถูกส่งคืนจะผ่านการตรวจสอบคุณภาพโดยละเอียด ถูกนำไปทำความสะอาดโดยทีมงานมืออาชีพ และส่งให้กับหนูน้อยคนอื่นๆ ต่อไป

กระบวนการลักษณะนี้ส่งเสริมให้บริษัทสิ่งทอผลิตเสื้อผ้าที่คุณภาพสูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ยิ่งคุณภาพดีขึ้นเท่าไร จำนวนเด็กๆที่ได้ใช้บริการเสื้อผ้าแต่ละชิ้นก็จะมากขึ้นไปด้วย นั่นหมายถึงกำไรต่อชิ้นที่มากขึ้น และขยะจากสิ่งทอที่ลดลง 70-85% การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) บ่งชี้ว่ารูปแบบธุรกิจของ Vigga ลดรอยเท้านิเวศลงถึง 80% เมื่อเทียบกับธุรกิจแบบเดิม นอกจากนี้บริษัทยังร่วมมือกับสถาบัน Design School Kolding คิดค้นกรรมวิธีที่จะยืดอายุผลิตภัณฑ์ ร่วมมือกับภาคธุรกิจของเดนมาร์กในการรีไซเคิลเสื้อผ้าที่พังเกินกว่าจะนำไปใช่ต่อได้อีก

สิ่งที่ Vigga นำเสนอคือแนวคิดที่มาแทน ‘สังคมโยนทิ้ง’ และก่อตั้งธุรกิจที่ตอบโจทย์ด้านผลประกอบการ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และลดภาระทางสิ่งแวดล้อมที่มีต่อโลก ทำให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้ารักษ์โลกคุณภาพสูงในราคาที่เป็นมิตร อย่างสะดวกและประหยัดเวลา

สำหรับเสื้อผ้าที่ใช้ในบางโอกาส ก็มีบริการเช่าระยะสั้นเช่นเดียวกัน นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเสื้อผ้าคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมแล้ว ยังมั่นใจได้ว่าจะไม่เป็นภาระจัดเก็บเมื่อไม่ต้องการอีกต่อไป เราอาจจะคุ้นเคยกันดีกับบริการให้เช่าชุดไทยหรือชุดไปงาน ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บริการให้เช่าชุดกีฬาก็มีอนาคตที่สดใสในตลาดเช่นเดียวกัน Houdini นำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่มองหาชุดออกกำลังกายด้วยงบประมาณที่จำกัด ลูกค้าสามารถเข้าถึงชุดกีฬาคุณภาพสูงสำหรับใช้งานในช่วงเวลาหนึ่งที่ราคา 10-25% ของราคาขายปลีก โดยบริการเช่าเสื้อผ้ากีฬามักมีอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว เช่น สกีรีสอร์ท

จากมุมมองของผู้บริโภค ธุรกิจบริการเช่าเสื้อผ้าทำให้ลูกค้าสามารถหลีกเลี่ยงการทิ้งเสื้อผ้าเก่าและซื้อเสื้อผ้าใหม่ ด้วยสาเหตุที่ว่าเสื้อผ้าเก่าไม่พอดีอีกต่อไป (Vigga กับเสื้อผ้าโตไปพร้อมเด็กๆ) ความชอบที่เปลี่ยนไป (Le Tote เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทุกเดือนในงบประมาณจำกัด) หรือการซื้อเสื้อผ้าใหม่สำหรับการใช้งานบางโอกาส (Houdini เข้าถึงชุดกีฬาคุณภาพสูงโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของ) ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ในตู้เสื้อผ้าและลดภาระการกำจัดหลังการใช้งาน

ทางฝั่งธุรกิจเอง รูปแบบการสมัครสมาชิกช่วยสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ ขณะที่การหมุนเวียนของเสื้อผ้าสร้างกระแสเงินหมุนเวียนที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ เสื้อผ้าคุณภาพสูงทำให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้น นอกจากจะหมายถึงอัตราการทำกำไรที่มากขึ้นของบริษัทแล้ว ยังหมายถึงการลดแรงกดดันที่มีต่อทรัพยากรอีกด้วย (เช่น ผ้าคลุมเด็กอ่อนของ Vigga ถูกหมุนเวียนใช้งาน 8 ครอบครัว ซึ่งผ้าคลุมเด็กอ่อน 3 ผืนที่หมุนเวียนให้กับ 8 ครอบครัว สามารถประหยัดน้ำในการผลิตได้ถึง 60,000 ลิตร)

Eva Karlsson ผู้ก่อตั้ง Houdini ระบุว่าคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ผลิตภัณฑ์มีความทนทานทำให้บริษัทสามารถขายสินค้าต่อได้ในราคาสูง เพราะไม่ชำรุดหลังผ่านการเช่าใช้งาน โมเดลธุรกิจแบบเช่าทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับความทนทาน การหมุนเวียนผลิตภัณฑ์สิบครั้งแทนที่จะเป็นสองหรือสามครั้ง ย่อมหมายถึงอัตรากำไรที่สูงขึ้นด้วย

บริการให้เช่าเสื้อผ้าเป็นรูปแบบธุรกิจที่ลดความสำคัญของการเป็นเจ้าของ ขณะเดียวกันก็จัดการกับความต้องการเสื้อผ้าของผู้บริโภค นอกจากจะเปิดโอกาสทางธุรกิจผ่านการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผลิตภัณฑ์แล้ว บริการให้เช่าเสื้อผ้ายังนำไปสู่การออกแบบและการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความทนทาน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านให้เราก้าวออกจากวัฒนธรรม ‘โยนทิ้ง’

การสื่อสารให้โมเดลธุรกิจแบบใหม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง การสนับสนุนเชิงนโยบาย และการส่งเสริมให้คุณภาพและความคงทนเป็นคุณค่าที่น่าดึงดูด จะสนับสนุนให้ธุรกิจบริการเช่าเสื้อผ้าเป็นที่นิยมมากขึ้น นอกจากนี้จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีบริการเสริม เช่น การขายพร้อมการรับประกัน หรือบริการซ่อมแซม ควบคู่กัน เพื่อให้สอดคล้องกับการตลาดที่ให้คุณค่ากับความทนทานและเพิ่มการใช้ประโยชน์เสื้อผ้าให้มากขึ้น

 


 

เอกสารประกอบการเขียน

https://www.ellenmacarthurfoundation.org/assets/downloads/publications/A-New-Textiles-Economy_Full-Report.pdf

https://vigga.us/order-vigga

https://www.ellenmacarthurfoundation.org/ce100/directory/vigga

https://www.littlescandinavian.com/2014/11/04/vigga-a-circular-subscription-model-for-childrens-wear/

https://www.businessinsider.com/le-tote-clothing-subscription-service-review-2018-6

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save