fbpx
เมื่อน้ำจะท่วมฟ้า แต่ปลาจะหมดทะเล

เมื่อน้ำจะท่วมฟ้า แต่ปลาจะหมดทะเล

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

การประชุมใหญ่ World Economic Forum ปีนี้ หรือ Davos 2019 ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นพิเศษ ในรายงานประเมินความเสี่ยงของโลกประจำปี 2019 (The Global Risks Report 2019) ของ World Economic Forum ถึงกับเขียนไว้ว่า “มนุษยชาติกำลังเดินละเมอไปสู่หายนะ” โดยชี้ว่าสภาพอากาศสุดขั้ว ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ คือภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจและความอยู่รอดของมนุษย์

เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ สื่อมวลชนด้านธรรมชาติวิทยาชื่อดังของ BBC ผู้ได้รับรางวัล Crystal Award ในฐานะผู้นำด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการประชุมปีนี้ พยายามกระตุ้นให้ผู้นำประเทศ และผู้นำธุรกิจ ลงมือแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน มหาสมุทร และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอย่างจริงจัง

“ภายในชั่วอายุของคนรุ่นเดียว หรือจริงๆ ก็คือภายในชั่วชีวิตของผม มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง สวนของอีเดนไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว เราอยู่ในยุคที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่ายุคมนุษย์ครองโลก (Anthropocene) เรามีพลังอำนาจในการทำลายล้างอย่างเหลือเชื่อ และมันก็ทำให้เรากำลังเผชิญหน้ากับภัยพิบัติซึ่งเข้าใกล้จุดที่เกินเยียวยาเข้าไปทุกที… สิ่งที่เราลงมือทำตอนนี้และอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงไปอีกหลายพันปี” เดวิด กล่าวสุนทรพจน์ที่ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างแพร่หลายและกลายเป็นไฮไลต์หนึ่งของงาน

ตลอดการประชุม ผู้นำของโลกหลายคนต่างเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ และจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์ (เข้ารับตำแหน่งในวัย 37 ปี เมื่อปี 2560) ด้านนายมาร์ค รุทท์ นายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ ผู้ปั่นจักรยานไปทำงานทุกวัน ถือโอกาสย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นเป็นตอน

ส่วนนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ G20 ประกาศว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมปีนี้ และจะใช้โอกาสที่ญี่ปุ่นเป็นประธาน G20 ผลักดันงานทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร

ปะการังฟอกขาว
ภาพโดย Jurgen Freund – NPL – Minden Pictures

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นเรื่องหลักในเวทีประชุมเศรษฐกิจโลกน่าจะเป็นเพราะ รายงานล่าสุด ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่ชี้ชัดว่าถ้ามนุษย์จะรักษาสมดุลทางสภาพภูมิอากาศของโลกนี้เอาไว้ได้ จะต้องพยายามป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าเราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายใน 12 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งเป้าหมายนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่าย ทุกประเทศ ต้องลงมือปฏิวัติรูปแบบเศรษฐกิจ การผลิตและการบริโภคให้พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยที่สุด

รายงานล่าสุดของ IPCC เน้นย้ำว่าเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และหากเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ นั่นหมายความว่า ‘เรา’ ในความหมายของเผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังมุ่งหน้าสู่โลกแห่งความหายนะ คนรุ่นต่อไปจะต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งจนตั้งตัวไม่ขึ้น และอาจนำไปสู่จุดจบของอารยธรรมในที่สุด

คนนอกวงการสิ่งแวดล้อมอาจจะรู้สึกว่าได้ยินคำเตือนเช่นนี้มานานแล้ว มนุษย์ประเภทประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐอเมริกายังเหน็บแนมทุกครั้งที่เกิดพายุหิมะยังถล่ม “ไหนว่าโลกร้อนขึ้นไง ให้มาร้อนตรงนี้หน่อย”  ความเห็นประเภทนี้สะท้อนถึงความเพิกเฉยต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า และไม่พยายามเข้าใจเลยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่สภาพอากาศที่ผันแปรรายวัน ในความจริง สภาพอากาศสุดขั้ว หนาวจัด ร้อนจัด แล้งจัด พายุถล่ม ก็เป็นผลพวงหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในโลกยุคมนุษย์ครองโลก ปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่มากเกินขนาดในชั้นบรรยากาศกำลังทำให้สภาพอากาศผิดเพี้ยนกลายเป็นเรื่องสามัญเข้าไปทุกที

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอีกอย่างของสภาวะโลกร้อนคือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรสูงขึ้นตามไปด้วย

งานวิจัยล่าสุด ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในทะเลสูงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดไว้ถึง 40% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมากมาย โดยเฉพาะระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และความสามารถของมหาสมุทรในการดูดซับความร้อนส่วนเกินจากชั้นบรรยากาศจะลดลง

“ปี 2018 ทำสถิติเป็นปีที่มหาสมุทรร้อนที่สุดตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูลกันมา” ซิกี้ เฮาส์เฟเธอร์ นักวิจัยประจำ Berkeley Earth กลุ่มวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศและหัวหน้างานวิจัยชิ้นนี้กล่าว “เช่นเดียวกับปี 2017 และ 2016 ที่ก็ถูกบันทึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดตามลำดับ”​

ที่ผ่านมาความร้อนส่วนเกินเกือบทั้งหมดที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทรถึง 93%

“ถ้ามหาสมุทรไม่ดูดซับความร้อนไว้มากขนาดนี้ เราคงจะเห็นผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนบนบกร้ายแรงกว่านี้มาก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นเร็วมาก” มาลิน พินสกี้ อาจารย์ประจำภาควิชานิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติแห่ง Rutgers University ให้ความเห็น  “มหาสมุทรทำหน้าที่เป็นกันชนให้เรามาโดยตลอด แต่ในอนาคต เมื่อทะเลไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้อีกต่อไป เราจะยิ่งได้รับผลกระทบจากโลกร้อนอย่างชัดเจนขึ้น”

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในทะเลยังได้สร้างความหายนะให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก เช่นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในระยะหลัง ปะการังราว 1 ใน 5 ของโลกตายลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง ในขณะที่แนวปะการังกว่า 2,000 กิโลเมตรของเกรทแบริเออร์รีฟในออสเตรเลียก็ตายลงราวครึ่งหนึ่ง

ปะการังฟอกขาว
ที่มาภาพ : New York Times

ทะเลที่อุ่นขึ้นจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 30 เซนติเมตรภายในปี 2100 เพราะน้ำทะเลที่อุ่นกว่าจะขยายตัวเนื่องจากมีปริมาตรมากกว่าน้ำเย็น เมื่อรวมกับการละลายของน้ำแข็งจากขั้วโลก อาจทำให้ระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 1 เมตรเลยทีเดียวภายในศตวรรษนี้ และนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้บรรดามหานครและเมืองที่อยู่ตามชายฝั่ง รวมทั้งกรุงเทพฯ จะเผชิญความเสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วมและคลื่นพายุซัดเข้าฝั่ง (storm surge) น้ำทะเลที่อุ่นขึ้นจะยิ่งทำให้พายุมีกำลังแรง และมีอานุภาพทำลายล้างสูงขึ้นด้วย จึงมีโอกาสเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น

ในขณะเดียวกันมหาสมุทรของเรายังถูกปฏิบัติราวกับเป็นถังขยะของโลก มีข้อมูลว่าขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันหลุดรอดออกสู่ทะเลทุกปี ทำอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก และมีขยะพลาสติกสะสมในทะเลมากกว่า 150 ล้านตันในทุกภูมิภาคทั่วโลก รายงาน The New Plastics Economy ของ World Economic Forum ประมาณการณ์ไว้ว่าหากเรายังใช้พลาสติกอย่างฟุ่มเฟือยแบบในปัจจุบัน ภายในค.ศ. 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า เราจะมีปริมาณพลาสติกมากกว่าปลาในทะเลทั้งหมดรวมกัน

งานศึกษาสำคัญอีกชิ้นยิ่งฉายภาพให้น่าวิตกเข้าไปใหญ่ เพราะระบุว่าพอถึงเวลานั้นเราอาจจะไม่เหลือปลาใหญ่ให้จับอีกแล้ว บอริส เวิร์ม นักนิเวศวิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัย Dalhousie ในแคนาดา หัวหน้างานวิจัยชิ้นนี้รายงานว่าประชากรปลาในมหาสมุทรถูกคุกคามอย่างหนักจากการทำประมงเกินขนาด มลภาวะ การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บอริสและคณะนักวิจัยนานาชาติทำการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพสิ่งแวดล้อมย้อนหลังไปนับพันปีจาก 12 ภูมิภาคทั่วโลก และเปรียบเทียบข้อมูลด้านการประมงจากระบบนิเวศทางทะเลขนาดใหญ่ 64 แห่ง รวมทั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 48 แห่ง “เราพบว่าปลาเศรษฐกิจราว 1 ใน 3 ลดจำนวนลงไปแล้วกว่าร้อยละ 90 เป็นแนวโน้มที่น่าตกใจมากๆ และเป็นเหมือนกันแทบทุกภูมิภาคในโลก” บอริสกล่าว

ในรายงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้เน้นความสำคัญของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยย้ำว่าระบบนิเวศจะดำรงอยู่ได้ จำเป็นต้องมีความหลากหลายของสายพันธุ์ ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายสูงเป็นระบบนิเวศที่มีสุขภาพดีที่สุด และมีความต้านทาน (resilience) ต่อการเปลี่ยนแปลงจากภัยคุกคามต่างๆ มากกว่าระบบนิเวศที่มีความหลากหลายต่ำ

“หากเราไม่เปลี่ยนวิธีการทำประมง หรือพยายามจัดการมหาสมุทรในลักษณะระบบนิเวศที่เชื่อมโยงถึงกัน ก็เตรียมบอกลาอาหารทะเลจากธรรมชาติได้เลย อีกไม่นานเกินรอ” สตีฟ พาลัมไบ อาจารย์ด้านชีววิทยาทางทะเลของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว “การสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเล ไม่ใช่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เกิดขึ้นเร็วมากๆ”​

ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ปลาที่กำลังจะหมดทะเล ขยะที่ท่วมท้นมหาสมุทร และฝุ่นควันพิษที่กำลังกัดกินปอดคนเมือง คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมต้องเป็นหัวข้อที่นักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนา และประชาชนให้ความสำคัญและลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร และอยู่มุมไหนของโลก

ถ้าใครยังนึกไม่ออก อยากเชิญให้ออกไปยืนริมถนนสูดควันพิษให้เต็มปอด และนึกถึงคำกล่าวของชาวอินเดียนแดงที่ว่า

“Only when the last tree is cut down.

Only when the last river is poisoned.

Only when the last fish has been caught.

Only then will you realize that money cannot be eaten.”

เมื่อธรรมชาติสูญสิ้น คุณจะได้รู้ว่าเงินนั้นกินไม่ได้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save