fbpx
จากความกลัวของ ‘หญิงสาว’ สู่ย่างก้าวของ 'Climate Strike Thailand'

จากความกลัวของ ‘หญิงสาว’ สู่ย่างก้าวของ ‘Climate Strike Thailand’

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ซากกวางที่พบใกล้อุทยานแห่งชาติขุนสถาน จ.น่าน ถูกผ่าท้องตรวจพิสูจน์สาเหตุการตาย และพบว่ามันกินขยะพลาสติกเข้าไปหนักถึง 7 กิโลกรัม ทำให้นึกถึงก่อนหน้านี้ในกรณีเดียวกันคือพะยูน ‘มาเรียม’ จากเกาะลิบง

มาเรียมถูกผ่าท้องเพื่อหาสาเหตุการตายและพบว่าในลำไส้เต็มไปด้วยเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ หลายชิ้น ทำให้เกิดภาวะอักเสบในระบบทางเดินอาหารจนล้มป่วยและตายในที่สุด

ภายใต้ดวงตาใสๆ ของทั้งกวางและพะยูนที่เปิดค้างอยู่ขณะไร้ลมหายใจ อาจทิ้งคำถามแสนเชยไว้ว่าขยะเหล่านั้นมาจากไหน

ขยับจากสัตว์มาที่คน ประชาชนชาวอุบลราชธานีและภาคอีสานบางพื้นที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 17 ปีมาไม่นาน บ้านเรือนหลายพันหลังคาเรือนต้องจมบาดาลอยู่ร่วมเดือน ซึ่งไม่น่าจะประเมินค่าความสูญเสียที่ตามมาได้ เช่นเดียวกับที่เมืองเวนิส อิตาลี ก็เพิ่งจมบาดาลหนักที่สุดในรอบ 50 ปี และมีผู้เสียชีวิตไป 2 ราย ระดับน้ำที่สูงเกือบสองเมตร คงไม่อาจเรียกสถานการณ์นี้ว่าน้ำท่วมปกติได้

และล่าสุด หลายคนไม่อาจกลั้นน้ำตาให้กับความตายของ ‘ลูอิส’ หมีโคอาล่า เมื่อแพทย์ต้องตัดสินใจจบชีวิตมัน เพื่อไม่ให้ต้องทนทรมานกับบาดแผลที่ถูกไฟคลอกจากกรณีไฟป่าในรัฐ New South Wales และ Queenland ซึ่งผลาญพื้นที่ไปถึง 6.9 ล้านไร่ มีบ้านคนเสียหายเกิน 200 หลัง

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organisation – WMO) ออกมาย้ำว่าเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้นไปอีกเพราะอากาศที่กำลังร้อนขึ้น 1 องศาฯ

ตัดอาการตกอกตกใจไปก่อน และแน่นอนว่าไทยไม่ได้โดดเดี่ยวในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลก

แต่ในความ ‘ไม่ใช่เรื่องใหม่’ คำถามคือใครกำลังอยู่เฉยและทนไม่ได้บ้าง

หนึ่งในคนที่ชัดเจนและสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกก็คือ เกรตา ธันเบิร์ก หญิงสาวชาวสวีดิช ที่ร้อนรนทนไม่ไหวจนต้องหยุดเรียนเพื่อออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นขบวนการ Climate Strike

และหนึ่งในคนที่รับเอาแรงบันดาลใจของเกรตา บวกกับความร้อนรนและโกรธเกรี้ยวของตัวเองมาก็คือ หลิง-นันทิชา โอเจริญชัย หญิงสาวชาวกรุงเทพฯ ผู้ก่อตั้งเพจ Climate Strike Thailand หนึ่งในผู้ระดมคนให้ออกเดินถนนเพื่อบอกกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่บริหารประเทศอยู่ว่า “Wake Up” ฯลฯ

และวันที่ 29 ธันวาคมนี้ เป็นครั้งที่ 4 แล้วที่เธอชวนให้คนออกมาชุมนุมพร้อมกันทั่วโลกกับขบวนการ Climate Strike

แม้ไม่มีใครทราบได้ว่าผู้ที่มีส่วนกำหนดนโยบายบริหารบ้านเมืองทั้งไทยและเทศจะตื่นตัวกับวิกฤตโลกร้อนเมื่อไหร่ แต่คนรุ่นเธอไม่รอ

หลิง - นันทิชา โอเจริญชัย
หลิง – นันทิชา โอเจริญชัย

Climate Strike

 

สำนึกและบทบังคับ

 

ตอนนี้มันเป็นภาวะสุ่มเสี่ยง พูดจริงๆ คือหลิงกลัวตาย เรามีเวลาเหลืออยู่ไม่เยอะที่จะยับยั้งไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงมากไปกว่านี้ เมืองไทยอากาศร้อนอยู่แล้ว หน้ามรสุมก็น้ำท่วม ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งไม่จริง แต่อาจเป็นเพราะเมืองไทยยังมีความตื่นตัวต่ำ

จริงๆ หลิงก็แค่รักต้นไม้ แต่ในกรุงเทพฯ แทบไม่มีพื้นที่สีเขียวเลย แรกๆ เราโกรธว่าทำไมไม่มีใครแคร์เรื่องพวกนี้ ทำไมคนชอบตัดต้นไม้ ทำไมมีขยะพลาสติกเต็มไปหมด พอศึกษาไปเรื่อยๆ ถึงเห็นว่าทั้งหมดเป็นประเด็นเดียวกัน คือการพัฒนาและพฤติกรรมของคนไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หลิงอธิบายถึงความรู้สึกแรกของตัวเองกับสถานการณ์โลกร้อน ก่อนจะเริ่มตั้งสติและหันมาสื่อสารกับสาธารณะผ่านเพจ Climate Strike Thailand

ผ่านก้าวแรกสู่ก้าวที่สอง สาม และสี่ในการเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อม หลิงในวัย 21 ย่าง 22 เริ่มเรียนรู้ว่าที่จริงแล้ว คนใกล้ตัวโดยเฉพาะคนในครอบครัวนั้นเปลี่ยนพฤติกรรมยากที่สุด และหนึ่งในวาทกรรมที่เธอเจอกับตัวเสมอเวลาพยายามเป็นตัวอย่างในการทำเรื่องง่ายๆ เช่น ไม่ใช้ถุงพลาสติก เลิกใช้หลอด ปิดน้ำปิดไฟทุกครั้งที่ใช้เสร็จ ฯลฯ ก็คือ “ทำคนเดียวมันไม่ช่วยอะไรหรอก”

แม้ว่าจะฟังไม่ระรื่นหูเท่าไหร่ แต่เธอต้องทำใจปล่อยผ่าน และตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ที่ทำอยู่อึดอัดไหม ใครบังคับหรือเปล่า”

“การจะทำให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมอาจจะยาก เพราะว่าเขาใช้ชีวิตแบบเก่ามาตลอด อยู่ดีๆ วันหนึ่งคุณมาบอกให้เขาเปลี่ยนคงไม่ได้ แล้วหลิงเป็นคนที่ไม่ชอบบังคับใครให้ทำอะไร เพราะไม่มีใครทำถูกที่สุดในโลกนี้” เธอตอบตัวเอง

แน่นอน, คนเราไม่มีไม้กายสิทธิ์ไปชี้ให้ใครทำอะไรตามใจตัวเอง แต่การรณรงค์ให้คนตระหนักว่าโลกร้อนขึ้นก็ไม่ง่าย ตอนนี้หลิงจึงเหมือนกลับไปเริ่มจากศูนย์ เพราะที่ผ่านมาเธอเห็นว่า “การอนุรักษ์มักอยู่แต่กับกลุ่มคนเล็กๆ ที่เป็นนักอนุรักษ์ด้วยกัน”

เธอพยายามเข้าใจคนที่ไม่ได้รักสิ่งแวดล้อมอะไรมาก ประเด็นคือต้องพยายามเข้าใจว่าแต่ละคนมีพื้นฐานอะไรที่เชื่อมโยงกันได้

“เวลาที่ใครถูกบังคับให้ทำอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาจะไม่ได้ทำเพราะเขาตระหนักหรือรักที่จะทำ เหมือนบังคับให้เปลี่ยนจากการใช้ถุงพลาสติกมาใช้ถุงกระดาษ ปรากฏว่าบางคนก็ทำตาม แต่พอใช้เสร็จก็โยนทิ้งทะเลแม่น้ำเหมือนเดิม และเขาอาจไม่รู้ว่ากระบวนการผลิตถุงกระดาษสร้างมลพิษมากกว่า”

Climate Strike

Climate Strike

Coming of age

 

“หลิงเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ยังอยากเที่ยวอยากสนุกแบบเด็กๆ อยู่ และแทนที่จะไปทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น อยากเป็นนักข่าว ก็ต้องออกมาประท้วง แต่มันก็ทำให้เราเริ่มเห็นตัวเอง เมื่อก่อนชอบไปโทษคนอื่นว่าไม่รักโลก ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่พอผ่านไปถึงเข้าใจว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา พอเอาใจเขามาใส่ใจเราจึงเข้าใจว่าแต่ละคนมีแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน

การประท้วงมันไม่ใช่หน้าที่เรา วัยของเราควรได้ไปทำอะไรที่สนุกสนาน แต่โลกมันไม่เอื้อให้เราเป็นแบบนั้น เพราะเรารู้ว่าโลกกำลังบอกเราว่าโลกร้อน และสะกิดให้เราหันมาฟังโลก เพราะฉะนั้นมันเหมือนว่าเวลาของวัยเด็กมันไม่มีแล้ว”

คล้ายกับ Coming of Age ที่ไม่ใช่แค่การสูญเสียวัยเยาว์ แต่ราวเป็นการเปลี่ยนผ่าน หลิงเองก็เช่นกัน ลึกๆ แล้ว เธอไม่ชอบการประท้วง แต่ถ้าไม่ผ่านสิ่งนี้ เธอยอมรับว่าอาจไม่เข้าใจปัญหาได้เลย และนี่อาจเป็นกำแพงแห่งความท้าทายที่เธอกำลังเผชิญ อย่างน้อยก็สามเรื่อง

เรื่องแรก เธอเห็นว่าวัฒนธรรมไทย เด็กจะถูกบอกว่าไม่ควรลุกขึ้นมาเถียงกับผู้ใหญ่ แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นการเรียนรู้ของเด็กผ่านการพูดคุยถกเถียงโต้แย้ง เพื่อที่เขาจะคิดต่อว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกผิดอย่างไร

เรื่องที่สอง เธอเห็นว่าคนไทยชอบโทษคนอื่น และชอบคิดว่าตัวเองทำดีอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากพูดว่าตัวเองผิดพลาดอย่างไร

“เราไม่ยอมรับเท่าไหร่ว่าเราสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาเพื่อจะผลิตของที่ถูกที่สุด เร็วที่สุด โดยที่ไม่มีค่าชดเชยจากการสร้างมลพิษเลย ทุกวันนี้เราไปซื้ออาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เรามองไม่เห็นว่าที่มาของอาหารมาจากไหน ไฟฟ้าที่เราใช้ส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งสร้างมลพิษในอากาศให้เราสูดหายใจ เรามองไม่เห็นว่ามันเชื่อมโยงกัน แต่เราก็มักจะไปโทษคนอื่นว่าเป็นสาเหตุเสมอ ทำราวกับว่าเราไม่เกี่ยว”

อีกประเด็นสำคัญที่หลิงมองเห็นคือการเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าไม่ได้ถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะระบบการศึกษา

“ถ้าเขาไม่รู้เรื่องธรรมชาติ เขาจะโตขึ้นมาเป็นคนที่รักธรรมชาติได้ยังไง ถ้าเด็กทุกคนถูกสอนให้โตขึ้นต้องรวย ความสำเร็จคือความรวย เป็นคนมีอำนาจ เด็กก็จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเรื่องเอาเปรียบคนอื่นให้มากที่สุด

“เด็กจะรักต้นไม้ได้ยังไง ในเมื่อเขาไม่มีโอกาสเห็นต้นไม้ หรือที่โรงเรียนไม่มีใครสอนว่าป่าสำคัญอย่างไร”

Climate Strike

Climate Strike

การประท้วง

หลิงยอมรับว่าการประท้วงในเมืองไทยไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับต่างประเทศ อย่างน้อยก็ปริมาณคนที่ออกมาบนถนน ซึ่งมีสัดส่วนต่างกันลิบลับ ยังไม่นับทัศนคติที่คนมักมองว่าการประท้วงก่อให้เกิดความวุ่นวาย

จากความรู้สึกที่อยากจะออกไปผลักดันนโยบายรัฐบาลให้หันมาคำนึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหมุดหมายแรกๆ หลังชวนคนออกมาประท้วง เธอบอกว่าสิ่งที่ควรทำตอนนี้คือให้ความสำคัญกับการรณรงค์สร้างความรับรู้ในเรื่องใกล้ตัวไปด้วย

“เหมือนเรื่อง ‘มาเรียม’ พอเกิดเหตุนั้น ทุกคนคุยกันว่าต้องหยุดใช้ถุงพลาสติก มันเป็นความตระหนักที่มาจากความรู้สึกร่วมกัน เป็นการรับข้อมูลที่มีอารมณ์ร่วมกัน”

แต่นั่นแหละประเด็น ทำไมการผลักดันทางนโยบายรัฐบาลจึงเหมือนไม่เข้ามือ ไม่ใช่ทางที่เธอถนัด และยิ่งโดยเฉพาะนักรณรงค์ที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเยาวชน

เธออธิบายว่า Climate Strike เป็นการเคลื่อนไหวของเยาวชนทั่วโลก และเยาวชนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สำคัญอย่างไร

“อย่างเช่นเราอยากให้มีพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นตอนนี้เลย ซึ่งในทางการเมืองคงต้องมีการล็อบบี้หลายๆ อย่าง กระทั่งว่าเทคโนโลยีอาจจะยังไม่พร้อม หรือว่าภาครัฐไม่ได้สนับสนุนมากพอ แล้วเด็กจะเข้าใจได้อย่างไร มันไม่ควรเป็นหน้าที่ของเราที่จะไปเสียเวลาเข้าใจ”

แรกเริ่มเดิมที หลิงคิดสโลแกนในการรณรงค์ว่า “ในน้ำไม่มีปลา ในนาไม่มีข้าว” เป็นความพยายามทำให้คนรู้สึกกลัว เธออยากให้คนกรุงเทพฯ ตกใจว่าอีก 10 ปี กรุงเทพฯ จะเจอน้ำท่วมขั้นรุนแรง คนไม่มีข้าวกิน ไม่มีน้ำกิน

แต่เมื่อพิจารณาดู เธอเห็นว่าแนวทางดังกล่าวไม่ค่อยเวิร์คกับคนไทย ไม่ได้มีใครกลัวอะไรเท่าไหร่ เพราะสำหรับคนไทยชอบตลก ชอบเฮฮา ชอบสบายๆ

“การทำให้คนกลัวมันดูทำให้ไม่มีความหวัง ประมาณว่าไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาไปทำไม อยู่ๆ ไปดีกว่า ยังไงเราก็ตายกันอยู่แล้ว ความกลัวกลายเป็นด้านลบ

“หลิงอ่านข่าวเยอะมากๆ และก็เห็นคนเครียด เราก็เครียด แล้วรู้สึกไม่มีความหวัง ไม่มีความสุข ถ้าอย่างนั้นมาทำให้สนุกดีกว่า ทำให้คนอื่นอยากมาร่วม”

จากใจที่ต้องการประท้วงอย่างเดียว ค่อยๆ เปลี่ยนมาเรียนรู้ใหม่ จากความไร้เดียงสาบวกกับความโกรธ ค่อยๆ สลายไปด้วยการทำงานกับคนมากขึ้นและปล่อยให้เวลาขัดเกลา

“หลิงคิดว่าคนเราต้องมีการเรียนรู้ใหม่ๆ เมื่อวานเราทำอะไรผิด เราเรียนรู้อะไรได้จากตรงนั้น เวลาที่หลิงทำงานเรื่องนี้ยิ่งเข้าใจว่าเราแทบไม่รู้เรื่องนี้เลย แต่เราไม่โทษตัวเองว่าโง่ แค่เราปรับปรุงและทำให้ดีขึ้น ถ้าใครพูดอะไรผิดไป เราไม่จำเป็นต้องด่า เพราะมันเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน”

แม้ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าโลกจะหยุดร้อนเมื่อไหร่ แต่ในท่าทีครุ่นคิด แววตาของเธอยังสดใส บางคำถามดูยิ่งใหญ่และอาจไร้คำตอบ กระทั่งว่าหากไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่งต้องแบกไว้ ความกังวลทั้งหลายก็อาจไม่ใช่สาระสำคัญ

Climate Strike

Climate Strike

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save