fbpx

แดดร้อนเกินกว่าจะมีลูก

“ไม่มีผู้โดยสารในยานอวกาศที่ชื่อว่าโลก เราทุกคนต่างเป็นลูกเรือ”
มาร์แชล แมคลูฮาน (1911-1980)

นักเขียน

จำได้ว่าเมื่อตอนผมยังเด็ก ย้อนกลับไปสัก 40 ปีที่แล้ว บ้านเกิดผมที่จังหวัดลำปางอากาศตอนเช้าๆ ช่วงฤดูหนาว เรียกได้ว่าหนาวเข้ากระดูก ทั้งๆ ที่บ้านก็ไม่ได้อาศัยบนภูเขา

บ้านผมห่างจากตัวเมืองราว 7 กิโลเมตร แต่อุณหภูมิตอนเช้าช่วงกลางเดือนธันวาคมจะอยู่ที่ราว 8-12 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ บางปีจำได้ว่าอุณหภูมิกลางดึกลงไปได้ถึง 4 องศาเซลสเซียสก็มี ตื่นเช้ามาคาดหวังได้เลยว่าเราจะเห็นน้ำแข็งแม่คะนิ้งเกาะตามยอดหญ้า รายงานสภาพอากาศสมัยนั้นเราจะได้ยินอุณหภูมิติดลบบนยอดดอยอินทนนท์อยู่เนืองๆ ตอนนี้ความหนาวของฤดูหนาวของภาคเหนือเราเป็นแค่ urbun myth นะครับ เราแทบเรียกไม่ได้ว่ามี ‘หน้าหนาว’ จริงๆ

คุยให้ลูกหลานฟังคงไม่มีใครเชื่อ ความหนาวในยามนี้ไม่มีอะไรที่ใกล้เคียงกับประสบการณ์ยามเด็กได้เลย

สำหรับคนที่เกิดมารุ่นราวคราวเดียวกับผมน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาของโลกที่ต้องเรียกว่ายิ่งกว่าก้าวกระโดด ความเจริญและเทคโนโลยีเหล่านี้แลกมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมและความร้อนของโลกที่เพิ่มมากขึ้นและถึงแม้โดนัลด์ ทรัมป์จะไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีจริง แต่ผมเชื่อว่าเป็นของจริง และโลกก็ร้อนเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คิดไว้เสียด้วย

ล่าสุดแถลงการณ์ของคณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) เตือนว่าวิกฤตสภาพอากาศโลกตอนนี้เข้าสู่ระดับสีแดงแล้ว ซึ่งหมายถึง ‘น่าเป็นกังวลอย่างมาก

จากงานวิจัยกว่า 14,000 ชิ้น การร่วมมือกันของนักวิทยาศาสตร์อีกกว่า 200 คนทั่วโลก พร้อมกับระบบประมวลผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีขึ้น คาดว่าภายในปี 2030 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสแน่ๆ เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งยอดอุณหภูมินี้มาถึงเร็วกว่าที่คาดไว้กว่า 10 ปี!

หลายคนคงคิดว่าการที่อุณหภูมิร้อนขึ้นหนึ่งหรือสององศาเซลเซียสจะส่งผลกระทบกับโลกขนาดนั้นเลยหรือ 

หากแค่ออกไปเดินกลางแดดชั่วประเดี๋ยวประด๋าวตอนกลางวันยามออกไปกินข้าวอาจรู้สึกว่าพอทนได้ แต่หากนึกถึงพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น ในทะเลทรายลูตในอิหร่านที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทะเลทรายที่ร้อนที่สุดในโลก (อุณหภูมิที่วัดได้ช่วงกลางวันอาจสูงได้ถึง 60 องศาเซลเซียส) หรือขั้วโลกเหนือที่จะมีฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้นอีกเป็นเดือน สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่เปราะบางจะเปลี่ยนแปลงหรือหายไปมากมายและส่งกระทบกันเป็นลูกโซ่แบบที่เราคาดไม่ถึง

จริงอยู่มนุษย์เรามีการปรับตัวกับสภาพอุณหภูมิขึ้นๆ ลงๆ มาตลอดวิวัฒนาการ แต่อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดในการปรับตัวนั้นมีอยู่ ที่อากาศร้อนชื้นอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์จะเรียกจุดนี้ว่า ‘อุณหภูมิกระเปาะเปียก’ (Wet Bulb Temperature) กล่าวคือเมื่อมนุษย์เราอยู่ในระดับอุณหภูมินั้นนานๆ เราจะเริ่มสูญเสียความสามารถในการดูดซับเหงื่อ การเดินทางไกล หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือการอยู่ในสภาพอากาศ ณ อุณหภูมินี้นานๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้

ซึ่งนั่นแค่ 35 องศาฯ นะครับ ลองคิดดูว่าหากมันขึ้นสูงไปกว่านั้นอีกล่ะ 

หากยังพอจำได้ถึงเหตุการณ์คลื่นความร้อนที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป เมื่อปี 2003 เกิดคลื่นความร้อนแผ่ขยายไปทั่วยุโรปตอนกลางและตะวันตก เหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนตายจากคลื่นความร้อนนี้กว่า 70,000 คน ถือเป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในรอบ 500 ปี หลังจากนั้นก็มีปรากฎการณ์คลื่นความร้อนสูงมาเป็นระยะๆ

ในปี 2019 อุณหภูมิฤดูร้อนในฝรั่งเศสก็พุ่งขึ้นสูงอีกครั้ง ครั้งนี้สูงถึง 46 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกันถึง 45 องศาเซลเซียส

ปี 2021 ก็มีคลื่นความร้อนในแคนาดาและยุโรป ส่งผลให้เกิดไฟป่า ผมเห็นภาพข่าวท้องฟ้าทั่วเกาะอีเวียของกรีซกลายเป็นสีแดงเพลิง ดูแล้วใจหาย ในอนาคตต่อจากนี้คาดกันว่า นี่อาจเป็นปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นทุกฤดูร้อนและเป็นสิ่งที่คนในซีกโลกเหนือต้องเจอ

ความร้อนเช่นนี้กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย เมื่ออากาศร้อนขึ้น ชั่วโมงการทำงานของบางคนหายไป รายได้ลดลง ธุรกิจการเกษตรได้รับผลกระทบโดยตรง บางประเทศที่ส่งออกอาหารแปรรูปและสินค้าการเกษตรอาจต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวให้ดี อย่างเช่น ไร่องุ่นในฝรั่งเศสเริ่มหาทางปรับปรุงพันธุ์องุ่นเพื่อให้ทนอากาศร้อนได้ดีขึ้น หรือคนงานเก็บมะเขือเทศในแคลิฟอร์เนียอาจต้องเริ่มออกทำงานตั้งเช้ามืดเพื่อเลี่ยงอากาศร้อน 

ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอันดับแรกคือแรงงานที่ทำงานในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ค่าจ้างน้อยอยู่แล้ว องค์การแรงงานระหว่างประเทศนำเอาเรื่องปัญหาโลกร้อนมาวิเคราะห์ร่วมกับการจ้างงาน ได้คาดการณ์คร่าวๆ ว่าไม่เกิน 10 ปีจากนี้ ชั่วโมงการทำงานของคนงานที่ทำงานกล้างแจ้งจะลดลง กระบวนการผลิตและรูปแบบการทำงานกลางแจ้งจะค่อยๆ เปลี่ยนไปในศตวรรษนี้ เพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิดจากอากาศร้อน ท้ายศตวรรษ ความร้อนของอากาศจะกลายเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องคิดถึง

แม้จะมีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว ทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดนต่างก็ตื่นตัวกับประเด็นนี้อย่างมาก แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ต่อให้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง นักวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันว่าอุณหภูมิของโลกจะไม่ลดลงได้ในทันที มันยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าอุณหภูมิของโลกะจปรับลงสู่ระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าอีกกี่ปี) ที่สำคัญกว่านั้นมันเกิดขึ้นได้ยากมาก เมื่อคิดว่าทุกประเทศยังต้องขับเคลื่อนด้วยตัวเลขภาคการผลิต เราต้องเดินทาง เรายังต้องใช้พลังงานจากฟอสซิล และเรายังมีทั้ง GDP, KPI และตัวย่ออื่นๆ อีกมากค้ำคอเราอยู่   

เราต้องใช้กำลังขับเคลื่อนมหาศาล ยิ่งกว่ามหกรรมโอลิมปิกถึงจะหยุกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างรดเร็ว

ความย้อนแย้งอีกอย่างหนึ่งของการรับมือกับโลกที่ร้อนขึ้นนั้นไม่ใช่การปลูกต้นไม้ แต่เป็นเครื่องปรับอากาศ

ใช่แล้วครับ ต้นไม้เป็นแค่ส่วนเสริม แต่จริงๆ แล้ว เราไม่สามารถนอนร้อนอยู่ในบ้านได้ โดยเฉพาะเด็กๆ คนป่วยและผู้สูงอายุ ยังมีอีกหลายประเทศในโลกนะครับที่ผู้คนยังเข้าไม่ถึงเครื่องปรับอากาศ อย่างในอินเดีย มีเพียง 8% ของครัวเรือนเท่านั้นที่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตอากาศที่ร้อนขึ้นเครื่องปรับอากาศจำเป็นมากขึ้นแต่เครื่องปรับอากาศที่เราใช้กันอยู่ มีไม่น้อยที่ยังมีส่วนประกอบของก๊าซเรือนกระจกอย่างสารไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน

โดยหลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศทุกเรื่องบนโลก มันแค่ย้ายเอาอากาศร้อนไปทิ้งไว้ข้างนอก แต่จะทำอย่างไรหากว่าเครื่องปรับอากาศเหล่านี้ก็อาจทำให้อุณหภูมิกลางแจ้งร้อนขึ้นอยู่ดี มีความพยายามในการผลิตเครื่องปรับอากาศรูปแบบใหม่ๆ ออกมาเช่นกัน แต่เท่าที่ผมหาข้อมูล ยังไม่มีแบรนด์ไหนที่ทำแล้วสามารถเอามาใช้ได้จริงและในราคาที่เข้าถึงได้ ฉะนั้นทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากของโลกเรา 

ในมิติทางเศรษฐกิจ อากาศดีจะเป็นต้นทุนของประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะความร้อนจะส่งผลถึงทุกหน่วยของสังคม ทั้งการกระจายตัวของประชากร ค่าใช้จ่ายของพลเมืองในการปรับตัว พื้นดินที่อาจหายไปจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฯลฯ ประเทศที่มีต้นทุนเรื่องอากาศที่เย็นกว่าและรวยกว่าอาจมีทางรอดมากกว่า ส่วนประเทศที่ร้อนกว่ารายได้น้อยกว่า หากไม่มีการวางแผนในการปรับตัวก็อาจแข่งขันยากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในเหล่าบรรดาประเทศซีกโลกใต้ที่มีการปรับตัวได้ดีและถูกพูดถึงใน Climate Impact Lab องค์กรที่ทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของโลกร้อนในมุมต่างๆ พบว่าประเทศอย่างสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการปรับตัว ทั้งการวางแผนเรื่องการปลูกต้นไม้ ทำให้ประเทศเป็นเมืองในสวน (City in the garden) การลงทุนของรัฐในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ควบคู่กับการให้ประชาชนเข้าถึงเครื่องปรับอากาศอย่างแพร่หลาย นั่นทำให้สิงโปร์ไม่ใช่แค่อยู่รอดอย่างเดียว แต่จะรวยขึ้นด้วย ผิดกับปากีสถานที่เหมือนอยู่คนละโลกกับสิงคโปร์ ทั้งยากจน ไม่มีการรับมือที่ดี รัฐขาดความเข้าใจในการจัดการเนื่องจากยังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศอยู่มาก ทำให้อีกร้อยปีข้างหน้าปากีสถานจะตกอยู่ในห้วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด

พูดให้เห็นในภาพใกล้ตัวเข้าอีกนิดก็คือ อาจไม่ใช่แค่ปากีสถานเท่านั้น ไทยเราเองหากยังไม่คิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากกว่านี้ สถานการณ์ก็จะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

เมื่อสิ่งแวดล้อมไม่ดีแบบนี้อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตก็จะมากขึ้น มนุษย์ก็เช่นกัน โลกที่ร้อนขึ้นอาจทำให้มนุษย์สนใจที่จะที่ขยายเผ่าพันธุ์น้อยลง 

ทีมนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาศึกษาความเชื่อมโยงอัตราการตั้งครรภ์กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป พบว่าสภาวะโลกร้อนทำให้อัตราการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย หรือเสียชีวิตขณะคลอดสูงขึ้น

ไม่นานมานี้ New York Times เพิ่งจะตีพิมพ์รายงานของ Journal of the American Medical Association ซึ่งทำการศึกษาเรื่องสภาวะโลกร้อนกับการตั้งครรภ์ไว้ตั้งแต่ปี 2007-2019 พบว่าเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักตัวลดลงแปรผันตามสภาพอากาศที่แย่ลง อัตราการคลอดก่อนกำหนดก็เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.6 มาเป็นร้อยละ 21 ในช่วงเวลา 12 ปี โดยเฉพาะทารกที่มาจากแม่ที่ยากจน เนื่องจากสภาพสังคมที่บีบบังคับให้พวกเธอยังต้องเจอกับสภาพอากาศที่แย่ตลอดอายุครรภ์ การศึกษายังพบด้วยว่าคุณแม่ที่มีรายได้ต่ำมากกว่าครึ่งหนึ่งต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศในระดับสูง

ต้นทุนของการมีชีวิตของพวกเธอก็เพิ่มสูงขึ้นหากคุณต้องการให้ลูกของคุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

โลกที่เราอาศัยอยู่จะต้องเจอกับความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงอีกมาก มีการคาดการณ์กันว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่า 2 เมตรภายในปลายศตวรรษที่ 21 ส่งผลกระทบต่อประชากรหลายล้านคนที่อาศัยตามชายฝั่งทะเล พื้นที่ในบริเวณขั้วโลกเหนืออาจจะเผชิญกับฤดูร้อนที่ไม่มีน้ำแข็งเลยอย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในเวลา 29 ปีข้างหน้า และปลายศตวรรษนี้เราอาจได้เห็นเมฆน้อยลงและอาจหายไปเลยเมื่อถึงช่วงกลางศตวรรษหน้า

ผมยังจินตนาการไม่ออกว่า โลกไม่มีเมฆจะเป็นอย่างไรและเราจะอยู่อย่างไร แต่ยอมรับตรงๆ ว่ากลัวและรู้สึกขอบคุณตัวเองที่ไม่มีลูก

ไม่งั้นคงเครียดกว่านี้ 

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save