fbpx

ติดแอร์ VS ปลูกต้นไม้: อย่างไหนรอด อย่างไหนร่วง บนโลกที่ร้อนขึ้น

“ผมคิดว่าเราไม่ควรพึ่งพาการปลูกต้นไม้เพื่อไม่ให้คนร้อนตาย เราควรให้คนเข้าถึงเครื่องปรับอากาศ”

เดวิด ฮอนดูลา นักวิจัยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต, สหรัฐอเมริกา

1

ผมได้ยินคนเฒ่าคนแก่พูดมาตั้งแต่สมัยยังเด็กว่า “หากปีไหนที่ฤดูฝนยาวนาน มีน้ำมาก ปีนั้นหน้าหนาวก็จะหนาวกว่าทุกปี”  นั่นเป็นคำพูดที่ผมได้ยินตั้งแต่สมัยยายผมยังมีชีวิตอยู่

วัดจากประสบการณ์ส่วนตัว ในวัยเด็กที่อยู่บ้านต่างจังหวัดทางภาคเหนือ บางปีเป็นอย่างนั้นจริงแต่บางปีก็ไม่ใช่ แต่ที่แน่ๆ อากาศหนาวนั้นหนาวน้อยลง ฤดูร้อนก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนสิบปีหลังมานี้มันร้อนเกินกว่าจะทำงานอะไรได้ในช่วงกลางวัน ท้ายที่สุดเราทุกคนต่างยอมแพ้ ยอมติดเครื่องปรับอากาศ แม้กระทั่งพ่อแม่ผมผู้ซึ่งไม่ชอบการอยู่ในห้องแอร์ ไม่ชินกับการปิดหน้าต่างนอน แต่เมื่อถึงเวลาที่โลกเปลี่ยนก็ต้องปรับตัว ไม่อย่างนั้นนอนไม่ได้

หากจะบอกว่าความช่างสังเกตของคนเบบี้บูมเมอร์ยุคสงครามโลกครั้งที่สองนั้นน่าสนใจก็คงพอพูดได้ แม้พวกเขาไม่รู้ว่านี่คือปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ซึ่งมักเกิดสลับกัน

การเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพอากาศเกิดขึ้นมานานมากแล้ว แต่เราอาจไม่ได้คิดถึงมันอย่างจริงจัง ถึงตอนนี้เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อแบบกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง เป็นช่วง ‘Last Call’ ที่เรายังไม่รู้ทางไป  

แม้จะมีความพยายามอย่างการประชุม COP26 (United Nations Climate Change Conference) ที่ประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมารวมหัวกันเพื่อหาทางไปต่อ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เร่งปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ผมคิดว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่มาพร้อมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ พวกเรายังไม่ยอมรับความจริงที่ว่า เรากำลังหลอกตัวเองว่ายังมีหวังทั้งๆ ที่เราไม่มีวันกลับตัวได้ทันอีกแล้ว สิ่งที่ควรจะคิดควบคู่กับการปลูกป่าก็คือ เราจะอยู่กับโลกที่ร้อนขึ้นได้อย่างไรต่างหาก และเมื่อพิจารณาถึงการอยู่อาศัยในอนาคต ก็น่าคิดว่าหากทุกบ้านทั่วโลกยังเข้าไม่ถึงเครื่องปรับอากาศ เราจะอยู่กันอย่างไร

ผมเชื่อว่าคนส่วนมากไม่สนและไม่แคร์ด้วยว่าโลกจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อบ้านร้อนขึ้น พวกเขาอยากรู้ว่าเขาจะทำให้บ้านเย็นลงอย่างไร เพราะเราไม่มีเวลาปลูกต้นไม้ใหญ่เต็มบ้านในเวลาชั่วข้ามคืนแน่ๆ คุณภาพชีวิตที่ดีจึงไม่ใช่การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่คือการมีบ้านติดแอร์ต่างหาก 

2

เทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก นับตั้งแต่ที่นายวิลลิส แคร์เรีย (Willis H.Carrier) คิดค้นเครื่องปรับอากาศขึ้นมาเมื่อปี 1902 สักเท่าไหร่ หลักการทำงานของมันก็คือ ไล่อากาศร้อนออกไปจากห้องและแทนที่ด้วยอากาศเย็นกว่า โดยใช้สารทำความเย็นอย่างไฮโดรโรฟลูโอโรคาร์บอนช่วยเปลี่ยนของเหลวเป็นก๊าซภายในคอยล์ อาศัยแรงลมจากมอเตอร์ช่วยผลักดัน

ไฮโดรโรฟลูโอโรคาร์บอนเป็นก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งการทำงานของเครื่องปรับอากาศเองก็เพิ่มความร้อนในบรรยากาศด้วย เนื่องจากอากาศร้อนจากการทำงานถูกปล่อยออกไป ขณะที่ห้องนอนของเราเย็นลง อุณภูมิภายนอกห้องก็สูงขึ้น

แม้จะมีการณรงค์เพื่อลดการใช้สารทดแทน แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศราคาย่อมเยาว์ซึ่งยังคงใช้เทคโนโลยีรุ่นเก่า

องค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA (International Energy Agency) ระบุว่า ณ เวลานี้ มีห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศอยู่ราว 1,600 ล้านห้อง แต่คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มเป็นเกือบ 6,000 ล้านห้องในช่วงปี 2050 ซึ่งหมายถึงจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศก็จะมากขึ้น

ระเบียงตึกของโรงพยาบาลศิริราชถูกเปลี่ยนให้เป็นที่วางคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ ปัจจุบันคาดว่ามีเครื่องปรับอากาศกว่า 1,600 ล้านยูนิตทั่วโลก

แนวโน้มนี้ไม่ได้เกินจริงนะครับ เมื่อดูจากยอดขายของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย สัมพันธ์กับความถี่ของการเกิดคลื่นความร้อนที่มากขึ้นทั่วทั้งโลก บ้านที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศในปากีสถานบางพื้นที่อย่างในบาลูจิสถานหรือในดูไบ อากาศในช่วงกลางวันในฤดูร้อนแทบอยู่อาศัยไม่ได้ ต่อให้เราปลูกต้นไม้มากเท่าไหร่ ก็ไม่มีทางทดแทนอากาศที่ร้อนอบอ้าวได้เลย ความต้องการเครื่องปรับอากาศจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งในซีกโลกเหนือเองทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีความพยายามจะดัดแปลงอาคารเก่าทั้งหลายเพื่อให้สามารถติดตั้งเครื่องปรับอากาศได้ และยอดขายก็เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน

หากว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามที่สหประชาชาติคาดไว้ว่าอาจเพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อสิ้นทศวรรษนี้ มหกรรมการติดเครื่องปรับอากาศครั้งใหญ่ทั่วโลกก็น่าจะเกิดขึ้นเป็นแน่ เครื่องปรับอากาศกำลังจะเปลี่ยนสถานะภาพจากสินค้าฟุ่มเฟื่อยมาเป็นอุปกรณ์ทางสาธารณสุขที่มีความจำเป็น สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการใช้พลังงานไฟฟ้าก็จะมากขึ้นไปด้วย

อย่าลืมนะครับว่า เครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก และการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนไม่น่าจะพอ

3

ปัจจุบัน IEA ประเมินว่า เครื่องปรับอากาศกินไฟคิดเป็น 8.5% ของการใช้ไฟทั่วโลก พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงมากจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล มีการคาดกันว่า หากเรายังไม่เปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานและเครื่องปรับอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในปี 2050 เครื่องปรับอากาศจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 2,000 ตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

มีความพยายามมากมายเหมือนกันครับในการหาหนทางใหม่ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือการตั้งรางวัลชื่อ Global Cooling Prize  ขึ้นจากความร่วมมือของหลากหลายหน่วยงาน เพื่อหานวัตกรรมเครื่องปรับอากาศใหม่ที่ลดการใช้พลังงานลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การประกวดนี้ให้เงินรางวัลกับผู้ชนะเลิศกว่า 3 ล้านดอลลาร์ (เกือบๆ 100 ล้านบาท) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 และเสร็จสิ้นเมื่อเมษายนของปี 2021 นี้เอง ทีมที่ชนะเลิศมี 2 ทีม หนึ่งคือ วิศวกรของไดกิ้น (Daikin) จากประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย อีกทีมคือกรี (Gree) แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ที่สุดของโลก

น่าสังเกตว่าทั้งสองทีมมาจากประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเครื่องปรับอากาศสูงเป็นอันดับหนึ่ง (จีน) และสอง (อินเดีย) ของโลก นั่นหมายถึงว่า มีความต้องการของผู้บริโภคอีกมากที่อยากมีบ้านที่เย็นกว่านี้ โดยทีมจากไดกิ้นใช้น้ำหล่อเย็นคอนเดนเซอร์แทนอากาศเพื่อลดความต้องการพลังงาน ส่วนกรีใช้พลังงานบางส่วนจากแผงเซลสุริยะเพื่อลดการใช้พลังงาน ทั้งสองแบรนด์คาดว่าจะวางจำหน่ายเครื่องปรับอากาศระบบใหม่ที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงได้ 5 เท่าในปี 2025 แต่ทั้งสองวิธียังมีต้นทุนที่สูงกว่าเครื่องปรับอากาศรุ่นมาตรฐานอยู่ 5 เท่า

ฉะนั้นก็ได้แต่หวังว่าหากเครื่องปรับอากาศระบบใหม่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยทั้งสองแบรนด์คิดว่าหากได้รับความนิยม อาจสามารถคืนทุนได้ภายในสามปี แต่กว่าที่ผู้มีรายได้น้อยจะสามารถครอบครองเครื่องปรับอากาศเทคโนโลยีใหม่นี้ได้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะทันกับการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า

การประชุม COP26 อาจดูเป็นความพยายามในการหาทางออกร่วมกัน แต่อีกมุมหนึ่งก็ดูฉาบฉวย แต่ดูเหมือนสิ่งที่เราทำอยู่ก็ไม่ต่างจากแบรนด์สินค้าที่พยายามทำสร้างภาพลักษณ์มากกว่าทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมได้จริงๆ

ผมคิดว่าสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นได้ อาจต้องเริ่มจากการรณรงค์ที่ง่าย เช่นการแยกขยะ การสร้างโรงงานเผาขยะที่มีประสิทธิภาพ อาจเลยไปถึงเรื่องใหญ่กว่านั้นเช่นการเปลี่ยนแนวคิดเรื่องบริโภคนิยมและระบบเศรษฐกิจที่ต้องไม่มุ่งเน้นการทำกำไร

เอาง่ายๆ ผมเชื่อว่าหากแบรนด์ต่างๆ ลดกำลังการผลิต ลดความถี่ในการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ หันไปทุ่มเทให้กับการพัฒนาการผลิตจากวัสดุเหลือใช้ให้มากขึ้น สร้างกระบวนการการคืนสินค้าเก่าเพื่อรีไซเคิลให้มากกว่านี้ น่าจะดีกว่าการพูดกันลอยๆ ว่าจะลดก๊าซการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปีนั้นปีนี้

ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากและไม่เป็นรูปธรรม

อ้างอิง

Air conditioning technology is the great missed opportunity in the fight against climate change

Most homes in hot countries have not yet purchased their first AC

Gree, the world’s largest residential AC manufacturer, in partnership with Tsinghua University, selected as a Winner in the Global Cooling Prize

The air conditioning trap: how cold air is heating the world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save