fbpx

CLOSE เพื่อนรักหักดิบโหด

ดูหนังเรื่องนี้จบแล้วจากต้องบิดม้วนผ้าเช็ดหน้าชะหมาดหยาดน้ำตา ก็นึกอยากจะย้อนเวลากลับไปงุ้มมะเหมกเขกกบาลปราชญ์ด้านจิตวิทยารายสำคัญอย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เข้าสักทีสองที ไม่ปฏิเสธหรอกนะที่ฟรอยด์เองจะเคยประกาศกล้าท้าทายวงการไว้กว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีชีวิตที่ขับเคลื่อนเดินหน้าด้วย libido หรือ ‘แรงขับทางเพศ’ ที่ปรากฏมาตั้งแต่วัยทารก มีตั้งแต่ขั้นปาก ขั้นทวารหนัก ขั้นอวัยวะเพศ ขั้นถอยแฝงช่วงที่เด็ก ๆ นิยมเล่นกับกลุ่มเพศเดียวกัน จนถึงขั้นสนใจ -ซึ่งสมัยนั้นยังพาดพิงถึงเฉพาะ- เพศตรงข้าม ความรู้ใหม่ที่เคยเขย่าวงการจิตวิเคราะห์นี้ ส่งผลสั่นสะเทือนมาถึงปวงปราชญ์และนักวิชาการรุ่นหลังๆ ที่เอะอะจะวิเคราะห์อะไรก็ตั้งธงตั้งข้อสงสัยหาเหตุปัจจัยเรื่อง ‘เพศ’ หรือ ‘gender’ ทั้งหลายมาเป็นสมมติฐานหลักกันอยู่เสมอ เจอะเจอปัญหาอะไรก็พยายามโบ้ยให้เป็นความผิดของ ‘แรงขับทางเพศ’ เพียงเพื่อสร้างน้ำหนักในทางวิชาการ แต่ที่ ‘กัลปพฤกษ์’ กำลังพยายามซักค้านอยู่นี้ ถ้าลองคิดดูดีๆ ชีวิตคนเราก็มิได้ใช้ ‘เพลิงพิศวาสราคะราคี’ อะไรเหล่านี้เป็นเชื้อไฟให้ชีวิตได้ดำเนินเติบโตเสมอไป มันยังมีอีกหลายมิติแง่มุมโดยเฉพาะเรื่องความรักความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ไม่จำเป็นต้องมีมิติเรื่อง ‘แรงขับทางเพศ’ อะไรเหล่านี้มามีอิทธิพล!

ที่เปิดบทความมาด้วยการขอก้าวร้าว ‘เบิ๊ดกะโหลก’ ซิกมุนด์ ฟรอยด์กันหนึ่งฉาด ก็เพราะ Close (2022) หนังของผู้กำกับเบลเยี่ยม ลูคัส ดอนต์ (Lukas Dhont) เรื่องนี้มีเนื้อหาหลักที่ท้าทายการตีความสิ่งต่างๆ รอบตัวโดยยกประเด็นเรื่อง ‘เพศ’ และ ‘แรงขับทางเพศ’ มาใช้จนเกินขอบเขต ส่งผลสั่นสะเทือนอันใหญ่หลวง สร้างความปั่นป่วนจนไม่อาจทำความเข้าใจได้ต่อผู้เสียหายในวัยที่สะท้อนความหมายของการเป็น ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ชีวิตในช่วงวัยเด็กข้ามผ่านสู่ห้วงวัยรุ่นได้ดีที่สุด

Close เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนซี้เด็กชายวัย 13 ปี เทียบโรงเรียนไทยก็น่าจะกำลังขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สองคน ณ ท้องถิ่นชนบท ท่ามกลางสวนดอกไม้สวยงามของประเทศเบลเยี่ยม คือ เลโอ (เอเดน ดองบรีน -Eden Dambrine) และ เรมี (กุสตาฟ เดอ แวเลอ -Gustav de Waele) ครอบครัวของเลโอซึ่งประกอบด้วย พ่อแม่และพี่ชายของเลโออีกหนึ่งคน ประกอบอาชีพเป็นชาวสวนดอกไม้สวยงาม มีฟาร์มขนาดใหญ่ที่ต้องดูแล ขณะที่เรมีเป็นบุตรชายคนเดียวของอีกครอบครัวที่พ่อและแม่ทำงานในเมือง แต่ทั้งเลโอและเรมีก็ถือว่าอยู่บ้านใกล้กัน ทั้งคู่จึงสนิทสนมกันมากในช่วงหยุดฤดูร้อน ทำงานในสวนในไร่ด้วยกัน วิ่งเล่น กระทั่งกินนอนด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นคู่ซี้คู่ขวัญที่ขาดกันไม่ได้ ใครเห็นก็ต้องเป็นดีใจกับน้องๆ ที่มีเพื่อนถูกคอซี้ปึกวัยเดียวกันได้ขนาดนี้ ฝ่ายบิดามารดาของทั้งเลโอและเรมีจึงรู้สึกรักและเอ็นดูบุตรชายของอีกฝ่ายราวกับเป็นอีกหนึ่งทายาทในครอบครัวเดียวกัน และทั้งสองบ้านก็เกื้อกูลอาทรกันอย่างดี มีการเชิญมาร่วมประทานค่ำด้วยกันอยู่เสมอๆ

แต่เมื่อเทียบบุคลิกแล้ว เลโอออกจะเป็นคนที่สนุกสนาน ร่าเริง ตลกขบขันและเปิดเผยมากกว่าเรมี อีกทั้งสรีระร่างกายที่ยังผ่ายผอมเก้งก้าง และท่าทางที่อาจยังติดอรชรอ้อนแอ้นโดยเฉพาะเวลาที่เขาวิ่งแล่นผ่านดงดอกไม้สีหวาน ก็อาจทำให้ภาพภายนอกของเลโอแลดูเป็นเด็กผู้ชายนุ่มนิ่มนุ่มนวลอยู่สักหน่อย ส่วนเรมีเองนั้นสนใจด้านดนตรีและเลือกเล่นเครื่องดนตรีโอโบเสียงทุ้มนุ่มอ่อนหวาน ซึ่งถึงแม้ฟ้าจะประทานพรสวรรค์ด้านดนตรีมาให้ แต่กลับมิได้มอบ ‘ความมั่นใจในตัวเอง’ ในการแสดงต่อสาธารณชนมาให้ด้วย เรมีจึงรู้สึกดีอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ที่อย่างน้อยฟ้าก็ได้ประทานเลโอให้มาเป็นคู่ซี้เขา และเลโอก็ตระหนักในบทบาทอันสำคัญยิ่งข้อนี้ดี เขารู้เสมอว่าเรมีจะมิอาจบรรเลงบท Oboe Concerto อันงดงามโหยหวนชิ้นนั้นได้อย่างมั่นใจแม้แต่โน้ตเดียวหากไม่มีเลโอร่วมนั่งให้กำลังใจอยู่ด้วย!

เนื้อหาเรื่องราวของหนังช่วงแรกๆ จึงช่างสุขาวดี แสดงภาพความยิ่งใหญ่ของมิตรภาพและไมตรีที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการเติบโตของเด็กในวัยนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ กระทั่งจุดพลิกผันได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อทั้งคู่กลับไปเรียนที่โรงเรียนเดียวกัน ปั่นจักรยานไปโรงเรียนด้วยกัน ร่วมเรียนในชั้นเดียวกัน แสดงความสนิทสนมกลมเกลียวเหมือนพี่น้องคู่แฝดกันให้เพื่อนๆ ร่วมชั้นได้เห็น จนในช่วงพักเที่ยงวันหนึ่ง กลุ่มเพื่อนร่วมชั้นสาวๆ ก็แสดงอาการปากพล่อย ถามความสงสัยออกไปตรงๆ ว่า “นี่พวกเธอเป็นคู่รักคบหากันอยู่ใช่ไหม ถึงได้ใกล้ชิดเคลียคลอกันถึงขนาดนี้” เมื่อ ‘เพื่อนคู่ซี้’ ถูกตีความใหม่ให้กลายเป็น ‘เพื่อนคู่จิ้น’ ฝ่ายเลโอจึงเกิดอาการอึกอักไปไม่เป็น ชักสีหน้าแล้วรีบตอบกลับว่า “ไม่นะ! ไม่จริง! พวกเธอพูดอะไร” ขณะที่ภายในใจของเลโอกลับไม่ได้มั่นใจเลยว่าคำตอบจากวินาทีแรกที่ให้ไปมันกระเด้งออกมาเพราะแทงใจดำของเขาหรือไม่ หรือมันเป็นปฏิกิริยาตอบกลับทันที (first reaction) ที่บริสุทธิ์ใจ ที่สำคัญคือ คำตอบนี้เขาเป็นฝ่ายตอบเพียงคนเดียวได้ไหม ในขณะที่เรมีเองก็ยังไม่ได้แสดงปฏิกิริยาหืออือรู้ร้อนใดๆ ต่อคำถามยุแยงนี้เลย!

ช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่ถึงนาทีตรงนี้เองที่พลิกโทนเรื่องราวทั้งหมดแบบน่าใจหาย เมื่อความสัมพันธ์อันบริสุทธิ์ใจระหว่างเลโอและเรมี ถูกตีความด้วยนัยยะ ‘แรงขับทางเพศ’ ตามที่ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เคยประกาศขายของไว้ เมื่อทั้งเลโอและเรมีได้รับโจทย์ให้ต้องตอบว่า “ไหน ลองอธิบายมาซิ ว่านัยยะทางเพศระหว่างความสัมพันธ์ของพวกเธอมันเป็นอย่างไร” ทั้งคู่ก็ย่อมต้องงงเป็นไก่ตาแตกว่า แล้วเรื่องเพศมันมาเกี่ยวอะไร ในวัยที่กำลังเจริญพันธุ์ อายุเพียง 13 ปีที่อาจจะยังไม่เคยได้ตื่นรู้ทางกาม บรรลุความ sexual awakening เสียด้วยซ้ำว่ามันจะทำให้คนเราเปลี่ยนไปได้ถึงขนาดไหน! มันน่าตีไหมล่ะ กับการมาทึกทักเอาหลักการ libido หรือที่ว่า ทุกคนเติบโตมาด้วยแรงขับทางเพศ ทุกพฤติกรรมอธิบายได้จากแรงปรารถนาและราคะภายในของฟรอยด์ มาป้ายสีใส่ร้ายความสนิทชิดใกล้อันบริสุทธิ์ใจระหว่างเลโอและเรมี ที่สูงส่งกว่าระดับ ‘กายหยาบ’ อะไรเหล่านี้ไปเยอะ และผลลัพธ์ก็ส่งผลรุนแรง สร้างเครื่องหมายปรัศนีวงเขื่องใหญ่ภายในหัวใจของเลโอโดยไม่อาจนิ่งเฉยต่อไปได้ เมื่อเขาถูกท้าทายให้นิยามว่าโลกทั้งหมดที่ผ่านมาของเขากับเรมีมีความหมายว่าอย่างไรในมุมมองจากสายตาคนอื่น เขาควรจะแนะนำเรมีในบทบาทใดให้คนอื่นรู้จักหากไม่ใช้คำว่า ‘เพื่อน’ และลึกๆ แล้วตัวเขา ‘รัก’ เรมีแบบไหน ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถเอ่ยปากถามไถ่หรือพูดคุยกับเรมีได้เลย เพราะพวกเขาสนิทใจกันเกินกว่าจะมีข้อสงสัยเหล่านี้ และตะกอนความรู้สึกอะไรเช่นนี้เองที่จะมาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเพื่อนให้พังพาบลง

ทั้งเลโอและเรมีที่ยังไม่ถึงวัยตื่นรู้ทางเพศ ไม่เคยมีความรู้สึกชอบพอเชิงกามารมณ์ต่อเพื่อนผู้หญิงหรือเพื่อนผู้ชายคนไหน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความรู้สึกสัมพันธ์ทางเพศเป็นอย่างไร พวกเขามีรสนิยมทางเพศไปทางไหน เมื่อต้องมาพบกับแรงกดดันให้นิยามตัวเองจากสังคม เพื่อจะหยิบยกทฤษฎีจิตวิเคราะห์ทางเพศของฟรอยด์มาใช้ได้ จึงเหมือนได้รับคำถามแย่ๆ แสนทำร้ายจิตใจ จะไม่ตอบหรือจะปรึกษาหารือกันก็ไม่ได้ แม้แต่เจ้าตัวเองก็ต้องการคำตอบเพื่อเลือกเส้นทางชีวิตของตนต่อไป จึงนำไปสู่ ‘การทดลอง’ ของเลโอเพื่อหาข้อสรุปต่อคำถามยอกใจอันนี้ ด้วยการ ‘หักดิบ’ เริ่ม ‘ตีตัวออกหาก’ (ขอย้ำการใช้คำว่า ‘หาก’ ในสำนวนไทยนี้ ไม่ใช่ ‘ห่าง’ เนื่องจาก ‘หาก’ มีความหมายรุนแรงกว่า ไม่ได้เพียงแค่อยู่ไกลกัน แต่หมายถึง แยกออกไปอีกส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกันอีก!) จากเรมีโดยทันที ตามมาด้วยวิถีการแตกหักระหองระแหงของความสัมพันธ์อันดีที่ทั้งคู่พัฒนาร่วมกันมา โดยที่ฝ่ายเรมีไม่อาจจะเข้าใจอะไรได้เลยว่า เขาทำผิดอะไร เลโอถึงได้หมางเมินรังเกียจเหมือนเขาเป็นก้อนอุจจาระได้ขนาดนั้น และแน่นอน มันเป็นสิ่งที่เรมีก็ไม่อาจทำใจยอมรับได้เลย!

วิธีการง่ายๆ ที่เลโอเลือกใช้ในการเหินห่างจากเรมีอย่างเนียนๆ คือการร่วมเข้าทีมฮอกกี้น้ำแข็ง ที่เขาต้องสวมชุดกีฬาหนาเทอะทะ แลดูแข็งแกร่งแข็งแรง อำพรางความเป็นคนร่างเล็กบอบบางให้เติบโตเป็นชายหนุ่มสายแกร่ง (tough) ร่างใหญ่ เป็นกีฬาที่หนุ่มนักดนตรีหน้าใสอย่างเรมีคงไม่มีวันคิดมาเล่นด้วยเพื่อสร้างกำแพงกั้นขวาง ยามต้องนอนหนุนใกล้ชิด เลโอก็จะพยายามขยับสร้างระยะห่างไม่ให้ดูนัวเนียเคลียคลอใกล้ชิดแบบเกินเพื่อนผู้ชายมากไป เนื่องจากสายตาคนรอบข้างเริ่มส่งอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ และเหนืออื่นใด ทั้งหมดทั้งมวลอาจเป็นความเจตนาดีของเลโอที่มีต่อเรมี เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์เส้นทางชีวิตของทั้งคู่จะเป็นอย่างไร เรมีคงหวังเกาะติดให้เลโอเป็นแหล่งพลังสร้างความมั่นใจให้เขาไปตลอดกาลไม่ได้ ไม่วันหนึ่งก็วันใด เรมีต้องขึ้นเวทีแสดงโอโบได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเลโอ เพื่อจะให้เขาเติบโตได้ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้จึงควรต้องเริ่มต้นกัน ณ ขณะนั้น

แต่ไม่ว่าพฤติกรรมของเลโอจะมาจากเงื่อนปมใด เมื่อไม่ได้เปิดใจคุยกัน เรมีจึงเป็นฝ่ายที่ไม่อาจ ‘ตีความ’ ได้เลยว่าเลโอเปลี่ยนไปเพราะสาเหตุใดแน่ และในเมื่อทั้งชีวิต เรมีก็ฝากความอบอุ่นมั่นใจความแข็งแกร่งทั้งหมดทั้งหลายไว้ที่เลโอ เมื่อเลโอทอดทิ้งเขาไป เรมีจึงไม่เหลือความหมายชีวิตใดๆ และด้อยค่าตัวเองว่าขนาดเพื่อนที่สนิทที่สุดก็ยังมาแสดงท่าดูดาย นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าจะเกิดขึ้น!

พายุอารมณ์ทั้งหมดจึงย้ายศูนย์กลางจากความคิดภายในของเรมี ย้อนมาปั่นป่วนกวนสติของเลโอเองว่าที่เรมีตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่ไม่มีใครอยากเชื่อนั้น เป็นเพราะตัวเขาคนเดียวเลยใช่ไหม ในช่วงเวลาที่สายเกินไป ชนิดที่แค่เพียงเปิดปากอธิบาย เรมีก็พร้อมจะช่วยเลโอแก้ปัญหาขี้ปะติ๋วนั้นด้วยความเข้าใจ ไม่เห็นมีอะไรต้องวิตกกังวลเลย! หนังทั้งเรื่องจึงแสดงภาวะกระอักกระอ่วนของการก้าวข้ามจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์ วัยที่แต่ละคนก็ยังไม่รู้เลยว่าเขาจะเติบใหญ่เป็นชายรักชาย ชายรักหญิง หรือชายรักทั้งชายรักทั้งหญิง กันแน่ และเป็นวัยที่ยังไม่รู้ว่า libido หรือ ‘แรงขับทางเพศ’ ของคุณลุงฟรอยด์คืออะไร แต่ต้องมาผิดใจกัน เพราะความหวั่นกลัวการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์

และนี่คือความงดงามของบทภาพยนตร์ Close โดยเขียนขึ้นโดยผู้กำกับ ลูคัส ดอนต์กับคนเขียนบท อันเจโล ทิจส์เสนส์ (Angelo Tijssens) นำเสนอปมปัญหาชีวิตของตัวละครเยาวชนในยุคสมัยแห่งความหลากหลายปะปนของผู้คนต่างรสนิยมเพศได้อย่างร่วมสมัย และ ‘จริง’ จนท้าทายทฤษฎีจิตวิเคราะห์ด้านเพศทั้งหมดทั้งหลายที่เคยมีมา ว่าชักจะล้าหลังและเก่าโบราณจนไม่สามารถนำมาใช้อนุมานอธิบายความสัมพันธ์ของผู้คนในยุคสมัยสหัสวรรษใหม่นี้ได้อีกแล้ว และคงจะต้องละเลิกกันที ที่เอะอะอะไรนักวิจารณ์ นักวิชาการก็จะพยายามใช้กรอบเพศ กรอบความปรารถนาทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศใดๆ มาเกี่ยวโยง เพราะจากความสัมพันธ์ระหว่างน้องเลโอกับเรมี ก็น่าจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าสามารถตัดเรื่องกามารมณ์ออกจากสมการง่ายๆ นี้ได้เลย ต่อให้ทั้งคู่จะนอนกอดกันกลมบนเตียงเดียวกันขนาดไหน ก็เบลเยี่ยมน่ะคุณ กลางคืนมันก็ต้องหนาวไหม แล้วเลโอเขาก็ทำแบบนี้กับพี่ชายตัวเอง ไม่เห็นจะต้องคิดอะไรไกลเลย! สรุปแล้วเรื่อง ‘เพศสภาพ’ ที่พยายามจะมาแปะป้าย (label) จึงกลายเป็นตัวละคร ‘วายร้าย’ ในหนังที่ทำให้ทุกอย่างต้อง ‘พัง’ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลย มองจากหน้าหนังแล้ว Close อาจจะเควียร์ (Queer) แสนเควียร์ ว่าด้วยสองหนุ่มหล่อกลางทุ่งดอกไม้ สุขสมกันในวัยแรกรัก มันเลยหักดิบหักมุมกลายเป็นหนังเล่าความสัมพันธ์ที่ไม่เควียร์เลย หากแต่หันกลับไปถ่ายทอดภาวะการเติบใหญ่ในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อประกอบสร้างบุคลิกตัวตนในทางที่แต่ละคนพอใจ ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลใหญ่หลวงแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์!

ทั้งหมดที่เล่ามา ถือเป็นความดีงามในส่วนเนื้อหาเท่านั้น ซึ่งแน่นอนหนังคงจะไม่ได้พลังทำลายล้างทางอารมณ์อย่างมหาศาลขนาดนี้หากขาดการกำกับอันสุดละเมียดละเอียดอ่อนและแม่นยำทำได้ปังในทุกภาคส่วนของผู้กำกับลูคัส ดอนต์ ผู้ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นงานชิ้นโบว์แดงร่วมสมัยได้อีกเรื่องหนึ่ง แนวทางการเล่าหลักของดอนต์เป็นการเล่าในสาย ‘สัจนิยม’ (realism) ร่วมสมัยแบบยุโรป อันจะเห็นได้จากการสะท้อนชีวิตตัวละครชนชั้นกรรมาชีพด้วยเทคนิคกล้องแฮนด์เฮลด์ (hand-held) และการตัดต่อที่เกือบๆ จะเป็นการจัมป์คัต (jump-cut) ตัดเหตุการณ์เดินหน้าพุ่งทะยานไปพร้อมตัวละครอย่างรวดเร็ว อันเป็นลีลาเดียวกับสองผู้กำกับพี่น้องชั้นครูชาวเบลเยี่ยมเช่นกันคือ ฌ็อง-ปิแยร์ กับ ลุก ดาร์แดง (Jean-Pierre & Luc Dardenne) หนังสายตระกูลนี้มุ่งเน้นความสมจริงยิ่งยวด ทุกอย่างจะต้องดิบต้องเรียล ปล่อยให้มีการปรุงแต่งน้อยที่สุด ด้วยมุ่งหมายจะสะท้อนภาพชีวิตจริงของผู้คนในสังคมที่เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งจะต้องใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งดอนต์สามารถทำได้สำเร็จจนหนังเต็มไปด้วยความน่าใจหาย แต่ละจังหวะคลี่คลายชนวนเหตุการณ์สำคัญช่างบาดหัวใจ ทั้งคำถามพล่อยๆ ของกลุ่มเพื่อนนักเรียนสาว ปฏิกิริยาของเลโอและเรมี ช่วงที่พวกเขาทะเลาะกันเองด้วยความโกรธเกรี้ยวกลางลาน การแล่นแยกเข้าทางขนานของจักรยานสองคัน วินาทีเฉลยข่าวสะเทือนขวัญบนรถบัส และทุกฉากที่สางปริศนาทำความเข้าใจในเวลาต่อมา ทุกคำพูดคำจามีประโยคไหนไม่ชวนให้น่าเชื่อได้บ้าง ได้เห็นได้ฟังแต่ละอาการนี่ยิ่งจุก ด้วยความรู้สึกว่าทั้งเลโอและเรมี รวมถึงตัวละครที่รายล้อมทุกคนต่างมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในประเทศเบลเยี่ยมพื้นที่นั้นจริง ๆ มิได้เป็นเพียงตัวละครในหนังที่มาหลอกให้คนดูนั่งอินในระยะเวลาเกือบสองชั่วโมง (ทั้งที่ความจริงมันเป็นเช่นนั้น) และเมื่อดอนต์สามารถสร้างชีวิตให้กับหนังได้ถึงเพียงนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่คนดูจะรู้สึกผูกพันกับตัวละครทุกรายราวได้รู้จักกันมานาน เห็นพวกเขาต้องผ่านพ้นเหตุการณ์วิปโยคโศกเศร้าจนไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ราวกับเป็นเครือญาติกับตัวละครสักฝ่าย เลยต้องพลอยร่วมเสียน้ำตาให้จนท่วมโรงไปด้วย อยากจะรู้จริงๆ ว่ามีใครได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่อินเลยกับชีวิตพวกเขาแม้สักรายไหม อยากจะเข้าใจมุมต่างจริงๆ เพราะขอบอกเลยว่าฝั่งนี้คืออินแบบถึงตาย!

นอกจากการกำกับอันเรี่ยมเชี่ยมแล้ว การออกแบบรายละเอียดชีวิตของทั้งเลโอและเรมี ก็มีมิติที่เติมเต็มตัวตนของพวกเขาได้อย่างงดงาม เริ่มตั้งแต่สวนดอกไม้ แสดงสีสันอันสดใสแห่งช่วงดรุณวัยของตัวละครหลักทั้งคู่ ที่แม้จะแลดูอ่อนหวาน แต่ผู้กำกับก็ขยายให้เห็นเบื้องหลังการทำงานว่ากว่าจะได้ดอกไม้สดสวยขนาดนี้ มันก็ต้องผ่านขั้นตอนวิธีอันสกปรกเลอะเทอะแบบเกษตรกรมืออาชีพแบบเดียวกับที่ผู้กำกับต้นแบบ ฌ็อง-ปิแยร์กับลุก ดาร์แดงเคยเล่ารายละเอียดของนานาอาชีวะไว้ในหนังของเขาอย่างบูชาครู คนดูจึงได้เห็นทั้งสองด้านของฉากหลังอันโดดเด่นตระการตาแห่งนั้นโดยไม่ถูกปิดบัง มาที่ฝั่งเรมี นักโอโบที่กำลังเตรียมแสดงบท Oboe Concerto ที่แท้แล้วเป็นบทประพันธ์แต่งใหม่โดย วาลองแตง อัดจาดจ์ (Valentin Hadjadj) ที่สุ้มเสียงสำเนียงฟังดูแล้วราวเป็นบทประพันธ์ชิ้นโบว์แดงจากยุคโรแมนติกของนักประพันธ์ดนตรีชื่อดัง ถ่ายทอดท่วงทำนองแสดงความเร้นลับและอารมณ์ที่ถูกเก็บงำภายในอันไม่ธรรมดาของเรมีได้ดีเหลือเกิน โดยเฉพาะเวลาที่บรรเลงออกมาด้วยความไม่มั่นใจ ซึ่งวาลองแตง อัดจาดจ์ ก็ทำหน้าที่แต่งดนตรีประกอบให้ส่วนอื่นๆ ในหนังทั้งเรื่องอีกด้วย ต้องขอบอกเลยว่าไพเราะกลมกลืนไปกับเหตุการณ์ในทุกจังหวะขณะตอน ชนิดว่าเปิดฟังซาวด์แทร็คเรื่องนี้อีกครั้งนี่ยังขนลุก นับเป็นดนตรีประกอบหนังที่ละเอียดและละเมียดมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งที่เคยได้ดูได้ฟังมา หรือแม้แต่การหันหน้าเข้าหากีฬาฮอกกี้น้ำแข็งของเลโอเอง ที่ผู้กำกับก็ปรับแนวมานำเสนอในสไตล์ ‘ดุดันไม่เกรงใจใคร’ แสดงความปรารถนาที่จะพัฒนาอารมณ์แข็งแกร่งก้าวร้าวแบบ ‘ร่างกายต้องการการปะทะ’ ในตัวเลโอที่เขาได้เลือกเองด้วยความบริสุทธิ์ใจหาได้มีใครมาบังคับ เพราะนี่น่าจะเป็นทางที่ดีกว่าสำหรับเขาในเวอร์ชั่นผู้ใหญ่ ไม่ได้อยากแหยเป็นเด็กติดเพื่อนเหมือนเลโอคนเดิม

ส่วนเรื่องการแสดงนี่จะสรรหาคำใดมาสรรเสริญเยินยอให้ทั้งน้องเอเดน ดองบรีนและกุสตาฟ เดอ แวเลอที่รับบทเป็นเลโอและเรมี จนสมน้ำสมเนื้อกับความประเสริฐดีงามจนหาความอ่อนพร่องใดๆ ไม่เจอเลยแม้แต่จุดเดียว รวมถึงนักแสดงสมทบรายอื่นๆ ทุกรายที่กลายเป็นเพื่อนและครอบครัวของทั้งคู่ไปแล้วอย่างแท้จริง คือถึงแม้น้องนักแสดงทั้งสองจะเติบโตในวงการได้เล่นหนังอีกเป็นร้อยๆ พันๆ เรื่องไปตลอดชีวิตการทำงาน และข้าพเจ้ายังมีสังขารทันได้ดู ก็ยังรู้สึกว่าจะจดจำน้องเอเดนกับกุสตาฟในฐานะเลโอกับเรมีตลอดไป ไม่น่าจะมีหนังเรื่องไหนมาลบล้างบทบาทนี้ได้ เนื่องเพราะทุกสายตา ทุกกิริยาอาการของน้องทั้งสองนั้นแสนจะ ‘พิฆาต’ มากจริงๆ จนชักจะสงสัยว่าผู้กำกับดูแลอารมณ์การแสดงน้องอย่างไรไม่ให้กระทบชีวิตจริง เพราะเนื้อหาเรื่องราวช่างดิ่งลึกและหนักหน่วงสมจริงยิ่งกว่าจะปลอมจะเนียนกันได้ โดยฉากที่ ‘เอาตาย’ มากที่สุดสำหรับข้าพเจ้าคือฉากที่เลโอหลั่งน้ำตาขณะบุรุษพยาบาลกำลังทำเฝือกพันแผลบาดเจ็บจากการเล่นฮอกกี้ที่โรงพยาบาล ซึ่งพ่อพยาบาลใจพระก็พยายามปลอบประโลมน้องว่า ‘โอ้! แผลที่แขนมันคงเจ็บมากสินะ เข้มแข็งไว้เดี๋ยวพี่จะเบามือให้’ ขณะที่เขากลับไม่รู้เลยว่า น้ำตาของเลโอทุกหยดนั้นไม่ได้มาจากรอยบาดเจ็บขี้ปะติ๋วบนท่อนแขน หากมันมาจากบาดแผลเหวอะหวะภายใน ฉากนี้น้องเอเดนแสดงได้ชนิดต้องล้มลงไปนอนตาย น้ำตาน้องไหลท่วมแค่ไหน พี่ขอหลั่งไหลร่วมทุกข์ระทมไปด้วย เพราะเข้าใจกระจ่างเลยว่าน้องกำลัง ‘ยับเยิน’ ขนาดไหนในวันที่ทั้งร่างกายและหัวใจกำลังเข้าขั้นป่นปี้

ขอเล่าว่าในวันสุดท้ายของการฉายหนังและประกาศผลรางวัลกันที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2022 เสาร์ที่ 28 พฤษภาคม ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเดินทางออกนอกเมืองคานส์ไปเก็บตกโปรแกรมหนังประกวดเรื่อง Pacifiction (2022) ของ อัลเบิร์ต เซียร์รา (Albert Serra) ณ โรงหนัง Cineum ช่วงเย็น และต้องรอลุ้นการประกาศผลรางวัลที่นั่นแทนที่จะได้นั่งเชียร์ที่โรง Debussy สำหรับสื่อ พอรู้ผลว่ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมตกเป็นของ ซงกังโฮ (Song Kang-ho) จากเรื่อง Broker (2022) ของผู้กำกับ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Kore-eda) ก็ถึงกับ ‘ของขึ้น’ มากมาย ถ้าไปทันก็จะยอมเสียค่าแท็กซี่นั่งรถกลับไปยัง Palais des Festivals คว้าไม้ฮอกกี้ของน้องเลโอ ไปก้าวร้าวใช้ความรุนแรงเคาะกะโหลกคณะกรรมการตัดสินกันสักคนละทีสองที คือไม่ได้ไม่เห็นด้วยว่าซงกังโฮเล่นไม่ดี แต่ถ้าน้องเอเดนกับกุสตาฟเขาแสดงกันได้ถึงขนาดนี้ ก็ต้องควรจะยกรางวัลให้ใครสักคนหรือเป็นคู่ไปเลยก่อนไหม เมื่อแบบนี้แล้วมันค้านสายตาไม่ไหว เลยขอต้องเปิดชื่อประจานเลยว่าคณะกรรมการที่ลงคะแนนปีนั้นประกอบด้วย ผู้กำกับภาพยนตร์ อัสการ์ ฟาร์ฮาดี (Asghar Farhadi), โยอาคิม ทรีเยร์ (Joachim Trier) , ลัดจ์ ลี (Ladj Ly) และ เจฟฟ์ นิโคลส์ (Jeff Nichols) นักแสดงหญิง นัวมิ ราปาส (Noomi Rapace) , รีเบกคา ฮอลล์ (Rebecca Hall), ธีพิกา พาดุโคเน (Deepika Padukone) และ ยาสมีน ทริงกา (Jasmine Trinca) โดยมีนักแสดงรุ่นใหญ่ชาวฝรั่งเศสอย่าง แวงซองต์ แล็งดง (Vincent Lindon) เป็นประธานกรรมการตัดสิน!

และเมื่อรู้ว่าสุดท้ายหนังก็คว้ารางวัล Grand Prix ที่ถือเป็นรางวัลรองชนะเลิศไป โดยแพ้ให้กับ Triangle of Sadness (2022) ของ รูเบน ออสต์ลุนด์ (Rubend Östlund) ที่คว้าปาล์มทองคำได้ในปีนั้น ก็ชื่นใจขึ้นมาหน่อย คือแพ้ให้กับ Triangle of Sadness นี่ก็ยังพอเข้าใจได้ เพราะหนังของเขามีสเกลใหญ่และเป็นสากลมากกว่า แต่มาแพ้ให้ซงกังโฮนี่ข้าพเจ้าขอโห่ประท้วงแบบเอาตาย ทำไมกรรมการช่างโหดร้ายใจดำต่ำต้อยด้อยค่าฝีมือน้องๆ กันขนาดนี้ หรือถ้าคิดในแง่ดี กรรมการอาจจะหลงลืมไปเลยจนไม่คิดว่านี่คือการแสดง และเชื่อว่ามันคือสารคดีเรื่องราวชีวิตของน้องเลโอกับเรมีจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าจะนับเป็นความสำเร็จอีกขั้นของงานตระกูล ‘สัจนิยมร่วมสมัย’ ที่จะประกาศให้โลกรู้ว่า ‘หนัง’ ไม่จำเป็นจะต้องเล่าเฉพาะเรื่องราวอะไรใหญ่โตฟุ้งเฟ้อแบบ larger-than-life แต่สามารถถ่ายทอดบันทึกภาพชีวิตจริงของผู้คนได้อย่างซื่อสัตย์เที่ยงตรง ที่บางครั้งก็ส่งผลอันแสนเจ็บปวดเสียจนไม่อยากให้เรื่องราวที่ได้รับรู้มันเกิดขึ้นเลยไม่ว่าจะในหนังหรือในโลกแห่งความจริง!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save